fbpx

We are youngster: เข้าใจโลกของ ‘วัยรุ่นสมัยนี้’

[et_pb_section admin_label=”section”] [et_pb_row admin_label=”row”] [et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”Text”]

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

‘ทำไมคนรุ่นใหม่ก้าวร้าว’ ‘ทำไมคนรุ่นใหม่พูดจาไม่รู้เรื่อง’ ‘ทำไมวัยรุ่นเดี๋ยวนี้ไม่แคร์ผู้ใหญ่ ไม่สนใจเคารพกฎระเบียบ’ ‘ทำไมวัยรุ่นต้องออกมาประท้วง’ และอีกหลาย ‘ทำไม’ กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ยิ่งสังคมหมุนเร็วขึ้นเท่าไหร่ ความไม่เข้าใจต่อเยาวชนก็ดูจะยิ่งทวีคูณขึ้นเท่านั้น

แต่หากความไม่เข้าใจคือปลายสุดของเส้นด้าย การสาวด้ายเส้นนี้ย้อนกลับไปยังต้นตอ อาจทำให้เราพบว่าอีกด้านของเส้นด้ายรุ่ยๆ ที่เรียกว่า ‘วัยรุ่น’ คือความเจ็บปวดและความยุ่งเหยิงอันเป็นผลจากสังคม อาจเป็นโรงเรียน ระบบการศึกษา ความสัมพันธ์ในครอบครัว เทคโนโลยี รัฐ และอีกมากมายที่หล่อหลอมพวกเขาขึ้นมา

101 ชวนคุณทำความรู้จักโลกของวัยรุ่น วัยที่กำลังเลี้ยวสู่การเป็นผู้ใหญ่และจะรับไม้ต่อในการพาสังคมไปข้างหน้า ผ่านผลงาน Spotlight ชุด We are youngster: เพราะเจ็บจัดๆ เลยแสบสุดๆ  พร้อมอ่านเรื่องราวของผู้อ่านในฐานะ ‘วัยรุ่นตัวจริง’ ที่มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์วัยรุ่นของตัวเองผ่านกิจกรรม #วัยรุ่นเจ็บแล้วจำ หาคำตอบว่าวัยรุ่นสมัยนี้เป็นอย่างไร ต้องเจอต้องเจ็บกับเรื่องอะไร และสังคมจะสนับสนุนศักยภาพของพวกเขาได้อย่างไรบ้าง

 

 

วัยรุ่น การศึกษา และเผด็จการแห่งแรกในชีวิต

 

หนึ่งปรากฏการณ์สำคัญเกี่ยวกับวัยรุ่นในปี 2563 คือการที่นักเรียนจำนวนมากออกมาประท้วง ส่งเสียงถึงความเจ็บปวด ความไม่เป็นธรรม และสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่แพร่กระจายอยู่ทั่วในรั้วการศึกษา ปรากฏการณ์ที่ทำให้หลายคนตื่นตะลึงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้มูลเหตุ

หากการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน โรงเรียนก็ควรเป็นสถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศแห่งการบ่มเพาะปัญหา มีคุณครูที่ช่วยประคองการเติบโตของนักเรียน เพื่อให้ร่างกาย สมอง และจิตใจของวัยรุ่นถูกพัฒนาอย่างเหมาะสมและปลอดภัย แต่ในความเป็นจริง บางครั้งโรงเรียนกลับกลายเป็นพื้นที่ซึ่งตัวตนของวัยรุ่นถูกกดทับ และเป็นสถานที่ซึ่งท้าทายต่อร่างกาย สมอง และจิตใจ ไปเสียอย่างนั้น

ในบทความ โรงเรียนของเราน่าอยู่? : ความเจ็บปวดของวัยขาสั้นคอซองยุคโบว์ขาว สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนหลายคนต้องอยู่กับกฎระเบียบที่ไม่ได้รับการอธิบายเหตุผล กฎระเบียบเหล่านี้มีครูผู้สอนคอยจับตาเข้มงวด และมาพร้อมกับการลงโทษที่บางครั้งก็เป็นความรุนแรง นอกจากนี้ กฎระเบียบบางเรื่องยังกระทบต่อสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย เช่น การไว้ทรงผม การแต่งกาย ทั้งยังสร้างความรู้สึกอับอายเมื่อถูกลงโทษอีกด้วย

