fbpx

We Should all go to hell กับความสัมพันธ์ อาการเสื่อมสมรรถภาพ และการเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่ง

“ไม่ว่าจะมีอีกกี่ตัวแปรในสมการ เราล้วนกำลังมีความรักในรูปแบบที่ต่างกันออกไป แน่ล่ะ มันพูดถึงการหลอกลวง หักหลัง เลิกรัก แสร้งรัก ไม่รัก จนกลับมารักกันใหม่ ผมกำลังสนุกกับการตลบหลังพระเจ้าด้วยวิธีใหม่ๆ เราทั้งหมดกำลังนอกใจเขา” 

เรื่องราวของ ‘We Should all go to hell เราทุกคนควรลงนรก’ คือเรื่องราวความสัมพันธ์ของ 3 ตัวละครอย่าง ‘เดซี่’ โสเภณีที่รักๆ เลิกๆ กับพระเจ้า ‘ธาร’ โสเภณีหนุ่ม ผู้กำลังประสบปัญหากับสภาวะ ‘จู๋ไม่แข็ง’ และ ‘ไอรีน’ ลูกค้าสาวคนหนึ่งของธาร ผู้หมกมุ่นกับสมการและตารางกริด สำหรับไอรีน ดูเหมือนว่าสมการจะเป็นภาพแทนของความพยายามที่จะเข้าใจรูปแบบความสัมพันธ์และความพยายามที่จะหลุดพ้นจากความสัมพันธ์อีกด้วยเช่นเดียวกัน

ตัวเรื่องของนิยายเล่มนี้วางอยู่บนทั้งตรรกะที่ชัดเจนแบบคณิตศาสตร์และอารมณ์ที่สุดเหวี่ยงแบบไร้เหตุผล โดยมีตัวละครอย่างธารยืนอยู่ตรงกลาง ทั้ง 3 คนต่างใช้ชีวิตที่วนเวียนอยู่กับวงจรของความสัมพันธ์แบบรัก เลิกรัก หลอกลวง หักหลัง และกลับไปรักใหม่ ในแง่ของความพยายามนำเสนอความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ต่างไปจากผัสสะของเราทำให้นิยายเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

‘We Should all go to hell เราทุกคนควรลงนรก’ เป็นนิยายของ บริษฎร์ พงศ์วัชร์ ที่ว่าจะเป็นนิยายเรื่องแรกก็ไม่เชิงนัก เพราะในถ้อยแถลงของสำนักพิมพ์ท้ายเล่มได้บอกไว้ว่า ต้นฉบับของเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สาม แต่ขอหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาตีพิมพ์ก่อน แม้นิยายสองเรื่องแรกจะเขียนเสร็จแล้วก็ตาม “เพราะถูกตัวละครจากเล่มที่สามขอแซงคิว เดซี่ ไอรีน และธารรีบร้อนเร่งเร้าให้นักเขียนเล่าเรื่องความสัมพันธ์ อันประกอบด้วย 11 วันบนถนนรอบๆ รัศมีหนึ่งร้อยกิโลเมตรแห่งความเวิ้งว้าง 1 เดือนสำหรับการตกหลุมรัก 1 ปีในโรงแรมโกโรโกโส และ 1 คืนที่ไม่อาจหวนคืน” (หน้า 178)

แม้เหตุผลจะไม่เป็นที่ชัดเจนนักแต่ผมคิดหรือทึกทักไปเองว่า เหตุผลสำคัญในการตีพิมพ์นิยายเรื่องนี้ก่อนเรื่องอื่นๆ อาจเป็นเพราะ ตัวเรื่องพยายามให้ความสำคัญกับคำว่า ‘June’ ทั้งในตอนที่ ‘เดซี่’ พยายามร้องเพลง ‘Hey Jude’ แต่เพี้ยนเป็น ‘Hey June’ บวกกับเพลงนี้ก็เป็นเพลงโปรดของเดซี่ และยังเป็นหนึ่งในความทรงจำหรือตัวแทนที่ธารมีต่อเธอ นอกจากนี้จูนยังกลายเป็นชื่อจุดสีดำใต้ราวนมของเดซี่ ซึ่งเป็นจุดที่ทั้งธารและเดซี่ชอบเหมือนกันอีกดัวย ต่อมาในตอนที่ ‘ไอรีน’ หญิงสาวผู้หมกมุ่นอยู่กับสมการ การแทนค่าสมการและตารางกริด ได้กำหนดจุดบนร่างกายของธารในฐานะที่เป็น ‘จุดอ้างอิง’ เพื่อใช้ในการคำนวณสมการการเคลื่อนไหวของธาร เธอเองก็แนะให้เขาตั้งชื่อจุดๆ นี้ โดยธารก็เลือกที่จะตั้งชื่อจุดนี้ว่า ‘จูน’ เช่นกัน

