fbpx

The Lobster: สังคมบังคับเราว่า ‘จงเหงา’ และ ‘ห้ามโสด’

‘ถ้าเลือกได้คุณอยากเป็นสัตว์ชนิดไหน หากไม่ใช่มนุษย์?’

คำตอบของคำถามนี้มีอยู่สองสามรูปแบบ แบบแรกคือคิดแล้วตอบออกมาแบบเล่นๆ ขำๆ ไม่คิดอะไรให้ซับซ้อน อีกแบบคือไม่รู้จะเลือกอะไรเลยขอไม่ตอบ กับแบบสุดท้ายคือการตอบด้วยคำถามกลับไปว่าแล้วทำไมเราต้องเลือก อยากเป็นมนุษย์นี่แหละดีสุดแล้ว

ฉะนั้นเช่นเดียวกัน แล้วทำไมเราถึงต้องเลือกคู่? ความโสดผิดด้วยหรือ? นี่คือคำถามตั้งต้นของ The Lobster หนังดาร์กคอเมดี้ตลกร้ายที่ทำให้โลกรู้จักฝีไม้ลายมือของผู้กำกับ Yorgos Lanthimos เรื่องนี้เป็นหนังที่แสดงความสุดพิสดารอีกขั้วของคำถามดังกล่าว ด้วยการสร้างโลกอนาคตดิสโทเปีย และกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ นานา พร้อมกับตอบคำถามของตัวละครแบบห้วนๆ และไม่แคร์ความรู้สึกว่า

“ใช่แล้ว ต้องเลือก ก็เพราะเราบอกให้เลือกไงล่ะ และความโสดเป็นโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต” ใครจะนึกว่าเผด็จการความรักก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่ากลัวไม่น้อย

(เนื้อหาถัดจากนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ The Lobster)

The Lobster เป็นการย่นย่อหรือจำลองดิสโทเปียของการ ‘ห้ามโสด’ และการ ‘มีคู่’ มาไว้ในโรงแรมที่เซ็ตระบบบังคับให้คนต้องหาคู่ใน 45 วัน และออกไปล่าคนโสดมาเป็นแต้มต่ออายุ หากวันหมดและยังหาคู่ไม่ได้ คนคนนั้นจะต้องกลายเป็นสัตว์ที่ตัวเองเลือกด้วกระบวนการผ่าตัดเปลี่ยนสมอง เพราะในโลกใบนี้ ทุกคนต้องมีคู่ และความโสดผิดกฎหมาย

อันที่จริงโรงแรมนี้ หรือจริงๆ ต้องบอกว่าสังคมในหนังเรื่องนี้ มีความต้องการที่จะสร้าง ‘สังคมยูโทเปีย’ เป็นโลกที่ทุกคนมีคู่ ควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ลดปัญหาอาชญากรรมและการพึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐน้อยลง เลยจับคนเหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน แต่ยูโทเปียหรือดินแดนในฝันนั้นไม่อาจเป็นจริงได้เมื่อว่ากันด้วยภาคปฏิบัติ และนี่เป็นไปได้แค่ในฐานะคอนเซ็ปต์ที่ฝืนทนแบบไม่แคร์ เพราะเมื่อมันมากไป มันจะกลายเป็นดิสโทเปียหรือดินแดนภายใต้โครงสร้างระบบเผด็จการไปโดยปริยาย

เพราะชีวิตของคนเราเป็นข้อสอบอัตนัย (อัตวิสัย) ที่มีความเป็นปัจเจกและมีความต้องการเป็นของตัวเอง รวมถึงเจตจำนงเสรี (free will) ที่จะเลือกทำสิ่งหนึ่งตามความต้องการและในช่วงเวลาหนึ่งที่ตัวเองต้องการ (ภายใต้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคด้วยนะ) แต่โลกในหนัง The Lobster กลับยัดเยียดช้อยส์แบบปรนัย (วัตถุวิสัย) แบบเท่าที่มีมาให้ ในช่วงเวลาที่จำกัด และต้องเลือกแค่ในตัวเลือกที่ให้มา เหมือนข้อสอบอันไม่สมเหตุสมผลของประเทศไทยที่บางครั้งก็ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องเลือกเพื่อเอาใจผู้ออกข้อสอบ

