fbpx

ทำไมคนแก่ไม่ชอบเพลงวัยรุ่น?

ผมคาดว่าพวกเราส่วนใหญ่น่าจะเคยมีประสบการณ์ได้ยินคนสูงอายุบ่นเรื่องเพลงที่วัยรุ่นชอบฟังว่าออกจะไม่ได้เรื่อง หรือบางคนถึงกับมองว่าไม่เป็นเพลงเสียด้วยซ้ำไป เป็นแค่เสียงอะไรที่ดังโครมคราม ขาดความเข้ากัน ชวนให้รำคาญมากกว่าจะฟังแล้วรู้สึกว่าไพเราะ

นักจิตวิทยาชื่อ แฟรงก์ แมกแอนดรูว์ (Frank McAndrew) เคยวิเคราะห์ไว้ว่า มีสาเหตุอยู่อย่างที่สุด 4 ประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ปัจจัยแรก คือมีการค้นพบว่า ‘รสนิยม’ ด้านดนตรีจะเริ่มตกผลึกในแต่ละคนราวๆ ช่วงอายุวัยรุ่นตอนต้น คือสัก 13-14 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงตอนที่อายุ 20 ปีต้นๆ รสนิยมดังกล่าวจะฝังตัวแน่นอยู่ในความรู้สึกนึกคิดและความเคยชินของเรา

มีการศึกษาที่ชี้ว่าในตอนที่เราอายุ 30 ปีนั้น ส่วนใหญ่จะเลิกหาเพลงใหม่ๆ ฟัง เรียกกันแบบแซวๆ ว่าเกิดอาการ ‘อัมพาตหรือตายด้านทางดนตรี (musical paralysis)’ ขึ้น และหลังจากนั้นก็จะฟังเฉพาะเพลงที่ตัวเองคุ้นชินในช่วงวัยรุ่นตอนต้นไปจนตลอดชีวิต

การทดลองทำแบบนี้นะครับ เขาสำรวจคนที่ฟังดนตรีแบบสตรีมมิงร่วม 1,000 คนว่าชอบดนตรีแบบไหนและมีนิสัยการฟังดนตรียังไงกันบ้าง สิ่งที่พบคือ 60% ของผู้ตอบคำถามระบุว่า เป็นคนฟังเพลงแบบเดิมซ้ำๆ ขณะที่มีอีกมากกว่า 25% ระบุว่า ไม่ค่อยฟังเพลงแนวใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเพลงแนวเดิมๆ ที่ฟังอยู่

โดยอายุที่ชอบฟังเพลงสไตล์ใหม่ๆ มากที่สุด อยู่ที่อายุ 24 ปี โดย 75% ของคนในกลุ่มนี้บอกว่า ฟังเพลงใหม่ๆ ราว 10 เพลงหรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ ขณะที่ราว 64% ระบุว่าหาเพลงของศิลปินหน้าใหม่เดือนละ 5 ราย

แต่หากอายุมากว่านี้ ก็ดูเหมือนจะเลิกตามเพลง ดนตรี หรือศิลปินใหม่ๆ หรือเรียกว่าเลิกตามเทรนด์ก็คงได้ ส่วนสาเหตุก็ระบุกันว่า ตัวเลือกเยอะจนเลือกไม่ถูก (19%) หรือไม่ก็มีงานต้องทำมากขึ้นจนไม่มีเวลา (16%) และต้องดูแลลูกๆ (11%)

นอกจากนี้ในปี 2015 สกายเน็ตแอนด์เอลเบอร์บล็อก (Skynet & Elber blog) วิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานสปอติฟาย (Spotify) ของผู้ใช้ชาวสหรัฐอเมริกา บวกกับข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ด้านดนตรีชื่อ เอกโค่เนสต์ (Echo Nest) ทำให้ยืนยันได้ว่า ดนตรีแนวที่วัยรุ่นชอบคือเพลงป็อป ก่อนจะค่อยๆ ลดลงจนกลายเป็นรสนิยมใหม่ในแต่ละคนที่อาจแตกต่างกันไปในช่วงต้นอายุ 30 ปี

