fbpx
ครั้งหนึ่งเราเคยพบกัน...ออง ซาน ซู จี “ฉันหรือเธอที่เปลี่ยนไป ?”

ครั้งหนึ่งเราเคยพบกัน…ออง ซาน ซู จี “ฉันหรือเธอที่เปลี่ยนไป ?”

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

ทีมงานสาละวินโพสต์ ภาพ

“ฉันไม่คิดว่าฉันกล้าหาญอะไรมากมาย คนมักพูดถึงฉันว่าเป็นคนกล้าหาญ แต่จริงๆ คือฉันค่อยๆ รับมือไปในแต่ละวัน ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามทำในสิ่งที่จิตสำนึกบอกว่าควรจะทำ”

จากบทสัมภาษณ์ ออง ซาน ซู จี

โดย วันดี สันติวุฒิเมธี และอัจฉราวดี บัวคลี่

22 ธันวาคม 2553

ออง ซาน ซู จี หรือ ดอว์ ซู (Daw Suu) ของประชาชนชาวพม่า ผู้นำพรรคสันติบาตเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี (NLD) เป็นผู้หญิงที่คนทั่วโลกขนานนามให้ว่าเป็น “ดอกไม้เหล็กกลางดงหนาม” และมีคำยกย่องอื่นๆ อีกมากมายมอบให้กับเธอ เพราะเธอเป็นผู้นำหญิงตัวเล็กๆ ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากักบริเวณอยู่ในบ้านยาวนานกว่าสิบปี

หลังจากเธอได้รับอิสรภาพครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 เพียงสองสัปดาห์ ผู้เขียนได้มีโอกาสครั้งสำคัญ ได้เข้าสัมภาษณ์ผู้นำหญิงท่านนี้เป็นเวลา 30 นาที ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี กรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่า แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้ผู้เขียนได้รู้จัก “ดอกไม้เหล็ก” ท่านนี้ในแง่มุมที่แตกต่างจากคนทั่วไป บทความชิ้นนี้จึงต้องการเขียนถึงผู้นำหญิงท่านนี้จาก “มุมมองส่วนตัว” ในฐานะ “ครั้งหนึ่งที่เราเคยพบกัน”

ผู้เขียนได้เฝ้าติดตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของซู จี หลังจากขึ้นมาบริหารประเทศได้สักพักใหญ่ และพบว่าในระยะหลังเริ่มได้ยินเสียงคนวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้นว่า “เธอเปลี่ยนไป” ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหมือนที่คนอื่นยกย่อง ถึงขนาดองค์กรมุสลิมเรียกร้องให้ยึดรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคืนเลยทีเดียว รวมทั้งกระแสความเห็นในเชิงผิดหวังว่า แท้จริงแล้วเธอก็มีธาตุแท้เหมือนนักการเมืองทั่วไปนั่นเอง

ผู้เขียนฟังแล้วอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “ซูจีเปลี่ยนไป” หรือจริงๆ แล้ว “เธอไม่ได้เปลี่ยน” แต่ “คนภายนอก” ต่างหากที่เปลี่ยน “แว่นสายตา” ที่ใช้มองเธอ เพราะ “ตราประทับ” ต่างๆ ที่เธอได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ดอกไม้เหล็ก นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ล้วนเป็นมุมมองที่ “คนภายนอก” มองเห็นเธอมิใช่หรือ?

เมื่อลองทบทวนประสบการณ์ “ครั้งหนึ่งเราเคยพบกัน” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 และการตอบคำถามจาก “ปากของเธอ” เองถึงมุมมองต่างๆ ที่คนภายนอกมักมองเห็นเธอ เราจะพบว่า “ตราประทับ” ที่คนภายนอกมอบให้ เธอกลับไม่ได้รู้สึก “ตรงกัน” นัก ด้านล่างเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการตอบคำถามอันชาญฉลาดของ “นักการเมืองหญิง” ท่านนี้

ออง ซาน ซู จี กำลังให้สัมภาษณ์ผู้เขียนและอัจฉราวดี บัวคลี่

…………………………………………

หลายคนคิดว่าหลังจากคุณได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ คุณดูมีท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาลมากกว่าเมื่อก่อน

ฉันไม่รู้ว่าทำไมคนถึงพูดเช่นนั้น เพราะฉันพูดเสมอว่าฉันพร้อมประนีประนอม เวลามีคนบอกว่าฉันมักเผชิญหน้ากับรัฐบาล ฉันจะถามกลับว่า ช่วยยกตัวอย่างได้ไหมว่าฉันเผชิญหน้าอย่างไร ถ้าคุณยกตัวอย่างที่น่าเชื่อถือว่าฉันเคยเผชิญหน้ากับรัฐบาลไม่ได้ คุณก็พูดไม่ได้ว่าตอนนี้ฉันประนีประนอมมากขึ้น ช่วยยกตัวอย่างว่าฉันเคยเผชิญหน้าอย่างไร วิธีไหน หรือภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างไร เพราะฉันพูดเสมอว่าฉันพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลทหาร

หากคุณได้พบเลขาธิการอาเซียน คุณจะพูดอะไร

จริงๆ ฉันอยากจะทราบเสียก่อนว่า ท่านจะพูดอะไรกับฉัน คนมักถามฉันเสมอว่า ถ้าได้พบกับคนนั้นคนนี้ ฉันอยากพูดอะไร น่าแปลกเหมือนกันนะ เพราะเวลาที่เราพบกับใคร ก็เป็นเรื่องของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่คำถามว่าฉันจะพูดอะไร แต่ต้องถามด้วยว่าแล้วคนที่มาพบอยากพูดอะไร ฉันมองในมุมของการแลกเปลี่ยน มากกว่าการพูดเรื่องที่ตัวเองต้องการ

หากมองย้อนกลับไปบนเส้นทางการต่อสู้ที่ผ่านมา ๒๐ ปี คุณคิดว่าคุณได้และสูญเสียอะไรไปบ้าง

ฉันไม่เคยคิดเรื่องได้หรือเสีย ฉันคิดเพียงแค่ว่านี่คือสิ่งที่ฉันเลือกจะทำ บางครั้งเราประสบความสำเร็จมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ บางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง แต่ฉันไม่คิดในแง่มุมว่าฉันได้หรือฉันสูญเสีย

 

ทุกวันนี้คุณได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตยในพม่า คุณรู้สึกว่ามีแรงกดดันมากไหม

ฉันคิดว่าคำว่า “สัญลักษณ์” คงไม่เหมาะกับตัวฉัน เพราะฉันไม่คิดว่าตัวเองเป็นสัญลักษณ์ แต่คิดเพียงว่าฉันเป็นคนทำงานคนหนึ่ง ฉันอยากให้เรียกว่า “คนทำงานเพื่อประชาธิปไตย” มากกว่า เพราะคำว่าสัญลักษณ์มีความหมายราวกับว่าฉันไม่ได้ทำอะไร แค่นั่งเฉยๆ อยู่ในตึก ฉันไม่ชอบทำอย่างนั้นหรอก

สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกกล้าหาญคืออะไร

ฉันไม่คิดว่าฉันกล้าหาญอะไรมากมาย คนมักพูดถึงว่าฉันเป็นคนกล้าหาญ แต่จริงๆ คือฉันค่อยๆ รับมือไปในแต่ละวัน ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามทำในสิ่งที่จิตสำนึกบอกว่าควรจะทำ

…………………………………………..

ออง ซาน ซู จี กับผู้เขียน ในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2533

คำตอบของเธอข้างต้นเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า

คนภายนอกมีมุมมองที่ “แตกต่าง” จากสิ่งที่เธอคิดและเป็นอยู่

คนภายนอกมี  “แว่นสายตา” ที่สั้น ยาว เอียง แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างทาง “ชาติพันธุ์”

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าถามประชาชนชาว “พม่าแท้” (Burman) ที่เกลียดรัฐบาลเผด็จการทหาร ว่าคิดอย่างไรกับซู จี หลังจากพรรคเอ็นแอลดีขึ้นมาปกครองประเทศพม่า เราจะพบว่า “แว่นสายตา” ของชาวพม่าแท้เอียงไปทางตัวเลขบวกมากกว่าลบ และมองว่า “เธอไม่ได้เปลี่ยนไป” เพราะเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนพม่าให้ดีขึ้นตามที่เธอเคยประกาศไว้

ผู้เขียนเคยเดินทางเข้าไปในเมืองปะโคะกู ภาคกลางของประเทศพม่าเมื่อหลายปีมาแล้วกับเพื่อนหญิงชาวพม่า เจ้าของแกลลอรี่ภาพวาดฝีมือจิตรกรพม่าในจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา เพิ่งได้เจอเธออีกครั้ง เธอเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่า ณ วันนี้ว่า

“ตอนนี้ถนนที่เราเคยเดินทางไปด้วยกันเมื่อหลายปีก่อนไม่เหมือนเดิมแล้ว เมื่อก่อนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทาง แต่เดี๋ยวนี้เทคอนกรีตวิ่งได้เร็วเหมือนเมืองไทยแล้วนะ เพราะซู จี ไม่ยอมให้คอร์รัปชันงบประมาณสร้างถนนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ผู้รับเหมาต้องทำงานให้เสร็จตามเวลา พวกชาวบ้านบอกว่าอยากให้พรรคเอ็นแอลดีปกครองประเทศไปตลอดเลย”

