fbpx
White Terrorism: ปรากฏการณ์ที่มองข้ามไม่ได้

White Terrorism: ปรากฏการณ์ที่มองข้ามไม่ได้

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

เหตุการณ์น่าสลดใจ เลวร้าย และควรประณาม ที่เพิ่งเกิดขึ้นในไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เห็นบนโลก

หลายคนวิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ก่อการร้ายขาว’ หรือ White Terrorism ที่เกิดจากชาว ‘ผิวขาว’ ฝั่งขวาจัดที่สมาทานแนวคิด White Supremacy อาจกำลังกลายเป็นเทรนด์ที่แพร่ลามไปทั่วโลก อาจเพิ่มความถี่มากขึ้น และอาจเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดมากกว่านี้ด้วยซ้ำ

เหตุที่นิวซีแลนด์นั้น ใครๆ ก็ต้องสลดใจ เพราะมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 50 คน และหนึ่งในนั้นคือเด็กอายุ 3 ขวบ โดย นิฮัด อาวัด (Nihad Awad) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์กรที่เรียกว่า Council on American-Isalmic Relations บอกกับผู้สื่อข่าวว่าชาวมุสลิมมีเหตุผลเพียงพอทุกประการที่จะ ‘กลัว’ และควรได้รับคำเตือนให้ ‘กลัว’ ทั้งคนที่เป็น white supremacist และผู้นำพรรคการเมืองที่มีนโยบาย ‘ขาวเหนือกว่า’ ทั้งหลายด้วย

หลังเหตุการณ์ที่นิวซีแลนด์ ประธานาธิบดีทรัมป์บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ ‘คนกลุ่มเล็กๆ’ (a small group of people) ที่มีปัญหาร้ายแรง (คือมี a very, very serious problem) เท่านั้น แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการใหญ่โตอะไร

ทว่าหลายคนออกมาโต้ว่า ถ้าหากเหตุการณ์แบบนี้ ผู้ลงมือมีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นมุสลิมแม้แต่นิดเดียวแล้วละก็ จะต้องถูก ‘จัดประเภท’ ให้กลายเป็นฝีมือของ ‘ขบวนการก่อการร้าย’ ที่มีการจัดตั้งไปในทันที แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวพันกับเหตุก่อการร้ายโดยคนขาวอื่นๆ (คือเป็น isolated incident)

แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

มีองค์กรอยู่องค์กรหนึ่ง ชื่อว่า ADL ย่อมาจาก Anti-Defamation League ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นองค์กรแบบเอ็นจีโอที่มีกำเนิดมาจากกลุ่มชาวยิว เดิมทีมีเป้าหมายจะต่อสู้กับขบวนการ anti-Semitism หรือขบวนการต่อต้านชาวยิวทั้งหลาย องค์กรนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1913 ซึ่งยุคนั้นเริ่มมีการต่อต้านชาวยิว และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสงครามโลกครั้งที่สองที่เกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีขึ้นมา แต่ตอนหลัง ADL ขยายมาพูดถึงเรื่องความเกลียดชังอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของชาวยิวด้วย

อย่างไรก็ตาม ADL ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่ามีแนวคิดหรืออุดมการณ์สนับสนุนยิวหรืออิสราเอล และต่อให้องค์กรนี้มีชื่อว่า Anti-Defamation แต่บ่อยครั้งก็ใช้กระบวนการ Dafame คนอื่น และเมื่อเป็นเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาติอื่นๆ ก็ไม่ค่อยได้สนใจมากนัก

แต่ถึงอย่างนั้น ADL ก็มีการสำรวจสม่ำเสมอว่าเหตุรุนแรงหรือเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในอเมริกานั้น เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน โดยมีหน่วยงานย่อยชื่อ Center on Extremism (COE) คอยจับตาดูเหตุร้ายที่เกิดขึ้นโดยเหล่าหัวรุนแรงหรือ Extremists ทั้งหลาย

COE เพิ่งมีรายงาน (ดูที่นี่) เกี่ยวกับเหตุก่อการร้ายในปี 2018 และมีบทสรุปออกมาว่า เหตุร้ายในอเมริกาที่เกิดจากพวกหัวรุนแรงตลอดปี 2018 นั้น ทำให้มีคนถูกฆ่าไป 50 คน ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีคนตายจากเหตุรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับพวกหัวรุนแรงมากเป็นอันดับ 4 นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา

หลายคนอาจคิดว่า พวกหัวรุนแรงไม่ได้มีแต่คนขาว แล้วจริงๆ องค์กรนี้น่าจะเอียงๆ ไปหาชาวยิวมากกว่า เพราะฉะนั้นผลที่ได้ออกมาน่าเอียงไปหาผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมแน่ๆ

แต่ผลกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะกระทั่งองค์กรที่ีมีแนวโน้มไปทางยิวแท้ๆ ก็ยังรายงานว่า การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานั้น เชื่อมโยงกับพวกหัวรุนแรงขวาจัด (Right-Wing Extremists) ในสัดส่วนที่มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ยิ่งกลุ่มที่เรียกว่า Islamist Extremism ก็ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ เพราะมีอยู่กรณีเดียวเท่านั้นเอง ทว่าการ ‘ฆ่า’ ส่วนใหญ่ (เขาใข้คำว่า majority of the killings) เกิดขึ้นจากกลุ่มที่เป็น White Supremacists หรือคนขาวที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนกลุ่มอื่น

เหตุการณ์รุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นเหตุกราดยิงแบบไม่เลือกหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแบบเดียวกับที่เกิดกับชาวมุสลิมที่ไครสต์เชิร์ช แต่ในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นกับกลุ่มอื่นๆ ที่หลากหลายกว่านั้น โดยมีฐานอยู่บนแนวคิดแบบ ‘ขวาจัด’ (Alt-Right) ซึ่งพวก White Supremacists ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย เช่น การเกิดอาชญากรรมความเกลียดชังต่อผู้หญิง

อย่างเหตุการณ์กราดยิงที่โยคะสตูดิโอแห่งหนึ่งในเมืองทาลาฮาสซีในฟลอริดา เกิดขึ้นโดยขบวนการขวาจัดที่เป็นกลุ่มชายที่มีภาวะเกลียดผู้หญิง (Misoginistic) และอยู่ในขบวนการที่เรียกว่า Manosphere Movement อันเป็นขบวนการขวาจัดที่เห็นว่าผู้หญิงควรจะรักนวลสงวนตัว ไม่ควรแต่งตัวรัดรูปมาเล่นโยคะ หรือการยิงผู้สูงอายุผิวดำที่มาช็อปปิ้งในรัฐเคนตั๊กกี้ รวมไปถึงเหตุกราดยิงชาวยิวที่ซินนาก็อกในเมืองพิตสเบิร์ก ซึ่งกรณีหลังนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 11 คน เป็นต้น

เหตุการณ์เหล่านี้อาจไม่ได้มีขบวนการจัดตั้งแบบอัลไคด้าหรือไอซิส แต่ก็ส่งผลเชื่อมโยงถึงกันในแบบที่ยากจะมองเห็น อย่างเช่นเหตุโจมตีที่ไครส์ตเชิร์ชนั้น แม้ไม่ได้มีขบวนการ ‘จัดตั้ง’ โดยตรงอยู่เบื้องหลัง แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงมาจากการโจมตีในนอร์เวย์เมื่อปี 2011 (ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 77 คน) โดยคนก่อเหตุที่ไครสต์เชิร์ช รับสารภาพว่าเขาได้รับคำอวยพรมาจากผู้ก่อเหตุที่นอร์เวย์โดยตรง

ปรากฏการณ์แบบนี้ นักวิเคราะห์หลายคนเรียกว่าเป็น ‘ความรุนแรงข้ามชาติ’ (Violence Transnationalism) ซึ่งแม้ไม่ได้มีขบวนการจัดตั้งโดยตรง แต่ก็สื่อสารส่งต่อถึงกันได้ ที่สำคัญก็คือ ในหลายประเทศของตะวันตกเริ่มเกิดความตึงเครียดทางอุดมการณ์ทำนองนี้มากขึ้น ตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา สแกนดิเนเวีย และตอนนี้ก็ไปไกลถึงนิวซีแลนด์

