fbpx

อะไรคือโกมล คีมทอง

นับถึงปีนี้ (พ.ศ. 2564) ถ้าชายที่มีชื่อว่า “โกมล คีมทอง” ยังมีลมหายใจอยู่ เขาจะมีอายุครบ 75 ปี

แต่เขาได้ตายจากไปเมื่อ 50 ปีมาแล้ว  

ส.ศิวรักษ์ ตั้งข้อสังเกตในโอกาสนี้ว่า “ข้อเสียของคนตาย อยู่ตรงที่ไม่ช้าก็เร็ว พวกเขาจะต้องถูกลืม” และกล่าวถึงความสำคัญของโกมลว่า “ความสำคัญของเขาอยู่ที่การยึดมั่นในอุดมคติ และกระทำตามอุดมคติอันดีงามที่ผู้อื่นทำได้ยาก

ในห้วงเวลาที่คนหนุ่มสาวออกมาเรียกร้องโอกาสในการกำหนดชะตากรรมของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ นับเป็นช่วงเวลาที่เรื่องราวของคนมีอุดมคติอย่างโกมล คีมทอง น่าจะได้รับการเล่าขานอีกครั้ง


โกมล คีมทอง
(1 มิถุนายน 2489 – 22 กุมภาพันธ์ 2514)


ครอบครัวและการศึกษา


โกมล คีมทอง เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2489 เป็นบุตรคนที่ 2 จากทั้งหมด 5 คน ของนายชวนและนางทองคำ คีมทอง ชาวจังหวัดลพบุรี แม่ของเขาเล่าว่าในวัยเด็กโกมลเป็นคนเรียบร้อย ว่าง่าย เชื่อฟังพ่อแม่ แต่มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นคนช่างคิดช่างฝัน และค่อนข้างเงียบขรึม

โกมลเรียนที่โรงเรียนบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วมาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านหมี่ จากนั้นจึงเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายแผนกศิลปะ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เมื่อจบในปี 2509 จึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย

นันทา เจียมศรีจันทร์ เล่าว่า โกมลเคยบอกเธอด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาสอบ Entrance เข้าได้ทั้งที่ธรรมศาสตร์และจุฬา ในคณะรัฐศาสตร์และครุศาสตร์ตามลำดับ แต่โกมลไม่อยากเป็นสิงห์แดง เพราะอยากเป็นคบเพลิงที่ให้แสงสว่างแก่อนุชนมากกว่า[1]


เด็กหนุ่มจากจังหวัดลพบุรี (คนกลาง)
สมัยเรียน ม.ศ. 4-5 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ (เลขประจำตัว 15300)
ที่มา : FB ตำนานบรรดาเรา


นิสิตหนุ่ม


โกมลเรียนที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขามัธยมศึกษา เอกวิชาสังคม โทภาษาฝรั่งเศส

รุ่นพี่ที่โกมลนับถืออย่าง ไพฑูรย์ สินลารัตน์ กล่าวถึงเขาว่า เมื่อเขาเข้าปี 1 ก็ “ดูจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษให้แลเห็นเด่นชัดมาก นอกไปเสียจากความกระตือรือร้นในความเป็นครูมากกว่าคนอื่นๆ”

อุทัย ดุลยเกษม เพื่อนร่วมคณะกล่าวถึงเขาว่า “โกมลเป็นคนเรียบร้อย สุภาพ พูดจานิ่มนวล อ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งที่เขายึดมั่นในหลักการและเหตุผลอย่างมั่นคง … เขาเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มดีมาก และพยายามหาทางนำความคิดของเขาออกมาปฏิบัติ”

ส่วนอาจารย์อย่าง สุมน อมรวิวัฒน์ กล่าวถึงความคิดความอ่านเขาว่า “โกมลชอบคิดถึงปรัชญา ควบคู่ไปกับชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมชาติ  เมื่อคุยกันถึงการเพิ่มพูนรายได้ของคนไทยในชนบท พูดถึงระบบการจัดการศึกษาเพื่อเขาเหล่านั้น พูดถึงชีวิตของชาวมหาวิทยาลัยเท่าที่ควรจะเป็น  โกมลคิด ข้อคิดที่ดี มีเหตุผล นอกจากจะคิดแล้ว เขายังฝันอีกด้วยว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นย่อมทำได้ เป็นไปได้  ดวงตาที่แจ่มใสของโกมลมีแววจริงจัง ที่ยากจะหาได้ในคนหนุ่มวัยเดียวกัน”


