fbpx

เกาะเว้ แห่งอาเจะห์ คือเกาะแก้วพิสดารในพระอภัยมณีจากจินตนาการ (?) ของสุนทรภู่

พระอภัยมณี เป็นวรรณกรรมไทยที่น่าจะหาคนไทยที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อได้ยากยิ่ง ผลงานของ สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระอภัยมณีถูกแต่งเป็นนิทานคำกลอน เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยจินตนาการแฟนตาซีล้ำยุค ตัวละครหลากหลายชนชาติ หลากหลายสปีชีส์ มีทั้งนางเงือก นางผีเสื้อสมุทร พระอภัยมณีถูกนำมาผลิตซ้ำในหลายรูปแบบทั้งเรื่องเล่า ร้อยแก้ว การ์ตูน ละคร ภาพยนตร์ เพลง หรือแม้กระทั่งรูปปั้นตัวละครต่างๆ จากเรื่องพระอภัยมณีก็ปรากฏให้เห็นอยู่หลายที่ นอกจากนี้เรื่องราวบางช่วงของพระอภัยมณียังถูกบรรจุอยู่ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการด้วย  

สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่าพระอภัยมณีถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง เพื่อต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมที่กำลังคุกคามภูมิภาคอุษาคเนย์รวมถึงสยามในขณะนั้น พระอภัยมณีพูดถึงความขัดแย้งระหว่างเมืองผลึก (ซึ่งคือ ถลาง หรือภูเก็ต) กับ ลังกา (ศรีลังกา) ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ สุนทรภู่ให้ภาพอังกฤษเป็นตัวร้ายโจรสลัดที่คอยปล้นสดมภ์เรือ ซึ่งมีความหมายโดยนัยถึงการล่าเมืองขึ้น ยึดดินแดนต่างๆ เป็นอาณานิคม

เรื่องราวในพระอภัยมณีเกิดขึ้นในท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ นักวิชาการได้วิเคราะห์ว่าทะเลในเรื่องพระอภัยมณีคือทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ไม่ใช่อ่าวไทย มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าสุนทรภู่ไม่เคยเดินทางไปทะเลฝั่งอันดามันแต่ทำไมถึงรู้สภาพภูมิศาสตร์ จนเขียนตำแหน่งเกาะต่างๆ ได้ราวกับเคยไปเดินทางไปเห็นด้วยตาของตนเอง ด้วยสถานะและตำแหน่งนักปราชญ์ราชสำนักของสุนทรภู่ไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะได้รับฟังเรื่องราวและเรื่องเล่าจากนักเดินทางที่เคยผ่านเกาะแก่งพวกนี้มา

นอกจากเมืองผลึกที่หมายถึงภูเก็ต และเมืองลังกาแล้ว มีเมืองนาควารีที่คาดกันว่าคือหมู่เกาะนิโคบาร์ และหนึ่งในสถานที่ที่ผู้อ่านรู้จักกันดีคือ เกาะแก้วพิสดาร ที่เป็นที่อยู่อาศัยของนางเงือกและเป็นรังรักของพระอภัยมณีกับนางเงือก ตามท้องเรื่องเป็นเกาะเล็กๆ บนเกาะมีพระฤาษีที่มีอิทธิฤทธิ์มาก เป็นเกาะที่เป็นที่หลบภัยของนักเดินเรือที่เรืออับปางหรือถูกโจรสลัดปล้น

มีบางทฤษฎีที่เชื่อว่าเกาะแก้วพิสดารคือเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ทะเลฝั่งอ่าวไทย ที่เกาะเสม็ดมีหาดที่ชื่อว่าหาดทรายแก้ว ซึ่งสอดรับกับทฤษฎีนี้ และบ้างก็ว่าเกาะแก้วพิสดารเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ติดกับแหลมพรมเทพ จังหวัดภูเก็ต เมื่อมีการวิเคราะห์ใหม่ว่าน่าจะเป็นทะเลฝั่งอันดามัน และเมืองผลึก (ภูเก็ต) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะแก้วพิสดาร หากพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งเกาะแก้วพิสดาร นั่นคือเกาะเว้ (Weh) หรือเกาะซาบัง (Sabang) ในจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน

ตำนานเกาะเว้ (เกาะซาบัง)

เกาะเว้ หรือเป็นที่รู้จักกันอีกชื่อว่าเกาะซาบัง ตามชื่อเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกสุดของประเทศอินโดนีเซีย เกาะเว้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะสุมาตรา ในทะเลอันดามัน ชาวอินโดนีเซียนิยมเรียกว่าเกาะซาบังมากกว่าเว้ เกาะซาบังนี้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของชาวอินโดนีเซียเพราะเป็นที่ตั้งของกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศเป็นจุดเริ่มต้นเขตแดนของชาตินั่นเอง มีสโลแกนเมื่อกล่าวถึงพื้นที่และขอบเขตของประเทศว่า ‘จากซาบังจนถึงเมอเราเก’ (Dari Sabang Sampai Merauke) เมอเราเกเป็นชื่ออำเภอที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศตั้งอยู่ในจังหวัดปาปัวใต้มีเขตแดนติดกับประเทศปาปัวนิวกีนี วลีนี้เป็นการบอกว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีดินแดนกว้างใหญ่ ระยะทางจากซาบังไปถึงเมอเราเกราวๆ 5,200 กิโลเมตร การเดินทางจากเมืองบันดาอาเจะห์ไปเกาะซาบังสามารถโดยสารเรือด่วนใช้เวลาประมาณ 45 นาที

เกาะเว้ก่อนหน้านี้เป็นผืนแผ่นดินเดียวกันกับอาเจะห์ไม่ได้แยกจากกัน แต่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดเมื่อพันปีก่อน ทำให้เกิดเกาะแก่งต่างๆ มากมาย เช่น เกาะเว้ เกาะรูบียะฮ์ เกาะรอนโด (Rondo) เกาะเซอลาโก (Seulaho) และเกาะกละฮ์ (Klah) ชื่อเกาะเว้มาจากภาษาอาเจะห์ที่แปลว่า ย้าย หลุด หรือ เขยิบ และมีผู้ที่สันนิษฐานว่าชื่อซาบังมาจากภาษาอาหรับว่า Shabag ที่แปลว่าภูเขาไฟระเบิด จากบรรดาพ่อค้าชาวอาหรับที่เรียกเกาะนี้ว่าเกาะภูเขาไฟระเบิด และมีความเชื่อว่าเกาะเว้เป็นสถานที่พำนักของบรรดาเหล่าอูมาลา (ผู้นำ/ผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม) 44 ท่าน ที่อาศัยที่เกาะเว้จนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยมีหลักฐานเป็นสุสานของอูมาลาเหล่านี้ และว่ากันว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติสึนามิถล่มเกาะซาบัง สุสานดังกล่าวอยู่รอดปลอดภัยไม่พังพินาศไปด้วย

มีเรื่องเล่าที่กล่าวถึงกำเนิดชื่อของเกาะไว้ว่ามีที่มาจาก อุมมี ซาราฮ์ รูบียะฮ์ (Ummi Sarah Rubiah) ชาวตุรกีภรรยาของผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามที่ซาบังชื่อ เติงกู จิก ดี อีบออิฮ์ (Tengku Chik Di Iboih) ก่อนหน้านี้เกาะเว้ไม่ได้แบ่งเป็นสองเกาะเหมือนในปัจจุบัน แต่หลังจากที่สองสามีภรรยามาถึงก็เกิดเรื่องราวขึ้น อยู่มาวันหนึ่งอุมมี ซาราฮ์ รูบียะฮ์ต้องการได้ตัวนิ่ม แต่สามีซึ่งเป็นชาวปาเลสไตน์ไม่รู้จักสัตว์ป่าแบบตัวนิ่ม ก็เลยไปจับเอาตัวที่เขาคิดว่าคือตัวนิ่มมา เมื่อนำมาให้ภรรยาดู ตัวที่สามีนำมานั้นคือหมูป่า ฝ่ายภรรยาได้เห็นก็ตกใจและร้องออกไปว่า “เว้” ที่หมายถึง ‘ตัด’ นับจากนั้นเกาะเว้ก็เลยถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือเกาะเว้กับเกาะรูบียะฮ์ ซึ่งเกาะรูบียะฮ์เป็นที่ฝังศพของอุมมี ซาราฮ์ รูบียะฮ์ ตามตำนานกล่าวว่าทั้งสองไม่ได้หย่าร้างกัน เพียงแต่แยกกันอยู่คนละเกาะเท่านั้น

