fbpx

ถนนสู่ทำเนียบขาว (5) : Super Tuesday

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

72 ชั่วโมง ยาวนานพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนๆ หนึ่ง

ถ้าโจ ไบเดน เขียนหนังสือสักเล่มในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อหนังสือคงหนีไม่พ้น “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยชัยชนะแค่ครั้งเดียว!”

เพราะ 3 วันหลังคว้าชัยอย่างขาดลอยในการเลือกตั้งขั้นต้นที่เซาท์แคโรไลนา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ด้วยเสียงสนับสนุนถล่มทลายจากกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ผิวดำ ไบเดนก็พลิกสถานะตัวเองจากผู้สมัครเจียนอยู่เจียนไปมาเป็นผู้สมัครแถวหน้าแบบที่เจ้าตัวเท้าบวมเพราะส้มเข่งใหญ่หล่นทับ

ไบเดนแสดงให้พลพรรคเดโมแครตสายหลักเห็นว่า เขาสู้ได้ เขาทำได้ เขาชนะเลือกตั้งได้ เขาชนะเบอร์นี แซนเดอร์สได้ และนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ชนชั้นนำในพรรคเดโมแครตเลือกประสานกำลังรวมพลหนุนหลังเขาเป็นตัวแทนในการ “หยุดเบอร์นี” ที่ชนะเลือกตั้งมาสามสนามติดกัน จนชนชั้นนำในพรรคเริ่มระส่ำระสาย

ด้านหนึ่งคือกลัวพรรคเดโมแครตจะโดนยึดและถูกรื้อด้วยเบอร์นีและผู้สนับสนุนปีกซ้ายตัวจี๊ด เหมือนที่รีพับลิกันโดนคนนอกพรรคอย่างทรัมป์ยึดไปเมื่อสี่ปีก่อน อีกด้านหนึ่ง นักการเมืองในพรรคจำนวนมาก ทั้ง ส.ส. ส.ว. ผู้การรัฐ ฯลฯ ที่ต้องลงสนามเลือกตั้งใหญ่พร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี 3 พฤศจิกายนนี้ ต่างกังวลว่า ถ้าให้นักการเมือง ‘ซ้ายตกขอบ’ ในสายตาของพวกเขาอย่างแซนเดอร์สเป็นคนนำขบวนพรรคยึดทำเนียบขาวและคองเกรส ชีวิตทางการเมืองของตัวเองจะยุ่งยากขึ้นจนมีสิทธิ์สอบตก (โดยเฉพาะใน Swing State หรือรัฐสนามรบที่ต้องช่วงชิงคะแนนเสียง เพราะยังไม่ใช่ ‘ของตาย’ สำหรับทั้งสองพรรค)  เพราะจะยิ่งยากที่จะดึงคะแนนเสียงของคนกลางๆ ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ หรือไม่สามารถดึงฐานเสียงรีพับลิกันที่มีสิทธิ์เปลี่ยนใจให้ย้ายข้างมาเลือกได้

ผลลัพธ์ที่เดโมแครตกังวลมากที่สุดคือ โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ต่ออีก 4 ปี, ยึดเสียงข้างมากในวุฒิสภากลับมาไม่สำเร็จ และสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไปอีกครั้ง

ช่วงนี้ผี จอร์จ แมคโกเวิร์น คงตามหลอกหลอนจิตใจของพลพรรคเดโมแครตสายหลัก แมคโกเวิร์นเป็นอดีตศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ อดีต ส.ส. และอดีต ส.ว. แห่งเซาท์ดาโกตา เขาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงสู้ศึกประธานาธิบดีปี 1972 แข่งกับริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกัน กว่าแมคโกเวิร์นจะฝ่าด่านมาเป็นตัวแทนพรรคได้ต้องต่อสู้กับแรงต้านของชนชั้นนำพรรคไม่น้อย รวมทั้งมีโชคในหลายเรื่องที่ทำให้ผู้สมัครตัวเต็งต้องหลุดวงโคจรไป  ผลลัพธ์ก็คือผู้สมัครสายเสรีนิยม ผู้ต่อต้านสงครามเวียดนามคนนี้ นำพาพรรคเดโมแครตพ่ายแพ้อย่างย่อยยับที่สุด โดยนิกสันกวาดชัยชนะได้ถึง 49 รัฐ จาก 50 รัฐ มีแค่แมสซาชูเซตส์เท่านั้นที่ภักดีต่อเดโมแครต (จริงๆ ยังชนะที่วอชิงตัน ดีซี อีกแห่งหนึ่ง เมืองหลวงนี้ไม่นับเป็นรัฐ แต่มี electoral college เลือกประธานาธิบดีได้ 3 เสียง) ทางด้านคะแนน electoral vote นิกสันได้ 520 เสียง ต่อแมคโกเวิร์น 17 เสียง