และหากพิจารณาว่านิยาย ‘We Should all go to hell เราทุกคนควรลงนรก’ ตีพิมพ์ (ตามหน้าลิขสิทธิ์ของหนังสือ) ในเดือนกรกฎาคม แต่ก็เข้าใจได้ว่ากระบวนการในการทำน่าจะเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่การตีพิมพ์อย่างเป็นทางการอาจจะคลาดมาหนึ่งเดือน (ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้) ดังนั้นการเลือกเอานิยายเรื่องที่สามของบริษฎร์มาตีพิมพ์ก่อนสองเล่มที่เหลือ น่าจะเป็นความตั้งใจที่อยากจะให้เหตุการณ์ในตัวนิยายกับช่วงเวลาในการออกหนังสืออยู่ในระยะเวลาที่สอดคล้องกัน นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยที่สำนักพิมพ์ใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ เช่นนี้ นอกจากนี้เขายังเคยมีผลงานรวมเรื่องสั้นชุด ‘Waltz เต้นรำในวอดวาย’ เมื่อปี 2019 กับสำนักพิมพ์ P.S. อีกด้วย

บริษฎร์ถือได้ว่าเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มมีผลงานตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะ ด้วยเหตุนี้ ผลงานของเขาจึงเต็มไปด้วยความสดใหม่ของนักเขียนที่เพิ่งเริ่มต้นในอาชีพ การทดลองสิ่งแปลกใหม่เป็นสิ่งที่เราเห็นได้บ่อยครั้งในผลงานชิ้นแรกๆ ของนักเขียน เช่นเดียวกับวัตถุดิบที่นักเขียนเหล่านั้นนำมาใช้ในงานเขียน บางครั้ง บางคน ก็ทำได้น่าสนใจ แต่หลายๆ หนก็ยังเห็นได้ชัดว่าอาชีพนักเขียนอาจต้องใช้เวลาเคี่ยวกรำตัวเองให้งวดพอที่จะเค้นเอาประสบการณ์และเทคนิคบางอย่าง ที่ไม่อาจนำมาจากตำราใดๆ มาใช้ได้ในฉับพลัน 

สำหรับผม บริษฎร์มีข้อที่น่าสนใจมากมายไปพร้อมๆ กับข้อสังเกตบางอย่างที่ชวนให้พิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ เมื่อได้อ่าน ‘We Should all go to hell เราทุกคนควรลงนรก’ จบแล้ว ผมคิดว่าตัวนิยายมีประเด็นที่เชื้อชวนให้สนทนาอย่างออกรสออกชาติ เป็นทั้งการมองเห็นความพยายามของนักเขียนรุ่นใหม่และรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

Hey Jude, what are you writing about ?

ผมอ่านนิยายเล่มนี้ด้วยความระลึกอยู่ตลอดเวลาว่านี่เป็นผลงานนิยายเล่มแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ของนักเขียน โดยมากแล้วผลงานขนาดยาวชิ้นแรกของนักเขียนมักจะมีจุดที่ชวนให้เราสงสัยหรือชวนให้เราพินิจด้วยความใคร่ครวญอยู่หลายต่อหลายจุด ซึ่งจุดที่ชวนให้เราฉงนคือสิ่งที่เรา ‘อาจ’ ทำความเข้าใจได้หลายแง่มุม บางทีอาจเป็นการทดลองทำอะไรใหม่ๆ ของนักเขียนที่มี ‘วัตถุดิบ’ จากการอ่านและประสบการณ์ในชีวิต หรือเป็นการทดลองทะลุกรอบวิธีการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ เพื่อหาวิธีใหม่ สร้างความรับรู้แบบใหม่ หรือไม่ก็อาจเป็นประสบการณ์ในการเขียนที่จำกัด โดยเฉพาะเรื่องยาวอย่างนิยายที่ต้องอาศัยความจัดเจนในการควบคุมเรื่องเล่า ตัวละคร และรายละเอียดต่างๆ ไม่ให้โดดมากเกินไปจนขาดความเป็นเอกภาพ 

