fbpx
สฤณี อาชวานันทกุล : คุณค่าทางวรรณกรรม ใครเป็นคนกำหนด?

สฤณี อาชวานันทกุล : คุณค่าทางวรรณกรรม ใครเป็นคนกำหนด?

ภาพของ สฤณี อาชวานันทกุล ในสายตาของเราคือนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ที่ก้าวข้ามจากโลกการเงินและวิชาการ มาเป็นผู้ผลิตทั้งงานเขียน งานแปลหนังสือหลายต่อหลายเล่ม

ผลิตในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะบทบาทนักเขียน แต่เธอยังคลุกคลีกับการอ่านและตัวหนังสือมากกว่าที่คิด ด้วยบทบาทเจ้าของสำนักพิมพ์ ชายขอบ และหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ openworlds ชื่อแรกในฐานะสำนักพิมพ์บทกวีสุดละเมียดละไม ชื่อหลังในฐานะสำนักพิมพ์หนังสือแปลชั้นดีจากต่างประเทศให้คนไทยเปิดโลกทัศน์ทางความรู้ได้ง่ายมากขึ้น

ฟังดูเป็นหลากโลกที่ยากจะเชื่อว่าผสมอยู่ในคนๆ เดียวกัน

หลังตกปากรับคำมาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการให้กับ ‘ความน่าจะอ่าน’ สิ่งที่เรา ‘ฟังดู’ ในความคิด กับสิ่งที่ ‘ตาเห็น’ รายชื่อหนังสือที่เธอเลือกมา ทำให้รู้ว่าเธอเป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือหลากหลายแนว ลบภาพความเข้าใจผิดๆ ที่เราเชื่อว่าคนสายวิชาการอย่างเธอ ต้องเลือกหนังสือวิชาการดูอ่านยากมาแนะนำแน่ๆ

ก่อนไปดูว่าเธอเลือกเล่มไหนให้ ‘ความน่าจะอ่าน’ ลองมาทำความเข้าใจ ‘การอ่าน’ ในสายตาของนักเขียนคนนี้กันก่อน

แล้วจะรู้ว่ามุมมองของสฤณีได้ผสมผสานโลกหลายใบเข้าด้วยกัน ไม่แพ้รสนิยมการอ่านและเขียนของเธอเลย

หนังสือสักเล่มจะมีอิทธิพลกับชีวิตของคุณ ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน

ตอบยากนะ ไม่มีใครรู้หรอกว่าหนังสือเล่มไหนจะมากระแทกตัวเราเมื่อไหร่ บางเล่มอาจจะห่วยมากในสายตาคนอีกร้อยคน แต่ดันเปลี่ยนชีวิตคุณ เพราะมันบังเอิญเข้ามาในช่วงเวลาที่ใช่ ประโยคสามประโยคในนั้นอาจจะกระแทกหน้าเข้าก็ได้

มันเลยยากที่จะประเมินลักษณะของหนังสือที่จะเปลี่ยนชีวิตเรา คิดว่าไม่มีใครตอบได้หรอก ถ้าตอบได้ก็ไม่จริง เพราะสุดท้ายมันก็อยู่ที่ว่าสถานการณ์ของเราเป็นยังไงในช่วงนั้น อย่างของตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนความคิด มองโลกได้กว้างขึ้น ทำให้เราได้ทบทวนสิ่งที่เราคิด

การอ่านให้อะไรกับคุณบ้าง

การอ่านก็เหมือนอาหารสมอง มันเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด ประสิทธิภาพดีที่สุดในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับคนอื่น

เป็นสื่อหนึ่งที่ทำให้เราเห็นโลกจากสายตาของคนอื่นที่เราอาจไม่เคยได้คุยด้วย เป็นการสร้าง empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) ที่บอกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา มันก็คืออย่างนี้ มันเป็นสื่อที่ช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นได้ อีกอย่างคือมันช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ สามารถกเถียงกับข้อมูลได้

มันคือการฝึกคิดน่ะค่ะ ในแง่ความเป็นมนุษย์ สตีเฟ่น คิง เองก็บอกว่า ‘fiction is the truth inside the lie’ คือนิยายมันอาจจะโกหก แต่แล้วไงล่ะ Game of Thrones ทั้งเรื่องมีแค่มังกร แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้สันดานมนุษย์ ก็เป็นความจริงเหมือนกันรึเปล่า

การอ่านหนังสือนิยายเยอะๆ ก็เหมือนกับอ่านหนังสือข้อมูลแหละมั้ง มันทำให้เราไม่ตัดสินง่ายๆ อ่านหนังสือข้อมูลเยอะๆ เราก็ไม่ตัดสินข้อมูลนั้นทันที ต้องเทียบดูก่อนว่าเป็นยังไง อ่านหนังสือนิยายเยอะๆ ก็ทำให้เราไม่เป็นคนที่ตัดสินคนง่ายๆ เหมือนกัน มีดราม่าอะไรเกิดขึ้นก็จะทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันอาจจะมีอีกมุมก็ได้

หนังสือดีๆ หลายเล่มมักจะเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีคนแปล มันทำให้คนทั่วไปเข้าถึงยากขึ้นไหม

จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก ทุกภาษาก็มีหนังสือดีที่คนควรอ่านนะ แต่ถ้ามีสำนักพิมพ์แปลมากขึ้น เราก็จะมีหนังสืออ่านเยอะขึ้น เช่น หนังสือวิทยาศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ที่อ่านง่ายและสนุกมีเยอะมาก มันควรมีสำนักพิมพ์แปลเยอะๆ เพราะความที่เราเป็นคนไทย ถึงจะอ่านอังกฤษเข้าใจ แต่อ่านเป็นไทยมันน่าจะง่ายกว่า ถ้ามีหนังสือแปลดีๆ ก็อาจจะช่วยได้

แต่ตอนนี้มันน้อยมากสำหรับตลาดหนังสือแปล ลองไปเทียบกับประเทศแถวนี้ก็ได้ ถ้าคุณไปเวียดนาม ไต้หวัน อินเดีย เค้าแปลหนังสือกันเร็วมากเลยนะ เราอาจจะบอกว่าคนอ่านเค้าเยอะกว่า แต่การที่เรามีหนังสือคุณภาพเป็นซัพพลายที่ดี มันก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนหันมาอ่านกันเหมือนกันไม่ใช่เหรอ

ทำให้คนรู้สึกด้วยหรือเปล่าว่าหนังสือความรู้ต่างๆ ต้องใช้ความพยายามมากในการอ่าน

ก็เป็นความคิดไงคะ ถ้าลองมาอ่านก็จะเปลี่ยนความคิดว่ามันไม่จริง แต่โอเค ตอนนี้มีหลายคนที่ไม่มีประสบการณ์การอ่านตั้งแต่เด็ก ไม่รู้จะตั้งต้นยังไง เคยมีนักศึกษามาถามว่า อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยว่าเวลาเดินเข้าร้านหนังสือจะเลือกหนังสือยังไง ไม่ใช่แค่ถามว่าควรอ่านเล่มไหนแล้วนะ เหมือนเค้าไม่รู้เลยจริงๆ เข้าร้านไปแล้วรู้สึกว่า ‘มันคืออะไรวะ’

ซึ่งเรื่องแบบนี้คนอ่านหนังสือเยอะๆ จะช่วยแนะนำได้ ร้านหนังสือเองก็ช่วยได้ มันเป็นเสน่ห์อย่างนึงของร้านหนังสือนะที่จะช่วยแนะนำ เป็นฟังก์ชั่นที่สำคัญอย่างนึงของความเป็นร้าน ซึ่งไม่ต้องเป็นหน้าร้านจริงๆ ก็ได้ อย่าง Readery เสน่ห์ของเค้าคือความสามารถในการเลือกหนังสือมาแนะนำให้คนรู้สึกว่าน่าอ่าน จัดหมวดหมู่มาเข้าประเภท ซึ่งก็เป็นหนังสือที่มีอยู่แล้วด้วยซ้ำ

คุณมองการวิจารณ์หนังสือในยุคนี้เทียบกับยุคเก่าเป็นอย่างไร

ยุคเก่าคงมีปัญหาการเกรงใจกันสูง ด้วยความที่เป็นสังคมไทย นักวิจารณ์ก็เป็นเพื่อนกับคนเขียนนั่นแหละ แล้วมันจะวิจารณ์ได้มั้ย คำวิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาก็น่าจะได้กันในวงเหล้า คนอ่านไม่ได้รู้ แต่ถ้าพูดถึงพื้นที่ เมื่อก่อนก็จะมีพื้นที่วิจารณ์กันเป็นเรื่องเป็นราว แต่ไม่รู้สิ หลายครั้งเหมือนเค้าไม่ได้วิจารณ์ เป็นแค่การแนะนำ เล่าเรื่องย่อให้ฟังมากกว่า แล้วก็ยอมรับด้วยว่าตัวเองเป็นคนที่เขียนวิจารณ์ไม่เป็น อ่านเล่มไหนแล้วไม่ชอบก็ไม่อยากเขียนถึงมัน ก็มันไม่ชอบน่ะ ขี้เกียจมานั่งคิดอธิบายว่าไม่ชอบเพราะอะไร