มีผู้วิเคราะห์ว่า การมีผู้อพยพหรือการผสมกันระหว่างผู้้คนต่างเชื้อชาติมากขึ้นนี้ ทำให้คนขาวที่ครองความ ‘เหนือกว่า’ มาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี เริ่มเกิดความคลอนแคลนในสถานภาพของตัวเอง และปรากฏการณ์นี้ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นในราวปี 2015 เป็นต้นมา

วิลเลียม แดเนียล จอห์นสัน (William Daniel Johnson) ซึ่งเป็นประธานของพรรคชื่อ American Freedom Party ซึ่งเป็นชาตินิยมผิวขาวที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ค ถึงกับให้สัมภาษณ์กับ Chicago Sun Times (ดูที่นี่) เอาไว้ว่า ปัจจุบันนี้ “ยุโรปเป็นมุสลิมเพิ่มมากขึ้น” และ “ทุกคนในโลกมีประเทศของตัวเอง ยกเว้นคนขาว ดังนั้น เราคนขาวจึงควรตั้งรัฐชาติพันธุ์ขาว (White Ethno-States) ขึ้นมา”

หลายคนเชื่อว่า แนวคิดทำนองนี้อาจเป็น ‘ฐาน’ ที่อยู่เบื้องหลังสถิติความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นก็ได้ พบว่าการทำร้ายกันด้วยเหตุแห่งการเหยียดเชื้อชาติ (Racist Attacks) ที่มีต่อทั้งผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ชาวมุสลิม รวมไปถึงชาวยิวด้วย กำลังเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่น่าตื่นตกใจ

อาชญากรรมแห่งความเกลียดหรือ Hate Crime ที่เกิดจากเชื้อชาตินั้น เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในเว็บนี้ ซึ่งเป็นขององค์กรชื่อ Office for Democratic Institutions and Human Rights หรือ ODIHR แสดงให้เห็นว่า Hate Crime ที่เกิดขึ้นเพราะอคติจากเชื้อชาติและอาการกลัวคนต่างชาติ (Xenophobia) นั้น มีมากที่สุด และเข้มข้นรุนแรงมากด้วย โดยพบว่า ในยุโรป ความรุนแรงที่เกิดจากคนขาวเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันทันทีนับตั้งแต่ปี 2015 หลังคลื่นผู้อพยพจากซีเรียและที่อื่นๆ ในตะวันออกกลางหลั่งไหลเข้าไปในยุโรป

ในอเมริกา Hate Crime อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มคนหลากหลาย เพราะอเมริกามีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อมาก แต่ในที่อื่นๆ ของโลก รวมถึงยุโรปด้วย Hate Crime ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปยังชาวมุสลิมมากที่สุด อย่างเช่นบทความนี้ใน The Conversation ได้รวบรวมเอาความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมไว้ จะเห็นได้ว่าความรุนแรงแบบนี้เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา

ในปี 2015 องค์กรชื่อ Southern Poverty Law Center รายงานว่าเกิดอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังจากเหล่า White Supremacists 892 ราย พอถึงปี 2016 เพิ่มขึ้นเป็น 917 ราย และในปี 2017 ปีที่ทรัมป์มีนโยบายจะสร้างกำแพงกั้นผู้อพยพ ตัวเลขที่ว่าก็ขยับขึ้นไปที่ 954 ราย นั่นคือไม่ลดลงเลย

White Terrorism คือภัยคุกคามใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก โดยเนื้อแท้ของมันก็คือความรุนแรงที่เกิดจากความ ‘สุดขั้ว’ แบบเดียวกับเหล่า Fundamentalist ทั้งหลายในอดีตนั่นเอง ทั้งหมดนี้คือเรื่องใหญ่ เพราะมันลุกลามไปได้โดยไม่ต้องผ่านการจัดตั้งเป็นองค์กรหรือขบวนการ แต่เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำ จึงรับมือได้ยาก ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ที่ไหน เพราะถ้าเป็น Extremist หรือชาวหัวรุนแรงที่ ‘คลั่ง’ ในอุดมการณ์ของตัวเองแล้ว ก็ล้วนสามารถทำอะไรๆ ได้ อย่างที่คนอื่นคาดไม่ถึง

จะว่าไป นี่ก็คือ The Clash of Civilisations ที่แซมมวล ฮันติงตัน เคยเตือนเราไว้เมื่อสองทศวรรษก่อนนั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save