fbpx
การเมืองในฟาร์มสัตว์สหรัฐ: อ่านความระหว่างบรรทัด '8 นาที' จากมุลเลอร์ถึงทรัมป์

การเมืองในฟาร์มสัตว์สหรัฐ: อ่านความระหว่างบรรทัด ‘8 นาที’ จากมุลเลอร์ถึงทรัมป์

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

การเมืองใน “ฟาร์มสัตว์” ขนาดยักษ์ของโลกยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาและจุดอ่อนข้อบกพร่องนานาประการที่กำลังท้าทายการเมืองยุคสภาไร้น้ำยา แต่ปัจจัยที่ทำให้ “แอนิมอล ฟาร์ม” แห่งสหรัฐอเมริกา ไม่เลื่อนเปื้อนลงไปจนกลายเป็นฟาร์มสุกรเผด็จการไปได้เหมือนในบางประเทศแถวสุวรรณภูมิ เพราะขาดแรงส่งของการรัฐประหารโดยกองทัพ รัฐสภาคองเกรสและอำนาจตุลาการจึงยังสามารถยืนหยัดประลองกำลังและกำกับควบคุมอำนาจบริหารของประธานาธิบดีอยู่ได้

พัฒนาการล่าสุดที่สะท้อนอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของระบบประชาธิปไตยอเมริกาได้แก่ การออกมาแถลงความในใจของอัยการหรือที่ปรึกษากฎหมายพิเศษ โรเบิร์ต มุลเลอร์ ต่อรายงานการสอบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกาปี 2016

การปรากฏตัวต่อสาธารณชนของมุลเลอร์เป็นข่าวใหญ่ เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยให้สัมภาษณ์ ไม่เคยให้นักข่าวเข้าพบ ไม่เคยให้ทีมงานปล่อยข่าวหรือส่งสัญญาณไปยังคนนอกโดยเด็ดขาด เรียกว่าเป็นทีมสืบสวนที่ปิดลับได้ดีที่สุด มุลเลอร์กล่าวปราศรัยอย่างสั้นที่สุด (เพียงแค่ 8 นาที) ในเรื่องที่ใหญ่โตและอ่อนไหวที่สุดเรื่องหนึ่ง แม้สั้นและรวบรัดยิ่ง แต่ก็สามารถรวมเอาประเด็นอันเป็นหัวใจและแกนของปัญหาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สร้างความคับข้องใจและความไม่พอใจแก่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อย

ในกรณีการเมืองสหรัฐอเมริกา สถาบันและอำนาจที่ช่วยค้ำจุนและเป็นหลังพิงให้แก่สถาบันนิติบัญญัติหรือรัฐสภาคองเกรส ได้แก่ ฝ่ายยุติธรรม อันรวมถึงศาลสหพันธ์และศาลสูงสุดกับบรรดาผู้พิพากษา ผู้พิพากษาศาลสหพันธ์หลายแห่งตัดสินค้านประกาศและคำสั่งของประธานาธิบดีในเรื่องการห้ามคนมุสลิมบางประเทศเข้าสหรัฐฯ ค้านการกักขังเด็กและเยาวชนในสถานกักกันพรมแดน และอีกหลายเรื่องที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์แม้จะเป็นคนต่างชาติก็ตาม ส่วนในกรณีของทรัมป์กับมุลเลอร์ ยังรวมเอาสำนักงานสืบสวนกลาง(เอฟบีไอ) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรมด้วย

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ฟาร์มสัตว์อเมริกายังต่อสู้และโต้แย้งขับเคี่ยวกันด้วยหลักการทางกฎหมายและทางอุดมการณ์ของความเป็นคนที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันได้ แม้สุกรบางตัวอยากมีความเสมอภาคมากกว่าตัวอื่นๆ ก็ตาม

