fbpx
ถนนสู่ทำเนียบขาว (2) : New Hampshire

ถนนสู่ทำเนียบขาว (2) : New Hampshire

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

” 0 ”

คือจำนวน delegates (ตัวแทนผู้ลงคะแนน) ที่ โจ ไบเดน และอลิซาเบธ วอร์เรน ได้รับ หลังศึกชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตสนามสองที่นิวแฮมป์เชียร์สิ้นสุดลง

ทั้งที่ผลโพลตั้งแต่ปีที่แล้ว ไบเดนนำโด่งในรัฐนี้มาตลอด สอดแทรกด้วยวอร์เรนขึ้นจ่าฝูงในบางช่วง กระทั่งต้นปีนี้เอง เบอร์นี แซนเดอร์ส ค่อยทำคะแนนตีตื้นขึ้นมานำ

คืนวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งขั้นต้นในระบบไพรมารีที่นิวแฮมป์เชียร์ ปรากฏว่า ลุงเบอร์นีเข้าป้ายเป็นอันดับหนึ่ง (26%) ชนะพีท บูติจัจ (24%) ไปประมาณ 4,000 คะแนน อันดับสามคือเซอร์ไพรส์แห่งค่ำคืน เอมี โคลบูชาร์ สมาชิกวุฒิสภารัฐมินนิโซตา ที่น้อยคนให้ความสนใจ ได้คะแนนแบบพลิกความคาดหมาย (20%) แซงหน้าอันดับสี่ วอร์เรน (9%) และไบเดน (8%)

ส่วนแอนดรูว์ หยาง นักธุรกิจสายเทค เจ้าของแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า 1,000 เหรียญต่อเดือนสำหรับผู้ใหญ่ทุกคน เอเชียนอเมริกันที่น่าจะมาไกลที่สุดในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี (แต่ก็ยังอีกไกล) โบกมืออำลาสนามหลังรู้ผลคะแนน (3%)

หากผลเลือกตั้งสนามแรกที่ไอโอวาชี้ว่า เดโมแครตสายกลางที่เคยเชื่อกันว่าไบเดนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเอาชนะทรัมป์ค่อยๆ ปันใจไปหาเมเยอร์พีทแบบเป็นกอบเป็นกำ ผลเลือกตั้งที่นิวแฮมป์เชียร์ก็ทำให้พีทต้องระวังหลัง เพราะจู่ๆ โคลบูชาร์ก็มาจากไหนไม่รู้เข้ามาร่วมแย่งคะแนนเสียงกลุ่มนี้ไปอีกคน เธอได้คะแนนนำในกลุ่มคนแก่ กลุ่มนิยมศาสนา และกลุ่มที่ต้องการเลือกผู้สมัครสายสมานฉันท์

เรียกว่า ถนนสู่ทำเนียบขาว 2020 มีทีเด็ดเซอร์ไพรส์ทุกสนาม

“Hello, America, I’m Amy Klobuchar and I will beat Donald Trump.” คือคำกล่าวของเธอบนเวทีปราศรัย คล้ายเป็นการประกาศชัยครั้งแรกของเธอบนถนนสู่ทำเนียบขาว (ในโลกการเมือง ไม่ต้องชนะก็ประกาศชัยได้!)

ว่ากันว่าอุดมการณ์สายกลาง โดยเฉพาะความคิดทางเศรษฐกิจการคลังที่เอียงไปทางอนุรักษนิยมและสนับสนุนแนวคิดรัฐขนาดเล็กของเธอ เข้ากันได้กับอุดมการณ์ของชาวนิวแฮมป์เชียร์ ที่มีผู้ใช้สิทธิ์อิสระไม่สังกัดพรรคจำนวนมาก และมีจิตใจเสรีชน แต่เธอจะไปต่อในสนามอื่นได้ไกลแค่ไหน ต้องผ่านเครื่องหมายคำถามอีกหลายข้อ

