fbpx
อ่านเอสโตเนีย และบอลติก วศิน ปั้นทอง

อ่านเอสโตเนียและบอลติก กับ วศิน ปั้นทอง

ณรจญา ตัญจพัฒนกุล เรื่อง

 

 

“ชกข้ามรุ่น” คือคำที่วศิน ปั้นทองใช้นิยามความเป็นเอสโตเนีย หนึ่งในรัฐบอลติก (Baltic states) ซึ่งทะยานขึ้นมาอย่างโดดเด่นหลังจากได้รับเอกราชใหม่อีกครั้งเพียง 29 ปีเท่านั้นหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

เอสโตเนียขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการผนวกนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาก่อร่างสร้างชาติจนได้ชื่อว่าเป็น ‘e-Estonia’ ต้นแบบรัฐดิจิทัลที่โดดเด่นและน่าจับตามองมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่รัฐเล็กๆ ทางยุโรปเหนือก็ตาม

กระนั้นก็ดี ตั้งแต่สงครามเย็นเริ่มต้นจนถึงวันนี้ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียซึ่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยและพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดลทุนนิยมอย่างราบรื่น รวมทั้งยังเข้าส่วนหนึ่งของโลกเสรีนิยมใต้ร่มสหภาพยุโรปแล้ว ก็ยังคงเผชิญต่อความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ มีศัตรูคู่อริอย่างรัสเซียคอยจับจ้องอยู่ทางตะวันออกของภูมิภาคอยู่เสมอ

101 ชวน วศิน ปั้นทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ผู้สนใจศึกษาเอสโตเนียและรัฐบอลติก สนทนาไล่เรียงตั้งแต่เอกลักษณ์และความเฉพาะของภูมิบอลติก การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของรัฐ post-soviet รวมทั้งโฉมหน้า โอกาส และความท้าทายของรัฐดิจิทัลอย่างเอสโตเนีย จนไปถึงความสัมพันธ์อันขมขื่นระหว่างรัสเซียและรัฐบอลติก

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 One-On-One Ep.166 : อ่านเอสโตเนียและบอลติก กับ วศิน ปั้นทอง (บันทึกเทปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563)

 

ภูมิภาคบอลติก?

 

หลายคนเวลาได้ยินคำว่า ‘บอลติก’ อาจจะสับสนว่า ‘บอลติก’ หมายถึงภูมิภาค ‘บอลติก’ หรือว่าภูมิภาค ‘ทะเลบอลติก’ กันแน่

ที่จริงแล้ว ทั้งสองคำนี้หมายถึงบริเวณที่แตกต่างกัน หากใช้คำว่ารัฐบอลติกหรือ Baltic states จะหมายถึงเพียงแค่ประเทศเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน หากใช้คำว่าภูมิภาคทะเลบอลติก จะหมายถึงรัฐที่มีพรมแดนติดต่อกับทะเลบอลติก ซึ่งหมายรวมหลายประเทศมากกว่า

หากลองจำแนกประเทศที่มีพรมแดนติดทะเลบอลติก จะสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วย รัสเซีย โปแลนด์ และเยอรมนี กลุ่มที่สองคือกลุ่มประเทศขนาดกลาง ประกอบไปด้วยสวีเดน ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก และกลุ่มสุดท้ายคือประเทศขนาดเล็กซึ่งก็คือเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย หรือที่เรียกรวมๆ ว่า ‘บอลติกทั้งสาม’ หรือ ‘The Baltic Three’

เราจะเห็นโฉมหน้าของภูมิภาคทะเลบอลติกได้ชัดเจนขึ้นเมื่อมองผ่านกรอบประวัติศาสตร์ 4 ช่วง

ช่วงแรก ในช่วงศตวรรษที่ 13-16 ซึ่งตรงกับยุคกลาง ภูมิภาคทะเลบอลติกมีความสำคัญในฐานะเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมเศรษฐกิจและเครือข่ายการค้าทางทะเลภายใต้สันนิบาตฮันเซียติก (Hanseatic League) เส้นทางนี้ร้อยเรียงอนุภูมิภาคต่างๆ ในยุโรปเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันตก ไปจนถึงยุโรปเหนืออย่างสวีเดน เดนมาร์ก และลิโวเนียซึ่งคือบางส่วนของเอสโตเนียและลัตเวียในปัจจุบัน ที่สำคัญ เส้นทางเดินเรือที่ว่าก็ยังคงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญมาจนถึงปัจจุบัน

พอเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 18 สันนิบาตฮันเซียติกเริ่มถดถอยลง และผู้ที่พยายามเข้ามามีอำนาจแทนที่ในบริเวณนี้ก็คือจักรวรรดิรัสเซีย โจทย์ที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 18 คือโจทย์แห่งการช่วงชิงการเป็นเจ้าในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศมหาอำนาจ เพราะฉะนั้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา จะพบว่าจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งต่อมาคือสหภาพโซเวียตและรัสเซียในปัจจุบันเล่นบทบาทมหาอำนาจในภูมิภาคมาโดยตลอด

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1-2 และสงครามเย็น โจทย์ของภูมิภาคบอลติกได้กลายเป็นโจทย์ทางภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวคือในภูมิภาคทะเลบอลติกมีส่วนที่ติดม่านเหล็ก (iron curtain) ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหภาพโซเวียตอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นหลังบ้านของสหภาพโซเวียตเลยทีเดียว

หลังสงครามเย็นสิ้นสุด การบูรณาการระดับภูมิภาคภายใต้การนำของสหภาพยุโรปได้ก้าวเข้ามาในภูมิภาคทะเลบอลติก หลายประเทศที่เคยอยู่หลังม่านเหล็กของสหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่แน่นอนว่าอิทธิพลของรัสเซียก็ยังคงอยู่ ไม่ได้จางหายไปไหน ภูมิภาคนี้จึงกลายเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงอำนาจไปโดยปริยาย

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ขับเน้นให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภูมิภาคทะเลบอลติกกลายเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงอำนาจระหว่างสหภาพยุโรปและรัสเซียอย่างเข้มข้นคือ วิกฤตการณ์ไครเมียปี 2014 เมื่อรัสเซียผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนรัสเซีย นักวิชาการจำนวนมากกังวลว่าภูมิภาคทะเลบอลติกจะกลายเป็นพื้นที่ที่ความขัดแย้งครั้งใหม่ปะทุขึ้นอีกครั้ง เพราะเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต รวมทั้งยังมีประชากรเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอสโตเนียและลัตเวีย แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในสหภาพยุโรปและระเบียบความมั่นคงภายใต้กรอบ NATO เพราะฉะนั้น พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สหภาพยุโรปและ NATO ชนกับเขตอิทธิพลของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในระดับภูมิภาคนี้ไม่ได้กีดกันรัสเซียออกไปเสียทีเดียว แม้ว่าความร่วมมือจำนวนมากมักจะอยู่ในกรอบที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงหรือประเด็นทางการทหารก็ตาม อย่างเช่นประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือประเด็นด้านวัฒนธรรม กลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคอันหนึ่งที่สำคัญมากคือ The Council of the Baltic Sea States (CBSS) ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือที่ถูกตั้งขึ้นหลังจากสงครามเย็นยุติลงเพื่อเป็นเวทีระดับภูมิภาคให้ประเทศในภูมิภาคทะเลบอลติกมีพื้นที่พูดคุยบูรณาการประสานความร่วมมือกัน

 

The Baltic Three

 

สำหรับผม ประเทศสาธารณรัฐบอลติกทั้งสาม ซึ่งประกอบไปด้วยเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียมีความต่างกันมากกว่าที่จะเหมือนกัน มีนักวิชาการในภูมิภาคคนหนึ่งก็ได้กล่าวไว้ในทำนองเดียวกันอย่างน่าสนใจว่า “อย่างเดียวที่ทั้งสามประเทศมีร่วมกันคือ การอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทั้งสามประเทศนั้นมีความเหมือนอยู่เพียงประการเดียว แต่มีความแตกต่างกันอยู่มาก

ความต่างอย่างแรกคือ โครงสร้างของระบบการเมืองการปกครอง ลิทัวเนียปกครองด้วยระบอบกึ่งประธานาธิบดี ในขณะที่เอสโตเนียและลัตเวียปกครองภายใต้ระบอบรัฐสภาโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข (parliamentary republic) ทางเศรษฐกิจทั้งสามประเทศก็มีความต่างกันอยู่พอสมควร อย่างเอสโตเนียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกของ OECD ส่วนลิทัวเนียและลัตเวียตามเข้าไปทีหลัง ในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการก่อร่างสร้างรัฐสมัยใหม่ ปรากฏว่าลิทัวเนียกับโปแลนด์มีความใกล้ชิดกันมากกว่าเพราะครั้งหนึ่งเคยอยู่ร่วมกันภายใต้เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย (Polish–Lithuanian Commonwealth) ในช่วงศตวรรษที่ 16-18 ในขณะที่เอสโตเนียได้รับอิทธิพลจากเยอรมนีมากกว่า หรืออย่างเรื่องภาษา ภาษาเอสโตเนียจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษา Finno-Ugric ซึ่งมีความใกล้เคียงกับภาษาฟินนิชระดับหนึ่ง ในขณะที่ภาษาลัตเวียนและลิทัวเนียนจัดอยู่ในกลุ่ม Balto-Slavic ซึ่งต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

