fbpx
ประเทศไทยยุคประชาชนสุขสันต์หน้าใส กบฏปี พ.ศ. 2476 กลายเป็นฮีโร่ของกองทัพ

ประเทศไทยยุคประชาชนสุขสันต์หน้าใส กบฏปี พ.ศ. 2476 กลายเป็นฮีโร่ของกองทัพ

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

คงไม่ได้มีแค่เพียงรายการช่องส่องผีเท่านั้นที่ทำมาหารับประทาน

แต่ความเชื่อ ความกลัว และความงมงาย ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาอำนาจรัฐ ดำรงสถานภาพทางสังคมของกลุ่มชนชั้นนำและผู้ปกครอง

ฌอน บูรณะหิรัญ ก็แค่ไลฟ์โค้ชกำมะลอตัวเล็กๆ เท่านั้นเอง เมื่อเปรียบเทียบกับใครอีกหลายคนที่ทำตัวเสมือนเป็นไลฟ์โค้ช เที่ยวอบรมสั่งสอนประชาชนคนทั้งประเทศ

เรื่องทรัพย์สินเงินบริจาคยิ่งมิพักพูดถึง

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่เหตุใด ทำไม 88 ปีแล้วนับแต่คณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหวังที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่สังคมประชาธิปไตยเช่นนานาอารยประเทศ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไปไม่ถึงไหน

ถอยหลังถลำลึกเข้ารกเข้าพงทุกขณะ

นับวันระบอบกึ่งเผด็จการทหารกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะได้สำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้ผู้อยู่ภายใต้การปกครองได้ประจักษ์สายตา ไม่ว่าจะเป็นความพยายามปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งแข่งกับรายการช่องส่องผี การสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวขึ้นมากำราบ ทำให้ประชาชนเชื่อง

โดยผู้คนได้แต่อดทน อดกลั้น และทนอด

อย่าว่าแต่จะเรียกร้องวิงวอนให้สืบสาวราวเรื่องการอุ้มฆ่า-อุ้มหายพี่น้องประชาชน เพื่อนร่วมชาติหลายคนซึ่งมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างไปจากกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมและผู้ปกครองซึ่งกุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน โดยคนเหล่านั้นอุตส่าห์หลบลี้หนีภัยไปเคลื่อนไหวต่อสู้ตามประสายถากรรมอยู่ในประเทศใกล้เคียง แต่ไม่วายต้องพบจุดจบอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตผิดวิสัยของมนุษย์ซึ่งมีสภาพจิตใจปกติกระทำกัน

ไม่ว่าจะเป็นนายสุรชัย แซ่ด่าน, นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือล่าสุดคือนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

เพราะแม้แต่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศแท้ๆ ยังมีปรากฏการณ์ให้ผู้คนได้ร้องเหวอกับเรื่องราวที่ก่อนหน้านี้คงไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะเกิดขึ้นได้

มีอย่างที่ไหน ถึงวันนี้ เป็นระยะเวลาสามปีเศษแล้วนับแต่ต้นเดือนเมษายน ปีพุทธศักราช 2560 ที่หมุดคณะราษฎร ซึ่งมีข้อความจารึกว่า “24มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ตากแดดตากฝน ฝังอยู่กลางลานพระบรมรูปทรงม้า มากว่า 80 ปี ได้เกิดอันตรธานล่องหนหายไปอย่างลึกลับ โดยที่ไม่สามารถจับมือใครดมได้

ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ทั้งๆ ที่พื้นที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพระราชฐาน กลางลานโล่งแจ้ง

แต่ก็นั่นละ จะว่าไปภายใต้ระบอบปกครองกึ่งเผด็จการทหารกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นทุกวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ความวิปริตผิดเพี้ยนดูจะเป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองและชนชั้นนำต่างแสดงความชื่นชมนิยมยกย่อง

หมุดคณะราษฎรถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอุดมการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทย ด้วยเป็นจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านประกาศคณะราษฎร เมื่อ 88 ปีก่อน มีความว่า

“…ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม…

…ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง…

…เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหารและพลเรือนที่ได้รู้เท่าถึงการกระทำอันขั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้วจึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภาได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นคณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้ขออัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไปแต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้…”

เป็นการปฏิวัติยึดอำนาจของกษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการปกครองโดยเจ้าเหนือหัว มาเป็นการปกครองโดยราษฎร ภายใต้รัฐธรรมนูญ

และมิใช่เพียงแค่ย่องเบา ลักขโมย ลักลอบขุดเอาหมุดคณะราษฎรไปเท่านั้น แต่คนร้ายหรือคนดีซึ่งไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด ยังใจเย็นเทคอนกรีต ฝังหมุดใหม่ลงไปแทนที่ มีข้อความจารึกเอาไว้ว่า

