แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง
เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่การเมืองไทยอยู่ในภาวะของการแบ่งฝักฝ่ายอย่างชัดเจน ความพยายามในการแข่งขันแย่งชิงอำนาจนำได้ทำให้ตัวแปรอย่างประชาชนตระหนักถึงเสียงของตนในการต่อรองมากขึ้น เมื่อสมการแบบเก่าไม่สามารถรักษาสมดุลได้ ภูมิทัศน์ของสังคมก็เปลี่ยนแปลงกลายเป็นทัศนียภาพแปลกตา อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น และมีผู้คนมากมายได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการมองเห็นและไม่เห็น
นอกเหนือไปจากงานวิชาการและสารคดี วิกฤตการเมืองไทยอันยาวนานนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้วรรณกรรมและงานศิลปะนานาประเภท นิยายภาพ (graphic novel) เรื่อง ตาสว่าง (IL RE DI BANGKOK) ที่เป็นผลงานร่วมกันระหว่างเคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) นักมานุษยวิทยาผู้สนใจการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทยผ่านการศึกษาเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพ กับเคียรา นาตาลุชชี (Chiara Natalucci) นักแปล และซารา ฟับบรี (Sara Fabbri) นักออกแบบกราฟิก นักวาดการ์ตูนและภาพประกอบ มีความพิเศษกว่างานสร้างสรรค์ชิ้นอื่นๆ ตรงที่ความคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นงานเขียนและงานภาพ นิยายภาพจึงเล่าเรื่องด้วยภาษาสองประเภท คือ ภาษาภาพและภาษาเขียน
ตาสว่าง ว่าด้วยเรื่องชีวิตของ “นก” ผู้ชุมนุมชาวเสื้อแดงคนหนึ่ง ในการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในปี พ.ศ.2553 กระสุนนัดหนึ่งฝังเข้าไปในกะโหลกของเขา เมื่อแพทย์ไม่สามารถเอากระสุนออกจากกะโหลกได้ เขาจึงกลายเป็นคน ‘ตาบอด’ ครั้นปัจจุบันและอนาคตมืดดับไป ภาพที่แจ่มชัดในใจคืออดีต และในอีกทางหนึ่ง การตาบอดก็ยังนำไปสู่การ ‘ตาสว่าง’ ที่ไม่เกี่ยวกับการมองในโลกกายภาพ ดังเช่นภาพสุดท้ายของช่วงเปิดเรื่องที่เป็นภาพใบหน้าสีขาวสว่างแต่ดวงตากลับมืดมิดเป็นสีดำ ข้อความบรรยายเขียนว่า “บัดนี้ผมตาสว่างแล้ว”
ตาสว่าง เล่าเรื่องโดยสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน นกเป็นชายหนุ่มจากอุดรธานีที่เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานครครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2525 ความเป็นคนอีสานของตัวเอก ครอบครัวและเพื่อนพ้อง แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านภาพลายเส้นซึ่งเขียนเค้าโครงใบหน้าให้มีโหนกแก้มสูงและสันกรามเห็นเป็นเหลี่ยมมุม นกเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงแห่งโอกาสที่เคยเป็นภาพฝันเมื่อมองผ่านจอโทรทัศน์ ชีวิตของเขาเริ่มต้นที่หัวลำโพงเหมือนคนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ญาติที่มารอรับได้พาเขาไปอยู่ด้วยในห้องเช่า หางานให้ทำ นกมีชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียรเพราะรายได้ต่ำ จนวันหนึ่งเขารู้ความจริงโดยบังเอิญว่า เงินค่าแรงของเขาถูกหักเข้ากระเป๋าญาติไปครึ่งหนึ่ง เมื่อเขาเอ่ยปากจึงถูกไล่ออกจากที่พัก นั่นเป็นบทเรียนบทแรกจากเมืองหลวง เมืองที่ผู้คนอยู่กันอย่างตัวใครตัวมัน ในเมืองแห่งนี้ ผู้พ่ายแพ้เหลือเพียงตัวลีบเล็ก ตกอยู่ในเงามืด “ผมกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง คนผ่านไปมามองไม่เห็นผม”
