fbpx

วายัง อมฤต เรื่องเล่า ตัวหนัง และเงาที่สะท้อนบนผ้าขาว

เรื่อง/เล่า/ลวง

ตัวเรื่อง วายัง อมฤต เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศอินโดนิเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวชวาต้องเผชิญหน้ากับทั้งญี่ปุ่นและความต้องการในการปลดแอกจากอาณานิคมดัตช์ภายใต้การนำของขบวนการใต้ดิน ขบวนการใต้ดินเพื่อปลดแอกจากอาณานิคมนั้นต้องนอกจากต้องต่อสู้กับดัตช์ในฐานะเจ้าอาณานิคมแล้วยังต้องสู้กับญี่ปุ่นที่กำลังขยายอำนาจอยู่ในขณะนั้นอีกด้วย คู่ขัดแย้งโดยตรงในเรื่องนั้นคือกลุ่มขบวนการใต้ดินชาวชวาที่นำโดย ศรี อรพินโท และ บุหลัน กับกองทัพญี่ปุ่นซึ่งมี โทรุ ซากาโมโต้ เป็นตัวละครหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “วายัง อมฤต” จะ “พยายาม” เล่าถึงความขัดแย้งของทั้งขบวนการใต้ดินกับกองทัพญี่ปุ่น แต่นั่นก็อาจเป็นเพียง “ผิวหน้า” ที่เคลือบเอาไว้ชั้นหนึ่งท่ามกลางเรื่องเล่าที่ “ฉาบ” ทับถมกันเอาไว้หลายเรื่อง…

ในตัวเรื่อง เราได้อ่าน ได้เห็น ได้รับรู้เรื่องราวเหตุการณ์ความขัดแย้งในอินโดนิเซียจากตัวละคร “ไฮน์ริช เบิล” ที่เป็นผู้เล่าเรื่องหลักของเรื่องนี้ เบิลเป็นตัวละครและผู้เล่าเรื่องที่เปิดเผยตัวเองอย่างชัดเจนว่าเป็นล่าม/นักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งมีความรู้ในภาษาต่างประเทศถึง 8 ภาษา เขาเดินทางเข้ามาในอินโดนิเซียเพราะ “กรมพระฯ” ซึ่งลี้ภัยมาจากการสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ได้เขียนจดหมายถึงเขาเพื่อขอให้เบิลแปลบันทึกความทรงจำของ “กรมพระฯ” ที่มีต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในสยาม

“กรมพระฯ” ในเรื่องวายัง อมฤต นั้นก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นั่นเอง เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องตีความใดๆ เพราะบริบทหลายๆ แห่งในนวนิยายก็ชัดเจนอยู่แล้วอีกทั้งในคำตามท้ายเรื่องอนุสรณ์ก็ได้บอกเอาไว้อย่างชัดเจนว่านวนิยายเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใดจากการได้ไปเห็น “ตำหนัก” ที่ประทับสุดท้ายของ “กรมพระฯ” และนึกถึงเหตุการณ์ก่อนที่ “กรมพรฯ” จะเดินทางออกจากสยามจึงนำเอามาเขียนเป็นนวนิยาย ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าตัวนวนิยายจะนำเอาบุคคลจริงในประวัติศาสตร์และเป็นเจ้านายชั้นสูงของไทยมาเป็นหนึ่งในตัวละครในเรื่องและดูเหมือนว่าจดหมายของ “กรมพระฯ” ในตัวเรื่องจะเป็นจุดเริ่มต้นของปมขัดแย้งในเรื่องและผู้อ่านอาจคาดหวังว่าจะได้อ่านเรื่องราวความทรงจำของกรมพระที่มีต่อสยามเพื่อเข้าใจมุมมองอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่… แต่ทั้งหมดนั้นกลับเป็นเรื่องที่ลวงผู้อ่านทั้งสิ้น

