fbpx
Washington National Cathedral มหาวิหารแห่งอเมริกา – จิตวิญญาณวิทยาศาสตร์และเสรีภาพในศาสนา

Washington National Cathedral มหาวิหารแห่งอเมริกา – จิตวิญญาณวิทยาศาสตร์และเสรีภาพในศาสนา

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

“ในปฐมกาล พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและดิน” ปฐมกาล 1:1

คริสตศาสนาถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์มาโดยตลอด เนื่องจากการรับรู้ผ่านเรื่องเล่าของกาลิเลโอ ที่คริสตจักรวาติกันปฏิเสธแนวคิดโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ที่เขาเสนอจนต้องถูกกักขังลงโทษเพื่อให้กลับความคิดของตัวเอง และจอร์ดาโน บรูโน ที่ถูกวาติกันเผาทั้งเป็นเพราะข้อเสนอว่าจักรวาลมีดาวเคราะห์แบบโลกอีกมากมาย

หากทว่า ในสหรัฐอเมริกา และคริสตจักรโปรเตสแตนท์เอปิสโคปัลอเมริกาอันเป็นนิกายในคริสตศาสนาที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งชาติ วิทยาศาสตร์คือใจกลางของการไขปริศนาแห่งสิ่งสร้างอันลึกล้ำของพระผู้เป็นเจ้า คือฟ้าและดิน ในจักรวาลอันไม่สิ้นสุดไร้ประมาณ

 “กิจของพระเจ้านั้นใหญ่ยิ่ง เป็นที่ค้นคว้าของทุกคนที่พอใจสิ่งนั้น” สดุดี 111:2

คริสตศาสนา Washington National Cathedral มหาวิหารแห่งอเมริกา

ต้นธารของการตีความการศึกษาธรรมชาติอย่างมีเหตุผลผ่านการสังเกตและทดลองอย่างเป็นระบบนั้นมาจากอารยธรรมกรีกและโรมัน ถูกนำไปพัฒนาต่อในโลกอิสลาม ก่อนที่จะกลับคืนมาสู่ยุโรปในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ โดยดินแดนที่ให้ความสำคัญกับการทดลองสำรวจสิ่งใหม่เป็นที่สุดคืออังกฤษ ซึ่งคริสตศาสนา นิกายแองกลิคันแห่งโบสถ์อังกฤษได้ปกป้องคุ้มครองนักคิดนักวิทยาศาสตร์ยุคเริ่มแรกจากการกวาดล้างของวาติกัน

จนกระทั่งถึงยุคสมัยของเซอร์ ไอแซค นิวตัน ผู้ไขปริศนากลไกของจักรวาลด้วยกฎแห่งแรงโน้มถ่วง มวล และการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง ความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์แห่งอังกฤษในยุคนั้นมองว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างโลกจากความว่างเปล่า แต่ใช้กลไกบางอย่างกำหนดกฎเกณฑ์ของสรรพสิ่งขึ้น และหน้าที่ของมนุษย์คือการเข้าถึงกฎแห่งความจริงสูงสุดนั้นผ่านการทดลองและลงมือกระทำ

เมื่อชาวอังกฤษข้ามมาสู่อาณานิคมอเมริกา ก็นำคริสตศาสนาและความเชื่อมั่นซึ่งกลไกของพระเจ้าในธรรมชาติตามมาด้วย และเมื่อโบสถ์อังกฤษถูกปฏิวัติพร้อมกับการประกาศเอกราชในปี 1776 ก็ถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์เอปิสโคปัลอเมริกา ที่ถึงแม้จะปฏิเสธคำสั่งจากอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีและกษัตริย์อังกฤษโดยสิ้นเชิง แต่ก็ยังมีหลักเชื่อ ใช้หนังสือสวดมนต์และพิธีกรรมเล่มเดียวกับในอังกฤษ รวมถึงการคิดค้นและสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาความจริงของพระเจ้ามาอย่างต่อเนื่อง

“ใครตวงน้ำทั้งหลายด้วยอุ้งมือของตน และวัดฟ้าสวรรค์ด้วยคืบเดียว ทั้งบรรจุผงคลีของแผ่นดินโลกไว้ในถังตวง? ใครชั่งภูเขาทั้งหลายด้วยตาชั่ง และชั่งบรรดาเนินเขาด้วยตราชู?อิสยาห์ 40:12

ตามแผนการสร้างนครหลวงของสหรัฐอเมริกา โดยนายช่างใหญ่ ปิแอร์ ชาร์ลส์ ลองฟองต์ ได้วางแผนที่จะสร้างอาสนวิหาร (Cathedral) ให้เป็นมหาวิหารแห่งชาติในกลางกรุงวอชิงตันดีซี โดยถือว่าเป็นจุดรวมศรัทธาและปูชนียสถานถวายพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง ตามความเชื่อในคริสตศาสนาและทรงเป็นองค์มหาสถาปนิกผู้ออกแบบโลกและจักรวาลตามแนวคิดแบบฟรีเมสันที่เขานับถือ แต่การก่อสร้างอาสนวิหารก็ล่าช้าเพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและศาสนามากว่าร้อยปี

