fbpx
ติดโควิด ผิดที่ใคร?

ติดโควิด ผิดที่ใคร?

เดือนหน้านี้ถึงคราวครบกำหนดโรดแมปเปิดประเทศภายใน 120 วัน ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศกร้าวเอาไว้เมื่อเดือนมิถุนายน สิ่งที่ผู้เขียนสงสัยคือ ‘ท่าที’ ของรัฐบาลจะเป็นอย่างไรภายหลังการเปิดประเทศ โดยเฉพาะท่าทีต่อผู้ติดโควิด-19

ที่ผ่านมา รัฐพยายามปัดความรับผิดชอบ โบ้ยว่าคนที่ติดเชื้อคือคนที่ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ นาๆ ของรัฐ บ้างก็เน้นย้ำเรื่องการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว บ้างก็เตือนเรื่องการตั้งวงเหล้าวงพนัน บ้างก็บอกว่าไม่ยอมเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งที่คนซึ่งติดโควิด-19 จากเหตุการณ์เหล่านั้นถือว่าเป็นส่วนน้อยมากๆ หากเทียบกับคนที่ติดโควิด-19 เนื่องจากต้องทำมาหากินเนื่องจากรัฐเก่งแต่การบังคับ แต่ไม่ค่อยสันทัดการช่วยเหลือที่รวดเร็ว เพียงพอ และทั่วถึง

บทความนี้ชวนมาหาคำตอบกันว่า ถ้าคนไทยหนึ่งคนติดโควิด-19 ใครควรจะเป็นคนที่ผิด และใครควรที่จะแสดงความรับผิดชอบ

เราอาจมองโลกแบบกำปั้นทุบดินว่าเขาหรือเธอผิดเพราะดันไปติดโควิด-19 เสียเอง ผิดที่ปฏิบัติตัวไม่เคร่งครัด หรือว่าจริงๆ แล้ว เราควรพิจารณาผ่านกรอบที่มองว่าโควิด-19 คือภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง และหากมองด้วยกรอบนี้ ความผิดส่วนใหญ่จึงควรตกอยู่ที่รัฐซึ่งบริหารจัดการอย่างด้อยประสิทธิภาพต่างหาก

โลกที่เป็นธรรมกับโลกแห่งความเป็นจริง

คุณเชื่อในคติที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไหมครับ?

ถ้าเชื่อเช่นนั้น การที่ใครคนหนึ่งติดโควิด-19 ก็คงจะเป็นผลของการทำเรื่องไม่ดีในระดับปัจเจก เขาหรือเธออาจไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ประพฤติปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองที่ดีในยุคนิวนอร์มัลตามคำแนะนำของรัฐบาล หรืออาจเคยทำเรื่องเลวร้ายในอดีตชาติ กรรมจึงตามทันจนต้องติดโควิด-19 ในวันนี้

วิธีคิดเช่นนี้ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลกันดี แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก็จะเริ่มมองเห็นปัญหา

มุมมองข้างต้นเรียกว่า ‘สมมติฐานโลกที่เป็นธรรม’ (just-world hypothesis) เสนอโดยนักจิตวิทยาชื่อว่าเมลวิน เลอร์เนอร์ (Melvin Lerner) สมมติฐานดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมกล่าวโทษเหยื่อ (victim blaming) เช่น การตำหนิผู้หญิงที่ถูกข่มขืนว่าเป็นคนให้ท่าหรือแต่งตัวยั่วยวนผู้ชาย จึงต้องรับผลของการกระทำนั้น ตำหนิคนที่ถูกรถชนขณะข้ามถนนว่าไม่ระมัดระวัง หรือการมองว่าคนจนเพราะขี้เกียจ เป็นต้น

ผู้เขียนรู้สึกกระดากที่จะพูดว่าโลกแห่งความเป็นจริงคือโลกที่เป็นธรรม เพื่อให้เห็นภาพ เราต้องเริ่มจากความคิดที่ว่าไม่มีใครอยากติดโควิด-19 แต่คนที่มีทรัพยากรน้อยกว่าและเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขต่ำกว่าย่อมมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่า ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่างคนจนที่ไม่มีเงินซื้อหน้ากากอนามัยคุณภาพดีกับคนรวยที่สามารถซื้อหน้ากากกักตุนไว้ใช้ได้เป็นเดือน คนจนที่หยุดงานได้ไม่นานก็ต้องออกไปหาเลี้ยงชีพแม้ว่าจะไม่อยากไปกับคนรวยที่สามารถทำงานออนไลน์ในโรงแรมระหว่างพักผ่อนที่ต่างจังหวัด คนจนที่ทั้งครอบครัวต้องอาศัยอยู่ในห้องนอนเดียวกันกับคนรวยที่มีห้องนอนเพียงพอสำหรับทุกคน คนจนที่ต้องนอนรอจัดสรรเตียงผู้ป่วยตามสิทธิกับคนรวยที่สามารถใช้ประกันเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ

เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเองเออเองนะครับ เพราะมีงานวิจัยซึ่งศึกษาในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน พบว่าชุมชนที่มีรายได้ต่ำที่สุดจะมีความชุกของการระบาดโควิด-19 มากกว่าชุมชนที่ร่ำรวยที่สุดถึง 2.5 เท่า!

