fbpx

“เขาหาว่าแม่ฉันเป็นผู้หญิงหากิน” การแจ้งเกิดของวัฒน์ วรรลยางกูรในนิตยสารยานเกราะ

วัฒน์ วรรลยางกูร

ย่ำค่ำวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2565 ผมได้รับโอกาสจากทางผู้จัดนิทรรศการภาพถ่าย 6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ ให้นำเสนอและอภิปรายข้อมูลประวัติศาสตร์ในวงสนทนาพิเศษ ลูกทุ่งฝ่ายขวา ซอฟท์พาวเวอร์ที่คนหลงลืม ณ คินใจ คอทเทมโพรารี (Kinjai Contemporary)

แน่นอนทีเดียว เรื่องราวของ สถานีวิทยุยานเกราะ ย่อมมิแคล้วเนื้อหาสำคัญอันผมจำเป็นต้องถ่ายทอด ในฐานะเป็นสถานีวิทยุที่มีโฆษกคือ พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายอาคม มกรานนท์ และ นายอุทิศ นาคสวัสดิ์  สมทบทั้งแกนนำชมรมแม่บ้านอย่าง นางวิมล ศิริไพบูลย์ (เจียมเจริญ) นักเขียนเจ้าของนามปากกา ‘ทมยันตี’ สื่อสารน้ำเสียงโจมตียั่วยุปลุกปั่นให้ประชาชนทั่วไปโกรธแค้นและเกลียดชังนักศึกษา มองเห็นนักศึกษาเป็นศัตรูของประเทศชาติ จนนำไปสู่เหตุการณ์เช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 ซึ่งกองกำลังตำรวจกองปราบและหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ บุกเข้ากวาดล้างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างโหดร้ายทารุณและเกิดภาพน่าสยดสยอง โดยผมแจกแจงว่า สถานีวิทยุยานเกราะถือเป็นสถานีวิทยุขวัญใจชาวชนบท เกี่ยวข้องกับการเปิดแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งและเคยมีนักร้องลูกทุ่งหลายคนจัดรายการที่นี่  

สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามเล่าเสริมต่อผู้รับชมคือ สถานีวิทยุยานเกราะยังเคยจัดทำนิตยสารรายเดือนด้วย เริ่มออกเผยแพร่มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2500  ยิ่งเฉพาะช่วงต้นทศวรรษ 2510 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 จะอุบัติขึ้น แม้กระทั่งนักเขียนหัวก้าวหน้าหลายคนก็ได้รับตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานลงในนิตยสาร ยานเกราะ ผมเอ่ยนาม วัฒน์ วรรลยางกูร ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพราะถ้าจะว่ากันตามจริง วัฒน์มีงานเขียนตีพิมพ์แจ้งเกิดต่อสาธารณชนหนแรกสุด ก็บนหน้ากระดาษของสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อนี้นั่นแหละ



สำนักงานของนิตยสารยานเกราะตั้งอยู่แห่งเดียวกันกับสถานีวิทยุ คือละแวกย่านบางกระบือ จังหวัดพระนคร หมายเลขโทรศัพท์ 47592 แต่ไปจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์ เลขที่ 1/1 ถนนราชบพิธ หมายเลขโทรศัพท์ 25817 นายจุมพล เชษฐพงศ์พันธุ์ เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ช่วงต้นทศวรรษ 2510 นิตยสารนี้ราคาเล่มละ 6 บาท หากร้านค้าต่างจังหวัดสนใจจะนำไปจำหน่าย ก็ให้ติดต่อมายังสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ในเวิ้งนาครเขษม จังหวัดพระนคร หมายเลขโทรศัพท์ 27200

เหตุที่ทางคณะผู้จัดทำ ยานเกราะ ให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นช่วยดูแลเรื่องการจัดจำหน่ายนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาจเป็นเพราะ วิชิต เพ็ญมณี นักข่าวอาวุโสประจำสถานีวิทยุและนักเขียนประจำนิตยสาร มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ สุพล เตชะธาดา หรือ ‘เฮียชิว’ เจ้าของสำนักพิมพ์ ทั้งยังครองตำแหน่งที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำแก่สุพล ว่าควรพิมพ์ผลงานของนักเขียนคนใด จะติดต่อนักเขียนอย่างไร และแนวโน้มตลาดหนังสือเป็นแบบไหน

วิชิต คือนักหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏผลงานมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 ใช้นามปากกา ‘ช.เพ็ญมณี’ และ ‘ชิน ดนุชา’ เคยทำงานแปลบทให้กับรายการของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก(ยุคนั้น ช่อง 7) และรั้งตำแหน่งบรรณาธิการคนแรกของหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ ซึ่งต่อมาจะกลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ผลงานลือลั่นของเขาคือข่าวการลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะนำเสนอเนื้อหาฉับไวก่อนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ตอนสุพลก่อตั้งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเมื่อปีพุทธศักราช 2504 วิชิตก็เป็นผู้ออกแบบตราสำนักพิมพ์ให้

