fbpx
What is Populism? อะไรคือ “ประชานิยม” ในสากลโลก?

What is Populism? อะไรคือ “ประชานิยม” ในสากลโลก?

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

 

ผู้เขียนพยายาม และบางครั้งก็จำทนฟัง การถกเถียงต่อเนื่องมานานเกือบสองทศวรรษแล้วว่า นโยบายซึ่งถูกเรียกว่า “ประชานิยม” ในไทยนั้นแต่ละนโยบาย “ดี” หรือ “เลว” มากกว่ากัน

นักเศรษฐศาสตร์ นักสังเกตการณ์ และผู้ดำเนินนโยบายจำนวนไม่น้อยแปะป้ายตีตรานโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยบางนโยบายว่า “ประชานิยม” ทันทีที่ได้ยิน เพียงเพราะเกลียดนักการเมืองผู้ออกนโยบาย หรือมีอคติว่าผู้มีรายได้น้อยจะขี้เกียจถ้าหากได้อะไรฟรีๆ

ส่วนฝ่ายที่เชียร์นักการเมืองผู้ออกนโยบายหลายคนก็ออกมาเชียร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูว่า ขึ้นชื่อว่า “ประชานิยม” แล้วย่อมต้องดีแน่นอน เพราะชื่อก็บอกแล้วว่าประชาชนนิยม ไม่ต้องไปสนใจว่านโยบายนี้ตรงต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายจริงไหม ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่ยั่งยืนหรือไม่ เปิดช่องให้คอร์รัปชันมากมายระหว่างทางหรือเปล่า ฯลฯ

แท้ที่จริง นโยบายประชานิยมบางนโยบายอาจ “ดี” ก็ได้ เพราะสร้างประโยชน์มากกว่าเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้หลายเท่า น่าเสียดายที่ผู้กุมอำนาจรัฐทุกวันนี้ดูจะมีอคติกับคำว่า “ประชานิยม” จึงหลีกเลี่ยงไปใช้คำอื่น อาทิ “ประชารัฐ” ทั้งที่แนวนโยบายหลายครั้งดูแล้วไม่ต่างกันกี่มากน้อย

ในยุคที่สังคมไทยดูจะยังไปไม่พ้นกับดักของคำว่า “ประชานิยม” ผู้เขียนเห็นว่าเราน่าจะลองมองออกไปนอกบ้าน ดูว่าสังคมอื่นๆ เขามองเรื่องนี้กันอย่างไร พรมแดนการถกเถียงของเรื่องนี้ขยับไปอยู่ตรงไหนแล้ว

ยอห์น-เวอร์เนอร์ มุลเลอร์ (Jan-Werner Müller) นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เขียนหนังสือฉบับกะทัดรัดที่อ่านสนุกและเข้าใจไม่ยาก ตั้งชื่อตรงไปตรงมาว่า What is Populism? (ประชานิยมคืออะไร?) เพื่อตอบคำถามเหล่านี้อย่างทันสมัย โดยเฉพาะในยุคที่นักการเมืองซึ่งถูกเรียกว่า “นักการเมืองประชานิยม” อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกา กำลังดูจะได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางความสับสนว่า “ประชานิยม” คืออะไร? ประชานิยมฝ่ายขวาแตกต่างจากประชานิยมฝ่ายซ้ายอย่างไร? ตกลง “นักการเมืองประชานิยม” (populist politician) มีอยู่จริงหรือไม่ มีลักษณะอย่างไร ทำให้รัฐบาลใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น หรือว่าแท้จริงแล้วเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย? จริงๆ แล้ว “ประชาชน” หรือ “พลังเงียบ” คือใครกันแน่ และใครควรมีสิทธิพูดแทนประชาชนบ้าง?

ใน What is Populism? มุลเลอร์พยายามตอบคำถามทุกข้อข้างต้นพร้อมด้วยตัวอย่างมากมาย โดยขมวดข้อเสนอของเขาตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า หัวใจของประชานิยมคือการปฏิเสธพหุนิยม (pluralism) เพราะนักการเมืองประชานิยมจะอ้างเสมอว่า พวกเขาและมีแต่พวกเขาเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของประชาชน และรู้ดีว่าแท้จริงแล้วประชาชนต้องการอะไร

ด้วยเหตุนี้ นักการเมืองประชานิยมจึงสามารถปกครองบนฐานข้ออ้างที่ว่า ความชอบธรรมของพวกเขามาจากการเป็น “ตัวแทนเชิงศีลธรรม” ของประชาชนทั้งประเทศ และถ้าหากมีอำนาจมากถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็จะสร้างรัฐแบบเผด็จการ กีดกันใครก็ตามที่มองว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ “ประชาชน” ที่ถูกต้องออกไป