หนังเรื่องนี้จึงนับว่าเป็นดิสโทเปียที่เหมือนจะให้เลือกได้ แต่แท้จริงแล้วทางเลือกไม่เคยมีอยู่จริง เหมือนที่ตัวละคร Morpheus ใน The Matrix กล่าวไว้บ่อยๆ ว่า “ทางเลือกคือภาพลวงตา (choice is an illusion)” ที่มีความหมายว่าเมื่อเราถูกบีบบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก โดยที่เราคิดว่าเลือกได้ นั่นคือเราเลือกไม่ได้ เพราะเราต้องเลือกในทางเลือกเท่าที่มีหรือไม่สามารถเลือกที่จะไม่เลือกได้เลย

หนังเปิดมาด้วยการโชว์ให้เห็นว่าพี่ชายของพระเอกอย่างเดวิด (Colin Farrell) กลายเป็นสุนัขไปเสียแล้ว ส่วนเขาที่ได้มาอยู่ห้อง 101 (ตัวเลขที่สื่อสารถึงการเรียนรู้พื้นฐาน ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เปรียบเหมือนคลาสสังคมและมานุษยวิทยาในแง่หนึ่ง) นั้นหากไม่เจอคู่ ก็เลือกที่จะเป็นล็อบสเตอร์ ที่นับเป็นการแสดงความตลกร้ายอย่างแรกของหนัง เพราะในความเป็นจริงนั้นชนชั้นสูง (blue blood) ผูกขาดและไม่ได้เป็นกันง่ายๆ แต่ล็อบสเตอร์ดันมีเลือดสีฟ้าพอดี เลยเป็นการเล่นคำประชดประชันที่ถือเป็นการเลือกไปด้วย

การเลือกประเภทสัตว์ได้ รวมถึงการเลือกของเดวิดจึงสะท้อนถึงธรรมชาติของเผด็จการที่มักจะทำให้คนรู้สึกว่าพวกเขาเลือกได้ทั้งที่พวกเขาเลือกไม่ได้ เป็นความใจดีปลอมๆ เพื่อไม่ให้คนใต้ปกครองรู้สึกเฉาเกินไปจนไม่สามารถเป็นประโยชน์อะไรให้พวกเขาได้อีก

สาเหตุที่จั่วหัวว่า ‘โสด = โทษประหาร’ เนื่องมาจากการที่แม้พวกเขาจะไม่ได้ถูกประหาร แต่ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน ลองนึกภาพตามว่าถ้าวันหนึ่งเราเป็นคนแล้วจู่ๆ ต้องกลายเป็นปลาหมึกสิ นั่นไม่ได้ต่างอะไรกับตายเลยละ เพราะเราไม่มีความสามารถในการใช้ชีวิตแบบเดิม แต่ต้องถูกจองจำในอีกร่างที่นึกคิดและจำได้ถึงตัวตน มีความทรงจำ มีความต้องการจะทำอะไรๆ ในแบบมนุษย์ มีความฝันอยากเป็นนั่นนี่ แต่ต้องกลายเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่สามารถทำหรือพูดแบบเดิมได้

โรงแรมนี้จึงเป็นโรงแรมที่เรียกได้ว่าประหารคนอ้อมๆ แล้ว ด้วยการให้ชีวิตประเภท ‘ฆ่าฉันให้ตายเสียยังดีกว่า’ ดังที่จะเห็นว่ามีหญิงคนหนึ่งยอมโดดตึกตายดีกว่าต้องกลายไปเป็นสัตว์

ต่อมาหนังจะค่อยๆ เผยให้เห็นว่าโรงแรมสร้างความโรแมนติกและใส่โฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการมีคู่อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะบอกว่าการมีคู่เป็นเรื่องที่ดี เพราะปลอดภัย ลดอาชญากรรม และคนสองคนสามารถพึ่งพากันได้ ในขณะเดียวกันก็พูดถึงแง่ลบของการเป็นโสดผ่านการแสดงละครสาธิตด้วย

