fbpx
‘1 ปี Milk Tea Alliance’ กับวาสนา วงศ์สุรวัฒน์

‘1 ปี Milk Tea Alliance’ กับวาสนา วงศ์สุรวัฒน์

YouTube video

จากสงครามคีย์บอร์ดระหว่างชาวเน็ตไทย-จีน สู่การรวมตัวอย่างหลวมๆ ของคนรุ่นใหม่ในเอเชีย ที่แม้จะถูกแบ่งแยกด้วยพรมแดน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต่อสู้กับเผด็จการและต่อต้านอิทธิพลจีน

พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘พันธมิตรชานม’ หรือ ‘Milk Tea Alliance’ 

เดือนเมษายนที่จะถึงนี้ Milk Tea Alliance จะมีอายุครบ 1 ปี ขณะที่การเคลื่อนไหวค่อยๆ ทวีความเข้มข้นและขยายวงกว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งไทย ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย และพม่า พร้อมด้วยแรงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ในอีกหลายชาติเอเชีย

101 ชวน วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุยถึงการเคลื่อนไหวตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของ Milk Tea Alliance พร้อมมองทิศทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในภูมิภาค

:: ย้อนมองจุดเริ่มต้นของพันธมิตรชานม ::

ต้องบอกก่อนว่าคนที่ทำให้เกิดพันธมิตรชานม กับ คนที่ตั้งชื่อนี้เป็นคนละกลุ่มกัน พันธมิตรชานมเกิดจากสงครามคีย์บอร์ดระหว่างชาวเน็ตจีนกับชาวเน็ตไทย ภายหลังมีชาวเน็ตฮ่องกงและชาวเน็ตไต้หวันมาร่วมด้วย จุดที่ทำให้ทะเลาะกันเกิดมาจากการทวีตในทวิตเตอร์ทำนองว่าไต้หวันเป็นประเทศ ฮ่องกงเป็นประเทศ ของดาราไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน เรื่องนี้ก็ขัดแย้งกับนโยบายจีนเดียว ชาวเน็ตจีนเลยไม่พอใจและออกมาโจมตีดาราคนดังกล่าว ชาวเน็ตไทยก็เลยออกไปปกป้อง 

แรกเริ่มคนก็คิดว่าการตีกันระหว่างติ่งวายของสองประเทศนี้คงไม่ได้ไปถึงไหน แต่กลายเป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ตอนนั้นกระแสการเรียกร้องในประเทศของเขากำลังแผ่วมากแล้ว กับ นักการเมืองฝั่งประชาธิปไตยจากไต้หวัน ที่ต้องการจะเป็นประเทศเอกราชและเรียกตัวเองว่าสาธารณรัฐไต้หวัน ต่างมองเห็นตรงจุดนี้ ทั้งคู่เลยรีบกระโดดเข้ามาและกล่าวว่าเราคือพวกเดียวกัน ก่อนที่ภายหลังจะเรียกการตีกันของชาวเน็ตจีนกับชาวเน็ตไทยว่า ‘พันธมิตรชานม’ โดยให้เหตุผลว่าเพราะเราทุกคนเรียกร้องประชาธิปไตยและชอบดื่มชาเหมือนกัน คำนี้ก็เลยถูกนำมาใช้เรียกกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งในไต้หวัน ฮ่องกง ไทย และในเวลาต่อมาก็รวมประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเมียนมาเข้ามาด้วย 

พันธมิตรชานมจึงเป็นการเรียกกันแบบหลวมๆ เพื่อให้อุ่นใจว่าฉันไม่ได้โดดเดี่ยวในภูมิภาคนี้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีแค่ประเทศของเราที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่เพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ของเราก็ต้องการประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้คำว่า ‘ชานม’ ยังบ่งบอกอะไรชัดเจนมาก ชาเป็นเครื่องดื่มของจีน แต่คนจีนไม่ใส่นมในชา คนที่ใส่นมในชาคือคนอังกฤษ เราจะเห็นว่าประเทศที่ตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษล้วนบริโภคชาใส่นมเช่นเดียวกัน

ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ชานมในฐานะตัวแทนทางวัฒนธรรม คือประเทศที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดินิยมอังกฤษหรือตะวันตกอย่างมากด้วยเหมือนกัน ในขณะที่มีพื้นฐานความเป็นจีนชอบบริโภคชา แต่ก็บริโภคชาใส่นมซึ่งเป็นเครือข่ายของจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มาพร้อมความสมัยใหม่ และในศตวรรษที่ 20-21 ก็มาพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เราคิดว่านี่เป็นคำจำกัดความของการรวมกลุ่มของพันธมิตรชานมที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเมษายนปีที่แล้ว

:: แม้จะอยู่คนละพื้นที่แต่อินเทอร์เน็ต
เชื่อมโยงชุดอุดมการณ์ของเราเข้าไว้ด้วยกัน ::

ดินแดนเหล่านี้มีการเรียกร้องประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน แต่ความพิเศษของคนรุ่นนี้คือเขามาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตและก็สร้างวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตขึ้นมา

ก่อนยุคอินเทอร์เน็ต รัฐบาลเผด็จการในเอเชียมีความสามารถในการควบคุมสื่อค่อนข้างมาก อย่างในทศวรรษ 1980-1990 โทรทัศน์ก็มีแค่ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 วิทยุก็เป็นคลื่นของรัฐบาล เราก็เสพสื่อได้แค่จากช่องทางเหล่านี้ ไม่มีสื่อทางวัฒนธรรมที่ตั้งคำถามกับรัฐบาลเลย อย่างมากก็ทำได้แค่ฟังจากเพลงฝรั่ง เช่น เพลงจากฝั่งอเมริกา อังกฤษ เรียกว่ารัฐควบคุมได้หมด 

แต่มาในยุคของคนเจนเนอเรชั่นวายหรือมิลเลนเนียล เขาไม่ได้โตขึ้นมากับการดูโทรทัศน์ช่องดังกล่าวอีกแล้ว เขาดูซีรีส์จากทางอินเทอร์เน็ต ไอดอลของพวกเขากลายเป็นบอยแบนด์เกาหลีที่ไปพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ UN เขาบริโภคสื่อทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดน เขาถึงไปรบกับติ่งซีรีส์วายจีนได้ ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในภูมิภาคนี้เขาเสพสื่อทางวัฒนธรรมร่วมกันและเป็นแฟนคลับข้ามพรมแดนกัน แน่นอนว่าเหล่าดารานักร้องไทยหรือเกาหลีก็ไม่อาจถูกควบคุมด้วยรัฐบาลไทยหรือจีนได้ กลายเป็นว่าการเสพสื่อข้ามพรมแดนของคนรุ่นใหม่ก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล

เลยอาจกล่าวได้ว่าเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเผด็จการที่ใช้ได้มาตลอดยุคสงครามเย็น ใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคนี้ และรัฐบาลเผด็จการก็ตามสื่อพวกนี้ไม่ทัน สื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการควบคุมได้ยากมาก เราจะเห็นว่าพันธมิตรชานมเกิดในพื้นที่ที่ไม่มีการควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มข้น เลยทำให้คนรุ่นใหม่สามารถบริโภควัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตร่วมกันและไม่ถูกครอบงำโดยโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเหมือนคนรุ่นสงครามเย็น

ไม่ใช่แค่เสพสื่อข้ามพรมแดน แต่พวกเขามีความสามารถในการสร้างสื่อได้ด้วย สมัยนี้ทุกคนถ่ายคลิปได้ เข้าไปร่วมคลับเฮาส์ได้ มีไลฟ์ได้ คนรุ่นใหม่ทำตัวเองเป็นสื่อและส่งข่าวให้นานาชาติรับรู้ได้ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ต้องอย่าลืมว่าคนรุ่นนี้เป็น cyber native เขามีความเชี่ยวชาญในการควบคุมสื่อเหล่านี้ หมายความว่าเมื่อถึงเวลาต้องไปแข่งขันกันนำเสนอข้อมูล รัฐบาลจะตามทันยาก หรือเวลามีการปราบม็อบที่ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ทุกอย่างมีภาพออกมาทั้งหมดเลย 