ขณะที่กลุ่มสายกลางแย่งคะแนนกันระหว่างพีท, โคลบูชาร์ และไบเดน  หันไปทางซ้าย ดูท่าว่าการแข่งขันระหว่างเบอร์นีกับวอร์เรนกำลังจะจบลงเร็วกว่าที่คิด ผ่านไปสองสนามแรก เบอร์นีชนะขาด คำปราศรัยหลังรู้ผลเลือกตั้งของวอร์เรนเริ่มเปลี่ยนโทนให้เบาขึ้น ปรับมาทางสมานรอยร้าวในพรรค เรียกร้องให้ชาวเดโมแครตร่วมมือกันสู้กับทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายน คล้ายกับจะเตรียมปูทางลงสวยๆ แล้ว

ข้อมูลอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ คนรุ่นใหม่ (อายุ 18-44 ปี) โหวตให้เบอร์นี วัย 78 ถึง 40% ขณะที่คนมีอายุ 45 ปีขึ้นไปโหวตให้เมเยอร์พีท วัย 38 ประมาณ 25% การเมืองเรื่องอายุไม่ได้ตรงไปตรงมาง่ายๆ ขนาดนั้น คนแก่ก็อาจเป็นขวัญใจวัยรุ่นได้ ด้วยพลังแห่งอุดมการณ์และบุคลิกท่าที

จากสนามนิวแฮมป์เชียร์ การเลือกตั้งขั้นต้นสามสถานีต่อไปคือเนวาดา (22 กุมภาพันธ์) เซาท์แคโรไลนา (29 กุมภาพันธ์) และวันมหาอังคาร (Super Tuesday) (3 มีนาคม)

เนวาดาเป็นคอคัสสนามเล็ก ไม่เป็นที่เฝ้ามองมาก ตอนนี้เบอร์นีคะแนนนำในโพลอยู่ ตามด้วยไบเดน สิ่งที่คนแอบจับตาคือ คอคัสครั้งนี้จะออกมาเละเหมือนไอโอวาไหม, พีทกับโคลบูชาร์จะอาศัยโมเมนตัมจากนิวแฮมป์เชียร์ตัดคะแนนไบเดนได้มากน้อยแค่ไหน และคะแนนเสียงฮิสแปนิกจะเทน้ำหนักไปทางไหนอย่างไร นี่เป็นการเลือกตั้งขั้นต้นสนามแรกที่ปัจจัยด้านคะแนนเสียงของคนกลุ่มน้อยมีความหมาย สนามนี้คือคนฮิสแปนิก

แต่สนามหลักที่สายตาทุกคู่จับจ้องต่อไปคือ เซาท์แคโรไลนา สนามใหญ่กว่าสามสนามแรกซึ่งมีโจทย์สำคัญคือการเมืองสีผิว รัฐนี้คือสนามพิสูจน์เสียงสนับสนุนจากคนผิวดำ ฐานเสียงหลักของเดโมแครต เพราะมีประชากรผิวดำจำนวนมาก

นี่คือขอนไม้กลางสายน้ำเชี่ยวของไบเดน

ในหมู่ผู้สมัครเดโมแครตรอบนี้ ไบเดนมีคะแนนนิยมในหมู่คนผิวดำดีที่สุด (40%) ภาพของเขาที่เป็นแชมเปี้ยนของสามัญชนคนทำงาน และโบรมานซ์ของเขากับโอบามาตลอดแปดปียังติดตราตรึงใจคนผิวดำไม่น้อย ขณะที่คนที่ต้องก้าวข้ามกำแพงเหนื่อยที่สุดคือเมเยอร์พีท ซึ่งคะแนนนิยมในกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ผิวดำไม่ดีเอาเสียเลย (ต่ำกว่า 5%) ด้วยสารพัดคำถามสมัยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเซาท์เบนด์ในอินเดียนา

