fbpx
เมื่อภูฏานหันซ้าย ในการเลือกตั้งครั้งที่ 3

เมื่อภูฏานหันซ้าย ในการเลือกตั้งครั้งที่ 3

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

ถ้าพูดถึงภูมิภาคเอเชียใต้ นอกเหนือจากประเทศอินเดียที่คนไทยรู้จักแล้ว ภูฏานคงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่คนไทยหลายคนคุ้นชิน และอยากเดินทางไปเยือนสักครั้ง หลายคนคงคิดว่าภูฏานปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะบทบาทของพระราชวงศ์ที่โดดเด่นในสายตาคนไทย โดยเฉพาะสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเก วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) ซึ่งเสด็จเยือนประเทศไทยอยู่บ่อยๆ นับตั้งแต่พระองค์ยังทรงเป็นองค์รัชทายาท ความที่พระองค์เปรียบเสมือนภาพแทนสายสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและภูฏานนี่เอง อาจทำให้หลายคนเข้าใจระบอบการปกครองของภูฏานผิดไป

ในความเป็นจริง ภูฏานเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นับแต่ปี 2008 มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วสามครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของภูฏานพึ่งมีขึ้นในช่วงระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม 2018 และนับว่าเป็นการเลือกตั้งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่พรรคฝ่ายซ้ายสายสังคมนิยมประชาธิปไตย สามารถขึ้นมาครองอำนาจได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ชัยชนะของพรรคฝ่ายซ้ายและความพ่ายแพ้ของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเก่า สะท้อนพลวัตของการเมืองภูฏานได้อย่างน่าสนใจ คำถามสำคัญมีอยู่ว่า ก้าวย่างและความเป็นไปของภูฏานในอนาคตจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ภายใต้การปกครองของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์ ความขัดแย้ง และการเติบโตของประชาธิปไตยภายใต้ราชวงศ์วังชุก

การก่อตัวเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ของภูฏาน ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียมากนัก เพราะทุกประเทศล้วนประสบสถานการณ์เดียวกัน คือ การเข้ามาของจักรวรรดินิยม ซึ่งทำให้เกิดการขีดเขียนแผนที่และพรมแดนขึ้น อย่างไรก็ตาม ภูฏานเป็นไม่กี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมของใคร โดยอยู่ในสถานะรัฐกันชนระหว่างอังกฤษกับทิเบต ฉะนั้นภูฏานจึงเป็นจุดเชื่อมทางการค้าสำคัญระหว่างสองประเทศ

ราชอาณาจักรภูฏานก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่างชัดเจน เมื่อปฐมกษัตริย์ราชวงศ์วังชุกขึ้นครองราชสมบัติในปี 1907 ภายหลังสยบเจ้าพื้นเมืองเดิมทั้งหมดได้ ภายใต้การสนับสนุนของจักรวรรดิอังกฤษ นับแต่นั้นเป็นต้นมาราชอาณาจักรนี้ก็อยู่ภายใต้การดูแลของอังกฤษ ตราบจนอังกฤษถอนตัวออกไป อินเดียก็เข้ามาทำหน้าที่นี้ทดแทนอย่างไร้รอยต่อ ถึงขั้นที่สนธิสัญญาระหว่างสองประเทศ กำหนดให้อินเดียมีหน้าที่สำคัญในการให้คำปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของภูฏาน

ทั้งอินเดียและภูฏานต่างมีสายสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างแนบแน่น ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังจะเห็นว่า ภูฏานเป็นจุดหมายเยือนลำดับต้นๆ ของนายกรัฐมนตรีอินเดียคนใหม่ที่ขึ้นสู่อำนาจ ในขณะเดียวกัน สมเด็จพระรามาธิบดีแห่งภูฏาน ก็จะเยือนอินเดียในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล สายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้สะท้อนผ่านการอนุญาตให้จัดตั้งกองทัพอินเดีย ตลอดจนการปราบปรามกลุ่มกบฏที่หลบซ่อนในพื้นที่ภูฏานด้วย

