fbpx

The Killing of the Sacred Deer หากความพิโรธโกรธชังมีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์

พูดถึงโศกนาฏกรรมบันเทิงหากไม่นึกถึงชื่อวิลเลียม เช็กสเปียร์ อีกชื่อหนึ่งที่ตีคู่กันมาก็เห็นจะเป็นโศกนาฏกรรมกรีก ที่มักจะเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก โลภ โกรธ หลง โดยมีตัวละครหลักๆ คือไม่คนก็เทพ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจและสถานะไร้อำนาจเสมอ ด้วยเอกลักษณ์ที่มักจะมีตัวละครไม่อยู่ ‘ข้างบน’ ก็อยู่ ‘ข้างล่าง’ ไปจนถึงการอยู่เหนือไปด้านบนตัวเองในอดีต และตกต่ำไปอยู่ด้านล่างของตัวเองที่เคยเป็นอย่างกู่ไม่กลับ ซึ่งแน่นอน ขึ้นชื่อว่าโศกนาฏกรรมย่อมต้องมีจุดจบแบบหักอกหักทรวง

The Killing of the Sacred Deer (2017) เป็นผลงานลำดับถัดไปของยอร์กอส ลานธิมอส ผู้กำกับชาวกรีกที่สร้างชื่อให้โลกได้รู้จักเขาอย่างทั่วถึงด้วยหนังแนวดิสโทเปียตลกร้ายสะท้อนระบบอำนาจของกลุ่มสังคมในโลกความจริงอย่างเหนือจริงอย่าง The Lobster (2015) และคราวนี้ยอร์กอสยังคงพาเราไปสำรวจเรื่องราวเสียดสีระบบและวัฏจักรบางอย่างอีกเช่นเคย โดยดึงโครงสร้างเรื่องราวมาจากบทละครโศกนาฏกรรมกรีกคลาสสิกที่ – เมื่อผนวกกับความตลกร้ายสไตล์เขาแล้ว – ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าหนังแก้แค้นธรรมดา

(บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญภาพยนตร์ The Killing of the Sacred Deer)

หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘ครอบครัวเมอร์ฟี’ อันประกอบไปด้วย สตีเวน – ศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจ, แอนนา – ภรรยาที่ปรนนิบัติสามีอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง, คิม – ลูกสาววัยสะพรั่ง และบ็อบ – ลูกชาย/น้องชายที่กำลังโตตามวัย ชีวิตพวกเขาปกติธรรมดา เป็นครอบครัวทั่วไปที่มีสมาชิกครบ ชายคนหญิงคน มีสุนัขให้จูง มีต้นไม้ในสวนให้รด จนกระทั่งถึงการมาของมาร์ติน เด็กหนุ่มที่สตีเวนแอบไปเจอมาอย่างลับๆ และคอยดูแลห่างๆ มาตลอด มาร์ตินเข้าไปทำความรู้จักกับครอบครัวนี้ และจากนั้นเป็นต้นมา ครอบครัวนี้ก็ตกอยู่ในอันตรายและเริ่มแตกเป็นเสี่ยงๆ ทีละเล็กละน้อย

ความน่าดูระดับดวงตาเบิกโพลงของหนังเริ่มต้นด้วยชื่อผู้กำกับ ตัวอย่างประหลาดๆ ที่ดูแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเกี่ยวกับอะไรแต่ชวนดูอย่างน่าฉงน เพลงที่ร้องว่า ‘เบิร์น เบิร์น เบิร์น’ ของเอลลี โกลดิง ที่ทั้งเข้าและไม่เข้ากับตัวอย่างหนังอย่างไม่สามารถบรรยายได้ กับนักแสดงนำอย่างโคลิน แฟร์เรลล์, นิโคล คิดแมน และแบร์รี คีโอกัน ทั้งหมดนี้ผนวกเข้ากับการตัดต่อ ทำให้ตัวอย่างนี้ออกมาดูกระอักกระอ่วนและเต็มไปด้วยความผิดปกติอย่างบอกไม่ถูก