ที่สนามเซาท์แคโรไลนา ไบเดนต้องชนะสถานเดียว ถึงจะสร้างโมเมนตัมให้กลับมาทันท่วงทีก่อน Super Tuesday 3 มีนาคม ซึ่งเป็นวันจัดเลือกตั้งขั้นต้นครั้งใหญ่ที่สุดทั่วอเมริกาถึง 14 รัฐ โดยเฉพาะแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส สองรัฐขนาดยักษ์ที่มีจำนวน delegates มหาศาล รวมทั้งการเลือกตั้งของชาวเดโมแครตในต่างประเทศทั่วโลก (Democrat Abroad Primary) ซึ่งมีศักดิ์เท่ากับหนึ่งรัฐ วันนั้นวันเดียวมีการแย่งชิง delegates จำนวนหนึ่งในสามของทั้งหมด

ผลโพลของเซาท์แคโรไลนาล่าสุด ไบเดนนำขาด ตามด้วยเบอร์นี่ที่แซงวอร์เรนขึ้นมา ส่วนคะแนนของพีทลงต่ำไปไกลเลย

ถ้าไบเดนชนะที่นี่ได้สำเร็จ และถ้าชนะขาด สถานะผู้สมัครกลุ่มนำของเขาก็จะกลับมา เดโมแครตจะเดินหน้าสู่ Super Tuesday ด้วยผู้สมัครกลุ่มนำ 3+1 นั่นคือ เบอร์นี่ พีท ไบเดน และบลูมเบิร์ก

บลูมเบิร์กโผล่มาจากไหนอีกคน!

มหาเศรษฐีไมเคิล บลูมเบิร์ก วัย 77 ปี เจ้าของสื่อใหญ่และธุรกิจซอฟแวร์ข้อมูลการเงิน อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ผู้เคยสังกัดพรรคเดโมแครต แล้วย้ายไปรีพับลิกัน ต่อมาประกาศตัวเป็นนักการเมืองอิสระไม่สังกัดพรรค ก่อนย้ายกลับมาเดโมแครตอีกครั้ง ประกาศตัวลงสนามชิงตำแหน่งประธานาธิบดีช้ากว่าใครเพื่อนเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง ไม่ทันได้ขึ้นเวทีดีเบตใหญ่กับคนอื่น ไม่สนใจลงแข่งในสี่สนามแรก แต่ทุ่มเงินลงทุนไปกับ Super Tuesday เป็นหลัก เข้าสนามมาไม่นานแต่พี่แกซื้อแอดชุดใหญ่ปูพรมหลายรัฐ ใส่คนไม่ยั้ง จนทีมงานหาเสียงใหญ่ที่สุดเกินหน้าผู้สมัครทุกคนไปแล้ว ว่ากันว่าควักเงินตัวเองถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

ปลายปีก่อนพอยังไม่เห็นตัวละครในเดโมแครตที่ครองสภาพนำได้ชัดเจน บลูมเบิร์กก็ประกาศลงสนาม หมายเป็นตาอยู่ ยิ่งตอนนี้คะแนนเสียงกลุ่มกลางๆ ในเดโมแครตยังไม่ฟันธงว่าจะเอาไบเดนหรือพีท ยิ่งมีโคลบูชาร์โผล่มาอีกคน บลูมเบิร์กก็ยิ่งหวังว่าตัวเองจะมีโอกาสสอดแทรกในกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ที่ไม่เอาทรัมป์ ไม่กล้าเลือกเบอร์นี แต่ไม่รู้จะเลือกใคร

นอกจากทรัมป์แล้ว อีกคนที่ยิ้มเงียบๆ ในการเฝ้ามองผลเลือกตั้งในไอโอวาและนิวแฮมป์เชียร์ โดยไม่ต้องออกแรง ก็คือบลูมเบิร์กนี่ละ