ผมคิดว่าจุดแรกที่อยากทำความเข้าใจใน ‘We Should all go to hell เราทุกคนควรลงนรก’ คือ เรื่องเพลง ‘Hey Jude’ ของ The Beatles ที่มีความสำคัญกับตัวเรื่องเป็นพิเศษดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าผมยังไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเพลงนี้กับความสัมพันธ์ของตัวละครต่างๆ กล่าวคือมันถูกอ้างถึงแบบลอยๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการยึดโยงตัวละครต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพราะผมยังไม่เห็นถึงที่มาว่าทำไมเดซี่ถึงชอบเพลงนี้นัก และทำไมต้องร้องเพี้ยนหรือจำเพี้ยนจนกลายเป็นคำว่า June

ผมลองไปค้นที่มาของเพลงนี้ และพบว่า พอล แมคคานีย์แต่งเพลงนี้ให้กับ จูเลียน เลนนอน ลูกชายของ จอห์น เลนนอนกับซินเธีย หลังจากที่จอห์นทิ้งทั้งลูกเมียไปคบหากับโยโกะ โอโนะ พอล กล่าวว่า “มันคือข้อความแห่งความหวังจากผมถึงจูเลียน ประมาณว่า เอาน่าไอ้หนู พ่อกับแม่ของแกเลิกกัน ลุงรู้ว่ามันไม่สุขนักหรอก แต่สุดท้ายแล้วแกจะไม่เป็นไร” [1] 

ผมคิดว่ามันอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพลงที่ใส่เข้ามาในตัวนิยายมีความชัดเจนขึ้นได้ ด้วยการทำให้เรื่องของความสัมพันธ์ชุดนี้เป็นโครงเรื่องรอง (subplot) ไม่เพียงแต่เพลง ‘Hey Jude’ เท่านั้น แต่ผมคิดว่าทุกเพลงของ The Beatles ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องก็ด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นบรรดาบทเพลงทั้งหลายที่หล่นลงมาในตัวนิยายจะเป็นเพียงแต่ความชอบของผู้เขียนที่ยัดเยียดให้ตัวละครเท่านั้น เมื่อรายละเอียดบางอย่างที่ใส่ลงมาไม่ยึดโยงอยู่กับตัวละครเท่าที่ควรจะเป็น และทำให้ตัวละครขาดมิติและล่องลอยอยู่กลางหน้ากระดาษโดยที่ไม่มีเหตุต้องเป็นเช่นนั้น

ประเด็นเรื่องโครงเรื่องหลัก (main plot) และโครงเรื่องรอง (subplot) ก็เป็นอีกสิ่งที่ผมสังเกตได้ในนิยายเล่มนี้ สิ่งที่เราจะเห็นได้หลังจากอ่าน ‘We Should all go to hell เราทุกคนควรลงนรก’ จบ คือเราจะเห็นเพียงการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละคร 3 คนเป็นหลัก โดยที่ตัวละครทั้ง 3 นี้ขาดมิติที่จะช่วยทำให้คนอ่านเข้าใจความเป็นมาของแต่ละคน ทำนองว่าอยู่ดีๆ บริษฎร์ก็โยนตัวละครสามตัวใส่ผู้อ่านแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แทนที่จะค่อยๆ อธิบายว่าพื้นฐานของตัวละครแต่ละตัวนั้นคืออะไร ทำไมจึงมีอุปนิสัยเช่นนี้ ผมคิดว่านี่เป็นรายละเอียดที่ควรให้ความสำคัญในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของนิยาย

นอกจากการโยนตัวละครใส่ผู้อ่านแล้ว ผมคิดว่าข้อสังเกตที่ผมเห็นได้อีกประการคือ ตัวเรื่องของนิยายเต็มไปด้วยการจับเอาก้อนเหตุการณ์มาแปะซ้อนๆ กันโดยมีโครงเรื่องหลักเป็นแกนกลาง ผลคือเราจะได้เรื่องสั้นขนาดยาวและมีชุดเหตุการณ์ที่เทอะทะโดยไม่จำเป็น ถ้าหากพิจารณาว่าแม้กระทั่งเรื่องสั้นขนาดยาวของนักเขียนหลายๆ คน ความยาวที่ใส่เข้าไปในตัวเรื่องต่างมีจุดมุ่งหมายที่สัมพันธ์กับตัวเรื่องโดยตรงและยังอาจเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิดเชิงวิพากษ์ได้อีกด้วย ผมคิดว่าหากบริษฎร์นำเอาชุดเหตุการณ์บางชุดมาพัฒนาเป็นโครงเรื่องรองก็น่าจะช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีมิติลึกขึ้นและที่สำคัญคือการช่วยโน้มน้าวคนอ่านให้คล้อยตามเรื่องได้ด้วย

