fbpx

อาชญากรรมสงคราม (war crimes) : อาชญากรรมของผู้ฝ่าฝืนกฎการทำสงคราม ไม่ใช่อาชญากรรมของผู้ก่อสงคราม

สงครามรัสเซียยูเครนช่วงต้นปี 2565 เปิดประเด็นคำถามและมีการพูดถึงฐานความผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศสองเรื่อง คือ อาชญากรรมรุกราน (crime of aggression) และอาชญากรรมสงคราม (war crimes)

อาชญากรรมรุกราน (crime of aggression) เป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศที่ใช้ลงโทษผู้ก่อสงครามที่มิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เป็นความผิดอาญาที่ใช้ลงโทษผู้สั่งการให้มีการใช้กองกำลังรุกรานประเทศอื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รายละเอียดของการกระทำความผิดอาชญากรรมรุกราน และการดำเนินคดีอาชญากรรมรุกรานโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (The International Criminal Court) ได้กล่าวไว้แล้วในบทความ เรื่อง ‘อาชญากรรมรุกราน’[1]

บทความนี้จะพูดถึง อาชญากรรมสงคราม (war crimes) ซึ่งเป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศอีกฐานหนึ่งที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่อาชญากรรมสงครามเป็นความผิดอาญาที่ใช้ลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎแห่งการทำสงคราม  

ในระหว่างการทำสงคราม ทหารยิงทหารฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด แต่หากทหารยิงพลเรือน ทหารยิงทหารที่บาดเจ็บไม่พร้อมรบ หรือทหารยิงทหารที่ยอมแพ้ จะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎแห่งการทำสงคราม เป็นความผิดอาชญากรรมสงคราม (war crimes) ซึ่งผู้ฝ่าฝืนกฎแห่งการทำสงครามดังกล่าวจะได้ชื่อว่า ‘อาชญากรสงคราม’ (war criminal)

บทความนี้จะกล่าวถึง ที่มาของอาชญากรรมสงคราม ลักษณะของการกระทำความผิดอาชญากรรมสงคราม และความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามในศาลอาญาระหว่างประเทศ


1

ที่มาของอาชญากรรมสงคราม


ปี ค.ศ. 1859 นักธุรกิจจากเจนีวาที่ชื่อ Henri Dunant หรือที่คนไทยเรียกและนำมาตั้งชื่อถนนว่า ‘อังรีดูนังต์’ ได้ไปพบเห็นความสูญเสียและความโหดร้ายจากสงครามที่ Solferino โดยพบทหารที่บาดเจ็บและถูกปล่อยให้ตายในสนามรบอย่างน่าเวทนา อังรีดูนังต์ได้ตีพิมพ์ ‘ความทรงจำแห่ง Solferino’ (Un Souvenir de Solferino) เรียกร้องให้มีการลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นในการทำสงคราม ซึ่งผลักดันให้เกิดคณะกรรมการกาชาดสากล (the International Committte of the Red Cross) ในปี 1863 และนำไปสู่การถือกำเนิดขึ้นของอนุสัญญาเจนีวาฉบับแรก ในปี 1864 ที่ว่าด้วยการคุ้มครองทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม และต่อมามีสนธิสัญญาออกมาอีกหลายฉบับ แยกเป็น กลุ่มอนุสัญญาเจนีวา (The Geneva Conventions) ที่มุ่งคุ้มครองพลเรือนหรือทหารที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมรบ และกลุ่มอนุสัญญากรุงเฮก (The Hague Conventions) ที่มุ่งลดความสูญเสียจากการใช้วิธีการทำสงครามที่รุนแรงเกินสมควร[2]  

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง มีความพยายามที่ดำเนินคดีกับอาชญากรสงครามในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่เป็นผล เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง การดำเนินคดีกับอาชญากรสงครามปรากฏเป็นรูปธรรมครั้งแรกตามกฎบัตรนูเรมเบิร์ก (The Nuremberg Charter)