อีกตำนานอาเจะห์เล่าว่า มีสองอาณาจักรที่มีความขัดแย้งกันชื่อ อาลัม (Alam) และ เปอดีร์ (Pedir) ที่ตั้งปัจจุบันของทั้งสองคือที่เมืองบันดาอาเจะห์และอำเภอปีดี มีแม่น้ำกั้นกลางระหว่างสองอาณาจักรนี้ ในแม่น้ำมีพญานาคที่มีอิทธิฤทธิ์มากชื่อ นาคซาบัง ซึ่งเป็นสหายกับราชาของอาณาจักรอาลัม หากกองกำลังของอาณาจักรเปอดีร์จะเข้าโจมตีอาณาจักรอาลัม นาคซาบังก็จะขัดขวาง ราชาเปอดีร์ได้ปรึกษากับอำมาตย์ว่าจะจัดการกับนาคซาบังอย่างไรดี แต่อำมาตย์ได้กล่าวว่า หากนาคซาบังตายจะก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ (สึนามิ) บริเวณช่องแคบและทะเล นาคซาบังเป็นผู้ดูแลความสมดุลของธรรมชาติ ดังนั้นอย่าไปรบกวนนาคซาบังเลย แต่ราชายืนยันว่าจะต้องจัดการนาคซาบัง เพราะต้องการบุกอาณาจักรอาลัม

อำมาตย์จึงได้เสนอว่าในอาณาจักรเปอดีร์มีผู้ที่จะสามารถเอาชนะนาคซาบังได้คือยักษ์สามีภรรยาคู่หนึ่ง ยักษ์คู่นี้มีฤทธิ์มากเช่นกัน ในที่สุดก็ถึงวันประลอง ณ บริเวณชายแดนของสองอาณาจักร การต่อสู้เป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ในที่สุดยักษ์ผู้ชายก็ใช้ดาบฟันคอนาคซาบังได้สำเร็จ ยักษ์ผู้หญิงได้ยกส่วนร่างของนาคซาบังแล้วขว้างออกไป ตรงที่ร่างนาคซาบังตกลงไปกลายเป็นเกาะและได้ชื่อว่าเกาะซาบัง หรือเกาะเว้นั่นเอง

ความสำคัญของเกาะซาบังในสังคมการเมืองของอินโดนีเซีย

หลังจากคลองสุเอซเปิดใช้ การเดินทางมายังหมู่เกาะอินโดนีเซียสั้นลงและง่ายขึ้นโดยผ่านช่องแคบมะละกา เนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคมหมู่เกาะอินโดนีเซียใช้เกาะซาบังเป็นท่าเรือที่สำคัญตั้งแต่ปี 1881 เนเธอร์แลนด์ใช้เกาะซาบังทั้งในด้านกิจกรรมทางทหารและเศรษฐกิจ เกาะซาบังเป็นท่าเรือเสรีในปี 1895 เป็นแหล่งส่งออกสินค้าที่สำคัญของเกาะสุมาตรา เช่น พริกไทย หมาก เนื้อมะพร้าวแห้ง และกาแฟ เป็นต้น ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สองท่าเรือที่เกาะซาบังนี้ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดในช่องแคบมะละกา ช่วงทศวรรษ 1900 เกาะซาบังเป็นคลังถ่านหินทำให้บรรดาเรือที่ใช้ถ่านหินต้องมาที่เกาะนี้ แต่เมื่อวิวัฒนาการของเรือเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดีเซลส่งผลให้สิงคโปร์เป็นที่ต้องการมากกว่าเกาะซาบัง