 

‘บอลติกทั้งสาม’ ในโลกหลังโซเวียต

 

ผมคิดว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยหลักที่เป็นพลังเกื้อหนุนให้เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียต่างก็เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

อันที่จริง หากจะมองเรื่องการเปลี่ยนผ่านให้ลุ่มลึกลงไปอีก ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนั้น มีทั้งช่วงที่เรียกว่าช่วงเปลี่ยนผ่านและช่วงที่ระบอบประชาธิปไตยลงหลักตั้งมั่นโดยไม่หวนย้อนกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยม ซึ่งแม้ว่าทั้งสองส่วนนี้จะมีส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ แต่การเปลี่ยนผ่านก็ไม่ใช่โจทย์เดียวกันกับการลงหลักตั้งมั่นที่ไม่หวนย้อนกลับ เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะขอเน้น 3 ปัจจัยที่มีอิทธิพลส่งผลต่อเส้นทางการเปลี่ยนผ่านของทั้งสามประเทศ ณ เวลานั้น

อย่างแรก ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ที่ทั้งสามประเทศได้รับเอกราช วาทกรรม ‘หวนคืนสู่โลกตะวันตก’ (‘Return to the West’) เป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ทรงพลังมาก ผู้นำทางการเมืองของทั้งสามประเทศเชื่อว่าเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียไม่เคยตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียหรือสหภาพโซเวียต เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติ การหวนคืนสู่โลกตะวันตกก็นำมาสู่การที่ทั้งสามประเทศตั้งหมุดหมายไว้ว่าจะต้องร่วมกระบวนการบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป แต่การสมัครเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องผ่านเงื่อนไขในการเข้าเป็นสมาชิก หรือที่เรียกว่า EU Conditionality ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขทางการเมืองที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้คือ ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยที่ลงหลักตั้งมั่น เคารพหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในช่วงเวลานั้น ทั้งสามประเทศพร้อมที่จะลงพลังทางการเมืองปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับกฎกติกาของสหภาพยุโรป ซึ่งท้ายที่สุด การปฏิรูปก็เกื้อหนุนให้ทั้งสามประเทศสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก เพราะฉะนั้น เราสามารถมองได้ว่าวาทกรรม ‘หวนคืนสู่ยุโรป’ และการบูรณาการสหภาพยุโรปเป็นสองปัจจัยที่ทำงานควบคู่กันไป โดยที่ วาทกรรม ‘หวนคืนสู่ยุโรป’ เป็นแรงผลักจากภายใน ในขณะที่ EU Conditionality เป็นแรงผลักจากภายนอก

อย่างที่สอง กองทัพไม่ได้มีบทบาทในกระบวนการเปลี่ยนผ่านของทั้งสามประเทศมากนัก แต่เป็นรัฐบาลพลเรือนที่ขีดเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งยังมีการตรวจสอบควบคุมกองทัพอีกด้วย แม้ว่าเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียจะกังวลเรื่องความมั่นคงตลอดเวลา เพราะกลัวว่ารัสเซียจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน แต่กองทัพก็ไม่แทรกแซงการปฏิรูปที่นำโดยรัฐบาลพลเรือนพร้อมให้การสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว

อย่างที่สาม กระบวนการจัดการชนกลุ่มน้อยเชื้อสายรัสเซียซึ่งย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียตั้งแต่สมัยโซเวียตนั้น ไม่ได้นำไปสู่การลุกฮือต่อต้านหรือขอแยกตัวออกไปในช่วงเปลี่ยนผ่านจนต้องทั้งสามประเทศต้องแบ่งพลังทางการเมืองที่จะลงไปกับการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมาแก้โจทย์ปัญหาชนกลุ่มน้อยที่รุนแรง ปัจจัยนี้อาจเห็นไม่ชัดเท่าไหร่ในกรณีลิทัวเนียซึ่งมีสัดส่วนชนกลุ่มน้อยรัสเซียต่ำกว่า 10% แต่จะชัดเจนในกรณีเอสโตเนียและลัตเวียที่มีประชากรเชื้อสายรัสเซียเกือบ ¼ ของประชากร