มุลเลอร์เปิดหนังสือเล่มนี้ด้วยฉายภาพให้เห็นว่า คำว่า “ประชานิยม” นั้นเต็มไปด้วย “ความอลหม่านทางความคิด” ขนาดไหน เขาบอกว่าแนวคิดนี้ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อโดยคนจำนวนมาก ดังนั้น ก่อนที่เราจะสามารถถกกันเรื่องนี้ได้อย่างมีประโยชน์ เราก็จะต้องมองเห็นและขจัดนิยามต่างๆ ของ “ประชานิยม” ที่มุลเลอร์เรียกว่า เป็น “นิยามแบบทางตัน” เสียก่อน ยกตัวอย่างเช่นนิยามต่อไปนี้

  • ประชานิยม หมายถึง นโยบายโง่หรือนโยบายพื้นๆ (มุมมองแบบอัตวิสัย เถียงกันได้ไม่รู้จบว่านโยบายไหน “โง่” หรือ “พื้นๆ” บ้าง)
  • ประชานิยม หมายถึง ความต้องการของพลเมืองเฉพาะกลุ่ม (อย่างเช่นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เรียนไม่จบปริญญาตรี และในสายตาของคนบางกลุ่มมองว่าพวกเขา “โง่” ดังนั้นจึงมองว่าอะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการย่อมเป็น “ประชานิยม” ในความหมาย “นโยบายโง่ๆ”)
  • ประชานิยม หมายถึง สไตล์การเมืองเฉพาะทาง (มักใช้หมายถึงความเป็นลูกทุ่ง ไร้ความเป็นผู้ดี บ้านนอก เอะอะมะเทิ่ง ฯลฯ)

ในเมื่อนิยามข้างต้นทั้งหมดล้วนเป็นอัตวิสัย แถมบ่อยครั้งยังถูกใช้ในทางที่เจืออคติ (หลายชั้น) ของผู้พูด มุลเลอร์จึงบอกว่าเราใช้มันเป็นนิยามไม่ได้ เขาเสนอนิยามใหม่ของ “ประชานิยม” ดังต่อไปนี้

“ผมเสนอว่า “ประชานิยม” คือ จินตนาการถึงการเมืองในเชิงศีลธรรมอันมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นวิธีมองโลกซึ่งยืนยันว่า (และผมจะชี้ว่ามันไม่จริงอย่างไร) ประชาชนที่มีความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมและสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้น กำลังต่อกรกับกลุ่ม ‘ชนชั้นนำ’ ซึ่งถูกมองว่าเสื่อมทรามหรือด้อยกว่าในทางศีลธรรม … ฉะนั้นข้ออ้างหลักของประชานิยมก็คือลัทธิต่อต้านพหุนิยม (antipluralism) ในรูปแบบที่อ้างอิงศีลธรรม … พูดอีกอย่างก็คือ ไม่มีทางเกิดประชานิยมได้ ถ้าหากไม่มีใครสักคนอ้างว่าพูดแทนประชาชนทั้งมวลได้ … นี่คือข้ออ้างหลักของประชานิยม: มีประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นที่เป็น ‘ประชาชน’ อย่างแท้จริง”

พูดง่ายๆ ก็คือ นักการเมืองประชานิยมในนิยามของมุลเลอร์นั้นจะ (1) อ้างว่าพูดแทน “ประชาชนตัวจริง” ในประเทศ และ (2) อ้างว่าประชาชนตัวจริงเหล่านั้นคือประชาชนทั้งหมดแล้ว คนอื่นไม่ใช่เพราะขาดความชอบธรรม หรือไม่ก็เสื่อมทรามทางศีลธรรมจนไม่ควรรับฟัง (เช่น วาทกรรม “พวกชนชั้นนำบ้าอำนาจ”)

มุลเลอร์ยกตัวอย่างมากมายหลายประเทศ จากทั้งในอดีตและปัจจุบัน มาสาธิตว่านิยามของเขาค่อนข้างครอบคลุมบริบทที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นจึงน่าจะใช้การได้จริง จากนั้นเขาก็สาธยายอย่างกระชับชัดเจนว่า นักการเมืองประชานิยม (ในความหมายของเขา) มีพฤติกรรมทางการเมืองหลักๆ อะไรบ้าง ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบมากก็อย่างเช่น

1. นักประชานิยมอ้างว่าพวกเขาต่อต้านชนชั้นนำ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาก็คือชนชั้นนำอีกกลุ่มหรือขั้วตรงข้ามที่อยากขึ้นมามีอำนาจ พอได้อำนาจมาแล้ว พวกเขาก็โอเคกับชนชั้นนำนั่นแหละ