ถ้าเราดูในกรณีของประเทศจีนจะเห็นความต่างกันเยอะมาก จะเห็นว่าปริมาณภาพข่าวของเหตุการณ์การเคลื่อนไหวที่ฮ่องกงปี 2019 มีปริมาณมากกว่าเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 แม้ว่าในยุคนั้นจะมีการเปิดให้สื่อต่างชาติเข้าไปทำข่าวแล้ว ก็ยังมีจำนวนภาพข่าวที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกลับมาในยุคนี้ 

การออกไปของภาพเหล่านี้ทรงพลังมาก เราจะเห็นเหตุการณ์ที่ผู้ประท้วงในไทยใช้กลยุทธ์หลายอย่างจากผู้ประท้วงในฮ่องกง และผู้ประท้วงในพม่าก็ใช้กลยุทธ์หลายอย่างจากผู้ประท้วงในไทย มีการเชื่อมโยงและรับข้อมูลข่าวสารจากกันและกันเยอะมาก อินเทอร์เน็ตคืออาณาบริเวณที่คนรุ่นใหม่ครอง และในประเทศที่ยังเป็นเผด็จการ รัฐบาลลำบากมากที่จะควบคุมพื้นที่ตรงนี้

:: เผด็จการจะล้มได้ ต้องล้มด้วยเศรษฐกิจ :: 

ถ้าเผด็จการจะล้ม เขาจะล้มด้วยเศรษฐกิจ การออกไปประท้วงของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่ได้ทำให้รัฐบาลล้มโดยทันที แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรม ซึ่งภาคธุรกิจที่ต้องเอาตัวรอดด้วยการขายสินค้าให้ประชาชนโดยทั่วไป ถ้าเขายังสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ท้ายที่สุดเขาอาจไม่ชอบธรรมตามไปด้วย และอาจกลายเป็นธุรกิจที่โดนคว่ำบาตรหรือมีปัญหาในเวทีเศรษฐกิจโลก หลายธุรกิจก็อาจไม่อยากเดินไปในทางนี้

ซึ่งกรณีที่เกี่ยวเนื่องกันที่เราเพิ่งเห็นจากข่าวเมื่อไม่นานมานี้คือ แบรนด์ดังหลายแบรนด์ในโลกปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์ฝ้ายจากซินเจียง เพราะกังวลประเด็นเรื่องค่ายกักกันชาวอุยกูร์ แน่นอนว่าในประเทศจีนก็แบนสินค้าพวกนี้หมดเลย แต่ถามว่าทำไมแบรนด์ที่ขายอยู่ทั่วโลกถึงมีจุดยืนทางการเมืองอย่างนี้  ก็เป็นเพราะเขากังวลว่าถ้าคนรู้ว่าแบรนด์ที่เขาใช้อยู่คือเสื้อผ้าที่ใช้ฝ้ายจากซินเจียง ซึ่งมีข่าวออกมาว่ามีค่ายกักกันอยู่ที่นั่นและมีชาวอุยกูร์ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยคนนอกประเทศจีนอาจจะไม่อยากใช้สินค้านี้ ก็ส่งผลกระทบกระเทือนต่อธุรกิจของเขา การตัดสินใจแบนไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงก็เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ลักษณะอย่างนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วของกลุ่มธุรกิจในประเทศต่างๆ และถ้าเผื่อเกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตก ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่กดดันให้รัฐบาลเผด็จการอยู่ไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรชานมไม่ได้นำไปสู่การล้มรัฐบาล แต่นำไปสู่การทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะคนในภาคเศรษฐกิจตัดสินใจว่าเราไม่สามารถยืนอยู่ข้างรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมได้ และสิ่งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 