ไฮน์ริช เบิล ในฐานะล่าม/นักภาษาศาสตร์และผู้เล่าเรื่องนั้นได้พยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปด้วยว่า เขามาที่บันดุง อินโดนิเซีย ด้วยจุดประสงค์ของการแปลจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้น การปรากฏตัวของตัวละครหญิงลึกลับซึ่งต่อมาก็คือ บุหรง (?) ก็ยิ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปด้วยว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของนักแปลคนหนึ่งที่ต้องเข้ามาอยู่ในปมขัดแย้งของสงครามปลดแอกอาณานิคมและสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่าง “เลี่ยงไม่ได้” และ “เสียไม่ได้… หากพิจารณาจากการเล่าเรื่องมันควรจะเป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม สถานะที่แท้จริงของ ไฮน์ริช เบิล ทั้งในฐานะผู้เล่าเรื่องและตัวละครที่เป็นนักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมันก็ถูกเปิดเผย สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า แท้จริงแล้ว ไฮน์ริช เบล ผู้นี้ก็คือ ฟรังซัวร์ อูแบง ผู้เป็นหนึ่งในขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านกองทัพเยอรมัน เมื่อถูกจับได้ ตัวตนของ “ไฮน์ริช เบิล” ที่ “ฟรังซัวร์ อูแบง” สวมใส่อยู่นั้นก็ถูกถอดออก และเขาก็ยอมรับและเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองซึ่งเป็นเรื่องเล่าประวัติของตัว “อูแบง” ในอีก “เวอร์ชั่น” หนึ่ง นั่นคือ อูแบงในฐานะอดีตพนักงานวิเคราะห์เอกสารโบราณในหอสมุดแห่งชาติของฝรั่งเศสผู้ที่ต้องการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยตนเองจึงมาเข้าร่วมเป็นทหารในสงครามกลางเมืองเสปนเพื่อต่อต้านนายพลฟรังโก้…

เรื่องเล่าของตัวตนชุดนี้พยายามอธิบายว่า ฟรังซัวร์ อูแบง เคย “ทำงาน” ลับๆ กับนายทหารเยอรมันที่ชื่อ “ไฮน์ริช เบิล” (ซึ่งก็คืออดีตหน่วย SS ของเยอรมันด้วย) เพื่อสืบว่ามีนายทหารจากหน่วย SS ของเยอรมันปลอมตัวเป็นไส้ศึกอยู่ในกองทัพต่อต้านเยอรมัน แม้ว่าภารกิจการเปิดโปงขบวนการหักหลังและนกสองหัวในสงครามได้ แต่การ “เสียลับ” ความแตกของไฮน์ริช เบิล ก็ทำให้เขาก็ต้องเสียชีวิตเขาจึงฝากฝังให้ฟรังซัวร์ อูแบงทำหน้าที่ต่อจากเขาด้วยการสวมรอยและรับเอาตัวตนของเขาไป ฟรังซัวร์ อูแบงจึงกลายเป็นไฮน์ริช เบิล เมื่อภารกิจสำเร็จ เรื่องเล่าชุดนี้ของฟรังซัวร์ อูแบง พยายามอธิบายว่า เขาเบื่อเรื่องสงครามจึงหันหน้าหนีจากยุโรปมาอยู่ที่อินโดนิเซียในฐานะชาวเยอรมันในนามไฮน์ริช เบิล

นอกจากนี้หลังจากที่ตัวตนของ ฟรังซัวร์ อูแบง ในฐานะผู้ร่วมขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านกองทัพเยอรมันถูกเปิดเผยแล้ว สถานะอีกอย่างที่อูแบงมีต่อขบวนการปลดแอกชาวอินโดนิเซียก็คือผู้จัดหาอาวุธมาให้กับขบวนการอีกด้วย

