fbpx
หากโลกนี้ไม่มีเก้าอี้

หากโลกนี้ไม่มีเก้าอี้

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

 ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

 

1

 

เมื่อปี 2017 พิพิธภัณฑ์งานออกแบบของวิตร้า (Vitra Design Museum) จัดแสดงนิทรรศการหนึ่งชื่อว่า ‘Monobloc: A Chair for The World’ นิทรรศการนี้พูดถึง ‘เก้าอี้พลาสติก’ แบบที่เราเห็นตามงานศพ งานคอนเสิร์ตหมอลำ ในโบสถ์ หรือในงานแต่งงานนี่แหละครับ

ทำไมเก้าอี้พลาสติกราคาตัวละไม่กี่บาทถึงทำให้แบรนด์ใหญ่อย่างวิตร้าสนใจได้

วิตร้าเป็นแบรนด์ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งโดยสองดีไซเนอร์วิลลีและเอริก้า เฟห์ลบาวม์ (Willi and Erika Fehlbaum)

ในปี 1950 วิตร้าเป็นที่รู้จักกันดีถึงความยิ่งใหญ่ ความมีราคาค่างวดของเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่พวกเขาผลิต โดยเฉพาะเก้าอี้แต่ละตัวมีราคาค่อนข้างแพงทีเดียว

แต่วิตร้ากลับมาสนใจเก้าอี้พลาสติกตัวละไม่กี่บาท เพราะเขาตั้งคำถามกับเก้าอี้พลาสติก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ‘เก้าอี้โมโนบลอก’ (Monobloc chair) ว่ามันเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่างมาก ทำให้ทุกคนเข้าถึงการนั่งเก้าอี้ในราคาถูก รวมถึงตั้งคำถามกับคุณค่าของงานออกแบบเก้าอี้พลาสติกว่ามันทำให้เราเห็นอะไรที่ซ่อนอยู่ภายใต้เก้าอี้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก

ผมสนใจงานออกแบบ ช่วงชีวิตหนึ่งเกือบจะได้เรียนสถาปัตย์กับเขาเหมือนกัน แม้ชีวิตจะพลิกผันไป แต่ความสนใจเรื่องงานออกแบบนี้ก็ไม่ได้ซีดจางลง

เก้าอี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมสนใจ เวลาเห็นเก้าอี้สักตัว เรามักจินตนาการไปว่านั่งแล้วจะให้ความรู้สึกอย่างไร แล้วเก้าอี้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์แสนเย้ายวนใจของพวกเราได้อย่างไร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การนั่งของมนุษย์ที่ดีที่สุดคือนั่งกับพื้น

เก้าอี้ไม่ได้มีส่วนในวิวัฒนาการของมนุษยชาติ แต่มันกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่เราขาดมันไม่ได้ และถูกใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด

ยิ่งการมาถึงของเก้าอี้พลาสติกทำให้เก้าอี้ถูกนำไปใช้ในทุกๆ ที่ เปลี่ยนการรับรู้และวิถีชีวิตของคนเราไปมากมายจนเราอาจคาดไม่ถึง บางคนถึงกับบอกว่าเก้าอี้พลาสติกเหมือนโรคระบาด เพราะแม้แต่ในดินแดนที่ห่างไกลที่สุดอย่างสถานีวิจัยในแอนตาร์กติกา หรืออุทยานที่อยู่ใต้สุดของนิวซีแลนด์ ก็มีเก้าอี้พลาสติกแบบนี้ใช้งาน

Ethan Zuckerman, Director of Civic Media Study จาก MIT บอกว่าเก้าอี้พลาสติกมีความน่าสนใจตรงที่ว่า เมื่อมันอยู่ในรูปภาพ หากไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ ในรูป เราแทบไม่รู้เลยว่ารูปนี้ถูกถ่ายเมื่อไร

โดยมากเราอาจประเมินอายุของรูปถ่ายได้จากวิทยุ รถยนต์ อาหารบ้านเรือน เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ต โทรทัศน์ ฯลฯ แต่สำหรับเก้าอี้พลาสติกโมโนบลอก หากเราวางมันไว้แล้วถ่ายกับชายหาด หรือวิวภูเขาสวยๆ ที่ไหนสักแห่ง เราจะไม่สามารถบอกได้เลยว่านี่เป็นรูปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือว่าเพิ่งถ่ายเมื่อวานซืน รูปถ่ายแบบนี้เรียกว่า ‘รูปที่ไร้บริบท’ (context free) ซึ่งมีของไม่กี่อย่างบนโลกที่สามารถทำอย่างนี้ได้

 

2

 