ด้วยคิดว่าไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย กลุ่มเดโมแครตสายหลักเลยรู้สึกว่าต้องหาตัวแทนสักคนเพื่อ “หยุดเบอร์นี” จากกลุ่มผู้สมัครสายกลางที่ยังหลงเหลืออยู่อีกหลายคน แล้วชัยชนะของไบเดนก็มาถูกที่ถูกเวลาถูกขนาด เพราะถ้าจะ “หยุดเบอร์นี” ก็ต้องหาทางทำลายเกมของเขาให้ได้ ก่อน “วันมหาอังคาร” หรือ Super Tuesday (3 มีนาคม) ที่มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ 14 รัฐ มีจำนวน delegates มากถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด และแซนเดอร์สคือเต็งหนึ่งในโพลต่างๆ  ชัยชนะในศึก Super Tuesday จะยิ่งทำให้สถานะผู้ชนะของแซนเดอร์สกล้าแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

ปฏิบัติการ “หยุดเบอร์นี” จึงต้องเดินเครื่องเต็มสูบ

 

ระยะห่างระหว่างสนามเซาท์แคโรไลนากับ Super Tuesday คือ 3 วัน แต่แกนนำพรรคเดโมแครตก็ทำจนได้ เราก็ได้เห็นพลังความกลัวเบอร์นี unite พรรคเดโมแครตได้เป็นครั้งแรกในสนามเลือกตั้งขั้นต้นที่เริ่มกันมาตั้งแต่ต้นปี 2019 และมีผู้ลงชิงชัยถึง 28 คน!

หลังผลการเลือกตั้งที่เซาท์แคโรไลนาถูกประกาศ แกนนำคนสำคัญของพรรคเดโมแครตออกมาเรียงหน้าประกาศสนับสนุนไบเดนอย่างพร้อมเพรียง เช่น แฮร์รี รีด อดีตผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาของพรรคเดโมแครต, เทอร์รี แมคคอลิฟฟ์ อดีตผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย อดีตหัวหน้าทีมหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของบิล คลินตัน และฮิลลารี คลินตัน, แทมมี ดักเวิร์ธ สมาชิกวุฒิสภารัฐอิลลินอยส์ เป็นต้น

การประกาศสนับสนุนไบเดนที่ทรงพลังยิ่งกว่ามาจากคู่แข่งในศึกชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคด้วยกัน พีท บูติจัจ และเอมี โคลบูชาร์ สองผู้สมัครสายกลางตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันก่อนหน้าวัน Super Tuesday และประกาศสนับสนุนไบเดนเป็นตัวแทนพรรค ปัญหาที่ว่าคะแนนเสียงของผู้สมัครสายกลางจะตัดกันเองจนแซนเดอร์สคว้าชิ้นปลามันไปกินก็หมดไป

เท่านั้นยังไม่พอ เบโต โอรูร์ค อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรค ซึ่งถอนตัวไปตั้งแต่ปลายปีก่อน ก็ออกมาประกาศสนับสนุนไบเดนอีกคน ทันก่อนเปิดหีบที่เท็กซัส รัฐที่มีจำนวน delegates มากเป็นอันดับ 3 จาก 50 รัฐ ซึ่งโพลชี้ว่าคะแนนนิยมของแซนเดอร์สนำเป็นอันดับหนึ่ง แรงสนับสนุนของเบโตมีความสำคัญมาก เพราะเขาเป็นขวัญใจฮิสแปนิกในเท็กซัส ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของแซนเดอร์ส เบโตเคยลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2018 โดยต่อสู้กับเท็ด ครูซ เจ้าของเก้าอี้จากรีพับลิกันอย่างสูสี แพ้ไปเพียง 2% ได้คะแนนเสียงมาร่วม 4 ล้านเสียง นับว่ามากที่สุดเท่าที่เดโมแครตเคยทำได้ในรัฐนี้

เมื่อคำประกาศสนับสนุนมา อดีตคู่แข่งมา เงินทุนก็ไหลมา ทุกอย่างเลยดูเป็นใจให้ไบเดนไปเสียหมด

