fbpx

จับตาเลือกตั้ง ’66 คุยกับ เรืองฤทธิ์ โพธิพรม We Watch ในวันที่สังคมไม่ไว้ใจ กกต.

ถ้าวัดจากประวัติศาสตร์ วลีที่ว่า ‘การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้’ ย่อมไม่ใช่เรื่องเกินจริง

ยิ่งใกล้ช่วงเลือกตั้งมากเท่าไหร่ ประชาชนก็เริ่มเห็นพรรคการเมืองออกมาเสนอนโยบายมากขึ้นเท่านั้น ทว่าหลายคนกลับมีหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในใจนอกเหนือจากประเด็นนโยบาย คือ ‘การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรมได้หรือไม่’

เพราะช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา ประชาชนเห็น ‘ผลงาน’ ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาแล้ว โดยมีวาทะเด็ดและตรึงใจอย่าง “ผมไม่มีเครื่องคิดเลข” ของประธาน กกต. ที่สร้างคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่แค่นั้นคงไม่ถึงกับทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ เพราะตลอดช่วงการเลือกตั้ง กกต. มีเรื่อง ‘ท็อปฟอร์ม’ ตลอดเวลา จนมีประชาชนเกือบเก้าแสนคนร่วมลงชื่อเพื่อถอดถอน กกต. ในเว็บไซต์ change.org นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ผู้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับผู้ดูแลการเลือกตั้ง

“ไปไม่ถึงฝั่ง! ‘กกต.’ รับบัตรนิวซีแลนด์ส่งไม่ทันนับคะแนน จ่อชง กกต.สั่งเป็นบัตรเสีย”

กกต. แจงผลคะแนน ส.ส. 100 % ถูกต้องไม่เปลี่ยนแล้วชี้ “บัตรเขย่ง”ทำตัวเลขไม่ตรงกัน

“ศาลสั่ง กกต.ชดใช้ ‘อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พท.’ รวม 70 ล้าน เหตุแจกใบส้มไม่รอบคอบ”

เหล่านี้คือพาดหัวข่าวที่สะท้อนปัญหาการทำงานของ กกต. ในบทบาทของผู้ที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้ ‘สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย’ ดังหลักการที่ กกต. วางไว้ แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยไม่เห็นเป็นเช่นนั้น จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง

เมื่อกรรมการในการแข่งขันไว้ใจไม่ได้ ผู้ชมอย่างประชาชนจึงต้องลุกขึ้นมาจับตา

ในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เครือข่ายประชาสังคมหลายองค์กรจึงตัดสินใจรวมตัวและตั้งกลุ่มชื่อ ‘เครือข่ายประชาชนจับตาการเลือกตั้ง’ เพื่อหาอาสาสมัครนับแสนจับตาคูหาเลือกตั้งให้ครบทุกหน่วย โดยพวกเขาหวังว่าการลุกขึ้นมาจับตาครั้งนี้จะขัดขวางไม่ให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นในการเลือกตั้งได้ 

101 สนทนากับ เรืองฤทธิ์ โพธิพรม ผู้ประสานงานเครือข่าย We Watch หนึ่งในเครือข่ายประชาชนจับตาการเลือกตั้ง ว่าด้วยโครงการ We Watch เลือกตั้ง ’66 ในวิกฤตศรัทธาของ กกต. ที่เกิดขึ้นนี้ ประชาชนต้องจับตาดูอะไร ในวันที่การเมืองไทยอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้

We Watch เกิดขึ้นได้อย่างไร

การจัดตั้งและใช้ชื่อว่า We Watch เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ออกสื่อ เป็นเพียงการพูดคุยของกลุ่มคนและ กลุ่มเอ็นจีโอที่รู้จักกันในแวดวงสังเกตการณ์การเลือกตั้ง หนึ่งคนที่สำคัญคือ พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน จากเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network for Free Election หรือ ANFREL) ที่มีหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งในภูมิภาคเอเชีย มองว่าที่ผ่านมาไทยเองก็มีองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่าง P-NET (มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย) อยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ และต้องหลากหลายกลุ่มกว่านี้ โดยเฉาะกลุ่มเยาวชนที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง We Watch จึงเป็นเหมือนเครือข่ายที่เน้นขับเคลื่อนหลักโดยกลุ่มของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป 

