fbpx
ใครคือคิมจียอง?

ใครคือคิมจียอง?

จักรกริช สังขมณี เรื่อง

ในเวลานี้ หลายคนคงเคยได้ยินและเคยได้อ่านวรรณกรรม ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ (82년생 김지영) ของ โชนัมจู มาบ้างแล้ว วรรณกรรมดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราวของคิมจียอง ผู้หญิงเกาหลีวัย 34 ที่ต้องสวมบทบาททางสังคมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งในฐานะภรรยา แม่ ลูกสาว พี่สาว ลูกสะใภ้ และพนักงานบริษัท — บทบาทมากมายที่เธอต้องเป็น ยกเว้นในฐานะตัวเธอเอง วรรณกรรมคิมจียอง เกิดปี 82 นี้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน นำแสดงโดย จองยูมิ และ กงยู ออกฉายในเกาหลีช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าฉายในประเทศไทยช่วงปลายปี 2562 นี้

หากใครได้อ่านวรรณกรรมชิ้นดังกล่าว อาจตั้งคำถามว่าบทประพันธ์ที่เล่าถึงชีวิตประจำวันและการเติบโตของหญิงสาวคนหนึ่งนั้นจะถูกนำเสนอออกมาเป็นภาพยนตร์ได้อย่างไร นั่นก็เพราะเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีจุดหักเห ไม่มีเซอร์ไพรส์ ไม่มีแม้กระทั่งความโรแมนติกที่หลายคนเฝ้ามองหา ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตปัจจุบันทั่วไป ไม่น่าแปลกใจ เพราะภาพยนตร์ก็เล่าเรื่องที่แสนปกติธรรมดานั้นอย่างจริงใจที่สุด แต่ท่ามกลางความธรรมดาสามัญนั้นกลับแฝงไปด้วยความจริงที่น่าเจ็บปวด เพราะสิ่งที่ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งสามัญธรรมดานั้นคือความรุนแรงแบบหนึ่ง ซึ่งดำรงอยู่อย่างแยบยลในมโนสำนึกและในความสัมพันธ์ทางสังคมของเราโดยทั่วไป ความธรรมดาสามัญของเรื่องราวที่ว่านี้จึงอันตรายมาก เพราะความรุนแรงถูกทำให้เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ จนเราละเลยไปในชีวิตประจำวัน

‘คิมจียอง เกิดปี 82’ มักถูกเรียกขานว่าเป็นวรรณกรรมและภาพยนตร์แนวสตรีนิยม (feminism) สำหรับหลายคน การแปะป้ายเช่นนั้นอาจสร้างความไม่สบายใจและเกิดกระแสต่อต้านอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศเกาหลี แต่หากเราใจกว้างต่อ ‘คิมจียอง’ สักนิด จะพบว่าบทประพันธ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องราวเฉพาะของผู้หญิงด้วยซ้ำ ไม่ใช่แม้กระทั่งเรื่องระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงหรือคู่แต่งงานหนึ่งๆ หากแต่ ‘คิมจียอง’ เป็นตัวแทนการบอกเล่าถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่าเรื่องของปัจเจกบุคคล ท่ามกลางประวัติศาสตร์ของความเหลื่อมล้ำเชิงเพศสถานะ (gender inequality) ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในสังคมเกาหลี การจะทำความเข้าใจว่า ‘คิมจียอง’ เป็นใครได้นั้น ไม่ใช่การทำความเข้าใจผ่านการเพ่งพิจารณาที่ตัวผู้หญิงคนหนึ่งท่ามกลางสุญญากาศทางสังคม แต่ต้องจัดวางเพศสถานะดังกล่าวผ่านกระบวนการประกอบสร้างความสัมพันธ์รอบๆ ตัวเธอ