จะเหลือก็แต่ผู้สมัครตัวตัดคะแนนอีกคน นั่นคือ ไมเคิล บลูมเบิร์ก มหาเศรษฐีเจ้าของสื่อใหญ่ที่ทุ่มเงินกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อรับมือศึก Super Tuesday เขาประกาศตัวว่าเป็นผู้สมัครสายกลางที่เหมาะพร้อมแก่การโค่นทรัมป์มากที่สุด นอกจากเงินค่าซื้อโฆษณาตามสื่อต่างๆ เขายังลงทุนเปิดสำนักงานหาเสียงหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ และจ้างทีมงานหาเสียงนับ 1,000 คน เงินทั้งหมดล้วนมาจากคลังสมบัติของตัวเอง ไม่มีการระดมทุนจากประชาชนเหมือนผู้สมัครคนอื่นๆ เลย การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าเงินซื้อชัยชนะทางการเมืองได้หรือไม่ และแค่ไหน  บลูมเบิร์กเดิมพันการลงแข่งครั้งนี้ที่ศึกเลือกตั้งวันนี้วันเดียว โดยเชื่อว่า ถ้าเขาชนะ Super Tuesday ได้เด็ดขาด ก็จะได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคในที่สุด

 

และแล้วผลเลือกตั้งของ Super Tuesday วันที่ทุกคนจ้องมอง ก็ปรากฏ

ไบเดนกวาดชัยชนะได้ถึง 10 รัฐ จาก 14 รัฐ ได้แก่ แอละแบมา (63% ต่อ 17%) อาร์คันซอ (41% ต่อ 22%) เมน (34% ต่อ 33%) แมสซาชูเซตส์ (34% ต่อ 27%) มินนิโซตา (39% ต่อ 30%) นอร์ธแคโรไลนา (43% ต่อ 24%) โอคลาโฮมา (39% ต่อ 25%) เทนเนสซี (42% ต่อ 25%) เท็กซัส (35% ต่อ 30%) และเวอร์จิเนีย (53% กับ 23%)

ส่วนเบอร์นี ได้ชัย 4 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย (34% ต่อ 26%) โคโรลาโด (37% ต่อ 25%) ยูทาห์ (35% ต่อ 18%) และเวอร์มอนต์ (51% ต่อ 22%)

ส่วนเงินกว่าห้าร้อยล้านเหรียญ ++ ของบลูมเบิร์กก็ราวกับเป็นขยะที่ถูกโยนทิ้งลงแม่น้ำ เขาได้คะแนนเสียงจาก 14 รัฐ เฉลี่ย 13.4% เงินหาเสียงกว่า 500 ล้านเหรียญของบลูมเบิร์กไม่สามารถทำให้เขาชนะได้แม้แต่รัฐเดียว จะมีก็แต่ชัยชนะที่อเมริกันซามัว หมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งถือเป็นเขตดินแดนนอกประเทศของสหรัฐ บลูมเบิร์กได้เสียง delegates จากอเมริกันซามัวมา 5 เสียง ส่วนอลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภารัฐแมสซาชูเซตส์ ผู้สมัครสายเสรีนิยมอีกคนที่ยังเหลืออยู่ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ได้คะแนนตามหลังบลูมเบิร์กเป็นส่วนใหญ่

อ่านผลเลือกตั้งแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือ รัฐทางใต้ ฐานที่มั่นของฐานเสียงผิวดำ ไบเดนเหมาแบบชนะขาดลอย เช่น ในแอละแบมา แซนเดอร์สได้คะแนนเสียงในกลุ่มคนดำแค่ 9% เทียบกับ 72% ของไบเดน หรือในเวอร์จิเนีย ไบเดนได้คะแนนสนับสนุนจากคนผิวดำมากกว่า 50% จนชนะได้มากเกินความคาดหมาย ส่วนเซอร์ไพรส์ประจำวันของไบเดนคือ ชัยชนะในรัฐทางฝั่งตะวันออกซึ่งมีลักษณะเสรีนิยมอย่างแมสซาชูเซตส์และเมน ซึ่งเขาไม่เคยคาดหวังว่าจะชนะ และแทบไม่ได้ลงไปหาเสียงเลย ที่แมสซาชูเซตส์ แม้แต่เจ้าบ้านอย่างวอร์เรนยังเข้าป้ายอันดับสาม ส่วนในเวอร์มอนต์ ที่แซนเดอร์สเป็นเจ้าถิ่น ไบเดนยังช่วงชิงคะแนนมาได้ถึง 22% (ครั้งก่อนฮิลลารี คลินตัน ได้มาแค่ 14%)