นอกจากงานค่ายอาสาสมัครแล้ว
โกมลยังร่วมงานกับชมรมปาฐกถาและโต้วาที และชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ


โกมลชอบอ่านหนังสือ และเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือ ดังที่เขาเขียนว่า “ใครคิดตื้นๆ ก็จะเห็นว่า การเรียนหนังสือจะทำให้คนฉลาด แต่ที่แท้แล้ว การอ่านหนังสือต่างหากช่วยทำให้คนฉลาด การเรียนหนังสือช่วยให้อ่านได้ … แต่การหาปัญหา หาความรู้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของการอ่านการศึกษาหาความรู้”

โกมลชอบเขียนหนังสือด้วยเหมือนกัน โดยมีบทความตีพิมพ์ทั้งใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์  วิทยาสาร  วิทยาสารปริทัศน์  ศูนย์ศึกษา  สูจิบัตรเพลิงชมภู  มิตรสัมพันธ์  ครุศาสตร์รับน้อง ฯลฯ ตั้งแต่เป็นนิสิตจุฬาฯ แม้เมื่อไปเป็นครูในชนบทแล้วก็ยังคงส่งบทความมาลงตีพิมพ์อยู่เนืองๆ  งานเขียนของเขามักเป็นข้อเขียนที่อ่านง่าย มีความไพเราะและนุ่มนวลทางภาษา เพราะเขาเขียนออกมาจากความคิด ความรู้สึกของเขาเอง เขาคิดอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น

ในรั้วมหาวิทยาลัย โกมลทำกิจกรรมหลายอย่าง ดังเป็นประธานค่ายพัฒนาการศึกษา สโมสรนิสิตจุฬาฯ ในชั้นปีที่ 2 และเป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษาของคณะครุศาสตร์ในปี 3 ครั้นถึงปี 4 เป็นทั้งสาราณียกรของคณะ และเป็นบรรณกร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา (ฉบับที่ 9) ด้วย

นอกจากงานด้านความคิดแล้ว โกมลยังสนใจกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทอย่างมาก ช่วงปิดภาคเรียนปี 2510 ได้ไปออกค่าย (มุสลิม) ครั้งแรกที่บ้านทอน จังหวัดนราธิวาส  ต่อมาเป็นตัวแทนไปค่ายฝึกผู้นำนิสิตนักศึกษาอาสาพัฒนาร่วมกับเพื่อนจากสถาบันอื่นๆ ที่บ้านนายาง จังหวัดหนองคาย เมื่อฤดูหนาวปีนั้น และไปค่ายอาสาสมัครสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่บ้านหนองแปน จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อฤดูร้อนปี 2511 และได้เป็นประธานค่ายพัฒนาการศึกษาของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ขณะอยู่ปลายปี 2 ที่บ้านบางขวัญ จังหวัดฉะเชิงเทราด้วย


โกมลขณะออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท


แวดวงปัญญาชน


ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รุ่นพี่ของโกมล เป็นผู้แนะนำให้เขารู้จักกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จนกล่าวได้ว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อตอนอยู่ปี 3 หลังจากที่ทำงานอาสาสมัครมาพอสมควรแล้ว เขาก็หันมาสนใจงานทางความคิดมากขึ้น นอกจากการทำวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษาแล้ว โกมลยังมีบทบาทในชมรมปริทัศน์เสวนา ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการแสวงหาความรู้จากบุคคลต่างๆ ให้แก่เขา

นอกจากนี้โกมลยังสนใจร่วมกิจกรรมทางวิชาการแทบจะทุกประเภท โดยเฉพาะด้านการศึกษา เขาไปร่วมแทบจะไม่ขาด ทั้งที่หอประชุมคุรุสภา หอสมุดแห่งชาติ โรงพยาบาลสงฆ์ หอประชุมจุฬาฯ หอประชุมธรรมศาสตร์ รวมถึงหอประชุม เอ.ยู.เอ. เมื่อไปฟังไปถามแล้ว ก็เก็บกลับมาอภิปรายกับพรรคพวก เช่น ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อุทัย ดุลยเกษม

