fbpx

เคยเป็นโรค ‘เข้าลม’ หรือเปล่า?: ทำไมคนอินโดนีเซียจึงไม่ชอบความเย็น

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2001 เมื่อครั้งผู้เขียนไปเรียนภาษาอินโดนีเซียที่จาการ์ตาและอาศัยอยู่ในหอพักผู้หญิงนอกมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมหอพักต่างทำท่าตกอกตกใจเมื่อเห็นผู้เขียนอาบน้ำตอนห้าทุ่มเที่ยงคืน เพื่อนๆ พากันพูดเป็นเสียงเดียวว่า “อาบน้ำตอนดึกจะไม่สบายเอานะ ระวังจะเป็นโรค ‘เข้าลม’ (masuk angin) เผลอๆ จะตายได้เลย” ผู้เขียนก็งงมาก ตอบไปว่า “อยู่เมืองไทยก็อาบน้ำเวลาประมาณนี้แหละ ไม่เคยเป็นอะไรเลย”

คำว่าโรคหรืออาการ ‘เข้าลม’ หรือ masuk angin ในภาษาอินโดนีเซีย คืออาการที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกว่ามีลมเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ในหลายกรณีอาการคล้ายๆ เป็นไข้ เป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งคนอินโดนีเซียส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายรับความเย็นมากเกินไป สาเหตุที่ทำให้คนเกิดเจ็บป่วยด้วยภาวะ ‘เข้าลม’ มีได้หลากหลาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากร้อนเป็นเย็นหรือเย็นเป็นร้อน, โดนลม, อดนอน, ร่างกายอ่อนเพลีย, ความเครียด, ความกังวล, อาบน้ำตอนกลางคืน, อยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น เช่น ห้องแอร์นานเกินไป, ตากฝน, รับประทานอาหารผิดเวลา แม้กระทั่งการหัวเราะมากเกินไปก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ‘เข้าลม’ ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีคำศัพท์นี้อย่างเป็นทางการในวงการแพทย์อินโดนีเซีย แต่โรค ‘เข้าลม’ เป็นโรคที่ชาวอินโดนีเซียรู้จักกันเป็นอย่างดีและเกือบทุกคนจะต้องเคยมีประสบการณ์การเป็นโรค ‘เข้าลม’ สักครั้งในชีวิตอย่างแน่นอน เช่น หากนั่งรถไฟหรือรถบัสที่ติดแอร์โดยไม่ได้ใส่แจ็คเก็ตหรือหมวกปิดศีรษะและเกิดอาการไม่สบายตัว นั่นก็คืออาการ ‘เข้าลม’ หากอดนอนติดต่อกันสองสามวันแล้วเกิดอาการวูบ มึนศีรษะหรือเบลอๆ นั่นแหละอาการ ‘เข้าลม’

 โรค “เข้าลม” ในความเห็นทางการแพทย์และโลกทัศน์เก่าของคนอินโดนีเซีย  

แม้จะไม่มีโรค ‘เข้าลม’ ในสารบบของโรคในทางการแพทย์สมัยใหม่ แต่อาการของโรค ‘เข้าลม’ มีอยู่จริง พบได้ที่อินโดนีเซียเท่านั้นและเป็นโรคที่คนอินโดนีเซียป่วยกันมากที่สุดโรคหนึ่ง แพทย์ได้อธิบายว่าอาการที่คนเรียกว่าโรคหรืออาการ ‘เข้าลม’ นั้นเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งจะส่งผลให้คนเกิดอาการปวดเมื่อยตัว, ไม่สบายตัว, ท้องอืด, แน่นท้อง, คลื่นไส้, ไม่อยากอาหาร, รู้สึกหนาว, เย็นมือเย็นเท้า, รู้สึกอ่อนเพลีย, ง่วงนอน, ท้องเสีย, ปวดหัว, ไอ, เจ็บคอ, คอแห้ง, มีไข้ และไม่สามารถหยุดระบายลมออกจากร่างกายได้ ไม่ว่าจะเรอหรือผายลม และหากผายลมก็มักจะมีกลิ่นเหม็นมาก เราจึงมักจะพบผู้ที่เรอหรือผายลมออกมาแล้วก็บอกว่านี่คืออาการ ‘เข้าลม’ โดยรวมๆ อาการของโรค ‘เข้าลม’ มีความคล้ายคลึงกับอาการเป็นไข้หวัด คนอินโดนีเซียเมื่อมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้นก็จะกล่าวว่าตัวเองเป็นโรค ‘เข้าลม’

