fbpx
คนมีการศึกษาหลายคนคิดอะไร

คนมีการศึกษาหลายคนคิดอะไร

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสได้สนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ใหญ่และเพื่อนหลายคน คนเหล่านี้มีการศึกษาดี มีความรู้ความสามารถ มีสถานะทางสังคม และมีความมั่นคงในชีวิต พวกเขาเป็นคนมีคุณภาพในสังคม หลายคนสนใจการเมืองมานานหลายสิบปี แต่หลายคนเพิ่งสนใจการเมืองไม่กี่ปี

ส่วนใหญ่ชื่นชมและเลือกพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลทหารในปัจจุบัน แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าพรรคเหล่านี้ได้เปรียบจากกติกาของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี โดยที่ คสช. เป็นคนเลือก ส.ว. เหล่านี้

คนเหล่านี้รู้ทั้งรู้ว่ากติกาเหล่านี้เอาเปรียบคู่แข่งขัน แม้จะมีการอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบจากการทำประชามติของประชาชนแล้ว แต่ก็รู้กันว่าการทำประชามติไม่ได้บอกให้ละเอียดว่า คนเลือก ส.ว. คือ คสช. และเวลานั้นใครออกมาแสดงความเห็นอาจโดนจัดการได้

คนเหล่านี้รู้ทั้งรู้ว่า องค์กรอิสระอย่าง กกต. ป.ป.ช. ไม่ได้มีอิสระโดยแท้จริง อยู่ภายใต้การควบคุมของใคร และใครเป็นคนชี้นำ

คนเหล่านี้รู้ทั้งรู้ว่า กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ดูแปลกๆ ไม่ค่อยโปร่งใส และเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาเลือก แม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งแบบไม่ค่อยแฟร์

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะด้วยเหตุผลเหล่านี้คือ

1. ห้าปีของ คสช. ที่ผ่านมา พวกเขารู้สึกว่าชีวิตปลอดภัย บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย ใครประท้วงก็โดนรวบทันที แม้จะรู้ว่าคนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกสงบดีเหมือนพวกเขา แม้จะรู้ว่ามีคนจำนวนมากไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่มีกฎหมายที่กดไม่ให้คนเหล่านี้สามารถออกมาประท้วง หรือแสดงออกอย่างสันติได้

2. พวกเขาเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากยังไม่ฉลาดพอ ไม่รู้ทันความเลวร้ายและเล่ห์เหลี่ยมของพวกทักษิณ ยังงมงายไม่รู้ประสีประสา จึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยในการเลือกตั้ง เพื่อให้ฝ่ายของเขาได้อำนาจคือ ส.ว. 250 คน แม้จะรู้ว่าเอาเปรียบ แต่ก็ดีกว่าให้พวกทักษิณครองเมือง

3. ส่วนพรรคอนาคตใหม่น่ากลัวไปอีกแบบ พวกเขาเชื่อว่าแกนนำพรรคหากไม่ใช่พวกทักษิณก็เป็นพวกหัวรุนแรงจะเข้ามาขุดรากถอนโคนสังคม ตอนแรกก็ไม่ค่อยสนใจ เพราะคิดว่าจะได้ไม่กี่เสียง แต่เมื่อพรรคนี้ได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยในความสงบก็ทำให้หลายคนที่มีการศึกษาสูงเชื่อโดยสนิทใจกับข้อกล่าวหาหลายกระทงของผู้นำพรรคโดยไม่สนใจไตร่ตรองอะไร ขอเพียงแต่ใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการคนเหล่านี้ไม่ให้เป็นภัยต่อพวกเขา

4. คนเหล่านี้ไม่เชื่อความเท่าเทียมกัน พวกเขาเชื่อว่าคนมีการศึกษาสูง คนที่เสียภาษีมาก จะฉลาด มีสติปัญญาและรู้ดีกว่าชาวบ้าน จึงต้องมีอภิสิทธิ์มากกว่าในการปกครองและชี้นำประเทศ และคนที่ปกครองประเทศนี้ได้ก็คือกลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกับเขาเท่านั้น

5. พวกเขาจึงเชื่อว่า ประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทย คือต้องให้พวกเขาและคนที่เขาเลือกที่น่าจะเป็นคนดี ไม่โกงกินประเทศเป็นคนปกครองประเทศไปสักระยะหนึ่งก่อน รอจนกว่าชาวบ้านจะมีการศึกษามากกว่านี้ จะได้ไม่ถูกนักการเมืองหลอก

6. เวลาพูดถึงคำว่า ‘นักการเมือง’ จะมีสองความหมาย หากเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักการเมืองคือพวกคนเลว พร้อมจะเข้ามาโกงกิน หากเป็นพรรคการเมืองของพวกเขา นักการเมืองคือคนดีผู้เสียสละ แม้จะเป็นอดีตนักการเมืองจากพรรคตรงกันข้ามที่ถูกหาว่าขี้โกง แต่เมื่อมาอยู่พรรคที่เขาเลือกแล้วก็ถูกฟอกขาวกลายเป็นผู้เสียสละทันที

7. คนเหล่านี้เมื่อเห็นโพลว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามมาแรงมาก เด็กรุ่นใหม่เทเสียงให้เยอะมาก ก็จะโทษทุกอย่าง อาทิ “เด็กถูกล้างสมอง ชาวบ้านยังไม่ตาสว่าง” แต่ไม่เคยวิเคราะห์จริงๆ ว่า ห้าปีที่ผ่านมาเกิดอะไรกับสังคมไทย

8. เวลาพูดถึงคอร์รัปชันของพรรคพวกตัวเอง ก็จะมีคำพูดว่า “ยังดีกว่าจำนำข้าว ดีกว่าเผาบ้านเผาเมือง”

9. คนเหล่านี้หลายคนยอมรับว่ารัฐบาลเผด็จการก็เลวร้าย ไม่ได้มีความสามารถ หรือจัดการปัญหาไม่ได้เหมือนที่คาดหวังไว้ แต่พวกเขาพูดไม่ได้ เพราะอีโก้ของพวกเขาแรงมากเกินกว่าจะยอมรับว่าตัวเองคิดผิด จึงพยายามหาเหตุผลและชุดความเชื่อต่างๆ มาอธิบายว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อถูกต้องแล้ว

10. เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พรรคฝ่ายตรงข้ามยังได้คะแนนเสียงรวมกันมากกว่า โดยเฉพาะคะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่ พวกเขาก็จะนิ่งเฉยกับการทำงานของกกต. ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ยุติธรรม แต่พร้อมสนับสนุนข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ประเคนมาให้พรรคฝ่ายตรงข้าม ด้วยการแสดงความเห็น แชร์ หรือกดไลก์ ทำทุกอย่างไม่ให้พวกนี้ได้ผุดได้เกิด

งานวิจัยหลายชิ้นได้ข้อสรุปตรงกันว่า คนมีอายุ คนที่ประสบความสำเร็จ และมีสถานะทางสังคม มีแนวโน้มจะเป็นพวกอนุรักษนิยมมากขึ้น เพราะไม่อยากเปลี่ยนแปลงใดๆ อยากมีชีวิตอย่างสงบ สังคมไม่วุ่นวาย โดยไม่สนใจว่าสังคมที่สงบนี้มีความยุติธรรมหลงเหลือไหม

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save