fbpx

เมื่อโลกนี้กำลังจะไหม้ : 2019 ปีแห่งหายนะ และความหวังของสิ่งแวดล้อม

ธีทัต จันทราพิชิต เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

แม้การเมืองโลกปี 2019 จะยังหันขวา และผู้นำฝ่ายขวาอย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ค่อยเชื่อเรื่อง climate change เสียเท่าไหร่ แต่ในปีเดียวกันนี้ ทั้งโลกก็ได้ตระหนักรู้ในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะสัญญาณอันตรายจาก climate change นั้นเริ่มเขยิบเข้ามาใกล้จนเราสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นอากาศแปรปรวน ฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล ฝุ่น pm 2.5 ที่หนาจนเห็นทุกอย่างเป็นหมอกควัน พะยูนมาเรียมที่ตายจากขยะพลาสติก หมีโคอาล่าลูอิสที่ได้แผลจากไฟป่าจนต้องทำการุณยฆาต ทั้งหมดกำลังชี้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการเอาใจใส่มากกว่าที่คิด และนำมาสู่กระแสความรักโลกในปี 2019

ในโมงยามที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นกระแสหลัก เราจึงอยากชวนผู้อ่านทบทวนสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนผ่านผลงานของ 101 ในปีที่ผ่านมาว่า พฤติกรรมของเรามีความสัมพันธ์กับ climate change อย่างไร และมีความพยายาม นวัตกรรม หรือความสำเร็จใดบ้างที่จะมาจัดการและรับมือกับปัญหาดังกล่าว

 

โลกกำลังจมและลุกไหม้ เมื่อหายนะชัดแจ้งขึ้นทุกขณะ

 

ในปี 2019 อากาศที่แปรปรวนมากขึ้นทำให้เกิดเรื่องผันผวนจำนวนมาก จากที่คิดว่าโลกอาจจบลงด้วยการลุกเป็นไฟ เราอาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ อย่างที่ เพชร มโนปวิตร อธิบายว่า “น้ำจะท่วมฟ้า แต่ปลาจะหมดทะเล” คือแทนที่โลกจะแห้งแล้ง เต็มไปด้วยทะเลทราย โลกอาจจมนํ้าจากเหตุน้ำแข็งขั้วโลกละลาย

“ที่ผ่านมาความร้อนส่วนเกินเกือบทั้งหมดที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทรถึง 93%” และเพราะเช่นนั้น โลกเราจึงยังไม่ร้อนเท่าที่ควร แต่ถ้าปราการด่านแรกและท้ายสุดอย่างมหาสมุทรร้อนขึ้นเรื่อยๆ หายนะก็จะบังเกิด

“อุณหภูมิที่สูงขึ้นในทะเลยังได้สร้างหายนะให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก เช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในระยะหลัง ปะการังราว 1 ใน 5 ของโลกตายลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ปัญหาปะการังฟอกขาวทำให้สัตว์ทะเลจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัย และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การที่อุณหภูมิของนํ้าทะเลเพิ่มสูงขึ้นนั้นทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป เช่น ในผลงานเรื่อง The Blob : มวลน้ำอุ่นสังหารล้านชีวิต ของ โตมร ศุขปรีชา ได้เล่าถึงเหตุการณ์นกริมทะเลตายเกลื่อนหาดชายฝั่งอลาสก้าชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเกิดเหตุเช่นนี้ต่อเนื่องมา 5 ปีติดต่อกัน เมื่อไล่เรียงถึงต้นสายปลายเหตุของปรากฏการณ์นี้ ก็พบสมมติฐานสองทาง คือ พิษจากสาหร่ายทะเล และจำนวนปลาที่ลดลง ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถฟันธงแน่ชัด แต่ทั้งสองสมมติฐานต่างสัมพันธ์กับ climate change