นับว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับเหล่าคนจน เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดแล้ว ผู้มีรายได้น้อยยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากโควิด-19 เพราะต้องสูญเสียรายได้เป็นสัดส่วนที่มากกว่าและเสี่ยงต่อการตกงานมากกว่า ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในภาพรวม หลายครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะยากจนอีกครั้งเพราะการระบาดใหญ่

ในเมื่อไม่มีใครอยากติดโควิด-19 ทุกคนก็ต่างหวาดกลัวและตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก จะดีกว่าไหมถ้าเราจะหยุดชี้นิ้วตำหนิเหล่าผู้ถูกกระทำ และมองคนเหล่านั้นอย่างเข้าอกเข้าใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ผิดที่ประชาชนไม่เคร่งครัด?

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองมนุษย์เป็นเครื่องจักรที่แสวงหาผลประโยชน์สูงสุด พวกเขาเห็นแก่ตัวอย่างไร้ขอบเขต มีเหตุมีผลอย่างไร้ขอบเขต และมีจิตใจมุ่งมั่นอย่างไร้ขีดจำกัด หากมนุษย์เป็นเช่นนี้ เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายมาเพื่อจำกัดสิทธิ ก็คงยอมศิโรราบ เพราะมองว่าการฝ่าฝืนอาจได้ไม่คุ้มเสีย

แต่มนุษย์จริงๆ ไม่ได้เหมือนกับมนุษย์ในแบบจำลอง เรามีความเห็นแก่ตัวที่จำกัดและพร้อมจะเสียสละความสุขส่วนตนบางอย่างให้กับคนแปลกหน้า เรามีความสามารถในการใช้เหตุผลจำกัด เพราะระบบประมวลผลในสมองของเราไม่ได้เก่งฉกาจพอที่จะชั่งน้ำหนักระหว่างทางเลือกตรงหน้าและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และความมุ่งมั่นของจิตใจคนเราก็มีขอบเขต สังเกตจากหลายคนที่ต้องการเลิกบุหรี่หรือลดน้ำหนัก แต่พวกเขาก็ทำไม่ได้สักที ทั้งที่รู้ว่าหากทำสำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราในระยะยาว

จริงๆ แล้ว มนุษย์เราในบางครั้งก็ยอมฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อหาทางเอาตัวรอดจากความทุกข์ตรงหน้า ดิ้นรนออกจากภาวะวิกฤติแม้จะเป็นการกระทำที่ดูไม่สมเหตุสมผลเพราะพวกเราคือสามัญชน ไม่ใช่ตำรวจ ทหาร หรือสุนัขที่ถูกฝึกให้เชื่อง ต้องทำทุกอย่างตามคำสั่งนายเพื่อไม่ให้ถูกลงโทษ

การที่ประชาชนไม่เคร่งครัดกับคำสั่งแบบสักแต่ว่าสั่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางตั้งแต่เมื่อปีกลายที่ผ่านมาเพราะเหล่านักพฤติกรรมศาสตร์กังวลว่าการใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิด ‘ความเหนื่อยล้าจากการล็อกดาวน์’ (Lockdown Fatigue) นำไปสู่การใช้มาตรการที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่สามารถจำกัดการระบาดได้อย่างที่คาดหวัง

แรกเริ่มเดิมที แนวคิดข้างต้นเป็นเพียงการคาดการณ์จากงานวิจัยในอดีตที่บังคับให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การจัดการการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในอังกฤษที่ไม่ประสบผลเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันมีการศึกษาจำนวนมากที่ยืนยันว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง

การศึกษาชิ้นล่าสุดนำทีมโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่ใช้ข้อมูลจาก 152 ประเทศพบว่า การดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานาน หรือล็อกดาวน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ประสิทธิผลในการจำกัดการระบาดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเชิงนโยบายว่า การล็อกดาวน์ควรทำแบบเข้มข้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะถ้ายิ่งนาน ก็จะยิ่งมีแนวโน้มที่ประชาชนจะไม่ยอมปฏิบัติตาม

การศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักโพลล์ YouGov ที่สอบถามประชาชนใน 24 ประเทศเรื่องการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการระบาด ผลลัพธ์ที่ได้ปรากฏว่า แม้แต่ในประเทศที่ดูเหมือนจะเคร่งครัดอย่างจีน ประชาชนเองก็เริ่มผ่อนคลายความระมัดระวัง หลังจากต้องเผชิญกับการระบาดเป็นระยะเวลานาน

นี่คือเรื่องธรรมดาของสามัญชนที่คงไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามคำแนะนำและข้อบังคับทุกข้อที่รัฐกำหนดแบบขาดความเข้าอกเข้าใจ หากใครสักคนติดโควิด-19 แล้วรัฐมาตำหนิว่าที่ติดก็เพราะไม่ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ผมแนะนำให้ตอกกลับว่า “ขอโทษด้วยนะครับ พอดีเกิดมาเป็นคนปกติ”

ผิดที่รัฐไร้ประสิทธิภาพ?

โทษรัฐอีกแล้ว!?

ใช่ครับ ในเมื่อการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นภัยธรรมชาติรูปแบบหนึ่งซึ่งประชาชนไม่ใช้ผู้ก่อเหตุ รัฐบาลในฐานะที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ ‘ปัญหาสาธารณะ’ ซึ่งภาคเอกชนไม่สามารถจัดการได้ ก็ควรจะเป็นตัวตั้งตัวตีและผู้รับผิดชอบหลัก ในกรณีที่มีผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิต

ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งสิ้น 1,500,105 คน เสียชีวิต 15,612 คน หากยึดตามสถิตินี้ ประเทศไทยถือว่าบริหารจัดการได้ในระดับกลางๆ ไม่ได้ดีแต่ก็ไม่ได้เลวร้าย อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงทั้งหมด เพราะภาครัฐเองก็ออกมายอมรับว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงควรจะมากกว่านี้ ที่สำคัญ อัตราการตายส่วนเกิน (excess mortality) ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสูงถึง 17,259 คนเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2558 – 2562 นับว่าเป็นตัวเลขมหาศาลที่สะท้อนได้ดีถึงความล้มเหลวของรัฐบาลทั้งในการจัดการวิกฤติและการตรวจหาผู้ติดเชื้อ

ยังไม่นับปัญหาวัคซีนไม่มาตามนัดจนทำให้ไทยฉีดวัคซีนล่าช้า ส่งผลกระทบให้แผนเปิดประเทศล่าช้าและกิจการหลายแห่งยังต้องอยู่ในสภาวะล็อกดาวน์ยาวนานแบบไม่มีความหวัง จึงไม่น่าแปลกใจหากกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือเพียง 2.1 เปอร์เซ็นต์ ครองตำแหน่งบ๊วยในกลุ่ม ASEAN-5 ซึ่งประกอบด้วยมาเลเซีย (4.7 เปอร์เซ็นต์) อินโดนีเซีย (3.9 เปอร์เซ็นต์) ฟิลิปปินส์ (5.4 เปอร์เซ็นต์) และเวียดนาม (5.4 เปอร์เซ็นต์)

เรียกได้ว่าจัดการโรคระบาดก็ไม่ดี เศรษฐกิจก็เอาไม่อยู่ ถ้ารัฐไม่ผิดก็ไม่รู้จะไปโทษใคร

แล้วนโยบายที่ดีควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดกรอบคิดสำหรับประเทศในสหภาพยุโรป เพื่อให้รัฐใช้ในการออกแบบนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ให้ประชาชนเหนื่อยล้าจากมาตรการป้องกันโรคระบาดจนไม่ปฏิบัติตาม ผู้เขียนขอหยิบบางตัวอย่างมาสรุปไว้คร่าวๆ ดังนี้ครับ

ประการแรก ต้องเข้าใจว่ามาตรการไหนบ้างที่จะทำให้คนทนไม่ได้ในระยะยาว รัฐต้องสร้างสมดุลและปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งต้องคิดถึงหัวจิตหัวใจของประชาชน บางครั้งก็ต้องเข้าใจว่าการบอกห้ามแบบกำปั้นทุบดินเป็นเรื่องที่ประชาชนปฏิบัติตามได้ยาก เช่น การห้ามเฉลิมฉลองในเทศกาลระดับชาติ หรือการห้ามเดินทางกลับภูมิลำเนา แทนที่จะห้าม รัฐควรให้คำแนะนำที่เหมาะสมและกระทำได้ง่ายเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาด อย่างที่เราทราบกันดีว่ารัฐไทยทำตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ประการที่สอง ต้องทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องง่ายและราคาถูก หากรัฐต้องการให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ แทนที่จะสักแต่ว่าสั่งให้ประชาชนไปเอาตัวรอดกันเอาเอง รัฐควรจัดหาให้ในราคาประหยัดหรือแจกจ่ายให้ทุกครัวเรือน หากต้องการให้เรียนออนไลน์หรือทำงานที่บ้าน รัฐก็ควรอุดหนุนค่าอินเทอร์เน็ตหรือค่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็น หากไม่ต้องการให้ออกจากบ้าน ก็ต้องคิดเรื่องการกินการอยู่และสิ่งของที่จำเป็น หากต้องการห้ามไม่ให้ทำมาหากิน รัฐก็ต้องจ่ายเงินเยียวยา