แกนหลักทางความคิดของพวกเราคืออยากขยายพื้นที่ของภาคประชาสังคมให้กว้างขึ้น ที่สามารถถ่วงดุลอำนาจรัฐได้ อีกทั้งให้ประชาชนที่ไม่มีอำนาจในการเลือกตั้งการเมืองแบบตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทั้งนี้จะออกมาในรูปแบบของข้อเสนอ ข้อเรียกร้องเพื่อแนะนำรัฐบาลและทิศทางการทำงานของประเทศ รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

ถือว่าเป็นแนวทางของพวกเราที่ไม่ได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะก่อนหน้านี้โดยทั่วไปการสังเกตการณ์การเลือกตั้งไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้คน จึงจำเป็นที่ต้องมีประเด็นอื่นๆ ที่ผู้คนสนใจร่วมด้วย เช่น เหมืองแร่ สิ่งแวดล้อม ราคาพืชผลทางเกษตร สวัสดิการ เป็นต้น และเวลาพวกเราไปจัดเวทีก็จะนำประเด็นเหล่านั้นที่เขาสนใจมาพูดคุยกัน พอพวกเราเข้าถึงคนให้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันแล้ว เราจึงเสนอเรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้าไปด้วย

ทำไมถึงลุกขึ้นมาจับตาการเลือกตั้ง

ตอนตัดสินใจก่อตั้งเป็นขบวนการภาคประชาสังคม ช่วงนั้นสังคมไทยมีความขัดแย้งเหลือง-แดงแล้ว เป็นช่วงที่ผู้คนแบ่งกันออกเป็นสองฝ่าย ทีนี้พวกเราจึงมองว่ามีประเด็นไหนบ้างที่ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้ หนึ่งในนั้นคือ ‘การเลือกตั้ง’ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามพวกเราไม่สามารถหลีกหนีการเลือกตั้งได้ และเป็นประเด็นที่ไม่ต้องไปโต้เถียงกับใครมาก

ต้องยอมรับว่าคนหัวคิดก้าวหน้าที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือออกมาประท้วงนั้นมีน้อยและจำกัด อย่างแวดวงนักกิจกรรมทางการเมืองก็มีเพียงไม่กี่กลุ่ม ทีนี้เมื่อจัดกิจกรรม กลุ่มเป้าหมายก็ไม่ต่างกันและมีจำนวนไม่มาก บ้างก็แย่งฐานมวลชนกันเอง ภาคประชาสังคมจึงไม่ขยายสักที

เมื่อเราชูประเด็นเรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้งและชูความเป็นกลางออกไป จะทำให้เราได้กลุ่มคนที่เข้าร่วมกว้างขึ้น นอกเหนือจากนักกิจกรรมทางการเมืองเพียงไม่กี่คน เราจะได้กลุ่มตั้งแต่คนที่ไม่สนใจจนถึงกลุ่มที่สนใจทางการเมือง ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้พื้นที่ภาคประชาสังคมกว้างขึ้นตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นยุทธวิธีของกลุ่มเราในการสร้างพื้นที่ภาคประชาสังคม อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายการทำงานของพวกเรา คือ การทำให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ถูกสอนให้เกลียดชังการเมืองและนักการเมือง เราถูกสอนให้เกลียดชังจนถึงขั้นยอมรับการรัฐประหารได้ ลองคิดดูว่าที่ผ่านมาวิกฤตขนาดไหน ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คน ‘อิน’ กับการเกลียดชังการเมืองและนักการเมืองได้มากขนาดนี้ ก็เพราะการเลือกตั้งเองถูกทำให้ไม่น่าเชื่อถือ เห็นได้จากเมื่อใครเป็นรัฐบาล พอมีการเลือกตั้งก็ออกแบบกติกาหรือสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้ตนเองได้เปรียบ 

เป้าหมายของพวกเราคืออยากให้การเลือกตั้งทั้งการจัดการการเลือกตั้งและกฎหมายให้เป็นไปตามหลักการสากล โดยผลักดันจากภาคประชาชน เมื่อเราบอกว่าการเลือกตั้งไม่ยุติธรรมนั้น แน่นอนว่าต้องถูกรองรับด้วยสถิติหรือข้อมูลเพื่อใช้ยืนยัน ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีคนร่วมกับเราเยอะเพื่อที่จะมีโอกาสผลักดันข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอแนะกับรัฐได้