เอสโตเนียแก้โจทย์นี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยการกำหนดกฎหมายให้สัญชาติแบบมีเงื่อนไขว่าจะต้องผ่านการทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาเอสโตเนียและความเข้าใจเกี่ยวกับเอสโตเนีย ซึ่งแม้ว่าในระยะแรกจะสร้างความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับประชากรเชื้อสายรัสเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประชากรส่วนมากในสมัยโซเวียตก็ตาม แต่นโยบายเช่นนี้ไม่ได้นำไปสู่การลุกฮือที่รุนแรงนองเลือดจนหักเหเส้นทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

 

เส้นทางสู่ ‘e-Estonia’

 

เป็นที่รู้กันดีว่าเอสโตเนียมีความโดดเด่นในการนำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาพัฒนาประเทศ เหตุที่เอสโตเนียเลือกใช้เทคโนโยลีดิจิทัลในการสร้างรัฐและบริหารกลไกจัดการภาครัฐ เพราะรัฐบาลแรกที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของมาร์ต ลาร์ (Mart Laar) มองว่าเอสโตเนียจะต้องไม่เพียงปฏิรูปประเทศเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาอย่าง ‘ก้าวกระโดด’ (‘leapfrogging’) มาร์ต ลาร์ได้กล่าวไว้เองเสียด้วยซ้ำว่า เพราะเขายังอายุน้อย มีอายุเพียง 32 ปีเท่านั้นตอนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (1992-1994) จึงกล้าที่จะนำ ‘ไอเดียบ้าๆ’ (‘crazy ideas’) มาจัดการบริหารภาครัฐ ประกอบกับในทศวรรษที่ 1990 เริ่มมีอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ (commercial internet) แล้ว รวมทั้งเอสโตเนียยังต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและโจทย์ว่าด้วยการทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้ ปัจจัยภายในเหล่านี้เองจึงเอื้อให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นทางเลือกในการจัดการภาครัฐ

และเมื่อมองออกไปรอบข้างเอสโตเนีย จะพบว่ามหามิตรทั้งสองของเอสโตเนียซึ่งก็คือสวีเดนและฟินแลนด์ ล้วนเป็นประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากในช่วงทศวรรษ 1990 (อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งโนเกียและอีริกสันเคยรุ่งเรืองมาก) ในช่วงที่เอสโตเนียเพิ่งประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต สวีเดนและฟินแลนด์ก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ท้ายที่สุด ทั้งการที่เอสโตเนียเองต้องการจะพาประเทศก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยี ผสานกับความช่วยเหลือจากมหามิตร ประตูก็เลยเปิดให้เอสโตเนียเข้าไปอยู่ใน innovation chain ของภูมิภาคยุโรปเหนือ

เมื่อสร้างรัฐดิจิทัลสำเร็จแล้ว อีกโจทย์สำคัญหนึ่งที่เอสโตเนียในขณะนั้นต้องเผชิญและแก้โจทย์ได้สำเร็จในท้ายที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้รัฐดิจิทัลคงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศคือ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล วาระทางการเมืองก็เปลี่ยนจนนำไปสู่การปรับแนวทางการปฏิรูปประเทศให้ไปในทิศทางอื่น แต่ในกรณีของเอสโตเนีย การสร้างและพัฒนารัฐดิจิทัลไม่เคยหายไปจากวาระทางการเมือง แม้ว่ามาร์ต ลาร์จะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองอีกครั้งในปี 1999-2002 แต่หลังจากนั้น ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล หรือว่ามีรัฐบาลผสม แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันคือ ต้องการพัฒนาเอสโตเนียให้กลายเป็นรัฐดิจิทัล การพัฒนารัฐดิจิทัลของเอสโตเนียจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น

 

เผยโฉมหน้า e-Estonia

 

โฉมหน้ารัฐดิจิทัลของเอสโตเนียนั้นมีหลายมิติมาก แต่ในที่นี้จะยกให้เห็นในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