เนื้อหาในคำแถลงต่อสื่อมวลชนของมุลเลอร์ ไม่มีอะไรที่ใหม่และตื่นเต้นกว่าที่ปรากฏในรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะมุลเลอร์ ซึ่งมีความยาวกว่า 400 หน้า แม้จะเขียนด้วยฝีมือดีอย่างไร แต่นอกจากนักข่าวและกรรมาธิการคองเกรสว่าด้วยการตรวจสอบรัฐบาลและข่าวกรองแล้ว คงหาคนอเมริกันทั่วไปน้อยคนที่จะนั่งอ่านรายงานฉบับสมบูรณ์จริงๆ  หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์และเว็บข่าวออนไลน์ต่างๆ พากันนำไฟล์ของรายงานนี้ขึ้นหน้าเว็บไซต์กันทั้งนั้น ผมยังเปิดดูและอ่านไปสองสามหน้าแล้วสำเนาเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เอาไว้ถึงเวลาต้องการใช้ ค่อยมาเปิดอ่านเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทีหลัง หมายความว่าจริงๆ ก็ยังไม่ได้อ่านรายงานฉบับเต็มนี้ด้วยตนเอง

ดังนั้น มุลเลอร์จึงตัดสินใจด้วยตนเอง โดยไม่มีใครแนะนำหรือร้องขอให้เขาออกมาพูดต่อสาธารณชน ว่าจะสรุปเนื้อหาสำคัญใหญ่ๆ ของการสืบสวนนี้ให้สาธารณชนได้รับรู้และตัดสินใจกันเองต่อไปว่าจะเชื่อหรือไม่

เขาเริ่มต้นการแถลงครั้งนี้ด้วยการอธิบายถึงเหตุผลและที่มาของการที่กระทรวงยุติธรรมตั้งอัยการสอบสวนพิเศษนี้ขึ้น เพราะมีหลักฐานอันแน่นหนาเชื่อถือได้อย่างไม่ต้องสงสัย ว่าสำนักข่าวกรองทางทหารของรัสเซียได้มา “โจมตีระบบการเมืองของเรา” ด้วยการจารกรรมสอดแนมโดยใช้เครื่องมือคอมพิวเตอร์ เจาะเข้าไปในฐานข้อมูลของฮิลลารี คลินตัน และสร้างข่าวปลอมต่างๆ จากบุคคลต่างๆ ส่งไปให้วิกีลีกส์ทำการเผยแพร่ เพื่อทำการแทรกแซงและทำให้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นไปในแนวทางที่พวกนั้นต้องการ

เนื่องจากการแทรกแซงในระบบการเมืองนี้ กระทำในหลายกิจกรรมและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่กระทรวงยุติธรรมต้องตั้งคณะกรรมการพิเศษชุดนี้ขึ้นมา ให้ทำการสอบสวนถึงที่มาและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย อันรวมถึงการกระทำที่ “ขัดขวางการสอบสวนนี้ด้วย”  ประเด็นท้ายนี้เองที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องหัวเสียและโกรธคณะอัยการพิเศษมุลเลอร์อย่างมาก เพราะทำให้การสอบสวนนี้ต้องเจาะเข้าไปถึงการทำงานรณรงค์การเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย

จากนั้นมุลเลอร์ให้อรรถาธิบายถึงส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญของรายงานว่า ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือการสอบสวนการแทรกแซงของรัสเซียต่อการเลือกตั้งปี 2016  ซึ่งนำไปสู่การสอบสวนเจ้าหน้าที่ของคณะรณรงค์เลือกตั้งของทรัมป์ที่เข้าไปมีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องกับสายของรัสเซีย ส่วนนี้นำไปสู่การสรุปในท้ายสุดว่า ไม่พบหลักฐานที่เพียงพอในการตั้งข้อหาว่ามีการกระทำในการประทุษร้ายบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ (conspiracy) ซึ่งใกล้กับการคิดวางแผนกบฏ

