fbpx
เมื่อบ้าน วัด โรงเรียน หล่อหลอมความโกง : ถอดรหัสพฤติโกงกับธานี ชัยวัฒน์

เมื่อบ้าน วัด โรงเรียน หล่อหลอมความโกง : ถอดรหัสพฤติโกงกับธานี ชัยวัฒน์

เมื่อพูดถึงเรื่องของการโกง สิ่งที่เรามักให้ความสนใจคือ ‘ปริมาณ’ ของการโกง ไม่ว่าจะมูลค่าที่สูญเสียไป หรืออันดับการโกงในโลกว่าประเทศไทยของเราอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ หรือกระทั่งหาว่า ‘ใคร’ กันแน่ที่เป็นคนโกง ชื่อของนักการเมือง ข้าราชการคนไหนที่ทำผิดจริยธรรมสมควรถูกลงโทษ

คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ‘ทำไม’ คนในสังคมไทยถึงชอบโกง

และนักการเมืองและข้าราชการ ‘เท่านั้น’ หรือเปล่าที่เป็นคนโกง

ความดี คนดี และความขี้โกง

“ในสถานการณ์ที่ฝนตกและสถานการณ์ที่ฝนไม่ตก ทุกท่านคิดว่าสถานการณ์ไหนคนโกงเยอะกว่ากันครับ…..คำตอบคือ สถานการณ์ที่ฝนตกครับ”

ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง เริ่มต้น ‘ถอดรหัสพฤติโกง’ ด้วยคำถามชวนฉงน แต่น่าสนุก ก่อนที่จะเริ่มแนะนำผู้ชมให้รู้จักกับแว่นตาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ในแง่มุมที่สดใหม่และน่าสนใจ

“คำพูดหนึ่งที่เราพูดกันบ่อยๆ ในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็คือ ‘เราไม่ได้เป็นเจ้าของวิธีคิดของเรา เราเกิดมาพร้อมความว่างเปล่า แต่เราถูกหล่อหลอมบางอย่างจนมาเป็นตัวเราในทุกวันนี้’ ฉะนั้นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์สถาบัน โดยเฉพาะอย่างหลัง จึงอธิบายว่าการหล่อหลอมพฤติกรรม วิธีคิด และทัศนคติของเรามีที่มาจากสถาบันทางสังคมอะไร” ธานีเริ่มต้นอธิบาย

แล้วอะไรล่ะที่ผูกโยงเป็นเนื้อเดียวกับพฤติกรรมการโกงในสังคมของเรา? ธานีตอบคำถามนี้ด้วยการย้อนกลับไปที่คอนเซ็ปต์ของ ความดี และ คนดี แบบไทยๆ ที่แม้ว่าจะเป็นเรื่อง ‘ดี’ เหมือนกัน แต่คนไทยกลับให้ความหมายและคุณค่าแตกต่างกันจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน และนี่คือสาเหตุที่พฤติกรรมการโกงถูกฝังรากลึกอยู่ในดีเอ็นเอของความเป็นไทยจนเรารู้สึกชินชาเป็นเรื่องปกติ และไม่รู้ตัว

“จากการสอบถามคนไทยกว่า 4,000 คนว่าความดี คืออะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าความดีคือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง แต่เมื่อถามต่อว่าคนดี คือคนแบบไหน ส่วนใหญ่ตอบว่าคนดีคือคนที่กตัญญู เชื่อฟังพ่อแม่และผู้ใหญ่ กลายเป็นว่าการทำความดีกับการเป็นคนดีไม่เหมือนกัน การทำความดีพูดถึงผลประโยชน์สาธารณะ แต่คุณจะเป็นคนดีเมื่อทำประโยชน์บางอย่างให้กับคนใกล้ชิดของคุณ และบ่อยครั้ง เราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าระหว่างความดีกับคนดี เราจะเป็นแบบไหน”

ธานีขยายความต่อว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความหมายของคนดีแบบที่สังคมไทยให้คุณค่าคือ แนวคิดที่เรียกว่า Familism หรือความรู้สึกของความเป็นครอบครัว ซึ่งอาจเกี่ยวพันหรือไม่เกี่ยวพันกันโดยสายเลือดก็ได้ เมื่อเรานับถือเอาคนที่มีบุญคุณ เป็นเพื่อนในกลุ่ม หรือรุ่นพี่ที่นับถือเข้ามาเสมือนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในครอบครัว ทำให้เรารู้สึกที่จะ ‘เลือกปฏิบัติ’ ให้ความสัมพันธ์กับคนที่รู้สึกเป็นครอบครัวมากกว่า

