fbpx
ใครเป็นเจ้าแพลตฟอร์ม?

ใครเป็นเจ้าแพลตฟอร์ม?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2000 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้กล่าววลีที่มีชื่อเสียงว่า การที่จีนพยายามจะควบคุมอินเทอร์เน็ตก็ “เหมือนกับการเอาตะปูปักเยลลี่” (nailing the jello to the wall) นั่นก็คือ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คลินตันบอกว่า สุดท้ายแล้ว อินเทอร์เน็ตจะนำเสรีภาพและความคิดประชาธิปไตยมาสู่ประเทศจีน

คำพูดดังกล่าวของคลินตันมีชื่อเสียง เพราะคลินตันผิดอย่างสิ้นเชิง จีนได้รับฉายาว่าเป็นประเทศที่เอาตะปูปักเยลลี่ได้สำเร็จ!

ตั้งแต่เริ่มต้นมีอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลายเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ทุกคนในจีนใช้ติดต่อสื่อสารและรับข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลจีนมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นภัยอันดับ 1 ต่อความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงไม่เปิดรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, Youtube ฯลฯ แต่จีนมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นบริษัทสัญชาติจีนเอง ซึ่งรัฐบาลจีนสามารถควบคุมได้ภายใต้กฎหมายจีนและอิทธิพลอันมหาศาลของรัฐบาล

โลกอินเทอร์เน็ตจีนจึงพัฒนาขึ้นเป็นโลกอีกใบหนึ่งที่แยกออกจากโลกอินเทอร์เน็ตภายนอกจีน ในวันที่บริษัทอินเทอร์เน็ตของจีนเติบโตและสะสมทุนขึ้นจากการผูกขาดภายในตลาดขนาดใหญ่ของจีน เราเริ่มเห็นบริษัทอินเทอร์เน็ตของจีนเหล่านี้ออกเดินทัพบุกตลาดภายนอกจีน สร้างแพลตฟอร์มจีนขึ้นแข่งกับแพลตฟอร์มฝรั่ง

‘ยุทธศาสตร์แพลตฟอร์ม’ เป็นแนวคิดที่ปัญญาชนจีนให้ความสนใจมาอย่างยาวนาน ผมจำได้ว่าอาจารย์ชาวจีนของผมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เคยสอนถึงเส้นทางการเป็นมหาอำนาจของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมนี มาจนถึงสหรัฐอเมริกา

ข้อสรุปที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าแพลตฟอร์มได้อย่างที่ไม่เคยมีชาติใดทำได้มาก่อน คำว่า ‘แพลตฟอร์ม’ ในที่นี้ ใช้ในความหมายกว้างคือ สิ่งที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การเงิน ข่าวสาร ข้อมูล

ใครเป็นเจ้าแพลตฟอร์ม ผู้นั้นย่อมเป็นมหาอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย โดยแพลตฟอร์มแบ่งออกเป็น 4 แบบสำคัญ ได้แก่

หนึ่ง แพลตฟอร์มองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์การการค้าโลก (WTO) องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก ซึ่งทั้ง 3 องค์กรนี้เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘ตรีโลกบาล’ คือเป็น 3 องค์กรที่เป็นหลักของเศรษฐกิจโลก และล้วนอยู่ภายใต้การนำและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก นับว่าเป็นผู้กำหนดกติกาการค้าระหว่างประเทศ

สอง แพลตฟอร์มการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลก ใครจะทำค้าขายข้ามชาติก็ต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน

สาม แพลตฟอร์มข่าวสารระหว่างประเทศ เราทุกคนต่างฟังข่าวต่างประเทศจากสื่อกระแสหลักของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น CNN, BBC, New York Times, Voice of America เป็นต้น

สี่ และเป็นแพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกปัจจุบัน คือ แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารไร้สาย สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้น ทุกคนในโลกต่างใช้ Facebook, Instagram, Twitter ส่วนโครงสร้างพื้นฐานไร้สาย เช่น การวางเครือข่าย 3G และ 4G ผู้นำเทคโนโลยีแต่เดิมคือบริษัทสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกมาโดยตลอด

พูดถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านน่าจะเริ่มมองเห็นชนวนความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เรียกอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นความขัดแย้งพื้นฐานในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา จีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในแพลตฟอร์มข้างต้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ถ้าขืนปล่อยไป รู้ตัวอีกทีหลายประเทศอาจตกอยู่ใต้แพลตฟอร์มจีน

ในเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จีนใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มและโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ สร้างขึ้น กลายเป็นจีนได้ประโยชน์จากการค้าโลกมากที่สุด และเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในองค์กรระหว่างประเทศดั้งเดิมต่างๆ แถมจีนเองก็เริ่มตั้งองค์กรระหว่างประเทศหรือกลไกระหว่างประเทศใหม่เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) หรือความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ทำให้จีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดกติกาการค้าโลก

ในเรื่องการเงินระหว่างประเทศ จีนกำลังจะออกหยวนดิจิทัล ซึ่งจะเป็นเงินดิจิทัลสกุลแรกที่รับรองโดยธนาคารกลางของรัฐ หลายคนมองว่าต่อไป หยวนดิจิทัลจะมีบทบาทแข่งกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในการค้าและการชำระเงินในโลกออนไลน์ ซึ่งโลกยุคใหม่จะมีมูลค่าการค้าขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในเรื่องข่าวสารระหว่างประเทศ จีนทำ Voice of China มาสู้กับ Voice of America ส่วนสำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีนก็เดินสายทำความร่วมมือกับสำนักข่าวทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย

สุดท้าย ในเรื่องที่เป็นแก่นของโลกยุค 4.0 และ 5.0 อย่างแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสาร บริษัทอินเทอร์เน็ตจีนอย่าง Alibaba, Tencent, Baidu ได้เริ่มเดินทัพออกไปบุกตลาดโลก วันนี้ที่คนตกใจมากคือ ปัจจัย 4 ของวัยรุ่นสหรัฐฯ และทั่วโลก กลายมาเป็น Facebook, Twitter, Instagram และ Tiktok ใช่แล้วครับ Tiktok โซเชียลมีเดียคลิปวิดีโอที่สร้างกระแสไปทั่วโลก ที่บริษัท ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน เป็นเจ้าของ ตอนนี้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลัก 1 ใน 4 ของโลกเรียบร้อยแล้ว

จากเดิมที่สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกเป็นเจ้าแพลตฟอร์มการสื่อสารในยุค 3G และ 4G แต่ปรากฎว่าในยุคเทคโนโลยี 5G นั้น Huawei ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ทั้งมีเทคโนโลยีล้ำหน้า แถมราคาถูกกว่าเจ้าอื่น (หลายเท่าตัว) อีกด้วย

ทำไมเรื่องที่ว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นของสหรัฐฯ หรือจีนจึงเป็นเรื่องสำคัญ? คำตอบก็เพราะข้อมูลพวกเราล้วนอยู่ในหรือไหลผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ เจ้าแพลตฟอร์มย่อมสามารถใช้ Big Data เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เช่น Alibaba ย่อมมีความเข้าใจผู้บริโภคได้ดีที่สุดว่าอะไรกำลังมาแรงในตลาด หรือสามารถใช้ข้อมูลมหาศาลในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้ก้าวหน้า

เจ้าแพลตฟอร์มยังอาจสร้างอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนจำนวนมาก ดังที่ Facebook ถูกวิจารณ์ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทรัมป์ชนะฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2016 เพราะการซื้อโฆษณาและการกระจายข่าวเท็จใน Facebook ช่วงเลือกตั้ง  เช่นเดียวกับการที่เจ้าแพลตฟอร์มองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะกลายเป็นคนกำหนดกติกาการค้าโลก เจ้าแพลตฟอร์มในโลกออนไลน์ก็เป็นคนกำหนดอัลกอริทึมว่าผู้ใช้งานจะเห็นข้อมูลข่าวสารอะไร

สำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งข้อมูลที่อยู่ในโซเชียลมีเดียของบริษัทจีน และข้อมูลที่ไหลผ่านเครือข่าย 5G ของ Huawei นักวิจารณ์ตะวันตกจะชี้ไปที่กฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีน ซึ่งกำหนดชัดเจนว่าบริษัทเทคโนโลยีของจีนจะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในเรื่องความมั่นคง กล่าวคือ ตามหลักการแล้ว รัฐบาลจีนสามารถอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงสั่งให้บริษัทจีนช่วยส่งหรือช่วยลักข้อมูลส่วนบุคคลที่ไหลผ่านแพลตฟอร์มของตนได้

บริษัทจีนและรัฐบาลจีนยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีหลักฐานพิสูจน์ได้เลยว่าบริษัทจีนหรือรัฐบาลจีนมีพฤติกรรมละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอื่น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงสหรัฐฯ มักให้เหตุผลว่า ตามตรรกะของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม กลยุทธ์ตอนเริ่มแรกคือ ดึงทุกคนให้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มให้ได้ก่อน จนถึงจุดหนึ่งเมื่อทุกคนเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มจีนแล้ว วันนั้นเกิดจีนทำอะไรไม่ชอบมาพากลขึ้นมา ก็สายเสียแล้วที่จะแก้ไข

ถ้ามองจากมุมนี้ จึงไม่แปลกที่จะเห็นทรัมป์ออกมาประกาศจำกัดการทำธุรกิจของ Tiktok, Tencent และ Huawei ในสหรัฐฯ พร้อมขู่ไม่ให้ประเทศต่างๆ ใช้เทคโนโลยี 5G ของ Huawei แม้ราคาจะน่าดึงดูดสักเพียงใดก็ตาม

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มจึงเป็นมากกว่าการแข่งขันเรื่องการค้าหรือเรื่องเทคโนโลยี แต่ยังเป็นเรื่องความมั่นคงด้วย พื้นฐานความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องการช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจโลก ซึ่งจีนชัดเจนว่า แม้จีนจะไม่มีทางแทนที่สหรัฐฯ ได้ทั้งหมด แต่ก็ขอกินพื้นที่แบ่งความเป็นเจ้าโลกร่วมกับสหรัฐฯ ด้วย

เวลาผ่านมา 20 ปี จากปี ค.ศ. 2000 กลายเป็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ หันมาเลียนแบบวิธีควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติของจีน จีนเคยแบนแพลตฟอร์มฝรั่งฉันใด สหรัฐฯ ก็เริ่มแบนแพลตฟอร์มจีนฉันนั้น โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง

คำถามคือ ทรัมป์จะทำได้ทันเวลาหรือเปล่า หรือจะเหมือนเป็นการเอาตะปูตอกเยลลี่ เพราะแพลตฟอร์มจีนปัจจุบันขยายรวดเร็วและทรงอิทธิพลขึ้นมากแล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save