ส่วนที่สองของรายงานมุลเลอร์ พูดเรื่องความพยายามและการกระทำที่ขัดขวางหรือให้การเท็จต่อการสอบสวนเพื่อความยุติธรรม มุลเลอร์กล่าวว่า คณะทำงานของเขาทำตามนโยบายและข้อบังคับของกระทรวงยุติธรรมอย่างเต็มที่ ได้รายงานให้กระทรวงฯ รับทราบตลอดเวลาว่าได้ทำไปถึงไหนแล้ว ถึงตรงนี้มุลเลอร์หยอดวาทะอันแหลมคมแต่นิ่มนวลมากว่า “หลังจากการสอบสวนแล้ว หากว่าเรามีความมั่นใจว่าประธานาธิบดีไม่ได้กระทำการอันใดที่เป็นอาชญากรรมอย่างแน่ชัด เราก็คงกล่าวให้ปรากฏในรายงานนั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะหาว่าประธานาธิบดีกระทำการที่เป็นอาชญากรรมหรือไม่” เพราะเรื่องหลังนี้ไม่ได้อยู่ในนโยบายและคำชี้แนะของกระทรวงฯ ที่มอบหมายให้คณะมุลเลอร์ทำ

วรรคทองดังกล่าวนี้กลายเป็นประเด็นให้ผู้สังเกตการณ์และนักวิเคราะห์ข่าวอเมริกันนำไปอภิปรายต่อยอดกันเป็นการใหญ่ ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กระทำการผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะจากพฤติกรรมและคำพูดของทรัมป์ตลอดสองปีที่ผ่านมา เขาได้กระทำให้ปรากฏต่อหน้าประชาคมทั้งในและนอกประเทศ ว่าเขาไม่แคร์และไม่สนใจว่ากฎหมายและระเบียบ ไปจนถึงธรรมเนียมในทางการเมืองและการปกครองอันถูกต้องเหมาะสม ถ้าหากทรัมป์ต้องการจะทำในสิ่งที่เขาเชื่อคนเดียวว่าถูกต้อง เขาก็จะทำและทำโดยไม่ต้องถามความเห็นหรือใส่ใจความเหมาะสมอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งเมื่อคณะอัยการพิเศษมุลเลอร์เริ่มคลำหาข้อมูลและได้หลักฐานจากคนใกล้ชิดทรัมป์มากขึ้นเป็นลำดับ ทรัมป์ก็ทนไม่ได้ ทวีตด่าไปก็เท่านั้น จึงสั่งการให้ดอน แมคแกน (Don McGahn) ที่ปรึกษาพิเศษของทำเนียบขาวที่เขาเลือกและตั้งด้วยมือเอง ให้ไปหาทางออกคำสั่งไล่หรือปลดมุลเลอร์ออกจากตำแหน่งอัยการพิเศษเสียที รำคาญมันมากแล้ว

ทว่าแมคแกนเป็นนักกฎหมายและเคยทำงานในสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งมาก่อน จึงพอมีกระดูกสันหลังบ้าง และเบรกทรัมป์ว่าทำไม่ได้หรอก มันผิดกฎหมาย จะยิ่งทำให้เรื่องมันแย่ไปกว่านี้ เขาเคยหยุดคำสั่งของทรัมป์หลายเรื่องที่สั่งด้วยความโมโหและความแค้นส่วนตัวมากกว่าหลักการและเหตุผล ผมยังอดแปลกใจไม่ได้ว่าแมคแกนมีอะไรดีถึงทำงานบนหลักการกับนายที่ไม่มีหลักการได้

แต่ในที่สุดทรัมป์ก็ปลดแมคแกนออกจากตำแหน่ง ด้วยการให้เขาเขียนใบลาออกเสียโดยดีเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากที่มีข่าวแพร่ออกไปว่า แมคแกนให้ความร่วมมือในการไปให้ปากคำแก่คณะมุลเลอร์เป็นอย่างดีกว่า 30 ชั่วโมง ด้วยการให้ปากคำถึงการทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์ในทำเนียบขาวว่าดำเนินไปอย่างไร มีเรื่องโลดโผนโจนทะยานอะไรบ้าง แน่นอนว่ารวมทั้งเรื่องที่ทรัมป์สั่งให้เขาหาทางไล่มุลเลอร์ออกจากอัยการพิเศษ