ในขณะที่เราสร้างความสัมพันธ์แบบ Familism กับคนกลุ่มหนึ่ง นั่นหมายความว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นจะไม่มีความสำคัญกับเรา ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่ากระบวนการ Alienation หรือการทำให้เป็นอื่น ทั้งสองกระบวนการนี้มีส่วนให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นในสังคม

“การที่สังคมไทยมีแนวคิดเรื่อง Familism เป็นหลัก ช่วยให้การโกงหรือคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น พ่ออาจยอมติดสินบนช่วยให้ลูกที่ขับรถชนคนตายพ้นจากคดีความ โดยไม่สนใจว่าจะทำลายกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และไม่สนใจว่าความอยุติธรรมจะสร้างความเจ็บปวดให้ครอบครัวอื่นมากแค่ไหน เพียงแค่ขอให้ลูกตัวเองรอด ที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นลูก แต่เป็นเพื่อนสนิทหรือผู้มีพระคุณก็ได้เช่นกัน” ธานีเล่า

คำถามที่ตามมาคือ การเป็นคนดีแบบไทยๆ ถูกหล่อหลอมขึ้นมาได้อย่างไร?

บ้าน โรงเรียน วัด: สถาบันที่หล่อหลอมพฤติโกง (โดยไม่รู้ตัว)

 

เศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ ‘สถาบัน’ หรือกติกาในสังคมในฐานะสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ บอกเอาไว้ว่าความเป็น ‘คนดี’ ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่วัยเด็กผ่านสถาบัน ‘บ้าน’ และ ‘โรงเรียน’ ซึ่งผูกผันกับชีวิตของทุกคน

ในการสำรวจทัศนคติและค่านิยมที่มีชื่อว่า World Value Survey ที่ทำการสำรวจในหลายประเทศทั่วโลก มีคำถามหนึ่งที่ถามว่าอะไรเป็น ‘คุณธรรมสำคัญ’ ที่ผู้คนในแต่ละประเทศจะสอนให้กับลูกของพวกเขา

ผลสำรวจพบว่า ในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง คุณธรรมที่พ่อแม่ตั้งใจจะสอนเด็กๆ คือ การเคารพสิทธิสาธารณะ การรับฟังความเห็นผู้อื่น และการช่วยเหลือคนแปลกหน้า

ในขณะที่คุณธรรมของประเทศไทยที่มีคนตอบมากที่สุด คือ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีระเบียบวินัย และต้องเรียนหนังสือสูงๆ

นอกจากคำสอนของพ่อแม่ ‘นิทาน’ พื้นบ้านไทยที่อยู่กับเด็กๆ มานาน ก็ปลูกฝังชุดคุณธรรมแบบฉลาดแกมโกงให้กับเยาวชนจนกลายเป็นว่าพวกเขารู้สึกว่านี่คือวิถีของสังคมแบบไทยๆ

“ลองนึกถึงตัวละครในนิทานหรือนิทานสักเรื่องของไทยที่สะท้อนถึงความซื่อสัตย์ เราจะนึกถึงเรื่องอะไรครับ? ถ้านึกไม่ออกก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะว่าคนเกือบทั้งหมดนึกไม่ออก แต่เรื่องที่เราจะนึกออกจากคำถามนี้คือ ศรีธนญชัย ที่สอนเรื่องของการ ‘รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี’

“เราเอาความขี้โกง ความเอาเปรียบเพื่อเอาตัวรอดไปผูกโยงกับความฉลาด เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นคนถูกโกง ถูกเอาเปรียบ หรือคนที่ซื่อตรงกลับต้องเจ็บปวด คนจำนวนมากจะรู้สึกว่าคนพวกนี้ ‘โง่’ ที่เอาตัวรอดไม่ได้ กลายเป็นว่าเรากลับเอาการเอาเปรียบ การเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่แสดงถึงความฉลาด และเอาความซื่อตรงที่ทำให้หลายคนต้องเจ็บปวดกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นคนโง่” ธานีย้ำให้เราฟัง

ขยับมาที่โรงเรียน เราคาดหวังให้โรงเรียนมีหน้าที่ให้ความรู้กับเด็ก แต่ที่นี่กลับเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่หล่อหลอมแนวคิด Familism แบบไทยๆ ให้เกิดขึ้น ทั้งการจ่ายเงินสินบนเพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดีๆ ที่สูงขึ้นกว่า 10 เท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และการเลือกปฏิบัติของครูที่มีต่อเด็กเก่งและไม่เก่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ

“เมื่อเด็กๆ ถูกหล่อหลอมด้วยการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน เขาจะรู้สึกว่าการเลือกปฏิบัติระหว่างคนเก่งและคนไม่เก่งเป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อวันหนึ่งที่เขามีอำนาจอย่างที่ครูมี เด็กๆ ที่โตขึ้นก็จะ ‘เลือกปฏิบัติ’ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายความว่าเด็กจะไม่มีความรู้สึกต่อต้านการเลือกปฏิบัติเมื่อเติบโตขึ้น