และต้นเหตุของมันก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากมนุษย์

อีกตัวอย่างชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องจากมนุษย์ ไม่อาจหนีพ้นเรื่อง แม่นํ้าโขง ดังที่ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้อธิบายว่า ปกตินั้นแม่นํ้าโขงจะแห้งเหือดในฤดูแล้ง แต่ปีนี้กลับแห้งในฤดูนํ้าหลาก โดยเหตุของปัญหาคือการที่อากาศเปลี่ยนแปลงจนฝนทิ้งช่วงนานผิดปกติ และถูกย้ำซํ้าเติมด้วยการสร้างและใช้เขื่อนในประเทศจีน รวมถึงเขื่อนไซยะบุรีที่ประเทศลาว สายน้ำจากแม่น้ำโขงจึงไม่ได้ไหลตามธรรมชาติ แต่ถูกควบคุมด้วยน้ำมือมนุษย์ผ่านการปิดเปิดประตูเขื่อน

นอกจากนี้ในรายงานเรื่อง ไม่มีใครควรเป็นเจ้าของแม่น้ำเพียงผู้เดียว : เขื่อนไซยะบุรี หายนะของแม่น้ำโขง ? ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยังได้เล่าผลกระทบของเขื่อนในประเทศจีนไว้ว่า

“เขื่อนจีนจะกักน้ำในฤดูน้ำหลาก แล้วปล่อยน้ำในฤดูแล้ง นี่คือหลักการของจีน จีนบอกว่าเขื่อนจีนให้ประโยชน์กับคนท้ายน้ำ คือไม่ให้น้ำท่วมคนท้ายน้ำ ในฤดูน้ำหลากกักน้ำไว้ แล้วไม่ให้น้ำแล้งในฤดูแล้ง โดยการปล่อยน้ำมา แต่ในมุมมองชาวบ้านอย่างพวกเรา คนที่ใช้แม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต ในวิถีวัฒนธรรมของเรา แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

การปรากฏตัวของเขื่อนไซยะบุรีสร้างผลกระทบไปทั่วแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต นับเป็นเขื่อนแรกจาก 11 เขื่อนในโครงการของแม่น้ำโขงตอนล่าง ในบทความเรื่อง บาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เพชร  มโนปวิตร ได้ให้ภาพปัญหาความไม่สัมพันธ์ระหว่างการพัฒนากับความยั่งยืนว่า เขื่อนไซยะบุรีนั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งปริมาณตะกอนที่ลดลง ความยากลำบากในการอพยพของสัตว์น้ำ ไปจนถึงเรื่องของระดับน้ำ

ตะกอนและกรวดปริมาณมหาศาลจะถูกกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนความยาว 80 กิโลเมตร ต้องอย่าลืมว่าตะกอนที่ถูกสายน้ำนำพามาด้วยนั้นคือปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของแม่น้ำนั้นๆ ในทางกายภาพ การลดลงของปริมาณตะกอนจะส่งผลต่อเนื่องเรื่องการกัดเซาะตลิ่ง การสูญเสียพื้นกรวดที่เป็นแหล่งวางไข่สำคัญของปลาหลายชนิด และการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของโลก

จากหลายกรณีที่ว่ามา แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญต่อทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและ climate change จุดที่น่าสนใจคือแม้ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างชัดแจ้งเพียงใด แต่ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ยังคงดูดาย ซ้ำร้ายยังมุ่งหาผลประโยชน์การพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติอยู่ดี

 

การแก้ปัญหาและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

 

การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องง่าย ในปี 2019 โจทย์ที่สำคัญคือเราจะประสานการพัฒนาที่ถาโถมเข้ามา ให้เป็นหนึ่งเดียวกับความยั่งยืนอย่างไร ผลงานในปีที่ผ่านมา 101 ทำให้เราเห็นข้อเสนอและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ทั้งที่จับต้องได้ และที่ยังเป็นกลุ่มควันทางความคิด

เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2019 เอกศาสตร์ สรรพช่าง ได้พาเราไปสำรวจความพยายามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทำเป็นเหรียญรางวัล ของโอลิมปิกฤดูร้อน ที่มีญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปี 2020 แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าที่สุด และแยกขยะได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่โทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น ถูกนำกลับมารีไซเคิลไม่ถึงร้อยละสิบ โดยโทรศัพท์ส่วนมากจะถูก ‘เก็บ’ มากกว่า ‘ทิ้ง’ ทั้งที่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแร่ธาตุและองค์ประกอบหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้งานได้ใหม่ ไล่ตั้งแต่เงิน ทอง บรอนซ์ พัลลาเดียม อลูมิเนียม ฯลฯ

พวกเขาต้อง ‘ขุดเหมืองทอง’ จากซากกองขยะมือถือที่มีน้ำหนักมากกว่า 34,000 ตัน จากโทรศัพท์ 4.32 ล้านเครื่อง และกว่าจะได้ทองสักกรัมหนึ่ง ต้องควานหาจากโทรศัพท์มือถืออย่างน้อยๆ ก็ 35-40 เครื่อง โครงการนี้ได้ผลสองต่อ คือหนึ่ง พวกเขาได้แร่สำคัญๆ ไปใช้ในการทำงานแบบไม่ต้องซื้อใหม่ และสอง เป็นหนทางในการจัดการขยะที่กำจัดได้ยากที่สุดอย่างหนึ่งของโลก

นอกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว สิ่งของอีกอย่างมีการใช้งานที่ฟุ่มเฟือย คือของใกล้ตัวอย่างเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เสื้อผ้ามีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางการผลิต และยังเป็นสิ่งที่ผู้คนในปัจจุบันใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นผลมาจากการตลาดของธุรกิจ ‘Fast Fashion’ ที่กระตุ้นให้คนซื้อเสื้อผ้าตามเทรนด์ เรียกได้ว่าเป็นอีกการพัฒนาที่สวนทางกับความยั่งยืน โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ได้อธิบายผลกระทบของเสื้อผ้าไว้ในบทความ ‘Safe-Clean-Fair’ นิยามใหม่เมื่อแฟชั่นถูกปฏิวัติ ว่า

อุตสาหกรรมแฟชั่นเริ่มต้นที่วัสดุที่เป็น Abiotic จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการผลิตที่ไม่มีการบำบัด และใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง วัสดุเหล่านี้จะกระจายไปยังโลกของเราทั้งทางน้ำและเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เมื่อไปถึง retail ซึ่งทำงานตามโมเดลแบบ fast fashion ผู้บริโภคก็ถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว

ทางออกของปัญหานี้คือการทำให้คนซื้อเสื้อผ้าใหม่น้อยลง โดยโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘ธุรกิจเช่าเสื้อผ้า’ กรณิศ ตันอังสนากุล  ได้อธิบายหลักการของธุรกิจรูปแบบนี้ไว้ในบทความ Clothing Rental มีใส่ไม่ต้องซื้อ : ทางเลือกใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ว่า

บริการเช่าเสื้อผ้าทำให้ลูกค้าเข้าถึงเสื้อผ้าที่หลากหลายและลดความต้องการในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ลง โดยเฉพาะการเช่าระยะสั้น ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่ความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้า จึงได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นทางเลือกที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์เสื้อผ้าได้ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาตู้เสื้อผ้าที่อัดแน่นไปด้วยเสื้อผ้าที่ใช้ในบางโอกาส เช่น ชุดไปงาน เสื้อผ้าสำหรับการท่องเที่ยว

กระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีผลแค่ในวงการแฟชั่น แต่ยังขยายไปถึงการจัดงานอีเวนท์ต่างๆ โดยปีที่ผ่านมา Eyedropper Fill พาเราไปสำรวจการออกแบบงานอีเวนท์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่นโยบายแบนขวดพลาสติกในเทศกาลดนตรี Glastonbury การเลือกพื้นที่จัดงานที่ใช้พลังงานทดแทนและง่ายต่อการใช้ระบบขนส่งมวลชน ไปจนถึงรูปแบบของงานที่ถึงแม้จะสิ้นเปลืองพลังงานอย่างเทศกาลศิลปะแสงไฟ ก็ยังถูกออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดผ่านการเลือกวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ 101 ยังได้พาไปสำรวจความสำเร็จในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่น อาทิ ความสำเร็จของ แม่แจ่มโมเดล กับการจัดการกับปัญหาไฟป่า ไปจนถึงระดับสากล ที่เราได้เห็นความสำเร็จในการพลิกฟื้นและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่ปรากฏในบทความเรื่อง “วาฬคืนเมือง” ที่สามารถเพิ่มจำนวนของวาฬหลังค่อมในทะเลที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทะเลที่สกปรกที่สุดในโลก หรือตัวอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมลรัฐฮาวาย ซึ่งประสบความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดจาก 6% ของพลังงานที่ใช้ในปี 2008 กลายเป็นใช้พลังงานสะอาด 25% ในปี 2017 และยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

แม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถ้วนหน้า แต่หลายพื้นที่ในโลกก็สามารถฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมขึ้นมาได้ ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าแม้โลกร้อนจะเป็นปัญหา แต่ไม่มีคำว่าสายเกินไป หากเราทุกคนตระหนักและหันมาร่วมกันสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

การพัฒนากับความยั่งยืน สองทางที่ยังไม่บรรจบกัน

 

แน่นอนว่าทุกวันนี้เราไม่สามารถปฏิเสธการพัฒนาได้ แต่โจทย์สำคัญของโลกปัจจุบัน อาจอยู่ที่ว่า เราจะพัฒนาอย่างไรโดยไม่ละทิ้งความยั่งยืน

ในบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความท้าทายของกรุงเทพฯ ที่กำลังจะขยับขยายโครงสร้าง ขณะที่ตัวเมืองกรุงเทพฯ เองก็มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่อง climate change

“การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศมีส่วนสำคัญกับเมือง เพราะเป็นทรัพยากรที่ทำให้เศรษฐกิจเมืองโต ส่งผลต่อการใช้ชีวิต รวมถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคนด้วย

สิ่งที่น่าสนใจกว่าและเราสามารถจัดการได้คือการพัฒนาเมือง เพราะ climate change เป็นเรื่องนอกตัวที่เราจัดการได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่องใกล้ตัวนี่แหละที่มีพลวัตสูงยิ่งกว่าน้ำอีก

ช่วงก่อนเกิดน้ำท่วมปี 2554 เมืองขยายออกไป 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ขยายออกไปนั้นเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและพื้นที่เสี่ยงในอนาคต ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 จึงมีผู้เดือดร้อนมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเราไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ปัญหาตรงนี้เราสามารถจัดการและรับมือได้มากกว่า climate change”

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงได้เห็นหน่วยงานภาครัฐต่างๆ พยายามยัดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในแผนงาน ทว่านั่นก็ไม่ได้ช่วยรับประกันว่าการพัฒนาทั้งหลายนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต

กองบรรณาธิการ 101 มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจผลกระทบของการพัฒนาหลายต่อหลายกรณี ไล่ตั้งแต่การตัดถนน “มอเตอร์เวย์สายใต้” ผ่านพื้นที่สวนตาล และชุมชนที่มีวิถีชีวิตสืบทอดกันมานับร้อยปี

“สวนตาลที่มีมาตั้งแต่รุ่นอำแดง วิถีชีวิตที่สืบเนื่องมากว่าร้อยปี กำลังจะถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง และมอเตอร์ไซค์ที่เคยดังแต๊กๆๆ จากหมู่บ้านสู่สวนตาลในระยะทางไม่ถึงกิโลฯ ก็จำเป็นต้องขับอ้อมไกลขึ้น หากมีมอเตอร์เวย์มากั้นไว้”

