fbpx
แค่ได้ ‘เชื่อ’ ก็เป็นสุขใจ

แค่ได้ ‘เชื่อ’ ก็เป็นสุขใจ

คุณเคย ‘เชื่อ’ อะไรสักอย่าง อย่างหัวปักหัวปำ แล้วมารู้ทีหลังว่าสิ่งที่คุณเชื่อนั้นผิดไหมครับ

แล้วเวลาคุณได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ขัดแย้งความคิดความเชื่อเดิม คุณรู้สึกอย่างไร

หรือมีเรื่องอะไรบ้างที่คุณเชื่อ ทั้งที่รู้อยู่ลึกๆ ว่ามันอาจไม่ใช่ ‘ความจริง’

 

ในวันที่โลกไม่ได้มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว และความรู้ความเข้าใจต่างๆ พร้อมจะถูกท้าทาย–ทำลาย ได้ตลอดเวลา ความสามารถในการ ‘แยกแยะ’ ข้อมูลต่างๆ ของมนุษย์ผู้ชาญฉลาดอย่างเรา ดูจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมคือผลวิจัยหลายแห่งที่บอกตรงกันว่า มนุษย์เราไม่ได้ ‘มีเหตุผล’ ขนาดนั้น แถมยังชอบคิดว่าตัวเอง ‘รู้ดี’ มากกว่าที่ตัวเองรู้เสียด้วย…

รู้ว่าผิด แต่ติดใจ 

จริงๆ การศึกษาเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 แล้วนะครับ โดยการทดลองที่มีชื่อเสียงและเป็นต้นแบบของการทดสอบ ‘ความไร้เหตุผล’ ของมนุษย์ เกิดขึ้นโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ที่ทำการทดลองทางจิตวิทยา โดยให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งแยกแยะ ‘จดหมายลาตาย’ สองฉบับ ว่าอันไหนคือของจริง อันไหนคือของปลอม

ผลปรากฏว่า จากแบบทดสอบทั้งหมด 25 ชุด นักศึกษาบางคนสามารถแยกแยะได้ถูกต้องถึง 24 ชุด ขณะที่บางคนทำถูกแค่เพียง 10 ชุด

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าจะได้คะแนนเยอะหรือน้อย นักศึกษาทุกคนต่างยอมรับผลที่ได้ โดยไม่เฉลียวใจใดๆ — พวกเขาหารู้ไม่ว่านั่นคือการทดสอบใน ‘ขั้นแรก’ เท่านั้น

ขั้นต่อมา ผู้วิจัยได้เปิดเผยความจริงว่า ผลการทดสอบที่แจ้งไปนั้น เป็น ‘ผลคะแนนปลอม’ โดยจุดประสงค์ที่แท้จริงของการทดสอบนี้ ก็เพื่อ ‘ดูปฏิกิริยาหลังรับรู้ว่าตัวเองถูกหรือผิด’ ต่างหาก

หลังจากเฉลยความจริง ผู้วิจัยให้นักศึกษาแต่ละคนประเมินตัวเองใหม่อีกครั้ง ว่าสามารถแยกแยะจดหมายได้ดีแค่ไหน ผลปรากฏว่า นักศึกษาที่ได้คะแนนสูง (ซึ่งเป็นคะแนนปลอม) บอกว่าตัวเองทำได้ ‘ค่อนข้างดี’ ส่วนนักศึกษาที่ได้คะแนนต่ำ (ซึ่งเป็นคะแนนปลอมอีกเช่นกัน) บอกว่าตัวเองทำได้ ‘ค่อนข้างแย่’

ผลที่ได้บอกเราว่า ลึกๆ แล้วทุกคนยัง ‘เชื่อ’ ในข้อมูลเดิมอยู่ดี ทั้งที่ผู้วิจัยเพิ่งบอกไปหยกๆ ว่ามันไม่จริง