“นั่นหมายถึงทั้งสถาบันครอบครัวและโรงเรียน มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความรู้สึก ‘ยอมรับ’ ความไม่เป็นธรรมและการโกงไปโดยปริยาย” ธานีกล่าวสรุป

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นในการศึกษาของธานีคือ สถานที่อย่าง ‘วัด’ ที่น่าจะเป็นที่สั่งสอนคุณธรรมให้กับผู้คน กลับกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมพฤติกรรมโกงด้วยอีกทางหนึ่ง

“วัดกลายเป็นที่ทิ้งความรู้สึกผิดของคนโกง การเข้าวัดทำให้พวกเขาสบายใจขึ้น ทั้งที่ไม่ได้แก้ปัญหาหรือทำให้การโกงลดลงเลย” ธานีเริ่มต้นเล่า

คนแต่ละคนจะยอมรับการทำชั่วในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับบางคน หากทำดีมาเยอะๆ เขาอาจจะคิดว่าทำชั่วนิดหน่อยก็ไม่เป็นอะไร เพราะการทำดีสามารถไป ‘ชดเชย’ ความชั่วนั้นได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกสิ่งนี้ว่า Moral Licensing หรือใบอนุญาตทำชั่ว

 

 

ในสังคมไทย การเข้าวัดไปทำบุญเป็นการทำบุญทำความดีในรูปแบบหนึ่ง วัดเลยกลายเป็นสถาบันที่ทำให้การโกงดำรงอยู่โดยไม่ตั้งใจ เราจะได้เห็นคนที่โกงเงินจากคนอื่นที่เจียดเงินนั้นไปทำบุญให้วัด หรือเห็นคนที่ขับรถชนคนตายเอาเงินไปทำบุญ แทนที่จะจ่ายค่าสินไหมให้อีกครอบครัว

“เรามีสถานที่ไว้แก้ปัญหาความรู้สึกผิดต่างๆ มากมาย เมื่อสังคมมีการโกงสูง เราจะเห็นมูลค่าการทำบุญสูง ดังนั้นถ้าเรามองเห็นการทำบุญในศาสนาที่สูงขึ้น ก็น่าจะกลับมาตั้งคำถามว่าสังคมนั้นคือสังคมที่ความดีเยอะ หรือความเลวเยอะกันแน่” ธานีตั้งคำถามชวนคิด

นอกจากวัด การออกแบบทางเลือกของสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคน หรือ Choice Architecture ในสังคมไทย ก็ถูกออกแบบมาให้การโกงเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น การขับรถฝ่าไฟแดงหนึ่งครั้ง ตัวเลือกระหว่างการยอมจ่ายสินบนให้ตำรวจเพื่อไม่ต้องรับใบสั่ง กับการรับใบสั่งแล้วไปจ่ายที่สถานีตำรวจ รวมถึงการทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการแจ้งพฤติกรรมคอร์รัปชันของตำรวจที่เรียกสินบน ทั้งสองทางมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน และเรามักจะเลือกทางเลือกที่ง่ายกว่า (นั่นคือการจ่ายเงินสินบน) เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น

เมื่อทางเลือกที่ง่ายกว่า มารวมกับความรู้สึกที่ ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ และการมีวัดเป็นสถานที่ให้ทำบุญเพื่อชดเชยความผิดที่ก่อ (แต่ไม่ได้รู้สึกผิดจริงๆ แค่โชคร้ายที่โดนตำรวจจับได้และต้องจ่ายเงินให้) ก็ทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับการโกงที่เกิดจากสถาบันทางสังคมต่างๆ อยู่ใน ‘ดุลยภาพ’ ที่เท่ากัน

 

ลูกเต๋า การทดลอง และสภาพแวดล้อมในการโกง

 

ธานีเริ่มต้นเล่าถึงงานวิจัยของเขาเพื่อหาว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะโกงหรือไม่โกง ในการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้ลูกเต๋าคนละหนึ่งลูกและกระดาษที่เขียนตัวเลข 1 – 6 ไว้แล้วจำนวน 18 ข้อ ผู้เข้าร่วมทดลองจะโยนลูกเต๋าและรายงานว่า ในการทอยแต่ละครั้ง พวกเขาได้หน้าเต๋าที่ตรงกับตัวเลขในกระดาษที่ให้ไปหรือไม่ หากตรงจะได้คะแนนตามจำนวนหน้าลูกเต๋า และได้เงินไปตามจำนวนคะแนนที่ได้

