fbpx

อะไรบ้างที่ ‘จีดีพี’ วัดไม่ได้?

จีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว 100 ปีก่อน นับเป็นนวัตกรรมในสมัยที่รถโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) เป็นยานยนต์ยอดนิยม และเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยฟิล์มสีเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ แม้ว่าปัจจุบันรถเต่าและฟิล์มต่างขึ้นหิ้งเป็นวัตถุ ‘คลาสสิก’ ที่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จัก แต่จีดีพีก็ยังเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ทุกประเทศยังคงให้ความศรัทธาไม่เสื่อมคลาย

ย้อนกลับไปเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1930s สหรัฐอเมริกาเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) แม้รัฐบาลต้องการเดินหน้านโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ยังขาดเครื่องมือเพื่อประกอบการตัดสินใจว่านโยบายใดใช้ได้ผลดีที่สุด วุฒิสภาสหรัฐฯ จึงได้มอบหมายให้นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มนามไซมอน คุซเนตส์ (Simon Kuznets) คิดค้นตัวเลขเพียงหนึ่งเดียวที่จะบอกได้ว่า ‘เศรษฐกิจ’ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

คุซเนตส์และทีมวิจัยรวบรวมข้อมูลสถิติจำนวนมหาศาล ประกอบสร้างเป็นรายงานเพื่อนำเสนอแก่สภาคองเกรสในปี 1934 โดยมีชื่อว่า ‘รายได้ประชาชาติ ปี 1929-1932’ (National Income, 1929-1932) ในรายงานฉบับดังกล่าวมีวิธีการวัดดัชนีที่คุซเนตส์ตั้งชื่อว่า ‘รายได้ประชาชาติ’ ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นตัวเลขจีดีพีในปัจจุบัน

แทบทุกประเทศบนโลกต่างตื่นเต้นกับการวัดขนาดเศรษฐกิจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้วนำมาสรุปเป็นตัวเลขตัวเดียว นวัตกรรมของคุซเนตส์ทำให้เราสามารถประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ วัดผลงานของผู้นำแต่ละคน นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตัวเลขจีดีพีในปัจจุบันยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อตลาดทุน อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และนโยบายทั้งการคลังและการเงิน

คุซเนตส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 1971 แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่หยิบตัวเลขจีดีพีไปใช้โดยไม่ฟัง ‘คำเตือน’ ของเขา แล้วบูชาจีดีพีราวกับเป็นหมุดหมาย จึงออกแบบนโยบายทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตแบบเกินคาด ในยุคที่ข้อมูลมีความละเอียดยิ่งขึ้น มีจำนวนมากขึ้น และความสามารถในการประมวลผลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะพิจารณา ‘จีดีพี’ ทางเลือกที่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงเพื่อให้สามารถตัดสินใจอย่างครบถ้วนและรอบด้านยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดของ ‘จีดีพี’

ลองคิดเล่นๆ ดูนะครับ ว่าการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพฯ จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นหรือลดลง?

คนจำนวนไม่น้อยย่อมมองว่า ‘ลดลง’ อย่างแน่นอน เพราะเราต้องเสียเวลาบนท้องถนนวันละหลายชั่วโมง แทนที่จะเข้าไปทำงานเพื่อสร้าง ‘ผลผลิต’ ยังไม่นับถึงความเหนื่อยล้าจากการเดินทางที่อาจทำให้ผลิตภาพลดลงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การจราจรที่ติดขัดอาจทำให้จีดีพี ‘เพิ่มขึ้น’ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญน้ำมันบนท้องถนน มลภาวะจากท่อไอเสียที่ทำให้คนในเมืองกรุงป่วยไข้และต้องใช้บริการรักษาพยาบาล ยังไม่นับการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนที่ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมจะกลายเป็น ‘รายได้’ ที่ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ

พอจะเห็นข้อจำกัดของจีดีพีไหมครับ ความจริงแล้วจีดีพีจะวัดเพียงการบริโภค การลงทุน ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล บวกกับการมูลค่าสินค้าส่งออก แล้วหักลบด้วยมูลค่าการนำเข้า โดยไม่ได้คำนึงถึง ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ ในสมการ

