fbpx
จีน vs สหรัฐฯ : ใครครองอนาคต?

จีน vs สหรัฐฯ : ใครครองอนาคต?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

โลกศตวรรษที่ 19 เคยหมุนรอบอังกฤษ โลกศตวรรษที่ 20 หมุนรอบสหรัฐฯ  ปัจจุบัน หลายคนกำลังสงสัยว่า โลกยุคใหม่ในศตวรรษนี้กำลังจะหันมาหมุนรอบจีนหรือไม่?

วันนี้ผมจะชวนรับฟังความเห็นของนักวิเคราะห์ชื่อดังสองท่าน ซึ่งมองต่างมุม คนหนึ่งมองว่า สหรัฐฯ ยังถือไพ่เหนือกว่าจีน ส่วนอีกคนกลับมองว่า จีนต่างหากที่ถือไพ่เด็ดสำหรับอนาคต

 

สี่ไพ่เด็ดของสหรัฐฯ

 

การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศความฝันสร้างชาติจีนให้กลับมาแข็งแกร่งและทรงอิทธิพลอีกครั้ง กลับประจวบเหมาะกับช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวซ้ำซากของประธานาธิบดีทรัมป์ จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุคทองของสหรัฐฯ?

Joseph Nye ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนบทวิเคราะห์ในนิตยสาร Financial Times โดยเห็นว่า สหรัฐฯ ยังถือไพ่เหนือกว่าจีนหลายขุม แม้จะมีประธานาธิบดีห่วยๆ อย่างทรัมป์ ก็ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงไพ่เด็ดเหล่านี้

ไพ่ใบแรก คือ ที่ตั้งของสหรัฐฯ สหรัฐฯ เข้าถึงมหาสมุทรทั้งสองฝั่ง และมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แคนาดา และเม็กซิโก แตกต่างจากจีน ซึ่งมีอาณาเขตติดกับ 14 ประเทศ และทะเลาะเรื่องเขตแดนกับเขาไปทั่ว ตั้งแต่อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ปัญหาไต้หวัน รวมทั้งความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เรียกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย จีนก็ถูกปิดล้อมเรียบร้อย

ไพ่ใบที่สอง คือ ความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจและขุดเจาะจนค้นพบ shale oil ปริมาณมหาศาลในสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ไม่ต้องนำเข้าน้ำมัน ต่างจากจีน ซึ่งต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง และนำเข้าแก๊สธรรมชาติ ซึ่งต้องวางท่อส่งจากรัสเซีย การนำเข้าน้ำมันของจีนยังต้องขนส่งผ่านทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกับหลายประเทศ

ไพ่ใบที่สาม คือ จีนพึ่งพิงสหรัฐฯ มากกว่าสหรัฐฯ พึ่งพิงจีนในเรื่องการค้า ถ้าเกิดสงครามการค้าหรือสงครามของจริง (เช่น สงครามเกาหลีเหนือ) ย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ เพราะทั้งคู่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด แต่ฝ่ายจีนจะได้รับความเสียหายมากกว่าสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น มีผลวิจัยชี้ว่าถ้ามีสงครามเกิดขึ้นในเอเชีย จนการค้าหยุดชะงักลง สหรัฐฯ จะเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 5% ของ GDP แต่จีนจะเสียหายสูงถึง 25% ของ GDP

ไพ่ใบที่สี่ (ซึ่งเป็นไพ่ไม้ตาย) คือ ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในเงินทุนสำรองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีเพียง 1.1% ที่เป็นสกุลเงินหยวน อีก 64% ต่างถือเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ทั้งนั้น เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังจะเป็นเงินสกุลหลักของระบบการเงินโลกไปอีกนาน   

ดังนั้น ตามความเห็นของ Joseph Nye ถ้ามีคนรับพนันว่าใครจะเป็นมหาอำนาจในอนาคต เขาก็ยังแทงข้างสหรัฐฯ อยู่ดี

 

สี่ไพ่เด็ดของจีน

 

ในวันเดียวกัน Ian Bremmer คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์การต่างประเทศชื่อดัง ได้เขียนบทความชิ้นสำคัญให้แก่นิตยสาร Time พาดหัวแทงใจ (ชาวสหรัฐฯ) ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังจะครองโลกอนาคต!

เขามองว่า ปัจจัยสำคัญที่หลายคนลืมนึกถึง ก็คือ โลกยุคใหม่เป็นโลกของเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลทางเศรษฐกิจและสังคม แรงงานจะตกงานอีกมหาศาล คนที่ผูกขาดตลาดจะเป็นบริษัท (และประเทศ) ที่ครองเทคโนโลยีใหม่ ในสภาพแวดล้อมใหม่นี้ ระบบเศรษฐกิจจีนสามารถตอบโจทย์เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดีกว่าระบบทุนนิยมเสรีของสหรัฐฯ

เราอาจสรุปจากบทวิเคราะห์ของ Ian Bremmer ได้ว่า จีนถือไพ่เด็ดสำหรับอนาคตอยู่ 4 ใบ

ไพ่ใบแรก คือ เงินทุนใหญ่ที่ควบคุมโดยรัฐ รัฐบาลจีนสามารถให้การสนับสนุนทางการเงินกับอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ผ่านแหล่งเงินกู้จากธนาคารของรัฐฯ สามารถสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทจีนพยายามเข้า take-over บริษัทเทคโนโลยีตะวันตก (หรือไม่ก็ให้การคุ้มครองเวลาบริษัทจีนขโมยเทคโนโลยีมาดื้อๆ) นอกจากนั้น ยังสามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในต่างประเทศผ่านรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายของจีน ซึ่งเดินหน้าลงทุนทั่วโลกตามนโยบาย One Belt One Road ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง สิ่งเหล่านี้ล้วนแตกต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตอนนี้ไม่มีศักยภาพในการให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ดังในอดีต

ไพ่ใบที่สอง คือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยรัฐบาลที่แข็งแกร่งและสามารถจัดการแทรกแซงเศรษฐกิจตามใจชอบ ทำให้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี  จีนน่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดีกว่าสหรัฐฯ ซึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จนไม่สามารถจัดการอะไรได้  ปัจจุบันในสหรัฐฯ โรงงานจำนวนมากล้มหายตายจาก เพราะเทคโนโลยี A.I. (Artificial Intelligence) และเครื่องจักรสมัยใหม่ ซึ่งแนวโน้มนี้มีแต่จะรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางสังคมในสหรัฐฯ เพราะนายทุนยิ่งรวย แรงงานยิ่งตกงานและไม่มีทางไปต่อ

ไพ่ใบที่สาม คือ จีนกุมเทคโนโลยีแห่งอนาคต จีนมีความตั้งใจชัดเจนที่จะเป็นผู้นำในเทคโนโลยี A.I. ซึ่งใครชนะในเทคโนโลยีนี้ ย่อมครองเศรษฐกิจของโลกอนาคต  ความสำเร็จย่อมอยู่ที่ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันเต็มไปด้วยความขัดแย้งและข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเกินกว่าที่จะทำอะไรได้ ต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีตที่เคยลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศจนชนะสหภาพโซเวียตมาแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ ภาคเอกชนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valley ต้องแบกรับหน้าที่บุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ ในขณะที่ฝั่งของจีน เป็นการรวมพลังของทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยเป้าหมายชัดเจนว่าต้องเป็นผู้นำโลกในเทคโนโลยี A.I. ให้ได้ นี่ยังไม่นับรวมแผนอุตสาหกรรม China 2025 ที่จีนตั้งใจจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีแห่งอนาคตอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Advanced Microchip หรือ Electric cars

ไพ่ใบที่สี่ คือ อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามกับที่สมัยก่อน เรามักคิดกันว่า อนาคตของโลกเป็นของระบบทุนนิยมเสรี ปัจจุบันหลายคนเริ่มไม่แน่ใจ เพราะความสำเร็จทางเศรษฐกิจและอิทธิพลมหาศาลของรัฐบาลจีน ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาเดินตามโมเดลจีน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการเมืองในรัสเซียหรืออินเดีย ซึ่งเน้นรวมศูนย์อำนาจและให้ภาครัฐเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจมากขึ้น ผู้นำหลายประเทศเลือกตามก้นจีนหรือชอบแนวคิดแบบจีน มากกว่าแบบสหรัฐฯ ที่เคยดูเหมือนเป็นทางเลือกเดียวของโลกสมัยใหม่

Ian Bremmer ยอมรับว่า เขาไม่คิดว่าจีนเป็นประเทศที่น่าอยู่ โดยเฉพาะเมื่อดูเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในจีน แต่ถ้าถามเขาว่าใครจะชนะสงครามเศรษฐกิจในอนาคต เขาเลือกที่จะแทงข้างจีน

 

ถึงเวลาปรับโลกทัศน์ใหม่?