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวถึงโกมลว่า “แกผิดกับเด็กคนอื่นตรงที่แกแสวงหาอยู่เสมอว่าชีวิตนี้มีสาระหรือไม่ เราแต่ละคนจะทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคมได้บ้าง ให้แก่ตัวเองได้บ้าง

โกมลนับถือสุลักษณ์มาก ในบันทึกประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2510 เขาเขียนว่า “วันนี้มาได้ความคิดว่า ตัวนี้โชคดีเหลือเกิน โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมร่วมกับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กรอกหูให้เห็นความสำคัญของการรู้จริง เป็นนักคิด และต้องเก่งภาษา … อาจารย์ย้ำสองหนแล้วว่าความดีไม่มีศูนย์ เราทำดีแก่คนหนึ่ง อาจได้ดีตอบจากอีกคนก็ได้ ทำดีแก่ใครอย่าไปหวังว่าจะได้ตอบจากคนนั้น ต้องหวังผลเป็นโครงการระยะยาว และได้ข้อคิดเรื่องการเขียนจากอาจารย์อีกมาก เราโชคดี”

นอกจากสุลักษณ์แล้ว บุคคลที่โกมลนิยมในความคิดทางการศึกษายังมี ก่อ สวัสดิพาณิชย์ และ สุมน อมรวิวัฒน์ ด้วย  ส่วนครูที่เป็นต้นแบบให้ชีวิตความเป็นครูของโกมล คือ ธวัชชัย เหรียญทอง ซึ่งสอนเขาที่บ้านหมี่ โกมลยกย่องครูผู้นี้มาก ดังที่กล่าวว่า “คำพูด คำสอนของครูทั้งหมด ตลอดจนบุคลิก ท่าทาง การปฏิบัติตัวของครู เป็นสิ่งที่ฝังใจผมอยู่เรื่อยมา และมารู้ตัวมากขึ้นเมื่อมาสอนเด็กอยู่ขณะนี้ รู้สึกว่า “ปานขาว” ได้จำลองแบบของครูธวัชชัยไว้อีกคนหนึ่งแล้วอย่างช่วยไม่ได้”


โกมล (ซ้ายมือของพระยาอนุมานราชธน ที่เห็นใบหน้าเพียงส่วนเดียว)
ซึ่งเคยเป็นประธานชมรมปริทัศน์เสวนา ขณะอยู่ปี 4 (2512-2513)
ถ่ายร่วมกับชาวชมรมปริทัศน์เสวนา ในวันเปิดห้องสมุดอนุมานราชธน ณ หอสมุดแห่งชาติ ปี 2511


ครูบ้านนอก


ในปี 2512 โกมลเขียนไว้ว่า “ปัจจุบัน คนเป็นครูด้วยใจรักแทบจะหาตัวได้น้อยเหลือเกิน โดยเฉพาะระดับยิ่งสูงขึ้นไป เพราะไม่โก้และไม่ได้เงินเท่าอาชีพอื่น คนที่เป็นครูจึงเป็นพวกที่สอบแข่งสู้ใครไม่ได้แล้ว ไปไหนไม่รอดแล้วเป็นส่วนมาก หรือไม่อีกที ก็เป็นพวกที่ไม่รู้จะทำอะไรได้แล้ว หันกลับมาสอนหนังสือหากิน”

และที่ไม่ต่างจากสมัยนี้ คือในสมัยนั้นโกมลยังบ่นว่า “แทนที่จะวัดคนกันที่การกระทำและผลงานของเขา กลับวัดกันที่ปริญญา วัดกันที่เงิน”

เมื่อจบการศึกษาในปีการศึกษา 2512 ด้วยผลการเรียนที่ดี ทำให้มีอาจารย์บางคนทาบทามให้เขาเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แต่โกมลเลือกไปเป็นครูในชนบท ในพื้นที่ทุรกันดาร ที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา บ้านส่อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามคำเชิญของบริษัทที่เหมืองแร่ที่นั่น เนื่องจากเขาเคยไปออกค่ายอาสามาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตแล้ว

