นมวัว นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง : อะไรดีกว่ากัน

นมวัว นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง : อะไรดีกว่ากัน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ที่บ้านหันมาฮิตกิน ‘นมอัลมอนด์’ เป็นการใหญ่ คำถามของเพื่อนก็คือ การกินนมอัลมอนด์เป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่า และนมวัว นมอัลมอนด์ กับนมถั่วเหลืองธรรมดาๆ นี่ อะไรดีกว่ากัน

คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงข่าวสมาคมเกษตรกรผู้ผลิตผลิตภัณฑ์์จากนม (โอย – แปลเป็นไทยแล้วยากจังครับ จริงๆ คือ Dairy Farmers of America หรือ DFA) ที่เพิ่งมีรายงานออกมาว่า ปีที่แล้ว (คือปี 2018) ยอดขายนมวัวนั้นลดลงไปมหาศาลทีเดียว นั่นคือลดลงไปราว 1.1 พันล้านเหรียญ เหลืออยู่แค่ 13.6 พันล้านเหรียญ จากเดิมในปี 2017 คือ 14.7 พันล้านเหรียญ

คำถามก็คือ คนจำนวนหนึ่ง (แบบเดียวกับเพื่อนของผม) เลิกกินนมกันแล้วหรืออย่างไร

DFA บอกว่า ปีที่ผ่านมาคือปีที่ ‘ท้าทาย’ อย่างมากต่อธุรกิจนมและผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งก็รวมไปถึงเนย ชีส โยเกิร์ต และอื่นๆ อีกนะครับ เพราะว่ายอดขายของทุกอย่างที่ว่ามานี้ลดลงหมด

แล้วทำไมถึงลดลง?

ถ้าหันไปดู ‘ผลิตภัณฑ์ทดแทนนม’ หรือที่เรียกว่า dairy alternatives ทั้งหลาย พบว่าตลาดของ dairy alternatives มีมูลค่าถึง 11.9 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว คือเกือบๆ จะตีตลาดนมแตกกระจุยแล้ว (เพราะตลาดนมมีมูลค่า 14.7 พันล้านเหรียญ) โดยผลิตภัณฑ์ทดแทนนม มีตั้งแต่นมข้าว นมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต แต่ที่มาแรงที่สุด ก็คือนมอัลมอนด์ (แบบเดียวกับที่ครอบครัวเพื่อนของผมนิยมกินนั่นแหละครับ)

หลายคนบอกว่า เอ…หรือจะเป็นกระแสชาววีแกน (Vegan) ที่กินแต่ผัก ไม่ยอมกินเนื้อ นม ไข่ ก็เลยหันไปหาผลิตภัณฑ์ทดแทนอย่างอื่นกันหนอ จึงทำให้การขายนมลดลงได้มากขนาดนี้

นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งครับ แต่อีกสองสาเหตุใหญ่ๆ ก็คือเรื่องของการดูแลสุขภาพ และสาเหตุสำคัญที่ DFA บอกว่ามีผลมากที่สุด ก็คือแนวโน้มในเรื่องความยั่งยืนหรือ sustainability ทั้งนี้ก็เพราะเรารู้กันอยู่ว่า วัวที่เป็นผู้ผลิตนมให้เรากินนั้น มันจะ ‘เรอ’ ออกมาเป็นก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องตลก (และบางสื่อ อย่างเช่น New York Times ก็ชอบเอาไปล้อเล่นบ่อยๆ ว่าก๊าซเรือนกระจกเกิดจาก ‘ตดวัว’ ทั้งที่จริงๆ แล้ว วัวเรอมากกว่าตดเยอะ) แต่มีการศึกษาของหลายที่ เช่นจากออกซ์ฟอร์ด ที่พบว่าการเลี้ยงวัวมีผลต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ

งานวิจัยนี้บอกด้วยว่า การผลิตนมวัวสร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการผลิตนมอื่นๆ (เช่นนมอัลมอนด์หรือนมถั่วเหลือง) ถึง 3 เท่า ทั้งยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 4 ของที่มนุษย์ผลิตออกมาทั้งหมดด้วย (อันนี้รวมไปถึงการเลี้ยงวัวเพื่อเอาเนื้อด้วยนะครับ)