จุดต่อมาคือเรื่องสำนวนภาษา ‘We Should all go to hell เราทุกคนควรลงนรก’ ไม่ได้ใช้ภาษาที่อ่านยากจนเกินไป ผมเห็นความพยายามในการค้นหาจุดที่ลงตัวในสำนวนภาษาของบริษฎร์เอง แต่กระนั้นก็ยังเห็นลักษณะบางประการที่มักเกิดขึ้นกับนักเขียนที่มีผลงานเล่มแรกๆ อย่างการพยายามสรรหาถ้อยคำแปลกๆ ที่เคยได้อ่าน ได้ยิน หรือได้ฟังมาใช้ในงานของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงทำให้สำนวนภาษาขาดการสังเคราะห์หรือการกลั่นกรองที่ละเอียดมากพอเพื่อนำเสนอรูปแบบภาษาของตนเอง

ภาษาของบริษฎร์ในเบื้องต้นอาจเห็นว่าเป็นภาษาที่น่าสนใจ หวือหวา แต่ผมคิดว่ายังขาดความคมชัดในสิ่งที่ตนเองต้องการจะสื่อออกมา เช่นในบทสนทนาที่เป็นคำพูดของธารในวันที่เขาไปโรงแรมที่ไอรีนอยู่กับ ‘สามี’ ผู้เป็นเจ้าของโรงแรมแห่งนั้น

“ ‘ความวิเศษแรกของวันถูกทำซ้ำจนกลายเป็นหนึ่งในห้วงเวลาเอื่อยเฉื่อย มันแปลงรูปเป็นอีกสิ่งที่ไม่เปล่งประกายแหมือนครั้งแรก’ อยู่ๆ สมองผมก็บ้วนคำอะไรประมาณนั้นออกมา” (หน้า 52-53) 

บทสนทนาประโยคนี้เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แม้ตัวละครอย่างธารจะยอมรับตรงๆ ว่าอยู่ๆ ก็ ‘บ้วน’ ประโยคออกมาเอง ถ้าตัดบทสนทนานี้ทิ้งไป เราก็ยังเข้าใจได้ว่าบุคลิกลักษณะของธารเป็นอย่างไร เหตุการณ์ในเรื่องก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องมีประโยคนี้ 

ในแง่หนึ่ง ผมเห็นว่า ในนิยายเล่มนี้มีประโยคหรือบทสนทนาที่ประดักประเดิดเช่นนี้อยู่หลายจุด บางจุดใส่ประโยคแปลกๆ มาโดยปล่อยให้ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางหน้ากระดาษ หลายประโยคฟังดูแปร่งหู แปลกตา ชวนให้สนใจ แต่เมื่อพิจารณาแล้วกลับไม่พบว่ามันจะพาตัวเรื่องไปสู่อะไร เช่น “ภาวะการกลับไปที่ความไม่รัก เพื่อจะรักกันได้อีกครั้ง” (หน้า 32) ซึ่งอันที่จริงแล้วประโยคนี้ควรจะเป็นท่อนฮุคของเรื่องนี้ ผมเสียดายว่าถ้าหากบริษฎร์ค่อยๆ คลี่คลายประโยคนี้ไปตลอดตัวเรื่องประโยคนี้จะมีความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่ในนิยายเล่มนี้

พระเจ้า อาการจู๋ไม่แข็ง
และการหักหลัง/ขัดขืน/ต่อต้านพระเจ้า 

สิ่งที่ผมสนใจมากที่สุดในนิยายเรื่องนี้คือปัญหา ‘จู๋ไม่แข็ง’ ของธารที่เกิดขึ้นในเรื่องและดูเหมือนว่าจะเป็นปมปัญหาสำคัญของตัวเขาเองอีกด้วย ปัญหาดังกล่าวทำให้เขาไม่สามารถ ‘รับงาน’ และไม่สามารถร่วมรักกับไอรีนได้ แม้ว่าไอรีนจะพยายามช่วยเขาอย่างเต็มที่ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรดีขึ้น ไอรีนถามธารว่านักจิตบำบัดที่ธารไปพบวินิจฉัยอาการของเขาว่าอย่างไร ธารตอบว่า “เขาว่าผมมีปมออดิปุส ควรเริ่มเทกคอร์สสำนึกในพระคุณของพระเจ้า พร้อมจ่ายยาชื่อว่า God Love You” (หน้า 79) 