พอมาสมัยนี้ มันก็คงแย่ลงมั้ง พื้นที่ที่มอบให้การวิจารณ์หนังสืออย่างจริงจังมันน้อยลง คนอาจจะบอกว่ามีโซเชียลมีเดียนี่ ใครจะวิจารณ์ก็ทำได้ แต่ความจริงมันก็ไม่ใช่ การวิจารณ์กับการแสดงความเห็นมันไม่เหมือนกัน คนเรามีความเห็นได้ทุกเรื่องเลย แต่มันต้องใช้ความพยายาม เวลา และความเข้าใจในการที่เราจะวิจารณ์อะไรบางอย่าง ซึ่งถามว่าคนทั่วๆ ไปคิดอย่างนี้มั้ย ก็คงไม่ เพราะส่วนใหญ่อยากพูดอะไรก็พูดมากกว่า

ถ้าเป็นรางวัลวรรณกรรมล่ะ มันสำคัญอย่างไรกับการอ่านไหม

สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามคือ คำว่า ‘คุณค่าทางวรรณกรรม’ ใครเป็นคนกำหนด เพราะคำว่า ‘คุณค่า’ มันไม่ได้หยุดนิ่งอยู่เฉยๆ

อย่างพี่เป็นคนแต่งกลอน ก็แต่งแต่กลอนที่มีฉันทลักษณ์ เพราะรู้สึกว่าแต่งกลอนแบบไร้ฉันทลักษณ์ไม่เป็น ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่ากลอนไร้ฉันทลักษณ์ไม่ได้ไม่มีคุณค่าทางวรรณกรรม แต่จะมีกวีบางคนที่ไม่นับว่าเป็นกลอน

มันมีการถกเถียงแบบนี้ แต่ไม่เคยมีการตกผลึก ไม่เคยเถียงกันจนสุดทาง พอไม่มีการเปิดพื้นที่แบบนี้ รางวัลซีไรต์หรือรางวัลวรรณกรรมส่วนใหญ่เลยกลายเป็นรางวัลสะท้อนความคิดเกี่ยวกับคุณค่าทางวรรณกรรมของคนกลุ่มหนึ่งมากไปหรือเปล่า มันอาจจะไม่ได้สะท้อนความคิดของคนรุ่นใหม่กว่า หรือกลุ่มใหญ่กว่า

มีหนังสือซีไรต์หลายเล่มที่ส่วนตัวแล้วชอบมากนะคะ รู้สึกว่าเป็นเล่มที่อ่านแล้ว-นี่แหละวรรณกรรม ไม่ว่าอีกร้อยปีคนมาอ่านก็น่าจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงได้รางวัล แต่ก็ไม่ใช่ทุกเล่มที่ได้ซีไรต์แล้วจะเป็นแบบนั้น แล้วถ้าคุณค่าทางวรรณกรรมที่แต่ละรางวัลกำลังบอกกับสังคมมันเลื่อนออกไปเรื่อยๆ จากสิ่งที่คนในสังคมหรือนักเขียนเลือดใหม่มองล่ะ เมื่อที่ทางมันขยับออกไปจากปัจจุบัน มันจะยังเรียกว่าเป็นรางวัลของสังคมได้ยังไง

สุดท้ายเราก็คงไม่ได้อยากให้รางวัลที่เป็นเรื่องของวรรณกรรมสะท้อนคุณค่าของคนกลุ่มที่เล็กลงไปเรื่อยๆ หรอก ถูกไหม มันคือคำถามโลกแตกอยู่แล้ว เหมือนถามว่า ‘คำว่าสังคมของคุณคืออะไร’ มันต้องกลับไปตั้งคำถามกับความคิดของตัวกรรมการ เป้าหมายของรางวัล และคำว่า ‘คุณค่า’ ว่าคืออะไร ประเด็นนี้น่าจะน่าสนใจกว่าตัวรางวัลอีก เพราะการถกเถียงเรื่องพวกนี้จะช่วยขยับบรรทัดฐานของเราไปข้างหน้า มองเห็นประเด็นที่น่าสนใจในการเขียนมากขึ้น

มองในแง่ของคนอ่าน รางวัลเหล่านี้น่าจะยังสำคัญอยู่หรือเปล่า

การอ่านหนังสือก็คงคล้ายๆ หนังแหละ สมมติคุณชอบดูหนัง ถ้าคุณบอกว่าฉันไม่มีเวลา ฉันจะดูแต่หนังที่ได้ออสการ์ ซึ่งปีนึงมันก็มีเรื่องเดียวที่ได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็เป็นเรื่องของคุณ

แต่เวลาที่เหลือคุณจะทำอะไรล่ะ ไปไล่ดูภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีเก่าๆ เหรอ ถ้าคุณบอกว่าจะอ่านหนังสือที่มีรางวัลเป็นตัวการันตี แป๊บเดียวคุณก็อ่านหมดแล้ว ซีไรต์ที่เคยได้กันมาก็ไม่ถึงร้อยเล่มด้วยซ้ำมั้ง มันเป็นการจำกัดตัวเองโดยใช่เหตุน่ะ