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เกาะซาบังถูกยึดครงโดยญี่ปุ่นและถูกใช้เป็นฐานป้องกันดินแดนทางตะวันออก ท่าเรือซาบังเสรีจึงถูกปิดลง เกาะซาบังถูกโจมตีด้วยกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรสองครั้ง สาธารณูปโภคถูกทำลายย่อยยับ และเมื่ออินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 เกาะซาบังยังคงเป็นพื้นที่ภายใต้การยึดครองของเจ้าอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ เกาะซาบังถูกส่งมอบโอนอำนาจการปกครองให้แก่รัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อปี 1950 หลังมีสนธิสัญญารับรองเอกราชของอินโดนีเซียระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซีย ต่อมาในทศวรรษ 1970 รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการฟื้นฟูเกาะซาบังโดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมและการค้า มีการประกาศให้เกาะซาบังเป็นท่าเรือเสรีอีกครั้ง แต่ในที่สุดก็ถูกปิดในปี 1986 จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างขบวนการอาเจะห์เอกราช (GAM) กับรัฐบาลอินโดนีเซีย

หลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่และสิ้นสุดอำนาจของอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต เมื่อปี 1998 เกาะซาบังได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งให้เป็นท่าเรือและเขตการค้าเสรี แต่ก็ต้องสะดุดในปี 2003 เมื่ออาเจะห์ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ใช้กฎอัยการศึก เมื่อเกิดภัยพิบัติสึนามิพัดถล่มอาเจะห์และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างถึงทางตอนใต้ของประเทศไทยเมื่อปลายปี 2004 เกาะซาบังถูกใช้เป็นสถานที่ลำเลียงความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่ผู้ประสบภัยสึนามิที่อาเจะห์ เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียและขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์ได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพในปี 2005 เกาะซาบังได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากชื่นชอบการไปเยือนเกาะซาบัง เพราะมีน้ำทะเลที่ใสสะอาด หาดทรายเป็นสีขาว และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ในปัจจุบันมีเรือผ่านช่องแคบมะละกาปีละประมาณ 50,000 ลำ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้เกาะซาบังเป็นเขตการค้าและท่าเรือเสรีสำหรับเรือต่างชาติที่ผ่านช่องแคบมะละกา เพื่อให้ซาบังเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์การค้าและการขนส่งทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

เกาะซาบังมีความเป็นมาที่สัมพันธ์กับสำคัญกับประเทศอินโดนีเซียมาโดยตลอดควบคู่กับจังหวัดอาเจะห์ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซียมาเกือบสามทศวรรษกว่าที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพ เกาะซาบังเป็นที่ตั้งของหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของประเทศ เป็นเหมือนประตูรั้วทางด้านตะวันตกของประเทศ ไม่มีทางที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะยอมให้เกาะซาบังเป็นหลักกิโลเมตรที่สูญ หมายความว่าอินโดนีเซียไม่มีวันปล่อยให้อาเจะห์ได้เป็นเอกราชอย่างแน่นอน


ข้อมูลประกอบการเขียน

สุจิตต์ วงษ์เทศ, “พระอภัยมณี make love, not war วรรณกรรมต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น,” มติชนออนไลน์, 23 มิถุนายน 2559, https://www.matichon.co.th/columnists/news_185495

สุจิตต์ วงษ์เทศ, อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นาตาแฮก, 2566.

Bonauli. “Asal Mula Nama Pulau Weh,” DetikTravel, https://travel.detik.com/domestic-destination/d-3515968/asal-mula-nama-pulau-weh

Hijrah Saputra, “Legenda Pulau Terapung,” Kompasiana, https://www.kompasiana.com/hijrah/5500e20aa333111d725120d1/legenda-pulau-terapung

“Sejarah Sabang,” Pemerintah Kota Sabang, https://sabangkota.go.id/halaman/sejarah-sabang

Tengkuputeh, “Legenda dan Mitos Asal Usul Penamaan Pulau Sabang, Gunung Seulawah, Pantai Alue Naga and Kawasan Ulee Lheu,” https://tengkuputeh.com/2020/05/29/legenda-sabang-seulawah-alue-naga/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save