ลำพังข้อเสนอแนะต่างๆ เรามีได้อยู่แล้ว นักวิชาการก็ตอบได้ แต่หากไม่มีภาคประชาชนหนุนข้อเสนอเหล่านี้ ก็จะไม่นำไปสู่การปฏิบัติหรือแก้ไขให้ดีขึ้น ทั้งนี้หากประชาชนเห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้ก็จะนำมาซึ่งการแก้ไขได้จริง และในทางเดียวกันประชาชนก็จะ ‘ปกป้อง’ ในสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องด้วย 

คำว่า ‘ปกป้อง’ ในที่นี้ คือหากมีการเลือกตั้งแล้ว ทุกฝ่ายยอมรับและเดินตามกติกา โดยมีกลไกที่ถูกออกแบบเพื่อจัดการกับการโกงการเลือกตั้ง หรือหากเกิดการรัฐประหารขึ้นในวันใดวันหนึ่ง ประชาชนก็จะเคลื่อนไหวเพื่อกดดันไม่ยอมรับ เพราะประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้ง ยอมรับคนที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าจากกระบวนการอื่น



วันที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ประชาชนตรวจสอบและวิพากษ์รัฐได้เอง ภาคประชาสังคมยังจำเป็นอยู่ไหม 

โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเสริมเท่านั้น ทำให้เกิดการรับรู้และเชื่อมโยงกันของภาคประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม การทำงานภาคประชาสังคมก่อนหน้านี้จึงเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นทั้งในมิติความสัมพันธ์และการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ภาคประชาสังคมไม่สามารถขับเคลื่อนได้โดยโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว 

เหมือนกำลังบอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งขบวนการทางสังคม หากผู้คนก็สามารถมาตรวจสอบรัฐได้ ทั้งที่พลังของปัจเจกมีน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการพูดคุยต่อรองกับรัฐ ต้องมีการรวมกลุ่มและจัดตั้งในระดับหนึ่งถึงจะได้ภาคประชาสังคมที่มีพลังขึ้นมา

สำหรับผมคำตอบของคำถามนี้คือ ภาคประชาสังคมยังจำเป็นอยู่ ในฐานะของปฏิบัติการรวมหมู่ที่ทุกคนออกมาช่วยกัน เพียงแต่โซเชียลมีเดียเป็นตัวเสริมที่ทำให้การสื่อสารนั้นง่ายขึ้น

การทำงานภาคประชาสังคมในช่วงการเมืองอำนาจนิยมเช่นนี้ ยากหรือไม่

ยากแต่แหลมคมขึ้น หากเปรียบเทียบกับสมัยปี 2547 ช่วงนั้นยังไม่เกิดความขัดแย้งสีเสื้อและไม่ค่อยมีการตอบโต้จากรัฐในการเคลื่อนไหวทางการเมือง อีกทั้งข้อเรียกร้องยังไม่แหลมคม แต่เมื่อมีขบวนการต่อต้านระบบรัฐสภา ต่อต้านผู้นำจากการเลือกตั้ง รวมถึงการสนับสนุนการรัฐประหารอย่างกลุ่มเสื้อเหลือง ทำให้ประเด็นในภาคประชาสังคมแหลมคมขึ้นกว่าเดิม 

จากเดิมเมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิของประชาชน ผู้คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจ แต่เมื่อพวกเขาอยู่ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เขาจะรู้ว่าเดือดร้อนอย่างไรและเข้าใจข้อเรียกร้องได้ง่ายกว่าเดิม เพราะเห็นภาพมากขึ้น ไม่ใช่รับรู้เพียงหลักการ ทั้งหมดนี้จะนำมาสู่การเสริมสร้างและพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย

ส่วนประเด็นการต่อรองกับรัฐ ทุกขบวนการทางสังคมย่อมมียุทธวิธีของตนเองอยู่แล้ว นอกจากการเผชิญหน้ากับรัฐอย่างตรงไปตรงมา ต้องมีการต่อรองอยู่แล้ว เพียงแต่ความยากหรือง่ายนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลา 

หากช่วงไหนที่ความชอบธรรมของชนชั้นนำอ่อนลง หรือเกิดความขัดแย้งภายใน ช่วงนั้นพวกเขาจะยอมเจรจากับเรา แต่ช่วงที่ขบวนการทางสังคมรวมกลุ่มได้น้อยในขณะที่ชนชั้นนำเหนียวแน่น เขาก็อาจจะไม่ยอมเจรจากับเรา