ซึ่งหนัง The Killing of the Sacred Deer ก็ส่งต่อความกระอักกระอ่วนและผิดปกติแบบที่แผ่ซ่านไปทั่วทั้งเรื่องอย่างไม่ผิดหวัง ดังที่ตัวอย่างสัญญากับเราเอาไว้ว่าจะมอบให้ แน่นอนขึ้นชื่อว่ายอร์กอสกับคนเขียนบทคู่ใจของเขาอย่าง Efthymis Filippou ที่ทำงานมาด้วยกันตั้งแต่ Dogtooth (2009), Alp (2011), The Lobster (2015), The Killing of the Sacred Deer (2017) ไปจนถึงหนังสั้นอย่าง Nimic (2019) หนังจึงเต็มไปด้วยบทสนทนาที่เหนือจริงและการกระทำหลุดโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความบันเทิงให้คนดูของผู้กำกับคนนี้

งานภาพที่เปิดเจิดประเจ้อแสดงถึงความไม่ประนีประนอมใดๆ อย่างสุดขั้วของหนัง ตั้งแต่ฉากเปิดที่เห็นหัวใจเต้นตุบๆ น้ำเสียงราบเรียบ บทสนทนาประหลาด การแสดงที่แผ่รังสีความผิดแปลก การพูดอย่างไร้ชีวิต การฟังอย่างไม่รู้สึกรู้สา กับดนตรีแบบผิดเพี้ยนและฟังดูยุ่งเหยิง ฯลฯ คือองค์ประกอบที่พอจับเอามามัดรวมกันแล้วทำให้ The Killing of the Sacred Deer เป็นหนังที่เต็มไปด้วยความสะอิดสะเอียนและน่าขยะแขยงจนท้องไส้ปั่นป่วนขณะดู รวมถึงการกระทำบางอย่างของตัวละครที่ – เพื่อบรรลุเป้าหมาย – ไม่สนใจว่าจะต้องทำสิ่งน่ารังเกียจและผิดระเบียบแค่ไหน

กลายเป็นว่า ‘ความผิดปกติ’ นี้กำลังสะท้อน ‘ความปกติ’ บางอย่างของโลกเราอย่างได้ผลยิ่งกว่าหนังที่เล่าแบบปกติเสียอีก ตัวละครของทั้งครอบครัวเมอร์ฟีและมาร์ตินดูมีมิติและไม่มีมิติในเวลาเดียวกัน คือมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน แต่การแสดงออกทำให้พวกเขาไม่ต่างจากหุ่นกระบอกที่กำลังถูกเชิดเพื่อเป็นท่อส่งข้อความบางอย่าง เป็นทาสรับใช้เรื่องราว หรือเป็นส่วนหนึ่งในละครเวทีที่มีผู้ชมนั่งเรียงรายดูกันอยู่ในความมืดโดยที่พวกเขาไม่เห็นเท่านั้น – ซึ่งก็คือพวกเรา

การที่ตัวละครเหล่านี้เป็นหุ่นกระบอกไร้ใบหน้าและโทนเสียงที่แตกต่างนี้เองจึงทำให้ครอบครัวเมอร์ฟีจะเป็นตัวแทนของใครก็ได้ในฐานะ ‘ผู้กระทำผิดและคนรอบข้างที่ต้องรับผลกรรม’ ในขณะที่มาร์ตินคือตัวแทนของความแค้น ที่อาจมองได้ทั้งแง่ที่ว่าเขาเป็นคนหนึ่งผู้มีมวลสารและเนื้อหนังมังสาที่โต้กลับความไม่ยุติธรรมด้วยความยุติธรรม การแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม หรือเป็น ‘กรรมที่เดินได้’ เหมือนใน อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม (2005) ซึ่งจะเป็นใครก็ได้เช่นกัน

ต้นตอทั้งหมดอาจดูเหมือนเริ่มจากการพาตัวละครมาร์ตินเข้าบ้านเหมือนการชักศึกเข้าบ้าน แต่เมื่อขุดลึกลงไปจะพบว่าต้นตอทั้งหมดนั้นมาจากการที่สตีเวนดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเช้าก่อนทำการผ่าตัด เป็นผลให้สติสัมปชัญญะของเขาไม่นิ่งพอที่จะแบกรับหน้าที่แพทย์ผ่าตัดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนได้ อันเป็นเหตุให้พ่อของมาร์ตินเสียชีวิต

นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ยอร์กอสพูดถึงความเห็นแก่ตัวกับการทำตามอำเภอใจของมนุษย์ได้อย่างแยบคาย อีกทั้งตัวละครสตีเวนยังมีอดีตกับความผิดบาปที่ไม่อาจลบล้าง การดูหนังเรื่องนี้สองรอบเหมือนดูหนังคนละม้วน รอบแรกดูด้วยสายตาที่ใกล้ชิดกับครอบครัวเมอร์ฟีและเอาใจช่วยตัวละครให้รอดจากสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะสตีเวน

แต่เมื่อเจอประโยคที่มาร์ตินพูดขึ้นมาว่า “Don’t you see?, It’s symbolic!, It’s Metaphorical!” ซึ่งพูดถึงโศกนาฏกรรมกรีก ทำให้มุมมองในการดูรอบสองกลายเป็นการมองหนังเป็นละครเวที เมื่อคิดแบบนี้ ทำให้หนัง The Killing of the Sacred Deer เป็นมากกว่าหนังแก้แค้นและตลกร้าย ที่ซ้อนทับกันด้วยฉากและเนื้อหาที่ตีความได้หลายแบบ ซึ่งพอมาไล่เรียงดูแล้ว พบว่าสามารถมองหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวแตกต่างกันถึง 5 แบบเลยทีเดียว

แบบที่ 1 :  หนังโศกนาฏกรรมกรีกที่กำเนิดใหม่ยุคโมเดิร์น

ปรัชญาและบทละครโศกนาฏกรรมคลาสสิกไม่ได้ถูกผูกติดอยู่แค่ว่าจะต้องเก่าและมีมาตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ยังไม่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาในยุคไหนก็ได้ ถูกส่งต่อและเกิดซ้ำได้เสมอๆ

The Killing of the Sacred Deer ก็เช่นกัน หนังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวที่มีชื่อว่า ‘Iphigenia at Aulis’ ของหนึ่งในสามนักประพันธ์บทละครกรีกอย่าง Euripides เรื่องนี้เป็นบทละครที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Agamemnon ราชาแห่ง Mycenae ที่ดันพลั้งมือไปฆ่ากวาง (sacred deer) เข้า ซึ่งกวางเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเทพธิดาแห่งการล่า Artemis และเพื่อเป็นการตอบแทนกับสิ่งที่เขาทำลงไป Artemis จึงหยุดลมไม่ให้พัดพาเรือที่กำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงทรอยได้ พร้อมยื่นข้อเสนอว่า Agamemnon จะต้องสังเวยลูกสาวคนโตที่เขารักยิ่งอย่าง Iphigenia หากต้องการให้เรือแล่นต่อ แน่นอนว่าราชาไม่มีทางเลือกใดๆ หากเขาฆ่าลูกสาว เขาเสียลูกสาว แต่หากเขาไม่ฆ่า ทั้งเขาและลูกสาวก็อาจตายเพราะทหารบนเรือได้เช่นกัน สุดท้ายจึงกลายเป็นว่า Iphigenia ยินดีที่จะสละชีวิตตัวเองเพื่อให้เรือไปต่อได้

กลับมามองที่หนังเรื่องนี้ เห็นได้ชัดว่าหนังมีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวดังกล่าวเต็มๆ เป็นหนังที่ได้รับช่วงต่อมาจากโศกนาฏกรรมกรีกเก่าแล้วกำเนิดใหม่ ในรูปแบบที่ทันสมัยกว่าเดิมก็ได้ หรือจะมองว่านี่คืองานประพันธ์บทละครโศกนาฏกรรมกรีกยุคใหม่ที่มีความเป็นต้นแบบในฐานะ ‘โมเดิร์นคลาสสิก’ ก็ได้เช่นกัน แต่ปลายทางเดียวกันคือเรื่องราวของพ่อที่ต้องตัดสินใจพรากสมาชิกครอบครัวสักคน เพราะทุกคนมีสถานะเป็นตายเท่ากัน สตีเวนคือ Agamemnon ส่วน Iphigenia คือลูกและภรรยา และอะไรบางอย่างที่กำลังนำพาครอบครัวพวกเขาไปสู่ความตายคือทหารบนเรือ โดยที่มาร์ตินคือตัวแทนของเทพเจ้า Artemis ที่แสดงความพิโรธออกมาในรูปแบบคำสาปที่ไม่สามารถอธิบายได้ทางการแพทย์