การทดลองนี้โด่งดังเพราะมันแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มี ‘ข้อจำกัดในการใช้เหตุผล’ จนนำมาซึ่งการทดลองทำนองนี้อีกหลายครั้งในเวลาต่อมา ซึ่งผลที่ออกมาก็แทบจะไม่ต่างกัน นั่นคือแม้จะมีหลักฐานใหม่ที่สามารถหักล้างความเชื่อเดิมได้อย่างแจ่มแจ้ง แต่มนุษย์เรากลับประสบปัญหาในการเปิดรับข้อมูลใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลเดิมที่เคยยึดถือไว้

แต่การศึกษาวิจัยไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้นนะครับ เพราะยังมีการศึกษาต่อยอดไปอีก ที่บอกว่ามนุษย์เรามักจะคิดว่าตัวเองเข้าใจหรือ ‘รู้ดี’ มากกว่าสิ่งที่รู้จริงๆ

รู้จริง แต่ต้องอ้างอิงคนอื่น

ในหนังสือ ‘The Knowledge Illusion : Why We Never Think Alone’ เขียนโดย สตีเฟ่น สโลแมน (Steven Sloman) และ ฟิลลิป เฟิร์นบาช (Philip Fernbach) ได้นำเสนอภาวะที่เรียกว่า ‘Illusion of explanatory depth’ อันเป็นภาวะที่คนเราคิดว่าตัวเอง ‘รู้ดี’ ทั้งที่ไม่ได้ ‘รู้จริง’

หนังสือเล่มนี้อ้างอิงผลทดลองคลาสสิคของมหาวิทยาลัยเยลล์ (Yale University) ที่ให้นักศึกษาลงคะแนนว่าตัวเองเข้าใจกลไกของสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน เช่น โถส้วม ซิป แม่กุญแจ

เมื่อลงคะแนนเสร็จ ผู้วิจัยก็ให้แต่ละคนเขียนอธิบายกลไกการทำงานของสิ่งของนั้นๆ ‘อย่างละเอียด’ ก่อนจะให้แต่ละคนลงคะแนนอีกครั้ง ว่าเข้าใจสิ่งของแต่ละอย่างมากน้อยแค่ไหน

ผลปรากฏว่า การให้คะแนนในรอบหลังของแต่ละคน ลดลงจากรอบแรกอย่างเห็นได้ชัด นั่นแสดงให้เห็นว่า การต้องเขียนอธิบายสิ่งของเหล่านั้นอย่างละเอียด ทำให้ผู้ทดสอบตระหนักว่าตัวเองโง่กว่าที่คิด (ใครไม่เชื่อ ลองทำดูก็ได้)

ทีนี้คำถามก็คือว่า แล้วเราเอาความมั่นใจผิดๆ นี้มาจากไหน ?

คำตอบก็คือ เอามาจาก ‘คนอื่น’ ไงล่ะครับ

ผู้เขียนอธิบายว่าเวลาที่เราคิดว่าตัวเองรู้ หรือเข้าใจอะไรสักอย่าง เรามักจะอิงอยู่กับความคิดความเห็นของผู้อื่นอยู่เสมอ คนนั้นบอกไว้ว่าอย่างนั้น หนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่าอย่างนี้ ทฤษฎีนี้กล่าวไว้ว่าอย่างโน้น รวมไปถึงการสุมหัวกันถกเถียง ซุบซิบนินทา แล้วนำความเห็นจากหลายๆ คนมาประกอบกัน จนเราคิดว่านั่นเป็นความคิดของตัวเราเอง

จากการทดลองซ้ำๆ กันหลายครั้ง ทำให้ผู้เขียนได้ข้อสรุปว่า “มนุษย์ไม่สามารถคิดอะไรได้โดยลำพัง” ซึ่งเป็นผลให้ “ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่าง ความรู้ และ ความคิดของผู้อื่น” แถมยังทิ้งท้ายด้วยว่า “ความรู้สึกอันแรงกล้าที่เรามีต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจอันลึกซึ้งแต่อย่างใด”

ถึงตรงนี้ ลองคิดเล่นๆ ก็ได้นะครับว่า เรื่องที่คุณคิดว่าตัวเองเข้าใจหรือรู้ดี มันมีที่มาจากไหน และคุณสามารถอธิบายสิ่งนั้น ‘อย่างละเอียด’ ได้หรือไม่ (โดยไม่ต้องเปิด google)

จากตัวอย่างที่เล่าไป อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ทว่าในบางสถานการณ์ ก็อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่คาดฝันได้

พวกมาก ลากไปไหน?