สำหรับโฉมหน้าทางการเมือง เอสโตเนียได้นำระบบลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่รู้จักกันในนาม i-Voting มาใช้เป็นที่แรกของโลกเพื่อเพิ่มทางเลือก จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นควบคู่ไปกับการเปิดคูหาหย่อนบัตรตามปกติ โดยกำหนด pre-voting time frame หรือช่วงเวลาก่อนเปิดคูหาจริงเพื่อให้ประชาชนเลือกลงคะแนนผ่านระบบออนไลน์ได้ หรือหากอยากไปหย่อนบัตรที่คูหาในวันเลือกตั้งจริง ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ถ้าถามว่าระบบนนี้เป็นที่นิยมและบรรลุจุดประสงค์หรือไม่ สถิติตั้งแต่ปี 2007 หลังเปิดระบบ i-Voting จนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2019 ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงคะแนนผ่านระบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งระดับชาติ หรือการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป (European Parliament)

นอกจากนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) ก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่จนกีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ให้ใช้ระบบ i-Voting โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะรัฐบาลจัดฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ผู้ที่ต้องการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกสิ่งที่สังเกตได้คือ ตั้งแต่มีการนำระบบ i-Voting มาใช้ ยังไม่มีการประท้วงระบบ หรือมีปัญหาว่าคนไม่สามารถเข้าถึงระบบได้ นี่ก็เป็นสัญญาณว่าประชาชนสนับสนุนระบบนี้เป็นอย่างดี

สำหรับโฉมหน้าทางเศรษฐกิจและการลงทุน ในปี 2014 ที่ผ่านมา เอสโตเนียเพิ่งออกนโยบาย e-Residency เพื่อดึงดูดนักลงทุนศักยภาพสูงจากทั่วโลกให้มาลงทุนที่เอสโตเนียโดยการเปิดให้นักลงทุนลงทะเบียนสมัครเป็นพลเมืองออนไลน์ ซึ่งสิทธิที่พลเมืองออนไลน์จะได้รับคือ สามารถเข้ามาลงทุนในเอสโตเนียและใช้โครงสร้างพื้นฐานและบริการทางดิจิทัลของเอสโตเนียได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาลงทุนถึงที่เอสโตเนีย หากไม่นับถึงการทลายข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายคนแล้ว อัตราภาษีของเอสโตเนียยังน่าดึงดูดเป็นอย่างมากอีกด้วย

ส่วนโฉมหน้าสังคมดิจิทัลของเอสโตเนียจะเห็นได้ผ่านการใช้นโยบาย ‘พยัคฆ์ทะยาน’ (Tiger Leap หรือ Tiigrihüpe ในภาษาเอสโตเนีย) เพื่อสร้างสังคมดิจิทัลที่ประชากรมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างรัฐดิจิทัล ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลเดินหน้าสร้างสังคมดิจิทัล หรือที่สมัยนั้นเรียกว่าสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร (information society) ด้วยการติดอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศ ท้ายที่สุด นักเรียนที่มีโอกาสหัดใช้เทคโนโลยีในโรงเรียนก็กลายเป็นพลเมืองที่มีทักษะความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital literacy)

โฉมหน้าของรัฐดิจิทัลในมิติต่างๆ นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากรัฐไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน นี่คือโจทย์ที่ภาครัฐจะต้องตอบประชาชนให้ได้ว่าการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลนั้นโปร่งใส่ตรวจสอบได้ และระบบออนไลน์มีความปลอดภัยพอที่จะไม่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือไม่ถูกจารกรรมข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบอย่างง่ายดาย เพราะแน่นอนว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่จะนำไปใช้ในระบบออนไลน์ย่อมเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (data privacy) หรือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security)

อย่างหนึ่งที่เอสโตเนียทำเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจคือ ให้ระบบฐานข้อมูลแจ้งเตือนประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลว่ากระทรวงหรือหน่วยงานรัฐหน่วยงานไหนดึงข้อมูลอะไรไปใช้บ้าง และดึงไปใช้เมื่อไหร่ ประชาชนสามารถ login เข้าไปในระบบเพื่อดูประวัติการดึงข้อมูลได้ตลอดเวลา