สุมน อมรวิวัฒน์ อาจารย์ของเขาเล่าว่า “เมื่อโกมลตัดสินใจที่จะไปตั้งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา โกมลเตรียมตัวอย่างมาก ฉันไม่เคยเห็นใครเตรียมตัวที่จะออกไปทำงานมากเท่าโกมล โกมลเป็นนิสิตสาขามัธยมศึกษา แต่จะต้องไปตั้งโรงเรียนประถม โกมลจึงมาขอคำแนะนำจากฉันซึ่งเป็นครูประถม”

งานที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา โกมลเริ่มจากศูนย์ทีเดียว ทั้งการสร้างอาคาร สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงการปลูกต้นไม้ ดังครั้งหนึ่งเขาเห็นบทความเรื่องพันธุ์มะพร้าวที่ดีในหนังสือพิมพ์ ก็เขียนจดหมายไปถึงบุคคลในข่าวเพื่อขอรับพันธุ์ไม้มาปลูกในโรงเรียนบ้าง

ในทางความคิด โกมลตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่า “มองที่การศึกษาว่าจะทำอย่างไร เราจะยั่วยุเยาวชนรุ่นต่อไปให้สำคัญตัวเองให้สูงไว้ ให้เห็นตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์แก่ประเทศชาติ กำลังเป็นความหวัง ความต้องการของสังคม

“ทำอย่างไรจึงจะให้เขาเชื่อฝังใจได้ว่า ตัวเขาเป็นส่วนสำคัญยิ่งใหญ่ของสังคม จะขาดไม่ได้ และทุกคนกำลังเพ่งมองมาที่เขา ฝากความหวังไว้กับเขา”


โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา บ้านส่อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี


คติชาวบ้าน


ไม่เพียงสอนให้เด็กได้วิชา มีความรู้รอบตัวในการดำรงชีพ โกมลยังสอนให้นักเรียนของเขาสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังที่โกมลเองสนใจมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านที่กำลังสาบสูญ

โกมลเขียนบทความพร้อมถ่ายภาพประกอบเล่าเรื่องมโนราห์มาลง วิทยาสารปริทัศน์ ฉบับที่ 23 (5 ธันวาคม 2513) ด้วย หลังจากที่ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2513 เขานำคณะมโนราห์ขึ้นมาแสดงในกรุงเทพฯ ด้วยการสนับสนุนจากสยามสมาคมและมูลนิธิเอเชีย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ในคราวนั้นเองโกมลและคณะพักที่คุรุสัมนาคาร ถนนพญาไท  สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เล่าว่า นักการศึกษาผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดขึ้นต่อหน้าโกมลและตัวเขาว่า “ถ้าใครมีลูกศิษย์ที่คิดทำการอย่างเสียสละเช่นโกมล คนๆ นั้นจักชื่อว่าเป็นคนโชคดีมาก” โกมลโต้ตอบอย่างถ่อมตัวและจริงใจที่สุดว่า เขาเองไม่ได้เสียสละอะไรมากมายถึงเพียงนั้นดอก

เทือก กุสุมา ณ อยุธยา เล่าว่าเคยสอนโกมลที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในวิชาเบื้องต้นแห่งคติชาวบ้าน แม้จะเป็นเพียงวิชาสองหน่วยกิต แต่โกมลก็รักแรงแข็งขอบเอาไปทำให้เป็นชิ้นเป็นอันเมื่อไปเป็นครูในชนบท ซึ่งยากจะปรากฏว่าผู้นิสิตคนใดของเขาจะสนใจถึงเพียงนี้ เทือกยังปลงว่า “น่าเสียดายที่อายุแกสั้น มิฉะนั้นคงจะทำอะไรให้แก่ “คติชาวบ้าน” (Folklore) ของไทยได้ยิ่งกว่านี้”


มโนราห์ที่โกมลนำมาแสดงที่กรุงเทพฯ


อะไรคือโกมล


กล่าวโดยทั่วไป โกมล คีมทอง ย่อมหมายถึงครูคนหนึ่งที่เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2489 แล้วตายจากไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2514 ขณะอายุ 24 ปีเศษ

แต่เราอาจกล่าวได้อีกระดับว่า โกมล คีมทอง ไม่ได้หมายถึงเพียงกายสังขารซึ่งสูญสิ้นไปแล้วเมื่อเขาถูกลอบยิงจากปัญหาทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความเป็นโกมล คีมทอง คือความเป็นคนมีอุดมคติ

