fbpx
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประชากรโลกไม่เพิ่มอีกต่อไป?

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประชากรโลกไม่เพิ่มอีกต่อไป?

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ก่อนคริสตกาลราวหนึ่งหมื่นปี (จนถึงราวๆ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล) ประมาณกันว่า มีคนทั้งหมดบนโลกอยู่ราว 4 ล้านคนเศษๆ

หลัง 4,000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว กราฟค่อยๆ ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ แต่เริ่มมาพุ่งสูงชันจริงๆ ก็ราวๆ ศตวรรษที่18 คือพุ่งขึ้นมาเป็น 600 ล้านคน แล้วก็ไต่ขึ้นมาเป็น 990 ล้านคนในศตวรรษที่ 19 แล้วจากนั้นก็พุ่งลิ่วขึ้นมาเลยหลักพันล้าน คือเป็น 1.65 พันล้านคน ในศตวรรษที่ 20 แล้วก็ไม่เคยหยุดอีกเลย พุ่งดิ่งชันขึ้นไปจนถึงปี 2019 มีประชากรโลกอยู่ราว 7.7 พันล้านคน (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)

แต่เชื่อกันว่า อีกไม่นานนัก (คือไม่น่าจะเกินร้อยปี) ประชากรโลกน่าจะ ‘หยุดโต’

จากการประมาณการณ์ของสหประชาชาติ ประชากรโลกน่าจะหยุดโตในราวปี 2100 ซึ่งถึงตอนนั้น คาดว่าจะมีคนอยู่บนโลกถึงราวหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านคน

ที่จริงแล้ว โลกเราเคยพบกับการที่ประชากรลดฮวบมาก่อน แล้วไม่ใช่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดใหญ่ในยุโรป อย่างกาฬโรค (ที่บังเอิญเกิดขึ้นหลังวาติกันสั่งจัดการกับแมว เพราะคิดว่าแมวดำนั้นเกี่ยวพันกับซาตาน หลายคนก็เลยเชื่อว่าไม่มีแมว หนูจึงแพร่ระบาดทำให้เชื้อโรคนี้แพร่กระจาย — ซึ่งไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด) ทำให้คนในยุโรปเสียชีวิตราว 200 ล้านคน กราฟประชากรจึงตกลงมา แต่ในที่สุดก็พุ่งดิ่งขึ้นไปใหม่

แต่สหประชาชาติคาดว่า การ ‘หยุดโต’ ครั้งนี้ ไม่เหมือนในอดีต เพราะในอดีต การที่ประชากรลดฮวบลง เป็นเพราะมีคน ‘ตาย’ ทว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2100 ไม่ได้เกิดเพราะมีคนตาย แต่เกิดขึ้นเพราะ ‘ไม่มีคนเกิด’ ต่างหาก

ที่จริงจะบอกว่าไม่มีคนเกิดก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนะครับ ความจริงแล้วคือมีเด็กเกิดใหม่ลดลง อันเป็นผลมาจากสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้ผู้คนมีรายได้และการศึกษาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิง

แน่นอน การทำนายมีอะไรผิดพลาดได้เสมอ โดยเฉพาะการทำนายสิ่งที่ ‘ใหญ่’ และ ‘ไกล’ ระดับร้อยปี แต่กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เห็นตรงกันว่าประชากรจะถึงจุด ‘พีค’ (แปลว่าถัดจากนั้นจะต่ำลง) ในราว 80-100 ปีข้างหน้าแน่ๆ ถ้าหากไม่มีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น อุกกาบาตยักษ์ตกใส่โลก หรือเกิดมหาภูเขาไฟระเบิดจนทำให้ประชากรโลกต้องลดลงไปก่อนหน้านั้น

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ เมื่อประชากรหน้าใหม่เกิดน้อยลง ต่อให้ประชากรที่เกิดวันนี้จะมีอายุยืนยาว ในที่สุดโดยรวมหักลบกลบหนี้กันแล้ว จำนวนคนก็จะค่อยๆ เพิ่มในอัตราที่ลดลงจนในที่สุดก็ไม่เพิ่มอีกต่อไป

แล้วเมื่อเป็นอย่างนั้น จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

อย่างแรกสุดก็คือ ผู้คนที่เหลืออยู่บนโลก จะ ‘แก่’ กันมาก

คนแก่ที่ว่าไม่ใช่คนแก่เมื่อ 30 หรือ 100 ปีที่แล้วนะครับ แต่คือเด็กที่เพิ่งเกิดวันนี้นี่แหละ เพราะเมื่อถึงปี 2100 ก็จะอายุราวๆ 80 ปีกันแล้ว ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า จากปี 2020 ถึง 2100 จำนวนคนที่อายุ 80 ปีขึ้นไปในโลก จะเพิ่มจาก 146 ล้านคน ไปเป็น 881 ล้านคน นั่นคือ Aging Society จะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีวัน ‘หายไป’ แต่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณว่า อายุเฉลี่ยของมนุษย์ทั้งโลก จะเพิ่มจาก 31 ปี เป็น 42 ปี