ฉากที่แอนนาหรือคนแม่จูบเท้าและปล่อยไปเป็นจุดที่บ่งบอกได้ว่า เธอมองเขาเป็นเทพเจ้าที่อยู่เหนือทุกอย่างและไม่มีประโยชน์ที่จะทำอะไรเทพเจ้าเพราะทุกคนต้องตายอยู่ดี มีเพียงสตีเวนเท่านั้นที่จะตัดสินได้ว่าจะสังหารหนึ่งศพด้วยลูกธนูหรือปืนลูกซองในมือ แล้วต้องขุดหลุมเพิ่มอีกสาม หรือรับข้อเสนอที่ไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วเลือกเองว่าจะให้เป็นหนึ่งศพไหน

แบบที่ 2 : ความเท่าเทียม และกฎธรรมชาติ

แม้ The Killing of the Sacred Deer จะเล่าเรื่องด้วยสไตล์ที่ดูฝืนธรรมชาติ แต่ก็นำเสนอความเป็นจริงที่ว่าแรงโต้กลับมักเกิดขึ้นเสมอ

หนังเน้นตรงนี้ด้วยตัวละครมาร์ติน ให้คนดูเห็นจากการที่พ่อเขาเสียชีวิต และมาร์ตินทำตัวเป็นคำพิพากษาให้กับสตีเวน ในเมื่อการปกปิดเกิดขึ้น และกฎหมายไม่สามารถทำอะไรเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสตีเวนมองว่าชีวิตของพ่อมาร์ตินที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเด็กคนนี้เป็นแค่คนไข้คนหนึ่ง ที่แค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นแค่กรณีที่ไม่อยากจะจำชื่อว่าเป็นใคร โตมาอย่างไร เป็นลูกใคร เป็นพ่อใคร สามีใคร นอกจากนี้ตัวละครมาร์ตินเองก็ยังแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นตัวแทนของความยุติธรรม เมื่อเขากัดแขนสตีเวนและเขากัดตัวเองคืน เช่นเดียวกันที่สตีเวนพรากสมาชิกครอบครัวเขาไป เขาจึงจับครอบครัวเป็นตัวประกันโดยบีบบังคับให้สตีเวนรู้สึกว่า “นี่ไม่แฟร์เลย เราพลั้งมือทำพ่อเด็กนี่ตายไปแค่คนเดียวนี่ แล้วทำไมครอบครัวเราต้องมาอยู่ในสภาวะตายแหล่ไม่ตายแหล่กันทั้งหมดแบบนี้ด้วยล่ะ” หรือรู้สึกถึงความไม่สมเหตุสมผลพอๆ กับที่พ่อของมาร์ตินหัวใจแข็งแรงดีแต่ต้องมาตายเพราะหมอคนหนึ่งดื่มแอลกอฮอล์ก่อนผ่าตัดอย่างไม่ถูกไม่ควร จึงเป็นอะไรที่สร้างความรู้สึกเท่ากันและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

