fbpx

แม้ในปีที่โลกแย่สุดๆ ทำไมคนรวยยังรวยขึ้น

“คนรวยมักมีวิธีขโมยเงินจากคนจนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย”

มาร์ตี้ รูบิน, นักเขียน 

1

ตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปลายปี 2019 จนกระทั่งถึงตอนนี้ หากไปดูรายได้มหาเศรษฐีของโลกหลายคน จะพบว่าไม่ใช่แค่ไม่จนเท่านั้น แต่พวกเขารวยขึ้นแบบรวยมากๆ เสียด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเจฟ เบซอส เจ้าของ Amazon ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านล้านบาท อีลอน มัสก์ เจ้าของ Tesla ก็รวยเพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้านบาท) หรือเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่อย่างอีริค หยวน ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Zoom ก็ได้เงินเพิ่มมาอีก 82,000 ล้านบาท หลายคนคงคิดเหมือนผมว่า วิกฤตแบบนี้เป็นโอกาสของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ก็คงมีส่วนจริงบ้างครับ เมื่อไปดูรายได้ของมหาเศรษฐีอย่างครอบครัววอลตัน เจ้าของวอลมาร์ต ครอบครัวนี้ก็รวยขึ้นอย่างน้อยๆ 9,000 ล้านบาท 

Business Insider เอาตัวเลขรายได้ของเศรษฐีพันล้านในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ราว 1% ของจำนวนประชากรของสหรัฐฯ มารวมกัน พบว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 สองปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐีเหล่านี้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกัน 20 ล้านล้านบาท เทียบกับประเทศไทยปี 2565 มีงบประมาณแผ่นดิน 3 ล้านล้านบาท ห่างกันเกือบ 7 เท่าตัว

บรรยากาศเป็นคนละม้วนกับคนอีก 99% ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องเจอทั้งอัตราการว่างงานสูงกว่า 23% หุ้นร่วงลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนตั้งแต่ปี 2008 รวมถึงบางคนที่กว่าจะเข้าถึงวัคซีนได้ ก็เรียกว่าอยู่ไม่ทันได้ฉีดก็มีมากมาย

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นนะครับ ในประเทศไทย แม้ดูเหมือนมหาเศรษฐีบ้านเราหลายคนก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้ แต่ก็มีกลุ่มคนที่รวยขึ้นเช่นกัน สำนักข่าวหลายสำนักบอกตรงกันว่ามีอย่างน้อย 8 ราย ที่รวยขึ้น ทั้งในกลุ่มธุรกิจพลังงาน อาหาร ค้าปลีก  

ปัจจัยหลักที่ทำให้มหาเศรษฐีสามารถรวยขึ้นไปได้ มีหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ทั้งกฎหมายที่เอื้อให้คนรวยเหล่านี้เสียน้อยกว่าคนทั่วไปอย่างเรา (เช่น ภาษีกำไรจากการขายหุ้นหรือ Capital Gain Tax ที่เก็บต่ำมากเมื่อเทียบกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) หรือความสามารถในการยักย้ายถ่ายเทรายได้ รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรหลายอย่งที่มีมากกว่า

ข้อมูลจากสถาบันนโยบายภาษีและเศรษฐกิจ (Institute on Taxation and Economic Policy) ในกรุงวอชิงตันบอกว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศอย่างน้อย 55 แห่ง ไม่ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐบาลกลางจัดเก็บสำหรับบริษัทที่รายได้ที่สูงกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงสหรัฐอเมริกาต้องมีรายได้จากการเก็บภาษีสำหรับกลุ่มนี้ราว 2.79 แสนล้าน แต่เนื่องจากบริษัททั้งหลายใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายด้านธุรกิจต่างๆ ทำให้รัฐสามารถจัดเก็บได้จริงเพียง 1.15 แสนล้านบาท เรียกว่าหายไปกว่าครึ่ง 

นั่นเป็นตัวอย่างเดียวนะครับ พูดง่ายๆ ก็คือ คนรวยในสหรัฐอเมริกาเสียภาษีน้อยกว่าชนชั้นกลางเพราะทรัพย์สินของคนรวยส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ไม่ใช่รายได้โดยตรง สามารถย้ายถ่ายเทได้หรือเอาไปลงทุนหรือบริจาค เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางภาษี คือเรียกว่ามีวิธีในการหลีกเลี่ยงภาษีมากกว่าซื้อประกัน ทำบุญหรือมีลูกอย่างเราๆ  

หากมองย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาด เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลงมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงซัพไพร์ม มาตรการ QE ของสหรัฐที่ปั๊มเงินเข้าสู่ระบบหลายแสนล้านดอลลาร์อาจพูดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่ำรวยแบบก้าวกระโดดของมหาเศรษฐี ว่ากันว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นสิบปีทองของบรรดามาหาเศรษฐีทั้งหลาย เพราะเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบส่งผลดีกับภาคธุรกิจ (หรือพูดตรงๆ ก็คือดีกับคนรวยมากกว่าคนจน) เงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น รัฐสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน การขยายตัวของธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้เอาจริงๆ คนที่ได้ประโยน์มากที่สุดคือเจ้าของธุรกิจไม่ใช่พนักงาน 