แสดงให้เห็นว่าหนังไม่เพียงแค่พูดถึงเผด็จการอำนาจรัฐที่มีสิทธิ์ออกกฎบ้าบอ ตลกๆ แบบนี้ก็ได้ แต่มองลึกอีกชั้นคืออำนาจนี้สะท้อนถึงค่านิยมของบริบทสังคมและบรรทัดฐานสังคมที่ตัดสินเราด้วยชีวิตตามอุดมคติ ชีวิตที่ควรจะเป็นอย่างที่พวกเขาวาดฝันไว้ และเมื่อการตัดสินเกิดขึ้น ก็มักจะมีคำถามและประโยคบอกเล่าประมาณว่า “ทำไมยังไม่มีแฟน” “อายุขนาดนี้ยังโสดอยู่เลย” “ป่านนี้ยังโสดอยู่ ขึ้นคานแน่ๆ” “ไม่แต่งงานอีกหรือ” “แล้วคิดจะแต่งเหมือนไหร่กันล่ะ?” ไปจนถึง “ไม่เคยมีแฟนเลยหรือ” ราวกับมันผิดบาปมาก

คำถามเหล่านี้มีอยู่ในทุกสังคม แต่คนไทยจะอินเป็นพิเศษเพราะเป็นประเทศที่ผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ ญาติโกโหติกา จนถึงมนุษย์ป้าข้างบ้านชอบถาม สังคม (เรา) หล่อหลอมให้เราเกิดความกลัวและเป็นการบังคับกลายๆ ให้เกิดความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่คนเดียว การอยู่คนเดียวดูเปลี่ยว ดูแย่ และดูเหงากว่าเดิม กับกลัวการทำอะไรคนเดียวไปเลย นี่คือสายตาของสังคมที่มองคนโสด และออกกฎเกณฑ์แห่ง ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ ให้ผู้อื่น และนี่คือแก่นความคิดของหนังเรื่องนี้ก็ว่าได้

โรงแรมในโลกของหนัง The Lobster มีไอเดียว่า คนห้ามเหงา ความเหงาผิด ความเหงาเป็นมะเร็ง เป็นพิษร้ายที่ต้องกำจัดด้วยวิธีการที่ผู้มีอำนาจอย่างพวกเขาคิดค้นขึ้นมา ในขณะเดียวกัน ก็พยายามยัดเยียดให้ผู้เข้าพักรู้สึกว่าความเหงาเป็นเรื่องน่ากลัว

จริงๆ ต้องย้อนกลับไปถามตั้งแต่ต้นขั้วว่าจริงๆ แล้วเราเหงา หรือสังคมทำให้เรารู้สึกเหงากันแน่ ซึ่งก็ต้องแยกให้ชัดเจนก่อนว่าความโดดเดี่ยวกับเหงาคือคนละอย่างกัน ความโดดเดี่ยวคือความลำพังที่ภาษาอังกฤษว่า ‘solitude’ ซึ่งเป็นสถานะที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่ เราเกิดมาเป็นคนคนเดียวและวันหนึ่งอาจได้ใช้ชีวิตคนเดียว ซึ่งลำพังไม่ได้หมายความว่าเหงาและไม่ต้องพึ่งพาบริบทหรือปัจจัยภายนอกตัวเรา (dependent) เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเองภายในตัวคนคนหนึ่ง

ในขณะที่ความเหงาหรือความเดียวดายที่ภาษาอังกฤษว่า ‘loneliness’ นั้นต้องพึ่งพาหรืออิงกับคนอื่นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจะเหงาก็ต่อเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้อื่น ดังจะเห็นในหนังเหงาๆ โดยเฉพาะหนังของผู้กำกับ หว่อง กาไว เราจะรู้สึกว่า “ทำไมมันเหงาอย่างงี้นะ” เมื่อมีการโฟกัสไปที่ตัวละครหนึ่งตัวในสังคมที่วุ่นวาย คนเยอะพลุกพล่าน

คำศัพท์คำว่า ‘เหงา’ เช่นเดียวกัน เป็นการนิยามและส่งผลต่อจิตใจให้คนคนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเหงา เพราะหากไม่รู้ว่าเหงา คนคนนั้นก็อาจจะไม่รู้สึกเหงาก็ได้ เหมือนที่ควรตั้งคำถามว่าที่เราเหงาเพราะเรารู้สึกต้องการใครสักคนจริงๆ หรือเพราะมีคนบอกว่าเราดูเหงาและเราเริ่มที่จะคิดไปเช่นนั้น พูดให้เห็นภาพคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ใครสักคนไปปรากฏตัวในที่สาธารณะคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นดูหนังคนเดียว กินข้าวคนเดียว กินบุฟเฟ่ต์คนเดียว เดินงานหนังสือคนเดียว ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นเหงาและเดียวดาย แม้คนอื่นจะมองว่าเป็นเช่นนั้น แต่เขาแค่มาคนเดียว เขาอาจรอใครอยู่ ไม่มีคนว่างมา หรืออาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องชวนใครมาด้วย (independent) เพื่อจะได้ทำอะไรสะดวกหรือไม่ต้องมากความ