เมื่อถึงจุดวิกฤตที่สุดในเรื่อง คือตอนสุดท้าย ตัวยตนของ “ฟรังซัวร์ อูแบง” ก็ถูกเปิดเผยอีกครั้ง (?) ว่าอันที่จริงแล้วเขาไม่ใช่นักแปล ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ ไม่ใช่พนักงานวิเคราะห์เอกสารโบราณใดๆ ทั้งสิ้น แต่ฟรังซัวร์ อูแบง คือทหารรับจ้างฝีมือฉกาจที่ปลิดชีวิตข้าศึกมานักต่อนัก “และพร้อมจะรับงานสำคัญเสมอเมื่อค่าจ้างนั้นสูงพอ” (หน้า 177) ดังนั้นอูแบงเข้าร่วมสงครามนี้เพราะเขาได้ “ค่าจ้าง” ที่สูงพอนั่นก็คือ “ตัวบุหรง” นั่นเอง…

บุหรงก็เป็นอีกตัวละครที่มีเรื่องเล่าที่หลากหลาย คือ มีเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพี่น้องฝาแฝดลูกสาวของมหาเศรษฐีที่ภายหลังถูกชุบเลี้ยงและกลายเป็นคนรักของ ศรี อรพินโท ผู้นำขบวนการใต้ดินของอินโดนิเซีย เรื่องเล่าที่พยายามเล่าถึง “ความลึกลับ” ของตัวเธอเอง เช่นการปรากฏตัวต่อหน้าไฮน์ริช เบิล (ในช่วงแรก) เพื่อเตือนว่าอย่าไปที่เมืองบันดุง หรือการปรากฏตัวในชื่อของ บุหลัน ที่ รสา ดาราห์ สถานบริการทางเพศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าสองร้อยปี และเปิดต้อนรับเฉพาะชาวชวาเท่านั้น ความลึกลับของสถานที่แห่งนี้ยังถูกเล่าขานในลักษณะที่ว่ามันไม่มีหลักแหล่งที่แท้จริง เสมือนกับเป็นโลกของความลึกลับ เหมือนกับ วายัง อมฤต ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือขบวนการใต้ดินเพื่อปลดแอกชาวชวานั่นเอง และที่รสา ดาราห์แห่งนี้เองที่ “ฟรังซัวร์ อูแบง” ได้รับค่าจ้างที่ “สูงพอ” สำหรับเขานั่นคือการร่วมรักกับบุหลัน

ในตอนสุดท้ายอีกเช่นเดียวกันที่ตัวตนของบุหลันและบุหรงที่เคยเชื่อกันว่าเป็นพี่น้องฝาแฝดกันนั้นถูกเปิดเผย นั่นคือ แท้จริงแล้ว ไม่เคยมีผู้หญิงที่ชื่อบุหลันอยู่เลย มีแต่เพียงบุหรงเท่านั้น เรื่องเล่าที่ว่าเป็นลูกสาวฝาแฝดของมหาเศรษฐีนั้นเป็นเพียง “นิทาน” เท่านั้น บุหลันคือผู้นำที่แท้จริงของวายัง อมฤต เธอคือคนที่คอยสนับสนุนการเงินให้กับขบวนการ และเธอคือเป้าหมายสำคัญที่ต้องกำจัดของทหารญี่ปุ่น และเธอไม่ใช่คนรักของศรี อรพินโทอีกด้วย

เรื่อง/หลง/เล่า/ลืม

นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต นั้นดูเหมือนว่าจะมีความซับซ้อนด้วยการซ้อนเรื่องเล่าลงไปหลายๆ ชุด แต่สิ่งที่ผมสนใจก็คือ ในทุกๆ เรื่องเล่า ผู้เล่าเรื่องสามารถทำให้เรื่องเล่าที่ตัวเองกำลังเล่าอยู่กลายเป็นความจริงโดยที่ผู้อ่านแทบจะไม่ได้ตระหนักเลยว่าก่อนหน้านี้เคยถูกหลอกมาอย่างไรบ้าง ผู้เล่าเรื่องในเรื่องของวายัง อมฤต มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง พูดให้ง่ายก็คือ เล่าเรื่องไหนเรื่องนั้นก็ดูจริงไปทั้งหมด