ประโยคดังกล่าวนี้เองชวนให้สะดุดใจและเพียรหาคำตอบว่า ‘ปมออดิปุส’ เกี่ยวข้องกับอาการจู๋ไม่แข็งอย่างไรบ้าง

ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ปมออดิปุสคือการอธิบายพัฒนาการทางเพศในวัยเด็กที่อยู่ในขั้น Phallic state ซึ่งเด็กผู้ชายจะรู้สึกผูกพันและอยากจะครอบครองแม่แต่เพียงผู้เดียว พร้อมทั้งคิดว่าพ่อคือคู่แข่งที่จะมาแย่งแม่ไปจากเขา แต่สุดท้ายเด็กผู้ชายก็ตระหนักได้ว่าไม่สามารถสู้กับพ่อได้ ก่อนจะเกิดความกลัวที่จะถูกตอนเพราะเห็นว่าแม่เองก็ตอนอวัยวะเพศไปเหมือนกันจึงยอมรับและเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อ ดังนั้นพ่อจึงกลายเป็นแบบอย่างของชายที่พึงปรารถนาไป 

ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาคือ เราจะเห็นได้ว่าปมออดิปุสคือ ‘ขั้นตอน’ หนึ่งในพัฒนาการทางเพศ (และโดยมากจะให้ความสำคัญกับเพศชายเป็นหลัก ซี่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ก็ถูกวิจารณ์ในประเด็นนี้อย่างมาก) ดังนั้นเด็กทุกคนจะผ่านขั้นตอนนี้ไปตามธรรมชาติ และการผ่านขั้นตอนดังกล่าวนี้เด็ก (โดยเฉพาะผู้ชาย) จะต้องผัดผ่อนความปรารถนาของตัวเองที่มีต่อแม่ด้วยการกดทับความปรารถนานั้นไว้และหันไปเชื่อฟัง ยอมรับอำนาจและประกาศิตของพ่ออย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

ความสำคัญของปมออดิปุสสัมพันธ์โดยตรงต่อพัฒนาการของปัจเจกบุคคล เพราะช่วยทำให้การยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศของปัจเจกบุคคลชัดเจนขึ้นโดยการยึดโยงกับพ่อ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของ ‘อำนาจของพ่อ’ อีกด้วย สำหรับเด็กชายปมออดิปุสอาจเป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเมื่อเด็กชายเติบโตขึ้นจนแต่งงานและมีลูก เขาเองก็จะมีบทบาทเป็น ‘พ่อ’ ที่มีอำนาจในปมออดิปุสอีกเช่นกัน 

กลับมาที่ตัวเรื่อง… ในตัวเรื่องมีหนึ่งตัวละครที่มีบทบาทสำคัญกับทั้งธารและเดซี่ แต่ดูเหมือนว่าจะปรากฏตัวน้อยมากและแทบไม่ได้ยินเสียงเลยอย่าง ‘พระเจ้า’ สำหรับพระเจ้าในเรื่องนี้อาจไม่ได้หมายถึงพระเจ้าในศาสนาใดๆ และไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวตามแนวคิดของเอกเทวนิยม แต่เป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรมของ ‘อำนาจ’ แบบหนึ่งในสังคม ดังนั้นพระเจ้าอาจเป็นใครก็ได้ที่ถืออ้างอำนาจและสิทธิขาดบางอย่างในสังคมเอาไว้ และในเรื่องนี้พระเจ้าน่าจะหมายถึง ‘อำนาจและประกาศิต’ ของพ่อ หรือกล่าวได้ว่าพระเจ้าที่ถูกอ้างถึงบ่อยๆ ในตัวเรื่องก็คือ ‘พ่อ’ ของธารนั่นเอง