เช่นเดียวกับที่พ่อของมาร์ตินถูกพรากไปด้วยการกระทำที่มองว่าคนไข้คนหนึ่งเข้ามาในชีวิตแบบประเดี๋ยวประด๋าวและตายไปแบบสุ่มๆ ตัวสตีเวนเองก็เลือกใช้วิธีการสุ่ม ด้วยการคลุมหัวลูกและภรรยาเพื่อให้พวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย รวมไปถึงคลุมหัวตัวเองเพื่อที่จะไม่รู้เช่นกันว่าเขาจะพรากชีวิตใครไป เหมือนที่รู้ว่าไม่ควรดื่ม แต่ไม่รู้เลยว่าการดื่มนี้จะสร้างผลกระทบต่อชีวิตของชายคนหนึ่ง ลูกชายของเขาที่ต้องไม่มีพ่อและภรรยาเขาที่ไม่มีสามี ซึ่งจะสังเกตได้ว่านี่ก็เป็นอีก ‘ความยุติธรรม’ ที่มาร์ตินพยายามจะสร้างขึ้น ในเมื่อสตีเวนทำให้ครอบครัวนี้ขาดพ่อและสามี มาร์ตินจึงพยายามชวนไปดูหนังกินข้าวอยู่สองสามครั้งให้สตีเวนมาทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างที่เขาได้สร้างขึ้นมา แต่เมื่อสตีเวนปฏิเสธ อาการของลูกๆ จึงปรากฏขึ้นหลังจากวันที่มาร์ตินพาสตีเวนไป หรืออธิบายแบบง่ายๆ ได้ว่ามาร์ตินให้โอกาสเขาแก้ไขด้วยวิธีเบาๆ แต่โดยดีแล้ว แต่เมื่อไม่ได้ผลจึงต้องใช้ไม้แข็ง

แบบที่ 3 : วัยเยาว์กำลังแย่งชิงความสมบูรณ์และพรากความมั่นคงแบบไปจากครอบครัวผู้อาวุโส

ครอบครัวเมอร์ฟีเป็นครอบครัวที่ถือว่าสมบูรณ์พร้อมตามแบบฉบับครอบครัวในอุดมคติ คือมีพ่อแม่ครบ มีลูกชายคนหญิงคน มีบ้านหลังกำลังพอดี พ่อแม่หน้าที่การงานที่ดี มีหน้ามีตาในสังคม มีหมาให้เลี้ยง มีต้นไม้ให้รดน้ำ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบไปกว่านี้อีกแล้ว

นี่คือภาพวาดของโลกของผู้ใหญ่ที่มีชีวิตเสถียรและแน่นอน เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่รอบล้อมไปด้วยคอนกรีตหนาๆ และกำลังจะถูกพรากไปด้วยมาร์ติน ที่เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของความแปรเปลี่ยนกับกาลเวลา รวมไปถึงสิ่งยั่วยุและสิ่งเร้าที่จะทำให้สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราไม่สามารถปฏิเสธได้อย่างหนึ่งว่านอกจากมนุษย์จะสามารถเกื้อกูลกัน ซึ่งนับเป็นการส่งต่อพลังชีวิตและรวมกันเพื่อผู้รอดแล้ว มนุษย์ด้วยกันเองยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดการดูดพลังชีวิตและแย่งชิงกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโอกาส ความสำเร็จ อาหาร ที่ดิน ที่อยู่ คู่ครอง ความมั่งคั่ง และอะไรอีกมากมายก่ายกอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รุ่นใหม่ที่เข้ามาแทนรุ่นเก่า หรือของใหม่มาของเก่าไป

การที่เมื่อรุ่นเก่าตกยุคไปแล้ว รุ่นใหม่จึงมาแทนที่ หากมองหนังในแง่นี้มาร์ตินคืออำนาจใหม่ที่กำลังขึ้นสู่ที่สูง และทำให้ที่นั่งของคนรุ่นเก่าสั่นคลอน และในมุมมองแบบเดียวกัน หนังก็กำลังพูดถึงการสูญเสียความมั่นคงทางด้านความสบายใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยเช่นกัน ลูกชาย – สตีเวนกำลังจะเติบโตขึ้น ส่วนลูกสาวอยู่ในวัยเจริญพันธุ์เพิ่งจะมีประจำเดือนที่หนังใส่ฉากคิมยืนร้องเพลงใต้ต้นไม้ต้นใหญ่ที่มีใบและกิ่งก้านสาขาเข้ามาเพื่อบอกตรงนี้ และบอกว่าวันหนึ่งเธอต้องมีแฟน เธอต้องมีเพื่อน เธอต้องไปอยู่กับคนอื่น มาร์ตินเป็นตัวละครที่เข้ามาตอกย้ำตรงนี้ได้อย่างดี (พร้อมๆ กับแก้แค้นไปในตัว) ว่าคนเป็นพ่อแม่จะต้องเจอกับสิ่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งแย่ เพียงแต่สำหรับหนังเรื่องนี้มาร์ตินมาร้ายเท่านั้นเอง จึงเท่ากับว่าสตีเวนจะต้องเผชิญสถานะสูญเสียอย่างเลี่ยงไม่ได้จากการมาของมาร์ติน