ในแง่หนึ่ง การทำความเข้าใจเพศสถานะของผู้หญิงในเกาหลี จำเป็นต้องพิจารณาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในการสร้างชาติสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม เพศสถานะก็ไม่ใช่เป็นเพียงผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเท่านั้น ในทางกลับกัน เพศสถานะถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักที่กำหนดนิยามและโครงสร้างทางสังคม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของเกาหลีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาด้วย พูดอีกอย่างก็คือ เพศสถานะของคิมจียอง เป็นเสมือนมาตรวัดที่สะท้อนความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาในเกาหลีนั่นเอง

การก่อตัวของสังคมสมัยใหม่ของเกาหลี เริ่มต้นจากประสบการณ์ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นในช่วง 1910-1945 ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงเพศสถานะของสังคมเกาหลีในเวลาต่อมาเป็นอย่างมาก ปมปัญหาของการบังคับผู้หญิงร่วมหลายแสนคนเพื่อให้บริการทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม หญิงบำเรอ (comfort women) เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่แสดงให้เห็นสภาวะถูกกระทำซ้ำซ้อนของความเป็นผู้หญิง ทั้งในแง่ของการถูกกระทำโดยลัทธิจักรวรรดิญี่ปุ่นเอง และจากการที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเผชิญการถูกเหยียดหยามจากสังคมของตนเอง เมื่อเกาหลีได้ปลดตัวเองจากการตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นแล้ว อดีตหญิงบำเรอเหล่านี้ต้องปิดบังตนเอง ปลีกหนีจากสังคมและเครือญาติ และเผชิญกับบาดแผลทางร่างกายและจิตใจแสนสาหัส  กระบวนการที่ยาวนานและเจ็บปวดในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องคำขอโทษและการยอมรับความจริงจากญี่ปุ่นนั้น เป็นกระบวนการที่หนักหนาไม่แพ้การต่อสู้กับความรู้สึกถูกรังเกียจในสังคมของเธอเอง

เมื่อหนังสือ ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ ฉบับเกาหลีพิมพ์ออกจำหน่าย ผมรู้สึกแปลกใจมากเมื่อได้เห็นภาพที่ถูกเลือกมาใช้ประกอบบนปก ภาพดังกล่าวมีชื่อว่า ‘เธอ’ (그여) ซึ่งวาดโดย ซอนินิ ศิลปินนักออกแบบชาวเกาหลี ภาพนี้ทำให้ผมนึกถึงรูปปั้นหญิงบำเรอ ซึ่งเป็นรูปเด็กสาวนั่งอยู่บนเก้าอี้และมีเงาดำพาดอยู่ด้านหลัง อันหมายถึงอดีตที่หม่นหมองซึ่งติดตามหญิงสาวเหล่านั้นเหมือนเป็นเงาของเธอ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาพนี้ไม่ต่างจากรูปปั้นหญิงบำเรอ ภาพ ‘เธอ’ บนหน้าปกหนังสือ ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ นี้ แสดงถึงผู้หญิงไร้หน้าและไร้นาม มีเงาพาดอยู่ด้านหลังของเธอ เงาหม่นดังกล่าวไม่ต่างจากพันธะมากมายที่ติดตามเธอไปในทุกแห่งหน จะว่าไปแล้ว หญิงบำเรอเหล่านี้เปรียบไปก็เหมือนกับคิมจียอง หรือ ‘เธอ’ ในยุคก่อนเกาหลีจะเข้าสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ ที่พวกเธอต้องปิดบังเพศสถานะ อันเป็นผลมาจากโครงสร้างอำนาจจักรวรรดิ อุดมการณ์ชาตินิยมแบบทหาร การเหยียดเพศ และอคติจากแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเพศพรหมจรรย์ของผู้หญิงนั่นเอง

หญิงบำเรอ ก็คือ ‘คิมจียอง’ ในยุคอาณานิคม และบางส่วนยังมีชีวิตต่อสู้เรียกร้องมาจนถึงวันนี้นั่นเอง