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเก้าอี้ตัวแรกอย่างเป็นทางการของมนุษย์ (ที่ไม่ใช่ขอนไม้นะครับ) เกิดขึ้นเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ คือ มนุษย์เริ่มทำเก้าอี้เมื่อเริ่มตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านแปงเมืองเป็นเรื่องเป็นราว

แต่กว่าจะเกิดเก้าอี้ นักโบราณคดีคาดกันว่ามันน่าจะมาพร้อมกับความเจริญ เริ่มมีการบูชาเทพเจ้า เริ่มมีการแบ่งชนชั้นกันในชุมชน เก้าอี้เข้ามามีบทบาทตรงนี้เพื่อแบ่งแยกเทพเจ้ากับความสามัญ

ฟังดูเหมือนผมจะพาคุณย้อนไปไกลมาก

แต่เพื่อให้เห็นภาพ คุณจำต้องนึกถึงความเป็นจริงข้อหนึ่งว่า มนุษย์เราไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องนั่งเก้าอี้

การทำเก้าอี้ขึ้นมาหนึ่งตัวเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทรัพยากรหลายอย่าง โดยเฉพาะเวลาทำมาหากิน ความสำคัญของเก้าอี้จึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าอยู่ดีๆ มนุษย์ก็นึกสนุกทำมันขึ้นมา แต่มันต้องมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งอยากนั่งแล้วดูอยู่สูงกว่าคนอื่นๆ

ถึงตอนนี้ แม้เราจะมีเก้าอี้กันทุกบ้าน ทุกสำนักงาน แต่เก้าอี้ก็ยังทำหน้าที่อยู่อย่างหนึ่งก็คือ แบ่งแยกว่าคนไหนเป็นนายคนไหนเป็นบ่าว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมประธานบริษัทถึงใช้คำว่า ‘แชร์แมน’ (Chairman) และเก้าอี้ของท่านประธานมักใหญ่โตกว่าของพนักงาน

ที่แน่ๆ ไม่สำคัญว่าเก้าอี้แชร์แมนจะนั่งสบายไหม แต่มันเอาไว้บ่งบอกสถานภาพของคนนั่ง พูดง่ายๆ ก็คือแชร์แมนยุคนี้ ก็คงไม่ต่างจากหัวหน้าเผ่า หรือจักรพรรดิ

ก่อนการมาถึงของการผลิตเก้าอี้พลาสติก ในเกือบทุกสังคม เก้าอี้เป็นของมีราคา โดยมากทำจากไม้ หวาย และวัสดุอื่นๆ ประกอบกัน ถือเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลาในการประกอบสร้าง

ในสังคมตะวันตก การมีเก้าอี้ดีๆ จึงแตกต่างอย่างมากกับเก้าอี้ในคอฟฟี่เฮาส์สมัยก่อน ซึ่งอาจใช้ไม้ลังที่เหลือจากการขนส่งมาต่อเป็นโต๊ะเก้าอี้

ในเอเชีย แม้ว่าเราเป็นสังคมที่นั่งกับพื้นมาตลอด ทั้งในเอเชียตะวันตกและเอเชียกลางที่ให้คุณค่ากับพรม หรือในวัฒนธรรมจีนหรือญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับการนั่งบนเสื่อ จนปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอย่างที่เราพบในญี่ปุ่น (ส่วนหนึ่งมาจากการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหว การนั่งติดกับพื้นให้มากที่สุดนั้นปลอดภัยกว่า)

จริงๆ แล้ว มันชัดเจนมากสำหรับสังคมเอเชียว่า เก้าอี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เกินจำเป็นสำหรับครัวเรือนในสมัยก่อน กิจกรรมส่วนมากทำกันในระดับเรี่ยพื้นหรือติดดินมากกว่า แม้กระทั่งการขับถ่าย

ในสังคมไทย วัฒนธรรมการนั่งบนเก้าอี้นั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่มาแต่เก่าก่อน

หลังการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 เก้าอี้ก็ยังไม่ได้เป็นของแพร่หลาย ยิ่งคนต่างจังหวัดด้วยแล้ว เก้าอี้ดูเป็นเรื่องไกลจากวิถีชีวิตประจำวัน ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ยายผมซึ่งเป็นคนที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 7 (ท่านมาเสียชีวิตในช่วงปลายรัชกาลที่ 9) ก็ยังไม่ชินกับการนั่งเก้าอี้ ยายเลือกที่จะนั่งตั่งหรือเสื่อมากกว่า

เก้าอี้ไม่ได้เป็นของเก่าและไม่ได้แพร่หลาย แต่การมาถึงของเก้าอี้ราคาถูกอย่างเก้าอี้พลาสติกทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