ส่วนอีกจุดหนึ่งที่พูดถึงการคุกคามได้ดีคือการที่มาร์ตินขอสตีเวน ดูขนรักแร้หลังจากได้ยินจากลูกๆ สตีเวนว่าพ่อทั้งสองมีขนรักแร้มากว่ามาร์ตินสามเท่า ที่สตีเวนดกกว่าเขาเพราะเป็นผู้ใหญ่กว่า แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น (ไม่ได้ห่างชั้นกันอย่างที่ว่า) แต่ทั้งมาร์ตินเองต้องการจะบอกใบ้กับสตีเวนและตัวหนังต้องการจะสื่อว่าวันหนึ่งมาร์ตินจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เหมือนที่สตีเวนเป็น ถึงตอนนั้นเขาจะมาแทนที่ด้วยสถานะที่เท่ากัน หรืออาจสูงกว่า และตอนนี้สิ่งที่เขามีน่ากลัวกว่าการแทนที่ คือการเลื่อยขาเก้าอี้อย่างช้าๆ ด้วยใบเลื่อยที่เรียกว่า ‘ความวัยเยาว์’ จนถึงจุดหนึ่งผู้มาก่อนตกลงมากระแทกพื้นอย่างจัง นั่นต่างหากคือช่วงเวลาสำคัญของผู้ถูกมาแทนที่และผู้กระทำการแทนที่

แบบที่ 4 : เรื่องของอำนาจ

ถ้าในโศกนาฏกรรมกรีกมองมนุษย์ด้อยกว่าและจะกำหนดเงื่อนไขอะไรก็ได้ ตั้งแต่ลงทัณฑ์ยันเล่นสนุก กับหนังเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน การมองหนังโดยเน้นไปในแง่อำนาจจะทำให้เห็นว่า The Killing of the Sacred Deer มีลำดับชั้นของอำนาจซ่อนอยู่ คือเทพเจ้าสูงสุด (มาร์ติน) และลำดับต่อมาคือสตีเวน ตามด้วยแอนนาในฐานะแม่ และล่างสุดคือตัวละครลูกๆ ทั้งสองที่ไม่มีสิทธิ์เลือกอะไรได้เลย ได้แต่เป็นผู้ถูกเลือก

ในหนังเราจะเห็นได้ว่าตัวละครแอนนา พยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อหาทางจบเรื่องนี้ และเธอดูเหมือนจะมีอำนาจต่อล้อต่อเถียงรวมถึงโน้มน้าวให้สตีเวนจัดการกับเรื่องนี้ในทางที่เธอต้องการในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วอยู่ที่สตีเวนในฐานะหัวหน้าครอบครัวและผู้นำสูงสุดในกลุ่มสังคมครอบครัว (ในหนังเรื่องนี้) ว่าจะตัดสินใจอย่างไรอยู่ดี โดยที่เขานั้นอยู่ด้านล่างหรืออยู่ในเกมของมาร์ตินอีกทอดหนึ่ง ได้แต่เป็นสับเซ็ตของอำนาจที่ล้นพ้นกว่าอย่างไม่สามารถโต้ตอบได้ แม้จะพยายามแล้วก็ตาม

จุดต่างๆ ที่กล่าวไปนี้ กับฉากเปลือยกายนอนนิ่งๆ เป็นผู้ถูกกระทำในกิจกรรมสานสัมพันธ์ทางกายสไตล์สามี-ภรรยา และการที่แอนนาพูดว่าทั้งคู่กำลังจะกลับบ้านแล้วคนในงานเลี้ยงตอนต้นเรื่องไม่ฟัง แต่พอสตีเวนพูดแล้วคือคำขาดว่าจะกลับ แสดงให้เห็นถึงสังคมหรือระบอบปิตาธิปไตยในกรีกสมัยก่อนที่คาบเกี่ยวมายังยุคสมัยนี้ในบางสังคมได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