เมื่อไร้ที่อยู่และไร้งานทำ นกกลายเป็นคนเร่ร่อน แต่โชคก็ยังเข้าข้างเมื่อเขาพบกับหงส์ อดีตเพื่อนร่วมงานที่ชักนำให้เขาไปหางานแบกหามในตลาด ชีวิตของนกเริ่มดีขึ้น เหตุการณ์ทางการเมืองเหตุการณ์แรกที่ปรากฏเข้ามาในฉากคือ กบฏทหารนอกราชการ หรือกบฏ 9 กันยา ความพยายามรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2528
ตาสว่าง ดูจะบอกเป็นนัยว่าความล้มเหลวของการรัฐประหารนั้นสัมพันธ์กับความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เพราะในอีกไม่กี่หน้าถัดไป นกบรรยายว่า “เมืองเจริญขึ้นทุกปี พวกเราก็เหมือนกัน” ร่างของนกกับหงส์ขยายขึ้นใหญ่โตสูงคับตึก ใบหน้าของเขาดูเหมือนจะยิ้ม
นกทำงานจนเก็บเงินซื้อรถมอเตอร์ไซค์ได้และเดินทางกลับบ้านที่อุดรธานี ทว่าประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน ระหว่างนั้นเขาได้พบรักกับหญิงสาวชื่อ “ไก่” ตามด้วยการบวชเรียน เกณฑ์ทหาร (โชคดีที่ได้ใบดำ) และแต่งงานในวันที่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 สิ้นสุดลงด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพเหตุการณ์สำคัญระดับประเทศ (ที่เป็นภาพซ้อนอยู่ในภาพโทรทัศน์) กับภาพฉากชีวิตของปัจเจกบุคคลทาบทับกัน “วันนั้นเป็นวันที่เราสองคนและคนทั้งประเทศจะไม่มีวันลืมเลือน เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่”
เมื่อเริ่มสร้างครอบครัวจนมีลูกน้อยชื่อ “ซัน” ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มสูงขึ้น นกจึงตัดสินใจออกจากบ้านเกิดมาทำงานรับจ้างอีกครั้ง โดยให้ลูกเมียอยู่กับพ่อที่ต่างจังหวัด คราวนี้เขาไปเป็นคนงานก่อสร้างที่เกาะพงัน การทำงานหนักทำให้เขาติดยาบ้าที่นายจ้างนำมาผสมน้ำให้คนงานดื่ม ชีวิตของนกเริ่มย่ำแย่ จนในที่สุดก็ถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 เขาต้องกลับบ้านอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการกลับบ้านโดยไม่มีอะไรเหลือเลย
ต่อมาในปี พ.ศ.2544 นกและครอบครัวได้ย้ายกลับเข้ามาในเมืองหลวง เขายึดอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (ตรงจุดนี้เองที่เรื่องราวของนกได้มาบรรจบกับงานศึกษาของโซปรานเซ็ตติ) ชีวิตของครอบครัวดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจดีขึ้น นักการเมืองหน้าใหม่ชื่อทักษิณ ชินวัตรได้เปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศ ปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ถูกตำรวจรีดไถได้รับการแก้ไข เมื่อปากเสียงของประชาชนที่เป็นชนชั้นล่างเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น ตัวแทนของคนยากคนจนอย่างทักษิณก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้นด้วย
แต่แล้วก็มีกระบวนการทำลายความนิยมและโค่นล้มรัฐบาล ตาสว่าง เน้นย้ำความแตกต่างระหว่างชนชั้นล่างผู้สนับสนุนทักษิณอย่างนกและครอบครัว ด้วยการใช้ภาพหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเล่าข่าวการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยังแสดงออกผ่านคำกล่าวของไก่ที่ว่า “มันเดินหนีไปแล้วก็พูดว่า ‘ถ้าอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกก็กลับบ้านนอกของพวกเอ็งไป’ ”
นกที่เป็นฝ่ายสนับสนุนทักษิณเข้าร่วมการชุมนุมเป็นคนเสื้อแดง ต่อสู้กับสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ถูกต้อง จนกระทั่งชีวิตของเขาพบกับกระสุนนัดนั้นจากความรุนแรงทางการเมือง