แต่ถ้าถามชาวมุสลิมโรฮิงยา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองของประเทศพม่า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนามุสลิมและยังมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคล เพราะอาศัยอยู่ในรัฐอารกัน ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศบังคลาเทศ ทำให้ถูกปฏิเสธจากทั้งสองรัฐ กลายเป็นคนไร้แผ่นดิน ไม่มีประเทศไหนให้การรับรองสถานะบุคคล เมื่อซู จี และพรรคเอ็นแอลดีไม่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ รวมทั้งแสดงท่าทีไม่พอใจผู้สื่อข่าวหญิงบีบีซีซึ่งเป็นชาวมุสลิม กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอินโดนีเซีย จึงออกมารณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ยึดรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพคืนจากซู จี โดยให้เหตุผลว่า ซู จี ไม่มีความอ่อนไหวทางเชื้อชาติและศาสนาซึ่งเกินรับได้สำหรับผู้รักสันติภาพ

และหากตั้งคำถามกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่พม่า (Non-Burman) โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่จากรัฐฉาน รัฐกะฉิ่น รัฐชิน ที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง (Palong Agreement) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2490 “แว่นสายตา” ที่ใช้มองซู จี อาจแตกต่างออกไปเช่นกัน เพราะขณะที่สนธิสัญญาฉบับนี้ระบุให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมลงนามมีสิทธิแยกตัวเป็นอิสระหลังจากสหภาพพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษครบ 10 ปี แต่ซู จี กลับตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า

“ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิด ฉันได้รับทราบจากกลุ่มชาติพันธุ์มากมายที่อยากอยู่ร่วมกันเป็นสหพันธรัฐ ที่จริงแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการให้จัดการประชุมปางโหลงครั้งที่ 2 บอกชัดว่าจะหาทางที่ไม่นำไปสู่การแยกตัวและไม่มีการแยกเป็นอิสระ พวกเขาพูดชัดเจนว่าต้องการปกครองตนเอง หรือ autonomy แต่ไม่ใช่การแยกตัวเป็นอิสระ”

ดังนั้น หากถามความเห็นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งลุกขึ้นจับปืนต่อสู้เพื่อเอกราชของตนเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 พวกเขาจึงมองเห็นซู จี ด้วย “แว่นสายตา” ที่แตกต่างออกไป เพราะคำตอบของเธอแตกต่างจากข้อความที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาที่นายพลออง ซาน บิดาของเธอ เป็นผู้ร่วมลงนามไว้

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่าง “แว่นสายตา” คนละอันที่นำมาใช้มองดูบทบาทของออง ซาน ซู จี

แท้จริงแล้ว คงไม่มีใครตอบฟันธงได้ว่า

“ฉันหรือเธอที่เปลี่ยนไป” กันแน่ เพราะ “แว่นสายตา” ของแต่ละคนมีมุมมองที่สั้น ยาว เอียง แตกต่างกันไป

แต่ที่ตอบฟันธงได้อย่างแน่นอน คือ เธอบอกว่า เธอเป็น “นักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”

ดังนั้น ถ้าจะมองดูเธอ ก็ต้องใช้ “แว่นสายตา” ที่มอง “นักการเมือง” ใช่หรือไม่

และหากลองอ่านวิธีการตอบคำถามของเธอดีๆ ก็จะพบว่า เธอคือ “นักการเมืองตัวจริง” ไม่ว่าจะเป็นวิธีการตอบคำถามหลีกเลี่ยงการ “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” แบบตรงไปตรงมา วิธี “อ้างอิง” ความคิดเห็นคนอื่นมาตอบคำถามแทนการแสดงจุดยืนของตนเอง (เห็นได้จากวิธีการตอบคำตอบเรื่องการแยกตัวเป็นประเทศของกลุ่มชาติพันธุ์) รวมไปถึงวิธีการตั้งคำถามย้อนกลับผู้สื่อข่าวจนตั้งรับไม่ทันเหมือนที่ผู้เขียนเจอมาแล้วกับตนเอง

สุดท้ายนี้ ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเราเคยพบกัน ผู้เขียนขอสรุปแบบ “ฟันธง” จาก “แว่นสายตา” ของตนเองว่า “ซู จี ไม่ได้เปลี่ยนไป” เพราะเธอยังคงเป็นผู้หญิงที่ฉลาด เข้มแข็ง และก้าวเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยตามปณิธานที่เธอบอกไว้เช่นเดิม

เพียงแต่ “ฉันต่างหากที่เปลี่ยนไป” เพราะเมื่อเห็นเธอได้รับอิสรภาพมากยิ่งขึ้น ฉันจึงมีความคาดหวังในตัวเธอมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

ออง ซาน ซู จี รับมอบ “สาละวินโพสต์” จากผู้เขียน ซึ่งขณะนั้นเป็นบรรณาธิการนิตยสาร
[/et_pb_text][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”box” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#969696″ border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”10px|10px|10px|10px” disabled=”off”]