การใช้จีดีพีเป็นเข็มทิศนำทางจึงเปิดทางสู่นโยบายที่แปลกแปร่ง ไม่ว่าจะเป็นการเร่งให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอย ขุดทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเปลี่ยน ‘คุณค่า’ เป็น ‘มูลค่าทางเศรษฐกิจ’ ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมองข้ามการอนุรักษ์ แม้กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นทันตาในระยะสั้น แต่ก็ไม่ต่างจากการทำร้ายลูกหลานโดยไม่หลงเหลือทรัพยากรไว้สำหรับอนาคต

แม้การเป็น ‘เลขตัวเดียว’ ของจีดีพีจะเป็นลักษณะเด่น แต่ก็เป็นข้อด้อยสำคัญเช่นเดียวกัน แม้แต่คุซเนตส์เองก็ยังแสดงความกังวลว่าตัวชี้วัดขนาดเศรษฐกิจเพียงหนึ่งเดียวอาจบดบังความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ เขาเคยเขียนเอาไว้ว่า “เราไม่อาจวัดสวัสดิการทางเศรษฐกิจได้อย่างแน่ชัด ตราบใดที่เราไม่ทราบการกระจายตัวของรายได้ในระดับบุคคล”

นี่คือสองโจทย์สำคัญว่าด้วย ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’ ที่จีดีพีในปัจจุบันยังวัดไม่ได้

ปรับ ‘จีดีพี’ ให้สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

รัฐบาลปลื้ม! จีดีพีไทยขยายตัวเกินเป้า แตะ 3 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ผ่านมา”[i]

หากเราอ่านพาดหัวข่าวเช่นนี้ อาจเข้าใจว่าประชาชนทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนจะร่ำรวยขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ นี่คือภาพลวงตาของจีดีพี เพราะความจริงแล้วการเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นค่าเฉลี่ยที่ไม่คำนึงถึงการกระจายตัว

ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างเล่นๆ โดยแบ่งประชาชนออกเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก ชนชั้นกลาง 40 เปอร์เซ็นต์ต่อมา และกลุ่มที่ยากจนที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ตัวเลขจีดีพีที่เติบโต 3 เปอร์เซ็นต์ อาจเป็นเช่นกรณีที่ 1 ซึ่งทุกคนได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน กรณีที่ 2 ซึ่งการเติบโตกระจุกอยู่ที่คนที่ร่ำรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก และกรณีที่ 3 ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนที่ยากจนกว่าค่าเฉลี่ย

 ร่ำรวยที่สุด 10%ชนชั้นกลาง 40%ยากจนที่สุด 50%การขยายตัวของจีดีพี
กรณีที่ 13.00%3.00%3.00%3.00%
กรณีที่ 220.00%2.00%0.40%3.00%
กรณีที่ 30.00%1.26%5.00%3.00%

แน่นอนครับว่าข้อมูลในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มักจะเป็นข้อมูลซึ่งเผยแพร่ตามหลังจีดีพีอย่างน้อยหนึ่งปี กว่าจะได้เห็นตัวเลขเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายจึงช้าเกินกาล นี่คือเหตุผลที่กาเบรียล ซุคมัน (Gabriel Zucman) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ คิดค้นหาวิธีการใหม่เพื่อคำนวณความเหลื่อมล้ำแบบทันเวลา โดยแสดงให้เห็นว่าคนแต่ละชนชั้นได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันสถิติดังกล่าวเผยแพร่อยู่ทางเว็บไซต์ Realtime Inequality

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของรายได้โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก (สีแดง) ชนชั้นกลาง 40 เปอร์เซ็นต์ (สีน้ำเงิน) และกลุ่มที่ยากจนที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์ (สีเขียว) และค่าเฉลี่ย (สีขาว) จะเห็นว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูงจะมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยเกือบ 5 เท่าตัว
ภาพจาก Realtime Inequality