ในปัจจุบัน ความผิดฐานอาชญากรสงคราม ได้ถูกบัญญัติขึ้นเป็น 1 ใน 4 ฐานความผิดอาญาร้ายแรงสูงสุด (most serious crimes) ในธรรมนูญกรุงโรม ปี 1998 และศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจดำเนินคดีกับอาชญากรสงคราม โดยธรรมนูญกรุงโรมได้นำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วมาบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนขึ้นเพื่อสอดคล้องกับหลักกฎหมายอาญาต้องบัญญัติให้ชัดเจน (nullum crimen sine lege)[3] โดยไม่ได้เพิ่มลักษณะการกระทำใหม่ๆ[4]


2

ลักษณะของการกระทำความผิดอาชญากรรมสงคราม


การจะเป็นอาชญากรรมสงครามได้จะต้องเกิดสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ (armed conflict) ขึ้นก่อน ซึ่งหมายถึง การใช้อาวุธเข้าปะทะกันตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป โดยการปะทะกันดังกล่าวอาจเป็นการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ หรือการใช้กำลังปะทะกันตามความเป็นจริงโดยทั้งสองฝ่ายปฏิเสธว่าไม่ใช่สงครามก็ได้[5]

การขัดกันทางอาวุธอาจหมายถึงสถานการณ์ที่มีการสู้รบกันจริงๆ แบบสงครามรัสเซียยูเครน หรืออาจเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้มีการสู้รบกันจริงๆ เพราะอีกประเทศหนึ่งไม่ได้ใช้กำลังต่อต้าน[6] เช่นเดียวกันกับการทิ้งระเบิดทางอากาศหรือการรุกล้ำพรมแดนอีกประเทศหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นการขัดกันทางอาวุธขึ้นได้[7]

การขัดกันทางอาวุธอาจหมายถึงการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ (international armed conflict) ซึ่งหมายถึงประเทศหนึ่งปะทะกับอีกประเทศหนึ่งเช่น รัสเซียบุกยูเครน หรืออาจหมายถึงการขัดกันทางอาวุธภายในประเทศ (internal armed conflict) ซึ่งหมายถึง เกิดเหตุการณ์ปะทะกันในประเทศเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มกบฏ แบบที่เกิดขึ้นในซีเรีย  

หากไม่มีการขัดกันทางอาวุธก็ไม่มีอาชญากรรมสงคราม เช่น หากทหารยิงพลเรือน ในสถานการณ์ปกติก็เป็นความผิดฐานฆ่าคนตาย (murder) ตามกฎหมายอาญาภายในแต่ละประเทศ และใช้ศาลอาญาภายในประเทศดำเนินคดีไป ตรงกันข้าม หากมีการขัดกันทางอาวุธเกิดขึ้นและหากทหารยิงพลเรือนในการขัดกันทางอาวุธดังกล่าว ทหารที่ยิงพลเรือนจะมีความผิดอาชญากรรมสงคราม นอกจากศาลภายในประเทศที่มีเขตอำนาจแล้วยังอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย

เมื่อมีการขัดกันทางอาวุธเกิดขึ้น ทหารที่ใช้การโจมตีโดยเจตนาในกรณีดังต่อไปนี้ จะถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม

1) การตั้งใจยิงทหารที่อยู่ในสภาพไม่พร้อมรบ (hors de combat) เช่น ยิงทหารที่ยอมแพ้ ยิงทหารที่ถูกจับเป็นเชลย หรือยิงทหารที่บาดเจ็บจนป้องกันตัวเองไม่ได้

2) การตั้งใจยิงพลเรือนที่ไม่ใช่ผู้ทำการรบ (combatant)

3) การตั้งใจยิงเป้าหมายทางทหารแต่สร้างความเสียหายเกินสมควรให้กับพลเรือน เช่น ตั้งใจยิงจรวดใส่ค่ายทหารฝั่งตรงข้าม แต่แรงระเบิดไปทำลายบ้านเรือนพลเรือนด้วยจนเกินหลักความได้สัดส่วน ก็เป็นอาชญากรรมสงคราม แต่ถ้าตั้งใจยิงจรวดใส่ค่ายทหาร แต่เกิดผลกระทบไม่มากกับพลเรือนรอบค่ายทหาร ก็ยังไม่เป็นอาชญากรรมสงคราม