We Watch ชูการเป็นภาคประชาสังคมที่ยึดหลักความเป็นกลาง แล้ว ‘ความเป็นกลาง’ ที่ว่านี้คืออะไร

ความเป็นกลางนั้นเป็นคนละเรื่องกับความเป็นกลางระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ แน่นอนว่าพวกเราอยู่ข้างประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะการเลือกตั้งก็เป็นหนึ่งในกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้

ความเป็นกลางแบบของเราจึงถูกนิยามว่า ไม่ฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ ‘การไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง’

แน่นอนว่าอาสาสมัครของเราทุกคนมีพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าพอเราเป็นกลาง เราจะไม่ไปเลือกตั้ง แต่การทำงานของพวกเรานั้นยึดข้อมูลเป็นหลัก เพราะการสังเกตการณ์ก็มีประเด็นที่จับตาอยู่แล้ว เช่น มีการข่มขู่คุกคามในพื้นที่หรือไม่ แม้พฤติกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับพรรคที่ตนเองสนับสนุน อาสาสมัครก็ต้องรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอาสาสมัครที่ทำงานกับเราทุกคนต้องยึดหลักการนี้

ชวนถอดบทเรียนการทำงานของ We Watch ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง

หากในมุมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เราพบว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ทาง We Watch ได้อาสาสมัครมาน้อย ไม่ทั่วถึง นับเป็นบทเรียนของเราเลยที่เมื่อไม่ทั่วถึง ข้อมูลเลยยังขาด ทำให้ส่งผลต่อการเปรียบเทียบผลคะแนน เพราะ กกต. ก็ไม่ได้ประกาศผลในช่วงที่เราท้วงติงผลได้

เมื่อเรามีคนน้อย เวลาผลักดันข้อเสนอ ข้อเสนอเหล่านั้นก็จะไม่มีพลังให้ผู้มีอำนาจรับฟัง เราเผยแพร่สู่สาธารณะและยื่นให้กับ กกต. แล้ว แต่พอไม่มีคน ข้อเสนอของเราก็อ่อนตาม

เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ที่ตั้งขึ้นนี้ มีเป้าหมายอย่างไรบ้าง

เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งนับเป็นหนึ่งในความพยายามของภาคประชาชนที่อยากให้การเลือกตั้งเป็นอิสระและโปร่งใส สำหรับ We Watch เราทำกันมาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาก็เห็นข้อจำกัดว่า ลำพัง We Watch ไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะการสรรหาอาสาสมัครเพื่อมาจับตาการเลือกตั้งในทุกหน่วยได้ เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือของภาคประชาชนในทุกส่วน

ความแตกต่างของการเลือกตั้งในครั้งนี้คือ สภาวะตื่นตัวของภาคประชาชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ว่าหากไม่มีการสังเกตการณ์อาจจะทำให้เกิดการโกงขึ้น การรวมตัวในครั้งนี้ก็มีการร่วมมือกันของหลายกลุ่มหลายองค์กร ทั้งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) Vote62 กลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นเฉพาะด้าน (สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน แรงงาน เพศ) กล่าวคือทุกฝ่ายต้องการให้เสียงของประชาชนถูกสะท้อนผ่านการเลือกตั้งอย่างแท้จริง ว่าประชาชนเลือกพรรคไหน พรรคนั้นก็ควรได้เป็นรัฐบาล 

เครือข่ายฯ ไม่ได้ต้องการทราบแค่ผลการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องการถอดบทเรียนว่าการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ควรจะปรับเปลี่ยนเช่นไร เพื่อให้การเลือกตั้งของประเทศไทยก้าวหน้ามากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของความโปร่งใส แต่ต้องอำนวยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการเลือกตั้งได้มากขึ้น เห็นได้จากข้อเสนอทั้งการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไปจนถึงคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง คนเหล่านี้ต้องเข้าถึงสิทธิตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งและช่วงเดินทางไปเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น กล่าวคือต้องพัฒนาทั้งการจัดการเลือกตั้งและวิธีการไปเลือกตั้ง

การสังเกตการณ์การเลือกตั้งทุกหน่วยต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมาก เครือข่ายฯ มองความเป็นไปได้อย่างไร