หลังจากรายงานของมุลเลอร์ออกมาและมีข้อมูลจากปากคำของแมคแกนเรื่องทรัมป์คิดจะไล่มุลเลอร์ออก อันเป็นการกระทำที่ขัดขวางการสอบสวนเข้าข่ายทำลายความยุติธรรมได้ คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ จึงออกคำสั่งเรียกให้แมคแกนมาให้ปากคำ ทันใดนั้นทำเนียบขาวก็ออกคำสั่งแย้งมาทันที ห้ามไม่ให้แมคแกนนำเอกสารหลักฐานไปให้ปากคำแก่กรรมาธิการสภาผู้แทนฯ นี่เป็นการปะทะกันทั้งทางกฎหมายและอำนาจอธิปไตย ในที่สุดแมคแกนก็ตัดสินใจทำตามคำสั่งของทำเนียบข่าวด้วยการปฏิเสธไปให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ สร้างความเดือดดาลแก่สมาชิกพรรคเดโมแครตฝ่ายที่ต้องการถอดถอนทรัมป์อย่างยิ่ง

กลับมาที่วรรคทองของมุลเลอร์อีกนิด คนที่ติดตามเรื่องรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งและเบื้องหลังการทำงานของคณะรณรงค์และเครือข่ายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทรัมป์และคณะทำงานของเขา รวมถึงลูกและลูกเขยล้วนมีความสัมพันธ์และหาทางแสวงหาผลประโยชน์ด้านต่างๆ ทั้งการค้า การเงิน ไปถึงการเมืองด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ปัญหาคือว่าการกระทำนั้นไปถึงไหน มีหลักฐานมากพอไหม แม้คณะมุลเลอร์จะส่งหลักฐานและความเห็นไปให้อัยการรัฐดำเนินการฟ้องร้องไปได้จำนวนหนึ่งแต่ไม่มีคดีไหนเอื้อมมือไปถึงทรัมป์ได้ ดังนั้นเมื่อรายงานให้ข้อสรุปว่า ไม่อาจชี้ช่องให้ดำเนินคดีอาญาแก่ทรัมป์ได้ จึงต้องสรุปเพียงว่า “หลักฐานไม่เพียงพอ” ที่จะกล่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งทรัมป์ก็รีบออกมาทวีตทันทีว่า เห็นไหมว่าเขาบริสุทธิ์ ไม่มีการร่วมมือกับรัสเซียในการแทรกแซง และไม่มีการขัดขวางระบบยุติธรรม การสอบสวนของคณะมุลเลอร์เป็นการหาเรื่องใส่ความเขาโดยแท้ สร้างความไม่พอใจและคับข้องใจแก่ผู้คนที่รับรู้เรื่องราวนี้มาตลอดว่า ทำไมการสอบสวนที่ดำเนินไปโดยนักสอบสวนมือฉกาจอย่างมุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักเอฟบีไอเอง ถึงจบลงอย่างธนูที่ยิงไปไม่ถึงเป้า ตกลงกลางทะเลเสียก่อน

นี่เองที่อาจเป็นแรงผลักดันให้มุลเลอร์ตัดสินใจออกมาเปิดแถลงความในใจของเขากับนักข่าวและสาธารณชนโดยตรงเป็นครั้งแรก และจะเป็นครั้งสุดท้ายด้วย เขาบอกย้ำเช่นนั้น เพราะทุกอย่างที่เขาแถลงนั้นล้วนมีอยู่ครบถ้วนแล้วในรายงาน โปรดไปอ่านรายงานกันด้วยทุกๆ คน