2

เมื่อครั้งที่เกิดพายุคาริน่าถล่มรัฐทางตอนใต้ของหรัฐอเมริกาในปี 2005 ขณะที่สื่อรายงานถึงความเสียหายมหาศาล แต่มหาเศรษฐีเจ้าพ่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างอย่าง โจเซฟ คานิซาโร่ กลับบอกว่านี่เป็น “โอกาสอันยิ่งใหญ่” ของเขา

ในปี 2010 ที่เฮติเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เบื้องหลังการเข้าไปช่วยฟื้นฟูของสหรัฐฯ พบว่า กว่า 70% ของบริษัทที่เข้าไปฟื้นฟู (โดยใช้เงินบริจาค) ถูกใช้ไปกับการจ้างบริษัทในสหรัฐฯ ไปปรับภูมิทัศน์และสร้างที่อยู่อาศัย

ปีนี้ 2022 จริงอยู่ว่าการประกาศพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศของโจ ไบเดน มูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 40 ล้านล้านบาท) และโครงการซ่อมแซมสะพานกว่าพันแห่งทั่วสหรัฐอเมริกาด้วยเงินอีก 40,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) คงเป็นแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการสร้างงานให้คนสหรัฐฯ แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานมูลค่ามหาศาลคือ นายจ้างมากกว่าลูกจ้าง เพราะหากมองกลับไปถึงโครงสร้างภาษี บริษัทเหล่านี้ก็เสียภาษีน้อยกว่าบุคคลธรรมดาอยู่แล้ว ซึ่งผลกำไรส่วนหนึ่งย่อมอยู่กับผู้เป็นเจ้าของ  

ยิ่งไปกว่านั้น คนรวยเหล่านี้ล้วนมีสายสัมพันธ์ต่อถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ทางธุรกิจก็ทางมิตรสหาย ‘คอนเนกชัน’ เหล่านี้ก็สร้างเครือข่ายความมั่งคั่งแบบไม่รู้จบ ทำให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรได้ในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม หรืออาจเลยไปถึงการเป็นผู้กำหนดจังหวะเวลานั้นเองก็เป็นได้

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ลองดูจากสายสัมพันธ์ระหว่างวอร์เรน บัฟเฟ็ต และเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ บริษัทบริหารสินทรัยพ์และกองทุน

เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ขึ้นชื่อเรื่องของความฉลาดในการลงทุน ทุกครั้งที่เบิร์กเชียร์ฯ ขยับตัว มักส่งผลต่อแรงกระเพื่อมของตัวท็อปรายอื่นๆ ทั้งไปซื้อหุ้นตาม ทั้งมาลงทุนเพิ่ม

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 เบิร์กเชียร์ฯ ตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทบีวายดี (BYD) ซึ่งขณะนั้นบีวายดีกำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดรถไฟฟ้าหลังจากที่ทำแบตเตอร์รีสมาร์ตโฟนและรถยกไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมมานาน  เบิร์กเชียร์ฯ ตัดสินใจซื้อหุ้น 225 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 8 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 33 บาท) ซึ่งถือว่าถูกมาก ไม่นานนักหุ้นกลุ่มบริษัทรถยนต์ทะยานขึ้น 5 เท่าเพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนของบัฟเฟต และจุดกระแสเรื่องรถไฟฟ้าให้กลับมาอยู่ในความสนใจ และยังทำให้อีลอน มัสก์ ตัดสินใจนำเทสลาเข้าตลาดหลักทรัยพ์ในปี 2010 ถือเป็นบริษัทที่สองในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ฟอร์ดเข้าตลาดฯ เมื่อปี 1956 ไม่มากก็น้อย

การเข้าซื้อหุ้นแอปเปิลของบัฟเฟตส่วนหนึ่งก็สร้างแรงส่งอีกครั้งเช่นกัน บัฟเฟตซื้อหุ้นแอปเปิลเมื่อตอนราคาลงมาไม่ถึง 100 เหรียญ แต่ตอนนี้หุ้นขึ้นไป 164 ดอลลาร์ และในวันที่ผมนั่งเขียน เบิร์กเชียร์ฯ ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับสามของแอปเปิล

คิดดูว่าเบิร์กเชียร์ฯ และคนรวยทั้งหลายทำกำไรจากการเข้าถึง ‘จังหวะ’ ไปแล้วเท่าไหร่ ซึ่งปรากฎการณ์แบบบัฟเฟตนี้ คนรวยเท่านั้นถึงจะทำได้ เพราะรวยในที่นี้ไม่ใช่แค่เงิน แต่หมายถึงมีเวลา มีเครือข่าย มีทุกองคาพยพยที่จะเข้าถึงปัจจัยส่งเสริมความมั่งคั่ง ยิ่งร่ำรวยมาก ก็ยิ่งมีโอกาสขยายเครือข่ายเหล่านี้ออกไปมากขึ้น และอาจรวมถึงการเข้าถึงนโยบายของรัฐอีกด้วย เพราะรัฐส่วนมากมองว่ามหาเศรษฐีเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความมั่งคั่งของชาติ เช่นบทบาทของกลุ่มแชโบลในเกาหลีใต้ หรือกลุ่ม BAT (เป่ยตู อาลีบาบาและเทนเซนต์) ของจีน แน่นอนว่ากลุ่มมหาเศรษฐีเกี่ยวข้องกับประเทศในหลายมิติ ตั้งแต่การเป็นผู้สนุบสนุนพรรคการเมือง ไปจนถึงทำงานร่วมกับรัฐบาลกลางในการแชร์ข้อมูลประชาชนหรือใช้เงินภาษีของพวกเรา