บทความดังกล่าวเล่าเรื่องของ แพนด้า (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.6 คนหนึ่งที่เห็นครูลงโทษเพื่อนของเธอเกินกว่าเหตุเนื่องจากทรงผมไม่ถูกระเบียบ การลงโทษครั้งนั้นถูกอัดเป็นวิดีโอและถูกเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต มีผู้คนเข้ามาแสดงความเห็นต่อต้านการกระทำของครูจำนวนมาก แต่โรงเรียนกลับมองเป็นเรื่องที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เธอและเพื่อนนักเรียนจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงพยายามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณครูและหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหลายครั้ง แต่ครูและโรงเรียนต่างเพิกเฉยจนเหล่านักเรียนได้แต่ตั้งคำถามว่า เหตุใดเสียงของพวกเขาถึงไม่ถูกรับฟัง เหตุใดครูจึงใช้อำนาจลงโทษและสร้างความเคารพขึ้นมาจากความกลัวของนักเรียน

 

“กฎในโรงเรียน ‘อีหยังวะ’ แทบทั้งนั้น ตอนยังเด็กไม่เคยเอะใจ อยู่ในกรอบมาแบบงงๆ ได้แต่คิดว่าก็มันเป็นกฎ พอโตขึ้นมาหน่อยถึงได้เข้าใจว่ามันเป็น ‘กดขี่ ‘ ไม่ใช่กฎ”

“ทำไมใส่ถุงเท้าพื้นดำไปเรียนไม่ได้ ทำไมแค่ไว้ผมยาวแล้วไม่ได้เกียรติบัตรถูกระเบียบ ทำไมตอน ม.ต้น ควรไว้ผมสั้น แล้ว ม.ปลาย ควรไว้ผมยาว ???”

**คำตอบบางส่วนจากผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม #วัยรุ่นเจ็บแล้วจำ

 

 

 

ที่ผ่านมา สังคมไทยมีข่าวคราวเกี่ยวกับบทลงโทษที่รุนแรงและการทำร้ายร่างกายนักเรียนหลายต่อหลายครั้ง ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาที่แฝงอยู่ในโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม และสถาบันการศึกษาอย่างลึกซึ้ง โดยวัฒนธรรมการลงโทษในโลกการศึกษา มักมีคำอธิบายที่อ้างอิงถึง ‘ความรักความหวังดี’ ที่ครูมีต่อนักเรียน ดังนั้น แม้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะระบุว่าห้ามทำร้ายร่างกายเด็ก ทว่าในทางปฏิบัติ เรากลับยังเห็นครูหลายคนศรัทธาในการลงโทษที่รุนแรงเช่นการตี

อาจารย์กานน คุมพ์ประพันธ์ และอาจารย์อุฬาชา เหล่าชัย ผู้ทำงานวิจัยเรื่อง ‘สำรวจวาทกรรมเกี่ยวกับการจัดการในชั้นเรียนและการลงโทษของครูระดับชั้นมัธยมศึกษา’ สะท้อนว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการลงโทษเด็กคือวัฒนธรรมอำนาจนิยม วิธีคิดที่มองว่าคนมีอำนาจคือคนที่ถูกต้อง ในความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนที่มีสถานะไม่เท่ากัน เมื่อครูคิด ครูพูด กระทั่งครูลงโทษ จึงกลายเป็นการกระทำที่เหล่าครูมองว่าถูกต้องหมด ขณะที่นักเรียนมีหน้าที่ทำตามที่ครูบอก การตีหรือการลงโทษรุนแรงจึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้วัฒนธรรมอำนาจนิยมยังคงอยู่และอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็ไม่ได้อยู่แค่ในความสัมพันธ์ของครูกับศิษย์ แต่ยังอยู่ในมิติอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการ การออกนโยบายของโรงเรียน และในองค์กรผลิตครู ทำให้วัฒนธรรมดังกล่าวถูกส่งต่อเป็นทอดๆ ผู้มีอำนาจมากกว่ากระทำต่อผู้มีอำนาจน้อยกว่าไปเรื่อยๆ คล้าย ‘ระบบโซตัส’