ก่อนอื่นการสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้นมีวิธีวิทยาของมัน กล่าวคือสามารถใช้ระบบสุ่มได้ เช่น การสุ่มหน่วยที่มีประวัติการโกง หรือมีการแข่งขันสูง ไม่จำเป็นต้องถึงแสนคน หลักหมื่นหลักพันก็ทำได้ แต่ข้อจำเป็นที่เราต้องการอาสาสมัครจำนวนมาก ข้อมูลที่ได้มีจำนวนมากขึ้น และประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านั้นอย่างแท้จริง

อีกทั้งสามารถสะท้อนพลังของประชาชน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของภาคประชาชนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหาอย่างไร และการจัดการเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป ควรปรับปรุงอย่างไร ผมคิดว่าอาสาสมัครหลักแสนคนจะเป็นประโยชน์ในแง่พลังความหลากหลายของข้อมูล และพลังในการผลักดันประเด็นข้อเรียกร้อง

แม้ลำพังการสังเกตการณ์ของภาคประชาชนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ กกต. ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลผลการเลือกตั้งรายหน่วยให้กับสังคมได้รับรู้ในรูปแบบออนไลน์ ที่ผ่านมา กกต. มักจะบอกว่าติดผลคะแนนรายหน่วยไว้ที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว ปัญหาคือใครจะไปตามดูทุกหน่วย นอกจากพรรคการเมืองจะร่วมมือกันและนำมาแบ่งปันกัน คำถามสำคัญคือมันเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองหรือภาคประชาชนอย่างเดียวหรือ คำตอบคือ กกต. ควรจะต้องอำนวยความสะดวกต่างหาก ในการนำข้อมูลทั้งหมดมารวมไว้ที่เดียวเพื่อให้ประชาชนดึงข้อมูลมาแล้วนำมาเปรียบเทียบกับผลที่ได้จากการสังเกตการณ์ของภาคประชาชน กระบวนการดังกล่าวนับเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้การสังเกตการณ์การเลือกตั้งของภาคประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อการจับตาการเลือกตั้งต้องใช้ผู้คนจำนวนมากขนาดนี้ เคยมองเรื่องการร่วมมือกับสื่อหรือพรรคการเมืองไว้ไหม เพราะอาจช่วยเรื่องทรัพยากรบุคคลได้มากขึ้น

เราก็อยากร่วม แต่การร่วมมือกับพรรคการเมืองจะต้องร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง เพราะหากเราร่วมเพียงไม่กี่พรรค จะส่งผลกับภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือเรื่องความเป็นกลาง ในความจริงแล้วพรรคการเมืองเองก็ไม่อยากเข้ามาร่วมกับเราหรอก ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นงบประมาณในการใช้หาเสียงที่ต้องใช้งบตามที่กฎหมายกำหนด และค่าส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้น จะถูกนับรวมในงบประมาณดังกล่าวด้วย

ส่วนความร่วมมือกับสื่อนั้น ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาสังคมก็ร่วมมือกับสื่อเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าสื่อจะมาร่วมมากน้อยเพียงใด เพราะความจริงแล้วสื่อสนใจเพียงการรายงานผลที่รวดเร็ว เน้นไปด้านนั้น ไม่ได้สนใจหรือเน้นด้านการตรวจสอบ ทำให้สื่อก็จะยึดตามประกาศของ กกต. แต่ภาคประชาชนเราไม่เป็นเช่นนั้น เราต้องการดูความถูกต้องด้วย ผ่านการเปรียบเทียบข้อมูลของเครือข่ายฯ กับข้อมูลของ กกต.

หากเปรียบเทียบการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น คิดว่ากระบวนการที่ไม่ชอบธรรมจะเกิดน้อยลงหรือมากขึ้น

มองในแง่ดี การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนตื่นตัวมากพอสมควร กล่าวคือมีทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง 2562 เพราะช่วงนั้นประเด็นการจับตาการเลือกตั้งยังไม่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีภาคประชาสังคมหรือกลุ่มของประชาชนรวมตัวกันเป็นลักษณะเครือข่ายหลายองค์กร จึงคิดว่าน่าจะสร้างบรรยากาศการสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้มากขึ้น