3

มองความเชื่อมโยงแบบนี้ คงเห็นภาพว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดจากสายสัมพันธ์ของความรวยกับอำนาจยิ่งทำให้ชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่างอย่างเราเข้าถึงทรัพยากรยากขึ้นเรื่อยๆ พูดง่ายๆ คือการเขยิบสถานภาพของมนุษย์เราในอนาคตทำได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์ระดับประเทศการเขยิบชั้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยากเช่นกัน เพราะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ย่อมไม่ปล่อยให้ใครมาแย่งเค้ก อย่างในกรณีที่สหรัฐอเมริกา พยายามเล่นเกมสงครามเย็นกับจีนอยู่ตอนนี้

ฉะนั้นการพูดถึงเรื่องของสังคมที่ ‘เท่าเทียม’ กันจริงๆ ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริง แม้ว่าในหลายประเทศพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อป้องกันเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจ การรักษาสิทธิของพลเมืองหรือความพยายามในการลดช่องว่างทางสังคมลง แต่ในความเป็นจริง การจะหาทางดึงเงินในกระเป๋าคนรวยของรัฐ แทบไม่ได้ผลสักเท่าไหร่ 

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของเฟสบุ๊กที่ทำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานรั่วไหล จากกรณีบริษัทวิจัยข้อมูลแคมบริดจ์ อนาไลติกา (Cambridge Analytica) ซึ่งกระทบผู้ใช้งานกว่า 89 ล้านราย ทำให้เฟซบุ๊กต้องจ่ายค่าปรับราว 150,000 ล้านบาท ถือเป็นการจ่ายค่าปรับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก

ฟังดูน่าตกใจ แต่หากไปดูรายได้ของเฟซบุ๊กก็จะตกใจกว่า

ปีล่าสุด รายได้ของเฟซบุ๊กอยู่ที่ราว 2.8 ล้านล้านบาท (อีกนิดเดียวจะเท่างบประมาณแผ่นดินของประเทศไทย) หมายถึงว่าเฟซบุ๊กสามารถทำเงินได้เฉลี่ยวันละ 7,600 ล้านบาท ค่าปรับจำนวนนี้เฟซบุ๊กใช้เวลา 19 วันในการหาเงินมาใช้ 

และสำหรับมาร์ก ซักเคอเบิร์กเองแม้จะเจอวิกฤตจากหลายทาง แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา เขามียังรายได้เพิ่มขึ้นราว 28,000 ล้านดอลลาร์ (หรือราว 924,000 ล้าบาท) เรียกว่าเป็นรองก็แค่เจฟ เบซอสเท่านั้น

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมปัจจุบันเป็นปัญหาสังคมที่ท้าทายผู้บริหารประเทศทั่วโลก มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถสร้างรัฐสวัสดิการที่เฉลี่ยความร่ำรวยให้กับประชาชนของตัวเองได้จริงๆ (​ผมอยากเรียกว่าคุณภาพชีวิตมากกว่า พราะท้ายสุด ความรวยก็ไม่ได้หมายถึงว่าคุณจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี) 

สิ่งที่น่ากลัวคือ นอกเหนือจากประเทศในยุโรปเหนือและจีนที่เน้นการสร้างรัฐสวัสดิการ โมเดลการสร้างความมั่งคั่งส่วนมากล้วนแล้วแต่ได้อิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับการบริโภค การสร้างความมั่งคั่งผ่านการลงทุนในตลาดการเงิน และเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น 

นั่นยิ่งชวนตั้งคำถามว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมจะลดลงได้จริงไหม หากเราไม่เปลี่ยนโมเดลในการพัฒนาความเจริญ ช่องว่างของรายได้จะลดลงจริงหรือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแก้ได้จริงๆ หรือ แม้หลายประเทศที่เจริญแล้วจะบอกว่าพวกเขากำลังหาทางเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น หาทางเกลี่ยทรัพยากร หาทางลดการผูกขาด ฯลฯ แต่ความจริงก็คือความจริง เรายังมีเกษตรกรที่จน และคนอีกนับล้านยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่แตกต่างจากภาวะโลกร้อน อาจยิ่งหนักกว่าด้วยซ้ำตรงที่ ไม่มีประเทศร่ำรวยหรือคนรวยคนไหนที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกเหนือจากการแบ่งเงินนิดๆ หน่อยๆ มาใช้ในการแบรนด์ดิงบริษัทและตัวเองเพื่อเพิ่มความรวยของตัวเองมากขึ้นไปอีก 

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save