โดยที่เมื่อถึงอายุ 33 ปี ส่วนใหญ่จะไม่ฟังแนวดนตรีใหม่ๆ อีกเลย

นักวิจัยชี้ว่าปัจจัยหลักไม่ใช่เรื่องของเวลา แต่เป็นความเคยชินและความผูกพันกับดนตรีย้อนยุคของตัวเองมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่าดนตรีมีพลังต่อจิตใจอย่างมาก ทำให้รำลึกถึงความทรงจำในอดีต เช่นย้อนนึกถึงชีวิตวัยเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้อย่างรุนแรง

อันที่จริงต้องบอกว่ารุนแรงกว่าความทรงจำต่อเรื่องราวของตัวเองด้วยซ้ำไปในหลายกรณี!

โดยมีผู้คนเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดที่ระบุว่า อยากมีเวลามากขึ้นพอที่จะหาเพลงใหม่ๆ ฟัง และมีอยู่อย่างน้อย 47% ที่ระบุว่า ไม่ได้เลิกหาเพลงใหม่ๆ ฟังเพราะขาดความสนใจ เรียกว่าอยากหาฟัง แต่ไม่ว่างทำ ก็คงได้  

ปัจจัยที่ 2 เกี่ยวข้องกับลักษณะทางชีวภาพของสมองของเราเองครับ ขณะที่เราแก่ตัวลงเรื่อยๆ สมองของเราจะแยกแยะความแตกต่างระหว่างคอร์ด จังหวะ (rhythm) และทำนองเพลง (melody) ได้น้อยลงเรื่อยๆ

จึงทำให้เมื่อฟังเพลงใหม่ๆ แล้วจะรู้สึกเหมือนๆ กันไปหมด เพราะสมองเริ่มแยกความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ออกอีกต่อไปแล้ว

ปกติแล้ว เมื่อเรานำโน้ตดนตรีสองโน้ตมาเล่นพร้อมๆ กัน จะเกิดอัตราส่วนความถี่แบบง่ายๆ ขึ้นคือกลายเป็น ‘คอร์ด’ ซึ่งคนทั่วไปที่สุขภาพหูดี จะรู้สึกรับรู้ได้ถึง ‘ความน่าฟัง’ ของเสียงประสาน (consonance) แต่หากอัตราส่วนความถี่เป็นแบบซับซ้อนมากขึ้น จะทำให้เกิดความเครียดหรืออารมณ์แบบที่ไม่กลมกลืน (dissonance) หรือไม่เข้ากัน

เรื่องของความสอดประสานและความไม่กลมกลืนแบบนี้เป็นหัวใจของดนตรีตะวันตกทีเดียว

มีการทดลองนำคนทั่วไปที่มีสามารถฟังเสียงได้ตามปกติ กับคนสูงอายุที่เริ่มแยกแยะเสียงที่ฟังได้ไม่ค่อยดี มาฟังเสียงผสมแบบต่างๆ สิ่งที่พบคือ คนที่แก่กว่ามีระบบประสาทที่แยกแยะเสียงคอร์ดทั้ง 2 แบบได้ไม่ดีเท่าคนทั่วไป นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีกลไกตอบสนองต่อความน่าฟังของคอร์ดดนตรีสำหรับคน 2 กลุ่มที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการแปลสัญญาณเสียงในเซลล์ประสาท

นี่จึงเป็นหลักฐานชัดเจนว่าทำไมคนสูงอายุฟังเพลงของพวกวัยรุ่นแล้วไม่รู้สึกเพราะไปด้วย ก็เพราะการทำงานของเซลล์สมองได้เปลี่ยนไปแล้วนั่นเอง