ระหว่างทำงานอยู่สถานีวิทยุยานเกราะ วิชิตมักใช้นามปากกา ‘ชิน ดนุชา’ เขียนหนังสือแนวเรื่องขำขันร่วมกับนายทหารประจำสถานีวิทยุนาม อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งใช้นามปากกา ‘กระจกฝ้า’ เฉกเช่นเรื่อง ดูรากุมารี พิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช 2513 ซึ่งยังมี ‘หลวงเมือง’ นามปากกาของ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ มาร่วมขบวน


ดูรากุมารี


ยานเกราะ นับเป็นแหล่งชุมนุมนักเขียนชื่อดังแห่งทศวรรษ 2500 และต้นทศวรรษ 2510 นอกเหนือจากนิตยสารแล้ว คณะผู้จัดทำยังนำเอาเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคนมารวมพิมพ์เป็นหนังสือในนามสำนักพิมพ์สายปนัดดา เฉกเช่น รวมเรื่องสั้น วสันต์ชื่น เผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช 2511 นักเขียนในเล่ม ได้แก่ ประมูล อุณหธูป เจ้าของนามแฝง ‘อุษณา เพลิงธรรม’, ‘รงค์ วงษ์สวรรค์, รยงค์ เวนุรักษ์, กลิ่นจันทร์ ชรี, วิชิต เพ็ญมณี, อรอุษา ทิพาลัฏฐิ์, ส. ทรัพย์นิรันดร์, ณรงค์ จันทร์เรือง, จ่าง ตั้ง (หรือ จ่าง แซ่ตั้ง), ‘รุ่ง ฤทัย’ นามปากกาของ เพ็ญแข ศุกรสูยานนท์ มิเว้นกระทั่งสองหนุ่มที่ชอบเขียนหนังสือเยี่ยง ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ผมสังเกตว่าสัญลักษณ์บนปกหนังสือและนิตยสารของคณะยานเกราะจะปรากฏภาพใบหน้าผู้ชายสวมหน้ากากสีดำอยู่บริเวณหัวชื่อหนังสือ มีคำว่า ‘สายปนัดดา’ อยู่ใต้ภาพ อันเป็นชื่อของบริษัทจำกัดและสำนักพิมพ์


สัญลักษณ์บนปกหนังสือและนิตยสารของคณะยานเกราะ


วัฒน์ วรรลยางกูร หรือนามเดิมคือ เด็กชายวีรวัฒน์ โปรดปรานการอ่านหนังสือและใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนมาแต่วัยเยาว์ ปลายทศวรรษ 2500 เขาเริ่มริเขียนกลอนรักมอบให้เพื่อนนักเรียนหญิง พร้อมๆ กับจัดทำหนังสือเขียนขึ้นด้วยลายมือเพื่อแจกให้ผองเพื่อนในชั้นเรียนเวียนกันอ่าน ทั้งยังเขียนเรื่องสั้นส่งไปลงในหนังสือโรเนียวของโรงเรียนที่คณะครูจัดทำ ใช้นามปากกา ‘วัฒนู บ้านทุ่ง’ ขณะเดียวกัน เขาขยันเขียนกลอนและเรื่องสั้นส่งไปให้นิตยสารฉบับต่างๆ พิจารณา ไม่ว่าจะเป็น ชัยพฤกษ์ หรือ ฟ้าเมืองไทย ทว่าล้วนลงตะกร้า ไม่ผ่านการอนุญาตให้ตีพิมพ์ของท่านบรรณาธิการ

ยานเกราะ เป็นอีกหนึ่งนิตยสารที่เด็กชายวีรวัฒน์ส่งเรื่องสั้นไปให้พิจารณาจำนวนทั้งหมด 4 เรื่อง ห้วงเวลานั้นบรรณาธิการผู้มีหน้าที่คัดสรรคือนักเขียนหญิงนามกระเดื่องแห่งทศวรรษ 2490 เยี่ยง ธิดา บุนนาค ซึ่งเธอยังเป็นนักจัดรายการ ถนนนักเขียน ประจำสถานีวิทยุยานเกราะด้วย ครั้นธิดาอ่านต้นฉบับเรื่องสั้นของเด็กหนุ่มมัธยมต้น (อายุประมาณ 14-15 ปี) อย่างเอาใจใส่แล้ว จึงติดต่อกลับทางไปรษณีย์ชี้แนะให้แก้ไขเพิ่มเติมจุดต่างๆ มากมาย เด็กหนุ่มยินดีทำตาม  เขาเรียกขานเธอว่า ‘คุณป้าธิดา’