โรค ‘เข้าลม’ นี้มีมาตั้งแต่ในสมัยชวาโบราณ มีผู้ศึกษาว่าอาการ ‘เข้าลม’ นั้นสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องจักรวาลวิทยาของคนชวา ในยุครัฐจารีตชวานั้นสุลต่านได้ให้ผู้ทำการจำแนกโรค ซึ่งมีทั้งหมด 30 โรค และโรค ‘เข้าลม’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น มีคนจำนวนมากในชวาเจ็บป่วยจากอาการของโรคนี้ ในมุมมองจักรวาลวิทยาของชวา โรค ‘เข้าลม’ เป็นความไม่สมดุลระหว่างภายนอกและภายใน ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างร่างกายกับสภาพแวดล้อม

อาการ ‘เข้าลม’ เกิดจากความไม่สมดุลของอารมณ์ของบุคคล เช่น อารมณ์โกรธ, หงุดหงิด, อิจฉา, ทะเยอทะยานมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นๆ นอนไม่หลับ, หลับยาก, ไม่อยากรับประทานอาหาร เป็นต้น ความไม่สมดุลส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไหลเวียนของลมและโลหิตในร่างกายทำงานได้ไม่ดีพอทำให้เกิดความร้อนหรือเย็นในร่างกาย, ท้องอืด และอาการปวดเมื่อยตามตัว

นอกจากนี้มีผู้แบ่งระดับอาการ ‘เข้าลม’ เป็น 3 ประเภทได้แก่ แบบเบา, หนัก และหนักมาก แบบเบาคือมีอาการไม่มาก มีอาการร้อนหรือเย็นในร่างกาย, ปวดเมื่อย, ท้องอืด ซึ่งเกิดจากลมเข้าสู่ร่างกายไม่มากและอาจหายจากอาการ ‘เข้าลม’ ได้เองโดยไม่ต้องรักษา แบบหนักคืออาการคล้ายแบบเบา แต่มีอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากลมเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก โดยต้องได้รับการรักษา และประเภทที่สามคือแบบหนักมาก เป็นอาการที่ลมเข้าสู่ร่างกายมากและรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจมีอาการชัก, หายใจไม่ออก, เหงื่อออกปริมาณมาก และช็อค ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ประเภทที่สามนี้มีคำเรียกเฉพาะว่า ‘ลมนั่ง’ (angin duduk) ซึ่งในทางการแพทย์สมัยใหม่ระบุว่าคืออาการของโรคหัวใจ

วิธีรักษาโรค “เข้าลม” แบบชาวบ้าน

เนื่องจากอาการและสาเหตุของโรค ‘เข้าลม’ มีความหลากหลาย วิธีการบำบัดก็หลายหลากไปด้วย มีบริษัทยาผลิตยาให้ผู้ที่เป็นโรคนี้รับประทาน บางคนแนะนำว่าไม่ต้องทำอะไรเดี๋ยวอาการ ‘เข้าลม’ ก็จะหายไปเอง หรืออาจจะดื่มน้ำอุ่น ชาร้อนใส่น้ำตาล ชาสะระแหน่ หรือน้ำขิงอุ่น  บางคนก็ใช้วิธีการนวดด้วยน้ำมันสำหรับทาแก้ปวดเมื่อย บางคนอาจจะรับประทานยาสำหรับแก้ไข้หวัด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผู้ป่วยห้ามอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศหรือในที่ที่มีอากาศเย็น

ยาสำหรับรักษาโรค ‘เข้าลม’