“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

หลังจากนั้นไม่ช้าไม่นาน ปลายปี พ.ศ. 2561 มีกลุ่มคนกระมิดกระเมี้ยนเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันติดปากว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งก่อสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ปราบปรามกบฏบวรเดช เมื่อปี พ.ศ. 2476 อันเป็นการก่อกบฏครั้งแรกภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียงปีเดียว โดยเป็นความพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ของฝ่ายนิยมเจ้า นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

จนกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้เลยว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏล่องหนหายไปไหนหลังจากตั้งประดิษฐานอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่มาเป็นเวลานานกว่า 80 ปี

ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 สื่อมวลชนรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพบก และเป็นประธานเปิดอาคารที่กองทัพบกยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ทำการปรับปรุงและตั้งชื่อว่าอาคารศรีสิทธิสงคราม อันมาจากนามของ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ของฝ่ายกบฏบวรเดช และเสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาล

ตามมาด้วยข่าวการย้ายอนุสาวรีย์ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อค่ายพหลพลพยุหเสนา และค่ายพิบูลสงคราม ฯลฯ

แม้กระทั่ง 2475 ยังเป็นตัวเลขแสลงใจใครบางคน ถึงกับแสดงความชิงชังรังเกียจออกมาให้เห็นในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

ย่ามใจ อหังการกันถึงขนาดออกเอกสารข่าวเผยแพร่ มีความว่า

“วันนี้ (24 มิถุนายน 2563) เวลา 15.00 น. ณ กองบัญชาการกองทัพบก พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนกองทัพบก เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย

ปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า คณะราษฎร ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์ ครั้น พ.ศ. 2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475

โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า ‘กบฏบวรเดช’ เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ โดยเรียกร้องให้ รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้คณะราษฎรกลายเป็นคณะเผด็จการ

แต่ในที่สุดการก่อกบฏไม่เป็นผลฝ่ายรัฐบาลปราบปรามคณะกบฏลงได้ วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แผนกแถลงข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพบก

24 มิถุนายน 2563”

 

ลำพังเลือกทำบุญ และออกเอกสารข่าวกันในวันที่ 24 มิถุนายนก็เป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจได้ เพราะรู้อยู่ว่าวันนี้ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่างพากันรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองโดยราษฎร บนพื้นฐานหลักการที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนคุณูปการของคณะราษฎร

ยิ่งเนื้อหาสาระด้วยแล้ว ยิ่งเลอะเทอะไปกันใหญ่

สร้างความสับสนให้แก่ยุวชนคนรุ่นหลังกับความพยายามที่จะปู้ยี่ปู้ยำชำเราประวัติศาสตร์ไม่พอ ยังเท่ากับเป็นการลากพากองทัพออกมาเผชิญหน้ากับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอีกด้วย

เป็นไปได้อย่างไรที่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจนได้มาซึ่งประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2475 ถูกกล่าวหาว่าเป็นการทำรัฐประหารเพื่อล้มล้างราชบัลลังก์ ส่วนกบฏนิยมเจ้า ซึ่งพยายามล้มล้างรัฐบาลที่มาตามรัฐธรรมนูญเมื่อ 85 ปีก่อนกลับได้รับการยกย่องเป็นฮีโร่ ผู้ประกอบวีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละไปเสียฉิบ

น่าเสียดายที่เอกสารข่าวกองทัพบกมิได้พูดถึงบรรพชน อย่าง พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมถึงทหาร 17 ชีวิตที่ต้องสูญเสียจากการสู้รบกับฝ่ายกบฏที่กลับกลายมาเป็นวีรชนผู้กล้าในวันนี้ว่ามีคุณค่าอยู่ในสถานะใด

อาจจะเป็นพวกล้มเจ้าเหมือนเช่นที่มักชอบกล่าวหาใครในปัจจุบันก็เป็นได้

มิน่าเล่า อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งจารึกชื่อทหารทั้ง 17 นายเพื่อรำลึกถึงการปราบกบฏในครั้งนั้นจึงถูกเคลื่อนย้าย อันตรธานหายไปโดยปราศจากร่องรอย

เกียรติภูมิของคณะราษฏรและผู้นำก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 ถูกลบล้างทำลาย

ข้อเท็จจริงทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น หากพูดจาประสาตำรวจ ร่องรอย แผนประทุษกรรมชัดเจนว่าคนร้ายเป็นใคร ผู้ใดบงการอยู่เบื้องหลัง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save