fbpx
ถนนสู่ทำเนียบขาว (4) : South Carolina

ถนนสู่ทำเนียบขาว (4) : South Carolina

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

แล้ว โจ ไบเดน ก็ทำได้สำเร็จ!

การเลือกตั้งขั้นต้นที่เซาท์แคโรไลนา เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 เป็นชัยชนะครั้งแรกและครั้งใหญ่ที่สุดของไบเดนในศึกชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ผมไม่ได้หมายถึงแค่การเลือกตั้งในปีนี้เท่านั้น เพราะตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นความฝันของไบเดน วัย 77 ปี มาตั้งแต่เจ้าตัวอายุหลักสี่ (ไบเดนเป็นสมาชิกวุฒิสภารัฐเดลาแวร์มาตั้งแต่อายุ 30 ปี และได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 36 ปี ตั้งแต่ปี 1973-2009) ตลอด 32 ปีที่ผ่านมา เขาลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 1988, 2008 และ 2020

ครั้งแรก ไบเดนหนุ่มถอนตัวก่อนสนามเลือกตั้งขั้นต้นสนามแรกจะเริ่ม เพราะโดนแฉว่าไปลอกสปีชของนักการเมืองอังกฤษและเคยติด F สมัยเรียนเพราะเขียนอ้างอิงในเปเปอร์ไม่ถูกต้อง ครั้งที่สอง ขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ลงแข่งสู้กับโอบามาและฮิลลารี คลินตัน แต่ก็ต้องถอนตัวไปตั้งแต่สนามแรก เพราะพ่ายยับได้คะแนนนิยมที่ไอโอวาแค่ 1% เท่านั้น ภายหลังโอบามาเลือกเขาเป็นคู่สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี และทำหน้าที่เคียงคู่โอบามาตลอด 8 ปีในทำเนียบขาว ระหว่างปี 2009-2017

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 คล้ายว่าไบเดนจะถูกกงล้อประวัติศาสตร์บดขยี้บนถนนสู่ทำเนียบขาวเช่นเดิม เพราะสามสนามแรกที่โอไฮโอ นิวแฮมป์เชียร์ และเนวาดา ตัวเขาเข้าป้ายอันดับ 4, 5 และ 2 ตามลำดับ ขณะที่เบอร์นี แซนเดอร์ส ได้คะแนนเสียงสูงสุดในทุกสนาม ดังนั้น เดิมพันของไบเดนที่เซาท์แคโรไลนาคือต้องชนะเท่านั้น ชนะอย่างเดียวไม่พอ ต้องชนะให้ขาดด้วย

แม้ว่าไบเดนเป็นตัวเต็งในสนามนี้มาตลอด แต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง ใจคอของเขาก็ต้องตุ๊มๆ ต้อมๆ เพราะผลโพลชี้ว่าคะแนนนิยมของแซนเดอร์สตีตื้นขึ้นมา จนอยู่ในระดับ 29% ต่อ 20% ทั้งที่เมื่อกลางปีที่แล้ว ไบเดนเคยนำแซนเดอร์สขาดลอย ที่ระดับ 40% ต่อ 15% ด้วยซ้ำไป

สุดท้าย เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง ไบเดนก็สามารถกวาดคะแนนไปถึง 48% ทิ้งห่างแซนเดอร์สที่ได้ 20% ชนะขาดลอยถึงเกือบ 30% แถมยังชนะในทุกเคาน์ตีอีกด้วย ส่วนผู้ท้าชิงตัวเต็งคนอื่นๆ ล้วนได้สัดส่วนคะแนนเสียงต่ำสิบ เรียกว่า พลังของคนผิวดำในเซาท์แคโรไลนา (ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 56% เป็นแอฟริกันอเมริกัน) จูงมือพาไบเดนกลับมาเดินแถวหน้าบนถนนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง

โมเมนตัมจากชัยชนะในสามสนามแรกของลุงเบอร์นีก็ไม่สามารถเอาชนะความรักของพี่น้องผิวดำต่อไบเดนได้  ไบเดนได้คะแนนเสียงจากกลุ่มคนผิวดำถึง 64% ขณะที่แซนเดอร์สได้เพียง 15% เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงคู่แข่งสายกลางของไบเดนอย่างพีท บูติจัจ ที่ได้แค่ 3% สอบตกอย่างสิ้นเชิงเบื้องหน้าผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งผิวสี

 

“ถ้าชาวเดโมแครตต้องการตัวแทนที่เป็นคนเดโมแครต — เดโมแครตตลอดชีวิต! เดโมแครตที่ภาคภูมิ! เดโมแครตแบบ ‘โอบามา-ไบเดน’! — มาร่วมสนับสนุนพวกเรา”

ไบเดนกล่าวปราศรัยบนเวทีประกาศชัยชนะ โดยมิวายแอบเนียนใช้ชื่อโอบามาหาเสียง

และท้าทายแซนเดอร์สว่า “เรามีโอกาสทั้ง ‘ชนะถล่มทลาย’ หรือ ‘แพ้ถล่มทลาย’ จะเลือกทางไหน”

แน่นอนว่า หนทาง ‘ชนะถล่มทลาย’ หมายถึง ให้เลือกไบเดนเป็นตัวแทนพรรค ไม่ใช่แซนเดอร์ส เพราะตัวเขาคือ ‘ทางเลือกหลัก’ ของเดโมแครตในการต่อสู้กับทรัมป์สำหรับคนที่ไม่เอาแซนเดอร์ส ลืมพีท บูติจัจ เอมี โคลบูชาร์ หรือไมเคิล บลูมเบิร์ก ไปได้แล้ว