บทสัมภาษณ์ ออง ซาน ซู จี ฉบับเต็ม

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสาละวินโพสต์

ฉบับที่ 63 เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554

สัมภาษณ์โดย วันดี สันติวุฒิเมธี และอัจฉราวดี บัวคลี่

มองการเมืองพม่า

ขณะนี้การเลือกตั้งได้ผ่านไปแล้ว แต่ดูเหมือนผลการเลือกตั้งจะไม่ได้รับการยอมรับในสายตานานาชาติ คุณคิดว่าการเมืองพม่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

สิ่งที่เราพยายามทำ คือ การทำให้พรรคเอ็นแอลดีดำรงอยู่ต่อไป แม้รัฐบาลจะบอกว่าเราไม่ได้จดทะเบียนพรรคก็ตาม เรากำลังต่อสู้ในศาล เพราะภายใต้กฎหมายใหม่เราไม่สามารถจดทะเบียนได้ (เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งระบุว่าให้ขับสมาชิกพรรคที่ต้องโทษคดีการเมืองออกจากพรรค ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซู จี ซึ่งถูกกักบริเวณในบ้านพักในช่วงเวลาดังกล่าว) เราเชื่อว่า ถ้าต้องการให้การเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือ เราจำเป็นต้องมีกระบวนการเลือกตั้งทึ่เปิดกว้างในพม่า รวมทั้งพรรคเอ็นแอลดี ชนกลุ่มน้อย องค์กรทางการเมืองและสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าไม่มีการเปิดกว้างแล้ว การเลือกตั้งจะไม่มีความน่าเชื่อถือ ฉันไม่เชื่อว่าเอ็นแอลดีเป็นพรรคการเมืองผิดกฎหมาย แต่เราเพียงแค่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายเลือกตั้งปี 2553 เท่านั้น ซึ่งความหมายของมันต่างกัน สิ่งสำคัญคือเราได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ และคนที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ฉันจึงเชื่อว่าเอ็นแอลดีจะเป็นกลุ่มทางการเมืองที่ประสบผลสำเร็จ

พรรคเอ็นแอลดีสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหนภายใต้สถานะไม่ได้จดทะเบียน

เราทำได้หลายอย่าง ทั้งการพบกับพรรคการเมืองต่างๆ ชนกลุ่มน้อย และองค์กรทางสังคม ตอนนี้เรากำลังเพิ่มกิจกรรมมากขึ้น  ทั้งการส่งคนไปช่วยเหลือเหยื่อภัยพิบัติ และเรายังมีโครงการด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ที่กำลังจะดำเนินการด้วยเช่นกัน

หมายความว่าพรรคเอ็นแอลดียังคงทำงานในฐานะเป็นพรรคการเมืองหรือเปล่า

แน่นอน แม้ว่าเราจะไม่ได้จดทะเบียน แต่เรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาล ดังนั้นคุณยังไม่อาจพูดได้จริงๆ ว่าเราเป็นพรรคที่ไม่ได้จดทะเบียน

อีกนานแค่ไหนกว่าที่กระบวนการในศาลจะแล้วเสร็จ

เราไม่แน่ใจ มีคดีอื่นที่ต้องจัดการอีกหลายคดี เราพยายามเร่งเวลา เราทำงานสองอย่างพร้อมกัน พวกเขาก็ต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่เราก็จะอุทธรณ์ภายในกรอบเวลา

ตั้งแต่ปี 2531 เราเห็นประชาชนจำนวนนับแสนคนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนกันหลายครั้ง แต่ทำไมถึงยังไม่ได้ประชาธิปไตยที่ปกครองโดยพลเรือนอย่างที่ประชาชนต้องการ

ฉันคิดว่า บางทีเรายังไม่พบทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ฉันไม่คิดว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้ด้วยการประท้วงบนท้องถนน ฉันว่าบางปัญหาก็อาจจะแก้ได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ทางหนึ่ง ฉันก็อยากจะคิดว่า เราอาจจะแก้ปัญหาได้ด้วยการเจรจา ในระยะยาว มันจะเป็นการดีกว่าสำหรับประชาธิปไตย ถ้าเราสามารถหาหลักการของการเจรจามากกว่าการสู้กัน

แต่การเดินขบวนบนท้องถนนหมายความว่า ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม

ใช่ค่ะ และฉันคิดว่าการที่พระสงฆ์ออกมาเดินขบวนในปี 2550 และการปราบปรามอย่างรุนแรงทำให้คนหวาดกลัว อาจทำให้คนไม่กล้าออกมาประท้วงอีก แต่ก็ไม่แน่หรอก คนออกมาประท้วงตามท้องถนน เพราะว่า เขารู้สึกว่าทนสถานการณ์ต่างๆ ไม่ได้แล้ว

หลังจากได้รับการปล่อยตัวคุณพูดถึงการจัดประชุมปางโหลงครั้งที่ 2  มันมีความหมายแตกต่างจากครั้งที่ 1 อย่างไร

การประชุมปางโหลงคือการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพของรัฐ การประชุมปางโหลงครั้งแรก (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947) มีเป้าหมายเพื่อนำกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมารวมกันเป็นประเทศเดียวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ในช่วงหลายปีนี้มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ประเทศพม่ายังไม่ได้ปกครองแบบสหภาพที่แท้จริงและยังไม่มีสันติภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น สิ่งที่ฉันต้องการคือ การเสริมสร้างและทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความเป็นเอกภาพ เราจะเห็นได้ว่า สนธิสัญญาปางโหลงครั้งแรกยังไม่ได้แก้ปัญหาหลายเรื่อง ดังนั้นปัญหาจึงยังคงมีอยู่ และเป้าหมายของการจัดประชุมปางโหลงครั้งที่สอง คือการพยายามกำจัดปัญหาที่ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ปางโหลงครั้งแรก เราจึงจะเดินก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการเป็นสหพันธรัฐ คืออยู่ร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ภายใต้ชื่อสหพันธรัฐ และอีกกลุ่มคือ ต้องการการแยกประเทศเป็นอิสระ คุณมองปัญหานี้อย่างไร

ฉันไม่ได้คิดเช่นนั้น ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิด ฉันได้รับทราบจากกลุ่มชาติพันธุ์มากมายที่อยากอยู่ร่วมกันเป็นสหพันธรัฐ ที่จริงแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการให้จัดการประชุมปางโหลงครั้งที่ 2 ได้บอกชัดว่าจะมีการหาทางเพื่อที่ไม่ได้นำไปสู่การแยกตัวและจะไม่มีการแยกเป็นอิสระ พวกเขาพูดชัดว่าต้องการปกครองตนเอง หรือ “Autonomy” แต่ไม่ใช่การแยกตัวเป็นอิสระ

แต่สถานการณ์การสู้รบชายแดนไทย-พม่าที่ผ่านมา มักมีข่าวว่าทหารจากกองกำลังรัฐฉานต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระ คุณคิดอย่างไร

ฉันคิดว่าไม่น่าจะใช่นะ ฉันไม่คิดว่าพวกเขาสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระ ที่ฉันเข้าใจคือ พวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองของรัฐฉาน ไม่ใช่สู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระ และแม้แต่ในการประชุมปางโหลงครั้งแรก เราก็ยอมรับในข้อเสนอปกครองตนเอง

คุณคิดว่าจะมีความเป็นไปได้ในการปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ไหม

ทำไมจะไม่ได้ล่ะ หลายประเทศก็มีการปกครองตนเองที่เข้มแข็งภายใต้ระบบสหพันธรัฐ ซึ่งให้อำนาจการปกครองตนเองในหลายๆ พื้นที่ ดูตัวอย่างในสวิตเซอร์แลนด์ พวกเขาเป็นสหพันธรัฐ แต่รวมตัวกันเหนียวแน่นมาก แต่ละภาคส่วนก็มีสิทธิปกครองตนเอง ตอนนี้มีความเข้าใจระบบสหพันธรัฐที่หลากหลายในพม่า เพราะว่า เอ่อ … คงต้องบอกว่าเป็นความหวาดหวั่นของนักการเมือง หรือนักวิชาการบางคน มีหลายคนเข้าใจว่า การเป็นสหพันธรัฐหมายความว่า มีสิทธิเลือกว่ารัฐนั้นๆ มีสิทธิที่จะแยกตัวออกมา และตั้งเป็นประเทศอธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เลย อย่างที่พวกคุณก็ทราบกันดีอยู่แล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้น มันหมายความว่า ในรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้น มีการกำหนดให้แต่ละภาคส่วนของสหพันธรัฐมีหน้าที่และสิทธิของตัวเองแยกจากรัฐบาลกลาง มีรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้นเอง คุณจะเรียกสหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ หรืออะไรที่ต้องการ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ สหพันธรัฐจะแยกหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าสหพันธรัฐ หรือสมาพันธรัฐ แต่เรียกว่า “สหรัฐอเมริกา” แต่สาระสำคัญคือ พวกเขาแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น

คุณคิดว่าการประชุมปางโหลงครั้งที่ 2 เป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์การเมืองในพม่าไหม

แน่นอน แต่มันเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ และต้องหารือกัน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง หรือวิ่งหนีเพียงเพราะมันเป็นเรี่องยาก

มีหลายคนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของคุณ เมื่อหยิบยกเรื่องการประชุมปางโหลงครั้งที่สองขึ้นมา

มันไม่มีอะไรที่จะต้องมาพูดถึงความปลอดภัยของฉันหรอกค่ะ

คุณกลัวไหม

ไม่ค่ะ ฉันแค่ไม่อยากพูดในสิ่งที่ผิดพลาด เพราะไม่อยากสร้างความตึงเครียดในหมู่ประชาชน มันไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงความปลอดภัยของฉัน  ฉันพยายามสร้างความเคลื่อนไหวที่เป็นเอกภาพ ไม่อยากพูดอะไรที่ทำลายความเป็นเอกภาพ ฉันไม่เคยคิดถึงเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง

หลายคนคิดว่าหลังจากที่คุณได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ คุณดูมีท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาลมากกว่าเมื่อก่อน

ฉันไม่รู้ว่าทำไมคนถึงพูดเช่นนั้น เพราะฉันพูดเสมอว่าฉันพร้อมประนีประนอม เวลาที่มีคนบอกว่าฉันมักเผชิญหน้ากับรัฐบาล ฉันจะถามกลับว่า ช่วยยกตัวอย่างได้ไหมว่าฉันเผชิญหน้าอย่างไร ถ้าคุณไม่สามารถยกตัวอย่างที่น่าเชื่อถือได้ว่าฉันเคยเผชิญหน้ากับรัฐบาล คุณก็ไม่สามารถพูดได้ว่าตอนนี้ฉันประนีประนอมมากขึ้น  ช่วยยกตัวอย่างว่าฉันเคยเผชิญหน้าอย่างไร วิธีไหน หรือภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างไร เพราะฉันพูดเสมอมาว่าฉันพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลทหาร

คุณคิดว่าการที่พม่าอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาตลอด 50 ปี ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ชาวพม่าไม่คุ้นเคยกับการตัดสินใจด้วยตัวเอง แน่นอนว่า การที่อยู่ใต้การปกครองของเผด็จการมานาน พวกเขาจะไม่ชินกับการตัดสินใจด้วยตัวเอง และไม่มั่นใจในตัวเอง พวกเขาลืมไปแล้วว่า จริงๆ แล้วพวกเขามีความสำคัญต่อประเทศนี้ หากไม่มีประชาชนก็ไม่มีประเทศ ดังนั้น เราจึงพยายามช่วยประชาชนให้กลับมามีความเชื่อมั่น และเข้าใจว่าพวกเขาควรเป็นคนต้องตัดสินใจว่าจะให้ประเทศเป็นอย่างไร ระบอบเผด็จการสามารถทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนได้

คุณคิดอย่างไรต่อคนรุ่นใหม่

ฉันคิดว่าเด็กรุ่นใหม่พัฒนาขึ้นมาก เพราะการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น คนรุ่นใหม่มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอก เพราะการพัฒนาด้านไอทีซึ่งช่วยได้มาก เมื่อพวกเขาได้รู้ว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไรและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฉันคิดว่ามันช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นแก่พวกเขา และฉันคิดว่ามันช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย

มองเพื่อนบ้าน

จากเรื่องภายในพม่าขอข้ามมามองเรื่องเพื่อนบ้านอย่างไทยบ้าง ตอนนี้ปัญหาในพม่าส่งผลต่อไทย ทั้งในแง่แรงงานต่างด้าว และผู้อพยพเข้าประเทศ คุณคิดว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาในพม่าที่ไทยไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวหรือไม่  

ฉันคิดว่าไทยคงไม่คิดว่านี่เป็นปัญหาในประเทศพม่าหรอก เพราะว่ามีผู้ลี้ภัยชาวพม่าเข้าไปอยู่ในไทยมากมาย และยังมีแรงงานพม่าในไทยอีก และฉันคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับไทยในการรับมือปัญหาผู้ลี้ภัยและคนต่างด้าว มันเป็นปัญหาของสองประเทศ เพราะทั้งผู้ลี้ภัย และคนงานต่างด้าวต่างก็มีชีวิตที่ลำบากกันทั้งนั้น แต่ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ต้องได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้าไปของทั้งผู้ลี้ภัยและคนงานต่างด้าว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับทั้งสองประเทศ จะบอกว่าเป็นปัญหาภายในพม่าคงไม่ได้

แต่ประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียนมักพูดเสมอว่า ปัญหาการเมืองพม่าเป็นเรื่องภายในของพม่า

นี่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งของอาเซียน และควรจะเปลี่ยนแปลง หากอาเซียนยอมรับว่าการหารือ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาติ ในกลุ่มอาเซียนมีความแน่นแฟ้นดี ดังนั้นก็ควรจะหันมาทบทวนว่า อะไรที่เป็นเรื่องภายใน อะไรที่เป็นปัญหาที่กระเทือนทั้งภูมิภาค

