fbpx

ปัญหาชิปขาดตลาด ผลสะเทือนต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก

ประเด็นร้อนเรื่องหนึ่งของปี 2021 คือปัญหาขาดแคลนชิป ที่ตอนแรกเริ่มต้นจากการเป็นปัญหาเฉพาะในอุตสาหกรรมไอทีเพียงอย่างเดียว แต่ภายหลังก็ลามมายังธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ (เช่น บริษัทรถยนต์ต้องหยุดเดินสายการผลิต เพราะมีชิปไม่พอใช้งาน) จนกลายมาเป็นประเด็นระดับโลกที่ผู้นำชาติมหาอำนาจต้องออกมาพูดถึง เพราะส่งผลสะเทือนต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกเลยทีเดียว

ปัญหาชิปขาดตลาดมีรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อน การจะทำความเข้าใจว่าชิปตัวเล็กๆ ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกได้อย่างไร ต้องเข้าใจถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เสียก่อน

ทำไมชิปถึงขาดตลาด

ปัญหาชิปขาดตลาดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งสาเหตุไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงข้อเดียว แต่เกิดจากหลายปัจจัยที่บังเอิญเกิดขึ้นมาพร้อมกัน ได้แก่

  • เทคโนโลยีการผลิตชิปมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ – ขนาดของกระบวนการผลิต (process) ที่เล็กลงสู่ระดับนาโนเมตร และกำลังจะเข้าสู่ระดับอังสตรอม ทำให้มีต้นทุนเครื่องจักรและโรงงานที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มีการประเมินกันว่าโรงงานชิปที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมีต้นทุนราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อโรงงาน ส่งผลให้บริษัทที่พร้อมลงทุนสร้างโรงงานมีจำนวนลดลง
  • ความต้องการใช้ชิปกว้างขวางขึ้นจากในอดีต – จากเดิมที่ใช้กันในเฉพาะอุตสาหกรรมไอที (คอมพิวเตอร์ + สมาร์ตโฟน) ก็ขยายมาสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านยุคสมาร์ตโฮม เครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ ไปจนถึงเครื่องยนต์เครื่องบิน และเป็นเหตุให้ฐานลูกค้าที่ต้องการซื้อชิปประมวลผลมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
  • การสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในช่วงโควิด – ถึงแม้นี่จะเป็นปัญหาชั่วคราว แต่ส่งผลให้โรงงานผลิตชิปและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้องหยุดชะงัก มีกำลังการผลิตน้อยลง หรืออาจพยากรณ์ความต้องการสั่งซื้อชิปผิดพลาดไป ขณะที่การกลับมาเดินสายการผลิต ตลอดจนสั่งซื้อวัตถุดิบในภายหลัง ก็ไม่สามารถปรับกำลังการผลิตให้กลับมาได้เร็วนัก
  • การกว้านซื้อชิปล็อตใหญ่ไว้ล่วงหน้า – โดยเฉพาะหลังจากที่ Huawei ถูกสหรัฐอเมริกาสั่งแบนการทำธุรกิจ ส่งผลให้บริษัทฮาร์ดแวร์จีนรายอื่นๆ พยายามกักตุนชิปเหล่านี้ไว้ เพื่อการันตีว่าจะยังสามารถผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ หากเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขึ้นอีก
  • อุปสรรคระยะสั้นอื่นๆ เช่น ภัยแล้งในไต้หวันช่วงฤดูร้อนปี 2021 ทำให้อุตสาหกรรมผลิตชิปที่ใช้น้ำเป็นปริมาณมากต้องหยุดชะงัก, เหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ เมืองคุมาโมโตะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางผลิตชิปในญี่ปุ่น, โรงงาน Renesas ของญี่ปุ่นไฟไหม้จนต้องหยุดสายการผลิตหลายเดือน เป็นต้น

เมื่อปัจจัยต่างๆ ข้างต้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน จึงทำให้สถานการณ์ของธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์เกิดปัญหามีอุปทานน้อยกว่าอุปสงค์ และส่งผลกระทบไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่สำคัญนี่ถือเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนสำคัญของวงการเซมิคอนดักเตอร์ ว่าศูนย์กลางการผลิตกระจุกตัวอยู่ที่เอเชียเพียงแห่งเดียว

ย้อนรอยธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์
การย้ายศูนย์กลางจาก ‘อเมริกา’ สู่ ‘เอเชีย’