 

ครูที่จำไม่ลืมคือครูที่ชอบสั่งให้ลุกนั่งหลายร้อยครั้ง เพียงเพราะมีอะไรไม่เป็นไปตามที่ครูต้องการ ผิดหนึ่งคนแต่ถูกลงโทษทุกคน

“ไปเข้าค่ายที่วัดแล้วได้นอนข้างกลุ่มเพื่อนที่คุยเล่นกัน ปรากฏว่าครูเข้าใจว่าเป็นเราที่เสียงดัง ตื่นเช้ามาเราโดนชี้หน้าด่า โดนหยิก ทำอะไรเขาก็ด่า ยืนเฉยๆ ก็ด่า ร้องไห้แทบทุกวันเลย เป็นความทรงจำการเข้าค่ายที่แย่ที่สุด”

“ครูสอนวิทยาศาสตร์เป็นครูที่ดีที่สุดในชีวิต สอนด้วยความสุภาพกับเราเสมอและไม่เคยใช้ความรุนแรงในการลงโทษเลยซักครั้ง (ทั้งการกระทำและคำพูด) เขาไม่ใช่ครูที่ใจดีหรอก แต่ความตั้งใจสอนของเขาทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากทำให้เขาผิดหวังแม้แต่ครั้งเดียว”

**คำตอบบางส่วนจากผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม #วัยรุ่นเจ็บแล้วจำ

 

เมื่ออำนาจนิยมกดทับ นักเรียนจำนวนมากที่ออกมาชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการจึงขนานนามโรงเรียนว่าเป็น ‘เผด็จการแห่งแรกในชีวิต’ หลายคนออกมาแสดงความเห็นว่านักเรียนเหล่านี้ก้าวร้าวและท้าทายอำนาจของครู แต่ ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูวิชาสังคม ‘ผู้อยู่เคียงข้างนักเรียน’ เห็นต่างออกไป สำหรับเขาการบอกว่าเด็กเหล่านี้ก้าวร้าว ไม่ยอมทำตามกฎระเบียบของโรงเรียน เรียกร้องแต่เสรีภาพเพื่อตนเอง เป็นการลดทอนคุณค่าของวัยรุ่น สิ่งที่คนเป็นครูควรทำในสถานการณ์ที่นักเรียนออกมาส่งเสียงคือการ ‘รับฟัง’ นักเรียนอย่างแท้จริง

“ในวันที่นักเรียนออกมาส่งเสียงว่าเขาเจ็บปวด สิ่งที่ครูควรทำคืออย่าเพิ่งอธิบายสิ่งที่ตัวเองคิด ครูต้องฟังนักเรียนว่านักเรียนคิดอย่างไรโดยที่ไม่ด่วนตัดสิน ไม่ใส่อคติ หรือไม่พยายามใช้อำนาจข่มให้เขาคิดเหมือนเรา ครูต้องมองอย่างเข้าใจว่าการที่เด็กออกมาแสดงออกแบบนี้ แก่นสารที่เขาต้องการจะสื่อคืออะไร”

“บนโลกนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องหนึ่งเดียว กฎต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยที่เราคุยกันว่ามันควรเป็นอย่างไร ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ฟังคนที่มีอำนาจด้อยกว่าว่าเขารู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ได้เด็กจะเจ็บปวดน้อยลง หรือเจ็บปวดแล้วเขารู้สึกว่าไม่เดียวดาย เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่ของเขาอย่างแท้จริง” ครูทิวกล่าว