แบบที่ 5 : หนังล้างแค้น

เป็นการมองแบบสลัดมุมมองทั้งหมดที่ได้กล่าวไปด้านบน ถอดการตีความ ถอดสัญลักษณ์ และมองหนังเรื่องนี้เป็น ‘หนังล้างแค้น’ ก็จะพบว่าเป็นหนังที่โดยพื้นฐานแล้วให้ความบันเทิงเป็นทุนเดิม เล่าเรื่องผ่านบรรยากาศประหลาดๆ ชวนอึดอัด เดาทางไม่ได้ จากนั้นก็แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการกระทำซึ่งเป็นอย่างเดียวกันกับการล้างแค้นของมาร์ติน โดยสามารถมองเป็น 2 แบบแยกย่อยลงไปอีกคือ

หนึ่ง มาร์ตินเป็นตัวละครตัวร้ายที่เป็นอมตะและตามรังควานถึงที่สุด ออกจะเหนือธรรมชาติหน่อยๆ ไม่ตายง่ายๆ สักที มีความคลับคล้ายคลากับเจสันในหนัง Friday 13th หรือ ไมเคิล ไมเยอร์สในหนัง Halloween ที่จะไม่หยุดจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย นั่นคือต้องมีคนตาย แค่ว่าตัวร้ายตัวนี้ออกแนวจิตวิทยาไม่น้อย

สอง มาร์ตินเป็นเด็กหนุ่มธรรมดาๆ ที่บ้าดีเดือดและไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เป็นการมองแบบสมจริง และให้ฐานะเป็นตัวละครปกติที่ทำให้ครอบครัวเมอร์ฟีเป็นอัมพาตด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพียงแต่หนังไม่ได้เล่า

แม้มองแบบนี้อาจจะทำให้สาระสำคัญของหนังหายไปประมาณหนึ่งและเกิดความกลวงขึ้นในด้านใน แต่ไม่ใช่ว่าแย่เสียทีเดียว เพราะอย่างว่า หนังถือว่าตอบโจทย์การเป็นหนังล้างแค้นผสมแนวตลกร้ายได้ดีเช่นกัน

หากหนังที่ผ่านมาของเขาอย่าง Dogtooth พูดถึงอำนาจในรั้วบ้านและการจำกัดความรับรู้ด้วยการครอบโดมที่มองไม่เห็น, The Lobster พูดถึงอำนาจกำหนดวิถีชีวิตโดยกลุ่มสังคมที่มักจะมีกฎมีเกณฑ์เสมอ หรือหนังที่มาหลังจากนี้อย่าง The Favourite พูดถึงอำนาจใคร่สวาทแล้ว การสะท้อนถึงประเด็นอำนาจใน The Killing of the Sacred Deer ก็คืออำนาจของ ‘การพิพากษา’ ทั้งในเชิงรูปธรรมและเชิงนามธรรม 

เป็นบอกเล่าเรื่องของ ‘กรรม’ ในแง่ผลลัพธ์กับแรงสะท้อนที่ในไม่ช้าก็เร็วมักจะตามทันเสมอ ไม่ว่าจะมาจากผู้ถูกกระทำหรือจากเจ้าตัวเอง ตราบใดที่ผู้กระทำรู้ตัวว่ามันเป็นเรื่องผิดบาปจนไม่อาจให้อภัยตัวเองได้, ผู้ถูกกระทำไม่ให้อภัยผู้กระทำ หรือผู้กระทำไม่ได้ทำให้เรื่องนั้นๆ ยุติธรรมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจนมันส่งผลต่อเนื่องบานปลาย

นับว่าเป็นอีกผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับยอร์กอส ลานธิมอส ที่ไม่ว่าจะดูด้วยสายตาแบบไหนก็สามารถเพลิดเพลินและสนุก (แบบคิ้วขมวดนิด) ไปกับตัวหนังได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะมุมมองไหนใน 5  มุมมองหรือนอกเหนือจากมุมมองเหล่านั้น ท้ายที่สุดหนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงคำเตือนหนึ่งเดียว นั่นก็คือ ‘พึงระวังการล้างแค้นให้ดี’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save