4) การใช้วิธีการทำสงครามที่เกินธรรมเนียมการทำสงคราม แม้การตั้งใจโจมตีทหารไม่เป็นอาชญากรรมสงคราม แต่หากการโจมตีนั้นใช้วิธีการที่ขัดต่อธรรมเนียมการทำสงคราม ก็อาจมีความผิดอาชญากรรมสงครามได้ เช่น การใช้อาวุธมีพิษ (poison or poisoned weapons)[8] หรือ การใช้แก๊สพิษ (poisonous gases)[9]

การใช้โล่มนุษย์ (human shields)[10] เช่น การเอาพลเรือนมาเป็นเกราะกำบังตัวเอง เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามไม่กล้ายิง ผู้ใช้โล่มนุษย์ก็เป็นอาชญากรรมสงคราม

การโกงความไว้ใจ (perfidy)[11] ก็เป็นอาชญากรรมสงคราม เช่น แกล้งยกธงขาวให้ฝั่งตรงข้ามไม่ยิงและลดอาวุธ แต่ต่อมากลับไปยิงเขาเพราะเขาไว้ใจ

ผู้กระทำความผิดอาชญากรรมสงครามอาจมีได้ตั้งแต่ทหารที่ฝ่าฝืนกฎแห่งการทำสงคราม และไล่สูงขึ้นไปจนถึงระดับหัวหน้าผู้สั่งการ แตกต่างจากความผิดอาชญากรรมรุกรานที่เอาผิดเฉพาะระดับหัวหน้าผู้สั่งการเท่านั้น (leadership crime)[12]


3

ความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามในศาลอาญาระหว่างประเทศ


คำถาม คือ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีเขตอำนาจเหนือคดีที่อ้างว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมสงครามในสงครามรัสเซียยูเครนครั้งนี้หรือไม่

คำตอบ คือ

1) ยูเครนและรัสเซียไม่ใช่รัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรมที่ก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยหลักแล้วศาลอาญาระหว่างประเทศจึงไม่มีเขตอำนาจในสงครามดังกล่าว

2) อย่างไรก็ดี หากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติให้เหตุการณ์ใดต้องไปศาลอาญาระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะมีเขตอำนาจเหนือการกระทำอาชญากรรมสงครามในดินแดนที่ไม่ใช่รัฐภาคีได้ แต่มติแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นกับกรณีรัสเซียยูเครน เพราะรัสเซียคงใช้สิทธิในฐานะสมาชิกถาวร veto

3) ประเทศที่ไม่ใช่ภาคีของธรรมนูญกรุงโรมหากแสดงเจตนายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะคดี (ad hoc acceptance) ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะมีเขตอำนาจเหนือความผิดอาชญากรรมสงครามที่ทำขึ้นในดินแดนดังกล่าว[13] ยูเครนเคยแสดงเจตนายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะคดี ถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2014[14] และครั้งที่สอง เมื่อ 8 กันยายน 2015[15] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยอมรับครั้งที่สองนี้เป็นการยอมรับแบบปลายเปิด (open-ended basis) หมายถึง ยอมรับไปเรื่อยๆ (undefinite duration)[16]

หากอธิบายได้ว่าเหตุการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อต้นปีนี้เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ที่ยูเครนเคยไปรับรองอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศไว้ทั้ง 2 ครั้ง ก็จะทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจเหนือคดีอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนครั้งนี้ได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา อัยการประจำศาลอาญาระหว่างประเทศได้เริ่มเปิดการสอบสวน (open an investigation) แล้ว จากการร้องขอของประเทศภาคี 41 ประเทศ ในความผิดอาชญากรรมสงคราม (war crimes) รวมทั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) และการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ (genocide) ที่ได้กระทำขึ้นโดยใครก็ตามในประเทศยูเครนตั้งแต่ 21 พฤศจิกายน 2013[17] ใครก็ตามในที่นี้น่าจะหมายถึงผู้กระทำความผิดที่เป็นกองกำลังรัสเซียและผู้กระทำความผิดที่เป็นกองกำลังยูเครนด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่อไปยังคงเป็นเรื่องยากลำบากและท้าทาย เพราะความยากลำบากในการรวบรวมหลักฐานที่โยงไปถึงผู้สั่งการให้เกิดอาชญากรรมสงคราม[18] ความยากลำบากในการนำจำเลยมาขึ้นศาล เพราะศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีการพิจารณาคดีลับหลัง (trial in absentia)[19] ไม่มีตำรวจไปตามจับ นอกจากขอความร่วมมือระหว่างประเทศให้แต่ละประเทศช่วยจับให้ 