วิธีที่เป็นที่นิยมที่สุดของคนอินโดนีเซียคือ ‘การขูด’ ซึ่งเป็นการรักษาดั้งเดิมของอินโดนีเซียตั้งแต่ยุครัฐจารีต การขูดที่ว่านี้คือขูดที่หลังของผู้มีอาการ ‘เข้าลม’ ด้วยเหรียญให้เป็นรอยแดงตามแนวกระดูก วิธีการคือผู้ทำการขูดหรือการรักษาจะทายาหม่อง, น้ำมันสำหรับถูนวด หรือโลชั่นที่หลังหรือบริเวณที่ต้องการขูดแล้วก็เอาเหรียญขูดตามแนวกระดูก โดยผู้ป่วยจะนอนหรือนั่งก็ได้ นอกจากเหรียญแล้วยังสามารถใช้หิน หยก กระเทียมหรือหอมแดงได้เช่นกัน เชื่อกันว่าหากเป็นโรค ‘เข้าลม’ ขูดแล้วเนื้อตัวจะแดง และผิวหนังยิ่งแดงเท่าไหร่แปลว่าลมก็ออกจากร่างกายมากเท่านั้น การขูดคือเพื่อไล่ลมออกจากร่างกาย และเมื่อผู้ป่วยได้เอาลมออกด้วยการเรอหรือผายลม ในบางรายอาจจะมีการอาเจียนด้วย เป็นสัญญาณว่าอาการ ‘เข้าลม’ จะดีขึ้นและจะหายไปในที่สุด

ในทางการแพทย์มีความเห็นที่ขัดแย้งกันต่อวิธีการขูดเช่นนี้ มีแพทย์ที่แสดงความเห็นที่ว่าการขูดไม่ได้ช่วยอะไรและเป็นการทำให้รูขุมขนกว้างขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ในทางตรงกันข้ามมีความเห็นแย้งว่าการขูดนี้มีประโยชน์เมื่อร่างกายถูกขูดจะทำให้เกิดความร้อน เลือดลมจะไหลเวียนได้ดี และร่างกายจะระบายความร้อนผ่านทางรูขุมขนที่บวมขึ้น ทำให้ร่างกายสดชื่น ในอดีตวิธีการขูดถูกเลือกใช้เพราะวิธีที่ถูกที่สุดและสะดวกง่ายดาย และแม้ว่าจะมียาให้รับประทานแต่วิธีการนี้ยังคงได้รับการสืบทอดปฏิบัติจนเป็นที่นิยมจวบจนทุกวันนี้

การขูดเพื่อรักษาอาการ ‘เข้าลม’

โรค ‘เข้าลม’ อาจจะพบได้ที่อินโดนีเซียเพียงแห่งเดียว แต่การขูดในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้พบได้ที่อินโดนีเซียเท่านั้น หากมีการขูดเพื่อการรักษาโรคในประเทศจีน (Gua Sha), เวียดนาม (Cao Gio) และกัมพูชา (Goh Kyol) ด้วยเช่นกัน เชื่อกันว่าการขูดนี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศจีนราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 และ 7 และได้แพร่ไปยังดินแดนต่างๆ รวมถึงอินโดนีเซีย

วัฒนธรรมไม่ชอบความเย็น

นอกเหนือจากการไม่นิยมอาบน้ำในเวลาดึกแล้ว ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนรู้จักจะไม่นิยมอยู่ในที่ๆ มีอากาศเย็น บางครั้งในรถโดยสารสาธารณะที่ไม่ใช่รถปรับอากาศ เราอาจจะพบว่ามีคนปิดหน้าต่างทั้งหมดทั้งๆ ที่ฝนไม่ตก เพราะไม่อยากให้ลมเข้ามาปะทะร่างกายของตนมากเกินไป นอกจากนี้คนอินโดนีเซียจำนวนหนึ่งยังไม่ชอบบริโภคน้ำแข็งอีกด้วย ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมเยียนเพื่อนๆ ชาวอินโดนีเซียที่บ้านบ่อยครั้ง เครื่องดื่มที่เจ้าบ้านนำมารับรองมักเป็นเครื่องดื่มร้อน ตั้งแต่ กาแฟร้อน ชาร้อน น้ำขิงร้อน น้ำอุ่น ไปจนถึงน้ำส้มร้อนและน้ำมะนาวร้อนกันเลยทีเดียว ที่แปลกที่สุดในความเห็นของผู้เขียนคือมีครั้งหนึ่งเพื่อนชาวอินโดนีเซียนำน้ำอัดลมมารับรองและเปิดเทใส่แก้ว ผู้เขียนงุนงงมากถามเจ้าของบ้านว่า ‘ดื่มแบบนี้เหรอ? ไม่ต้องใส่น้ำแข็งเหรอ’ ได้รับคำตอบว่า ‘ดื่มแบบนี้แหละ ปกติชาวบ้านแถวนี้ดื่มแบบนี้’ อนึ่ง น้ำอัดลมนั้นคือน้ำอัดลม ณ อุณหภูมิห้องไม่ได้เพิ่งเอาออกมาจากตู้เย็นแต่อย่างใด นั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกและครั้งเดียวของผู้เขียนที่ได้ดื่มน้ำอัดลมอุณหภูมิห้อง