ชัยชนะที่เซาท์แคโรไลนาของไบเดนคงจะทำให้ชนชั้นนำในพรรคเดโมแครตสบายใจขึ้นมาก และเสียงสนับสนุนของแกนนำพรรคสายกลางคงหลั่งไหลมาที่ไบเดนมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ต้องการสกัดแซนเดอร์สที่ไม่ใช่เดโมแครตพันธุ์แท้ และถูกมองว่ามีแนวคิดสุดโต่งซ้ายจัดเกินไป จนไม่น่าจะดึงดูดผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ และไม่น่าจะเชื่อมร้อยฐานเสียงทั้งหมดของพรรคเดโมแครตได้  ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน เจมส์ ไคลเบิร์น ส.ส.เซาท์แคโรไลนา นักการเมืองผิวดำที่ถือว่าทรงอิทธิพลทางการเมืองสูงสุด แกนนำพรรคเดโมแครตเบอร์สามในสภาผู้แทนราษฎร ออกมาประกาศให้การสนับสนุนไบเดนอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะมีชนชั้นนำในพรรคเดโมแครตเปิดตัวออกมาสนับสนุนไบเดนมากขึ้นเพื่อ “หยุดเบอร์นี”

ถึงวันนี้ พรรคเดโมแครตเดินหน้าเข้าสู่ “วันมหาอังคาร” หรือ Super Tuesday ด้วยศึกยกต่อไประหว่างไบเดนกับแซนเดอร์ส แต่รอบนี้มีไวลด์การ์ดเพิ่มมาอีกหนึ่ง นั่นคือ อภิมหาเศรษฐี ไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ซึ่งเคยสังกัดทั้งพรรคเดโมแครต รีพับลิกัน และเป็นนักการเมืองอิสระ

บลูมเบิร์กมุ่งเป้าการหาเสียงมาที่ Super Tuesday เป็นหลัก โดยใช้เงินส่วนตัวหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐยิงโฆษณาตามสื่อต่างๆ ไปทั่วทั้ง 14 รัฐที่มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะสนามใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส

ความน่าสนใจคือ ‘เงิน’ จะ ‘ซื้อ’ คะแนนนิยมให้บลูมเบิร์กได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บลูมเบิร์กใช้เงินตัวเอง (ว่ากันว่าประมาณ 1.5-3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซื้อเวลาของสถานีโทรทัศน์ CBS และ NBC ยาว 3 นาที เพื่อคุยกับคนอเมริกันก่อน Super Tuesday อย่างที่ผู้สมัครคนอื่นทำไม่ได้ แต่ถ้าดูจากผลเลือกตั้งของผู้สมัครอีกคนหนึ่งคือ ทอม สเตเยอร์ มหาเศรษฐีเจ้าของเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งทุ่มทุนลงเงินร่วม 200 ล้านเหรียญสหรัฐในศึกเลือกตั้งขั้นต้น ก็จะเห็นว่าเงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด เพราะสเตเยอร์ต้องถอนตัวไปอย่างชอกช้ำหลังการเลือกตั้งที่เซาท์แคโรไลนาโดยไม่ได้คะแนน delegates สักคนเดียว วันอังคารนี้เราก็จะได้รู้กันว่ายุทธศาสตร์ของบลูมเบิร์กจะสำเร็จแค่ไหน

การลงแข่งของบลูมเบิร์กเป็นหนามตำใจไบเดน เพราะแย่งชิงคะแนนเสียงในกลุ่มสายกลางเช่นเดียวกับเขา รวมถึงเมเยอร์พีทและโคลบูชาร์ด้วย โอกาสของแซนเดอร์สจึงเปิดกว้าง เพราะคู่แข่งอีก 4 คนแย่งคะแนนเสียงกันเอง (ตอนนี้เริ่มมีข่าวว่าพีท บูติจัจ อาจจะถอนตัวเร็วๆ นี้) ส่วนตัวแซนเดอร์สเองแย่งเสียงกับอลิซาเบธ วอร์เรน เป็นหลัก ซึ่งในสนามที่ผ่านมา ลุงเบอร์นีชนะขาด

พรรคเดโมแครตในวันนี้จึงแตกออกเป็นสองขั้ว คือ ขั้วกลางและขั้วซ้าย ซึ่งน่าจะมีไบเดนกับแซนเดอร์สเป็นตัวแทนของแต่ละขั้ว สงครามภายในพรรคเดโมแครตคงยังไม่จบลงใน Super Tuesday เผลอๆ อาจจะต้องลากยาวไปจนถึงที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครตที่วิสคอนซินในเดือนกรกฎาคมก็เป็นได้

 

“พรรคเดโมแครตต้องการชาวเดโมแครตเป็นตัวแทนพรรค ไม่ใช่พวกสังคมนิยม ไม่ใช่อดีตรีพับลิกัน ต้องเดโมแครต”

โจ ไบเดน ตอกย้ำเลือดเดโมแครตของตัวเองในรายการสัมภาษณ์ของ Fox News ก่อน Super Tuesday เขาแบรนด์แซนเดอร์สเป็น “สังคมนิยม” แบบที่พวกรีพับลิกันชอบทำ และยังแซะบลูมเบิร์กที่ย้ายพรรคไปมา

Super Tuesday ครั้งนี้จึงร้อนแรงไม่แพ้ทุกครั้ง

คงต้องจับตากันต่อว่า ขั้วไหนในเดโมแครตจะได้เป็นตัวแทนพรรคไป “หยุดทรัมป์” แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ละสายตาไม่ได้เช่นกันว่า ยุทธการ “หยุดเบอร์นี” ของคนในพรรคจะส่งผลอย่างไรต่อเดโมแครตเอง.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save