นอกจากเหตุผลเรื่องวัฒนธรรมอำนาจนิยมแล้ว อีกประการที่ทำให้โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนคือรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นให้ท่องจำ หรือการสอนตามหนังสือเป๊ะๆ มากกว่าการสนับสนุนให้นักเรียนตั้งคำถามและคิดนอกกรอบ ผนวกกับความกดดันที่นักเรียนต้องเจอจากการเรียน ทั้งการแข่งขัน คะแนนสอบ และความคาดหวังจากคนรอบตัว

ในบทความ กวดวิชา กวดขัน กอดความฝัน เกลียดความจริง : ทำความรู้จักความเจ็บปวดของวัยรุ่นที่หลากหลาย  ฝ้าย (นามสมมติ) เด็กนักเรียนมัธยมคนหนึ่งได้สะท้อนว่า ชีวิตนักเรียนของเธออยู่ภายใต้ความกดดันจากการทำคะแนนสอบให้เพอร์เฟ็กต์ เธอต้องเข้าเรียนกวดวิชาเหมือนกับนักเรียนคนอื่นๆ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่โรงเรียนให้ไม่เพียงพอกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย วัยรุ่นอย่างเธอยังแบกความฝันและจำเป็นต้องรีบตัดสินอนาคตตัวเองเพียงเพราะระบบการศึกษากำหนดทางเดินของคนเอาไว้อย่างจำกัด ความกดดันจากการเรียนที่หนักหนาทำให้เธอตั้งคำถามกับการศึกษาว่า หรือเธอเพียงเรียนไปเพื่อสอบ หาใช่การนำความรู้ไปใช้ได้จริง

 

สุขภาพใจและปัญหาของวัยรุ่นยุคใหม่

 

วัยรุ่นเป็นช่วงอายุที่มีชื่อเล่นมากมาย เช่น วัยว้าวุ่น วัยมัน วัยต่อต้าน วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ วัยเปลี่ยนผ่าน ฯลฯ ชื่อเล่นเหล่านี้มักสะท้อนความแสบซ่าหรือความเข้มข้นทางอารมณ์ นั่นก็เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตด้านอารมณ์และการพัฒนาบุคลิกภาพ สถานที่ ผู้คน และปฏิสัมพันธ์ที่วัยรุ่นได้เจอในช่วงอายุนี้มีอาจมีผลต่อจิตใจและตัวตนของพวกเขาอย่างไม่อาจประเมินค่า

นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับสุขภาพจิตของวัยรุ่นไว้ว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยมีความเข้มข้นและความฉับไวทางอารมณ์สูง ขณะที่มีความยับยั้งชั่งใจน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่ ตามธรรมชาติในการเติบโต วัยรุ่นจะใช้สมองส่วน limbic systems ในการทำงานซึ่งทำงานแบบอารมณ์นำเหตุผลและความคิด ทำให้อารมณ์หุนหัน หากโกรธก็โกรธไว หากเศร้าก็เศร้ามาก และคิดวนเวียนต่อเรื่องต่างๆ ซ้ำๆ ส่วนลักษณะเด่นด้านอารมณ์ที่ชี้ชัดว่ามนุษย์คนหนึ่งเข้าสู่วัยรุ่นแล้วคือ 1. เมื่อเริ่มคาดเดาอารมณ์ได้ยาก 2. เมื่อเริ่มต้องการมีพื้นที่ส่วนตัว 3. เมื่อเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ที่นอกเหนือไปจากครอบครัว เช่น เพื่อน คนรัก

ประเด็นที่มีผลต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเป้าหมายในอนาคต ตัวตน ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและเพื่อน แต่สำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอาจทำให้ปัญหาต่างๆ ซับซ้อนยิ่งขึ้น

“ถามว่าวัยรุ่นตอนนี้กังวลเรื่องอะไรก็คงไม่ต่างจากยุคก่อน แต่มันหลากหลายขึ้น ซับซ้อนขึ้น อย่างเรื่องเพศ เด็กมองตัวเองในหลายมิติเพศ วันนี้อยากเสนอตัวเองเป็นเพศวิถีนี้ก็เป็นแบบนี้ หรือเรื่องเพื่อน สมัยก่อนเราก็จะรู้ว่าเพื่อนโอเคหรือไม่โอเคกับเราจากสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เพื่อนทำในหรือนอกห้องเรียน แต่ตอนนี้วัยรุ่นจะกังวลว่าจะมีกลุ่มไลน์ลับที่ไม่มีฉันหรือเปล่า” นรพันธ์กล่าว

ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นถูกสะท้อนอย่างเห็นได้ชัดผ่านประเด็นการกลั่นแกล้ง (bully) จากการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนในเรื่องเล็กๆ กลับบานปลายเป็นการใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจาและกายภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ยุคสมัยที่ก้าวหน้ายังพาให้ปัญหาดังกล่าวบานปลายไปอยู่บนโลกดิจิทัล จน cyberbully กลายเป็นปัญหาของวัยรุ่นสมัยนี้ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นทุกวัน

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการบูลลี่ใน ‘โครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล’ เล่าว่าการบูลลี่เกิดขึ้นผ่านโครงสร้างอำนาจนิยมที่ไม่ได้มาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง (accountability) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากวัฒนธรรมในโรงเรียน

“ลองนึกภาพว่าเราถูกครูบูลลี่ เราจะเอาผิดครูได้อย่างไร สุดท้ายเขาจะถูกลงโทษจริงๆ เหรอ ในเมื่ออำนาจในโรงเรียนไม่มีอะไรผูกโยงกับนักเรียนเลย หรือถ้าถูกกลุ่มเพื่อนด้วยกันบูลลี่ คนไหนในเหตุการณ์จะอยากให้ข้อมูลบ้าง” ผศ.ดร.ธานี ยกตัวอย่างโครงสร้างอำนาจนิยมที่ไร้ความรับผิดรับชอบ

ลักษณะของการบูลลี่ที่เห็นได้ชัดคือการที่คนกลุ่มใหญ่ (majority) รังแกคนกลุ่มน้อย (minority) โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่มองเห็นได้ชัดด้วยตา เช่น คนผมหยิก ผิวคล้ำ หรือแม้กระทั่งคนมุสลิมที่ต้องคลุมผม สืบเนื่องมาจากค่านิยมในไทยที่ชอบให้ทุกคนเหมือนกัน (conformity) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่หากมองลึกลงไปจะเห็นว่า ค่านิยมดังกล่าวได้สะท้อนความไม่เคารพสิทธิของคนกลุ่มน้อย ไม่ยอมรับความแตกต่าง ซึ่งเป็นรากฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน

อีกลักษณะเด่นของการรังแกในยุคใหม่คือการรวมกลุ่ม เช่น มีผู้รังแก 3-4 คนขึ้นไป นอกจากนี้ การบูลลี่ก็มักจะเกิดทางกายภาพก่อน แล้วค่อยย้ายไปสู่โลกไซเบอร์ โดยมีแนวโน้มว่าคนที่ถูกบูลลี่แล้วสู้กลับไม่ได้ในโลกจริง เพราะมีเพื่อนน้อยกว่าหรืออ่อนแอกว่า อาจจะย้ายไปเอาคืนทางไซเบอร์แทนเช่นกัน ทำให้วัฒนธรรมการบูลลี่ถูกเสริมย้ำและผลิตซ้ำมากขึ้นสำหรับทุกฝ่าย แม้แต่ฝ่ายที่ถูกกระทำมาก่อน

 

“การทะเลาะที่รุนแรงที่สุดคือตอนที่ทะเลาะกับเพื่อนตัวต่อตัวในห้องน้ำ แต่จบด้วยการรุม 10 ต่อ 3 (ฝั่งตรงข้ามมีกัน 10 คน แถมเปิดการวิวาทแบบทีเผลอ)”

“โดนแบนเพราะมีเพื่อนไปบอกอาจารย์ว่าเราด่าอาจารย์ว่าตอแหล แต่เราไม่ได้ทำ อาจารย์ก็ประกาศทั่วโรงเรียนเลยว่าเราไปด่าเค้า งงสุดๆ”