คิมจียอง เกิดปี 82

การถอนตัวของญี่ปุ่นออกจากเกาหลีในปี 1945 และสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นในช่วง 1950-1953 นั้น ทำให้เกิดสภาวะแร้นแค้น ความยากจน การอพยพย้ายถิ่น และความไร้เสถียรภาพทางสังคมการเมือง ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนอย่างมากในการปรับเปลี่ยนความคาดหวังต่อเพศสถานะของผู้หญิงให้ต่างไปจากเดิม การฟื้นฟูประเทศหลังสงครามเรียกร้องการปรับเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงและความสัมพันธ์ของเพศสถานะใหม่ ผู้หญิงจำนวนมากถูกคาดหวังให้ออกมาทำงานนอกครัวเรือนมากขึ้น เมื่อผู้ชายถูกเกณฑ์ไปสู้รบในสงคราม ผู้หญิงจึงต้องทำหน้าที่หารายได้มาจุนเจือครอบครัว อัตราส่วนของแรงงานผู้หญิงนอกครัวเรือนเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงสงครามเกาหลี โดยเฉพาะในภาคการเกษตร โรงงานขนาดเล็ก และหาบเร่แผงลอย ในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา นโยบายนักรบอุตสาหกรรมของประธานาธิบดีพัก ช็อง-ฮี ยิ่งตอกย้ำและเรียกร้อง ‘การเสียสละ’ และ ‘ความอดทน’ มากขึ้นจากผู้หญิง แรงงานผู้หญิงหลั่งไหลจากภาคชนบทและเกษตรกรรมเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานเสื้อผ้า อาหาร และอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตอบสนองการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

คิมจียอง เล่าถึงสถานภาพการทำงานของแม่ของเธอ ที่ผันตัวมาเป็นนักรบอุตสาหกรรม ไว้ว่า

“สถานที่ทำงานของสาวโรงงานทอผ้าอย่างแม่ร้อนระอุจนแทบคลั่ง ฝุ่นละอองฟุ้งคลุ้งขาวแน่นจนเบียดบังวิสัยการมองเห็น เหล่าสาวโรงงานต้องกลืนกินยาแก้ง่วงเพื่อจะได้ก้มหน้าก้มตาอันหมองคล้ำของตนทำงานหามรุ่งหามค่ำ แลกกับค่าตอบแทนอันน้อยนิดอย่างไม่น่าเชื่อ ค่าตอบแทนเหล่านั้นจะถูกส่งไปเป็นค่าเล่าเรียนของพี่ชายหรือน้องชาย ซึ่งจะเป็นผู้กอบกู้ครอบครัวในอนาคต”

สาวโรงงานอย่างแม่ของเธอเป็นตัวแทนของ ‘คิมจียอง’ ในยุคสมัยการฟื้นฟูจากสงคราม ที่เพศสถานะของเธอถูกกำหนดโดยนโยบายการพัฒนาของระบอบเผด็จการทหาร แนวคิดชาตินิยมแบบสุดโต่ง สถานภาพของแรงงานที่ไร้สิทธิและสวัสดิการ และแนวคิดขงจื่อที่ให้ความสำคัญกับการเสียสละของลูกสาว

สาวโรงงาน ก็คือ ‘คิมจียอง’ ในยุคการฟื้นฟูชาติหลังสงครามนั่นเอง

คิมจียอง เกิดปี 82

ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา การที่ผู้หญิงถูกผลักให้ออกมาทำงานหารายได้นอกบ้าน ทำให้เธอต้องแบกรับภาระงานที่มากขึ้น แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ การเปลี่ยนบทบาทที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ว่านี้ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมต่อเพศสถานะของคู่สมรสด้วย ในสังคมเกาหลีมักมองว่าการที่ผู้หญิงต้องออกมาหารายได้จุนเจือครอบครัวเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะบ่งชี้ถึงการไร้ความสามารถของสามีในการเลี้ยงดูครอบครัว มุมมองต่อเพศสถานะและบทบาทเชิงเศรษฐกิจที่ว่านี้ก่อให้เกิดทางสองแพร่งในการดำเนินชีวิตไม่เพียงเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำความคาดหวังต่อผู้ชายในฐานะผู้นำครอบครัวด้วยเช่นกัน