อย่างที่สองที่เอสโตเนียทำเพื่อตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์คือ สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าเมื่อถูกโจมตีทางไซเบอร์ รัฐจะสามารถรับมือและกู้สถานการณ์ได้ อย่างในปี 2007 เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าเอสโตเนียถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ เว็บไซต์ส่วนหนึ่งของภาครัฐถูกโจมตี แต่สิ่งที่รัฐบาลเอสโตเนียทำคือ กู้สถานการณ์อย่างรวดเร็วด้วยความช่วยเหลือของ NATO และประเทศพันธมิตร จากกรณีนี้ ประชาชนจึงเชื่อใจและเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าจะสามารถรับมือกับภัยความมั่นคงไซเบอร์ได้ในอนาคต

เมื่อมองไปที่เพื่อนบ้านรัฐบอลติกทั้งสองที่เหลือ ทั้งลัตเวียและลิทัวเนียมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ต่างจากเอสโตเนียมากนัก เรียกได้ว่าทั้งสามประเทศอยู่ใน cluster เดียวกันเสียด้วยซ้ำ อย่างถ้าเราดู Digital Readiness Index จะพบว่าคะแนนของเอสโตเนียอยู่ที่ 17 คะแนน ส่วนคะแนนของลัตเวียและลิทัวเนียอยู่ที่ 15 คะแนน และถ้าเราไปดูการจัดอันดับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2018 เอสโตเนียถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความั่นคงทางไซเบอร์มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ในขณะที่ลิทัวเนียอยู่ที่อันดับที่ 6 และลัตเวียอยู่อันดับที่ 12 ของโลก แต่ลัตเวียกับลิทัวเนียไม่ได้ผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนารัฐเท่ากับเอสโตเนีย รวมทั้งเอสโตเนียยังทำ national branding ด้วยตราเครื่องหมายการค้า e-Estonia เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบกันแล้ว เอสโตเนียจึงมีความโดดเด่นในแง่นี้มากกว่าทั้งสองประเทศอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ความท้าทายและโอกาสของ e-Estonia

 

หากมองในบริบทร่วมสมัย ความท้าทายของเอสโตเนียอยู่ตรงที่ว่า การพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่มาก ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่มากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เอสโตเนียได้วางแผนรับมือต่อความเสี่ยงตรงส่วนนี้ได้อย่างน่าสนใจด้วยการตั้ง virtual embassy ในลักเซมเบิร์ก ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีขีดความสามารถทางไซเบอร์สูงมาก สิ่งที่เอสโตเนียทำคือ ฝากข้อมูล sensitive สำรองไว้ใน server นอกประเทศ นี่คือแผนสำรองในกรณีที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์อีกในอนาคต เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก ก็ยังมีข้อมูลสำรองไว้ที่ลักเซมเบิร์กอีกที่หนึ่ง

อีกความท้าทายหนึ่งที่เอสโตเนียเผชิญพร้อมกับหลายประเทศทั่วโลกคือ การบิดเบือนข้อมูล (disinformation) หรือข่าวปลอม (fake news) ซึ่งย่อมมาพร้อมกับการใช้โซเชียลมีเดียหรือแฟลตฟอร์มอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์เฉพาะของเอสโตเนียคือ การบิดเบือดข้อมูลจากทางฝั่งรัสเซีย ซึ่งทุกวันนี้ประชากรเชื้อสายรัสเซียในเอสโตเนียก็ยังคงติดตามรับข่าวสารภาษารัสเซียอยู่

ในทางกลับกัน ในโลกที่พื้นที่ดิจิทัลกำลังทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกขณะก็กลายเป็นโอกาสของเอสโตเนียในหลายมิติ

อย่างแรก ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เอสโตเนียลงทุนไปทำกับการทำ national branding ผ่านเครื่องหมายการค้า e-Estonia อย่างมากถึงขั้นที่ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศอื่น มีการเปิดให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูงานในประเทศ เมื่อโลกหันเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ตรงนี้คือโอกาสของเอสโตเนียที่จะนำเครื่องหมายการค้า ‘e-Estonia’ ไปประทับในหลายประเทศมากยิ่งขึ้น เอสโตเนียสามารถใช้ know-how ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลดำเนินการทูตผ่านการสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยีดิจิทัล แบ่งปันความรู้ให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ช่วยยกระดับสถานะของเอสโตเนียในเวทีระหว่างประเทศ และทลายข้อจำกัดในการดำเนินโยบายการต่างประเทศในฐานะประเทศเล็ก

