fbpx
‘หนึ่งปี (และปีต่อไป) โควิด-19’ เราจะอยู่ร่วมกับโรคระบาดอย่างไร? คุยกับนักวิจัย วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย และ จุฑามาศ พราวแจ้ง

‘หนึ่งปี (และปีต่อไป) โควิด-19’ เราจะอยู่ร่วมกับโรคระบาดอย่างไร? คุยกับนักวิจัย วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย และ จุฑามาศ พราวแจ้ง

ย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องมาถึงเดือนเมษายนของปี 2020 ประเทศไทยต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการทางสังคมรวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น ทำให้ทุกคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หรือที่หลายคนเรียกกันว่าใช้ชีวิตแบบ ‘new normal’

มาถึงช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้ เราครบรอบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการแพร่ระบาดอีกระลอก ซึ่งดูจะหนักหน่วงไม่แพ้รอบไหนๆ และแม้ว่าเราจะรู้จักโรคนี้ดีขึ้น แต่ใช่ว่าผลกระทบของมันจะรุนแรงน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งจิตใจ มาตรการกึ่งล็อกดาวน์และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมถูกนำมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้ง เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะถึงหลักพันต่อวัน

นอกจากความรู้เกี่ยวกับโควิดที่มีมากขึ้นกว่าเก่า อีกหนึ่งปัจจัยที่เปลี่ยนไปจากปีที่แล้วคือ การเกิดขึ้นของ ‘วัคซีน’ ที่หลายคนมองว่าจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ละประเทศต่างทยอยฉีดวัคซีนให้ประชากรของตน บางประเทศฉีดได้เยอะ เช่น อิสราเอล ที่ประกาศว่าประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะอีกต่อไป หรืออย่างสองประเทศนิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย ก็เริ่มเปิดพรมแดนให้ผู้คนเดินทางไปมาได้อีกครั้ง หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อัตราการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำได้

ขณะที่ประเทศไทยก็เริ่มกระจายและฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับประเทศอื่น แต่จากสถานการณ์การระบาดในเดือนเมษายน เปอร์เซ็นต์ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ยังมีจำนวนไม่มาก รวมไปถึงข่าวเรื่องผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนบางชนิด ทำให้วัคซีนกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ ณ เวลานี้

ในช่วงที่โรคระบาดรบกวนชีวิตคนไทยอย่างหนักหน่วง 101 ชวนอ่านบทสนทนากับ รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการ และ ภญ.จุฑามาศ พราวแจ้ง ผู้ช่วยวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ทำวิจัยและเผยแพร่ความรู้ในการต่อสู้กับสงครามเชื้อโรคครั้งนี้ ไล่เรียงตั้งแต่การทบทวนหนึ่งปีโควิดในฐานะนักวิจัย ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนรวมถึงเรื่องประสิทธิผลต่างๆ ไปจนถึงคำถามที่ว่า ถ้าโควิดไม่มีทีท่าว่าจะหายไปง่ายๆ เช่นนี้ เราจะมีวิธีอยู่ร่วมกับโรคระบาดอย่างไร

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 และมีการปรับเนื้อหาบางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในเดือนเมษายน 2564

วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย
วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย


ในการแพร่ระบาดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โควิด-19 เข้ามาท้าทายหรือสร้างโจทย์อะไรใหม่ๆ ในแวดวงการวิจัยบ้าง

วรรณฤดี: ต้องบอกก่อนว่า การทำวิจัยคือการหาคำตอบในสิ่งที่เราไม่รู้ และการหาคำตอบให้กับคำถามบางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน พอโควิดเริ่มแพร่ระบาด แน่นอนว่ามีหลายอย่างที่เราไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้ ฟังดูก็เหมือนจะเป็นเรื่องปกติใช่ไหม แต่เอาเข้าจริงๆ คำว่า ‘ปกติ’ เป็นคำที่ไม่สามารถใช้อธิบายปีที่ผ่านมาได้เลย เพราะมันมีหลายปัจจัยมาก 

อย่างแรกคือ ในมุมของนักวิจัย เราต้องการทำงานให้ครอบคลุม ครบถ้วน ตอบโจทย์ให้เคลียร์ และหาคำตอบให้ถูกต้องที่สุด แต่เราก็ต้องพยายามรักษาสมดุลเสมอว่าเรามีเวลาเท่าไหร่ เพราะยังไงคุณภาพก็ต้องมาก่อน แต่พอมาถึงเรื่องโควิด คำว่าเวลาหายไปเลย เพราะเราไม่ได้มีเวลาครึ่งปีหรือหนึ่งปีในการตอบคำถาม แต่นับกันวันต่อวัน เราจึงต้องหาวิธีการตอบโจทย์เชิงนโยบายในเวลาที่กระชับ โดยให้ยังมีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่เราทำได้ 