อย่างไรก็ตาม ความเหงาคือการอยู่คนเดียวที่อาจไม่เหงา จนกว่าเราจะมองว่าเราอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จักมากมาย หรืออยู่กับใครสักคนจนชินจนอาจจะรู้สึกเหงาเมื่อไม่ได้อยู่กับคนคนนั้น และที่ต้องพึงระวังกับมีความสำคัญไม่น้อย คือการเลือกสิ่งแวดล้อมของเราให้ดี เพราะในหลายๆ ครั้งเราไม่ได้เหงา แต่การมีคู่ การอยู่กับสังคมหนึ่งๆ หรือการอยู่กับเพื่อนที่ไม่ใช่ทางของเรา คนมองข้าม ไม่เห็นค่า จะทำให้เราเหงากว่าเดิมด้วยความแปลกแยก แตกต่าง และกลายเป็นด้อยค่าตัวเองไปโดยใช่เหตุ ไม่ต่างกับการอยู่กับคนที่ไม่รู้จัก

นอกจากนี้ภายใต้ความเผด็จการดิสโทเปียนี้ เราจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นกันว่านอกจากกฎเกณฑ์แล้ว หลายอย่างเป็นการจำกัดตีกรอบหรือจิตวิทยาใส่คนที่มาเข้าพักให้รู้สึกว่าตัวเองกำลังต้องการคู่มากๆ

ไม่ว่าจะเป็นวันที่เข้าพัก เดวิดถูกล็อกมือเข้ากับเข็มขัดเพื่อแสดงถึงการหมดหนทาง และรู้สึกถึงการที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว อีกทั้งยังออกกฎว่าห้ามสำเร็จความใคร่ (ที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลและเป็น ‘ทริก’ ในการอยู่คนเดียวอย่างไรไม่ให้เคว้งคว้างจนเกินไป) เพื่อที่เข้าใจตรงกันว่าอวัยวะเพศของเพศตรงข้ามทั้งสอง belong together ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยสิ่งอื่น ใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ หรือกระทั่งเสื้อผ้าที่สวมใส่ ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงที่จะได้ยูนิฟอร์มมาแบบเดียวกันหมดเพื่อแสดงให้เห็นถึงการไม่มีทางเลือกภายใต้ระบบนี้ กับเป็นตัววัดที่สะท้อนถึงความเป็นจริงเช่นกันว่าใครอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ได้ สิ่งสำคัญคือด้วยรสนิยม นิสัยใจคอ หน้าตารูปลักษณ์ภายนอกก็ส่วนหนึ่ง ข้อดีข้อเสียคือส่วนใหญ่ และหากมองทะลุความเหมือนกันทั้งหมดนี้ได้ คนคนนั้นคือคู่กันจริงๆ

รวมถึงแสดงความบังคับแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเช่นกัน เช่นในช่วงต้นเรื่องที่เดวิดจำเป็นต้องเลือกเพศตามสภาพ เขามีช้อยส์ให้เลือกแค่ชายหรือหญิง ทั้งที่จริงๆ เขาเคยผ่านประสบการณ์กับชายด้วยกันมาแล้ว ในระดับนี้ เดวิดไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะตัดสินใจเลือกระบุตัวตนหรือแม้กระทั่งไม่ตัดสินใจเลือกเลยเพราะเป็นคนที่มีความลื่นไหลทางเพศ เรื่องนี้ก็เป็นอีกข้อที่แสดงถึงการบังคับ ผ่านคำถามที่เหมือนจะให้เลือกตอบได้ แต่ต้องเลือกในตัวเลือกที่มีอยู่แค่สองตัว

นอกจากความรักเป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้เกิดขึ้นแล้ว จากเรื่องเพศ แสดงให้เห็นว่าในหนังเรื่องนี้ ตัวตนก็ถูกกดทับไว้ด้วยระบบเช่นกัน อย่างที่เน้นย้ำมาตลอดบทความว่าบรรทัดฐานสังคมในเรื่องนี้มาในรูปของระบบเผด็จการสังคมดิสโทเปียทำให้คนต้องเลือก แต่จะทำอย่างไรในเมื่อตัวเลือกมีแค่คนที่อยู่ในโรงแรมนี่สิ?