**คำตอบบางส่วนจากผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม #วัยรุ่นเจ็บแล้วจำ

 

 

อีกประเด็นสำคัญของวัยรุ่นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในปีที่ผ่านมาคือเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ปี 2563 มีวัยรุ่นหลายคนแตกหักกับครอบครัว สาเหตุเพราะการเมืองมาเคาะประตูบ้าน เมื่อสมาชิกครอบครัววิตกกังวลว่าลูกหลานคนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจเรื่องการเมืองไทย บางบ้านอาจส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ แต่บางครอบครัวกลับไล่ลูกหลานออกจากบ้าน เพียงเพราะความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน

หนูหริ่ง – สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา และลูกสาว ลำธาร – ธาราทร บุญงามอนงค์ เป็นคู่พ่อลูกที่เปิดประตูต้อนรับการเมืองให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ครอบครัว ทั้งคู่มองว่าครอบครัวที่แตกหักกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะลูกหลานบางคนยังไม่ได้ทำงาน การพึ่งพาทางเศรษฐกิจจึงกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่รู้สึกว่ามีอำนาจเหนือลูก รวมไปถึงการที่คนรุ่นใหม่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองในบริบทตอนนี้ เป็นความเสี่ยงภัยของตัวคนรุ่นใหม่ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงภัยของพ่อแม่และญาติพี่น้องด้วย แต่ในฐานะที่ทั้งคู่ไม่ขัดแย้งกันในเรื่องการเมือง สมบัติและลำธารจึงได้แบ่งปันความเห็นไว้ว่า “ครอบครัวเป็นสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่แข็งแรงกว่าความสัมพันธ์ทางการเมือง…ต่อให้เราไม่เห็นด้วยในเรื่องไหน แต่เราก็ต่างฟังกันและกัน ถ้าเกิดว่าฝั่งหนึ่งไม่ฟังเลย มันจะบานปลาย”

บนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่และวัยรุ่น นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการรับฟัง ผู้ใหญ่จำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นได้แสดงความรู้สึก ปล่อยให้อารมณ์ของวัยรุ่นได้ถูกระบายจนผ่อนคลายก่อนที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกัน โดยไม่ควรใช้วิธีการสื่อสารในลักษณะกดทับซึ่งสร้างความอึดอัดให้กับวัยรุ่นและรังแต่จะทำให้พวกเขายิ่งหลีกหนีต่อต้านกว่าเดิม อีกสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญคือการให้สิทธิวัยรุ่นในการทดลองทำหรือเป็นในสิ่งที่เขาต้องการ – แน่นอนว่า รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพในการมีความเห็นทางการเมืองในแบบของตัวเองด้วย

 

“พ่อแม่จะโกรธมากถ้าไปม็อบ สนับสนุนประชาธิปไตย หรือพูดเรื่องการเมืองในบ้าน ฮ่าๆ”

“หนูเคารพความรักที่พ่อแม่มีให้อย่างไม่มีเงื่อนไข เคารพความคิดที่พ่อแม่หวังดีต่อหนู เคารพความเชื่อของพ่อแม่ หนูรู้และเห็นว่าพ่อแม่รักหนูมาก แต่ได้โปรดอย่าเสียใจที่หนูเป็นเกย์ ได้โปรดอย่าเสียใจที่หนูทำงานสายศิลปะ ได้โปรดอย่าเสียใจที่หนูมีความคิดความเชื่อแตกต่างจากพ่อแม่ หนูรักพ่อแม่มากเหมือนที่พ่อแม่รักหนูนะคะ”

**คำตอบบางส่วนจากผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม #วัยรุ่นเจ็บแล้วจำ

 

 

สร้างวัยรุ่นให้มีศักยภาพ – สร้างนโยบายที่เหมาะกับวัยรุ่น

 