สำหรับปัจจัยที่ 3 มีชื่อจำเพาะด้วยของมันด้วย เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ปรากฏการณ์แค่ได้สัมผัสเจอ (mere exposure effect)’ กล่าวสรุปแบบสั้นๆ คือ ยิ่งเราได้พบเจออะไรบ่อยๆ เราก็ยิ่งมีแนวโน้มจะชอบสิ่งนั้นมากขึ้น อันนี้วงการเพลงบ้านเราชำนาญครับ อย่างค่อยๆ เปิดเพลงที่คิดว่า ‘ติดหูง่าย’ ในอัลบั้มใหม่ไป เริ่มจากเพลงแรก เพลงที่สอง เรื่อยไปเพลงที่สาม และเปิดอัดเช้ากลางวันเย็น

จากที่เฉยๆ ก็กลายเป็นชินหู และกลายเป็นชอบขึ้นมาได้ ซึ่งทำเอาผมอดนึกถึงสำนวน “ตื้อเท่านั้นที่ครองโลก” เสียไม่ได้ ก็ไม่แน่ใจเช่นกันว่าความหมายของสำนวนนี้จะยืดขยายไปจนนับรวมปรากฏการณ์ให้เข้าข่ายได้ด้วยหรือไม่

ต้องบอกว่าวัยรุ่นชาติไหนๆ ก็เหมือนกันนะครับ ใช้เวลาฟังเพลงมากที่สุดอยู่แล้ว จนหลายคนมีความฝันอยากเป็นนักร้องด้วยซ้ำไป เพลงและศิลปินนักร้องที่คุ้นเคยในตอนที่เราเป็นวัยรุ่น ย่อมเป็นส่วนสำคัญในกิจวัตรในวัยนั้น

พอครั้นล่วงเลยเข้าสู่วัยทำงานจริงจัง มีเรื่องงานและครอบครัวที่ตัวเองสร้างขึ้น ก็จะห่างหายไปจากการเลือกฟังเพลงใหม่ๆ แต่จะวนเวียนฟังเพลงเก่าๆ ที่คุ้นชินในตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น

ปัจจัยที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายคือ ปัจจัยเรื่องฮอร์โมนวัยว้าวุ่นครับ

ในตอนวัยรุ่น อารมณ์ความรู้สึกจะพลุ่งพล่านกว่าช่วงชีวิตไหนๆ ความรู้สึกที่ทะล้นทะลักมาจากฮอร์โมนที่ไหลท่วมตัวนี่แหละครับ เป็นตัวดีเลย เพราะมันจะสร้าง ‘รอยประทับ’ เอาไว้ในใจอย่างเข้มข้น สร้างความทรงจำที่แจ่มชัดด้วยอารมณ์ที่เกี่ยวข้อง

จึงไม่น่าแปลกใจที่ดนตรีและเพลงที่เราชอบฟังในตอนเข้าสู่วัยหนุ่มสาว จะเป็นช่วงเวลาที่รักและติดตรึงในความทรงจำยิ่งกว่าช่วงชีวิตไหนๆ

อ้อ! และเพลงที่เรารักชอบเป็นชีวิตจิตใจก็ช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสุขด้วยนะครับ ทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนโดพามีน เซโรโทนิน ออกซีโตซิน และสารเคมีแห่งความสุขอื่นๆ อีกหลายชนิด ยิ่งเราชอบเพลงนั้นมากเท่าใด สารเคมีเหล่านี้ก็จะไหลไปทั่วร่างมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

โดยเฉพาะจะส่งผลรุนแรงในตอนที่เรายังเป็นวัยรุ่น และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลเช่นกันที่เรามักจะไม่ค่อยเจอเพลงที่รู้สึกชอบแบบจับจิตจับใจมากนักเมื่ออายุมากยิ่งขึ้น 

ดังนั้น การที่คนแก่ไม่ชอบเพลงวัยรุ่นจึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไรเลยสักนิด แต่เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็นต่างหากครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save