“อุดมคตินั้นเคยคิดว่ามี คือจะเป็นครูที่ดี และจุดหมายคือใช้ชีวิตเป็นครู เมื่อเช่นนี้ก็น่าที่จะทำให้ถึงอุดมคติ”[2] โกมลกล่าวถึงอุดมคติของเขา

เขาเคยพูดถึงตัวเองว่า “เรามันพวกที่ต้องการจะสร้างอะไรที่หวังจะให้ดี จะให้สักแต่ว่าตามๆ อย่างเขาเรื่อยไปทำไม่ค่อยได้ ถ้าไม่มีอะไรทำ ก็หาอะไรที่จะเป็นสาระแก่นสารแก่ชีวิตดีกว่าที่จะมาทำอะไรโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าที่ทำนั้นเพื่ออะไรกันแน่”[3]

นอกจากแสวงหาแก่นสารของชีวิตแล้ว โกมลยังมุ่งมั่นในอุดมคติและปณิธานของเขาเองด้วย ดังได้สะท้อนว่า “การมีชีวิตอยู่เพียงเพื่ออยู่รอด ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย เพียงแต่ปรับตัวเข้ากับคนอื่นเรื่อยไปก็อยู่ได้ แต่คนที่ยึดมั่น เชื่อมั่น และยึดในหลักการนั้นหายากและทำยาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการทำอยากจะทำไม่ได้  ชีวิตอย่างเรา ผมเห็นว่า ความสุข ความพอใจ ไม่ควรให้อยู่เป็นแค่การอยู่รอด เอาตัวรอด  แต่ความสุข ความพอใจ ควรอยู่ที่การทำดี ทำตรง ทำถูกต้อง และมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานยากๆ ที่คนธรรมดาทำไม่ได้นั่นมากกว่า ผลจะดีใจและพอใจเสมอ ที่จะได้ทราบข่าวคราวและเรื่องราวที่เราสามารถ ขัด และแย้ง หาความถูกต้องดีงามให้แก่สังคมได้”[4]

โกมลไม่เพียงมีความมุ่งมั่นทำงานยากที่หาความถูกต้องดีงามให้สังคมเท่านั้น เขายังมีความเสียสละอย่างอาจหาญอีกด้วย ดังเขาเขียนถึง แถมสุข นุ่นนนท์ เรื่องความเป็นไปของสังคมและตำแหน่งแห่งที่ของตัวเขาเองว่า

“ความรับรู้ที่อดเกิดความเป็นห่วงเป็นใยไม่ได้ คือ การรับรู้รับทราบว่าบ้านเมืองของตนไม่ปรกติสุข ไม่เรียบร้อย และมีแนวโน้มที่จะทรุดลงๆ อยู่เรื่อยไป การได้รับรู้ถึงการฉ้อราษฎร์บังของหลวงอย่างไม่รู้สึกละอาย กระทำกันอย่างโจ่งแจ้ง เหล่านี้ ดูช่างเป็นโรคระบาดเรื้อรังไม่มีสิ้นสุดลงได้เลย

“เคยคุยกันถึงว่าระหว่างสังคมแต่เดิมมาซึ่งรังเกียจการคดโกง การฉวยโอกาสหาความร่ำรวย กับสังคมขณะนี้ ซึ่งต่างมุ่งที่จะกอบโกยกันทุกมุมเมืองและแทบทุกระดับ อย่างนี้แล้ว เด็กซึ่งเสวนาอยู่กับบรรยากาศเช่นนี้จะเป็นอย่างไร  กับเด็กแต่ก่อนซึ่งบรรยากาศในการอบรมบ่มนิสัยของเขาเป็นไปอีกรูปหนึ่งนั้น ผลออกมาจะทำให้สังคมของเราแปรเปลี่ยนไปได้สักแค่ไหน เราจะพึงพอใจได้เพียงไร

“เหล่านี้ ถ้าไม่คิดถึงเสียเลย ความกังวล ความทุกข์อะไรต่างๆ ก็จะไม่เกิด แต่ถ้าไม่คิดกันเสียบ้างเลยเล่า จะปล่อยไว้ให้ใครคิด นี่ถ้าถามขึ้นมาอย่างนี้อีกก็ไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไรได้ นอกจากว่าก็ต้องคิดกันต่อไป แต่คงจะไม่นั่งคิดเปล่า ถ้าเมื่อใดมีโอกาสที่จะให้ทำบ้าง แม้มันจะเป็นธุลีหนึ่งก็ตามที