อีกสองแห่งที่เซอร์ไพรส์ไม่แพ้กัน คือของขวัญจากอดีตคู่แข่งที่ประกาศสนับสนุน คือมินนิโซตา รัฐของโคลบูชาร์ ซึ่งไบเดนชนะมาอย่างไม่คาดฝัน และรางวัลใหญ่ที่สุดของเขา ซึ่งย้อนไป 72 ชั่วโมงก่อนหน้าก็คงไม่มีใครคิดว่าเขาจะเอาชนะแซนเดอร์สได้ นั่นคือ เท็กซัส  ปรากฏว่าไบเดนและเบโตรวมพลังกันทำได้ แม้แซนเดอร์สจะยังชนะในกลุ่มฮิสแปนิก (45% ต่อ 24%) แต่ไบเดนก็ช่วงชิงเสียงมาได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่เสียงคนดำในเท็กซัสออกมาลงคะแนนช่วยเขามาก (60% ต่อ 17%) จนเอาชนะไปได้อย่างเฉียดฉิว 35% ต่อ 30%

Super Tuesday ถือเป็นความผิดหวังของแซนเดอร์ส  สถานะของเขาถอยกลับมาเป็นรองไบเดนเสียแล้ว แต่กระนั้น เขาก็ยังได้ชัยชนะในรัฐที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด นั่นคือ แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีจำนวน delegates มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ถือว่ายังกู้หน้าได้ไม่น้อย

หลังผลเลือกตั้งที่น่าผิดหวัง บลูมเบิร์กก็ประกาศถอนตัวไปอย่างหมดรูป และประกาศสนับสนุนไบเดนทันที ทำให้ไบเดนกลายเป็นตัวแทนฝั่งสายกลางเพียงหนึ่งเดียว ไม่กี่วันต่อมา กามาลา แฮร์ริส สมาชิกวุฒิสภาผิวสีแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย และคอรี บุกเกอร์ สมาชิกวุฒิสภาผิวสีแห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ สองผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคที่ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ ก็ออกมาประกาศสนับสนุนไบเดนเพิ่มอีก

ในอีกฟากหนึ่งของสนาม วอร์เรนก็ประกาศอำลาสนามไปอย่างชอกช้ำอีกคน ทำให้ผู้สมัครสายเสรีนิยมปีกซ้ายของพรรคเหลือแต่แซนเดอร์สเพียงหนึ่งเดียวเช่นกัน การออกจากสนามของวอร์เรนสะท้อนว่าการเมืองเชิงนโยบายเชิงลึกยังไม่ลงหลักปักฐานในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา และโอกาสที่ผู้หญิงจะได้เป็นประธานาธิบดียังมีขวากหนามอีกยาวไกล

ถ้าจำกันได้ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว วอร์เรนเป็นคนที่ได้รับเสียงเรียกร้องให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมากที่สุดคนหนึ่ง แต่เธอตัดสินใจไม่ลงสมัคร แซนเดอร์สซึ่งทำผลงานได้อย่างโดดเด่นเกินคาดในสนามเลือกตั้งขั้นต้นปี 2016 สู้กับคลินตันได้อย่างสูสี จึงสะสมพละกำลัง ทีมงาน ประสบการณ์ และเงินสนับสนุน เตรียมตัวสู้ศึกในอีก 4 ปีต่อมาได้ดีขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นผู้สมัครสายเสรีนิยมที่โดดเด่นและจับใจกว่าวอร์เรน แม้กระทั่งกลุ่ม Democracy for America กลุ่มการเมืองก้าวหน้าที่ผลักดันแคมเปญ Run Elizabeth Run เมื่อ 4 ปีก่อน ยังหันมาสนับสนุนแซนเดอร์ส แทนที่จะเป็นวอร์เรน

หลัง Super Tuesday ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การแข่งขันชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อไปสู้กับทรัมป์ อยู่ในมือของสองผู้เฒ่าวัย 77 ปี และ 78 ปี นั่นคือ ไบเดนและแซนเดอร์ส คนหนึ่งเป็นตัวแทนปีกกลาง มีฐานเสียงเป็นคนผิวดำ คนมีอายุ นักการเมืองในพรรค และสมาชิกพรรคสายกลาง ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนปีกซ้าย ผู้มีฐานเสียงเป็นคนฮิสแปนิก คนรุ่นใหม่ และสมาชิกพรรคสายเสรีนิยม  นี่คือภาพสะท้อนของพรรคเดโมแครตในปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างมีจำนวนไม่น้อย และยันกันในเชิงนโยบายและการบริหารจัดการพรรค