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ที่คนกินนมวัวน้อยลง หันมากิน dairy alternatives กันมากขึ้น ก็เพราะคนยุคใหม่เป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องวีแกนและเรื่องสุขภาพ และบางคนก็บอกด้วยว่าในอนาคต แนวโน้มการกินนมอัลมอนด์จะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันคนยัง underestimate การกินนมธัญพืชเหล่านี้อยู่ ถ้าหันมากินนมจากธัญพืชมากกว่านี้ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล

เพราะฉะนั้น นมอัลมอนด์จึงดีกว่านมวัวแน่ๆ อยู่แง่หนึ่ง นั่นคือมันไม่ได้ผลิตก๊าซเรือนกระจก เพราะอัลมอนด์เรอและตดไม่ได้

แต่คำถามถัดมาก็คือ แล้วในแง่ของสารอาหารที่อยู่ในนมล่ะ ถ้าเป็นนมวัว นมอัลมอนด์ กับนมถั่วเหลือง อะไรดีกว่ากัน

เคยมีบทความชื่อร้อนแรงว่า Lay Off the Almond Milk, You Ignorant Hipsters ของ Tom Philpott (ดูที่นี่) ออกมา เนื้อหาก็คือการบอกว่า พวกฮิปสเตอร์ที่นิยมกินนมอัลมอนด์นี่ มันช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย เพราะว่านมอัลมอนด์นั้นไม่มีอะไรดีเท่าไหร่หรอก

หลายคนกินนมอัลมอนด์เพราะคิดว่านมอัลมอนด์ดีต่อสุขภาพอีกด้วย แต่บทความนี้บอกว่า จริงๆ แล้ว นมอัลมอนด์ไม่ค่อยมีสารอาหารเท่าไหร่ คนจำนวนมากคาดหวังโปรตีน แต่นมอัลมอนด์ทำให้อัลมอนด์ดีๆ ที่เต็มไปด้วยสารอาหารนั้นต้อง ‘เสีย’ (waste) ไป เพราะว่าการคั้นออกมาเป็นนมอัลมอนด์นั้น สารส่วนใหญ่ที่อยู่ในนมอัลมอนด์ก็คือน้ำ บทความนี้บอกว่า ถ้าไปดูในฉลาก จะเห็นตามข้อบังคับเลยว่า ส่วนประกอบแรกก็คือ filtered water หรือ ‘น้ำกรอง’ แล้วจึงค่อยตามมาด้วยอัลมอนด์

ปกติแล้ว ในอัลมอนด์ราว 28 กรัม (คือหนึ่งออนซ์) ที่เป็นเมล็ดแห้งนั้น จะมีโปรตีนอยู่ราว 6 กรัม (เท่าๆ กับไข่หนึ่งฟอง) แล้วก็มีไฟเบอร์ 3 กรัม ที่มีมากที่สุด ก็คือไขมัน ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว 12 กรัม (ราวๆ ครึ่งหนึ่งของอโวคาโดในปริมาณที่เท่ากัน) ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ดีอยู่ แต่พอนำมาทำเป็นนมอัลมอนด์แล้ว บทความข้างต้นบอกว่า ในนมอัลมอนด์ยี่ห้อหนึ่งของอเมริกา หนึ่งเสิร์ฟที่มีปริมาณราวๆ 8 ออนซ์ (คือราวๆ 8 เท่า) จะมีโปรตีนอยู่แค่ 1 กรัม ไฟเบอร์ 1 กรัม และไขมัน 5 กรัมเท่านั้นเอง นั่นคือในระหว่างกระบวนการผลิต นมอัลมอนด์ได้ทำสารอาหารหายไปเยอะมาก

 

 

รายงานของ BBC ชิ้นนี้ เปรียบเทียบทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ที่ดิน และการใช้น้ำ ซึ่งก็ให้ผลออกมาค่อนข้างชัดเจนนะครับ ว่านมอัลมอนด์นั้นตามนมวัวมาติดๆ ในเรื่องของความไม่ค่อยจะยั่งยืนเท่าไหร่ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเอานมอัลมอนด์ นมวัว และนมถั่วเหลืองมาเทียบกัน นมถั่วเหลืองชนะขนาดในเรื่องของความยั่งยืน