หรือกรณีการให้สัมปทานเหมืองหินในดงมะไฟ จ.ฟนองบัวลำภู ซึ่งให้ภาพผลกระทบทั้งต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลจากการการทำเหมือง โดยแบ่งผลกระทบต่อชุมชนออกเป็น 5 ประการคือ 1. ปักหมุดเขตรุกที่ทำกินชาวบ้าน  2. เศษหินจากการระเบิดทำให้เกิดผลกระทบต่อการเพาะปลูก  3.กระทบถนนในชุมชน  4.ผลกระทบทางสุขภาพจากเสียงและแรงสั่นสะเทือน  5.ผลกระทบต่อระบบนิเวศ

ในเมื่อเราปฏิเสธการพัฒนาไม่ได้ สุดท้ายแล้วหัวใจของการพัฒนาอาจอยู่ที่การหาสมดุลระหว่างคำถามที่ว่า ต้องทำ ‘มาก’ ขนาดไหนถึงจะเกิดการพัฒนา และ ต้องรักษาขนาดไหนถึงจะเกิดความยั่งยืน ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ภาครัฐ นายทุน และชาวบ้าน ต้องร่วมกันหาสมดุลดังกล่าว

 

ทวงคืนอนาคต-การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

 

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงปีที่ผ่านมา คือการที่ผู้คนจากทั่งทุกมุมโลกลุกขึ้นมารณรงค์เรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง climate change โดยในปี 2019 เราได้เห็นแคมเปญอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก และหากสังเกตดีๆ จะพบว่าตัวตั้งตัวตีที่ออกมารณรงค์มักเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่

“หยุดขโมยอนาคต เอาอนาคตของเราคืนมา!” คือถ้อยคำหนึ่งจากบทความเรื่อง ปฏิบัติการทวงคืน ‘อนาคต’ ของคนรุ่นใหม่: จากโลกถึงไทย ของ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

ในเมื่อพวกเขาเป็นคนที่จะต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลง และอาจได้เผชิญกับวันที่โลกจมน้ำหรือมอดไหม้ไปกับตา ‘อนาคต’ จึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดที่ทำให้เหล่าคนรุ่นใหม่ใช้ในการรรณรงค์และเดินขบวน ณ เมือง Leipzig ประเทศเยอรมนี ในแคมเปญ ‘วันศุกร์เพื่ออนาคต’ (Fridays for Future) ซึ่งจัดขึ้นใน 125 ประเทศทั่วโลก ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2019 มีผู้เข้าร่วมรวมกันกว่า 1.6 ล้านคน โดยนักเรียนนักศึกษาร่วมหยุดเรียนทุกวันศุกร์และเดินขบวนเรียกร้องให้บรรดานักการเมืองดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก

แคมเปญนี้ริเริ่มโดย Greta Thunberg นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัย 16 ปี ซึ่งจัดกิจกรรมประท้วงในสวีเดนที่ชื่อว่า ‘หยุดเรียนเพื่อหยุดทำลายโลก’ (School strikes for climate change) หลังจากที่เกิดเหตุไฟใหม้ป่าครั้งใหญ่ในประเทศตนเมื่อปี 2561 Thunberg ต้องการผลักดันให้ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจตัดสินเชิงนโยบาย เร่งลงนามในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงผลักดันมาตรการระดับโลกเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างจริงจัง

หัวหอกของแคมเปญดังกล่าวอย่าง เกรต้า ธันเบิร์ก เป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ต่อการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในปีนี้ เธอกลายเป็นกระแสอย่างยิ่งในโลกโซเซียลช่วงปลายเดือนกันยายน จากสุนทรพจน์ “How dare you” และต่อมาได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปีโดยนิตยสาร TIME

ไม่ใช่แค่เกรต้าเท่านั้นที่กำลังต่อสู้ ในบทความของเพชร มโนปวิตร เรื่อง “ถึงเวลาของ Green New Deal” ได้เล่าถึง Green New Deal หรือข้อเสนอเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ (AOC) ส.ส.พรรคเดโมแครต เขต 14 รัฐนิวยอร์ค ที่อายุเพียง 30 ปี ว่า

