fbpx

“ราชบัลลังก์ของกษัตริย์เมืองไทยเป็นของประชาชนเสมอมา”: ใครทรงไว้ซึ่งอำนาจสถาปนาพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อกล่าวถึงระบอบประชาธิปไตย มักมีคำอธิบายปรากฏในทำนองว่าสิ่งนี้มิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่มาจากโลกตะวันตกเสียถ่ายเดียว แต่ในรากฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของไทยเองก็มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการสืบราชสมบัติขององค์พระประมุข

ในระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์จึงมาจากผู้ที่ประชาชนเห็นชอบ คือเลือกขึ้นมาดำรงตำแหน่ง และมักอธิบายกันว่าในประวัติศาสตร์ไทยแต่โบราณนานมานั้น การเลือกพระเจ้าแผ่นดินทำโดย ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ กล่าวคือพระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่ได้รับการยกให้เป็นโดยที่ชุมนุมแห่งหมู่ชนเป็นอันมาก หรือเป็นผู้ที่หมู่ชนเป็นอันมากชุมนุมกันยกให้เป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน

ในบทความนี้จะกล่าวถึงทัศนะว่าด้วยการเลือกพระเจ้าแผ่นดินว่า พระมหากษัตริย์เข้าสู่ตำแหน่งนี้ได้โดยได้รับความชอบธรรมมาจากแห่งใด หรืออีกนัยหนึ่งใครเป็นผู้เลือกพระมหากษัตริย์จริงๆ กันแน่ 

อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยเป็นหลักที่มาจากต่างประเทศ แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกันในประเพณีนิยมของไทย นั่นคือ กษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งอเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ด้วยความยินยอมของที่ประชุมชนหมู่มาก”

 – พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์


สืบสานระบอบการปกครอง


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่นั้น พระยาศรีวิสารวาจา นักกฎหมายชื่อดัง ได้เขียนคำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับระบอบการปกครองที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยโยงใยกลับไปหาโบราณราชประเพณีว่า

“อันว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยาม นั้น แปลว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติด้วยประชาชนอัญเชิญเสด็จขึ้น ทั้งนี้เป็นการตรงกับหลักการในโบราณประเพณีของเรา แต่เดิมมาพระนามของพระเจ้าแผ่นดินของเรามีความตอนหนึ่งว่า อเนกนิกรสโมสรสมมต และพิธีราชาพิเศกก็มีพราหมณ์และข้าราชการผู้ใหญ่ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งแสดงชัดว่า ประเพณีของเราไม่ถือว่าพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเนื่องมาจากพระราชอำนาจของพระองค์เอง ในบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินวงศ์สติวารต เป็นต้น ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินจุติลงมาเกิดจากสวรรค์ จึงนำเอาพระราชอำนาจที่ได้รับจากสวรรค์มาปกครองแผ่นดิน ประเทศเราตั้งแต่โบราณมาไม่ถือหลักการเช่นนั้น”

กล่าวคือ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์เข้าสู่ตำแหน่งด้วยการคัดเลือกและเห็นชอบของคนกลุ่มหนึ่ง เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ พระภิกษุ ซึ่งแม้ไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นผู้แทนของราษฎรทั้งมวล แต่กระนั้น ก็มีหลักฐานปรากฏในแผ่นพระสุพรรณบัฏโดยอักษรลักษณ์แสดงอรรถถึงที่มาของการเข้าสู่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์โดยยึดโยงกับประชาชน ดังเช่น ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมติ’  ในรัชกาลที่ 4


กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
(ที่มา : ร้อยปีพระองค์วรรณ, 2534)


พระยาศรีวิสารวาจา
พระยาศรีวิสารวาจา
(ที่มา : สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา ๒๔๗๕-๒๕๐๒, 2502)


พระราชามาจาก ‘อเนกนิกรสโมสรสมมติ’


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เคยมีลายพระราชหัตถเลขาปรากฏชัดเจนอธิบายว่า การเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพระองค์มิได้อาศัยพระราชอำนาจแห่งพระองค์เองหรืออำนาจจากเทวดาฟ้าดิน หากแต่มาจากหลักการ ‘อเนกนิกรสโมสรสมมติ’ ดังมีความตอนหนึ่งว่า

“แต่ที่เป็นเจ้าแผ่นดินทั้งนี้ ครั้นจะว่าไปว่าได้เป็นด้วยอำนาจเทวดา ก็จะเป็นอันลบหลู่บุญคุณของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ต่างพร้อมใจกันอุปถัมภ์ค้ำชูให้เป็นเจ้าแผ่นดิน … ความที่ได้เปนเจ้าแผ่นดิน เพราะท่านผู้ใหญ่ค้ำชูอุดหนุนนั้น รู้อยู่แก่หู เห็นอยู่แก่ตาของคนเป็นอันมาก ไม่อ้างว่าอำนาจเทวดาแล้ว”