ภูฏานพัฒนาเรื่อยมาภายใต้การสนับสนุนของอินเดีย กระทั่งเกิดวิกฤตความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เมื่อชนกลุ่มน้อยชาวเนปาล หรือ โลชามปา (Lhotshampa) เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ และเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ระบอบประชาธิบไตย ผ่านการใช้ความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกันรัฐบาลภูฏานมีการประกาศใช้นโยบายการสร้างชาติและวัฒนธรรม (Driglam Namzha) รวมถึงการปฏิบัติใช้กฎหมายสัญชาติ ส่งผลให้เกิดการผลักดันชนชาติพันธุ์เนปาลออกนอกประเทศ จนเกิดวิกฤตผู้อพยพในภูมิภาค ควรกล่าวด้วยว่า สถานการณ์นี้เกิดขึ้นโดยอยู่ในสายตาอินเดียมาโดยตลอด โดยที่อินเดียแทบไม่แสดงท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ใดๆ ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว

ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ใน 10 กว่าปีถัดมา สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเก วังชุก ตัดสินใจประกาศว่าจะมอบอำนาจให้ประชาชนและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ โดยพระองค์จะสละราชสมบัติและให้องค์รัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ นำมาซึ่งการร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2008 ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมอย่าง Bhutan Peace and Prosperity Party หรือ ในภาษาภูฏาน ว่า Druk Phuensum Tshogpa (DPT) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น และอีกครั้งในปี 2013 ซึ่งพรรคสังคมนิยมอนุรักษ์นิยมอย่าง People’s Democratic Party (PDP) ก็ได้รับชัยชนะ จนมีการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2018

ระบบเลือกตั้งแบบสองพรรคแข่งขัน และความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งปี 2018

เป็นที่น่าสนใจว่า ตลอดช่วงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของภูฏานนั้น มีการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจจากราชวงศ์สู่พลเรือนอย่างราบรื่นปราศจากปัญหาความขัดแย้ง ถึงแม้ว่าสถานะทางอำนาจของราชวงศ์จะยังคงเข้มแข็งกว่าตัวรัฐบาล แต่นั่นก็เป็นผลสำคัญมาจากประชากรจำนวนมากที่อยู่ในประเทศภูฏาน อยู่ในยุคที่ประเทศรุ่งเรืองในสมัยการปกครองของกษัตริย์ บ่อยครั้งเราจึงมักจะเห็นการเรียกร้องการเปลี่ยนกลับสู่ระบอบกษัตริย์อีกครั้งของชาวภูฏาน 

ในแง่นี้ การเปลี่ยนผ่านทางอำนาจจากราชวงศ์สู่พลเรือนอย่างราบรื่น เป็นผลสำคัญจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญของประเทศ ที่มีการแบ่งสรรอำนาจอย่างลงตัวระหว่างราชวงศ์และรัฐบาล ในขณะเดียวกันภูฏานก็ผลักดันการพัฒนาประชาธิปไตยมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ภายใต้การสนับสนุนของอินเดีย 

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยภูฏานคือระบบการเลือกตั้ง ที่นำระบบการหยั่งเสียงมาใช้ กล่าวคือในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของภูฏาน จะมีการเลือกตั้งทั้งสิ้น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะเป็นการรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้ 2 พรรคใหญ่ในการชิงชัยในรอบที่สอง กล่าวคือสุดท้ายแล้วจะมีเพียง 2 พรรคการเมืองที่จะเข้าสู่รัฐสภา และพรรคที่มีเสียงข้างมากก็จะได้จัดตั้งรัฐบาล โดยปัจจุบันที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของภูฏานมีทั้งสิ้น 47 ที่นั่ง

สำหรับการหยั่งเสียงเลือกตั้งรอบแรกในปี 2018 นี้ จัดให้มีขึ้นในวันที่ 15 กันยายน มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 291,098 คน คิดเป็นร้อยละ 66.3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยผลคะแนนเป็นที่น่าสนใจว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย อย่าง Druk Nyamrup Tshogpa (DNT) ซึ่งแพ้เลือกตั้งย่อยยับตั้งแต่การหยั่งเสียงในปี 2013 สามารถขึ้นมามีคะแนนนำสูงสุด ด้วยเสียงสนับสนุนถึง 92,722 เสียง ตามมาด้วยพรรคอนุรักษ์นิยมอย่าง  Druk Phuensum Tshogpa (DPT) ซึ่งได้รับคะแนน 90,020 เสียง และสำหรับอีกสองพรรคที่ไม่สามารถผ่านด่านการหยั่งเสียงเข้าสู่สนามเลือกตั้งใหญ่ได้ คือพรรคของอดีตนายกรัฐมนตรี Tshering Tobgay ซึ่งได้เพียง 79,883 เสียง และพรรค Druk Nyamrup Tshogpa ที่ได้เพียง 28,473 เท่านั้น นี่จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภูฏานที่พรรครัฐบาลไม่สามารถชนะการหยั่งเสียงเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปได้