เราอาจเรียกได้ว่าความสามารถของผู้เล่าเรื่องในวายัง อมฤต นั้นคือความสามารถในการโกหกคนอื่นอยู่ตลอดเวลาและจงใจที่จะไม่พูดถึงตัวตนอีกหลายๆ แบบที่ตนเองเคยได้เล่าไว้ก่อนหน้านี้…

อย่างไรก็ตาม ผมก็มีข้อสังเกตอยู่เล็กน้อยว่า เรื่องเล่าของ “กรมพระฯ” นั้นแม้ผมจะเข้าใจไปว่ามันคือเรื่องเล่าที่เป็น “ตัวหลอกล่อ” ให้ผู้อ่านเข้าใจทิศทางของเรื่องผิดไป แต่ก็ดูเหมือนว่าตัวเรื่องจะละเลยเรื่องเล่าของกรมพระฯ ไปอย่างน่าฉงน เราเข้าใจไปว่า ไฮน์ริช เบิล/ฟรังซัวร์ อูแบง เข้ามาอินโดนิเซียเพราะจะมาแปลงานของกรมพระฯ แต่อันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ เพราะเขามาด้วยวัตถุประสงค์ของการเป็นทหารรับจ้างที่ได้รับการว่าจ้างนั่นเอง และแม้ว่าจะมีความพยายามในการเล่าถึงกรมพระฯ เป็นระยะๆ แต่ผมกลับเห็นว่า แท้จริงแล้วชุดเรื่องเล่าของกรมพระฯ นั้นเต็มไปด้วยความไม่ปะติดปะต่อกับตัวเรื่อง เป็น “ส่วนเกิน” ที่หลงเข้ามาเล่า และพยายามปรากฏตัวอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ถูกลืม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเรื่องของกรมพระฯ นั้นไม่จำเป็นต้องรู้หรือไม่จำเป็นต้องเล่าก็ได้

ด้วยเหตุนั้น ผมคิดว่าชุดเรื่องเล่าของกรมพระฯ นั้น ค่อนข้างประดักประเดิดไปสักนิด แต่มันก็ช่วยให้ผู้อ่านหลงทางได้เป็นอย่างดี และสุดท้ายแล้วผมกลับลืมบทบาทและความสำคัญของกรมพระฯ ไปด้วยซ้ำ ถ้าไม่ได้มาอ่านเพื่อเขียนบทวิจารณ์นี้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะจำกรมพระฯ (ในเรื่อง) ไปทำไม…

“วายัง” การเล่นหนังกับเงาและการเล่าเรื่อง

วายังเป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งของอินโดนิเซียโดยใช้ตัวหนังเชิดบนจอผ้า ผู้ชมจะได้เห็นเงาของตัวละครที่แกะสลักจากตัวหนังบนจอผ้าสีขาว อากัปกิริยาของตัวละครนั้นแสดงผ่านการเชิดของผู้เชิดที่ดำเนินไปตามเรื่องราวที่ใช้ในการเล่น วายังเป็นศิลปะการแสดงของอินโดนิเซียมีชื่อเสียงมากและส่งอิทธิพลให้กับผู้คนในภูมิภาคเช่น มาเลเซีย ไทย อีกด้วย

ประเด็นที่ผมสนใจเกี่ยวกับวายังก็คือ สิ่งที่เราเห็นบนจอคือเงาที่เกิดขึ้นจากวัตถุหนึ่งๆ ถูกบดบังจากแสงสว่างทำให้พื้นที่ที่อยู่ด้านหลังของวัตถุนั้นทึบแสงและปรากฏเป็นรูปร่างของวัตถุนั้นๆ ขึ้นมา ดังนั้นในการชมการแสดงวายัง เราไม่ได้เห็นวัตถุ แต่เราเห็นสิ่งที่ถูกบดบังจากแสงสว่างและกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ตัวหนังในฐานะที่เป็นวัตถุสำคัญของการแสดงคือสื่งที่เรามองไม่เห็น เราไม่มีโอกาสได้เห็นว่าแท้จริงแล้วตัวหนังมี “หน้าตา” ที่แท้จริงอย่างไร และในความเป็นจริงผู้ชมการแสดงเองก็ไม่ใคร่จะสนใจนักว่าหน้าตาที่แท้จริงของวัตถุของการแสดงคืออะไร เพราะสิ่งโลดแล่นอยู่ต่อหน้าทุกคนก็คือเงา

นอกจากเงาแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือผู้เชิด ผู้ชมวายังจะติดตามตัวเรื่องได้ก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวของตัวหนังที่สะท้อนเงาผ่านจอสีขาว สายตาของผู้ชมจดจ่ออยู่กับเงาและคอยฟังเรื่องเล่าจากผู้เล่าเรื่องไปพร้อมๆ กัน ทั้งผู้เชิดและผู้เล่าเรื่องของวายังมีหน้าที่ทำสำคัญคือชี้นำผู้ชมไปตามครรลองเรื่องเล่าที่โลดแล่นอยู่ต่อหน้า ผู้ชมได้รับรู้เรื่องราวผ่านการเห็นและการฟัง ผมสนใจต่อไปว่า การได้เห็นและการได้ยินนั้นในแง่หนึ่งมันเหมือนเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยทำให้มนุษย์ยืนยันในประสบการณ์หนึ่งๆ ว่าตนเองได้มีความสัมพันธ์กับสิ่งๆ นั้นโดยตรงและมันได้ยืนยันต่อไปอีกด้วยว่าสิ่งที่เรากำลังมีความสัมพันธ์กับมันอยู่นั้นเป็น “ความจริง” เพราะมันสัมผัสได้ เห็นได้ ได้ยินได้

ในการอ่านนวนิยาย “วายัง อมฤต” ของอนุสรณ์ ให้อารมณ์ความรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะในขณะที่เรากำลังคิดว่าสิ่งที่เราอ่าน เรื่องเล่าที่เรากำลังสัมผัสอยู่นั้นมันคือความจริงที่เกิดขึ้นในเรื่อง มันจริงมากพอที่จะทำให้เราเชื่อและติดตามมันไปโดยตลอด อีกทั้งมันยังคอยท้าทายให้เราในฐานะผู้อ่านต้องคอยไขปริศนาในเรื่องอยู่ตลอดเวลา และเมื่อผู้อ่านรู้สึกว่ากำลังไขปริศนาหรือเข้าถึง “ความจริง” บางอย่างในเรื่องแล้ว ตัวเรื่องกลับผลักไสผู้อ่านออกไปให้ไกลจากความจริงนั้นด้วยการแสดงให้เห็นว่าไอ้สิ่งที่เราเห็นนั้นมันยังไม่ใช่ “ความจริง” หรอกนะ… มันเป็นแค่ “เงา” ของความจริงเท่านั้นเอง

ผู้อ่าน “วายัง อมฤต” จะถูกท้าทายจากกลวิธีการเล่าเรื่องอยู่ตลอดเวลา การพิชิตปมปัญหาเพื่อเข้าถึงสัจจะบางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เหลวไหลทั้งเพ ความเชื่อที่ว่าผู้อ่านคือองค์ประธานของงานวรรณกรรม บทบาทของผู้อ่านในฐานะผู้ให้ความหมายแก่ตัวบทเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามตลอดเวลาที่อ่าน “วายังอมฤต”  เพราะผู้อ่านไม่ใช่ผู้กำหนดความหมายของเรื่องอีกต่อไป… ผู้เล่าเรื่องและวิธีการเล่าต่างหาก ดังเราจะเห็นได้จาก “คำใบ้” ที่ผู้เล่าเรื่องได้ให้เอาไว้โดยเปรียบเทียบกับการเล่น “วายังกุลิต”