หากคุณได้พบเลขาธิการอาเซียน คุณจะพูดอะไร

จริงๆ ฉันอยากจะทราบเสียก่อนว่า ท่านจะพูดอะไรกับฉัน คนมักจะถามฉันเสมอว่า ถ้าได้พบกับคนนั้นคนนี้ ฉันอยากจะพูดอะไร น่าแปลกเหมือนกันนะ เพราะเวลาที่เราพบกับใคร มันเป็นเรื่องของทั้ง 2 ฝ่าย มันไม่ใช่คำถามว่า ฉันจะพูดอะไร แต่ต้องถามด้วยว่า แล้วคนที่จะมาพบ อยากพูดอะไร ฉันมองในแง่ของการแลกเปลี่ยนมากกว่าการพูดในเรื่องที่ตัวเองอยากจะพูด การที่ประเทศเพื่อนบ้านจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพม่า ไม่ควรเลือกคุยเฉพาะกับรัฐบาล แต่ต้องคุยกับเรา (หมายถึงพรรคเอ็นแอลดี) ด้วย เพราะเราก็เป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มใหญ่ มีคนมากมายที่เชื่อมั่นและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเราเหมือนกัน ดังนั้นฉันคิดว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ชาติในภูมิภาคควรจะเข้ามาพูดคุยกับเราด้วย เหมือนคุยกับรัฐบาล เพื่อที่จะได้เรียนรู้ปัญหาที่แท้จริงของประเทศ ไม่เพียงแต่รู้ปัญหาที่รัฐบาลยกขึ้นมา

หลังจากคุณได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ คุณได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายคว่ำบาตรของกลุ่มประเทศตะวันตกว่าควรยืดหยุ่นให้มากขึ้น หมายความว่าอย่างไร

ฉันพูดว่า เราควรจะทบทวนเรื่องนโยบายคว่ำบาตรว่าส่งผลต่อพม่าอย่างไร ฉันไม่คิดว่าการยกเลิกการคว่ำบาตรจะช่วยเศรษฐกิจของพม่าให้ดีขึ้นได้ และสหรัฐก็เคยมีรายงานออกมาเหมือนกันว่าการคว่ำบาตรนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของพม่าน้อยมาก

ดังนั้นนานาประเทศควรจะทำอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการเมืองของพม่า

ในตอนนี้สิ่งที่ฉันอยากเรียกร้องกับนานาชาติ คือ การยืนยันว่ากระบวนการต่างๆ ในทางการเมืองของพม่าควรจะต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม หากกระบวนการเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามแล้ว กระบวนการทางการเมืองก็ควรจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมให้ทุกเชื้อชาติ กองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ และกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองด้วย

ขณะนี้ประเทศไทยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพม่า อาทิ การสร้างเขื่อน หรือโครงการท่าเรือทวาย เป็นต้น คุณคิดว่า เป็นโอกาสที่ดีหรือไม่ ที่ไทยควรเข้ามาลงทุนในพม่าตอนนี้

ฉันอยากเห็นการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย คนมักจะพูดว่า การลงทุนจากไทย จากจีน เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  แต่ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลพม่าต้องปกป้องประโยชน์ประชาชนของตัวเอง และทรัพยากรของชาติ เพื่อให้มั่นใจว่า การลงทุนจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในชาติจริงๆ และมีความน่าเชื่อถือในทุกขั้นตอนของการลงทุน ฉันคิดว่าเราควรจะริเริ่มความรับผิดชอบนั้นก่อน

คุณมองผลประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นประชาชนท้องถิ่นอย่างไร

เรื่องนี้มีความเห็นที่ต่างกันไป และมีหลายคนที่บอกว่ามันไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ชีวิตของประชาชนลำบากยิ่งขึ้นในระยะยาว แต่ก็มีคนได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่อ้างว่าการพัฒนาจะดีต่อท้องถิ่น ดังนั้นจึงมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันอยู่ แต่ตัวฉันเองก็ไม่มีโอกาสได้ลงไปสัมผัสสิ่งที่เกิดในพื้นที่

มองชีวิต

จนถึงตอนนี้คุณต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมา 20 ปีแล้ว คุณคิดว่าจะหยุดพักบ้างไหม

ไม่ค่ะ ฉันไม่ได้ต่อสู้คนเดียวนะ เราต่อสู้ร่วมกันมา และยังมีคนอายุ 80 ปีที่ยังคงต่อสู้อยู่ ฉันจะหยุดได้อย่างไร

คุณยังดูมีพลังราวกับคนหนุ่มสาว ต้องทำงานต่อไปได้อีกนานแน่ ๆ

เราทุกคนยังมีกำลังอีกมาก เรามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่ทำให้เราเดินหน้าต่อ

หากมองย้อนกลับไปบนเส้นทางการต่อสู้ที่ผ่านมา 20 ปี คุณคิดว่าคุณได้และสูญเสียอะไรไปบ้าง

ฉันไม่เคยคิดเรื่องได้หรือเสีย  ฉันคิดเพียงแค่ว่า นี่คือสิ่งที่ฉันเลือกจะทำ บางครั้งเราประสบความสำเร็จมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่บางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง แต่ฉันไม่คิดในแง่มุมที่ว่า มันเป็นสิ่งที่ฉันได้รับ หรือสิ่งที่ฉันสูญเสีย

ทุกวันนี้ คุณถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า คุณรู้สึกว่ามีแรงกดดันมากไหม