ลักษณะเช่นนี้สะท้อนภาพความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันยังสะท้อนว่าพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังคงมีอำนาจอยู่ในระดับที่สามารถต่อกรในการเลือกตั้งได้ตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา การผงาดขึ้นมาของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่าง DNT ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจต่อการกำหนดท่าทีความเป็นไปต่อนโยบายภายในประเทศภูฏาน

หยั่งเสียงเลือกตั้งรอบแรกในปี 2018

ทิศทางและก้าวย่างใหม่ของภูฏาน ภายใต้การเมืองหันซ้าย

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2018 ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่าง DNT สามารถกวาดที่นั่งไปได้กว่า 30 ที่ในรัฐสภา ขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยม อย่าง DPT ได้เพียง 17 ที่นั่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพรรคถือว่าประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะต่างได้ที่นั่งเพิ่มจากเดิม

สำหรับ DNT ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ เพราะพรรคมีอายุเพียง 5 ปี เท่านั้น แต่สามารถขึ้นมาเป็นพรรครัฐบาลได้สำเร็จ หลังจากพ่ายแพ้ยับเยินในครั้งก่อน ในขณะที่ DPT เองถึงแม้จะไม่สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้ แต่ก็ได้ที่นั่งเพิ่มจากครั้งก่อน

สำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีผู้ออกไปใช้สิทธิสูงถึง 313,473 คน คิดเป็นร้อยละ 71 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ การที่พรรค DNT สามารถกวาดที่นั่งได้ถึง 30 ที่นั่งนี้ ส่งผลให้นาย Lotay Tshering หัวหน้าพรรค จะขึ้นรั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของภูฏานในเวลาอันใกล้นี้ และนี่ถือเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญของภูฏาน เพราะพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหาเสียงด้วยแนวนโยบายต่างจากพรรคเดิม โดยจะมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง กระจายรายได้ และส่งเสริมรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น

ผลการเลือกตั้งภูฏาน

หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากระหว่างสองพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง คือท่าทีของรัฐบาลภูฏานต่อรัฐบาลอินเดีย ในประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โดยพรรค DPT พยายามนำเสนอการส่งเสริมการลงทุนจากอินเดีย เพื่อสร้างการจ้างงานให้กับประชาชนภายในประเทศ ขณะที่พรรค DNT กลับเห็นในทางตรงกันข้าม เพราะการลงทุนในโครงการดังกล่าวจำนวนมาก จะส่งผลให้ภูฏานพึ่งพิงงบประมาณจากอินเดียมหาศาล และจะประสบปัญหาหนี้สาธารณะได้ในอนาคต

นอกเหนือจากนโยบายเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่เป็นประเด็นใหญ่ในการเลือกตั้งแล้ว เรื่องแนวนโยบายประชานิยมที่ DNT พยายามขาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Free Wifi ทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัลใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งนโยบายสวัสดิการรักษาพยาบาลทั่วประเทศ ล้วนแต่ถูกมองว่าพรรคใช้เพื่อขายฝันมากกว่าจะทำได้จริง เนื่องจากงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดของประเทศ

สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปคือ เมื่อภูฏานเริ่มหันซ้าย จะมีความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต่ออินเดียอย่างไรบ้าง เพราะดูทีท่าว่า DNT ไม่ค่อยเป็นปลื้มอินเดียสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของประเทศที่ถีบตัวสูงขึ้น จากการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำผ่านเงินกู้ของอินเดีย

แม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่ภูฏานถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของอินเดีย คำถามสำคัญสำหรับการเมืองในภูมิภาคคือ ภูฏานจะยังเลือกข้างและมองอินเดียเป็นพันธมิตรหลักพันธมิตรเดียวเหมือนที่เคยเป็นมาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่การเมืองระหว่างอินเดียและจีนยังคงมีทีท่าว่าจะปะทุอยู่เนืองๆ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save