จากการทดลองที่เล่าไปเมื่อครู่ ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเราเปลี่ยนจากสิ่งของธรรมดาๆ อย่าง โถส้วม ซิป แม่กุญแจ มาเป็นคำที่ใหญ่ขึ้น เช่น รัฐประหาร ประชาธิปไตย วัฒนธรรมไทย ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

อลิซาเบธ โคลเบิร์ท (Elizabeth Kolbert) คอลัมนิสต์รุ่นใหญ่ของ The New Yorker เชื่อมโยงเรื่องนี้กับสถานการณ์ในอเมริกาว่า การขึ้นสู่ทำเนียบประธานาธิบดีของ ‘ทรัมป์’ ก็เกิดจากเรื่องทำนองนี้นี่แหละ

ในทางจิตวิทยา คนเรามีแนวโน้มที่จะมองหาความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิด หรือสิ่งที่เราเป็นอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาที่เราสุมหัวกับเพื่อนหรือพรรคพวกที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน โอกาสที่คนกลุ่มนั้นจะตกหลุมพรางแห่งอคติ หรือภาวะที่เรียกว่า confirmation bias นั้นก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น

ยิ่งการใช้สื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ที่มีระบบอัลกอริทึม คอยคัดกรองเฉพาะสิ่งที่เราสนใจ แนวโน้มที่จะทำให้เกิดกลุ่มก้อนของคนที่คิดไปในทางเดียวกัน มีจุดยืนทางการเมืองเหมือนกัน เลือกพรรคการเมืองเดียวกัน ฯลฯ ก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น

ในกรณีของทรัมป์ การพูดกรอกหูซ้ำๆ ถึงความผิดพลาดของรัฐบาลโอบามา และอีกสารพัดนโยบายที่เขายกขึ้นมาหาเสียง ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมาก (ผู้เบื่อหน่ายและสุดทนกับรัฐบาลเดิม) เกิดคล้อยตาม และหันมาเทคะแนนให้เขาอย่างพร้อมเพรียง ด้วยหวังว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง –แล้วตอนนี้ก็เป็นอย่างที่เห็น

อลิซาเบธตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นผลจากที่คนอเมริกันจำนวนมาก “ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงต่อสิ่งที่ตัวเองเลือก” และเวลาสี่ปีถัดจากนี้คือบทเรียนชิ้นใหญ่ที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยง

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะเอื้อให้เราสามารถหาข้อมูลได้ง่ายดายเพียงใด แต่กับเรื่องบางเรื่อง เหมือนว่าเราจะสบายใจกับการ ‘คิดเอาเอง’ มากกว่า เช่นเดียวกับการได้เชื่อ ได้เสพ ข้อมูลชุดเดิมๆ มากกว่าการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งใหม่ๆ

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ขณะนี้เราอยู่ในภาวะ ‘คืนความสุข’ มาเกือบครบสามปีแล้ว และดูเหมือนจะยังไม่มีกำหนดสิ้นสุดที่แน่ชัด

ว่าแต่…เราเริ่มมองเห็นอะไรชัดขึ้นบ้างไหมนะ ?

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ WHY FACTS DON’T CHANGE OUR MINDS ของ Elizabeth Kolbert จาก The New Yorker, 

-บทความ Why We Shouldn’t Dismiss People Who Deny Facts ของ Sara E. Gorman and Jack M. Gorman จาก Time, Sep 6, 2016

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save