แนวคิดของการที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้อยู่บ้านและทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกและสามี ในขณะที่ผู้ชายต้องเป็นกำลังหลักหารายได้มาค้ำจุนครอบครัวนั้น ยิ่งก่อให้เกิดความเข้มข้นของนิยามและความแปลกแยกระหว่างเพศสถานะที่มากขึ้นในเวลาต่อมา ความคาดหวังดังกล่าวทำให้ผู้ชายต้องทำงานหนักมากขึ้น เครือข่ายพวกพ้องและปัญหาคอร์รัปชันเป็นผลผลิตจากการต่อสู้ดิ้นรนของบรรดาสามีผู้แบกรับภาระทางการเงินและความคาดหวังจากสังคม การใช้ชีวิตไปกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำและการแสวงหาช่องทางผลประโยชน์จากเครือข่ายทางสังคมที่มากขึ้น การทำงานและกิจกรรมทางสังคม เช่น การรับใช้เจ้านายและการกินดื่มเพื่อธำรงรักษาสายสัมพันธ์อุปถัมภ์ที่ว่านี้ ดึงเวลาของเหล่าบรรดาสามีไปจากครอบครัว และทำให้ผู้ชายยิ่งออกห่างจากกิจกรรมภายในบ้านมากยิ่งขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว การทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน เช่น การเลี้ยงดูลูก การทำความสะอาดบ้าน และแม้กระทั่งการดูแลภรรยาของตนเอง จึงกลายเป็นสิ่งผิดปกติสำหรับผู้ชายในที่สุด

ผู้ชายคนใดที่ยังคงช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้าน ก็คือ ‘คิมจียอง’ ซึ่งแปลกแยกจากบทบาทที่สังคมกำหนดไว้ให้กับเพศสถานะของเขานั่นเอง

คิมจียอง เกิดปี 82

ตั้งแต่ช่วง 1970 เป็นต้นมา การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางในเกาหลีและการขยายตัวของการเคลื่อนย้ายประชากรเข้าสู่เมืองใหญ่ส่งผลต่อรูปแบบของครอบครัว ที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการแต่งงานและมีลูกของชาวเกาหลีเป็นอย่างมาก อัตราการเกิดที่ลดลงประกอบกับค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับลูกผู้ชายส่งผลกระทบต่อเด็กที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าว การมีบุตรถือเป็นการลงทุนที่สำคัญของครอบครัว ทั้งในแง่ของต้นทุนการเลี้ยงดูและการให้การศึกษา ท่ามกลางข้อจำกัดของรายได้ การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงมากขึ้น และขนาดของที่อยู่อาศัยที่เล็กลง ลูกที่เกิดมาย่อมมาพร้อมกับภาระและความคาดหวังจากพ่อแม่และเครือญาติของพวกเขา

คิมจียองซึ่งเกิดในปี 1982 บอกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น “การตรวจหาเพศเด็กในท้อง และการทำแท้งเด็กหญิงเป็นเรื่องเปิดเผยกันทั่วไป จนราวกับว่าการได้ลูกสาวกลายมาเป็นหนึ่งในเหตุผลทางการแพทย์ของการทำแท้ง” ข้อความดังกล่าวนี้เห็นจะจริงอยู่ไม่น้อย เมื่อเราพบว่าอัตราการเกิดของทารกเพศชายต่อเพศหญิงนั้นต่างกันเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ในช่วงทศววรษ 1980-1990 แน่นอนว่าความคาดหวังต่อลูกชายที่เกิดและกำลังเติบโตขึ้นมานั้นก็ย่อมจะมากตามไปด้วย ในขณะที่ลูกผู้หญิงเองก็ถูกมองว่าเป็นภาระของครอบครัว เพราะการเลี้ยงดูเธอให้เติบโตขึ้นมานั้นก็เพียงเพื่อรอวันให้เธอแต่งงานและกลายไปเป็นสมบัติของครอบครัวฝ่ายชายเท่านั้น