คติเช่นนี้ยังคงสืบมาให้เห็นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่ปรากฏถ้อยคำในพระปรมาภิไธยว่า ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’  

อย่างไรก็ดี เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคต  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้สืบราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏข้อความว่า ‘มหาชนนิกรสโมสรสมตติ’ หรือ ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ แต่อย่างใด หากปรากฏคำว่า ‘บรมชนกาดิศรสมมต’ แทนที่ เพราะว่าพระบรมราชชนกเป็นผู้ตั้งให้พระองค์เป็นกษัตริย์นั่นเอง

ความข้อนี้ เมื่อถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เข้าสู่ตำแหน่งโดย ‘บรมเชษฐโสทรสมมต’ คือ เป็นพระมหากษัตริย์โดยพระโสทรเชษฐาธิราช ซึ่งพระบรมราชสมภพแต่สมเด็จพระบรมราชชนนีพระองค์เดียวกัน เป็นผู้ตั้งให้พระองค์รับตำแหน่งสืบราชสันตติวงศ์ แม้ในทางรูปแบบจะมีการประชุมปรึกษาหารือกันก่อนถวายราชสมบัติก็ตาม


เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
(ที่มา : เพจสมเด็จครู)


“คำที่ว่า ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ ก็ว่าไว้เพียงให้ฟังไพเราะ”


ในข้อเลือกพระเจ้าแผ่นดินของเรา เกล้ากระหม่อมเห็นว่า เทวดาเลือก ไม่ใช่มนุษย์เลือก ผู้ควรเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น เทวดาย่อมสร้างสรรค์มาให้มีบุญเพียบพร้อมควรแก่ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน ถึงมนุษย์ได้เลือก ก็เลือกสวมรอยเทวดานั้นเอง  คำที่ว่า ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมต’ ก็ว่าไว้เพียงให้ฟังไพเราะ ที่จริง คนคนเดียวหรือเพียงสี่ซ้าห้าคนเลือก การประชุมก็ทำแต่พอเป็นที ไม่ถึงอเนกชนนิกรสโมสร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น เคยแสดงทัศนะไว้ใน สาส์นสมเด็จ ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2480 วิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่จริงแล้ว ข้อความ ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ ทรงเห็นว่า “เทวดาเลือก ไม่ใช่มนุษย์เลือก … มนุษย์ได้เลือก ก็เลือกสวมรอยเทวดาเท่านั้น”

และน่าสนใจว่า สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ซึ่งเวลานั้นมีพระชนม์ชีพอยู่มาแล้วถึง ห้าแผ่นดิน ทรงตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกพระมหากษัตริย์นั้น “คนคนเดียวหรือเพียงสี่ซ้าห้าคนเลือก การประชุมก็ทำแต่พอเป็นที ไม่ถึงอเนกชนนิกรสโมสร”


จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
ภาพปก จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
ฉบับที่ 25 (มิถุนายน 2564 – พฤษภาคม 2565)


“ราชบัลลังก์ของกษัตริย์เมืองไทยเป็นของประชาชนเสมอมา”


ครั้นในสมัยประชาธิปไตย ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ล้วนเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์โดยการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาตามลำดับ ซึ่งล้วนยืนยันหลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองใหม่ที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ได้เป็นอย่างดี

ความข้อนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐก็ตระหนักดีว่า “ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะการลงมติเห็นชอบของรัฐสภา พวกเขาเลือกข้าพเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์  ถ้าหากชื่อของข้าพเจ้าได้รับการเสนอในรัฐสภา แต่พวกเขาไม่ชอบข้าพเจ้าหรือไม่รับรองเห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าก็จะไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้ว่าข้าพเจ้าปรารถนาที่จะเป็นสักเพียงใดก็ตาม

โดยที่พระองค์ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 หลังจากการสวรรคตของพระโสทรเชษฐาธิราชพระองค์นั้นในสมัยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรพระองค์นั้น เคยมีพระราชดำรัสถึงการอบรมสั่งสอนพระราชโอรสธิดาของพระองค์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ว่า “ข้าพเจ้าบอกกับลูก ๆ ของข้าพเจ้าเสมอว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าฟ้าชายและเจ้าฟ้าหญิง พวกเขาจึงไม่เหมือนกับใครๆ เพราะเขามีหน้าที่ต่อประชาชน ไม่ใช่สิทธิ แต่หน้าที่  เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงต้องพยายามทำตัวของเขาให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้ ให้มีคุณค่าสมกับศักดิ์เจ้าฟ้าเสมอ”  