สถิติดังกล่าวนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง ซุคมันและทีมวิจัยมองย้อนกลับไปช่วงวิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2007 ซึ่งใช้เวลาร่วม 4 ปีเต็มก่อนที่จีดีพีจะฟื้นตัวกลับมาเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามช่วงชั้นรายได้จะพบว่ากลุ่มคนที่ยากจนที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรกลับต้องใช้เวลากว่า 10 ปีกว่าที่รายได้จะฟื้นตัวกลับไปเท่าช่วงก่อนวิกฤต

หากเทียบกับวิกฤตโควิด-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ พวกเขาพบว่ากลุ่มคนที่ยากจนที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์ใช้เวลาราว 20 เดือนเพื่อให้กลับมามีรายได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต แม้จะนับเป็นช่วงสั้นๆ หากเทียบกับวิกฤติซับไพรม์ แต่ระยะเวลาดังกล่าวก็มากกว่ากลุ่มคนที่ร่ำรวย 50 เปอร์เซ็นต์แรกที่รายได้ฟื้นตัวกลับมาภายในระยะเวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น

สองตัวอย่างนี้ฉายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าการมองตัวเลขจีดีพีเพียงลำพังอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาด เนื่องจากการเติบโตของรายได้ประชาชนในแต่ละฐานะทางสังคมนั้นไม่เท่ากัน การตัดสินใจหยุดนโยบายช่วยเหลือที่เร็วเกินไปเพราะเชื่อเลขจีดีพีจึงอาจเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้เลวร้ายลงกว่าเดิม

ปรับ ‘จีดีพี’ ให้คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ

หากใครคุ้นเคยกับแวดวงธุรกิจย่อมทราบดีว่าทุกบริษัทจะต้องจัดทำงบกำไรขาดทุนและงบแสดงฐานะการเงินหรืองบดุลเพื่อให้เห็น ‘สุขภาพ’ ของธุรกิจอย่างรอบด้าน แต่ทราบไหมครับว่าตัวชี้วัดที่ทุกรัฐบาลต่างศรัทธาอย่างจีดีพีถือเป็นเพียง ‘ผลผลิต’ หรือก็คือรายได้ของประเทศโดยมองข้าม ‘ทุน’ ไม่ว่าจะเป็นทุนมนุษย์หรือทุนธรรมชาติ

หากเราใช้ ‘รายได้’ เป็นตัวชี้วัดเพียงหนึ่งเดียวเพื่อออกแบบนโยบาย สุดท้ายเหล่านักการเมืองย่อมมีแรงจูงใจที่จะถลุง ‘ทุน’ เพื่อแปลงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะสั้นโดยไม่สนใจผลกระทบในระยะยาว

นี่คือสาเหตุที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ต่างเสนอให้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนตัวชี้วัดให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ‘ดัชนีวัดความก้าวหน้าที่แท้จริง’ (Genuine Progress Indicator หรือ GPI) ที่จะใช้จีดีพีเป็นตัวตั้งแล้วนำมาหักกลบลบกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ต้นทุนของอาชญากรรม ค่าใช้จ่ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราคาของมลพิษทางอากาศ น้ำ และเสียง และต้นทุนของสถาบันครอบครัวที่เสื่อมสลาย เป็นต้น

การศึกษาพบว่าแม้จีดีพีจะเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 1950 แต่ความเป็นอยู่ที่ดีตามดัชนีชี้วัดจีพีไอกลับเริ่มปรับตัวลดลงในปี 1978 สะท้อนให้เห็นว่าจีดีพีอาจเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ได้บ่งชี้คุณภาพชีวิตของประชาชน (คำนวณจีดีพีและจีพีไอจาก 17 ประเทศทั่วโลก)