ในสังคมเกาหลี หน้าที่ของคิมจียองจึงเป็นหน้าที่ต่อครอบครัวของสามีของเธอ และเป็นหน้าที่ที่แม่สามีของเธอก็ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนแล้วเช่นกัน

แม่สามีของคิมจียอง ก็คือ ‘คิมจียอง’ มาก่อนนั่นเอง

สถานะและบทบาทของผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งเมื่อครอบครัวชาวเกาหลีต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความไม่มั่นคงของอาชีพการงานท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1990 การศึกษาที่สูงขึ้นของผู้หญิงทำให้พวกเธอเข้ามามีส่วนในการทำงานประกอบอาชีพและหารายได้เองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังแต่งงานและมีลูก ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องออกจากงานเพื่อกลับมาทำหน้าที่แม่และภรรยาตามที่สังคมคาดหวังจากเพศสถานะของเธออีกครั้ง แต่กระนั้น สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนในช่วงปลาย 1990 โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 1996 ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนสถานะกลับมาเลี้ยงดูลูกได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ผู้หญิงที่เลี้ยงดูลูกจนเข้าโรงเรียนแล้วถูกคาดหวังให้กลับเข้าสู่ภาคแรงงานนอกครัวเรือนอีกครั้ง แต่ความไม่ต่อเนื่องของการทำงานเพราะการแต่งงานและเลี้ยงดูลูกนั้น ทำให้ผู้หญิงที่กลับมาทำงานอีกครั้งประสบความยากลำยากให้การได้งานทำที่ดี มีความก้าวหน้า และเหมาะสมกับความสามารถของเธอ ผู้หญิงหลายคนจบลงด้วยการทำงานพาร์ทไทม์ หรืองานประเภทที่ไม่ได้มีคุณค่าต่อตัวเธอเองนัก คิมจียองต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างมากทั้งกับสามีของเธอเอง ญาติพี่น้อง และสังคมที่กว้างออกไปเพื่อให้ตัวเธอมีคุณค่าผ่านการทำงาน

ฉากในภาพยนตร์ ในตอนที่คิมจียองเปิดนิตยสารออกมาแล้วเห็นชื่อของเธอในฐานะผู้เขียนคอลัมน์ พร้อมกับรอยยิ้มสดใสที่ปรากฏบนใบหน้าของเธอนั้น สำหรับผมแล้วเป็นฉากที่สะท้อนถึงการต่อสู้ดิ้นรน และเป็นชั่วขณะที่ดึงเอาตัวตนของเธอซึ่งถูกกดทับและเบียดบังจากบทบาทอื่นๆ ออกมา

คิมจียอง ในฐานะผู้หญิงที่มีความฝัน มีความภูมิใจ มีรอยยิ้มแห่งความปิติยินดีนั้น ช่างเป็นฉากที่สั้นเหลือเกิน

คิมจียอง เกิดปี 82

ผมคงไม่มีพื้นที่พอที่จะกล่าวถึงแง่มุมเกี่ยวกับเพศสถานะที่ถูกนำเสนอใน ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความแปลกแยกและปมปัญหาที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็มีภาพและเรื่องราวงดงามที่เราอาจจะมองหาจากผลงานชิ้นดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน

ผมตกหลุมรักทั้งวรรณกรรมและภาพยนตร์ ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ ในลักษณะที่ต่างกันออกไป ในวรรณกรรม เราได้รู้จักและรับรู้ความรู้สึกที่อยู่ในห้วงความคิดและจิตใจของคิมจียองค่อนข้างมาก บทสนทนาจำนวนไม่น้อยที่เธอครุ่นคิดและบ่นพร่ำกับตัวเองนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความกังวล ความอึดอัด การตัดสินใจ และการมองโลกผ่านสายตาของเธอ คิมจียองจึงเป็นหัวใจของการเดินเรื่องในงานวรรณกรรมนั่นเอง ในขณะที่ภาพยนตร์ให้ภาพดังกล่าวในแง่มุมที่แตกต่างออกไป โดยจัดวางชองแดฮยอน สามีของเธอให้เข้ามามีส่วนในการสร้างและการกลายเป็นคิมจียอง ภาพยนตร์เลือกที่จะอธิบาย ‘เพศสถานะ’ ในฐานะ ‘ความสัมพันธ์’ ของผู้คนจำนวนมากที่มีเงื่อนไขและความซับซ้อน มากกว่าที่จะมองมันเป็นเพียง “สถานการณ์” ที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเผชิญ

ความแปลกแยกจากเพศสถานะของคิมจียองไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของใครเพียงลำพัง ทั้งครอบครัวของเธอเองที่พ่อให้ความสำคัญกับลูกชาย และแม่ที่ยอมให้การเลือกปฏิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นในบ้าน ทั้งแม่สามีที่ดูถูกผู้หญิงด้วยกันเอง และตัดสินคุณค่าของเธอง่ายๆ จากการเปรียบเทียบรายได้ที่เธอหาได้กับของสามี ทั้งโรงเรียนและที่ทำงานที่ปล่อยให้การล่วงละเมิดและการเลือกปฏิบัติทางเพศกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และจากสังคมวงกว้างที่เรียกร้องการเป็นผู้นำแบบชายเป็นใหญ่ต่อสามีของเธอ ทั้งหมดนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมที่ปฏิบัติต่อกันราวกับว่าเป็นสิ่งปกติ ซึ่งทำหน้าที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำแปลกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม จนยากที่จะบอกว่าเป็นเพียงเรื่องของผู้หญิงหรือชายคนหนึ่งคนใดได้

สำหรับผมแล้ว ฉากที่สร้างความอึดอัดและสะเทือนใจอย่างท่วมท้น คือฉากที่สามีของคิมจียองร้องไห้ด้วยความเก็บกดอย่างถึงที่สุดต่อหน้าภรรยาของเขา นั่นก็เพราะว่า เพศสถานะและความแปลกแยกของคิมจียองที่สังคมทำให้เป็น ไม่ได้ประสบแต่กับเธอเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นกับเขาซึ่งไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไรด้วยเช่นกัน

คิมจียอง เกิดปี 82

Simone de Beauvoir ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Second Sex ของเธอว่า “One is not born, but rather becomes, a woman” ภาพยนตร์และวรรณกรรม ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ ได้ชี้ให้เห็นว่า เรา เขา และเธอเหล่านั้นไม่ได้เกิดมาเป็นคิมจียอง ทว่าถูกทำให้เป็น ใครก็ถูกทำให้เป็นคิมจียองได้ ไม่ว่าจะเกิดในยุคสมัยไหน เพศกำเนิดและเพศสถานะแบบใด ผมไม่เห็นด้วยนักกับคำโปรยที่ว่า ‘เราทุกคนคือคิมจียอง’ เพราะนั่นทำให้เรามองสภาวการณ์ดังกล่าวอย่างจำนนและเห็นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เราทุกคนไม่ใช่คิมจียอง แต่ถูกทำให้เป็นคิมจียองต่างหาก การเข้าใจถึงกระบวนการ ‘กลายเป็น’ นี้เองที่จะทำให้เราตระหนักถึงบริบทและที่มาของปัญหา และหาทางร่วมกันสร้างสังคมที่เปิดกว้างต่อเพศสถานะที่แตกต่างกันมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายของ ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ ไม่ใช่เรื่องของการเรียกร้องสิทธิสตรีอย่างโดดๆ แต่เป็นการเรียกร้องการเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save