“นี่ก่อนจะเขียนจดหมายฉบับนี้ ก็คุยกันกับเพื่อนถึงเรื่องนี้อยู่ นี่ก็ยกกันขึ้นมาพูดอยู่ เพื่อนเอ่ยถึงว่าเวลานี้เราขาดคนที่จะยอมตนเป็นก้อนอิฐก้อนแรกที่ทิ้งลงไปและก็จมลงอยู่ที่นั่น เพื่อให้ก้อนอื่นๆ ถมทับตนอยู่ที่นั่น และเสร็จแล้วเจ้าก้อนที่จะปรากฏเป็นที่รู้จักของสังคม ก็คือก้อนที่อยู่เหนือก้อนอื่นสุด ส่วนก้อนแรกนั้นก็จมดินอยู่นั่นเอง

“เราหาคนอย่างนี้ไม่ได้ จึงไม่ค่อยมีอะไรที่ใหม่ที่มีคุณค่าออกมา เพราะน้ำจิตน้ำใจแห่งการเสียสละของเรายังอบรมกันได้ผลน้อยเต็มที หรือว่าเราจะไม่เคยเน้นการอบรมเรื่องนี้กันเลยก็ได้”[5]

โกมลไม่ได้แสร้งเขียนให้ดูดี ที่ยอมพลีตนเป็นอิฐก้อนแรกที่จมให้ก้อนอื่นๆ ทับถม แต่เขารู้สึกอย่างนี้จริงๆ เพราะในจดหมายอีกฉบับเขาก็เขียนว่า “เวลาที่คิดออกมาได้ และได้ลงมือกระทำ มันสนุกสนานและภาคภูมิ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นที่ให้อะไรแก่สังคมด้วยความคิดด้วยกำลังกายที่ลงทุนลงรอน[6]

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะเขาเห็นว่า “ในฐานะที่เกิดเป็นคนในสังคม ผมยังเป็นหนี้สังคมอยู่มาก ผมยังคงไม่ทอดทิ้งภาระและหน้าที่นี้เด็ดขาด  การศึกษาที่เรียนมายังจะเป็นเรื่องที่ต้องจับขึ้นมาทำ และจะเล่นจริงจังให้ผลแก่การศึกษาต่อไป”[7]

น่าเสียดายที่เวลาในชีวิตของโกมลมีเท่านั้น


โกมล ถ่ายร่วมกับคณะครู และนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา
พร้อมกับชาวบ้านส้องและชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง
ในวันทำพิธีเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2513


โกมลดลใจ


ความตายในวัยหนุ่มอันน่าเศร้าของโกมล ปิดฉากชีวิตอันเปี่ยมไปด้วยอุดมคติของเขาลงอย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นความตายของโกมลก็เป็นจุดกระตุ้นให้อนุชนในยุคนั้นเรียนรู้และได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของเขาไม่น้อย ดังที่ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น กล่าวว่า “คนหนุ่มสาวจำนวนมากออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทในช่วงทศวรรษ 2510 โดย…เห็นแบบอย่างจากคนหนุ่มสาวอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานและการเสียชีวิตใน พ.ศ. 2514 ของโกมล คีมทอง”  และความคิดของโกมลเกี่ยวกับความจำเป็นที่นักศึกษาต้องใส่ใจแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ชนบทกับเมืองในสังคมไทย มีอิทธิพลอย่างสูงต่อคนหนุ่มสาวจำนวนมาก

ที่จริง ในสมัยเมื่อเขามีชีวิตอยู่ เขาก็เป็นแรงดลใจให้ผู้คนร่วมสมัยได้ไม่น้อย ดังรัตนา สกุลไทย อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทราบเรื่องราวของเขา และสนใจในโรงเรียนที่เขาทำ ก็ไปทำงานกับโกมล ที่น่าเศร้าก็คือ รัตนาไปทำได้ไม่เท่าไหร่ ก็ถูกยิงตายพร้อมกับโกมล