อย่างที่สองคือการร่วมมือกัน (collaboration) เริ่มตั้งแต่ในองค์กรของเราเอง (HITAP) พอมีโจทย์เข้ามาและต้องหาข้อมูล ทุกคนมาช่วยกันเต็มที่ เพราะนี่คือช่วงเวลาที่เราจะสามารถช่วยสังคมได้มากที่สุดช่วงหนึ่ง พอมองไปรอบๆ ในกระทรวง ทุกคนก็ยุ่งกันหมด ยิ่งในระดับประเทศ ทุกหน่วยงานก็ช่วยกันพยายามหาทางออก เราได้คุยกับหลายหน่วยงานที่แต่ก่อนอาจจะไม่ค่อยได้ทำงานด้วยกัน แต่ตอนนี้ทุกคนมาช่วยกันหมดเลย

ในระดับระหว่างประเทศก็เช่นกัน เราพูดได้เลยว่า หลายเรื่องที่เมืองไทยก็ไม่รู้คำตอบ จะรอองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศก็อาจจะต้องใช้เวลา เราก็เข้าไปหาพาร์ทเนอร์ในกลุ่มเครือข่ายที่เราอยู่ บางครั้งเราก็ถามเขา บางครั้งเราก็ช่วยตอบคำถามของเขา นี่เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยพัฒนาและตอบโจทย์เชิงนโยบายได้เร็วขึ้นมาก

และสุดท้ายคือเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาไปเร็วมากในปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรหลายอย่างที่เราจะทำไม่ได้เลย ถ้าไม่มีโควิด เราต้องไม่ลืมนะว่า แม้วิทยาศาสตร์จะเกี่ยวกับการทดลองอะไรใหม่ๆ แต่ก็มีขั้นตอนในการปฏิบัติ (protocol) และต้องระมัดระวังมากๆ แต่โควิดทำให้หลายอย่างพัฒนาไปเร็วมาก ส่วนหนึ่งจากความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ในขณะเดียวกัน เราก็อยากให้หลายคนมาช่วยดู ช่วยกันวิจารณ์ด้วย เช่น เรื่องประสิทธิผลของวัคซีน ที่อาจจะมีข่าวว่า คนสูงวัยต้องฉีดยี่ห้อหนึ่ง แต่เราได้เข้าไปดูข้อมูลในวารสารหรือยังว่าเขาทดลองกับผู้สูงอายุกี่คน ตรงนี้ก็ต้องมาอ่าน มาช่วยกันดู ทุกคนสามารถช่วยประเทศได้โดยที่เราไม่เชื่อข่าวทั้งหมด และลองเข้าไปอ่านศึกษากันดู ซึ่งมันก็ช่วยให้เรามีความรู้มากขึ้นด้วย


ถ้าย้อนกลับไปในอดีต นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดโรคระบาดขึ้น เราเคยผ่านโรคระบาดมาหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่สเปน โรคซาร์ส (SARS) หรือโรคเมอร์ส (MERS) อะไรทำให้โควิดแตกต่างจากโรคที่ผ่านๆ มา

วรรณฤดี: ถ้าพูดถึงโรคซาร์ส คนมีโอกาสติดน้อยกว่าโควิดนะ แต่ถ้าเป็นแล้วโอกาสเสียชีวิตมากกว่าหลายเท่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้โควิดแตกต่างออกไปคือการแพร่ระบาด (spread) นี่เป็นโรคที่ทำให้คนติดได้เร็ว ยิ่งโลกาภิวัตน์ทำให้โรคแพร่ระบาดไปได้ทุกที่จริงๆ ยิ่งคนที่ติดบางคนไม่แสดงอาการด้วย แต่มาตรวจอีกทีคือมีภูมิคุ้มกันแล้ว แสดงว่าติดโรคและหายไปโดยที่เขายังไม่รู้ตัว 

อีกอย่างคือ ถ้าเราย้อนไปดูจะเห็นว่า ตอน WHO ประกาศเตือนออกมา มีหลายประเทศที่ไม่ได้ตอบสนองต่อคำเตือนในทันที ต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือนกว่าเขาจะตระหนักได้ว่ามันเป็นการระบาดใหญ่ แต่ตอนนั้นก็เหมือนจะสายไปแล้ว โรคแพร่ระบาดไปไกลแล้ว