ผู้เขียนคิดว่าความสะอาดของน้ำแข็งก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนอินโดนีเซียไม่นิยมบริโภคน้ำแข็ง น้ำแข็งที่ร้านทั่วไปนำไปใส่เครื่องดื่มขายมักจะเป็นน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ แล้วเอามาทุบให้เป็นก้อนเล็กๆ หรือใส่มาในถุงใหญ่ๆ แล้วเทใส่ภาชนะ กระบวนการขั้นตอนต่างๆ อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วอาจจะทำให้เกิดเจ็บป่วยสำหรับคนที่ร่างกายอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อทางการแพทย์แบบจารีตที่เชื่อว่าการบริโภคน้ำแข็งไม่ดีต่อระบบการย่อยอาหาร จะทำให้หลอดเลือดหดตัว และส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารและวิตามินได้ และยังมีความเชื่อของบางกลุ่มชาติพันธุ์ในอินโดนีเซียว่าสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภคน้ำแข็ง เพราะจะทำให้เด็กในครรภ์ตัวโตเกินไปและจะคลอดยาก

วัฒนธรรมไม่ชอบความเย็นของชาวอินโดนีเซียสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก หากเรามองจากมิติของระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียที่ยังคงไม่ทั่วถึงและไม่ดีพอ มีผู้เสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยที่ไม่ร้ายแรงต่อปีเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนอินโดนีเซียป่วย 0.7-1.7 ต่อประชากร 100,00 คนและเสียชีวิตราว 2,000-4000 คนต่อปี และส่วนมากมักจะเป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี้สภาพความเป็นอยู่ของประชากรที่ค่อนข้างหนาแน่นในบางพื้นที่ เช่นในเกาะชวา ส่งผลให้เมื่อเกิดโรคระบาดจะเกิดการติดต่อกันได้ง่ายและเร็ว ในขณะเดียวกันด้วยความเชื่อทางด้านศาสนาทำให้คนจำนวนไม่น้อยลังเลและไม่มั่นใจที่จะรับการฉีดวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการโรคหรือการป้องกันโรคต่างๆ ลดลง


ข้อมูลประกอบการเขียน

Adysha Citra Ramadani, “Influenza Sebabkan Ribuan Kematian Setiap Tahun di Indonesia,” https://www.republika.co.id/berita/q1w05u328/influenza-sebabkan-ribuan-kematian-tiap-tahun-di-indonesia

Atik Triratnawati, “Masuk Angin dalam Konteks Kosmologi Jawa,” Humaniora, Vol 23, No 3 (2011),  https://doi.org/10.22146/jh.1033

Cindy Yolanda, “Korokan, Tradisi Turun-temurun Indonesia untuk Atasi Masuk Angin,” Humaniora, https://www.goodnewsfromindonesia.id/2020/11/18/kerokan-andalan-orang-indonesia-di-kala-masuk-angin 

Rizal Fadli, “Mitos atau Fakta, Kerokan Bisa Sembuhkan Masuk Angin?,” Halodoc, https://www.halodoc.com/artikel/benarkah-kerokan-bisa-sembuhkan-masuk-angin

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save