ฉันคิดว่า คำว่า “สัญลักษณ์” คงไม่เหมาะกับฉัน เพราะฉันไม่คิดว่าตัวเองเป็นสัญลักษณ์ แต่คิดว่าฉันเป็นคนทำงานคนหนึ่ง ฉันอยากให้เรียกว่า “คนทำงานเพื่อประชาธิปไตย” มากกว่า เพราะคำว่าสัญลักษณ์มันเหมือนกับว่าฉันไม่ได้ทำอะไร แค่นั่งเฉยๆอยู่ในตึก ฉันว่าฉันไม่ชอบอย่างนั้นหรอก

ถ้ามองประเทศพม่าจากจุดนี้ คุณอยากเห็นประเทศพม่าเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า

ฉันหวังว่าจะเห็นประเทศพม่าที่ดีกว่านี้ มีเสรีภาพมากกว่า มีความมั่นคงกว่า และมีความก้าวหน้ามากกว่านี้ ตอนนี้ฉันบอกไม่ได้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างนั้นไหม แต่นั่นคือสิ่งที่ฉันพยายามจะทำให้สำเร็จ ฉันอยากเห็นความก้าวหน้า ฉันอยากเห็นประชาชนที่มีความมั่นใจและมีโอกาสมากกว่านี้

 

สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกกล้าหาญคืออะไร

ฉันไม่คิดว่า ฉันกล้าหาญมากมายอะไร คนมักจะพูดถึงฉันเป็นคนกล้าหาญ แต่จริงๆ คือ ฉันค่อยๆ รับมือไปในแต่ละวัน ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามทำในสิ่งที่จิตสำนึกของฉันบอกว่าควรจะทำ

ตอนนี้คุณมีความสุขกับเรื่องอะไรบ้าง

ความสุขของฉันคือ การได้พูดคุยกับลูกชาย ฉันมีเพื่อนที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีเหตุผลมากมายที่คนเราจะมีความสุข ถ้าคุณรู้จักวิธีการมองโลกในสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะมองโลกในแง่ร้ายก็ได้เหมือนกัน สิ่งที่ฉันเรียนรู้ก็คือ เราควรรู้จักมองโลกด้วยความเป็นจริง คุณต้องเข้าใจว่าคุณไม่มีทางเจอแต่เรื่องดีๆ หรือเรื่องร้ายๆ อย่างเดียว มันผสมกันไป คุณต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับมันอย่างไร จะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร ถ้าคุณมีประสบการณ์ที่เลวร้ายก็จงนำมันมาเป็นบทเรียนให้ชีวิตดีขึ้น ให้แข็งแกร่งขึ้น ถ้าคุณมีประสบการณ์ดีๆ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะชื่นชม เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับชีวิตที่เป็นไป

คำถามต่อไปเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนทั่วโลกอยากรู้ คือ คุณทำอย่างไรที่ยังดูอ่อนเยาว์เหมือนอยู่เสมอ เคล็ดลับความงามและสุขภาพที่ดีของคุณคืออะไร  

(หลังฟังคำถาม เธอยิ้มอย่างอารมณ์ดี) ฉันคิดว่า ฉันใช้ชีวิตอย่างมีวินัย และฉันก็ทำสมาธิด้วย ฉันคิดว่าวินัยเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ มีอาหารหลายอย่างที่ฉันชอบ แต่มันไม่ดีต่อสุขภาพนัก ฉันจึงเลือกทานแต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่ฉันชอบ บางทีฉันอาจจะชอบอาหารขยะเหมือนกันนะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้ว ฉันก็ไม่ได้กินอาหารพวกนั้นหรอก

ตอนที่ถูกคุมตัวอยู่ในบ้านพัก ใครเป็นคนทำอาหารให้ทาน

ฉันทำเองบ้าง บางทีก็เพื่อนของฉัน (หมายถึงคนดูแลที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้อยู่ในบ้านเธอระหว่างการกักบริเวณ) แต่ฉันมักจะทำอาหารง่ายๆ จนเบื่อมากที่ต้องกินอาหารเหมือนเดิมๆ ทุกวัน  บางทีเพื่อนของฉันก็พยายามทำอาหารเมนูอื่นให้ทานบ้างเหมือนกัน

มาถึงคำถามสุดท้าย คุณอยากบอกอะไรกับคนไทยบ้าง

ฉันอยากบอกว่า เราเป็นเพื่อนบ้านกัน และเราก็อยากเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และอยากจะทำงานร่วมกันเพื่ออนาคต ในฐานะมิตรประเทศ ในฐานะคนที่เข้าใจกัน และอย่างที่ฉันบอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ทุกวันนี้มีคนพม่ามากมายที่อยู่เมืองไทยในฐานะผู้ลี้ภัย หรือแรงงานต่างด้าว ฉันอยากเห็นว่า สักวันหนึ่ง พม่าจะสามารถให้ความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ภูมิภาคที่ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้พึ่งพิงให้คนอื่นต้องช่วยเหลือ ซึ่งนั่นเป็นคำมั่นของเรา

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save