“ผมเสียใจที่สูญเสียดวงตา แต่เสียใจแทนเมืองไทยมากยิ่งกว่า ประเทศของเราต่างหากที่ตกอยู่ในความมืดมิด ไร้ความยุติธรรม”
ภาพรวมจาก ตาสว่าง เป็นการมองย้อนเข้าไปในอดีตของผู้เข้าร่วมขบวนการเสื้อแดงที่ประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุม เป็นเรื่องเล่าแบบสมจริง ไม่มีแฟนตาซี และแทบไม่มีการใช้อุปลักษณ์อื่นใดนอกจากการกล่าวถึงหนวดปลาหมึกยักษ์ที่โอบรัดในช่วงต้นและท้ายเรื่อง ช่วงชีวิตวัยทำงานสามสิบปีของนกสอดแทรกไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ในการเมืองไทย รูปแบบของภาพดูหยาบกร้าน สีสันทึบทึมเป็นส่วนใหญ่ คล้ายกับภาพแทนของการมองเห็น
เมื่อ ‘ตาสว่าง’ ภายใต้สีสันสดใสที่ลวงตาให้ไขว้เขว มีแต่ความหมองหม่นที่สะท้อนออกมาจากภาพความจริง ตาสว่าง นำเสนอการทำความเข้าใจการเมืองผ่านโศกนาฏกรรมของชีวิตที่เกิดขึ้นจากการเมือง ด้วยมุมมองแบบมานุษยวิทยาที่กำกับการมองแบบตาสว่างด้วยสีสันมืดหม่น การใช้ภาพนำสายตาจึงเป็นการบังคับความรู้สึกร่วม เพราะถ้าเป็นการสร้างจินตนาการถึงเรื่องราวผ่านการ ‘อ่าน’ ภาพที่เกิดขึ้นในใจของผู้อ่านอาจไม่ตรงกัน แต่ในฐานะนิยายภาพ ตาสว่าง ทำให้ทุกคนสัมผัสความรู้สึกเดียวกันผ่านสื่อเดียวกันก่อนจะนำไปสู่การทำความเข้าใจจากการตีความเองของแต่ละคน
ประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดใน ตาสว่าง คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนคนธรรมดากับการเมืองไทย เรื่องราวของนกเป็นภาพสะท้อนของการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองของปัจเจกบุคลในระยะไกลและใกล้ ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่า โฉมหน้าที่เปลี่ยนไปของการเมืองปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนในสังคมอย่างไร ดังนั้น คำถามต่อประเด็นสำคัญในเรื่องคือ เมื่อผู้คนกับการเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง อะไรคือเหตุผลให้เขาขยับเข้าใกล้? และอะไรคือเหตุผลให้เขาขยับออกไป? และอะไรอยู่เบื้องหลังทางที่เขาเลือก?
คำตอบของคำถามข้างต้นจากภาพชีวิตของนกคือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่เกิดขึ้นจากการกดขี่ของการเมืองแบบเก่า และเป็นอุปสรรคไม่ให้เขาเข้าถึงผลประโยชน์ที่พึงมีในฐานะประชาชนอย่างเต็มที่ เมื่อพวกเขารู้ว่าเสียงของพวกเขามีความหมายในระบอบประชาธิปไตย การตื่นรู้จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหว การตื่นรู้หรือ ‘ตาสว่าง’ จึงเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการเมืองไทยร่วมสมัย เพราะเป็นจุดหักเหที่ทำให้ประชาชนคนธรรมดาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
จากปรากฏการณ์ตาสว่างนี้จึงนำไปสู่คำถามอีกคำถามว่า ทางเลือกที่เกิดขึ้นหลังปรากฏการณ์ตาสว่างเป็นทางเลือกที่ถูกต้องหรือไม่? แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ เราจะทำความเข้าใจทางเลือกดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง?
สิ่งน่าสนใจอีกประการซึ่งล่องลอยอยู่เหนือภาพและคำคือ การเชื้อเชิญให้หลับตาแล้วย้อนคิดในความมืดเมื่อเรื่องราวจบลง ทบทวนภาพชีวิตทั้งหมดเฉกเช่นเดียวกับตัวละคร ตาสว่าง จะกลายเป็นเสียงย้ำซ้ำไปซ้ำมา ก่อนจะย้อนกลับไปสู่เรื่องราวชีวิตของผู้อ่านเองว่าถูกจัดวางอยู่ตรงไหนบนการเมืองไทยร่วมสมัย และในความมืดนั้นเรามองเห็นเหตุการณ์อย่างไรในปัจจุบัน