กระทั่งที่สุด เรื่องสั้นชื่อ ‘คนหากิน’ ก็ผ่านพิจารณา ได้รับเลือกให้ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ยานเกราะ ปีที่ 8 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2513 ผู้เขียนใช้นามว่า วัฒนู

(ในหนังสือรวมงานเขียนของวัฒน์ชื่อ ความหวังเมื่อเก้านาฬิกา ออกเผยแพร่ช่วงต้นทศวรรษ 2520 ให้ข้อมูลผิดพลาดว่า เรื่องสั้นชื่อ ‘คนหากิน’ ลงพิมพ์ในนิตยสาร ยานเกราะ เดือนมกราคม พุทธศักราช 2513)

เดือนมีนาคมปีเดียวกัน เด็กชายวีรวัฒน์แห่งโรงเรียนวินิตศึกษา จังหวัดลพบุรี ยังเขียนจดหมายถึงกองบรรณาธิการหนังสือ เฟื่องนคร มีนาคม ๘๘ ที่จัดทำโดย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม



ถัดมาไม่นาน งานเขียนของ เด็กชายวีรวัฒน์ พลันทยอยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ทั้งบทกลอนที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร ชัยพฤกษ์,  เรื่องสั้น ‘ข้าวเย็นก้อนเดียว’ ลงพิมพ์ในนิตยสาร เสียงเยาวชน เดือนกันยายน พุทธศักราช 2513 พอล่วงเข้าต้นพุทธศักราช 2514 เรื่องสั้น ‘มุมหนึ่งของเมืองไทย’ ผ่านพิจารณาโดยบรรณาธิการนาม อาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ ‘เขาเริ่มต้นที่นี่’ ของนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย และผ่านลงพิมพ์อีกหลายเรื่องในปีเดียวกัน ทั้งเรื่อง ‘อาชีพสุดท้าย’ และเรื่อง ‘หกสลึง’ ส่งผลให้ชื่อเสียงของนักเขียนหนุ่มค่อยๆ อวลกลิ่นหอมฟุ้ง และเพื่อความสะดวกในการเบิกค่าเรื่อง เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อในบัตรประชาชนเป็น ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมเรื่อยมาถึงช่วงปลายทศวรรษ 2510 วัฒน์กลายเป็นนักเขียนเต็มตัว ก้าวเข้าทำงานในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ มีหนังสือของตนเองพิมพ์ออกมาหลายเล่ม เช่น ตำบลช่อมะกอก, นกพิราบสีขาว และ กลั่นจากสายเลือด จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักอ่าน ทว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์  6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519  วัฒน์ตัดสินใจหนีภัยการเมืองเลวร้ายเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อจัดตั้งว่า ‘สหายร้อย’ ก่อนจะออกจากป่ามาในช่วงทศวรรษ 2520 แล้วเลี้ยงชีพเป็นนักเขียนจวบหมดสิ้นลมหายใจ แม้ช่วงท้ายๆ ของชีวิตจะถูกการเมืองเล่นงานจนต้องลี้ภัยไปหลับตาตายห่างไกลบ้านเกิดถึงประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2565

ขอวกย้อนไปสาธยายถึงนิตยสาร ยานเกราะ ฉบับที่เด็กชายวีรวัฒน์ลงตีพิมพ์เรื่องสั้น ‘คนหากิน’ ก็ถือว่าเป็นฉบับที่ปรากฏผลงานของนักเขียนโด่งดังหลายคน เริ่มจากภาพปกฝีมือของ พันตรีสัญญา คล้ายจินดา (ยศขณะนั้น) ส่วนภาพประกอบในเล่มเป็นฝีมือของ พันตรีสัญญา, ประเทือง เอมเจริญ และ จัตวา กลิ่นสุนทร

พลิกเปิดหน้ากระดาษดูจะพบบทนำประจำฉบับชื่อ ‘มีนาคมรำพึง’ เขียนโดย เขียว ไข่กา, คอลัมน์ถามตอบ ‘ระเบียงนักอ่าน’ โดย ตีนตะขาบ, ‘ระเบียงภาพ’ โดย เมธาวี, ‘เรียงคะนึง’ ของ ลักษมณ, ‘ชมรมนักคิด’ โดย หลวงเมือง, ‘ระเบียงพ่อบ้าน’ โดย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม และ ‘ระเบียงนกกระจอก’ โดย กระจกฝ้า