หากถอดความจากวรรคทองของเขาที่ว่า “หากว่าเรามีความมั่นใจว่าประธานาธิบดีไม่ได้กระทำการอันใดที่เป็นอาชญากรรมอย่างแน่ชัด เราก็คงกล่าวให้ปรากฏในรายงานนั้นแล้ว” หมายความว่า เหตุที่รายงานไม่ได้ระบุว่าทรัมป์ไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสิ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการแทรกแซงและขัดขวางระบบยุติธรรม ก็เพราะว่ามันมีข้อมูลและหลักฐานจำนวนหนึ่งที่โยงใยไปถึงทรัมป์ด้วย เพียงแต่ว่าหลักฐานนั้นยังไม่หนักแน่นเพียงพอในการดำเนินคดีอาญา

แล้วทำไมคณะมุลเลอร์ถึงไม่ดำเนินการรวบรวมหลักฐานให้มันหนาแน่นและพอเพียงเล่า? ต่อข้อสงสัยนี้ มุลเลอร์ได้อธิบายต่อว่า เงื่อนไขของกระทรวงยุติธรรมในการแต่งตั้งเขาให้เป็นอัยการพิเศษนี้ ระบุว่านโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่มีมานานแล้ว ห้ามไม่ให้ทำการกล่าวหาประธานาธิบดีที่กำลังอยู่ในตำแหน่งในคดีอาญาใดๆ ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ (แปลว่า อำนาจตุลาการจะละเมิดอำนาจบริหารด้วยตัวเองไม่ได้ ตลกดีที่มันตรงข้ามกับการปฏิบัติในประเทศใกล้เมียนมาร์เลย)

มุลเลอร์จึงกล่าวว่า การรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวพันถึงการกระทำความผิดทางอาญาของประธานาธิบดีจึงไม่ใช่ทางเลือกที่เราจะทำได้ ดังนั้นแม้จะได้ข้อมูลและหลักฐานจำนวนหนึ่ง แต่คณะมุลเลอร์ก็ห้ามไม่ให้ไปแตะต้องและเก็บมาในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ กระทั่งว่าจะเก็บไว้เป็นความลับ ไม่ให้เผยแพร่ไปถึงมือที่สาม ก็ทำไม่ได้ตามนโยบายและแนวปฏิบัติอันเคร่งครัดของกระทรวงยุติธรรม นี่เองถึงเป็นเหตุที่คณะมุลเลอร์ต้องเขียนในรายงานว่า ในที่สุดก็ไม่อาจกล่าวอะไรในทางลบต่อประธานาธิบดีได้ เพราะการกล่าวอะไรไปโดยไม่มีหลักฐานรองรับเท่ากับไม่ใช่ความจริง แต่มุลเลอร์รู้ว่ามีหลักฐานในการกระทำผิดกฎหมายของนายทรัมป์ ดังนั้นในการแถลงต่อสื่อมวลชน เขาถึงเลือกถ้อยคำที่บอกถึงภาวะของการพูดไม่ได้เพราะติดในนโยบายของหน่วยงาน ทั้งที่เขาก็อยากพูดให้คนอเมริกันรับรู้ว่า จริงๆ แล้วความจริงมันคืออะไร

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงยุติธรรมก็คงตระหนักถึงความยากลำบากในการทำตามนโยบายนี้ จึงได้มีความเห็นจำนวนหนึ่งที่ช่วยในการทำการสอบสวนได้ นั่นคือการอนุญาตให้คณะสอบสวนสามารถทำการสืบสวนปฏิบัติการของประธานาธิบดีที่กำลังอยู่ในตำแหน่งได้ ด้วยเหตุผลว่าหลักฐานหลายอย่างนั้นควรค้นคว้าสืบสวนออกมาในขณะที่ความทรงจำยังแจ่มใสอยู่และข้อมูลหลักฐานก็ยังพอหาได้ อีกประการคือถ้าพบว่ามีคนอื่นร่วมมือในปฏิบัติการนั้น ทางการก็สามารถดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นได้เลยในขณะนี้