สภายุโรปเคยกล่าวไว้ว่า “นโยบายเยาวชนของประเทศย่อมเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมองคนหนุ่มสาวของประเทศตนเองอย่างไร” ต่อเนื่องจากประโยคนี้ คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่ามุมมองของรัฐจะส่งผลต่อเนื่องไปยังศักยภาพของวัยรุ่นในประเทศ และส่งผลต่อศักยภาพของประเทศในอนาคต ตามลำดับ รัฐมองวัยรุ่นอย่างไร? และจะออกแบบการพัฒนาวัยรุ่นอย่างไร? จึงกลายเป็นคำถามที่สังคมต้องช่วยกันหาคำตอบ

ในบทความ รัฐหรือเปล่า? รัฐลืมวัยรุ่นหรือเปล่า? – เหตุใดสิทธิและนโยบายเยาวชนของรัฐไทยจึงเลือนราง รศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ นักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยอาจมองวัยรุ่นอย่างเรียบง่ายเกินไป เหมารวมเกินไป ทั้งที่เป็นช่วงวัยอันซับซ้อน สมควรได้รับสิทธิประโยชน์ และการจัดสรรแนวทางพัฒนาแตกต่างไปจากกลุ่มเด็กโดยสิ้นเชิง

โดยทั่วไปรัฐหลายแห่งมักกำหนดช่วงอายุบรรลุนิติภาวะอยู่ที่ 18-21 ปี (เช่นเดียวกับรัฐไทย) เพราะเชื่อว่าเป็นช่วงอายุที่คนเติบโตทางร่างกายและสติปัญญาสมบูรณ์หลังผ่านการอบรมจากสถาบันทางสังคมอย่างการศึกษาและครอบครัวมาแล้วเรียบร้อย นั่นทำให้ รศ.ชานนท์ วิเคราะห์ว่ารัฐส่วนใหญ่กำลังใช้ฐานคิดแบบทฤษฎี Cognitive Development ที่มองพัฒนาการของคนเป็น ‘เส้นตรง’ เช่น แนวคิดว่าต้องอ่านออกเขียนได้ตอนอายุเท่าไหร่ การเข้ารับการศึกษาตามลำดับขั้น

แนวคิดดังกล่าวจะเห็นกลุ่มเด็กเป็น human becoming กล่าวคือยังไม่ใช่มนุษย์โดยสมบูรณ์ ทำให้ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันเตรียมหรือ groom เด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละวัย ทำให้นโยบายของรัฐ โดยเฉพาะฝั่งนโยบายทางสังคม (social policy) เช่น การศึกษา สุขภาพ สวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์ มีวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนแบบที่มองว่าพวกเขาเป็นผู้รับ หรือ passive recipient อย่างชัดเจน

หากยึดตามหลักสากล หนึ่งสิ่งสำคัญที่รัฐควรมอบให้เด็กและเยาวชนคือ ‘สิทธิ’ โดยในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ หรือ UN มองสิทธิของเด็กและเยาวชนแบ่งออกเป็น 3 มิติหลักๆ เรียกว่า 3P ซึ่งประกอบไปด้วย Protection – การปกป้องดูแล, Provision – การมอบสวัสดิการหรือทรัพยากรที่จำเป็น และ Participation – การมีส่วนร่วมทางสังคมในสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นสนใจหรือได้รับผลกระทบ

เมื่อเปรียบเทียบพัฒนาการของสิทธิทั้งสามด้าน มิติการปกป้อง (Protection) เป็นมิติที่รัฐให้ความสำคัญเด่นชัดที่สุด ด้วยมุมมองที่ว่าเด็กคือวัยไร้เดียงสา ไม่ควรทำงาน หรือเข้ามาอยู่ในโลกของผู้ใหญ่ ส่งผลให้สิทธิด้านการมีส่วนร่วมทางสังคม (Participation) ซึ่งเป็นสิ่งที่เยาวชนต้องการมากที่สุดขณะนี้ ยังคงเลือนรางในโลกความเป็นจริง