หลัง Super Tuesday เราก็จะได้เห็นว่าเบอร์นีพร้อมเป็นแคนดิเดทเบอร์หนึ่งของพรรคหรือยัง และจะได้เห็นตัวว่าคู่แข่งสายกลางที่จะสู้กับลุงต่อไปจะเหลือใคร พีท ไบเดน บลูมเบิร์ก หรือโคลบูชาร์ พีทจะอาศัยโมเมนตัมจากสองสนามแรกได้แค่ไหน ไบเดนจะฟื้นคืนชีพได้หรือไม่ โคลบูชาร์หมดบทเซอร์ไพรส์หรือยัง และบลูมเบิร์กมาตูมเดียวจะมีน้ำยาจริงหรือ ส่วนวอร์เรน ถ้ากลับมาได้คือปาฏิหาริย์

ถ้าลุงเบอร์นีชนะขาดหรือชนะห่างหลังพ้นศึก Super Tuesday ไปได้ โอกาสเกิดดรีมแมทช์ 2016 ในปี 2020 นั่นคือ ทรัมป์ v เบอร์นี ก็ยิ่งเป็นไปได้ แม้ความสดอาจจะน้อยลงกว่า 4 ปีก่อน คอการเมืองกลางๆ น่าจะมันสะใจ เป็นคู่ที่สู้กันสนุกแน่  ขณะที่ฝ่ายรีพับลิกันคงยิ้มกว่าเจอไบเดนหรือพวกสายกลางๆ เพราะสู้ง่ายกว่าคู่แข่งคนอื่นในแง่การบริหารฐานเสียงพรรคตัวเอง คนรีพับลิกันต่อให้เกลียดทรัมป์ยังไงก็คงย้ายฝั่งไปเลือกเบอร์นีไม่ลง

ส่วนทางฝ่ายชนชั้นนำเดโมแครตคงรู้สึกฝันร้ายเหมือนที่ชนชั้นนำรีพับลิกันรู้สึกเมื่อ 4 ปีก่อนที่โดนทรัมป์ยึดพรรคไป เพราะทั้งทรัมป์และเบอร์นีถือว่าเป็นคนนอกพรรค ตัวเบอร์นีจริงๆ เป็นสมาชิกวุฒิสภาอิสระ แต่ทำงานร่วมกับเดโมแครตในสภา เขาไม่ใช่เดโมแครตสายหลัก ครั้งก่อนถึงถูกกระทำและกีดกันต่างๆ นานาจากชนชั้นนำของพรรค จนพ่ายคลินตันไปแบบน่าสงสัยในหลายสนามรบ

ถ้าเบอร์นี(ใกล้)ชนะกลายเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตขึ้นมาจริง อย่าลืมจับตาตัวละครสำคัญที่จะกลับมา — ฮิลลารี คลินตัน

อย่าประมาทในความเจ้าคิดเจ้าแค้นของเธอ เพราะพอเบอร์นีคะแนนนำขึ้นมา ไม่ทันไรเธอก็ออกมาแซะคุณลุงอดีตคู่แข่งเสียแล้ว

“Nobody likes him [Sanders], nobody wants to work with him, he got nothing done… It’s his online Bernie Bros and their relentless attacks on lots of his competitors, particularly the women.” — สื่ออเมริกันตีข่าวบทสัมภาษณ์ของคลินตันถึงอดีตคู่แข่งร่วมฝั่งอย่างสนุกเสี้ยมเมื่อไม่นานนี้

คลินตันเคยให้สัมภาษณ์โฮเวิร์ด สเติร์น นักจัดรายการวิทยุในตำนานว่า เธอรู้สึกเฮิร์ตมากที่เบอร์นีประกาศสนับสนุนเธอช้าเหลือเกินตอนเธอได้เป็นตัวแทนพรรคลงสนามแข่งกับทรัมป์ในปี 2016 ไม่แปลกใจที่เธอจะพูดถึงเบอร์นีในทางบวกน้อยครั้งมาก

ใครอยากดูซีรีส์การเมืองสนุกๆ ก็ติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกากันครับ ครบรส รับรอง.

 

หมายเหตุ: อ่าน ถนนสู่ทำเนียบขาว (1) : Iowa ได้ ที่นี่ 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save