เหมือนที่ชีวิตเราไม่อาจมีโอกาสคุยกับทุกคนบนรถไฟฟ้า ห้าง คนในโรงหนัง หรือตึกที่ทำงาน โลกไม่ได้เหวี่ยงเราให้มีโอกาสเจอคนมากมายขนาดนั้น หรือต้องบอกว่าเราตัวเล็กเกินกว่าที่จะทำความรู้จักทุกคนบนโลกอันเต็มไปด้วยประชากรหลายพันล้านใบนี้ได้ เช่นเดียวกัน สำหรับความรักและการมีคู่ ในบางครั้งชีวิตเราอาจไม่ได้มีโอกาสพบเจอกับคนที่เหมือนเราหรือแตกต่างแต่เข้ากับเราได้ดีขนาดนั้นก็ได้ เพราะตามที่ควรจะเป็นแล้ว เราควรมีทางเลือกว่าจะคบคนนี้หรือไม่ หรือถ้าไม่เจอคนที่ไม่โอเคก็ขอ ‘ไม่เลือก’ และอยู่เป็นโสดไปตลอดชีวิตเสียยังดีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดครอบครัวมีปัญหาจากการที่คู่รักไม่เข้าใจกัน และอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกที่จะเกิดมาในอนาคต

หรือหากไม่มีลูก (จริงๆ การมีลูกหรือไม่มีของคนสองคนก็ไม่ควรถูกบังคับหรือเป็นประเด็นพอๆ กับการมีคู่เหมือนกัน) คนสองคนก็ควรเลือกคนที่มีเหตุผล เข้ากันได้ เรียนรู้กันได้ตลอด ให้ค่าสิ่งเดียวกัน หรือไม่ต้องเหมือนกันแต่มีบางอย่างร่วมกัน เช่น ทัศนคติและเป้าหมายชีวิตคู่

ประเด็นอยู่ที่ว่าโรงแรมไม่ให้ทางเลือกนอกจากให้ ‘คนที่มี’ ในรอบนั้นๆ นี่สิ เหมือนวัคซีนที่ไม่ดีแต่เป็นวัคซีนที่มีและรัฐบาลจัดหามาให้ เราจึงได้แต่ก้มหน้าแล้วถกแขนเสื้อให้ฉีดเพราะต้องฉีดเท่าที่ได้ ซึ่งความรักไม่ควรเป็นเรื่องของ ‘เท่าที่จะหาได้’ แต่ควรเป็นเรื่องของ the right and selected one เพราะจริงอยู่ที่ว่าการมีคู่นั้นก็เป็นสิ่งที่ดี มีคนเกาหลัง ซัพพอร์ตกัน มีคนหนุนหลังหรือระวังหลังให้เสมอ พึ่งพาได้ แต่การเลือกคู่ที่ไม่ใช่ชีวิตรัก หรือที่เกิดจากการเลือกแบบขอไปทีหรือดันทุรังฝืนทั้งที่รู้ว่าไม่เวิร์กและวันหนึ่งต้องเลิก ก็ถือเป็นหนังโศกนาฏกรรมดีๆ นี่เอง

และหนังเรื่องนี้ก็เสียดสีอย่างเจ็บแสบด้วยการพูดถึงการฝืนและการเลือกเท่าที่มี ด้วยการที่ตัวละครนายขากะเผลก (Limping Man) ของ Ben Wishaw ทำให้ตัวเองเลือดกำเดาไหลเพื่อที่จะได้ออกไปจากที่นี่ จากนั้นก็ไปเดตบนเรือยอร์ชและมีลูกที่ทางการให้มาด้วยหนึ่งคนเป็นครอบครัวสุขสันต์ ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องราวได้เผยภายหลังว่าฝ่ายหญิงที่รับบทโดยนางเอกซีรีส์ The End of the F*cking World เองก็รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว และต่างคนต่างก็ไม่อยากถูกตราหน้าว่าโสดหรือฝืน จึงได้เลือกกันและกันและแสร้งทำเป็นว่าเข้ากันดี มีความสุขดี เป็น perfect match และคนข้างนอกไม่มองว่าแย่ (ซึ่งจะบอกว่าทั้งสองมีเป้าหมายร่วมกันก็ได้นะ แต่ก็ยังไม่ได้การันตีอยู่ดีว่าการเลือกเพราะต้องเลือกจะเวิร์กไปตลอด) แต่คนเราต้องฝืนตัวเองเพื่อตอบสนองความหวังคนรอบข้างขนาดนั้นเลยหรือ?