ปัจจุบัน เก้าอี้พลาสติกกลายเป็นหนึ่งในเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก เก้าอี้แบบนี้ถูกผลิตออกมานับล้านๆ ตัวต่อวันทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในวัตถุที่สะท้อนถึงโลกาภิวัตน์ได้ดีที่สุด ไปถึงทุกที่ เข้าถึงทุกคน ยากดีมีจนแค่ไหนต้องเคยนั่งเก้าอี้พลาสติก

 

3

 

เก้าอี้พลาสติกหรือ ‘โมโนบลอก’ เริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

ตั้งแต่ปี 1920 ในระยะแรกมีความพยายามจะใช้เหล็กผสมกับลามิเนตเพื่อขึ้นรูป เพื่อให้ผลิตได้คราวละมากๆ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งทศวรรษ 1950 ที่อุตสาหกรรมพลาสติกเริ่มก้าวหน้า เก้าอี้พลาสติกตัวแรกของโลกชื่อว่า ‘แพนตอนแชร์’ (Panton Chair) ของเวอร์เนอร์ แพนตอน ออกมาในช่วงปีทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นเก้าอี้ขึ้นรูปพลาสติกเหมือนรูปตัว ‘S’ แต่ก็ไม่ใช่สินค้าราคาถูก เก้าอี้ยังคงเป็นของมีราคา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็ยังเป็นของมีราคา

ผู้ที่ทำให้เก้าอี้พลาสติกโมโนบลอกแพร่หลาย คือ วิโก มากิสเตรตติ (Vico Magistretti)

วิโกหาทางผลิตเก้าอี้พลาสติกราคาถูกให้คนอิตาลี ซึ่งในขณะนั้นประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างหนักเนื่องจากแพ้สงคราม กระทั่งได้ตัวต้นแบบในปี 1969 และพัฒนามาเรื่อยๆ โดยทำโมลด์เพื่อรีดให้พลาสติกบางลง และเสริมความแข็งแรงบางส่วนเพื่อรับน้ำหนัก ซึ่งนอกเหนือจากเป็นการลดต้นทุนแล้ว ยังทำให้เก้าอี้แบบนี้มีน้ำหนักเบา วางซ้อนกันได้ เก็บรักษาไม่ยุ่งยาก

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เก้าอี้พลาสติกก็เริ่มแพร่หลายไปสู่ทุกสังคมทุกชนชั้น และใช้เวลา 30 ปีจนกลายเป็นเก้าอี้ที่ถูกใช้งานมากที่สุดในโลก

ในแง่หนึ่ง เก้าอี้พลาสติกโมโนบลอกได้ให้ความหมายใหม่ของการนั่งและเปลี่ยนวิถีการนั่งของเรา จนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับการนั่งของเราอีกต่อไป

จากความน่าตื่นเต้นในยุคแรก มาสู่การใช้งานอย่างแพร่หลาย ทุกวันนี้ความสำเร็จของมันถูกมองว่าเป็นตัวแทนของสินค้าราคาถูก มักง่าย ไม่มีศิลปะและเป็นเหมือนโรคระบาด บางประเทศเก้าอี้แบบนี้ถูกจำกัดการใช้งานในที่สาธารณะ เช่นริมชายหาด หรือในอุทยานบางแห่งในยุโรป เพราะถูกมองว่าทำลายทัศนียภาพ อีกทั้งยังมีข้อโต้แย้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายยากมาก แต่กระนั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดความนิยมของการใช้เก้าอี้พลาสติกลงไปได้ และที่ตลกกว่านั้นก็คือ มันก็ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ที่ปลอดภัยนัก

U.S. Consumer Product Safety Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เขาพบว่าปีปีหนึ่ง มีคนได้รับบาดเจ็บจากเก้าอี้เป็นจำนวนมาก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีกว่า 410,000 คนต่อปีที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากการตกเก้าอี้ โซฟา หรือโซฟาเบดและอีกกว่า 400,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บแบบเล็กๆ น้อยๆ

แต่กระนั้นเก้าอี้ก็ยังเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกซื้อกันมากที่สุด เพราะเราทุกคนถูกล้างสมองไปแล้วว่าเก้าอี้คือสิ่งจำเป็น

เล่ามาตั้งยาว แต่เอาจริงๆ ก็คิดว่าท้ายที่สุด สมมติว่าโลกนี้ไม่มีเก้าอี้ โดยสันดานแล้ว มนุษย์เราก็เรียนรู้ที่จะแบ่งแยกกันอยู่ดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save