:: ถอดรหัส 4 สถานการณ์ประชาธิปไตยในพันธมิตรชานม ::

สำหรับฮ่องกงโมเดล ถ้าเวลาผ่านไปอีกยี่สิบปี โลกจะหันกลับมามองและบอกว่าการเคลื่อนไหวในฮ่องกงประสบความสำเร็จ เพราะวิธีที่จีนใช้ในการปราบฮ่องกงคือการฆ่าตัวตาย การที่ฮ่องกงโดนปราบจนราบคาบแลกมาด้วยการพังของนโยบายเศรษฐกิจของจีน 

ตั้งแต่มีการใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง เขามองว่าฮ่องกงเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะพาจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และฮ่องกงจะทำอย่างนั้นได้ก็เพราะเป็นเขตปกครองพิเศษ ที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีมาตรฐานของกฎหมายที่ทั่วโลกยอมรับ แต่การที่จีนออกฎหมายความมั่นคงอันใหม่ทำให้ฮ่องกงไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุนจากต่างชาติอีกต่อไป และกลายเป็นแค่ศูนย์รวมการลงทุนจากจีน 

สิ่งนี้ทำให้แผนการของจีนที่จะผงาดขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นๆ เกิดผลในทางลบอย่างแน่นอน ดังนั้นฮ่องกงโมเดลไม่ได้ล้มเหลว แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลจีน

สำหรับไต้หวัน ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มที่จะมีการสนับสนุนให้ไต้หวันกลับไปอยู่กับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงที่ฮ่องกง ทำให้คนในไต้หวันกลับมาคิดประเด็นนี้ใหม่ จากเดิมในช่วงต้นปี 2019 ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้รับคะแนนความนิยมต่ำมาก พอมาปลายปี 2020 คะแนนนิยมของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินพุ่งขึ้นทะลุเพดานและชนะแบบถล่มทลาย สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงก็ทำให้คนไต้หวันกลับมาฉุกคิดว่าประชาธิปไตยสำคัญและมีค่าที่จะต้องต่อสู้เพื่อรักษาไว้ การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในไต้หวันก็กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง 

สำหรับเมียนมา รัฐบาลจีนไม่ได้ต้องการสิ่งนี้ เพราะรัฐบาลจีนคุยกับอองซาน ซูจี รู้เรื่องแล้ว ถ้าอองซาน ซูจี เป็นผู้นำเมียนมาต่อไป รัฐบาลจีนก็ยังสามารถทำท่าเรือน้ำลึกต่อและสามารถผลักดันให้พม่าเป็นปากประตูของจีนสู่มหาสมุทรอินเดียต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าจีนไม่ช่วยเมียนมาและเผด็จการเมียนมาล่มสลาย ก็อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงของจีนก็ได้ 

สิ่งที่จีนต้องการคือให้นายพลเมียนมาไปคุยกันและเป็นรัฐบาลครี่งเผด็จการครึ่งประชาธิปไตยต่อไป แต่ก็คงยาก ดังนั้นแนวโน้มที่เป็นไปได้คือเราคงไม่เห็นจีนแทรกแซงในแง่กำลังทหาร แต่ในเมียนมาจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองแทน ซึ่งน่าเศร้ามากที่คนเมียนมาน่าจะต้องตายอีกเยอะ แต่ถ้าไม่จบทางนี้ก็ไม่อาจจะจบทางอื่นได้ 

สำหรับไทย ก่อนที่จะมีพันธมิตรชานม เราไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ของรัฐบาลจีนกับรัฐบาลไทยอย่างตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่มีเรื่องให้วิจารณ์เยอะมาก เช่น ประเด็นเรื่องการซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนที่เพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์หลังรัฐประหาร การเกิดขึ้นของพันธมิตรชานมเป็นครั้งแรกที่คนรุ่นใหม่ออกมาพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะจริงๆ แล้วสิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังพันธมิตรชานม คือมีความเข้าใจตรงกันในกลุ่มที่ร้องเรียกประชาธิปไตยในไทย ฮ่องกง พม่า และไต้หวัน ว่าอุปสรรคต่อการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) ในภูมิภาคนี้คือสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะจีนสนับสนุนเผด็จการในพื้นที่เหล่านี้ 