ในท้ายเรื่อง มีฉากที่บิ๊กดิ๊กลากธารเข้าไปดูว่าพระเจ้า เดซี่ และเธอ นั้นมา ‘ร่วมรัก’ กันที่เฟอร์นิเจอร์สโตร์ บิ๊กดิ๊กบอกว่าทั้งสามคนมากันหลายครั้งและเปิดกล้องวงจรปิดให้ธารดู ต่อมา ดูเหมือนว่าจะมีเจ้าหน้าที่หรือตำรวจบุกเข้ามาจับพวกเขาด้วยข้อหา ‘ทรยศท่านศาสดา’ จากนั้นบิ๊กดิ๊กก็ได้รู้ว่าเป็นธารนั่นเองที่เรียกคนเหล่านั้นให้มาจับพวกเธอ บิ๊กดิ๊กจึงตรงดิ่งมาทำร้ายธาร แต่ธารได้ชักปืนออกมาและยิงบิ๊กดิ๊ก

ก่อนจะตาย คำพูดของบิ๊กดิ๊กก็ได้เผยให้เห็นสถานะที่แท้จริงของทั้ง 3 คน “มึงให้พวกมันมาจับเดซ (เดซี่) กับพ่อแม่มึง” (หน้า 172) (กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ผมไม่ประทับใจฉากนี้เลย ดูเป็นการเฉลยปริศนาแบบบังคับจบหรือหักคอตัวละครเพื่อใส่คำพูดสำคัญลงไปในปาก) ดังนั้น ‘พระเจ้าและเธอ’ ซึ่งถูกกล่าวถึงอย่างเป็นปริศนาในตอนแรกคือพ่อและแม่ของธารนั่นเอง ส่วนเดซี่ก็คือหญิงสาวอีกคนที่เข้ามา ‘มีส่วนร่วม’ ในความสัมพันธ์แบบ ‘รักสามเส้า’ นี้ 

พระเจ้าที่เดซี่พูดถึงอยู่บ่อยๆ ในตัวเรื่องเลยอาจเป็นได้ทั้งพระเจ้าที่เป็น ‘พ่อ’ ของธาร เป็นลูกค้าที่มาซื้อบริการ และหากพูดในเชิงแนวคิดนามธรรมอาจหมายถึง อำนาจที่มีบทบาทคอยกดทับความรู้สึกและความปรารถนาเอาไว้ แต่เราอาจพิจารณาความสัมพันธ์ของพ่อ แม่ และเดซี่ ได้ว่าทั้งสามคนอาจไม่ได้รักกันแบบโรแมนติกแต่เชื่อมโยงกันผ่านการมีเซ็กส์ หรือในแง่หนึ่งก็อาจเข้าใจได้อีกเช่นกันว่า มันคือการต่อต้านและไม่ยอมรับรูปแบบความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว

อย่างไรก็ตาม เดซี่คือส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์สามเส้านี้ และความสัมพันธ์ของธารกับเดซี่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการ ‘หักหลัง’ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเดซี่กับพระเจ้าและเธอ เราอาจมองสถานะของเดซี่ได้อีกอย่างว่าเธออยู่ในฐานะของ ‘แม่เลี้ยง’ ของธารก็ได้

แม้ว่าจะไม่ปรากฏการร่วมรักระหว่างธารกับเดซี่ แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีความลึกซึ้งและเดซี่เองก็เป็นคนที่มีอิทธิพลต่อธารอยู่ไม่น้อย ในขณะที่ธารเองก็มีความปรารถนาในตัวเดซี่ เช่นในตอนที่ธารฝันว่าเขาติดตามเดซี่ไปร่วมรักกับบิ๊กดิ๊กที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในฝันธารแอบดูทั้งสองร่วมรักกันและเขาคิดไปว่า “ผมทำได้ดีกว่าบิ๊กดิ๊กแน่ๆ ผมอ่อนโยนพอ ละมุนละม่อมพอ…” (หน้า 125) จากนั้นธารก็ช่วยตัวเอง

กลับไปที่อาการจู๋ไม่แข็งและปมออดิปุสของธาร ประเด็นที่น่าสนใจ หากจะวิเคราะห์อาการจู๋ไม่แข็งของธารกับพัฒนาการทางเพศตามแนวคิดของจิตวิเคราะห์ เราอาจเห็นได้ว่า ธารนั้นไม่ยอมรับอำนาจและประกาศิตของพระเจ้า ตลอดเรื่องเราจะได้เห็นว่าเขากังขาและตั้งข้อสงสัยกับพระเจ้า นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลของเดซี่ที่พยายามโน้มน้าวให้เขาเชื่อว่าพระเจ้าไม่ควรค่ากับความรักเท่าใดนัก