ผลปรากฎว่าแทบทุกคนเมื่อส่งกระดาษคืนเพื่อขึ้นเงิน ค่าเฉลี่ยของการโยนแล้วตรงอยู่ที่ 6 ครั้ง ทั้งที่ในทางสถิติควรจะถูกแค่ 3 ครั้งในการโยน 18 ครั้งที่กำหนด และหน้าเต๋าที่คนติ๊กว่าโยนได้มากที่สุดคือหน้าที่มีเลข 6 เพราะเป็นหน้าที่มีโอกาสได้คะแนนมากที่สุด ซึ่งทำให้พวกเขาได้เงินมากขึ้น ข้อสรุปจากเรื่องนี้คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับ ทำให้การตัดสินใจโกงเพิ่มขึ้น

“สถานที่หนึ่งที่เราไปทำการทดลองคือที่วัดหลังเสร็จจากการทำบุญใหญ่ ทุกคนที่มาทำการทดลองกับเราเป็นคนที่มาร่วมทำบุญ เชื่อไหมครับค่าเฉลี่ยของการทอยลูกเต๋าที่ได้หน้าถูกต้องที่สุดคือในวัด! ซึ่งพวกเขาตอบเหมือนกันว่า ‘เพิ่งทำบุญมา คงโชคดีที่ได้คะแนนเยอะ’

“เขาอาจจะโชคดีจริงๆ ก็ได้นะครับ หรือไม่เขาก็โกง และโกงภายใต้คอนเซ็ปต์ Moral Licensing”

และเชื่อไหมว่า สภาพแวดล้อมก็มีผลกับการโกงของคนเราด้วยเหมือนกัน!?

ในการทดลองแบบเดียวกันในที่ที่มีเสียงดังจอแจ เช่น ริมถนน ผู้เข้าร่วมการทดลองจะโกงมาขึ้น ที่น่าสนใจคือ เวลาทดลองเสียงลูกเต๋าจะดังตลอดเวลา และแต่ละคนใช้เวลาในการทอยถึง 18 นาที เพราะคนจะพยายามทอยเต๋าไปเรื่อยๆ ให้ตรงกับเลขบนกระดาษ (ไม่ติ๊กโกงโดยตรง) เพื่อต่อสู้กับความรู้สึกผิดในใจให้น้อยลง แต่ในที่เงียบสนิท คนจะโกงน้อยลง เพราะเสียงลูกเต๋าที่กระทบลงพื้นทำให้ผู้ร่วมทดลองต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดในใจเมื่อเลขบนลูกเต๋าไม่ตรงกับในกระดาษ (พวกเขาโยนใหม่ไม่ได้ เสียงจะออกไปด้านนอก)

ในขณะที่การทดลองในสถานที่ที่มีเสียงดังมากๆ อย่างศาลาสังกะสีที่มีฝนตกลงมา ผู้ร่วมการทดลองใช้เวลาเพียงครึ่งนาทีในการทอยลูกเต๋าแล้วเอากระดาษมาคืน โดยไม่มีเสียงโยนลูกเต๋าเลย เพราะโยนไปก็ไม่มีใครได้ยิน ทุกคนจึงติ๊กตัวเลขตามที่อยากได้โดยไม่ต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดใดๆ

“เรากำลังจะบอกว่าในสภาพอากาศที่ไม่เหมือนกัน การโกงของคนก็เกิดขึ้นไม่เท่ากัน ซึ่งไม่ใช่เพราะตัวสภาพอากาศ แต่เป็นเพราะสภาพอากาศสร้าง ‘สภาพแวดล้อม’ ที่ทำให้คนรู้สึกผิดไม่เท่ากัน ถ้าลองถอยไปหนึ่งขั้น แล้วคิดดูว่าเพียงแค่สภาพอากาศก็สร้างความรู้สึกผิดไม่เท่ากันจนคนโกงมากขึ้น แล้วในสังคมที่เราอยู่ล่ะ มันสร้างระบบที่ทำให้คนรู้สึกผิดกับการโกงมากแค่ไหนกัน”

“ดังนั้นไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นหรอกครับที่โกง เราทุกคนก็มีส่วนคนละเล็กละน้อย เราสร้างทั้งทัศนคติและระบบที่ทำให้การโกงมันดำรงอยู่ได้ และทำได้ง่ายในสังคม”

นี่คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบนเวทีทิ้งท้ายไว้ให้คิด

ท่ามกลางสังคมไทยที่ดูเหมือนจะมีเมฆฝนสีดำพร้อมตกลงมาอยู่ตลอดเวลา

 

 

ติดตามเนื้อหาอื่นๆ จากงาน Shift Happens: พลิกที่ธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ โดยดีแทค และ 101 เพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save