ข้อนี้ก็มีนักข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การที่มุลเลอร์ระบุว่าการสอบสวนน่าจะทำในเมื่อคนยังมีความทรงจำในเรื่องนั้นชัดเจน แสดงว่าเขามองว่างานนี้ยังไม่จบเรียบร้อยในปัจจุบัน แต่หากสังคมยังมีความทรงจำในเรื่องนี้อยู่ มันก็จะยังสามารถเป็นข้อมูลหลักฐานให้คนในอนาคตนำไปสานต่อได้  ซึ่งก็สอดคล้องกับความคิดเห็นอีกข้อของกระทรวงยุติธรรมที่ให้ยึดหลักการในรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีนั้นสามารถกระทำได้โดยวิถีทางอื่นที่ไม่ใช่ในระบบยุติธรรมปกติ (เขาไม่ได้อธิบายในรายละเอียดว่าหนทางอื่นที่ว่านั้นคืออะไร เพราะจะเป็นการประกาศการเป็นศัตรูกับประธานาธิบดีทรัมป์มากไป)

สำหรับคนที่เข้าใจในรัฐธรรมนูญอเมริกา กรณีเรื่องการปฏิบัติต่อการกระทำผิดอันร้ายแรงของประธานาธิบดีนั้น คือกระบวนการถอดถอน (impeachment) ซึ่งเป็นอำนาจเต็มที่และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภาคองเกรสที่ประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในการเป็นผู้ดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีได้

ทั้งหมดนี้คือประเด็นและเนื้อหาใจความที่สำคัญที่นายมุลเลอร์แถลงต่อสื่อมวลชนและประชาคมได้รับรู้ กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่ามุลเลอร์ต้องการจะบอกว่า จริงๆ แล้วประธานาธิบดีทรัมป์ได้กระทำการอันผิดกฎหมายหลายเรื่อง แต่ในฐานะของอัยการพิเศษ ซึ่งไม่มีหน้าที่ในการฟ้องร้องต่อศาลได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ เขาจึงได้แต่รวบรวมและส่งฟ้องศาลไปเท่าที่จะทำให้สังคมตระหนักและเห็นกับตาว่ารัสเซียเข้ามาแทรกแซงในระบบการเมืองอเมริกันจริงๆ อีกทั้งคนในฝ่ายของทรัมป์ทั้งก่อนและหลังการรับตำแหน่งก็เข้าไปมีกิจกรรมในทางลับกับสายของรัสเซียเป็นว่าเล่น ดังที่เขาปิดท้ายคำแถลงด้วยการตอกย้ำอีกครั้งว่า คนอเมริกันทุกคนควรให้ความสนใจในปัญหาการแทรกแซงของรัสเซียดังกล่าวนี้ ส่วนหนทางอื่นในการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งนั้นก็ต้องปล่อยให้รัฐสภาคองเกรสเข้ามารับช่วงดำเนินการต่อไป ส่วนเขานั้นก็จะไม่เข้าเกี่ยวข้องอีก ไม่ว่ากรรมาธิการสภาผู้แทนฯ จะเรียกให้เขาไปให้ปากคำอะไรก็ตาม เขาบอกว่าไม่มีอะไรที่จะพูดอีกแล้ว ทุกอย่างล้วนอยู่ในรายงานฉบับสมบูรณ์

การเริ่มต้นและปิดฉากของคณะมุลเลอร์ในฐานะอัยการพิเศษเพื่อสอบสวนพฤติการณ์อันน่าสงสัยของประธานาธิบดีนั้น ชวนให้นึกถึงกรณีใกล้เคียงกันหลายครั้ง ที่ดังๆ ก็คือกรณีวอเตอร์เกตภายใต้รัฐบาลริชาร์ด นิกสัน ซึ่งนิกสันใช้อำนาจประธานาธิบดีปลดหัวหน้าอัยการพิเศษจนนำไปสู่การดำเนินการของรัฐสภาเองอย่างเต็มที่ สุดท้ายนิกสันยอมลาออกก่อนที่จะมีการลงมติถอดถอนเขา ครั้งต่อมาคือสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในคดีไวท์วอเตอร์แล้วโยงไปถึงนักศึกษาสาวฝึกงานในทำเนียบขาวโมนิกา ลูวินสกี้ ซึ่งจบลงด้วยมติรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน

จากตัวอย่างในอดีตจะเห็นได้ว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีนั้นทำได้ แต่จะไปบรรลุจุดหมายในการถอดถอนนั้นยากอย่างยิ่ง ซึ่งหมายความว่าถึงตอนนั้นสภาคองเกรสต้องมีข้อมูลหลักฐานอันหนักแน่นในมือพร้อมจะตัดสินลงโทษได้ ซึ่งเป็นกระบวนการและการตัดสินใจที่ยากไม่น้อยเลยสำหรับสมาชิกพรรคทั้งสองในรัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกในพรรคเดียวกันกับประธานาธิบดี ดังนั้นคองเกรสจึงหาทางออกด้วยการให้มีคณะอัยการพิเศษหรือที่ปรึกษาพิเศษเข้ามาทำหน้าที่ในการสอบสวนรวบรวมหลักฐานทั้งหมดให้แก่รัฐสภาต่อไป

แต่พอลงมือปฏิบัติจริงๆ คณะกรรมการอัยการพิเศษที่ว่านี้ก็มักสร้างปัญหาขึ้นมาอีก เช่นกรณีของอัยการพิเศษเคนเน็ธ สตาร์ ที่สอบสวนคลินตันก็ใช้อำนาจพิเศษเสียจนละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง กรณีของลูวินสกี้เป็นตัวอย่างของเหยื่อในการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าวนี้ ดังนั้นรัฐสภาจึงไม่อนุญาตให้อัยการพิเศษเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจพิเศษอีกต่อไป แต่โอนกลับให้ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรมเสีย เช่นนี้เองที่ทำให้คณะมุลเลอร์ไม่มีเขี้ยวเล็บพิเศษในการต่อกรกับทรัมป์ได้ หากคณะมุลเลอร์ยังมีอำนาจพิเศษเหมือนอัยการพิเศษเคนเน็ธ สตาร์ คิดว่าวันสุดท้ายที่มุลเลอร์ต้องมาออกข่าวแถลงสั้นๆ แค่ 8 นาทีก็จะไม่เกิดขึ้น

นับว่าเป็นความโชคดีหลายชั้นของทรัมป์ที่เข้ามารับตำแหน่งในห้วงเวลาที่อัยการพิเศษถูกถอดเขี้ยวเล็บไปแทบหมดสิ้นแล้ว

ผมนั่งตามข่าวคราวและการตอบโต้กันระหว่างฝ่ายทรัมป์กับกองเชียร์ฝ่ายมุลเลอร์ด้วยความสนุกระทึกใจ ลึกๆ ก็เอาใจช่วยฝ่ายประชาธิปไตยของประชาชน บทเรียนที่ได้จากกรณีการพยายามควบคุมอำนาจบริหารของประธานาธิบดีโดยระบบยุติธรรม พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่อาจกระทำได้อย่างแท้จริง แม้ในประเทศที่ระบบและอำนาจล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายที่มาจากเจตจำนงของประชาสังคม จึงยังเห็นความพยายามและการเคลื่อนไหวที่รักษาดุลยภาพของอำนาจรัฐและอำนาจปกครองไว้ ไม่ให้เลื่อนหลุดไปอยู่ในกำมือของผู้ใช้อำนาจแต่คนเดียวได้ ดังที่ จอร์จ ออร์เวล พูดถึงเบื้องหลังการเขียนนวนิยายเสียดสีการเมืองระบบโซเวียต Animal Farm ว่า อย่าได้หลงเชื่อใน “เผด็จการผู้ทรงธรรม” (benevolent dictatorship)

ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีเผด็จการคนไหนที่มีคุณธรรม.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save