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยบริษัทผู้ผลิตชิปยุคแรกๆ อย่าง FairChild Semiconductor หรือ Intel ก่อตั้งบริษัทในช่วงทศวรรษ 1950s-1960s ในแถบรัฐแคลิฟอร์เนีย ทางชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา (และทำให้เกิดคำเรียก Silicon Valley ขึ้นมาตั้งแต่ยุคนั้น)

ในช่วงแรกบริษัทสัญชาติอเมริกันถือเป็นผู้นำในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ เช่น บริษัทอย่าง Intel, AMD, Motorola, Qualcomm, Broadcomm, Texas Instrument และ IBM ล้วนเป็นบริษัทแถวหน้าของวงการ ก่อนที่ในทศวรรษ 1970s บริษัทอเมริกันเริ่มถูกท้าทายโดยบริษัทฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Sony, Sharp, Toshiba, Panasonic และ Renesas ที่สามารถผลิตชิปลักษณะเดียวกันในราคาที่ถูกกว่า แต่ในแง่ของการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี บริษัทอเมริกันก็ยังคงครองความเป็นผู้นำได้ตลอดมา

เดิมที บริษัทเซมิคอนดักเตอร์แทบทุกรายต่างมีโรงงานผลิตชิปเป็นของตัวเอง และถือเป็นความได้เปรียบในแง่การแข่งขันด้วย เพราะบริษัทสามารถออกแบบชิปที่มีประสิทธิภาพสูงและผลิตออกมาขายสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ความลับทางการค้าไม่รั่วไหล ซึ่งบริษัทกลุ่มนี้มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า integrated device manufacturer (IDM) 

แต่ด้วยกระแส outsourcing และ offshoring ที่เริ่มขึ้นในทศวรรษ 2000s ก็ทำให้เราเห็นบริษัท ‘รับจ้างผลิตชิปอย่างเดียว’ เกิดขึ้นในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในไต้หวัน ที่มีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) เป็นหัวหอก ขณะที่ฝั่งเกาหลีใต้ก็มีบริษัท Samsung Semiconductor เป็นผู้นำ บริษัทกลุ่มนี้เรียกว่าเป็น pure-play เพราะมีแต่โรงงานล้วนๆ และรับจ้างผลิตตามคำสั่งเท่านั้น ไม่คิดผลิตชิปของตัวเองมาขายแข่งกับลูกค้า (มีข้อยกเว้นในกรณีของ Samsung ที่มีทั้งรับจ้างผลิตและผลิตใช้เองด้วย แต่บริษัทอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ทำชิปเองเลยแม้แต่น้อย)

ในช่วงแรก โรงงานรับจ้างผลิตชิปฝั่งเอเชียถือเป็นโรงงานราคาถูก รับจ้างผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนัก ใช้กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน มูลค่าต่ำ กำไรบาง ซึ่งเป็นงานที่บริษัทชิปในโลกตะวันตกไม่สนใจทำ เพราะมองว่าไม่คุ้ม บริษัทแถวหน้าอย่าง Intel ยังครอบครองโรงงานผลิตชิปที่ดีที่สุด เพื่อใช้ผลิตชิปประมวลผล (CPU) ของตัวเองเท่านั้น ไม่รับผลิตให้บริษัทอื่น

การเกิดขึ้นของโรงงานรับจ้างผลิตแบบ TSMC เป็นช่องว่างให้เกิดบริษัทชิปรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะจากฝั่งอเมริกัน ที่ใช้โมเดลใหม่คือออกแบบชิปอย่างเดียว ไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง แล้วจ้างโรงงานอย่าง TSMC หรือ Samsung ช่วยผลิตให้แทน จุดเด่นของโมเดลใหม่คือประหยัด ไม่ต้องลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานของตัวเอง มีแค่วิศวกรเก่งๆ หลายสิบคนก็เพียงพอต่อการพัฒนาชิปออกมาขายแล้ว บริษัทออกแบบชิปกลุ่มนี้มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า ‘fabless’ ซึ่งแปลว่าการไม่มีโรงงาน (fabrication) ตัวอย่างบริษัทที่โดดเด่นคือ บริษัท NVIDIA ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1993 บริษัทที่เติบโตมากับตลาดชิปประมวลผลกราฟิก (GPU) ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ในยุคนั้น