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศที่เต็มไปด้วยคนแก่ก็คือปัญหาการเมือง เพราะคนทำงานที่ยังหนุ่มสาว จะต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงคนที่เกษียณแล้ว ทั้งในระดับสังคม อย่างเช่นการส่งเงินเข้ากองทุนเกษียณอายุต่างๆ รวมไปถึงระดับครัวเรือนด้วย เพราะคนหนุ่มสาวก็ต้องหาเลี้ยงผู้สูงวัย แล้วถ้าแต่ละบ้านเต็มไปด้วยคนแก่ ก็อาจแปลว่าครอบครัวนั้นๆ มีปัญหาทางการเงิน นั่นทำให้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมและการเมืองขนานใหญ่เพื่อรองรับสังคมแบบที่ว่านี้

มีการทำนายว่า ในอนาคต แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัย ก็จะต้องเผชิญกับปัญหา Pension Crisis หรือวิกฤตเงินบำนาญ เพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้กับผู้สูงวัยได้ และคนทำงานวัยหนุ่มสาวก็มีจำนวนไม่มากพอที่จะสร้างผลิตภาพให้สังคมจนสามารถเลี้ยงดูคนแก่เหล่านี้ได้ด้วย

แนวโน้มประชากรในช่วงถัดๆ ไป จะส่งผลลึกลงไปถึงคำว่า ‘ครอบครัว’ ในแบบที่เราอาจนึกไม่ถึง เพราะเมื่ออัตราการมีลูกลดลง ครอบครัวก็จะเล็กลง เด็กๆ จะมีพี่น้องน้อยลง พ่อแม่ที่มีลูกมักจะลงทุนในตัวเด็กมากมายมหาศาล ทุ่มเททรัพยากรและความใส่ใจให้เด็ก ซึ่งก็มีผลทำให้เด็กรุ่นใหม่ยิ่งแตกต่างห่างไกลไปจากคนรุ่นพ่อแม่มากขึ้น และเมื่อพวกเขาไม่มีญาติพี่น้องมากนัก ในที่สุดก็จะเกิดครอบครัวแบบ ‘เพื่อน’ (Familial Companionship) ขึ้นมา คือคนที่เป็นเพื่อนกันมาอยู่ด้วยกันเสมือนครอบครัว ดังนั้น มิติในเรื่องครอบครัวจึงเปลี่ยนแปลงไป

ที่น่าสนใจก็คือ ประชากรในแต่ละทวีปจะมีการเพิ่มลดที่แตกต่างกัน เช่น ในเอเชีย ถ้าเทียบปัจจุบันกับปี 2100 พบว่าประชากรที่อายุต่ำกว่า 25 ปี จะลดจาก 56% เหลือเพียง 37% แต่ในทวีปแอฟริกา ตัวเลขแบบเดียวกันจะเพิ่มจาก 25% ไปเป็น 48% เป็นต้น นั่นจะทำให้แอฟริกากลายเป็นทวีปที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดไปด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับการทำนายในเรื่องเมือง ว่าในอนาคต ทวีปที่มี ‘เมืองใหญ่’ มากที่สุด จะคือทวีปแอฟริกา

วอชิงตันโพสต์ ทำนายเอาไว้ว่า โลกในปี 2100 จะมีลักษณะ 5 อย่างต่อไปนี้

1. มีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 4 พันล้านคน แม้จะเพิ่มช้าลง (คือจาก 1.24% ต่อปี มาเป็น 1.18% ต่อปี) แต่กระนั้นก็จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ดี

2. การเพิ่มขึ้นของประชากรที่ว่า ส่วนใหญ่มาจากทวีปเดียว นั่นคือแอฟริกา คาดว่าในปี 2100 แอฟริกาจะมีประชากรเพิ่มเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน ตอนนี้แอฟริกามีประชากร 16% ของทั้งโลก แต่พอถึงปี 2100 จะมีสัดส่วน 49% หรือเกือบๆ จะครึ่งโลก

3. ประเทศในแอฟริกาที่จะเติบโตมากที่สุด คือไนจีเรีีย ประมาณกันว่า ประชากรของไนจีเรียจะเพิ่มสูงกว่าสหรัฐอเมริกาก่อนปี 2050 และกลายเป็นประเทศใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลก รองจากจีนและอินเดีย

4. แต่จีนเอง ในที่สุดก็จะไม่ได้เป็นแชมป์ประชากรอีกต่อไป เพราะประเทศที่จะมีประชากรแซงจีน ก็คืออินเดีย ตอนนี้จีนมีประชากร 1.38 พันล้านคน อินเดียมี 1.31 พันล้านคน ทั้งสองประเทศจะมีประชากรพอๆ กันในราวปี 2022 แล้วหลังจากนั้น อินเดียก็จะแซงหน้าในราวปี 2030 ก่อนทะลุไปถึง 1.7 พันล้านคน ในปี 2050

5. ทวีปที่แก่ที่สุดคือยุโรป ในตอนนี้ ยุโรปมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปราวๆ 1 ใน 4 อยู่แล้ว แต่สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นไปจนถึงกว่า 1 ใน 3 ในปี 2050 แต่แนวโน้มนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับยุโรปเท่านั้น ประเทศอื่นๆ (นอกแอฟริกา) ก็จะเป็นแบบนี้ด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น ในปี 2100 ทวีปที่น่าจะสดใสที่สุด น่าจะเป็นแอฟริกา เพราะยังเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย

คำถามก็คือ — เราได้เตรียมพร้อมรับมือกับเทรนด์ประชากรแบบนี้มากน้อยแค่ไหน หรือเคย ‘จินตนาการ’ ถึงฉากทัศน์แบบนี้เอาไว้อย่างไรบ้างหรือเปล่า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save