ส่วนที่เป็นสารคดี สุจิตต์ วงษ์เทศ ใช้นามปากกา ‘ทองเบิ้ม บ้านด่าน’ เขียนเรื่อง ‘แนบพื้นสุวัณณภูมิ’, จตุพร รัตแพทย์ เขียนเรื่อง ‘นกพิราบ’, ณรงค์ จันทร์เรือง ใช้นามปากกา ‘เกลียว บางกอก’ เขียนเรื่อง ‘ไปขายเรื่อง’, วรา นิลพรรณ เขียนเรื่อง ‘โลงผี’, รำเพย เทพศิริ เขียนเรื่อง ‘สาลิกา ๙๐๙’, แวว วินิจ เขียนเรื่อง ‘ย่องเบา’ และ เพรา โพยม เขียนสารคดีย่อยเรื่อง ‘จากห้องสมุดยานเกราะ’

ส่วนของกวีพจน์ (บทกวี) ทวีสุข ทองถาวร เขียน ‘บทเพลงแห่งความรัก’, พันธุ์ พงศ์นรา เขียน ‘รั้วของชาติ’, จ่าง ตั้ง (หรือ จ่าง แซ่ตั้ง) เขียน ‘ดื่มคนเดียวใต้ดวงจันทร์’, ขันธกุมาร (คาดว่าน่าจะเป็นนามปากกาของ ขรรค์ชัย บุนปาน) เขียน ‘ศึก’ และ นภาลัย สุวรรณธาดา นักกลอนหญิงเขียนถึงสองชิ้นงาน ได้แก่ ‘แม่…’ และ ‘เพลงชาติ’

ควรกล่าวด้วยว่า บทกวี ‘เพลงชาติ’ นั้น ตราบทุกวันนี้ยังมีการเอ่ยท่องกันแพร่หลาย ยิ่งเฉพาะวรรคทอง “แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไทยร้าวใจเหลือ คือเลือดเนื้อเป็นหนอนคอยบ่อนไส้ บ้างหากินบนน้ำตาประชาไทย บ้างฝักใฝ่ลัทธิชั่วน่ากลัวเกรง ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง”

ส่วนของเรื่องสั้น นอกเหนือจากงานของวัฒนู ก็ยังมี ‘ไฟคลั่ง’ เขียนโดย รยงค์ เวนุรักษ์, ชิน ดนุชา (นามปากกาของ วิชิต เพ็ญมณี) เขียน ‘พ่อหม้าย’, เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เขียน ‘เหล็กเปื้อนเนื้อ’, กิตติศักดิ์ เขียน ‘เลือดแค้น’ และ อร อุษา เขียน ‘รังแขกับผัวแก่’

เรื่องสั้น ‘คนหากิน’ ของวัฒนู เปิดฉาก ณ สถานศึกษาสำหรับเด็กเล็กเมื่อเปิดเทอม

“วันเปิดเรียนวันแรก

โรงเรียนอนุบาลจึงออกจะมีคนขวักไขว่เป็นพิเศษ

พ่อแม่มาส่งลูกเล็ก

บ้างก็วางมาดบนรถเก๋ง  บ้างก็เดินจูงมา  แต่ทั้งหมดนั้นกว่าจะกลับได้ก็ต้องเสียเวลาโอ้โลมกันอยู่นาน”

จากนั้น  ก็ให้ผู้อ่านยินเสียงพ่อกับแม่ของเด็ก เช่น เสียงของคุณนายวัยกลางคนร่างอ้วน “เย็นๆ แม่มารับจ้ะ อย่าขี้แยซิ คนดี คุณครูใจดี๊ใจดี”  และเสียงของพ่อที่ว่า “แล้วพ่อจะซื้อตุ๊กตาให้ใหม่ เสื้อสวยๆ ด้วยถ้าหนูอยู่กับคุณครู”

ด้านคุณครูสาวแสดงท่าทีเอาใจเด็กน้อย รวบร่างน่ารักขึ้นมาอุ้ม พร้อมพูด “อยู่กับคุณครูนะคะ เดี๋ยวครูมีขนมแจกแยะเชียว” แต่เด็กน้อยแผดเสียงร้องกระจองอแงยิ่งกว่าเดิม

ผู้เขียนบรรยายต่อ

“พ่อและแม่ยิ้มก่อนจะผละเดินออกไปขึ้นรถเก๋งคันโอ่อ่า หัวใจที่ไม่เคยว้าเหว่และไม่เคยขาดความอบอุ่นบงการให้เด็กหญิงน้อยๆ ยิ่งดิ้นรนและร้องไห้กระชากกระชั้น ใบหน้าของมารดาที่เคยจูบจอมถนอมเกล้าหันมาโบกมืออำลาบนรถที่กำลังเคลื่อนห่างออกไปลอยพร่าอยู่ในม่านน้ำตาใสแจ๋ว”