ภาพจาก Beyond GDP: Measuring and achieving global genuine progress

องค์การสหประชาชาติเองก็เดินหน้าตั้งคณะทำงานเพื่อไปให้ไกลกว่าจีดีพี โดยต้องการให้มีการคำนวณรวมเอาทุนธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ พื้นที่ชุมน้ำ และระบบนิเวศอื่นๆ เข้ามาพิจารณาด้วย เกิดเป็นกรอบคิดที่ชื่อว่าระบบบัญชีเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (System of Environmental-Economic Accounting – SEEA) ที่อยู่ในระหว่างเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำเนียบขาวภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เปิดเผยโครงการริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมระยะเวลาถึง 15 ปี โดยหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาบัญชีทุนธรรมชาติเพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของความมั่งคั่งด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาโดยคำนวณกลับเป็นเชิงปริมาณ ดัชนีดังกล่าวจะติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรภายในประเทศเช่นเดียวกับจีดีพีโดยคาดว่าจะเผยแพร่ครั้งแรกในปีหน้า และภายในอีก 15 ปี ดัชนีชี้วัดนี้จะเป็นสถิติหลักเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อให้สามารถพิจารณาแลกได้แลกเสียระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดด้วยจีดีพี และราคาที่ต้องจ่ายในแง่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

ความโหดหินที่สุดในการจัดทำดัชนีดังกล่าวคือการ ‘ตีราคา’ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจวบจนปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ อีกทั้งมูลค่าที่ประเมินได้นั้นก็แตกต่างกันไปราวฟ้ากับเหวขึ้นอยู่กับวิธีการและมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ทำการประเมิน

แรกเริ่มเดิมที ศาสตร์ดังกล่าวใช้วิธีอิงจากราคาตลาด เช่น หากจะประเมินมูลค่าผืนป่าก็จะเป็นการประมาณการว่าถ้าตัดต้นไม้ทั้งหมดแล้วนำไปขายจะได้เงินมาเท่าไหร่ ก่อนจะพัฒนามาเป็นความยินดีจะจ่ายของประชาชน โดยทำแบบสำรวจความคิดเห็นว่าเรายอมควักกระเป๋าเท่าไหร่เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแต่ละประเภท ส่วนวิธีการล่าสุดซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางคือการพิจารณา ‘นิเวศบริการ’ (ecosystem services) โดยมองระบบนิเวศแต่ละประเภทเป็นทุนทรัพย์ที่ผลิตสินค้าและบริการให้แก่มนุษย์ในแต่ละปี เช่น พื้นที่ป่าชายเลนจะช่วยป้องกันชายฝั่งและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แมลงผสมเกสรช่วยในการผลิตอาหาร และคุณภาพอากาศที่ดีจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เป็นต้น

แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่การตีมูลค่าบริการกลับมาเป็นตัวเงินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ว่าจะตีมูลค่าออกมาเป็นเท่าใดก็ย่อมมีคนที่มองว่าตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไปหรือต่ำเกินควรอยู่ดี

เพื่อตัดปัญหาการถกเถียงเรื่อง ‘มูลค่าทางการเงิน’ ซึ่งยากที่จะหาข้อสรุปที่ตรงใจทุกฝ่าย นักวิชาการจำนวนไม่น้อยจึงเสนอให้มองการพัฒนาเป็น ‘หน้าปัด’ (dashboard) โดยพิจารณาหลากหลายตัวชี้วัดสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจ แทนที่จะต้องหวังพึ่งตัวชี้วัดซึ่งเป็นตัวเลขเพียงหนึ่งเดียว

ท่ามกลางวิกฤตภูมิอากาศและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทบทวี ถึงแม้เราจะยังไม่มีดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเท่ากับจีดีพี อย่างน้อยเราก็ควรตระหนักว่าจีดีพีไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน หากเราเห็นการเติบโตของจีดีพีก็อย่าเพิ่งรีบดีอกดีใจ เพราะการเติบโตดังกล่าวอาจกระจุกอยู่ในหมู่มหาเศรษฐี หรือแลกมากับทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงก็เป็นได้


เอกสารประกอบการเขียน

Real-Time Inequality

Beyond GDP: here’s a better way to measure people’s prosperity

The Biden administration aims to quantify the costs of ecological decay

A New National Strategy to Reflect Natural Assets on America’s Balance Sheet

Dasgupta Review: Nature’s value must be at the heart of economics


[i] พาดหัวข่าวสมมตินะครับ เพราะไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตราว 2.5% เท่านั้น

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save