อีกจุดนึงที่เจ็บจี๊ดยิ่งกว่าเพราะเล่าผ่านตัวเอกที่เป็นตัวแทนของคนดู เดวิดไปจับคู่กับตัวละครหญิงผู้ไร้หัวจิตหัวใจ (Heartless Woman) เนื่องจากรู้สึกว่าเริ่มไม่ไหวและเขาต้องออกไปจากที่นี่ เดวิดกลายเป็นผู้ตามน้ำบรรทัดฐานที่สังคมสร้างไว้ในการจับคู่ เขาเลือกแบบขอไปทีและแสร้งทำเป็นว่าเข้ากันได้ ทำเป็นไม่มีหัวใจ เตะเด็ก ปล่อยให้เธอตายตรงหน้า ไม่สนใจคนโดดตึก นอนหันคนละด้าน มีเซ็กซ์ไม่แสดงความรู้สึก ซึ่งก็ทำให้เธอเชื่อได้ในช่วงแรก แต่หนังก็แสดงให้เห็นว่าโศกนาฏกรรมชีวิตคู่น่ากลัวแค่ไหน การฝืนทนทำได้ไม่นาน การเสแสร้งเป็นคนที่อีกคนต้องการโดยปิดบังตัวตนที่แท้จริงไว้ทำได้ในระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะถูกเปิดเผย เมื่อเดวิดถูกทดสอบจากความสงสัยของหญิงผู้นี้ ด้วยวิธีฆ่าหมาที่เป็นพี่ชายของเขา และเขาไม่อาจฝืนทนได้อีกต่อไป จึงนำพามาสู่เหตุการณ์ที่หญิงรับใช้ช่วยให้เขาหนีออกจากโรงแรมมาได้ที่สุด

ซึ่งถึงแม้จะรู้สึกไม่ชอบหญิงไร้หัวใจกับรู้สึกสะใจที่ถูกนำไปเปลี่ยนเป็นสัตว์ แต่อย่างหนึ่งที่น่าคิดคือผู้หญิงอย่างน้อยก็ยังรู้ใจตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง และมีความชัดเจนแต่แรก ไม่มีช่วยโปรโมชั่นหรือการแกล้งทำเพื่อเอาใจ อย่างน้อยๆ เธอก็เป็นตัวละครเดียวในเรื่องที่กล้าหาญบอกโลกว่าตัวเองโสด (แบบไปล่าคนโสดเก็บแต้มเพื่อเพิ่มวันแล้วอยู่ไป) และเป็นตัวเองจนกว่าจะได้เจอคนที่เหมือนกันจริงๆ

นั่นนำมาสู่ความน่าสนใจต่อไป หลังจากที่เดวิดเข้าป่ามาเจอ ‘กลุ่มคนโสด’ นำโดยหัวหน้าคนโสดที่รับบทโดย Lea Seydoux

เราจะได้รู้ว่าผู้หญิงเจ้าของเสียงบรรยายตั้งแต่ต้นเรื่องคือตัวละครของ Rachel Weisz ที่จะขอเรียกว่านางเอกแล้วกัน และยังได้รู้อีกว่าแม้ตัวเอกจะหนีตายจากสังคมดิสโทเปียของโรมแรมมาได้ เขายังต้องมาเจอกับกลุ่มนี้ซึ่งมีบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติข้อบังคับเช่นกัน กลุ่มคนโสดมีกฎว่าทุกคนจะต้องทำตัวให้โสดไปตลอดชีวิต (พอๆ กับที่โรงแรมให้คนมีคู่ไปตลอดชีวิต) ล่าสัตว์หาอาหารเอง ใส่หูฟังฟังเพลงคนเดียว เต้นคนเดียว รักษาระยะห่าง เอาตัวรอดเองจาการถูกล่าโดยคนมีคู่ ไปจนถึงขุดหลุมให้ตัวเองเพราะจะไม่มีใครมาขุดให้คุณ และใครก็ตามที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษด้วยการทำลายอวัยวะที่ใช้กระทำผิดด้วยบทลงโทษสีแดง