ในมิติของกฎหมาย ปัจจุบันก็ยังมีบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สำหรับการโหวตนายกรัฐมนตรี ใครมองเข้ามาก็รู้ว่าสิ่งนี้เป็นกติกาที่ไม่ยุติธรรม ที่มาของ กกต. เอง ก็ยังยึดโยงกับขั้วกลุ่มอำนาจเดิม หรือรัฐบาลในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่าการเลือกเลือกตั้งยังไม่ได้มาตรฐาน เพราะผู้จัดการเลือกตั้งต้องเป็นกลาง ถึงแม้เราจะมองว่า กกต. เป็นองค์กรที่มีความอิสระและมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง แต่เมื่อมองที่มาของ กกต. พวกเขาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ส่วนทางปฏิบัติตอบได้ยากมากว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งที่แล้วได้พิสูจน์การทำงานของ กกต. ที่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพมาก

นอกจากนี้ กติกา การจัดการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วจนถึงครั้งนี้ กติกาและการจัดการเลือกตั้ง หมายรวมถึงกลไกของ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินโทษ อีกทั้งเรื่องการนับคะแนนที่มีความผิดปกติอย่างบัตรเขย่ง หรือบัตรจากต่างประเทศที่ไม่ถูกนับรวม ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อการแพ้ชนะในแต่ละเขต ผมคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ประเด็นนี้ก็ยังคงอยู่

ทีนี้การฟันธงว่ามีการโกงผลคะแนนหรือความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งนั้น ยากที่จะฟันธงว่าจะเกิดหรือไม่ คงพูดได้เพียงรูปแบบการโกงผลคะแนนมีหลากหลายรูปแบบ ผมคิดว่ารูปแบบการโกงผลการเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าวิธีการเก่าๆ จะไม่ถูกหยิบขึ้นมาใช้ โดยสองรูปแบบที่พอเป็นไปได้ คือ

หนึ่ง การโกงผลคะแนนผ่าน ‘หน่วยเลือกตั้งผี’ เช่น ครั้งนี้มี 400 เขตเลือกตั้ง แปลว่าจะมีหน่วยเลือกตั้งที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหน่วยเลือกตั้งผีคือเกิดการตั้งหน่วยเลือกตั้งที่ไม่มีใครรู้ว่ามีหน่วยเลือกตั้งนี้

กระบวนหน่วยเลือกตั้งผีคือการนำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไปอยู่ในรายชื่อของหน่วยนั้น ลักษณะดังกล่าวโกงง่ายกว่า ผลคะแนนก็จะไม่มีใครรู้ และสามารถนำผลคะแนนที่ประกาศในหน่วยเลือกตั้งผีมาคำนวณคะแนนได้เลย

สอง การโกงภายในหน่วยเลือกตั้งทั่วไป เช่น กาบัตรเลือกตั้งหลายใบแล้วนำไปหย่อน โดยอาศัยจังหวะก่อนเปิดหีบเพื่อนับคะแนน หรืออาศัยจังหวะระหว่างเปิดหีบที่ไม่มีใครสังเกต แล้วยัดเข้าไป ความน่ากลัวของรูปแบบดังกล่าวคือ การจับได้ยาก เพราะบุคคลที่จะโกงมักไปดูว่าหน่วยเลือกตั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิครั้งก่อนร้อยละเท่าไหร่ เช่น หากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วหน่วยเลือกตั้งมีผู้มาใช้สิทธิ์ร้อยละ 50 เขาก็จะโกงให้สัดส่วนของผ้มาใช้สิทธิคงที่หรือมากขึ้น ทั้งนี้บัตรเลือกตั้งที่ยัดเข้ามาใหม่จะต้องไม่เกินจำนวนผู้มีสิทธิในหน่วยเลือกตั้งนั้น

นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า บัตรเลือกตั้งนอกเขต และบัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศ ประชาชนไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากระบวนการในการรวมบัตรเลือกตั้งมีขั้นตอนอย่างไร เพราะบัตรกลุ่มดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อผลคะแนนในเขตนั้น อย่างการเลือกตั้งนอกเขตของการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีมากถึง 2,600,00 ใบ นับว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมากพอจะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้หากมีการโกงเกิดขึ้น

รวมถึงขั้นตอนการนับคะแนนในระดับศูนย์ประจำอำเภอ กล่าวคือคะแนนจากหน่วยจะถูกนำไปรวมที่ศูนย์ประจำอำเภอ โดยศูนย์ประจำอำเภอก็จะกรอกข้อมูล ซึ่งก็มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าขั้นตอนดังกล่าวอาจเป็นช่องว่างในการปรับเปลี่ยนผลคะแนนได้