4

บทสรุป


อาชญากรรมสงครามเป็นอาชญากรรมของผู้ที่ทำสงครามฝ่าฝืนกฎแห่งการทำสงคราม ซึ่งลงโทษได้ตั้งแต่ทหารที่ฝ่าฝืนกฎ รวมทั้งระดับหัวหน้าหรือผู้นำที่สั่งการด้วย

หากดูวิธีการทำสงครามที่ไม่เป็นอาชญากรรมสงครามแล้วคงเหลือวิธีเดียว คือ “การตั้งใจโจมตีทหารที่พร้อมรบของฝั่งตรงข้าม คอยระวังพลเรือนไม่ให้ได้รับความเสียหายเกินสมควร ด้วยวิธีการที่ไม่ขัดกับธรรมเนียมการทำสงคราม” ซึ่งดูจะเป็นวิธีการที่ยากมากในการทำสงครามในความเป็นจริง 

กฎเกณฑ์ที่กำหนดวิธีการทำสงครามให้ยากยิ่ง อาจเป็นเพราะกฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้นนั้นเพื่อไม่ต้องการให้มีสงครามเกิดขึ้นอีก ซึ่งการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาอย่างสันติน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ


[1] อาชญากรรมรุกราน (crime of aggression)

[2] Robert Cryer et al., An Introduction to International Criminal Law and Procedure, 4th edition, (Cambridge: Cambridge University Press, 2019), pp. 259-260.

[3] ดูหลักเรื่อง ‘ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ หากไม่มีกฎหมาย’ (Nullum crimen, nulla poena sine lege) ใน ปกป้อง ศรีสนิท,  สิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ : สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญา หากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ล่วงหน้า.

[4] ปกป้อง ศรีสนิท, คำอธิบายกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ, พิมพ์ครั้งที่ 2, โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพ: เดือนตุลา, 2564), หมายเลข 168-172.

[5] Robert Cryer et al., An Introduction to International Criminal Law and Procedure, op.cit., p.

[6] ปกป้อง ศรีสนิท, คำอธิบายกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ, อ้างแล้ว, หมายเลข 178.

[7] Robert Cryer et al., An Introduction to International Criminal Law and Procedure, op.cit., p. 270.

[8] Rome Statute, Article 8.2 (b)(xvii)

[9] Rome Statute, Article 8.2 (b)(xviii)

[10] Rome Statute, Article 8.2 (b)(xxiii)

[11] Rome Statute, Article 8.2 (b)(xi)

[12] ดู ปกป้อง ศรีสนิท, อาชญากรรมรุกราน.

[13] Rome Statute, Article 12, Preconditions to the exercise of jurisdiction

“3. If the acceptance of a State which is not a Party to this Statute is required under paragraph 2, that State may, by declaration lodged with the Registrar, accept the exercise of jurisdiction by the Court with respect to the crime in question. The accepting State shall cooperate with the Court without any delay or exception in accordance with Part 9”

[14] เอกสารแสดงเจตนายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะคดีของยูเครน ปี 2014

[15] เอกสารแสดงเจตนายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะคดีของยูเครน ปี 2015

[16] Ibid.

[17] The International Criminal Court (ICC) – Ukraine

[18] Olympia Bekou in Thomas O Falk, Is Putin likely to face the ICC over Russia’s actions in Ukraine?, 7 March 2022.

[19] Rome Statute, Article 63, Trial in the presence of the accused

      “1. The accused shall be present during the trial…”

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save