ตอนนี้ คำถามสำคัญหนึ่งที่เราก็ยังหาคำตอบไม่ได้คือ ต้นตอจริงๆ ของโควิดเริ่มมาจากไหนกันแน่ ซึ่งถ้าเรารู้ว่ามันเริ่มมาจากไหน เกิดจากอะไร ก็น่าจะช่วยให้เราเข้าใจอะไรได้มากขึ้น แต่ตอนนี้ก็ยังหาคำตอบหรือผลสรุปกันอยู่


เวลาผ่านมาหนึ่งปี ถ้าไม่นับเรื่องต้นตอของโรค เรารู้อะไรมากขึ้นแล้วเกี่ยวกับโควิด

วรรณฤดี: อย่างแรกคือเรื่องการติดเชื้อ เวลาเราทำโมเดลของโรคติดเชื้อ (infection disease) จะมีค่าตัวหนึ่งที่เหมือนเป็นอัตรา (rate) บอกว่าคนเราติดเชื้อกันได้เร็วหรือไม่เร็ว หรือถ้าคนหนึ่งติด จะแพร่ไปยังอีกคนได้เยอะน้อยแค่ไหน ถ้าค่านี้ยิ่งเยอะก็จะแพร่ได้เยอะ ซึ่งเราต้องการให้ค่านี้ต่ำกว่า 1 มาถึงตอนนี้ เราเริ่มรู้เรื่องการแพร่เชื้อมากขึ้น แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังคงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมกันต่อไป เช่น โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (new variant) 

อีกอย่างหนึ่งคือ เราจะทำอะไรเพื่ออยู่กับโควิดได้บ้าง ตอนนี้เหมือนเรากำลังวิ่งมาราธอนอยู่ คำถามจึงไม่ควรจะเป็นว่าโรคนี้จะอยู่กับเรานานไหม เมื่อไหร่จะจบ แต่ควรจะถามว่าเราจะอยู่กับมันได้ยังไงมากกว่า เพราะต่อให้โควิดจบ เดี๋ยวก็มีญาติ ลูกพี่ลูกน้อง (new variant) ตามมาอีก เราก็พอรู้มากขึ้นว่าเราต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งจะช่วยเรื่องโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจอื่นด้วย หรือเราอาจจะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แต่รวมๆ คือเราทราบเกี่ยวกับโควิดมากขึ้น และทราบว่าวัคซีนทางสังคม (social vaccine) นั้น สามารถช่วยเราได้

จุฑามาศ พราวแสง
จุฑามาศ พราวแสง


คนพูดถึงเรื่องการฉีดวัคซีนกันมาก ขณะเดียวกันก็ยังมีคำถามอีกหลายข้อเกี่ยวกับวัคซีน จึงอยากเริ่มด้วยการชวนคุณอธิบายก่อนว่าวัคซีนคืออะไร เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย

จุฑามาศ: วัคซีนคือการนำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรง หรือเอาเศษเสี้ยวของเชื้อโรคมาทำให้อยู่ในเข็ม จากนั้นจึงฉีดเข้าร่างกายเราเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เปรียบเสมือนทหาร ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องติดโรคนั้นมาก่อน

วรรณฤดี: เหมือนกับว่าเราไม่ชอบกินอาหารเผ็ด แต่ถ้าเรารู้แล้วว่านี่คือพริก ครั้งต่อไปเราก็จะไม่กลัวเพราะเรารู้แล้ว เหมือนร่างกายมีกองทัพขึ้นมาเตรียมสู้ ครั้งต่อไปถ้าต้องกินเผ็ดก็อาจจะเตรียมนมไว้ แต่ในกรณีของวัคซีน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในร่างกายเรา 

แต่ที่น่าสนใจคือ มีวัคซีนที่ใช้การผลิตแบบใหม่ เช่น ผลิตด้วยวิธี mRNA ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีวัคซีนไหนที่ผลิตและฉีดให้คนโดยใช้วิธีนี้มาก่อน สิ่งที่น่าดูต่อไปจึงเป็นเรื่องผลกระทบในระยะยาว


ปกติการพัฒนาวัคซีนจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่ในกรณีของวัคซีนโควิด-19 เราจะเห็นว่ากระบวนการผลิตคิดค้นใช้เวลาเร็วกว่าที่เคยเป็นมา ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ และเมื่อวัคซีนผลิตคิดค้นได้เร็วกว่าเดิมแบบนี้ มีประเด็นอะไรที่เราควรคำนึงถึงบ้าง