ผลลัพธ์ของการ ‘ปกป้อง’ วัยรุ่นมากจนเกินไป อาจไปลดทอนหรือชวนให้หลงลืมว่า แท้จริงแล้วพวกเขามีความคิดอ่านและวิธีการมองโลกในแบบฉบับของตัวเองซึ่งหลายๆ ครั้งก็เฉียบคมไม่แพ้ผู้ใหญ่ เช่น การแสดงความเห็นต่อสังคมไทยในรายการ 101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่ ตัวแทนวัยรุ่น 4 คนได้สะท้อนว่าพวกเขาวาดฝันถึงสังคมที่เท่าเทียม เป็นประชาธิปไตย และให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น พวกเขาต่างเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเสนอเงื่อนไขสำคัญต่อสังคมคือ ผู้ใหญ่ — ไม่ว่าจะหมายถึงครอบครัว โรงเรียน หรือรัฐ — ต้องรับฟังเสียงของพวกเขา โดยไม่มองว่าคนที่อายุน้อยกว่าไม่ควรมีอำนาจและมีสิทธิมีเสียงมากกว่าคนที่อายุมากกว่า

 

“การรับฟังเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การส่งเสียง หลายครั้งที่เสียงของเราถูกมองว่าเป็นแค่เสียงของเด็ก เป็นแค่เสียงของคนรุ่นใหม่ เราไม่ได้รับการเคารพในความคิดเห็นของเรา ในสิ่งที่เราอยากให้มันเป็นอนาคตของเรา และเราถูกกดไว้โดยคนรุ่นก่อนหน้า” — ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์ กลุ่มนักเรียนเลว

สิ่งที่เราทำอาจฟังดูเหมือนก้าวร้าว แต่ทางออกที่พวกเราเห็นคือการแก้ไขในระดับโครงสร้างที่ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้ทำเพื่อนักการเมือง แต่ทำเพื่อทุกคนในสังคมนี้จริงๆ” — ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co

**ความเห็นบางส่วนจากรายการ  101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

 

 

ขณะที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของวัยรุ่นไทยยังถูกตั้งคำถาม ทางฟากฝั่งยุโรปกลับใช้การเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเยาวชน บทความ Youth Manifesto: นโยบายเยาวชนใหม่เพื่อการเมืองของคนหนุ่มสาว ได้นำเสนอแนวคิดของ Marina Galstyan ผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนศึกษา (Institute for Youth Studies) และนักวิจัยด้านเยาวชนชั้นแนวหน้าของยุโรปที่เสนอว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองจะช่วยให้เยาวชนเปลี่ยนผ่านจากภาวะพึ่งพิงไปสู่การเป็นอิสระ (transition from dependency to independence) กล่าวคือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองจะส่งเสริมให้เยาวชนเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองเร็วขึ้น ในทางกลับกัน หากเยาวชนมีอิสระและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและเรียนรู้การใช้สิทธิของตัวเองมากขึ้นเช่นกัน

ในทำนองเดียวกัน Rys Farthing นักวิจัยอิสระผู้ร่วมเขียนหนังสือ ‘The Precarious Generation: A political economy of young people’ ก็สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนหนุ่มสาวอย่างแข็งขัน เพราะเยาวชนไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้กระบวนการทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับสังคมสมัยใหม่เท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะและคุณลักษณะจำนวนมากที่จำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองในโลกใหม่ เช่น การเจรจาต่อรอง การใช้ดุลยพินิจเพื่อตัดสินใจ การเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) และความมั่นใจ

 

ในห้วงเวลาที่หลายคนยังมองไม่ออกว่าควรจะรับมือและทำความเข้าใจวัยรุ่นสมัยนี้อย่างไร อาจถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะเปิดใจรับฟังเสียงของวัยรุ่น ก้าวข้ามการมองว่าเยาวชนเป็นเพียงแค่เด็ก และให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานที่อยู่รอบตัวพวกเขา เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิมนุษยชน ความตระหนักต่อปัญหาสุขภาพจิต การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ฯลฯ โดยไม่หลงลืมไปว่า เราต่างก็เคยผ่านการเป็น ‘วัยรุ่น’ กันมาทั้งนั้น

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world[/et_pb_text][/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save