แต่รางวัลพวกนี้ ในแง่หนึ่งมันก็เป็นมาตรวัดว่านี่คือตัวอย่างของหนังสือที่มีคุณค่าทางวรรณกรรม แสดงความสามารถทางวรรณศิลป์ขั้นสูง แต่ถามว่าเป็นเครื่องการันตีว่าคุณอ่านแล้วจะชอบมั้ย… ไม่เลย หนังได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคุณอาจจะเกลียดก็ได้ มันก็เป็นแค่วิธีหนึ่งในการอ่านเท่านั้นเอง

คุณว่าสังคมเราขาดกลไกส่วนไหนไปที่ทำให้คนบ่นว่าเด็กไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือกันเลย

จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร เป็นคำถามที่หาคำตอบมานานแล้วเหมือนกัน อันนึงบอกว่าสังคมไทยยังไงก็ไม่มีทางที่จะเป็นสังคมการอ่านได้หรอก เพราะเราเป็นสังคมมหรสพ แต่ไหนแต่ไรมีช่วงไหนด้วยเหรอว่าเราเป็นชาติที่รักความรู้ ไม่มี! เลิกคิดได้แล้ว ซึ่งถ้าเอาทฤษฎีนี้เป็นตัวตั้งก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่มีทางที่หนังสือจะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย เพราะมันไม่ใช่วัฒนธรรมไทย

ส่วนอีกทฤษฎีบอกว่ามันต้องมีเงื่อนไข ไม่มีหรอกที่ประเทศไหนจะเป็นสังคมการอ่านได้ตั้งแต่เริ่ม ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา ที่เอาเข้าจริงหนังสือมันสะท้อนความเหลื่อมล้ำนะ มันถูกสำหรับชนชั้นกลาง แต่อาจจะแพงสำหรับคนที่เค้าไม่มีเงิน ถ้าคุณได้ค่าแรงขั้นต่ำ หนังสือก็เป็นอะไรที่คุณต้องคิดหนักก่อนจะซื้อ เลยมีคนบอกว่าถ้ามันถูกกว่านี้ได้ ตลาดก็โตได้

ลองไปดูสิว่าโครงสร้างต้นทุนเป็นยังไง กระดาษมีการผูกขาดมั้ย ทำไมบริษัทขายกระดาษอยู่ไม่กี่เจ้า (หัวเราะ) บางสำนักพิมพ์จะเอากระดาษดีๆ เข้ามาทำไมต้องเสียภาษีเยอะมาก มันจะมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่กองหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมต้นทุนหนังสือถึงแพง

จะเอาหนังสือเข้าไปอยู่ในชีวิตผู้คนได้ยังไง บางคนบอกว่าต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก แล้วตอนนี้โรงเรียนทำอะไรอยู่ เป็นไปได้ไหมที่โรงเรียนต้องเอาหนังสือไปใช้มากขึ้น การอ่านนอกเวลาก็ต้องจริงจังกว่านี้ พ่อแม่ต้องมีบทบาทยังไง ห้องสมุดท้องถิ่นจะมีบทบาทได้มั้ย มันมีเหตุปัจจัยอีกเยอะที่ช่วยสร้างสังคมการอ่าน ถ้าจะให้มันเกิดขึ้นก็ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กนี่แหละ ให้เค้ารู้สึกว่าหนังสือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เค้าชอบ โตไปเค้าก็อ่าน

หรือเป็นเพราะตอนนี้โลกเร็วเกินกว่าที่เราจะมาใช้เวลาละเลียดไปกับการอ่านหนังสือ

ยิ่งเร็วก็ยิ่งควรจะต้องอ่าน จะได้หัดช้าให้เป็น เพราะด้วยเทคโนโลยีหนังสือ ถ้าจะอ่านให้รู้เรื่องก็ต้องไล่สายตาอ่านไปทีละบรรทัด มันบังคับให้คุณต้องอ่านช้า บังคับจังหวะในการอ่าน ซึ่งดีนะคะ มีคนเคยทำวิจัยว่าเวลาที่เราใช้ในการไล่อ่านหนังสือ มันถูกปรับมากับการประมวลผลของสมอง การอ่านในจังหวะปกติเป็นการเอื้อให้เราเข้าใจ นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมหลายคนอ่านเยอะแยะมากบนหน้าจอ แต่ไม่เข้าใจเลยว่าฉันอ่านอะไรไป

ก็คุณอ่านแบบนิ้วเลื่อนอย่างนั้นไง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save