มองอย่างไรกับวิกฤตศรัทธาต่อ กกต. ที่เกิดขึ้น

วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะภาพลักษณ์ กกต. ยังถูกเชื่อมโยงกับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ อีกทั้งแม้เปลี่ยนเลขาธิการกกต. ก็ไม่สามารถทำผลงานให้ประชาชนประทับใจได้ มิหนำซ้ำยังถูกมองว่าไม่พัฒนาการเลือกตั้งให้โปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว กกต. สรุปบทเรียนและมีข้อเสนอแนะมากมาย แต่บทเรียนและข้อเสนอเหล่านั้นกลับไม่ถูกนำมาพัฒนาในครั้งนี้เลย เช่น ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ครั้งที่แล้ว กกต. เองก็สรุปบทเรียนว่าไม่เวิร์ก และต้องปรับเปลี่ยน แต่ผ่านมาแล้วสี่ปีก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์ของ กกต. จึงดูทั้งไม่สร้างผลงานที่ประทับใจและเฉื่อย

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ เข้าไปพบกับเลขาธิการ กกต. และมีข้อเสนอเรื่องการอนุญาตให้อาสาสมัครถ่ายรูปได้ โดยแนะนำให้ กกต. ออกระเบียบหรือสั่งการไปยังหน่วยเลือกตั้ง อีกทั้งออกระเบียบเกี่ยวกับการเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วย แต่ กกต. กลับบอกว่า ไม่จำเป็นต้องออกระเบียบ เพราะสามารถใช้เป็นวิถีปฏิบัติได้

การออกระเบียบไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ทำไมไม่ทำ ถ้าออกระเบียบมาก็ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งกันภายหลัง อีกทั้งส่งผลให้มีอำนาจบังคับมากกว่า สำหรับผมการตอบลักษณะนี้ของ กกต. ไม่ต่างอะไรกับปฏิเสธ

ล่าสุด กกต. จะไม่ประกาศผลแบบเรียลไทม์ในวันเลือกตั้ง ซึ่งสร้างข้อวิจารณ์อย่างมากในสังคม การประกาศผลแบบเรียลไทม์จำเป็นต่อการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร

สำหรับผมไม่จำเป็นต้องเรียลไทม์ก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ กกต. ควรประกาศผลคะแนนรายหน่วย 95% ภายในวันเลือกตั้งโดยไม่ประกาศเพียงผลคะแนนรวมของทั้งประเทศ เพราะไม่สามารถนำข้อมูลดิบมาเปรียบเทียบกับผลคะแนนของภาคประชาชนได้

การประกาศผลคะแนนลักษณะนี้ดีกว่าประกาศแบบเรียลไทม์อีก เพราะต้องการความถูกต้องและเปิดเผยผลคะแนนมากกว่าความเร็ว

หนึ่งในความแตกต่างระหว่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว กับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการปรับเปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส. ส่งผลให้มี ส.ส. เขตมากขึ้น แปลว่าจำนวนเขตก็ต้องมากขึ้นตาม มองการแบ่งเขตของการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร

การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหนล้วนมีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองอยู่พอสมควร อย่างการเลือกตั้งปี 2562 มีคำสั่งของคณะรัฐประหารมอบอำนาจให้ กกต. ส่วนกลาง สำหรับการขีดเส้นเขตใหม่ โดยมีถึง 11 จังหวัดที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบของเขตใหม่ โดยปกติแล้ว กกต. จังหวัดจะเป็นคนออกแบบเขตเลือกตั้ง ประกาศดังกล่าวส่งผลให้มีบางพรรคได้เปรียบและบางพรรคเสียเปรียบ

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ มี 6 จังหวัดที่จะเป็นปัญหา ต้นเหตุจากปัญหาการคำนวณจำนวนประชากรในจังหวัด ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นจำนวน ส.ส. ว่าจังหวัดไหนจะได้กี่คน ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้คือ กกต. นำฐานข้อมูลในการคำนวณเป็นจำนวนประชากรที่รวมคนต่างชาติที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งเข้ามาด้วย การคำนวณลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ 3 จังหวัดมี ส.ส. มากขึ้น และอีก 3 จังหวัดจะมี ส.ส. น้อยลง