“คำว่า วายัง กุลิต นั้นแปลว่า ‘เงาที่เกิดจากการซ่อนเร้น’ ตัวหนังจะถูกซ่อนเร้นจากผู้ชม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ชมจะได้ชมคือเงาของตัวหนังนั้น ตัวหนังกว่าสองร้อยตัวที่มีทั้ง พระเอก นางเอก นักรบ ตัวตลก สัตว์ประหลาดหรืออมนุษย์ จะสรรสร้างเงาที่แตกต่างกัน ผู้ชมต้องจดจำเงาเหล่านั้นพร้อมกับดื่มด่ำไปในฝีมือเชิดของผู้เชิดหุ่นที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘ดาลัง’” (หน้า 53)

สิ่งที่เราเห็นคือหน้าฉากที่เป็นเงา แต่สิ่งที่เราไม่เห็นล่ะ… มันมีอะไรซ่อนอยู่บ้างและทำให้เรื่องดำเนินต่อไปอย่างไร…

“โลกของวายัง อมฤต คือโลกของอุดมคติ เป็นโลกที่อาจแลดูเลื่อนลอยคล้ายเงาดำบนฉากขาวในการแสดงวางยัง กุลิต แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อมองลงไปในความเป็นจริงมันกลับมีบางสิ่งที่จับต้องได้อยู่ในนั้น อุดมการณ์อันแข็งแกร่ง อุดมคติอันตกผลึก ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โลกของผู้ถูกกดขี่ โลกของผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โลกของผู้คนที่ไม่มีสิทธิแม้จะพูดในสิ่งที่เขาคิด คือศัตรูของโลกแห่งวายัง อมฤต เงาสีดำที่ที่ปรากฏกายให้เห็นอาจเพลิดเพลิน ตื่นตา หรือเร้าใจ แต่นั้นคือการล่อหลอก…” (หน้า 46)

เมื่อโลกนี้มีแต่เรื่อง “จกตา”

การท้าทายกับความจริงและการเข้าถึงความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดในโลกตั้งแต่ ศตวรรษที่ 20 สิ่งที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัสนั้นใม่อาจประกันได้เลยว่าเรากำลังเข้าถึงความจริงได้มากที่สุด หรือไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันว่าเรากำลังอยู่ในโลกของความจริง การท้าทายดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน…และมากมายในวรรณกรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของความจริงและไม่มีใครเป็นเจ้าของวิธีในการเข้าถึงความจริงได้อีกต่อไปเช่นกัน…[1]

เราเชื่อถืออะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ทุกๆ ครั้งที่เรากำลังรู้สึกว่ากำลังจะเข้าใกล้กับความจริง ปริศนาและความลับของจักรวาลกำลังจะปรากฏอยู่ตรงหน้าเราก็จะมีเหตุการณ์อีกชุดหนึ่งปรากฏตัวขึ้นเพื่อทำให้เรารู้สึกไกลออกไปจากการแก้ไขปริศนานั้นๆ เราจึงถูกจกตาทุกครั้งที่เรากำลังจะรู้สึกว่าเราตาสว่างไสวเจิดจ้าและร้อนแรง ดวงตาของเราเบิกโพลงด้วยความหวังเพียงเพื่อจะพบว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรานั้นกำลังจกตาเรา[2]

ชีวิตจึงหมายถึงการตกหลุมพรางและการถูกล่อลวงอยู่ตลอดเวลา… ตลอดเวลาที่หมายถึงทั้งเวลาในแบบเส้นตรงและเวลาที่หมุนเป็นวัฏจักร…

การอ่านนวนิยาย “วายัง อมฤต” สำหรับผมจึงให้ความรู้สึกที่ยิ้มมุมปากอยู่น้อยๆ ไปพร้อมๆ กับการทึ้งผมตัวเองอยู่กลางสี่แยก… ด้วยไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี


[1] ผมเห็นว่าประโยคนี้เชยมากๆ เชยเฉิ่ม

[2] ผมคิดว่าย่อหน้านี้ก็ยังคงสรุปได้อย่างเฉยๆ อยู่ดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save