พระองค์ทรงยืนยันว่า “ข้าพเจ้าบอกพวกเขาว่า พวกเขาจะไม่ได้อยู่ที่นี่ ข้าพเจ้าจะไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าปราศจากประชาชนชาวไทย เราจึงเป็นหนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อประชาชน  เพราะว่าเราไม่เหมือนกับกษัตริย์อื่น ๆ ที่ครองราชสมบัติด้วยการอ้างว่าเป็นวงศ์วารของพระผู้เป็นเจ้า หรืออ้างเทวสิทธิ์”

และที่สำคัญ คือพระราชดำรัสที่ประกาศเป็นหลักชัย ยืนยันว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ด้วยข้อความที่ว่า “ราชบัลลังก์ของกษัตริย์เมืองไทยเป็นของประชาชนเสมอมา” ก่อนที่จะทิ้งท้ายว่า “เราไม่ได้อ้างเทวสิทธิ์ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงโมโหทุกครั้งที่ได้อ่านพบว่า นอกจากตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าแล้ว ยังมีตำแหน่งอื่น ๆ ที่เขาตั้งให้แก่ข้าพเจ้าอีกด้วย เช่น เป็นเชื้อสายของพระจันทร์และนามต่าง ๆ อีกมาก  ข้าพเจ้าเป็นเพียงพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทย


“หลอดไฟ 500 แรงเทียน”


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรพระองค์นั้น ยังพระราชทานสัมภาษณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวของพระองค์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2506 ว่า “ลูกชายของข้าพเจ้าเป็นเด็กฉลาด แต่เหมือนหลอดไฟ 500 แรงเทียน ที่ยังไม่สว่างเต็มที่ เขาจำเป็นที่จะต้องได้รับคำแนะนำมากกว่าลูกสาว และถ้าหากว่า เขายังไม่ตระหนักว่า เขาเป็นมกุฎราชกุมารและมีหน้าที่ต่อประชาชน เขาก็คงจะได้เข้าใจได้ในไม่ช้านี้ ยังมีทาง

และได้กล่าวถึงโครงการเกี่ยวกับการศึกษาของพระราชโอรสไว้อีกว่า “ข้าพเจ้าคิดเอาไว้ว่าจะส่งมกุฎราชกุมารไปต่างประเทศเสียต่างเนิ่น ๆ เพื่อที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินในอนาคต ลูกชายของข้าพเจ้าจะต้องเรียนกฎหมาย ซึ่งจะเป็นสิ่งคอยช่วยเตือนให้เขาระลึกถึงหน้าที่ของเขาได้ นอกจากนี้ ก็ควรจะต้องได้รับการฝึกหัดทางทหารอีก เพราะจะช่วยให้เขามีความเป็นผู้นำ  สองอย่างนี้สำคัญ และมีประโยชน์มากเมื่อเวลาจะต้องรับใช้ประชาชน


สืบสาน รักษา และต่อยอด


ถ้าเราน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาพิจารณาก็จะเห็นว่า พระบรมราชวงศ์มีหน้าที่ “ต้องพยายามทำตัวของเขาให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้” เพราะ “พวกเขาจะไม่ได้อยู่ที่นี่ ถ้าปราศจากประชาชนชาวไทย (เราจึง)เป็นหนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อประชาชน” และยังทรงย้ำถึงการ “รับใช้ประชาชน” อีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงควรแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในยามที่สถานการณ์บ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งทางเศษฐกิจ สังคม และโรคระบาด ด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ “ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” อย่างเสมอภาคทั่วหน้ากันสืบไป ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ “ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป” นั่นเอง


บรรณานุกรม

  • จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองครบ 84 ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย 1-5 ตุลาคม 2521, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2521), น. 203 อ้างถึงใน อรรถจักร สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปรของสำนึกทางประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึง พ.ศ. 2475, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531).
  • ทรงวิทย์ แก้วศรี. ชุมนุมพระนิพนธ์ของศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2522).
  • ทองย้อย แสงสินชัย, “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ สร้อยพระปรมาภิไธยที่มีนัยน่าพิศวง,” บาลีวันละคำ.
  • นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา, สาส์นสมเด็จ เล่ม 5 (นนทบุรี: ต้นฉบับ, 2563), น. 94.
  • ภาวาส บุนนาค, พระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535), น. 9, 16.
  • ศรีวิจารวาจา, พระยา, คำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, (พระนคร: ลหุโทษ, 2475), น. 1-2.
  • บทสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จาก Nimia P. Arroyo, “The King and I, 1963The Manila Times (Oct 10, 1963) ฉบับแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” โดย ศรีสุข บุญยัง และพรพรรณ วัชราภัย ซึ่งตรวจแก้โดย อดุล วิเชียรเจริญ [จากเอกสารจดหมายเหตุส่วนบุคคล ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ, หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์] อ่านได้ ที่นี่.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save