การจับคู่ของบริษัทกลุ่มรับจ้างผลิต (pure-play) และบริษัทออกแบบ (fabless) กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะฝั่งบริษัทออกแบบก็ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานเอง สามารถโฟกัสเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนบริษัทรับจ้างผลิตก็สามารถทำ pool order รับคำสั่งซื้อจากบริษัทออกแบบหลายแห่ง ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale)

เมื่อโรงงานผลิตชิปมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เช่น เครื่องจักรที่ใช้ยิงเลเซอร์ต้องมีความแม่นยำสูงขึ้น ซึ่งมีราคากว่าเครื่องละร้อยล้านดอลลาร์ เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทอเมริกันที่เคยใช้โมเดล IDM เริ่มแบกต้นทุนไม่ไหว จนในท้ายที่สุดก็ต้องขายธุรกิจโรงงานผลิตชิปออกไป ตัวอย่างคือ AMD แยกธุรกิจโรงงานออกไปเมื่อปี 2009 (ปัจจุบันใช้ชื่อ GlobalFoundries หรือ GF มีบริษัทลงทุนของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือหุ้น 100%) และ IBM ก็ขายธุรกิจโรงงานของตัวเองให้ GF ในปี 2014 และออกจากธุรกิจนี้ไปเช่นกัน

ในทางตรงข้าม บริษัทรับจ้างผลิตกลับได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ทำให้สามารถแบกรับต้นทุนการสร้างโรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่มีราคาแพงขึ้นได้ บริษัทอย่าง TSMC รับคำสั่งซื้อจากทั้ง NVIDIA, Apple, AMD, Qualcomm หรือ Samsung ที่รับผลิตชิปให้ IBM และ Google ทำให้ TSMC หรือ Samsung มีปริมาณออเดอร์มากพอที่จะคุ้มค่ากับการลงทุนในโรงงาน แถมยังมีกำไรเหลือพอที่จะไปสร้างโรงงานรุ่นใหม่ๆ ต่อไป

ความสำเร็จของโมเดล pure-play ทำให้ปัจจุบัน TSMC และ Samsung กลายเป็นผู้ผลิตชิปที่มีเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้าที่สุดในโลก สามารถผลิตชิประดับ 5 นาโนเมตรได้แล้ว และกำลังจะก้าวสู่ระดับ 3 นาโนเมตรในเร็วๆ นี้ แซงหน้าบริษัทโมเดลเก่าอย่าง Intel ที่ยังติดอยู่ที่ระดับ 10 นาโนเมตรเท่านั้น

ปัญหาของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทุกอย่างกระจุกตัวที่เอเชีย

ปัจจุบัน เรามีบริษัทที่มีโรงงานผลิตชิประดับแถวหน้าของโลกเพียงไม่กี่ราย โดยระดับสูงสุดของพีระมิดคือ TSMC (ไต้หวัน) และ Samsung (เกาหลีใต้) ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตระดับ 5 นาโนเมตร

อันดับสามตามมาด้วยบริษัทอเมริกันเพียงหนึ่งเดียวคือ Intel ที่มีเทคโนโลยีการผลิตระดับ 10 นาโนเมตร ส่วนอันดับสี่คือ GlobalFoundries ประกาศถอดใจไม่แข่งขันด้วยแล้ว และขออยู่ที่ 14 นาโนเมตร รับจ้างผลิตชิประดับรองๆ ลงไป แทนการทุ่มทุนแข่งกับกลุ่มท็อป

ส่วนบริษัทอื่นที่ยังแข่งขันได้ในระดับโลกคือ United Microelectronics Corporation (UMC) เบอร์สองของไต้หวัน และ Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) ที่มีรัฐบาลจีนถือหุ้นอยู่ ทั้งสองรายมีเทคโนโลยีการผลิตระดับ 14 นาโนเมตรเท่ากัน

เมื่อบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่เหลือเพียงไม่กี่ราย ทำเลที่ตั้งโรงงานจึงกระจุกตัวตามสัญชาติของบริษัทแม่ไปด้วย หากลองดูทำเลที่ตั้งโรงงานผลิตชิปของบริษัททั้ง 6 รายข้างต้น มีรายละเอียดดังนี้