คุณครูสาวปลอบประโลมเด็กน้อยสักครู่ใหญ่ จึงปล่อยให้ไปอยู่รวมกับเพื่อนๆ นักเรียนวัยเดียวกัน

ทันใดนั้น ปรากฏ “…แม่ลูกอีกคู่หนึ่ง  แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่าปอน ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากครูเหมือนคู่แรก  แม่ปลอบอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะจากไป  แล้วแม่หนูผู้ไร้เดียงสาก็ยืนร้องไห้”

การหลั่งน้ำตาของเด็กน้อยคนหลังนี้ “ไม่เดียวดายหรอก เพราะยืนร้องไห้อยู่ท่ามกลางแสงแดด  และสรรพสำเนียง ทั้งทุกข์ตรม  และเฮฮาร่าเริงของเยาวมิตรหน้าใหม่”

แต่ “มันจะอบอุ่นและสุขสันต์เหมือนอ้อมกอดแม่แล้วละหรือ”

ภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวดำเนินมาจวบจน

“เด็กหญิงเช็ดน้ำตาและเดินสะทกเข้าไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และเมื่อนัยน์ตาดำแจ่มสองคู่สบกัน

เหมือนมีอะไรบางอย่างมาถักทอหัวใจไร้เดียงสาของทั้งคู่มาอยู่เรียงเคียงแนบ รอยยิ้มจรัสที่ผลิให้แก่กันครั้งแรกนั้น  สดใสและชุ่มชื่นเข้าไปไหนต่อไหน ความว้าเหว่ค่อยเหือดหายไป…”

เด็กหญิงคนที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าปอนๆ ผูกมิตรโดยเอ่ยปากกับเด็กหญิงคนที่เป็นลูกสาวคุณนายร่างอ้วนทำนอง “รถของเธอซ้วยสวย คงนั่งสบายจังนะ ฉันได้นั่งบ้างก็ดี”  หากอีกฝ่ายตอบกลับ “อื้อ ฉันไม่เห็นชอบเลย ฉันอยากเดินมาเหมือนเธอมากกว่า” นั่นเพราะ “…ฉันอยากเดินมาด้วยขาตัวเองแล้วมีแม่ฉันจูงมือฉันเหมือนอย่างที่แม่เธอจูงเธอเมื่อตะกี้ ฉันไม่ชอบให้แม่ฉันหรือใครมาอุ้มเหมือนกับฉันเป็นคนขาหัก ฉันอยากเดินให้แม่ได้ดู แม่จะได้รู้ว่าฉันก็เก่งเหมือนกัน”

เด็กหญิงคนที่มิได้นั่งรถมาโรงเรียน ถามถึงตุ๊กตาที่พ่อของเด็กหญิงอีกคนจะซื้อให้ เด็กหญิงผู้มีตุ๊กตาหลายตัวว่า “…แต่ฉันเบื๊อเบื่อ ฉันจะเอามาให้เธอมั่ง เอาไหม” 

เด็กหญิงในชุดนักเรียนเก่าๆ เบิกตากลมโต ดีใจที่จะได้ตุ๊กตา แต่เธอสิ กลับไม่มีอะไรจะมอบให้เด็กหญิงอีกคน เพราะ “แม่จน ฉันมีแต่ดอกไม้เธอจะเอาไหม”

ดอกไม้สีขาว สีแดง และสีเหลือง แม่ของเธอปลูกเองกับมือ

ลูกสาวคุณนายตอบ “ถ้าเป็นของเธอ เอาทั้งนั้นแหละ ฉันชอบเธอ”

และ “คงสวยกว่าดอกไม้ที่บ้านฉัน เพราะที่บ้านฉัน ฉันกับแม่ไม่ได้ปลูก คนสวนเขาปลูก แม่ฉันชอบขี้ตู่ว่าเป็นของเรา ที่ถูกมันต้องเป็นของคนสวนเขา เขาปลูก เขารดน้ำของเขานี่”

เด็กหญิงที่มีแม่ยากจนยังอยากคุยต่อ “เธอนี่ดีนะ  มีแต่คนคอยเอาใจ  คุณครูก็เอาใจเธอเพราะเธอรวย  พ่อแม่เธอก็รวย”

ลูกสาวคุณนายบ่น “ไม่เห็นดีเลย บางคนที่อุ้มฉันตัวเหม็นออก ฉันเหม็นจนร้องไห้ ฉันรำคาญ  ฉันอยากเป็นเธอ ไม่ต้องมีใครมากวนใจ” พร้อมเสนอความคิด “ถ้ามีฤทธิ์อย่างในหนังก็ดีซินะ เราจะได้เปลี่ยนตัวกัน เธอเป็นฉัน ฉันเป็นเธอ”