เนื้อหาในช่วงนี้ นอกจากการเสียดสีเรื่องกลุ่มสังคมกับบรรทัดฐานสังคมแล้ว ยังมีปรัชญาที่แฝงอยู่ในการใช้ชีวิตคนเดียวโดยเฉพาะการขุดหลุมฝังตัวเอง ที่ทำให้ชวนตั้งคำถามว่าอะไรดีอะไรแย่กว่ากัน ระหว่างการที่ไม่มีใครมาอยู่กับเราตอนบั้นปลายชีวิต กับการที่ต้องอยู่ร่วมกับคนที่ไม่ใช่และทุกข์ทรมานใจราวกับถูกขังในกรงที่เรียกว่า ‘การสมรส’ ไปตลอดชีวิต

มาถึงตรงนี้น่าจะเห็นภาพแล้วว่า The Lobster ไม่ได้พูดถึงแค่หนึ่งสังคม แต่ไม่ว่าสังคมใดก็ตามมักจะให้ค่าสิ่งหนึ่งต่างกัน มีบรรทัดฐานของตัวเองเสมอ และมีโอกาสที่จะมองคนนอกกลุ่มว่ากำลังทำผิดและแปลกแยก เหมือนในโลกความเป็นจริงที่มีหลายศาสนา หลายความเชื่อ หลายศรัทธา หลายกลุ่มก้อนคน จนนำมาซึ่งความขัดแย้ง หรือพูดในอีกแง่หนึ่ง อาจนับว่าสังคมเราเป็น ‘ลัทธิ’ ที่มีวิถีปฏิบัติของตัวเองและตัดสินคนอื่นได้ตลอดเวลา

เดวิดหนีจากสังคมดิสโทเปียหนึ่ง มาสู่สังคมดิสโทเปียหนึ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน เพียงแต่ธรรมชาติของมนุษย์เกิดขึ้นสองอย่างหลังจากนั้น อย่างแรกคือพระเอกตกหลุมรักกับนางเอกเพราะหน้าตากับสายตาที่สั้นเหมือนกัน (ทั้งคู่มีจุดร่วมกัน) อย่างที่สองคือผลพวงจากอย่างแรกก็เริ่มฝ่าฝืนกฎซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อมีคำสั่งย่อมมีความวุ่นวาย มีกฎย่อมมีผู้แหกกฎ

ทั้งสองเรียนรู้การสื่อสารที่รู้กันเองสองคนด้วยหน้าตา ท่าทาง การทำไม้ทำมือ เหมือนในสังคมที่เต็มไปด้วยคู่รักที่ต่างก็รู้กันเองดีที่สุดว่ารักกัน และมีวิธีแสดงออกกับสื่อสารหรือปรับตัวอยู่ด้วยกันในแบบของแต่ละคู่ ทีนี้พอพวกเขารักกันแล้ว เท่ากับว่ากลุ่มคนโสดไม่ใช่ที่ของพวกเขาอีกต่อไป ทั้งสองคนพยายามแสดงออกในทางที่พอแสดงออกได้ภายใต้บรรทัดฐานนี้ เช่น แอบเอาอะไรมาให้กิน แอบส่งสัญญาณ รวมถึงจูบดูดดื่มแบบเกินเบอร์ในขณะที่คนอื่นเข้าใจว่าเป็นบทบาทเพื่อความเนียน แล้วพอความสัมพันธ์ของทั้งคู่พัฒนาเรื่อยๆ พวกเขาก็ตัดสินใจว่าวันรุ่งขึ้นจะหนีไปจากที่นี่

แต่ทว่าพลังแห่งสังคมนั้นแรงกล้า ทั้งสองถูกลงโทษทางสังคม แต่ไม่ใช่จากการเนรเทศเพราะจะได้ใจเกินไปและเข้าทางทั้งสองอยู่แล้ว ด้วยความที่รู้สึกว่าถูกทรยศ สังคมนี้ก็ได้สร้างความร้าวฉานด้วยการพานางเอกไปเอาลูกตาออก