  • TSMC โรงงานเกือบทั้งหมดอยู่ในไต้หวัน มีโรงงานที่อยู่นอกไต้หวันเช่นที่ รัฐวอชิงตัน (สหรัฐฯ) และ นานจิง-เซี่ยงไฮ้ (จีน)
  • Samsung โรงงานเกือบทั้งหมดอยู่ในเกาหลีใต้ มีโรงงานนอกเกาหลีใต้ที่ เมืองออสติน (สหรัฐฯ) และ ซีอาน-ซูโจว (จีน)
  • Intel โรงงานเกือบทั้งหมดอยู่ในสหรัฐอเมริกา มีโรงงานอื่นที่ไอร์แลนด์ อิสราเอล และต้าเหลียน (จีน)
  • GlobalFoundries ฐานหลักเป็นโรงงานในสหรัฐฯ ของ AMD/IBM เดิม และมีโรงงานอื่นๆ ที่เยอรมนีและสิงคโปร์
  • UMC โรงงานหลักอยู่ที่ไต้หวัน มีโรงงานอื่นที่ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์
  • SMIC โรงงานทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน (ปักกิ่ง เทียนจิน เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้)

จะเห็นว่าโรงงานผลิตชิปชั้นนำของโลก กระจุกตัวอยู่ใน 3 ประเทศเท่านั้นคือ ไต้หวัน จีน สหรัฐฯ โดยโรงงานที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่ไต้หวัน (TSMC) และเกาหลีใต้ (Samsung)

เมื่อสายสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลดระดับลง นับตั้งแต่รัฐบาลทรัมป์เป็นต้นมา เกิดทั้งสงครามการค้า การจารกรรมทางเทคโนโลยี และความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ส่งผลให้ปัจจัยความเสี่ยงเรื่อง supply chain ของชิปจึงกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในหมู่ผู้นำชาติตะวันตกทันที

ภูมิรัฐศาสตร์ของชิปดึงโรงงานกลับแผ่นดินอเมริกา

ผู้นำสายเหยี่ยวของสหรัฐฯ และยุโรปได้รับคำเตือนเรื่องการจารกรรมไซเบอร์มานานแล้ว และเมื่อเกิดเหตุการณ์การแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ใหญ่ๆ ของภาคเอกชนสหรัฐฯ หลายครั้ง (ที่เชื่อว่าเป็นผลงานของแฮ็กเกอร์จีนและรัสเซีย) ก็ทำให้ผู้นำชาติตะวันตกมีความกังวลอย่างมาก

รูปแบบหนึ่งของการจู่โจมที่เคยเกิดขึ้นคือการโจมตีที่ระบบ supply chain ตัวอย่างคือบริษัทผู้ผลิตชิปถูก ‘ยัดไส้’ ช่องโหว่บางอย่างในกระบวนการผลิตชิป เมื่อชิปถูกนำไปใช้งานในอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์หรือเราเตอร์ ก็อาจถูกล้วงข้อมูลผ่าน ‘ประตูหลัง’ (backdoor) ลักษณะนี้ได้

ลองคิดว่าถ้าเราเตอร์เหล่านี้ถูกนำไปวางในทำเนียบขาวหรือเพนตากอน ข้อมูลสำคัญด้านความมั่นคงย่อมถูกจารกรรมออกไปโดยง่าย

ฐานคิดเหล่านี้ทำให้สายเหยี่ยวในรัฐบาลทรัมป์ เปิดฉากสงครามการค้าต่อบริษัทจีนอย่าง Huawei และ ZTE ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก และลากพันธมิตรสาย NATO มาร่วมแบนสินค้าจาก Huawei ในโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศของตัวเอง ถึงแม้เราไม่เคยเห็นหลักฐานชี้ชัดว่า Huawei วางช่องโหว่เหล่านี้ไว้จริง แต่เหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของฝ่ายความมั่นคงชาติตะวันตกได้เป็นอย่างดี

พอมาถึงยุคของรัฐบาลไบเดน แม้สงครามการค้ากับจีนจะผ่อนคลายความร้อนแรงลงบ้าง แต่วิธีคิดเรื่อง ‘ชิปต้องผลิตบนแผ่นดินอเมริกาเท่านั้น’ ยังคงอยู่ ปัจจัยความเสี่ยงทั้งการจารกรรมข้อมูลใน supply chain และการการันตีจำนวนชิปที่อเมริกาควรผลิตได้เอง ‘หากเกิดกรณีที่จีนบุกไต้หวัน’ ทำให้นโยบายการนำโรงงานผลิตชิปกลับสู่แผ่นดินอเมริกากลายเป็นนโยบายสำคัญของไบเดน