ประเด็นดังกล่าวสร้างข้อถกเถียงในสังคมอย่างมาก จน กกต. ตัดสินใจยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ข้อมูลจำนวนประชากรที่ใช้ในการคำนวณต้องนับรวมคนต่างชาติหรือไม่ ทั้งนี้อาจจะส่งผลต่อไทม์ไลน์การเลือกตั้งได้ ประชาชนควรติดตามกันต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร อย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกองค์กรอิสระที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งของประเทศไทยอย่างมาก เห็นได้จากการเลือกตั้งปี 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เมื่อเทียบระหว่างการเลือกตั้งปี 2549 กับ 2562 พบว่า 2562 นั้นเกิดปัญหามากกว่าปี 2549 มาก แต่กลับไม่โมฆะ


จริงๆ แล้วการตื่นตัวของภาคประชาชนหรือสื่อ ยิ่งควรจะทำให้ กกต. ตื่นตัวหรือพัฒนาการเลือกตั้งให้โปร่งใสมากขึ้นไหม

กกต. เองก็ควรเร่งสร้างผลงาน หากวันนี้ประชาชนทำได้และทำได้ดี กกต. จะมีประโยชน์อะไร อย่าลืมว่า กกต. เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2535 และถูกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการให้ กกต. มาเป็นผู้จัดการการเลือกตั้งที่เป็นกลาง และต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ใช่ว่าคุณจะมาจัดการการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว กกต. เองก็ควรพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ โปร่งใสมากขึ้น อีกทั้งขยายสิทธิการเลือกตั้งให้มากขึ้น

หากมองในแง่ดี เมื่อ กกต. เห็นประชาชนคึกคักเขาก็อาจจะมีแรงฮึดคล้ายๆ กับพวกเรา ช่วงนี้ผู้คนมักพูดกันติดปากว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยแรงด่า ราชการไทยและหน่วยงานของรัฐก็ไม่ต่างกัน ผมจึงคิดว่าเมื่อมีความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนลักษณะเช่นนี้ อาจทำให้ กกต. พัฒนามากขึ้น

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กกต. มักแจกใบเหลือง ใบส้ม หรือใบแดง จนไปถึงการตัดสิทธิทางการเมือง หลายครั้งก็เกิดปัญหาตามมาอย่างกรณีสุรพล เกียรติไชยากร ที่ กกต. ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมหาศาล การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ยังจะกล้าแจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง มากเช่นเดิมหรือไม่

คิดว่ากล้า เพราะตามกฎหมายแล้ว คำสั่งของ กกต. เป็นที่สิ้นสุด กล่าวคือถ้าฟ้องกลับ กฎหมายก็คุ้มครองพวกเขาอยู่แล้ว เขาไม่มีอะไรจะเสีย อย่างกรณีของคุณสุรพลหากต้องชดใช้ค่าเสียหาย ก็คงเป็นเงินภาษีที่มาจากประชาชนอยู่แล้ว 

กระบวนการที่มีปัญหามากที่สุดคือ ‘ใบส้ม’ คือใบเหลืองหากมีการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครที่ได้ใบเหลืองก็สามารถลงสมัครอีกครั้งได้ แต่ใบส้ม คุณไม่สามารถลงสมัครอีกครั้ง ทั้งๆ ที่กระบวนการตัดสินยังไม่แล้วเสร็จด้วยซ้ำ อย่างกรณีคุณสุรพล เมื่อศาลฎีกาบอกว่าเขาไม่ผิด แต่ตำแหน่งและชื่อเสียงของเขาเสียไปแล้ว อีกทั้งคนที่สร้างความผิดพลาดอย่าง กกต. กลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คนเสียประโยชน์ที่สุดในเหตุการณ์นี้คือประชาชนที่ต้องเสียภาษีเพื่ออุ้มชูหน่วยงานเช่นนี้ คิดว่าหากกฎหมายยังเป็นเช่นเดิม ที่มอบอำนาจให้ กกต. อยู่เช่นเดิม ไม่ว่าอย่างไรเขาก็ทำ

ปัญหาเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้ แล้วสังคมไทยยังจำเป็นต้องมี กกต. อยู่ไหม

ต้องมี แต่ กกต. ต้องพัฒนาให้เป็นองค์กรที่สามารถจัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และต้องมีข้อมูลของตนเองเพื่อใช้พัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเลือกตั้ง

โครงสร้างที่มาของ กกต. อาจต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ต้องถึงขั้นเลือกตั้งก็ได้ แต่อย่างน้อยควรมีที่มาอันชอบธรรม เช่น รัฐสภาแต่งตั้ง ให้ตัวแทนของประชาชนเป็นผู้เลือก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save