ครูรัตนา สกุลไทย ของเด็กนักเรียนโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา


ข้อที่น่าคิดก็คือ เยาวชนในปัจจุบันนี้ที่รู้จัก โกมล คีมทอง เห็นจะมีน้อยเต็มที  คล้ายกับวลีอมตะของวิลเลียม เชกสเปียร์ ที่ว่า “คนแก่ย่อมหลงลืม แต่คนทุกคนจะถูกลืม”

ชีวิตของโกมลจะมีความหมายเพียงใด เห็นจะเป็นหน้าที่ของกาลเวลาที่จะแสดงว่า เขายังดลใจให้ใครได้อีกบ้างหรือไม่

แต่ความเป็นโกมล คีมทอง ที่เป็นคนเสียสละ คิดถึงสังคมส่วนร่วม อุทิศตนอย่างมุ่งมั่น และมีอุดมคติอย่างน่าสรรเสริญ จะเป็นคุณธรรมที่อนุชนผู้เข้าถึงอุดมคติเหล่านี้ จะรู้จักโกมลในวันหนึ่ง แล้วสดุดีเขาในแง่ที่เป็นผู้คิดมาก่อน ทำมาก่อน และเป็นกำลังใจให้กับพวกเราที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป เพื่อช่วยกันจรรโลงสังคมไทยของเราให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นมา สมดังสุภาษิตฝรั่งเศสที่โกมลประทับใจคือ “แต่ละคนนี้ไม่สำคัญอะไร แต่ผลงานนั้นต่างหากที่สำคัญ




เชิงอรรถ

[1] อนึ่ง บางคนก็ว่า โกมลสอบได้นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่ใช่รัฐศาสตร์.

[2] โกมล คีมทอง, “ความว่างเปล่า,” ใน โกมลฅนหนุ่ม รวมข้อเขียนแห่งความบันดาลใจ, น.69.

[3] โกมล คีมทอง, “จดหมายถึง ชวชาติ นัยนะแพทย์ ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2513,” ใน โกมล คีมทอง, น.61-62.

[4] โกมล คีมทอง, “จดหมายถึง อุทัย ดุลยเกษม ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2513,” ใน โกมล คีมทอง, น.182.

[5] โกมล คีมทอง, “จดหมายถึง แถมสุข นุ่มนนท์ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2513,” ใน โกมล คีมทอง, น.64-65.

[6] โกมล คีมทอง, “จดหมายถึง นันทา เนียมศรีจันทร ลงวันที่ 10 มกราคม 2514,” ใน โกมล คีมทอง, น.99.

[7] โกมล คีมทอง, “จดหมายถึง อุทัย ดุลยเกษม ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2513,” ใน โกมล คีมทอง, น.181.


บรรณานุกรม

โกมล คีมทอง (อนุสรณ์ในการปลงศพ โกมล คีมทอง ครบศัตมาหะ, 2514) ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2563 มูลนิธิโกมลคีมทองได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ 2 แล้ว

โกมล คีมทอง, โกมลฅนหนุ่ม รวมข้อเขียนแห่งความบันดาลใจ, บรรณาธิการโดย พจน์ กริชไกรวรรณ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540) – โดยภาพประกอบบทความนี้ทั้งหมด มาจากหนังสือเล่มนี้

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน: ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย, แปลโดย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2560)


หมายเหตุ

ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ครั้งที่ 44 ประจำปี 2561 เรื่อง “มีอุดมคติไปทำไมกัน ข้อคิดจากชีวิตโกมล คีมทอง” ที่แสดง ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 และแก้ไขเพิ่มเติมจากบทความชื่อเดียวกันนี้ที่ตีพิมพ์แล้วในหนังสือ ชัยภูมิสุดท้าย. หนังสือที่ระลึกในโอกาสครบ ๑ ปี การจากไปของชัยภูมิ ป่าแส (เชียงใหม่: กลุ่มลานยิ้ม, 2561).

อ่านไฟล์หนังสือ มีอุดมคติไปทำไมกัน ข้อคิดจากชีวิตโกมล คีมทอง ได้ฟรี ที่นี่

หนังสือที่ระลึกในวาระ 50 ปี มูลนิธิโกมลคีมทอง
ตามรอยอุดมคติ โกมล คีมทอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save