อีกประตูแห่งโอกาสที่เปิดให้เอสโตเนียคือ การผลักดันปทัสถานระหว่างประเทศด้านความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่เอสโตเนียต้องการขับเคลื่อนอย่างมาก เห็นได้จากการตั้งกรมการทูตไซเบอร์ในกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งยังเล่นบทบาทสำคัญในการผลักดันปทัสถานความมั่นคงไซเบอร์ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหลังจากได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกไม่ถาวรในปี 2020-2021

อย่างสุดท้าย นี่คือโอกาสทองของบริษัทในเอสโตเนียจำนวนมากที่ให้คำปรึกษาและบริการกับประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล e-commerce หรือโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้า e-Estonia ยิ่งเสริมให้บริษัทสัญชาติเอสโตเนียมีความน่าเชื่อถือในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงไซเบอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลได้อีกด้วย

 

 หัวใจสำคัญของรัฐดิจิทัล

 

การสร้างรัฐดิจิทัลที่ดีไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่หลักการทั่วไปที่รัฐต้องคำนึงถึงตลอดเวลาไม่ว่ารัฐจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบไหนมาใช้ก็ตามคือ ต้องตอบโจทย์ความต้องการและอยู่บนฐานของความยินยอมของประชาชนในประเทศหรือในพื้นที่ว่าต้องการใช้บริการสาธารณะของภาครัฐผ่านระบบออนไลน์มากน้อยขนาดไหน ต้องสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรืออย่างน้อยต้องมีการปรึกษาหารือกับประชาชนพอสมควรก่อนที่จะปรับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ แล้วนำความต้องการนั้นมาเป็นตัวตั้งมากกว่าที่จะบังคับว่ารัฐจะย้ายไปใช้ออนไลน์แฟลตฟอร์มโดยที่อาจยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งสนับสนุนระบบออฟไลน์ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ หรือถ้าประชาชนต้องการระบบดิจิทัล ก็ต้องมีการปรึกษาหารือกับประชาชนว่าจะออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โจทย์สำคัญอีกโจทย์หนึ่งคือเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในบางกรณี ต่อให้รัฐมีความมั่นคงทางไซเบอร์ในระดับที่น่าพอใจแล้วก็จริง แต่ก็มีอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องตีให้แตกคือเรื่องความโปร่งใส่ตรวจสอบได้ รัฐต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่รัฐเก็บไปเพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยี หรือการใช้บริการสาธารณะของภาครัฐนั้นถูกเก็บรักษาอย่างปลอดภัย ไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่มิชอบ

 

บอลติกทั้งสามท่ามกลางรัสเซียและสหภาพยุโรป

 

ทั้งรัสเซียและสหภาพยุโรปต่างก็นับว่าเป็นอำนาจที่มีอิทธิพลต่อเอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนีย แต่จะเห็นได้ชัดว่าทั้งสามประเทศมองรัสเซียว่าเป็นภัยคุกคามที่น่าหวาดกลัว ในขณะที่ยึดโยงตนเองไว้กับสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด

การทำความเข้าใจท่าทีของเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียต่อรัสเซีย อาจต้องมองในหลายๆ ระดับลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ที่ซ้อนกันในบริบทของพื้นที่อดีตประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต (post-soviet states)

ในมิติหนึ่ง ความไม่ลงรอยระหว่างรัฐบอลติกทั้งสามและรัสเซียเป็นเรื่องของความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่ฝังลึก ทั้งสองฝ่ายมีชุดความทรงจำทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามเย็นที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทางเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียมองว่าสหภาพโซเวียตใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง บีบบังคับ ผนวกรัฐทั้งสามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต การเลือกใช้คำประกาศเอกราชหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงสะท้อนให้เห็นการทัศนคติของบอลติกทั้งสามต่อโซเวียตอย่างชัดเจนว่าตนเป็นประเทศเอกราชที่ถูกรัสเซียคุกคาม เพราะเลือกใช้คำว่า ‘ได้รับเอกราชอีกครั้ง’ (‘reindependence’) หลังจากที่ได้รับเอกราชไปแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก่อนถูกโซเวียตผนวก แต่ในขณะเดียวกัน ทางรัสเซียก็มีความทรงจำทางประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่งที่ต่างออกไป รัสเซียกลับมองว่าเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ยินยอมพร้อมใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และสหภาพโซเวียตก็มองตนเองว่าเป็นผู้ปกปักษ์พิทักษ์ทั้ง 3 ประเทศนี้ไว้ให้ไม่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการบุกรุกของนาซี ความทรงจำทางประวัติศาสตร์คนละชุดที่ว่ามานี้ จึงประกอบสร้างให้ทั้งสองฝ่ายเป็นศัตรูของกันและกัน

