fbpx

รถเมล์สีขาว

ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 1945 มีผู้อพยพจากสงครามจำนวนกว่า 15,500 คน อพยพเข้าสู่มัลเม่อ (Malmö) เมืองใหญ่ทางใต้สุดของสวีเดน ช่วงนี้พิพิธภัณฑ์ของเมืองมีการจัดนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในช่วงขวบปีนั้น ที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังแก่ท่านผู้อ่าน

ในปี 1945 มีปฏิบัติการกู้ภัยทางมนุษยธรรมโดยสภากาชาดของสวีเดนและรัฐบาลเดนมาร์ก โดยใช้รถเมล์ทหารทาสีขาวและมีเครื่องหมายกาชาดชัดเจน (De vita bussarna) จำนวน 36 คันขับลงไปในยุโรปภาคพื้นทวีปเพื่อรับนักโทษที่ได้รับการเจรจาให้ปล่อยตัวจากค่ายกักกันของระบอบนาซีเยอรมนี การทาสีขาวและมีเครื่องหมายเช่นนี้ก็เพื่อจะแสดงออกให้ชัดเจนว่าไม่ใช่พาหนะสำหรับการรบ แต่เป็นการกู้ภัย

อนึ่ง ปฏิบัติการนี้ไม่ได้ประกอบด้วยรถเมล์พยาบาลเท่านั้น แต่ยังมีรถบรรทุก รถขนาดเล็ก รถลาก รถครัวเคลื่อนที่ รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ด้วย

ปฏิบัติการนี้เริ่มต้นที่นักการทูตชาวนอร์เวย์ นีลส์ คริสเตียน ดีทเลฟฟ์ (Niels Christian Ditleff) มุ่งหมายจะกู้ชีวิตนักโทษสงครามชาวสแกนดิเนเวียในช่วงเดือนท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ปฏิบัติการนี้ได้รับการเสนอให้ โฟลเก แบร์นาดอตต์ (Folke Bernadotte) ขุนนางและนักการทูตชาวสวีเดน ผู้เป็นรองประธานสภากาชาด ให้เป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐบาลพรรคนาซี

แรกสุดนั้นปฏิบัติการนี้ต้องการจะช่วยเหลือเฉพาะชาวสแกนดิเนเวียเท่านั้น ทูตแบร์นาดอตต์ได้รับมอบหมายเริ่มแรกให้เจรจาปล่อยตัวนักโทษสงครามชาวนอร์เวย์และเดนมาร์กที่ถูกคุมขังอยู่ในเยอรมนี แต่ในที่สุดก็ขยายเพื่อรับเอาคนสัญชาติอื่นๆ มาด้วย

เขาให้สัมภาษณ์เมื่อกลับถึงสวีเดนกับหนังสือพิมพ์ว่า ปฏิบัติการใช้เวลาทั้งหมดประมาณสองเดือนในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 1945 และสามารถกู้ภัยคนจากค่ายกักกันในเยอรมนีได้จำนวน 15,000 คน ประกอบไปด้วยคนเดนมาร์กและนอร์เวย์จำนวน 8,000 คน นอกจากนี้ยังกู้ภัยผู้หญิงหลายสัญชาติไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส โปแลนด์ เช็ก อังกฤษ อเมริกา อาร์เจนตินา จีน ฯลฯ จำนวนกว่า 7,000 คน

ผู้ปฏิบัติการรถเมล์สีขาวเองต้องอยู่ในสถานการณ์อันเสี่ยงอันตราย พวกเขาและเธอประกอบไปด้วยคน 308 คน มีแพทย์ 20 คน ที่เหลือเป็นทหารอาสาสมัคร

หลังจากที่กู้ภัยผู้ที่อยู่ในค่ายกักกันรอบแรก ปฏิบัติการนี้ก็ยังดำเนินต่อไปในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนของปีนั้น และยังสามารถช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10,000 คน

ปฏิบัติการรถเมล์สีขาวในเยอรมนี
ที่มาภาพ: wikipedia.org

ฝั่งประเทศผู้รับ

การเดินทางโดยรถทำให้การกู้ภัยของปฏิบัติการรถเมล์สีขาวนั้นเดินทางกลับสู่สวีเดนผ่านเมืองใหญ่ทางใต้สุดของประเทศนั้นคือมัลเม่อ โดยขับรถเมล์ลงเรือ และเรือก็จะมาเทียบที่ท่าเรือของเมืองเป็นช่องทางการเข้าสู่ประเทศ

มีอาสาสมัครที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งเสนอตัวเข้าทำงานในการรับผู้อพยพเข้ามาอยู่ในค่ายบริเวณต่างๆ ที่ตั้งขึ้นในเมือง โดยอาสาสมัครเหล่านี้ต่างทำงานหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการตระเตรียมอาหาร การรักษาพยาบาล รวมไปถึงการร่วมกับรัฐบาลในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่หนีสงครามมา

ผู้ปฏิบัติการภาคสนาม
ที่มาภาพ: wikipedia.org

ชีวิตของผู้ที่มาใหม่

มีเสียงของคนหลายต่อหลายคนที่ได้เริ่มชีวิตใหม่ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางมนุษยธรรมในช่วงนั้น ในนิทรรศการที่จัดขึ้นนี้มีการเล่าเรื่องชีวิตของพวกเขาและเธอ อันน่าจะนำมายกตัวอย่างสักเล็กน้อย