วรรณฤดี: ถึงเชื้อโควิด-19 จะเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับเรา แต่ถ้าเป็นคนที่ศึกษาด้านนี้มันไม่ได้ใหม่นะ เขาเรียกว่าเป็นไวรัสที่อยู่ในตระกูลโคโรนา (Corona family) คนถึงเรียกว่าไวรัสโคโรนาก่อนจะเรียกว่าโควิด-19 เป็นตระกูลเดียวกับไวรัสเมอร์ส ทีมวิจัยที่ค้นคว้าวัคซีนโรคเมอร์ส ได้นำเอางานที่เคยทำมาแล้วมาต่อยอด ไม่ได้เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ต้องบอกว่าการผลิตคิดค้นวัคซีนโควิดเกิดขึ้นเร็วมากอยู่ดี คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งกลายเป็นคำถามที่ตอบยากมาก ว่าประสิทธิผลของวัคซีนดีจริงไหม ควรฉีดอันนี้ไหม จะมีผลข้างเคียงอย่างไร เป็นตัวอย่างคำถามที่ยังมีอยู่ และมีทีมวิจัยทั่วโลกช่วยกันทำการศึกษาอยู่


คุณบอกว่าโจทย์เรื่องประสิทธิผลของวัคซีนมีความซับซ้อน อธิบายได้ไหมว่าซับซ้อนอย่างไร

จุฑามาศ: ก่อนหน้าที่จะมีวัคซีนออกมาสู่ท้องตลาด เราทำงานวิจัยหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อหาว่า วัคซีนแบบไหนถือว่าเป็นวัคซีนที่มีคุณสมบัติที่ดี คำว่า ‘ดี’ ในที่นี้คือ เมื่อฉีดวัคซีนที่มีคุณสมบัติ 1-2-3 ไปแล้ว จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งตอนที่ทำงานวิจัย เรายึดคุณสมบัติวัคซีนของ WHO ที่เขาลิสต์คุณสมบัติของวัคซีนโควิด-19 ออกมาว่า วัคซีนควรมีคุณสมบัติใดบ้าง เช่น ควรมีประสิทธิผลด้านไหนบ้าง ควรมีระยะเวลา (duration) ในการออกฤทธิ์ยาวนานเท่าไหร่ และในแต่ละด้านก็จะแบ่งออกเป็นคุณสมบัติที่ดี (preferred condition) คุณสมบัติที่ไม่ถึงกับดีแต่ยอมรับได้ (minimal condition) เช่น ระยะเวลาที่ให้ผลคุ้มครอง อย่างดีควรจะเป็น 1 ปี ถ้ายอมรับได้ก็จะเป็นครึ่งปี

ในส่วนของประสิทธิผล ทาง WHO กำหนดไว้ 3 แบบ คือ ลดการติดเชื้อ (ฉีดแล้วไม่ติดเชื้อ) ลดการแพร่เชื้อ (คนที่ฉีดอาจจะติดเชื้อได้ แต่แพร่ให้คนอื่นไม่ได้) และลดความรุนแรง (ติดโรคได้ แต่มีอาการไม่รุนแรง) ซึ่งคุณสมบัติที่ดีของทั้งสามแบบคือได้ผล 70% ยอมรับได้คือ 50%

เมื่อเรารู้ว่าวัคซีนโควิด-19 ควรมีคุณสมบัติตามนี้ จากนั้นก็นำข้อมูลต่างๆ เข้าแบบจำลองโรคติดเชื้อ และดูว่าวัคซีนที่มีคุณสมบัติแบบไหนจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้มากที่สุด คำถามแรกที่เราดูคือ ประสิทธิผลทั้ง 3 ด้านที่ว่ามา แบบไหนดีกว่ากัน ซึ่งเราพบว่าวัคซีนที่มีประสิทธิผลด้านลดการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อ สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้ดี 

วรรณฤดี: ถ้าให้เราเลือกว่าอยากได้วัคซีนที่มีประสิทธิผลแบบไหน เราก็คงบอกว่าอยากได้ทั้งหมดใช่ไหม ซึ่งมันก็ควรจะเป็นแบบนั้น แต่ในปัจจุบัน หลักฐานของประสิทธิผลของวัคซีนที่มี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เพราะเรามีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น จากการที่มีคนฉีดมากขึ้นทุกวัน ซึ่งทำให้เราควรจับตาดูความคืบหน้าต่อไป

เรื่องประสิทธิผลของวัคซีนจะเข้ามามีผลกับเรื่องที่ว่าใครควรฉีดวัคซีนก่อน-หลังด้วยหรือไม่ อย่างไร