ดังนั้นเราอาจเข้าใจได้ว่าธารไม่ได้ ‘ผ่าน’ ขั้นตอนหรือพัฒนาการทางเพศมาแบบที่เด็กชายควรจะเป็น เขาจึง ‘ติด’ อยู่ในพัฒนาการทางเพศในขั้นของ phallic state หรือติดอยู่ในปมอิดิปุส และเมื่อกลับไปดูบทบาททางเพศ จากการมีเซ็กส์ของธารที่ถูกอธิบายอยู่ในนิยายจะเห็นได้เช่นกันว่ามีลักษณะที่ลื่นไหล บางครั้งเขาสำเร็จความใคร่ให้คนอื่นผ่านการสอดใส่กับสิ่งของ อาจกล่าวได้ว่าบทบาททางเพศของธารคือ สิ่งที่อยู่นอกกรอบหรือไม่อยู่ในขนบตามแบบที่เด็กชายทุกคนจะต้องผ่านดังพัฒนาการข้างต้น

การไม่ยอมผัดผ่อนความปรารถนาหรือการไม่ยอมสยบต่ออำนาจของพ่อ ซึ่งจะเป็นทางออกไปจากปมออดิปุสนั้นอาจทำให้เราหลงอยู่ในเขาวงกตของปมออดิปุสและทำให้ผู้ที่ติดอยู่เขาวงกตนั้นอยู่ในภาวะโรคประสาทหรืออาการจิตเภท แม้ธารไม่ได้มีอาการจิตเภท แต่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเขาอย่างเรื่องจู๋ไม่แข็งนั้น บางทีอาจเป็นเพราะธารยังคงติดอยู่ในปมออดิปุส [2] ก็เป็นได้ เพราะจะเห็นได้ว่านักจิตบำบัดเองก็ให้ยาที่ชื่อว่า ‘God Love You’ กับเขา นั่นหมายความสิ่งที่จะช่วยให้เขากลับมามีบทบาททางเพศได้ปกติ (หรือกลับมาจู๋แข็ง) คือการยอมรับเอาอำนาจและประกาศิตของพ่อนั่นเอง

บทส่งท้าย

ไม่ว่าความสัมพันธ์ของบางเราและใครๆ จะอยู่ในสวรรค์หรือนรก และในความสัมพันธ์บางแบบควรไปสวรรค์หรือนรก ผมคิดว่าการอ่าน ‘We Should all go to hell เราทุกคนควรลงนรก’ คือการชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์มีหลายรูปแบบ ผัวเดียวเมียเดียว หลายผัวหลายเมีย หรืออะไรก็ตาม แต่ทุกความสัมพันธ์ล้วนมีความซับซ้อนในตัวเองทั้งสิ้น เราอาจเข้าใจ ไม่เข้าใจ หรือไม่จำเป็นต้องเข้าใจ เพียงเพื่อจะไปตัดสินคุณค่าของมัน เพราะบางครั้งมันก็เป็นได้ทั้งสวรรค์และนรกไปพร้อมๆ กันนั่นเอง


[1] ฉากสุดท้ายและการเริ่มใหม่ของความรัก ถึง ‘จูเลียน’ และ ‘จอห์น’ กว่าจะเป็น ‘Hey Jude’ เพลงดังของ The Beatles

[2] ผมได้แรงบันดาลใจในการวิเคราะห์ประเด็นนี้จากชั้นเรียนของผมเมื่อปีที่แล้ว อาจารย์ผู้สอนได้มอบหมายให้ผมอ่านส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘Anti-Oedipus’ ของ Gilles Deleuze และ Felix Guattari กับ ส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘Deleuze and Guattari’s Anti-Oedipus Introduction to schizoanalysis’ ของ Eugene W. Holland. ซึ่งได้วิพากษ์ปมออดิปุสไว้อย่างแหลมคม ทั้งนี้หากใครสนใจและอยากค้นคว้าเพิ่มเติมสามารถหาอ่านได้ในหนังสือข้างต้น

นอกจากนี้หากสนใจการวิเคราะห์ที่คล้ายคลึงกับในบทความสามารถหาอ่านได้ใน ทอแสง เชาว์ชุติ. 2559. “ปมอิดิปัสและประกาศิตของพ่อในข้างหลังภาพกับชั่วฟ้าดินสลาย” และ สุรเดช โชติอุดมพันธ์ (บรรณาธิการ). 2559. ถกเถียงเรื่องคุณค่า. กรุงเทพฯ: วิภาษา. (183-219)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save