คาริน ลันเดอร์เกรน บลอมควิสต์ (Karin Landergren Blomqvist, 1912-2005) เป็นชาวสวีเดนที่ทำงานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของมัลเม่อในช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติการรถเมล์สีขาว พิพิธภัณฑ์ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นที่รับผู้อพยพชั่วคราว เธอเองก็มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเขียนประวัติทางการรักษาของผู้ป่วยที่เป็นผู้อพยพ และช่วยจัดหาสิ่งของจำเป็นเล็กๆ น้อยให้ เช่น กระจกพกพา หรือผ้าเช็ดหน้า คารินยังเป็นผู้ที่เข้าร่วมสมาคมต่อต้านนาซีในช่วงนั้น (เพราะมีกลุ่มชาวสวีเดนที่สนับสนุนพรรคนาซีอย่างชัดเจนมาโดยตลอด) เธอเคยกล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่าสิ่งที่เธอทำไม่ใช่การต้องเป็นหนี้บุญคุณของใคร แต่เธอถือว่าเธอทำงานใช้หนี้ที่สวีเดนควรต้องจ่ายมากกว่า

เมื่อผู้หนีสงครามถึงเมืองมัลเม่อ
ที่มาภาพ: https://malmo.se

สเตฟาน จานุซ (Stefan Janusz, 1914, 1999) เป็นช่างไม้จากเมืองลวอฟ (Lwów) โปแลนด์ เขาเข้าร่วมขบวนการต่อต้านนาซีและถูกจับกุมในปี 1943 จากนั้นก็ถูกส่งตัวไปค่ายกักกันต่างๆ หลายแห่งในฐานะนักโทษการเมือง เขามาถึงสวีเดนในปี 1945 และถูกตรวจพบว่าเป็นวัณโรคและมีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง กระนั้นเขาก็ต่อสู้และได้งานในอีกไม่กี่ปีถัดมา ทั้งยังได้พบกับภรรยาและลูกทั้งสองคนที่อพยพตามมาอีกเกือบ 20 ปีต่อมา

นาดีน หวัง (Nadine Hwang, 1902-1972) เป็นลูกของพ่อที่เป็นทูตชาวจีนกับแม่ที่เป็นชาวเบลเยียม เธอเป็นผู้ที่มีเชื้อชาติที่ไม่เป็นยุโรปซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย ที่ถูกส่งตัวไปค่ายกักกันในเยอรมนี นาดีนมาถึงสวีเดนและได้ฝึกงานในมัลเม่อ ก่อนที่จะเดินทางไปใช้ชีวิตที่เวเนซูเอลา ทำงานเป็นเลขานุการในธนาคารแห่งหนึ่งในเมืองการากัส และอยู่ที่นั่นตลอดชีวิต

นิทรรศการครั้งนี้ยังมีเรื่องราวของคนอีกจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการรถเมล์สีขาวครั้งนั้น รวมทั้งยังมีการจัดแสดงบันทึกประจำวันและรูปถ่ายของพวกเขาและเธอด้วย ทำให้พวกเขาและเธอเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งหนึ่ง ที่ไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของทวีปและของโลก

นาดีน หวัง หนึ่งในอีกหลายคนที่ได้รับการช่วยเหลือ
ที่มาภาพ: https://malmo.se

ข้อวิจารณ์

ในปี 2005 นักประวัติศาสตร์ชาวสวีเดน อิงกริด ลอมฟอช (Ingrid Lomfors) เขียนหนังสือเรื่อง Blind fläck : minne och glömska kring svenska Röda korsets hjälpinsats i Nazityskland 1945 (Blind spots: memory and forgetting around the Swedish Red Cross’ relief effort in Nazi Germany 1945) เรียกร้องให้มองภาพประวัติศาสตร์ให้กว้างขึ้น ไม่ใช่การเฉลิมฉลองความมีมนุษยธรรมของสวีเดนในช่วงสงครามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเห็นภาพความย้อนแย้งทางศีลธรรม (moral dilemma) ด้วย

หนังสือเสนอว่า เนื่องด้วยปฏิบัติการกู้ภัยโดยรถเมล์สีขาวนั้นมุ่งจะกู้ภัยผู้มีสัญชาติสแกนดิเนเวียเป็นหลัก ทำให้ต้องละทิ้งผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติสแกนดิเนเวียไป ตัวอย่างเช่น มีนักโทษสัญชาติฝรั่งเศสถึง 2,000 คน ที่ขึ้นรถเมล์สีขาวไปแต่ต้องไปลงที่ค่ายกักกันอื่นเพื่อเปลี่ยนตัวกับนักโทษชาวสแกนดิเนเวียแทน นักโทษสัญชาติฝรั่งเศสเหล่านั้นจำนวนมากเสียชีวิตระหว่างถูกขนส่งหรือหลังจากที่ต้องถูกส่งไปค่ายกักกันอีกแห่งหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีเสียงของนักประวัติศาสตร์คนอื่นจากนอร์เวย์เพิ่มเติมมาว่า หลายครั้งชาวยิวที่มีสัญชาตินอร์เวย์ เมื่อถูกจับในเหตุการณ์เยอรมนีบุกนอร์เวย์ พวกเขาก็สูญเสียสัญชาตินอร์เวย์ไป ในที่สุดเมื่อปฏิบัติการรถเมล์สีขาวเริ่มต้นขึ้น พวกเขากลับสูญเสียสิทธิในการจะได้รับการช่วยเหลือ และโดยนัยว่าหลายคนก็ต้องเสียชีวิตไปจากปฏิบัติการซึ่งมีแง่มุมย้อนแย้งทางด้านศีลธรรมนี้

นับว่าเป็นความย้อนแย้งที่จับใจความการเป็นสแกนดิเนเวียได้ดีทีเดียว

อ้างอิง


– https://en.wikipedia.org/wiki/White_Buses

– https://malmo.se/Uppleva-och-gora/Konst-och-museer/Malmo-Museer/Utstallningar/Aktuella-utstallningar/Valkommen-till-Sverige/De-Vita-bussarna.html

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save