เด็กหญิงในชุดนักเรียนปอนๆ พูดขึงขัง “เอาไหมล่ะ ฉันจะเสกให้” บอกเพื่อนใหม่ให้หลับตาลง พลางทำเสียงงึมงำ สาธยายร่ายมนตร์ พออีกฝ่ายลืมตา พบว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ตรงนี้ วัฒนูอาศัยถ้อยคำวาดภาพอย่างเปี่ยมชีวิตชีวา “เสียงหัวเราะของเด็กทั้งสอง  สอดบรรสานกันราวกับเสียงน้อยๆ ของนกที่ร้องเพลงกันอยู่ในสวนดอกไม้”

ลูกสาวคุณนายว่า “นี่เธอหลอกเก่งจังนะ”  เด็กหญิงคนที่แม่ยากจนขยับริมฝีปาก “แม่บอกว่าคนสมัยนี้เขาชอบหลอกกัน  ฉันก็เลยหัดหลอกเอาไว้”

มือผอมเกร็งเอื้อมจับข้อมืออวบอ้วน เด็กหญิงคนที่แม่ปลูกดอกไม้เองมิสิ้นสงสัย เลยถามอีก ทำไมทั้งพ่อแม่และเพื่อนใหม่ของเธอจึงอ้วน คำตอบของลูกสาวคุณนายคือ เพราะกินเยอะ มีเงินซื้อของกิน แม้จะไม่รู้ว่าพ่อของตนทำงานอะไร เพราะ “…เช้าก็แต่งตัวขับรถออกไป เย็นก็กลับ บางวันก็ไม่ไป แต่บางทีก็หายไปสองสามวันถึงได้กลับ” แต่พอ “…ถึงวันเสาร์วันอาทิตย์พ่อมักจะขับรถพาแม่กับฉันไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไม่ก็ชายทะเล แต่บางทีก็ไปดูหนัง” และ “….เราไปเช่าบ้านชายทะเลอยู่เหมือนบ้านของเราเอง อาบน้ำกันตลอดวันสบายดีจัง พอเบื่อเล่นน้ำก็ขึ้นมานอนบนหาดทราย กางร่มคันใหญ่สีสวย ฟังวิทยุไปพลางกินขนมไปพลาง ทะเลก็…โอ้โฮ กว้างออกไปถึงขอบฟ้าเลย”

คำบอกเล่าของเพื่อนที่มีข้อมืออวบอ้วนชวนให้เด็กหญิงคนที่มือผอมเกร็งจินตนาการภาพตาม เธอนึกอยากจะไปเที่ยวทะเลบ้าง ลูกสาวคุณนายจึงว่า “ก็รีบไปบอกให้พ่อแม่เธอพาไป เก็บๆ ตังค์ไว้ไม่กี่เดือนก็พอมั้ง แต่ถ้าเราไปพร้อมกันเลยก็ดี ฉันอยากให้เธอไปกับฉัน”

เด็กหญิงในชุดนักเรียนปอนๆ สีหน้าสลด เธอพูดเสียงแผ่ว “แต่พ่อฉันไม่มีหรอก  แม่ฉันก็จน  ชาตินี้ฉันไม่มีหวังได้ไปเที่ยวที่ไหนอย่างใครๆเขาหรอก”

 เด็กหญิงเจ้าของข้อมืออวบอ้วนแย้ง “อะไร ไม่จริงหรอก เธอต้องมีพ่อ” เพราะ “….ฉันเห็นใครๆ เขาก็มีพ่อกันทั้งนั้นแหละ  แม่เธอไม่บอกเธอหรือว่าใคร  ชื่ออะไรเป็นพ่อเธอ”

เด็กหญิงมือผอมเกร็งบอก “ฉันมีพ่อหลายคน”

เด็กหญิงลูกสาวคุณนายย้ำ  “เธอมีพ่อหลายคนก็ดี  ยิ่งดีใหญ่เลย จะได้ขอตังค์ไปเที่ยวได้มากๆ  ขอแต่แค่พ่อคนที่แม่เธอจำได้ก็พอถมเถแล้ว”  หากเด็กหญิงลูกสาวคนจนยืนยัน “ไม่มีทางหรอก  แม่คงไม่ยอมบอกอีกละว่าใครบ้างเป็นพ่อฉัน  ฉันถามตั้งหลายหนแล้วรู้หรือเปล่า?”