ซึ่งการนำโรงงานผลิตชิปกลับมาตั้งบนแผ่นดินอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ supply chain ย้ายออกจากสหรัฐฯ ไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงโรงงานของ Intel เท่านั้นที่ยังอยู่ แถมการผลิตชิปหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯ ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนค่าแรงที่สูงกว่าฝั่งเอเชีย ทำให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ๆ อย่าง Apple ยังไม่ยอมตกปากรับคำทำตาม แม้ประธานาธิบดีทรัมป์เคยร้องขอ ส่วนบริษัทเอเชียทั้ง TSMC และ Samsung แม้มีโรงงานตั้งอยู่ในสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ใช่โรงงานที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งสงวนไว้เฉพาะในไต้หวันและเกาหลีใต้

ทางออกที่เหลืออยู่จึงเป็นการอุดหนุนโดยงบประมาณของรัฐ เพื่อจูงใจให้โรงงานผลิตชิปกลับมาอยู่ในอเมริกา รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคไบเดนได้เสนอกฎหมายชื่อ ‘CHIPS Act’ ซึ่งใช้งบประมาณราวๆ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.7 ล้านล้านบาท) สนับสนุนการตั้งสถาบันวิจัย ออกแบบ และผลิตชิปในสหรัฐฯ สถานะของกฎหมาย ณ เวลานี้ผ่านวุฒิสภาแล้ว เหลือแค่ในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหานัก เพราะทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างมีฉันทามติในเรื่องนี้ร่วมกัน

ขณะที่ประเทศในฝั่งยุโรปตะวันตกก็มีมุมมองแบบเดียวกับสหรัฐฯ โดยผู้นำหลายประเทศ เช่น ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครอง เพิ่งออกมาพูดถึงนโยบายการสร้างซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์บนแผ่นดินฝรั่งเศส, ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) พูดถึงการออกกฎหมาย CHIPS Act ของยุโรปในสุนทรพจน์ State of the Union ประจำปีต่อรัฐสภา เป็นต้น

แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ขยับตัวในเรื่องนี้เช่นกัน ในอดีตญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศที่ผลิตชิปได้เอง แต่ความสามารถในการแข่งขันกลับลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้บริษัทผู้ผลิตชิปของญี่ปุ่นสามารถผลิตได้เฉพาะชิประดับรองๆ อย่าง ไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งไม่ใช่ชิปทันสมัยที่สุดอย่าง ซีพียู ที่ใช้ในสมาร์ตโฟน ล่าสุดญี่ปุ่นจึงเดินหน้าเจรจากับ TSMC แบบเงียบๆ และสามารถดึงให้ TSMC ไปตั้งโรงงานที่เมืองคุมาโมโตะได้แล้ว (ถือเป็นโรงงานแห่งแรกของ TSMC ที่อยู่นอกไต้หวัน จีน สหรัฐฯ) แม้จะยังไม่ใช่โรงงานที่ทันสมัยที่สุดของ TSMC ก็ตาม

บริษัทที่ได้เปรียบจากสถานการณ์นี้มากที่สุดเห็นทีจะเป็น Intel ในฐานะบริษัทอเมริกันรายสุดท้ายที่มีโรงงานผลิตชิปของตัวเอง การเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันย่อมได้รับความไว้วางใจจากผู้นำชาติตะวันตกมากกว่าบริษัทจีน ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ ทำให้ Pat Gelsinger ซีอีโอของ Intel ออกมารับลูกนโยบายของไบเดนเป็นอย่างดี แถมยังประกาศตั้งโรงงานผลิตชิปในยุโรป และออกเดินสายพบผู้นำชาติยุโรปเพื่อเจรจาหาข้อสนับสนุนทางภาษีและเงินงบประมาณที่ดีที่สุด

เพราะเขารู้ดีว่าทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีต่างอยากได้โรงงานผลิตชิปใจจะขาดอยู่แล้ว

การรับมือของจีน ต้องจับตาระยะยาว

สำหรับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมผลิตชิป ดูเหมือนว่าทุกคนจะดูมีศัตรูร่วมกันคือจีน แต่ต้องบอกก่อนว่าเราต้องแยกกันในส่วนของรัฐบาลจีน ที่อาจเป็นภัยคุกคามทางทหารต่อไต้หวัน หรือการจารกรรมซัพพลายเชน และภาคเอกชนจีนในฐานะผู้ผลิตชิปที่แข่งขันในตลาด

รัฐบาลจีนอาจเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่น่ากลัวในสายตาโลกตะวันตก แต่มาถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีการผลิตชิปของจีนยังสู้ไต้หวันและเกาหลีใต้ไม่ได้ บริษัทแถวหน้าของจีนคือ SMIC ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะวิ่งตาม TSMC ทัน แถมระดับยังพอทัดเทียมกับ UMC ที่เป็นเบอร์สองของไต้หวันเท่านั้น ฉะนั้นในระยะสั้นเราคงไม่เห็นการแข่งขันจาก ‘ชิปจีน’ สักเท่าไรนัก

มิหนำซ้ำ SMIC ยังไม่สามารถใช้ท่ารับคำสั่งซื้อจากบริษัททั่วโลกแบบเดียวกับ TSMC ได้ง่ายนัก เพราะสงครามการค้าที่รุนแรง ทำให้บริษัทออกแบบชิปสัญชาติตะวันตก เช่น Qualcomm, Broadcom และ Texas Instruments ที่เคยเป็นลูกค้าของ SMIC เริ่มมีความไว้วางใจจีนน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ (ล่าสุด Qualcomm ประกาศตัวเป็นลูกค้าของ Intel ที่หันมาเปิดรับจ้างผลิตชิปจากบริษัทอื่นด้วย)

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้ว บริษัทอย่าง SMIC กลับน่าสนใจมาก เพราะเหตุการณ์สหรัฐฯ แบน Huawei ถือเป็น ‘Sputnik moment’ ของคนจีนทั้งประเทศ และส่งผลให้รัฐบาลจีนหันมาทุ่มเรื่องการวิจัยเทคโนโลยีครั้งใหญ่ เพื่อรักษาเอกราชของชาติในทางเทคโนโลยีไว้ให้ได้ ในระยะยาวอีก 5-10 ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นบริษัทเทคโนโลยีจีนหลายๆ รายหันมาออกแบบชิปเอง และจ้างโรงงานภายในประเทศจีนอย่าง SMIC ผลิตชิปให้ เรียกได้ว่าสินค้าทั้งตัวทำในจีนทั้งหมด ซึ่งน่าจะแข่งขันกับโลกตะวันตกได้ในระยะยาว

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสงครามชิประดับโลก

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าสงครามชิประดับโลกเป็นเวทีของยักษ์ใหญ่ เพราะต้องใช้เทคโนโลยีระดับก้าวหน้าที่สุด ใช้เงินลงทุนมหาศาล มีเพียงไม่กี่บริษัทและไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ทำได้

ในยุคที่ประเทศใหญ่ๆ แย่งชิงโรงงานผลิตชิประดับก้าวหน้าที่สุด สมรภูมิอยู่ที่เอเชียตะวันออก สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก ทุกประเทศพร้อมทุ่มเงินมหาศาลจูงใจบริษัทชิปให้มาตั้งโรงงาน คงไม่มีทางที่ประเทศไทยจะกลายเป็นตัวเลือกได้

แต่หากดูที่ตั้งของโรงงานผลิตชิปให้ดีๆ จะเห็นว่าสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่มีโรงงานผลิตชิปอยู่บ้างเหมือนกัน ประเทศไทยอาจอาศัยจังหวะที่บริษัทฝั่งเอเชีย (เช่น TSMC หรือ UMC) อยากกระจายความเสี่ยงของตัวเองออกจากสงครามการค้า ชักชวนให้ดึงโรงงานผลิตชิประดับรองลงไป ใช้เทคโนโลยีไม่ต้องสูงนัก มาตั้งที่ประเทศไทย ในลักษณะเดียวกับญี่ปุ่นที่ชักชวน TSMC ให้ไปตั้งโรงงานที่เมืองคุมาโมโตะ ก็พอมีความเป็นไปได้เช่นกัน แม้ต้องแข่งขันกับสิงคโปร์หรือเวียดนามก็ตามที

แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนหน้านั้นคือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความพร้อม เพื่อป้อนเข้าทำงานในโรงงานผลิตชิปเหล่านี้ การดึงบริษัทผลิตชิปมาตั้งศูนย์วิจัยในไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยบางแห่ง อาจเป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะเริ่มต้น ตามด้วยการประกาศนโยบายและการเจรจาระดับรัฐต่อรัฐ โดยรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เพียงพอ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save