2. นักประชานิยมชอบใช้เครื่องมืออย่างเช่นการลงประชามติ เครื่องมือแนวนี้ดูเหมือนจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อบรรลุเป้าหมายของพวกเขา แต่จริงๆ แล้วไม่ได้อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเมืองเท่าไรนักหรอกเมื่อได้อำนาจมาแล้ว หลังจากที่ขึ้นสู่อำนาจ พวกเขาจะชอบอ้างว่าตัวเอง “อยู่ข้างประชาชน” แบบลอยๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำต่างๆ โดยไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ

3. ผู้นำแนวประชานิยมไม่ชอบสถาบันตัวกลางแม้แต่สถาบันเดียว ในที่นี้ “สถาบันตัวกลาง” หมายถึงสถาบันต่างๆ ที่กั้นกลางระหว่างพวกเขากับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน หรือพรรคการเมือง ผู้นำแนวประชานิยมชอบพูดคุยกับประชาชนตัวเป็นๆ ตรงๆ และจะจัดตั้งกระบอกเสียงอันใหญ่ของตัวเอง (ซึ่งทุกวันนี้ก็รวมช่องทางอย่างเช่นโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์)

4. พรรคการเมืองแบบประชานิยมปกครองแบบเผด็จการภายในพรรค มีผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว คนอื่นจะต้องทำตามดำริของผู้นำ ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปหาพรรคอื่นอยู่

5. เมื่อใดที่ผู้นำแนวประชานิยมรักษาอำนาจได้อย่างมั่นคงแล้ว พวกเขาก็จะใช้การแบ่งเขา-แบ่งเราเป็นเทคนิคในการปกครองตลอดเวลา เช่น ก่นด่า “ชนชั้นนำ” ผู้ก่อการร้าย สื่อมวลชน มหาอำนาจต่างชาติที่มายุ่มย่าม และตัวละครอื่นๆ ว่าเป็นตัวการหรือสาเหตุของปัญหาต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาระหว่างการปกครองของพวกเขา พวกเขาจะให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับศัตรูของประชาชนในศึกใหญ่อะไรสักอย่างที่อ้างว่าจะต้องเกิดอย่างแน่นอน ไม่วันนี้ก็วันหน้า

6. ทันทีที่ได้อำนาจ ผู้นำและพรรคการเมืองประชานิยมจะ “ยึด” รัฐมาเป็นอาณานิคมส่วนตัวอย่างแข็งกร้าวและกล้าทำอย่างเปิดเผย โดยอ้างว่าทำไปเพื่อประชาชน พวกเขาจะทำลายธรรมเนียมประชาธิปไตย ติดสินบนอย่างมโหฬารเพื่อกระชับอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญถ้าสามารถทำได้ ปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์และภาคประชาสังคม และบั่นทอนศูนย์อำนาจและศูนย์อิทธิพลอื่นๆ เท่าที่ทำได้

ในสำนวนของมุลเลอร์ ทั้งหมดนี้ –

“…นำไปสู่ตลกร้ายขั้นสุดท้าย ประชานิยมที่อยู่ในอำนาจทำให้เกิดการกีดกันและยึดครองรัฐ ซึ่งก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่พวกเขาอ้างว่าชนชั้นนำ (ที่พวกเขาขึ้นสู่อำนาจแทนที่)ทำเป๊ะเลย อะไรก็ตามที่พวกเขาอ้างว่า “ชนชั้นนำเก่า” หรือ “ชนชั้นนำเสื่อมศีลธรรม” ทำมานานแล้ว นักประชานิยมก็จะทำแบบเดียวกัน เพียงแต่คราวนี้ไร้ซึ่งความรู้สึกผิด และมีความชอบธรรมแบบประชาธิปไตยเข้ามารองรับ”

ในหนังสือเล่มนี้ มุลเลอร์เตือนว่าเราไม่ควรสับสนระหว่าง “ประชานิยม” กับ “การเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ” หรือบอกว่าประชานิยมเท่ากับความกลัวหรือความโกรธของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขาบอกว่าการวิเคราะห์แบบนี้มักจะทำให้คนทั่วไปมองว่า “พวกชนชั้นนำเสรีนิยม” (หรือปัญญาชนหัวก้าวหน้า) ดูถูกดูแคลนคนธรรมดา