ชื่อของ Green New Deal นั้นอ้างอิงถึง ‘New Deal’ ซึ่งเป็นนโยบายการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ใช้แก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 แต่เปลี่ยนเป็นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนั้น เพชรยังได้เขียนถึงสนทนาระหว่างเกรต้า ธันเบิร์ก กับ AOC ว่า “ผู้หญิงสองคนที่แทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ยกเว้นว่าทั้งคู่กลายเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่…” ในบทสนทนาดังกล่าว เราจะได้สำรวจความคิดของนักต่อสู้ที่มาจากต่างที่ต่างภูมิหลัง ดังบางช่วงบางตอนที่ว่า

AOC: ฉันท้อแท้อยู่พักใหญ่ ฉันจะทำอะไรดี นี่หรือคือชีวิตของฉัน ตื่นมาไปทำงานกลับบ้านวนอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ปลดปล่อยฉันคือเมื่อฉันได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวครั้งแรกที่เขตสงวนอินเดียนแดง Standing Rock ในรัฐดาโกต้า เพื่อคัดค้านการสร้างท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ ในตอนนั้นมันดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่คนธรรมดาจะพากันออกไปร่วมประท้วงและยืนขวางไม่ไห้มีการสร้างท่อส่งน้ำมันผ่านผืนดินตรงนั้นได้สำเร็จ มันทำให้ฉันรู้สึกมีพลังขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูกแม้เราจะไม่มีอะไรเลยในมือ มันคือการยืนหยัดต่อสู้กับบริษัทที่มีอำนาจมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

Greta: ฉันคิดว่าการที่ฉันนั่งประท้วงหน้ารัฐสภาคนเดียวได้ผลอย่างมาก เพราะทำให้คนเห็น คนรู้สึก จนเกิดอารมณ์ร่วม เด็กๆ หลายล้านคนทั่วโลกออกมาประท้วงและบอกว่า “เราจะเรียนไปทำไม ถ้าโลกนี้ไม่มีอนาคต” ไม่ใช่แค่ฉันเท่านั้นที่รู้สึกแต่เป็นทุกคนในความเคลื่อนไหวครั้งนี้

แม้พวกเธอจะมีความแตกต่างกัน กระนั้นก็เห็นได้ชัดว่าพวกเธอมีเป้าหมายเดียวกันคือ การรณรงค์ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

มองกลับมาที่ประเทศไทย คนรุ่นใหม่ก็เป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือ หลิง-นันทิชา โอเจริญชัย ผู้ก่อตั้งเพจ Climate Strike Thailand เธอกล่าวในบทสัมภาษณ์โดย ธิติ มีแต้ม ว่า

“การประท้วงมันไม่ใช่หน้าที่เรา วัยของเราควรได้ไปทำอะไรที่สนุกสนาน แต่โลกมันไม่เอื้อให้เราเป็นแบบนั้น เพราะเรารู้ว่าโลกกำลังบอกเราว่าโลกร้อน และสะกิดให้เราหันมาฟังโลก เพราะฉะนั้นมันเหมือนว่าเวลาของวัยเด็กมันไม่มีแล้ว”

สิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ทั่วโลกทั้งไทยและเทศหันมาสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง คือการที่พวกเขายังมีอนาคต แต่อนาคตที่ว่ากำลังจะมอดไหม้ ขณะที่พวก ‘ผู้ใหญ่’ ที่มีส่วนในการทำลาย อาจไม่ทันได้เห็นโลกใบนี้ล่มสลาย

2019 อาจเป็นปีที่สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมตกอยู่ในภาวะวิกฤตยิ่งกว่าครั้งไหน ผู้คนจึงทั้งหวาดกลัวและตระหนักรู้ในบทบาทความรับผิดชอบไปพร้อมกัน และความตระหนักดังกล่าวนั้นเองที่จุดไฟให้คนหนุ่มสาวต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงและลงมือทำอะไรบางอย่าง ไม่เพียงแต่อนาคตของพวกเขาและเธอ แต่คืออนาคตของพวกเราทุกคน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save