นอกจากนี้ นมอัลมอนด์ต้องใช้น้ำในการผลิตไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะในอเมริกา อัลมอนด์ปลูกมากในแคลิฟอร์เนียที่มีภาวะแห้งแล้งต่อเนื่อง หลายคนเลยเป็นกังวลว่า อัลมอนด์จะเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำมาก ซึ่งถ้าดูรายงานของ BBC อันเป็นรายงานที่สรุปมาจากงานวิจัยของออกซ์ฟอร์ด ก็จะเห็นเลยว่า นมอัลมอนด์นั้นใช้น้ำมากจริงๆ คือรองลงมาจากนมวัวเท่านั้นเอง

เมื่อรู้คะแนนสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ต้องมาลองเปรียบเทียบระหว่างนมอัลมอนด์กับนมถั่วเหลือง ว่าอะไรมีคุณค่าทางอาหารมากกว่ากัน โดยต้องย้ำว่า นี่เรา ‘แปรรูป’ แล้วนะครับ คือไม่ได้เอาอัลมอนด์กับถั่วเหลืองมาเทียบกันเป็นเม็ดๆ แต่เปลี่ยนมันให้เป็น milk แล้วนะครับ

ในบทความนี้ และจริงๆ ก็อีกหลายบทความ บอกตรงกันว่า ในปริมาณที่เท่ากัน นมถั่วเหลืองให้โปรตีนมากกว่านมอัลมอนด์ มีไขมันไม่อิ่มตัวแบบ polyunsaturated fats ซึ่งดีต่อหัวใจมากกว่า แต่ในทางกลับกัน ในปริมาณที่เท่ากัน นมอัลมอนด์จะให้พลังงานน้อยกว่า และมีไขมันไม่อิ่มตัวแบบ monounsaturated fats ที่ก็ดีต่อหัวใจเหมือนกันมากกว่า โดยนมอัลมอนด์จะมีโซเดียมมากกว่าเล็กน้อย และทั้งสองชนิดไม่มีไขมันอิ่มตัวทั้งคู่

ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบในแง่สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน นมถั่วเหลืองชนะนมอัลมอนด์แน่ๆ แต่ในแง่สารอาหารแล้ว อาจต้องบอกว่าสูสี ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากได้โปรตีนมากกว่าหรือพลังงานที่น้อยกว่า ใครอยากได้โปรตีนมากเอาไว้สะสมเป็นกล้ามเนื้อ ก็อาจต้องกินนมถั่วเหลือง แต่ใครอยากผอม อยากอิ่มท้องแต่ไม่ได้พลังงานเยอะ ก็อาจต้องกินนมอัลมอนด์

แต่ถ้าเอาสองปัจจัยนี้มารวมกัน ก็ต้องบอกว่า นมถั่วเหลืองชนะนมอัลมอนด์ขาดลอย แถมในเมืองไทยของเรา นมถั่วเหลืองยังหากินได้ง่ายและราคาถูกกว่านมอัลมอนด์ด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าไปดูยอดขายในบรรดานมธัญพืชทั้งหลาย ได้แก่ นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง นมจากข้าวโอ๊ต และนมข้าว เราจะพบว่าในโลกตะวันตก นมที่มาแรงที่สุดจนเป็นเทรนด์ใหญ่ก็คือนมอัลมอนด์ แม้จะมีนมถั่วเหลืองเบียดแซงไปได้ในบางช่วง แต่ก็ยังแซงไม่ขาด ซึ่งเทรนด์นี้สอดคล้องกับที่เพื่อนบอกว่า ที่บ้านหันมานิยมกินนมอัลมอนด์มากขึ้นนั่นแหละครับ

ดังนั้น ใครที่กำลัง ‘อินเทรนด์’ ไปกับนมอัลมอนด์ อาจลองย้อนกลับมาพิจารณาดูข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เสียหน่อยก่อนนะครับ เพื่อที่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เรากินเข้าไปจะได้เป็นประโยชน์ทั้งกับร่างกายและต่อโลกของเราจริงๆ นั่นเอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save