“เดี๋ยวนี้แม่เธอทำงานอะไร?” คำถามต่อมาจากลูกสาวคุณนาย ซึ่งลูกสาวคนจนให้คำตอบ “ฉันก็ไม่รู้  แต่เห็นคนข้างบ้านเขาชอบพูดกันว่าแม่ฉันเป็นผู้หญิงหากิน พวกเขาเกลียดแม่ฉันแล้วก็พาลเกลียดฉันด้วย เขาหาว่าแม่ฉันเป็นผู้หญิงหากิน”

นิ่งฟังแล้ว เด็กหญิงข้อมืออวบอ้วนที่มีแม่เป็นคุณนายจึงกล่าวแบบซื่อใสบริสุทธิ์

“พวกชาวบ้านนี่แปลกจังเลยนะ คนหากินดีๆ ก็ว่าหน้าด้าน แม่เธอยังหากินได้ดีกว่าแม่ฉันเสียอีก แม่ฉันหากินเองไม่ได้ต้องให้พ่อหาคนเดียว ถ้าไม่มีพ่อ แม่กับฉันคงอดตายแน่ แม่เธอเก๊งเก่งนะ เธอไม่ต้องมีพ่อก็ได้”

วัฒนูปิดฉากเรื่องสั้นโดยให้ผู้อ่านแลเห็นความรู้สึกของเด็กหญิงมือผอมเกร็งที่กำลังยิ้มอย่างภาคภูมิและ “นัยน์ตาดำขลับและสุกใสนั้นสิ้นแววฉงน อยากให้แม่มาเร็วๆ จะกอดให้ขาดใจตายเลยเชียว”

เรื่องสั้นแจ้งเกิดของเด็กชายวีรวัฒน์ในยานเกราะ สะท้อนเรื่องราวของหญิงโสเภณีหรือผู้หญิงหากินผ่านการสนทนาเจื้อยแจ้วอย่างไร้เดียงสาของเด็กหญิงวัยอนุบาลสองคน ซึ่งมีฐานะของครอบครัวและวิถีชีวิตประจำวันแตกต่างกันด้วยสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นการบอกเล่าถึงชะตากรรมของหญิงโสเภณีในเมืองไทยที่ถูกหมิ่นแคลนโดยมิพักต้องเอ่ยถึงคำว่า ‘โสเภณี’ เลย ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นภาพของคนรวยมีอันจะกินและคนยากจน รวมถึงการที่คนบูชาความรวยโดยมิต้องใช้ศัพท์แสงวิชาการหรือถ้อยคำคร่ำเครียด แต่คมคายอยูในเสียงเล่าของเด็กๆ ซึ่งโลกของ ‘คนตัวเล็ก’ เหล่านี้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากการเหยียดหยามเหยียบย่ำน้ำใจเหมือนที่พบกันในโลกของผู้ใหญ่ ทั้งนี้ก็อาจด้วยความที่ยังไม่ประสีประสา ทว่าเสียงของเด็กๆ ก็ชวนให้สะทกใจและใคร่ครวญขบคิด

ไม่แปลกเลยที่เรื่องสั้น ‘คนหากิน’ จะอยู่ในความสนใจของท่านบรรณาธิการ ธิดา บุนนาค จนเธอพิจารณาให้ผ่านลงตีพิมพ์ แม้วัฒนูจะต้องเพียรแก้ไขส่วนที่พร่องๆ หลายจุด

ธิดา เป็นนักเขียนหญิงคนแรกๆ ของไทยที่กล้าหาญเขียนวรรณกรรมแนวอีโรติกอันเปิดเผยความรู้สึกทางเพศของผู้หญิงอย่างเต็มที่และมิพักอายเหนียม ทั้งในงานเขียนและการใช้ชีวิตของธิดาล้วนท้าทายต่อกรอบศีลธรรมและจารีตเก่าๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ตัวละครผู้หญิงของเธอจึงสามารถแต่งตัวโป๊ตามใจตนเอง ต่อรองอำนาจทางกามารมณ์กับผู้ชาย เสพสมกับผู้หญิงด้วยกัน มิเว้นกระทั่งแสวงหาความสุขกับสัตว์ การที่ธิดาประกาศตัวชัดเจนเช่นนี้ จึงทำให้เธอถูกเพ่งเล็งในสายตาตำรวจและสายตาสังคมแบบขนบๆตลอดช่วงทศวรรษ 2490  ผลงานสำคัญของเธอ เช่น ร้อยพิศวาท (พิมพ์ครั้งแรกพุทธศักราช 2493 สร้างเป็นภาพยนตร์ปีพุทธศักราช 2494 ซึ่งธิดารับบทบาทเป็นนางเอกด้วย), คำสารภาพของหญิงสาว (พิมพ์ครั้งแรกพุทธศักราช 2494) และ มุมมืดของดิฉัน (พิมพ์ครั้งแรกพุทธศักราช 2496)