ตอนนี้สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่วอร์เรนที่ยังไม่ประกาศว่าจะสนับสนุนใคร ทั้งแซนเดอร์สและไบเดนต่างวิ่งหาด้วยต้องการเสียงสนับสนุนจากเธอ กลุ่มผู้สนับสนุนปีกซ้ายคาดหวังว่าวอร์เรนจะประกาศสนับสนุนแซนเดอร์ส เพราะอุดมการณ์น่าจะใกล้กันที่สุด สายก้าวหน้าหลายคนคาดหวังอยากให้ “แซนเดอร์ส-วอร์เรน” เป็นคู่หูชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี นี่น่าจะเป็นคู่ที่ชวนตื่นตะลึงทั้งต่อรีพับลิกันและเดโมแครตเอง แต่โอกาสคงเป็นไปได้ยากทางการเมือง แม้ว่าแซนเดอร์สชนะจริงๆ จะกล้าเลือกวอร์เรนหรือ อาจจะต้องเลือกคู่สมัครสายกลางเพื่อ balancing the ticket

แต่อีกด้านหนึ่งก็อย่าประมาทคู่ “ไบเดน-วอร์เรน” เชียวนะครับ เพราะถ้าไบเดนชนะแซนเดอร์สได้เป็นตัวแทนพรรคจริงๆ เขาก็ต้องการยื่นมือไปหากลุ่มเสรีนิยมให้มาสนับสนุนเขาด้วย แซนเดอร์สคงซ้ายเกินไป อาจจะมาจบพอดีที่วอร์เรนก็เป็นได้ กลุ่มปีกซ้ายในพรรคก็น่าจะพอใจ แถมเป็นนักการเมืองสตรีด้วย ถ้าชนะก็จะเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรก น่าสนใจว่าถ้าได้รับข้อเสนอนี้ วอร์เรนจะดีลอย่างไร

ถ้าวอร์เรนรักแซนเดอร์สก็ต้องออกมาประกาศสนับสนุนโดยเร็ว เพื่อดึงโมเมนตัมที่ตอนนี้เทไปอยู่ทางไบเดนแล้ว ให้กลับคืนมา โดยเฉพาะก่อนหน้าสนามสำคัญแห่งถัดไปที่มิชิแกน แต่ถ้าเธอรักตัวเอง ก็ไม่ต้องรีบ ร้องเพลงนั่งชมศึกระหว่างสองคน แล้วรอดีลดีๆ จากผู้ชนะ หรือถ้าเธอประเมินว่าคงหยุดไบเดนไม่อยู่แล้ว ก็เป็นไปได้เช่นกันที่จะออกมาเทใจให้ไบเดน หากวอร์เรนหนุนไบเดนจะส่งผลบั่นทอนแซนเดอร์ส มากกว่ากรณีที่วอร์เรนหนุนแซนเดอร์สจะบั่นทอนไบเดน

น่าสนใจว่าใครจะชนะศึกชิงเสียงสนับสนุนจากวอร์เรน

กลับมาที่ศึกเลือกตั้งขั้นต้นสนามต่อไป รอบนี้เป็นครั้งแรกที่เหลือตัวเต็งสองคน ไบเดน v แซนเดอร์ส สนามหลักอยู่ที่มิชิแกน ซึ่งเป็นสนามที่จะพิสูจน์สองเรื่อง

หนึ่ง มิชิแกนจะเป็นบทพิสูจน์ครั้งแรกของการช่วงชิงคะแนนเสียงจากชนชั้นแรงงาน รัฐนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เรียกว่า rust belt นั่นคือเขตพื้นที่อุตสาหกรรมที่เผชิญภาวะถดถอย ประชากรย้ายออก เมืองเสื่อมโทรมลง เมื่อก่อนพื้นที่เหล่านี้เป็นฐานเสียงของเดโมแครต แต่ย้ายไปสนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ครั้งก่อนแซนเดอร์สเอาชนะคลินตันได้ที่นี่

สอง แซนเดอร์สจะพลิกสถานการณ์กลับมาได้หรือไม่ บทพิสูจน์ความสามารถของแซนเดอร์สของจริงเริ่มต้นแล้วว่าในสถานการณ์ที่เป็นรอง แถมต้องสู้กับชนชั้นนำเกือบทั้งพรรค เขาจะเอาตัวรอดอย่างไร จะพลิกเกมอย่างไร และจะใช้ฐานเสียงจากประชาชนมาล้อมพรรคให้สำเร็จได้อย่างไร ถ้าทำได้ก็คู่ควรสำหรับตำแหน่งตัวแทนพรรคแล้ว

หากแซนเดอร์สแพ้ที่มิชิแกน แคมเปญของเขาน่าจะเข้าสู่ภาวะขาลง แต่ถ้าชนะได้ ศึกชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตก็คงยืดเยื้อ ให้สนุกกันต่ออีกสักพัก

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save