หากมองขึ้นมาในระดับผิวน้ำของความสัมพันธ์ ความหวาดผวาในใจต่อรัสเซียจากความทรงจำทางประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักให้เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียพยายามเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ NATO และพันธมิตรทางการทหารในโลกตะวันตก ด้วยความเชื่อว่าระบบพันธมิตรทางความมั่นคงของ NATO จะประกันเอกราชของทั้งสามประเทศได้ เพราะ NATO ใช้ระบบป้องกันร่วม (collective defense) ตามข้อบทที่ 5 (Article 5) ซึ่งระบุว่า เมื่อประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตี จะถือว่าโจมตีประเทศสมาชิก NATO ทุกประเทศ สำหรับรัสเซียที่มองว่าเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียเป็นหลังบ้าน การเข้าเป็นสมาชิก NATO ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียอย่างมาก ความหวาดผวาดจึงปรากฏขึ้นในใจของรัสเซียเช่นกัน

และหากกล่าวถึงความสัมพันธ์ในระดับเหนือผิวน้ำ ในมุมของรัฐที่เคยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของสหภาพโซเวียตและอยู่ระหว่างสองอำนาจในทางภูมิรัฐศาสตร์ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีกระบวนการบูรณาการระดับภูมิภาคเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองฟากฝั่ง ฟากหนึ่งคือการบูรณาการยุโรป (European Integration) ที่นำโดยสหภาพยุโรป ส่วนอีกฟากหนึ่งคือการบูรณาการภูมิภาคยูเรเชีย (Eurasian Integration) ผ่านสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) ซึ่งมีรัสเซียเป็นศูนย์กลาง กล่าวคือรัสเซียพยายามรักษาหลังบ้านของตนเองไว้ด้วยการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค สภาวะเช่นนี้อาจนำไปสู่บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียดได้ อย่างจอร์เจียที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียมาก่อน หากวันหนึ่งเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตามที่หวังได้จริง รัสเซียก็น่าจะหัวเสียไม่เบา หรืออย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียก็ต้องเผชิญปมขัดแย้งที่ท้าทายเช่นกัน เพราะแม้ว่าจะบูรณาการร่วมกับสหภาพยุโรปไปแล้ว แต่ในเอสโตเนียและลัตเวียเองก็ยังมีประชากรเชื้อสายรัสเซียอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งรัสเซียสามารถมองประชากรเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นยูเรเชียได้

การที่เอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนียยึดโยงกับยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรปนั้น ในแง่หนึ่ง วาทกรรมหวนคืนสู่ยุโรปคือสิ่งประกอบสร้างทางการเมืองโดยปัญญาชนของเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและทิ้งระยะห่างออกมาจากสหภาพโซเวียต ความทรงจำทางประวัติศาสตร์จำนวนมากจึงถูกตีความให้ทั้งสามประเทศเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก อย่างเอสโตเนียมักจะยืนยันความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งแน่นอนว่ายึดโยงกับความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและความเป็นโลกตะวันตก ส่วนลิทัวเนียซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย ก็มองว่าครั้งหนึ่ง เครือจักภพเคยเป็นตัวแสดงที่มีอำนาจในระดับภูมิภาคยุโรป ทำให้ลิทัวเนียมีมุมมองว่าตนก็เป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเช่นกัน และเคยเป็นถึงมหาอำนาจเสียด้วย ประวัติศาสตร์ของลัตเวียก็สามารถโยงตัวเองเข้ากับความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ของเยอรมนีได้ โดยเฉพาะในช่วงลิโวเนีย ซึ่งเชื่อมกับความเป็นโลกตะวันตก

ทั้งหมดนี้ทำให้บอลติกทั้งสามตีความว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป แต่ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเรเชียซึ่งผูกมัดไว้กับความเป็นรัสเซีย เวลาทั้งสามประเทศเล่าประวัติศาสตร์ ก็จะเล่าแต่ส่วนที่ยึดโยงกับยุโรป ไม่เล่าในส่วนของยูเรเชีย ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีก็ได้ ความทรงจำทางประวัติศาสตร์เช่นนี้จึงมีอิทธิพลต่อการวางท่าทีของบอลติกทั้งสามต่อยุโรปอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save