ไม่ได้บอกว่าเราต้องต่อต้านจีน ไม่ใช่ความผิดของเขาที่บ้านเราเป็นเผด็จการ แต่ประชาชนต้องรู้เท่าทันว่าเผด็จการไทยพยายามพึ่งพิงและสร้างความมั่งคงให้อำนาจตัวเองด้วยการเป็นพันธมิตรกับสาธารณรัฐประชาชนจีน การที่แง่มุมนี้ถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาเป็นมิติใหม่ของการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยที่เมื่อก่อนไม่มี และนี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในส่วนที่รุ่นก่อนๆ ไม่ประสบผลสำเร็จ 

:: อนาคตของพันธมิตรชานม ::

พันธมิตรชานมคือการปลดปล่อยอาณานิคม (decolonization) ระลอกสุดท้ายของประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ได้เป็นประเทศเอกราชโดยสมบูรณ์หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ส่วนใหญ่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นเอกราชไปหมดแล้ว ก็เหลือแค่ฮ่องกง ที่แม้จะเลิกเป็นอาณานิคมของอังกฤษแต่ก็ยังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจีน ด้านไต้หวัน แม้ทุกวันนี้จะมีรัฐบาลประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งเป็นของตัวเอง แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากจีน ดังนั้นไต้หวันก็ยังต้องต่อสู้เพื่อเอกราชของตัวเองอยู่ 

ส่วนไทย แม้ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่เราก็รอดจากการเป็นเมืองขึ้นได้ด้วยการปลอมตัวเป็นเมืองขึ้น สมัยศตวรรษที่ 19 เราเองก็ทำตัวเสมือนว่าเราเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เรายอมเขาหมดทุกอย่างจนอังกฤษมีความรู้สึกว่าไม่ต้องยึดสยามมาอยู่ในอาณานิคมหรอก ก็ดีลกับสยามไปอย่างนี้ เพราะทำตัวเสมือนเป็นอาณานิคมของเราอยู่แล้ว 

ไทยอยู่แบบนี้จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 พอยุคสงครามเย็น เผด็จการไทยก็ทำเหมือนเดิม คือปลอมตัวเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา แลกกับการที่สหรัฐอเมริกาต้องสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ และเมื่ออเมริกาถอนออกไป ตอนนี้เผด็จการไทยก็ย้ายไปเกาะจีน ทีนี้ศตวรรษที่ 21 เราเลยเห็นปรากฏการณ์การกลับมาของเผด็จการไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีน เราก็เลยยังอยู่ในสภาพปลอมตัวเป็นเมืองขึ้นของจีนอยู่ทุกวันนี้ การเคลื่อนไหวในประเทศไทยจึงเป็นการพยายาม decolonized รอบสุดท้าย ในที่สุดเราจะได้ออกจากยุคอาณานิคมสักที 

ส่วนในเมียนมา หลังจากที่เผด็จการทหารกลับมาในช่วงปี 1988 และชาติตะวันตกต่างบอยคอตต์ เขาก็ได้รับการอุ้มชูทางเศรษฐกิจจากจีนและอยู่ได้ด้วยการขายสินค้าให้จีน ก็ปลอมตัวเป็นเมืองขึ้นของจีน ดังนั้นพอมาถึง ณ วันนี้ก็คือความพยายามที่จะเอารัฐบาลทหารออก เพื่อจะมีประชาธิปไตยและประกาศเอกราชขึ้นมา จะได้ไม่ต้องเป็นอาณานิคมจีนต่อไป 

ดังนั้นถ้าพันธมิตรชานมทำสำเร็จ พวกเราทั้งหมดในขบวนการจะได้ประกาศเอกราชจริงๆ เสียที สิ่งนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีประชาธิปไตยเท่านั้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save