 

ความเห็นเชียร์สหรัฐฯ ของ Joseph Nye มองที่ปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯ ในปัจจุบันเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว จีนเองก็พยายามท้าทายปัจจัยเหล่านี้ เช่น พยายามส่งเสริมให้ใช้เงินหยวนในระบบนานาชาติมากขึ้น รวมทั้งทุ่มเงินวิจัยมหาศาลในเรื่องพลังงานสะอาด

นอกจากนั้น ประวัติศาสตร์ยังสอนเราว่า มหาอำนาจของโลกอาจเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะหากมีปัจจัยอื่นที่เราคาดไม่ถึง ดังที่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 น้อยคนนักจะมองเห็นภาพการผงาดขึ้นเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ และการถดถอยลงอย่างรวดเร็วของมหาอำนาจเก่าอย่างอังกฤษ

ส่วนความเห็นเชียร์จีนของ Ian Bremmer มีความน่าสนใจตรงที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแปลกตรงที่เขาคิดต่างจากทฤษฎีทั่วไป คนมักคิดว่าประเทศประชาธิปไตยน่าจะสามารถรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ดีกว่าประเทศเผด็จการอย่างจีน แต่เขากลับมองว่า จีนจะสามารถรักษาเสถียรภาพในสังคมได้ดีกว่า เพราะรัฐบาลจีนสามารถดำเนินการแทรกแซงเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงานหรือคุ้มครองธุรกิจไม่ให้ล้มจนลามเป็นวิกฤตได้ ต่างจากเหตุการณ์วิกฤตการเงินสหรัฐฯในปี ค.ศ. 2007 รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นในสังคมสหรัฐฯ

เช่นเดียวกัน คนทั่วไปมักมองว่า ประเทศทุนนิยมเสรีอย่างสหรัฐฯ น่าจะสามารถคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ได้ดีกว่าทุนนิยมโดยรัฐ แต่ Ian Bremmer กลับมองว่า ความมุ่งมั่นในการวางยุทธศาสตร์และการทุ่มเงินสุดตัวของรัฐบาลจีน จะทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยี A.I. จนครองอนาคตได้

เมื่อฟังความเห็นจากทั้งฝ่ายเชียร์สหรัฐฯ และจีนข้างต้น อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโลกทัศน์สำหรับโลกใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีน ทำให้หลายคนตามไม่ทันหรือยังติดภาพเก่าของจีนอยู่ หลายคนมองเห็นความอ่อนแอของระบบการเมืองและเศรษฐกิจอำนาจนิยมของจีน แต่มองไม่เห็นความแข็งแกร่งและพลังอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ส่วนในอีกฟากหนึ่งของโลก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ก็ทำให้สหรัฐฯ เผชิญความท้าทายอย่างมหาศาล แต่สหรัฐฯ เองก็ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ในหลายมิติ

เราต้องไม่หลงยอยกพญามังกรหรือพญาอินทรีย์เกินจริง แม้ว่าจีนจะรุกคืบขยายอิทธิพล แต่สหรัฐฯ ยังถือไพ่เด็ดหลายใบที่จีนไม่มี ในขณะเดียวกัน ภายในสหรัฐฯ เองก็มีความเปราะบางทางการเมืองและเศรษฐกิจ จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการขยายอิทธิพลของจีน

ทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างชอบมองอนาคต และทบทวนว่าตนถือไพ่อะไรอยู่บ้าง จะเดินเกมต่อไปอย่างไร

แล้วไทยเรา ถือไพ่อะไรบ้าง เดินเกมอย่างไรดี ในโลกใหม่เช่นนี้

 

อ้างอิง

Joseph Nye, “America holds the aces in poker game with China,” Financial Times, November 2, 2017

Ian Bremmer, “How China’s Economy is Poised to Win the Future,” Time, November 2, 2017

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save