กระนั้นก็ตาม เท่าที่ผมเคยอ่านงานเขียนเชิงอีโรติกของธิดามาพอสมควร ท้ายที่สุด คงด้วยบริบทของสังคมไทยกระมัง เธอจึงยังไม่หลุดพ้นจากแนวคิดอนุรักษนิยมและยังมีเพดานที่มิอาจทะลุ ตัวละครหญิงในงานของธิดามักลงเอยด้วยการยินยอมเป็นแม่และเมีย ซึ่งความเห็นของผมดูจะสอดคล้องกับข้อเสนอในงานวิชาการที่ศึกษาถึงธิดาของราเชล แฮร์ริสัน (Rachel V. Harrison)


ธิดา บุนนาค


เมื่อเด็กชายวีรวัฒน์พยายามเสนอเรื่องราวของแม่ซึ่งเป็นผู้หญิงหากิน แต่มาส่งลูกสาวตัวน้อยให้มาเรียนหนังสือ แม้จะใครจะมองรังเกียจเดียดฉันท์ ทั้งยังหนักแน่นด้วยน้ำคำของเด็กหญิงลูกสาวคุณนายที่ว่า “พวกชาวบ้านนี่แปลกจังเลยนะ คนหากินดีๆก็ว่าหน้าด้าน แม่เธอยังหากินได้ดีกว่าแม่ฉันเสียอีก แม่ฉันหากินเองไม่ได้ต้องให้พ่อหาคนเดียว…”  ธิดาซึ่งเข้าใจหัวอกผู้หญิงที่ข้องเกี่ยวกับเรื่องเพศคงประทับใจในต้นฉบับเรื่องสั้น ‘คนหากิน’ ของเด็กหนุ่มมัธยมต้นที่ตั้งประเด็นคำถามขึ้นด้วยความรู้สึกค่อนข้างเห็นใจผู้หญิงที่เป็นโสเภณี ประกอบกับผมสังเกตว่าช่วงปลายทศวรรษ 2500 และต้นทศวรรษ 2510 งานเขียนหลายชิ้นที่เขียนถึงหญิงโสเภณีมักจะได้เผยแพร่ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ  นั่นละ วัฒนูจึงได้ผลิหน่อเนื้อในบรรณพิภพ

มิอาจปฏิเสธความจริงว่า วัฒน์ วรรลยางกูร แจ้งเกิดกับการเขียนหนังสือครั้งแรกในนิตยสาร ยานเกราะ ช่วงต้นทศวรรษ 2510 มีบรรณาธิการคนแรก คือธิดา บุนนาค นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ชักนำให้เด็กหนุ่มต่างจังหวัดได้เข้ามาเป็นนักเขียนในเมืองหลวง แต่พอล่วงสู่ปีสุดท้ายของทศวรรษ ก็เพราะสถานีวิทยุยานเกราะส่งเสียงบิดเบือนและปลุกปั่นใส่ร้ายขบวนการนักศึกษาจนก่อให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคมเขาต้องระหกระเหินจากเมืองหลวงไปเขียนหนังสือในป่าดงพงไพร

จังหวะชีวิตของวัฒน์ กับการดำรงอยู่ของยานเกราะ จึงมีความโยงใยกันเสียจนน่าทึ่ง !


เอกสารอ้างอิง

กระจกฝ้า,หลวงเมือง, ชิน ดนุชา. ดูรากุมารี. พระนคร: สายปนัดดา, 2513

ถนนหนังสือ. ปีที่ 3 ฉบับที่ 6 (ธันวาคม 2528)

ธิดา บุนนาค. มุมมืดของดิฉัน. ธนบุรี: ผดุงศึกษา, 2507

เฟื่องนคร มีนาคม ๘๘. พระนคร: ประพันธ์สาส์น, 2513

มาลา คำจันทร์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ชาติ กอบจิตติ, วัฒน์ วรรลยางกูร. แรกเริดล่าเล่น ๔x๔ = ๑๗.

กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า 2543, 2544

ยานเกราะ. ปีที่ 8 ฉบับที่ 3 (มีนาคม 2513)

วสันต์ชื่น. พระนคร: สายปนัดดา,2511

วัฒน์ วรรลยางกูร. ความหวังเมื่อเก้านาฬิกา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: รหัส, 2522

วัฒน์ วรรลยางกูร. หักมุมนั้นฉันใด. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า 2545, 2545

Harrison, Rachel. “ ‘A Hundred Loves’, ‘A Thousand Lovers’: Portrayals of Sexuality in the Work of

Thidaa Bunnaak.” Journal of Southeast Asian Studies 33, no.3 (October 2002): 451 –

470

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save