มุลเลอร์บอกว่าข้ออ้างของประชานิยมมักจะเป็นข้ออ้างเชิงศีลธรรมหรือเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่อะไรที่เราจะทดสอบได้เชิงประจักษ์ นักการเมืองประชานิยมอ้างว่าพวกเขาเป็นตัวแทนพลเมืองทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ยอมรับความชอบธรรมของคนอื่นที่บอกว่าเป็นตัวแทนประชาชนเช่นกัน

หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้มีข้อคิดและข้อเสนอที่น่าสนใจมากมาย ตอนหนึ่งที่ผู้เขียนชอบ คือ ตอนที่มุลเลอร์วิพากษ์แนวคิด “ประชาธิปไตยไร้เสรี” (illiberal democracy) ซึ่งถือกำเนิดในบทความปี 1997 โดย ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) ตอนนั้นซาคาเรียใช้คำนี้เพื่ออธิบายระบอบการเมืองที่ “รูปแบบ” ดูเป็นประชาธิปไตย เช่น จัดการเลือกตั้ง แต่ไม่สนใจหลักนิติรัฐและพยายามบั่นทอนกลไกคานดุลและถ่วงดุลในระบอบอย่างสม่ำเสมอ พูดอีกอย่างคือ ซาคาเรียพยายามย้ำว่า มีประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่พอ หลักเสรีนิยม (เช่น การคุ้มครองเสียงข้างน้อย และการปกป้องสิทธิพลเมือง) จะต้องได้รับการส่งเสริมด้วย

มุลเลอร์ชี้ว่า ปัญหาของคำว่า illiberal democracy คือ คำว่า “เสรีนิยม” (liberalism) ไม่ได้หมายถึงสิ่งเดียวกันสำหรับคนทุกคน ในบางสังคม เช่น ตุรกี คนจำนวนมากมองว่าคำนี้หมายถึงทุนนิยมแบบตลาดเสรีสุดขั้วที่ไร้การกำกับดูแล และเสรีภาพสุดขั้วสำหรับคนทุกคนในการใช้ชีวิต นายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บัน (Viktor Orbán) แห่งฮังการี ประกาศในปี 2014 ว่าเขาอยากสร้าง “รัฐไร้เสรี” (illiberal state) โดยเชื่อมั่นว่ายุโรปทั้งทวีปอีกไม่นานจะหันมายอมรับและสนับสนุนวิสัยทัศน์การเมืองแบบ “ยึดมั่นในหลักศาสนาคริสต์และชาตินิยม” แบบของเขา

ฉะนั้น มุลเลอร์จึงเสนอให้เรียกรัฐที่ผู้มีอำนาจบั่นทอนกลไกถ่วงดุลคานดุลในระบอบประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมาว่า “ประชาธิปไตยบกพร่อง” หรือ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” แทน

เราจะรับมือกับนักการเมืองประชานิยมอย่างไรดี?

มุลเลอร์เสนอสิ่งที่เขาคิดว่าควรทำและทำได้ในช่วงสุดท้ายของหนังสือ เขาบอกว่าถ้าเราจะรับมือ “เราก็ควรมองข้ออ้างทางการเมืองของพวกเขาอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องเชื่อวาทกรรม” หรือพูดอีกอย่างก็คือ นักการเมืองและสื่อมวลชนควรรับมือกับประเด็นต่างๆ ที่นักประชานิยมยกขึ้นมา แต่ท้าทายวาทกรรมหรือวิธีตีกรอบประเด็นเหล่านั้นของพวกเขา

นอกจากนั้น มุลเลอร์ยังเสนอให้เราใช้ความรอบคอบและระมัดระวังกว่าเดิมมากเวลาที่จะแปะป้ายว่าใครเป็นนักการเมืองแบบ “ประชานิยม” ยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช่ว่าข้อวิพากษ์ชนชั้นนำทุกเรื่องทุกเวลาจะแปลว่าคนวิพากษ์เป็นประชานิยมเสมอไป แทนที่เราจะก่นด่าหรือเสียดายกับการที่นักประชานิยมไม่แยแสพหุนิยมและไม่สนใจจะสร้างชุมชนทางการเมืองที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม (inclusive) เราก็จะต้องหาวิธีเสนอให้โดนใจคนและดีกว่าเดิมว่า ทำไมพหุนิยมและชุมชนทางการเมืองที่มีส่วนร่วมจึง “ขาดไม่ได้” ในสมัยนี้

และแทนที่เราจะพยายามสร้างภาพของ “ประชาชน” โดยรวม มุลเลอร์ก็เสนอให้เราสร้างเสียงข้างมากบางส่วนภายในระบบการเมืองที่โอบอุ้มคนที่เคยถูกกีดกันเข้ามา โดยที่ไม่ไปเบียดบังคนที่เสียงดังอยู่แล้วให้ตกขอบไป.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save