ตราบใดที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยุ่งยากและราคาแพง ก็อย่าหวังลมๆ แล้งๆ ว่าประชาชนจะปฏิบัติตาม

ประการที่สาม รัฐบาลควรทำตัวน่ารัก ไม่ใช่กล่าวโทษ ก่นด่าหรือข่มขู่ประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐ หากรัฐบาลไหนยังมีพฤติกรรมเช่นนี้ ก็ควรปรับทัศนคติเสียใหม่โดยเริ่มจากว่า ประชาชนทุกคนต่างก็ยอมเสียสละอะไรบางอย่างเพื่อกระทำตามคำสั่งของรัฐ เพราะคงไม่มีใครอยากติดเชื้อโควิด-19 แต่กลุ่มคนที่ตัดสินใจฝ่าฝืนก็เพราะความจำเป็น การก่นด่ากล่าวโทษจึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา น่าเสียดายที่รัฐไทยพร้อมจะกล่าวโทษประชาชน โดยไม่มีสักครั้งที่จะออกมาขอโทษที่บริหารจัดการผิดพลาด แต่ล่าสุดมีการขอโทษอย่างเป็นทางการเพียงหนึ่งครั้งจากการโพสต์รูปการ์ตูนที่โหนกระแสอย่างน่ารังเกียจ

ประการที่สี่ พูดคุยกับประชาชน สอบถามความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบ แล้วปรับมาตรการตามข้อเสนอ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าความคิดเห็นของประชาชนส่งไปถึงรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่เห็นคือรัฐบาลปรับเปลี่ยนการทำงานน้อยมากโดยยึดตามเสียงผู้เชี่ยวชาญมากกว่าเสียงประชาชน แน่นอนครับว่าการฟังผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรมองข้ามความรู้สึกประชาชน แทนที่จะเล่นบทขึงขังแบบพ่อรู้ดี ทำไมไม่ลองมานั่งคุยกันว่าแค่ไหนที่รับได้ มาตรการไหนที่พอจะรับไหว แล้วแบ่งรับแบ่งสู้ไปตามกำลัง

ประการที่ห้า การสื่อสารต้องชัดเจน กระชับ และเหมาะสมกับผู้รับสาส์น แต่ผมมองว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้ได้แย่จนน่าประหลาดใจ ตั้งแต่หลักปฏิบัติตัวรับมือการระบาดของโควิด-19 ที่ย่อว่า D-M-H-T อ่านแล้วก็ชวนเกาหัวว่าหมายถึงอะไร แล้วทำไมต้องใช้ตัวย่อเป็นภาษาอังกฤษที่ไม่คล้องจองกัน หรือสารพัดศัพท์เทคนิคหรือศัพท์ภาษาอังกฤษที่ท่วมอยู่ในเฟซบุ๊กของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ไม่ว่าจะเป็น Bubble and Seal, COVID-Free Setting และ Universal Prevention ซึ่งเป็นการเขียนเองเข้าใจเอง

เพียงห้าข้อนี้ก็คงพอจะบอกได้แล้วว่ารัฐบาลไทย ‘สอบตก’ ขนาดไหนเมื่อเทียบกับมาตรฐานระดับสากล

ดังนั้น ถ้าถามผู้เขียนว่าติดโควิดผิดที่ใคร คำตอบหนึ่งเดียวคือ ‘รัฐบาล’ ที่จัดหาวัคซีนได้ล่าช้า ดำเนินนโยบายจำกัดการระบาดแบบไม่เข้าอกเข้าใจประชาชน บริหารเศรษฐกิจเละไม่เป็นท่า และบีบบังคับให้ประชาชนต้องออกมาเสี่ยงชีวิตทำมาหากิน ทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงติดโควิด-19


เอกสารประกอบการเขียน

The Belief in a Just World

Impact of COVID-19 outbreak by income: hitting hardest the most deprived

Pandemic fatigue: Reinvigorating the public to prevent COVID-19

Fault Lines Widen in The Global Recovery

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save