เท่ากับว่าสิ่งที่ทำให้ทั้งคู่ ‘เหมือนกัน’ ถูกตัดทอนไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นความผูกพันและความรักที่มีให้กันก็ยังมีอยู่ แต่แล้วพอนานวันเข้า ภาระกับความยากลำบาก และความเป็นไปได้ของชีวิตคู่ที่ดีกว่านี้ของพระเอกก็เหมือนหยดน้ำที่หยดกระทบหินแห่งความสัมพันธ์นี้จนแตกออก ยิ่งพอเดวิดถามนางเอกว่าเธอเลือดกรุ๊ปเดียวกันไหม ชอบอันนั้นอันนี้ไหม และเริ่มได้คำตอบที่ไม่เหมือนกันมากขึ้นทุกที จึงนำมาสู่การหมดรักและมองว่าความสัมพันธ์กลายเป็นความรับผิดชอบไปแล้ว

ท้ายที่สุดความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้จะฟังดูเป็นการค้าไปหน่อยก็ตาม แต่ในความสัมพันธ์มีความเป็นจริงที่ว่า ‘ต่างคนต่างให้และตอบสนองชีวิตคู่ในแบบที่อีกคนและทั้งคู่ต้องการ’ เป็นใจกลาง ยิ่งถ้าคนหนึ่งไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป การที่สองคนจะอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะคนที่คิดเรื่องนี้ในใจก็จะต้องอยู่อย่างทรมาน น่าเศร้าและเจ็บแทนนางเอกที่ถูกพระเอกทิ้งในตอนท้าย แต่ก็นั่นแหละ หนังเรื่องนี้ตลกร้ายตั้งแต่ต้นจนถึงฉากสุดท้ายจริงๆ

The Lobster เป็นหนังที่เสียดสีบรรทัดฐานให้เห็นว่าทุกสังคมมีกฎและมีการตัดสิน สิ่งที่เวิร์กในสังคมนี้อาจไม่เวิร์กในอีกสังคมหนึ่ง สิ่งที่สังคมหนึ่งให้ค่าอาจไม่ได้มีค่าสำหรับอีกสังคมก็ได้ และมันจะกลายเป็นข้อโต้แย้งกับก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังในที่สุด ทั้งหมดซ่อนอยู่ในรายละเอียดของหนังที่มีนิสัยค่อนข้างจะแสบสันเอาการ ที่ถ้าหากมองในมุมมองแทนสายตา หนังเรื่องนี้ก็เหมือนหนังซ้อนหนังอยู่ที่จะมองผ่านใคร ในหนังของคนโสด พวกเขามองโรงแรมเป็นพวกบ้าสุดโต่ง ในหนังของฝั่งโรงแรม ก็มองคนโสดว่าเป็นพวกบ้าสุดโต่งเช่นเดียวกัน

เพียงแต่อย่างที่เห็นว่าอำนาจของฝั่งมีคู่เป็นเสียงคนส่วนมาก ใหญ่กว่าคนโสดที่เป็นคนส่วนน้อยกว่า และเป็นเช่นนั้นกับเดวิด จนกระทั่งเขาย้ายมาอยู่กับฝั่งคนโสด โลกคนโสดเลยกลายเป็นโลกทั้งใบที่เขาจะต้องอยู่ แม้ที่จริงแล้วเรื่องราวก็กลับมาสู่คำถามที่ว่า “ทำไมเราถึงต้องถูกบังคับให้เลือกด้วยล่ะ?”

ทำให้หากต้องสรุปหนัง The Lobster หลังจากที่ได้ทำการรู้จักมักจี่กันมาจนรู้นิสัยใจคอดีแล้ว เนื้อหาที่หนังต้องการจะบอกกับทุกคนในประเด็นความรัก เพศคู่รัก ความสัมพันธ์ ความโสด ความเหงา การแต่งงาน การเลิกรา ที่ถูกครอบอยู่ในโดมที่เรียกว่าสังคม คือ ‘mind your goddamn business’ หรือไม่ใช่วาระหรือกงการของใครทั้งนั้นที่จะมาบอกว่าการโสดผิด คนนี้เหงา คนนั้นต้องแต่งงาน

เพราะเรื่องของความรัก หากไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย มันเป็นเรื่องธรรมชาติและห้ามกันไม่ได้ ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของคนสองคนที่ตกลงปลงใจกันสร้างพันธะ มากกว่าเป็นพันธะที่สังคมคาดหวังให้สร้าง เพราะก็ต้องมีคนที่ไม่ได้มีความรักเป็นโจทย์ชีวิตบ้าง

มีแต่สังคมดิสโทเปียที่สิ้นหวังเท่านั้นแหละ ที่จนหนทางถึงขั้นต้องบีบบังคับผู้คนในด้านอารมณ์ความรู้สึก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save