จนกระทั่งในปี 1893 สภาคองเกรสได้อนุมัติแผนให้ก่อสร้างอาสนวิหารแห่งวอชิงตันดีซีให้เป็นมหาวิหารแห่งชาติ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1907 ในสมัยของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ประธานาธิบดีนักสำรวจและนักประดิษฐ์คนสำคัญ บนพื้นที่ยอดเนินเซนต์อัลบานส์ และได้ค่อยๆ ก่อสร้างต่อเติมมาเรื่อยๆ ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง สงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาสำเร็จสมบูรณ์ในปี 1990 สมัยของประธานาธิบดี จอร์จ บุช ใช้เวลายาวนานถึง 83 ปี

Washington National Cathedral มหาวิหารแห่งอเมริกา คริสตศาสนา

นับตั้งแต่ปี 1990 อาสนวิหารแห่งเซนต์ปอลและเซนต์ปีเตอร์ประจำสังฆมณฑลวอชิงตัน หรือมหาวิหารแห่งชาติวอชิงตัน ได้เป็นที่ประกอบพิธีภาวนาเพื่อสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา  และพิธีศพของอดีตประธานาธิบดีทุกคนที่ถึงแก่อสัญกรรม

“ตั้งแต่เริ่มสร้างโลกมานั้น สภาพของพระเจ้าซึ่งตามนุษย์มองไม่เห็น คือฤทธานุภาพอันถาวรและเทวสภาพของพระองค์ ก็ได้ปรากฏชัดในสรรพสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้าง ฉะนั้นพวกเขาจึงไม่มีข้อแก้ตัวเลย” โรม 1:20

มหาวิหารแห่งชาติวอชิงตัน ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอโกธิก ใช้หินปูนจากรัฐอินเดียนาเป็นวัสดุก่อสร้างหลัก มีซุ้มโค้งและครีบยันลอยรองรับน้ำหนัก ภายในประดับด้วยกระจกสีที่บอกเล่าเรื่องราวการก่อตั้งสหรัฐอเมริกาและบุคคลสำคัญของชาติ ภายนอกมีประติมากรรมและภาพแกะสลักที่เป็นเอกลักษณ์ร่วมสมัยแสดงความเป็นอเมริกันที่โดดเด่น โดยเฉพาะการแสดงถึงวิทยาการวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าผ่านจินตนาการที่อยู่ร่วมกับศรัทธาในคริสตศาสนา ดังนี้

  • บัญชรกุหลาบ (Rose Window) สเตนกลาสกระจกสีองค์ประธานของอาสนวิหาร ประดับอยู่บนเรือนยอดด้านหน้าของหอสวด (Chapel) เป็นกระจกสีขนาด 26 ฟุตที่ประกอบจากกระจกขนาดเล็กกว่าพันชิ้น กรุลายดอกกุหลาบสามชั้น โดยใช้ทุกสีที่ช่างกระจกสีสามารถประดิษฐ์ได้ด้วยเทคโนโลยีมาประกอบเข้าด้วยกัน เมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบลอดผ่าน กระจกสีก็จะกระเจิงแสงออกมาเป็นรัศมีตามลอยของกลีบกุหลาบส่องทอดยาวลงบนพื้นของอาสนวิหารเป็นสวดลายสีสันนานาโดยสีหลักทั้งสี่สีของกระจกกุหลาบเป็นเครื่องแทนสัญลักษณ์ของจตุธาตุตามแนวคิดธรรมชาติศึกษาของกรีก ได้แก่ สีแดงแทนธาตุไฟ สีเทาแทนธาตุลม สีเขียวแทนธาตุน้ำ และสีน้ำตาลแทนธาตุดิน เพื่อฉายภาพความยิ่งใหญ่และปริศนาของการรังสรรค์แห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า
  • Washington National Cathedral มหาวิหารแห่งอเมริกา คริสตศาสนา บัญชรกุหลาบ
    บัญชรกุหลาบ (Rose Window)
  • บัญชรชัยชนะของศาสนจักร (Church Triumphant) สเตนกลาสรองติดตั้งอยู่ส่วนกลางของอาสนวิหารด้านปลายของแท่นบูชา ประดับด้วยกระจกสีเป่ามือกว่าพันชิ้น ประธานกึ่งกลางเป็นภาพพระเจ้าทรงพระภูษาทองคำ ถือลูกแกะไว้ในพระหัตถ์ รายรอบบัลลังก์ของพระองค์เป็นสัญลักษณ์ของสี่อัครสาวกผู้ประกาศพระวรสาร ได้แก่ มัทธิว ลูกา ยอห์น และมาร์โก มีนักบุญและเทวทูตเรียงรายอยู่รอบนอกถัดออกมา แสดงภาพแทนของดินแดนสวรรค์ตามวิวรณ์ของนักบุญยอห์น
  • บัญชรอวกาศ (Space Window) จุดสุดยอดของชัยชนะทางวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกาในการแข่งขันทางอวกาศกับโซเวียตยุคสงครามเย็น คือการส่งมนุษย์ลงไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ และเหล่านักวิทยาศาสตร์แห่งองค์กรอวกาศสหรัฐผู้ที่ยังศรัทธาในศาสนาก็ได้อุทิศหินจากดวงจันทร์เพื่อประดับไว้ในมหาวิหารแห่งชาตินี้ บัญชรอวกาศใช้กระจกสีประดับเป็นลวดลายโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เส้นสายวงโคจรและดวงดาวพราวพรายรายรอบ โดยประดับหินบะซอลต์จากดวงจันทร์หนัก18 กรัม ที่นีล อาร์มสตรอง เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ เก็บมาในภารกิจยานอพอลโล 11 ลงบนดวงจันทร์ประดับไว้ในกึ่งกลางของภาพกระจกสีดวงจันทร์ เป็นภาพแทนห้วงนาทีที่มนุษย์ได้เหยียบย่างเข้าไปในสวนสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าในฟ้าอวกาศ
  • Washington National Cathedral มหาวิหารแห่งอเมริกา คริสตศาสนา บัญชรอวกาศ
    บัญชรอวกาศ (Space Window)
  • ประติมากรรมการ์กอยล์ประดับเชิงหัวเสา ลวดลายอเมริกันร่วมสมัย เช่น การ์กอยล์ยัปปี้นักการเงินแห่งวอลล์สตรีท การ์กอยล์สัตว์ประจำมลรัฐ การ์กอยล์สัตว์ป่าประจำถิ่นอเมริกา แต่ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุด คือหัวรางน้ำประดับลายดาร์ธ เวเดอร์ จาก “สตาร์ วอร์ส” ที่อยู่บนหอคอยด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอาสนวิหารซึ่งเป็นมุมที่มืดและอับแสงที่สุดยากจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้ที่ต้องการชมต้องนำกล่องส่องทางไกลมาใช้ชมหัวของดาร์ธเวเดอร์ประดับบนขอบหัวเสาของหอคอย

“องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และพระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ที่ไหน เสรีภาพก็มีอยู่ที่นั่น”

– 2 โครินธ์ 3:17

Washington National Cathedral มหาวิหารแห่งอเมริกา คริสตศาสนา

ในอาสนวิหารยังมีรูปปั้นบุคคลสำคัญของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมือง เช่น โรซ่า ปาร์คส์, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์, เอเลียนอร์ รูสเวลต์, เฮเลน เคลเลอร์ และบุคคลสำคัญของโลกที่นำศรัทธาในคริสตศาสนามาใช้เรียกร้องสิทธิของคนยากไร้และเสรีภาพของประชาชน เช่น นักบุญแม่ชีเทเรซ่า สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 นายแพทย์อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ และ อาร์คบิชอปออสการ์ โรเมโร เป็นต้น

รอบนอกของอาสนวิหารเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเซนต์อัลบานส์ที่มีสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษ ท่ามกลางสนามหญ้าและสวนดอกไม้ที่งดงามจับตา ยอดแหลมของหอคอยแห่งอาสนวิหารโดดเด่นบนยอดเนินเขาสูงเสียดฟ้ามองเห็นแต่ไกล ชุมชนรายรอบที่จุดตัดของถนนวิสคอนซินอเวนิวและถนนแมสซาชูเส็ตต์อเวนิว ไม่ไกลนักยังเป็นที่ตั้งของโบสถ์คาธอลิกแม่พระรับสาร อาสนวิหารกรีกออร์โธดอกซ์เซนต์โซเฟีย อาสนวิหารรัสเซียนออร์โธดอกซ์เซนต์นิโคลัส วิหารยิวไมกาห์ มัสยิดกลางของวอชิงตันดีซี และศาสนสถานซิกข์คุรุวารเรียงรายอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน เป็นเครื่องหมายแทนเสรีภาพในการนับถือศาสนาอันเป็นหนึ่งในคุณค่าของความเป็นอเมริกันตามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ยอมรับทุกสรรพสิ่งอันพระเจ้าได้ทรงสร้างมาอย่างแท้จริง

มหาวิหารแห่งชาตินี้ยังถูกนำไปเขียนถึงในนวนิยาย เช่น The Lost Symbol ของแดน บราวน์ และ Executive Orders ของทอม แคลนซี่ รวมถึงเป็นฉากภาพยนตร์และทีวีซีรีส์หลายเรื่อง เช่น The West Wing

อาสนวิหารแห่งเซนต์ปอลและเซนต์ปีเตอร์ประจำสังฆมณฑลวอชิงตัน เปิดให้เข้าชมเวลา 10:00-17:00 ในวันธรรมดา และ12:45-16:00 ในวันอาทิตย์ที่มีพิธีทางศาสนา โดยเก็บค่าเข้าชมเป็นค่าบำรุงโบสถ์ 12$ และมีไกด์นำชมบรรยายเป็นรอบพร้อมเอกสารประกอบทุกครึ่งชั่วโมง เดินทางสะดวกที่สุดโดยรถเมล์ประจำทางหลายสายเมื่อใกล้ถึงจะมองเห็นยอดวิหารจากทุกทิศ

Washington National Cathedral มหาวิหารแห่งอเมริกา คริสตศาสนา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save