วรรณฤดี: โมเดลที่เราทำก็มีทดสอบว่า วัคซีนที่มีประสิทธิผลแบบไหนจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้มากสุด ซึ่งคำถามจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “ใครควรฉีดก่อน-หลัง” เพราะจะฉีดให้ใครต้องดูประสิทธิผลของวัคซีนด้วย เราสรุปคร่าวๆ ได้ว่า ถ้าวัคซีนมีประสิทธิผลลดความรุนแรง เราควรฉีดให้ผู้สูงอายุก่อน โดยอิงจากหลักฐานแบบจำลองคือ การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิผลลดความรุนแรงให้กับผู้สูงอายุสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้มากกว่าวัยแรงงานที่มีอายุ 20-39 ปี เพราะกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าเมื่อติดโควิด ทำให้เมื่อฉีดวัคซีนที่มีคุณสมบัติแบบนี้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ จะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตได้ 

จุฑามาศ: แต่ถ้าวัคซีนมีประสิทธิผลลดการติดเชื้อ คนที่ควรได้จะเปลี่ยนเป็นวัยแรงงานอายุ 20-39 ปี เพราะจากการระบาดรอบแรก กลุ่มวัยแรงงานคือกลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุด ถ้าเราฉีดวัคซีนที่ลดการติดเชื้อให้เขา เขาก็จะไม่ติด และไม่นำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น

วรรณฤดี: ตอนนี้ WHO มีแนวนำทาง (guideline) ออกมาว่า ใครควรได้ฉีดวัคซีนก่อน ซึ่งเราเห็นแล้วว่า หนึ่งในกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อนคือกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ WHO ก็เน้นด้วยว่า จริงๆ ต้องขึ้นกับประสิทธิผลของวัคซีนด้วย และบริบทของแต่ละประเทศ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจถึงประสิทธิผล ประโยชน์และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการฉีดวัคซีน

ถ้าให้เราเลือกว่าอยากได้วัคซีนที่มีประสิทธิผลแบบไหน เราก็คงบอกว่าอยากได้ทั้งหมดใช่ไหม ซึ่งมันก็ควรจะเป็นแบบนั้น แต่ในปัจจุบัน หลักฐานของประสิทธิผลของวัคซีนที่มี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เพราะเรามีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น จากการที่มีคนฉีดมากขึ้นทุกวัน ซึ่งทำให้เราควรจับตาดูความคืบหน้าต่อไป


มาจนถึงตอนนี้ แม้วัคซีนจะเป็นตัวช่วยสำคัญในเรื่องโควิด แต่ก็ดูเหมือนว่าการฉีดวัคซีนจะยังช่วยให้เราวางใจกับโควิด 100% ไม่ได้ ยิ่งตอนนี้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาในช่วงเดือนเมษายน คุณมีคำแนะนำไหมว่า เราจะปรับตัวและอยู่กับโควิดอย่างไรต่อจากนี้

วรรณฤดี: ขอเน้นว่าวัคซีนทางสังคม (social vaccine) มีความสำคัญมาก การใส่หน้ากากอนามัยตอนออกจากบ้านควรเป็นเรื่องปกติ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง นอกจากโควิดแล้วก็ยังช่วยโรคอื่นได้ด้วย

จุฑามาศ: วัคซีนทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันคุณได้ 100% สมมติบอกว่าป้องกันได้ 70% หมายถึงจาก 100 คน คุณอาจจะเป็นหนึ่งในส่วนที่ฉีดแล้วไม่เวิร์กก็ได้ และเรายังไม่รู้ด้วยว่า วัคซีนจะออกฤทธิ์ได้นานแค่ไหน สมมติวัคซีนที่คุณฉีดเริ่มหมดฤทธิ์แล้ว แต่คุณไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไปเที่ยวปกติ ก็ติดเหมือนเดิม

ข้อค้นพบต่อมาที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณสมบัติวัคซีนด้านระยะเวลาที่ให้ผลคุ้มครอง คือ ถ้าสมมติมีวัคซีนสองชนิด ระหว่างวัคซีนที่มีประสิทธิผลป้องกันโรคสูง (90%) และมีระยะเวลาในการป้องกันสั้น (ป้องกันโรคได้ครึ่งปี) เปรียบเทียบกับ วัคซีนที่มีประสิทธิผลป้องกันโรคต่ำลงมา (70%) แต่มีระยะเวลาในการคุ้มครองนาน (ป้องกันโรคได้ 1 ปี) วัคซีนแบบไหนดีกว่ากัน ผลคือแบบหลังดีกว่า สามารถลดจำนวนติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้มากกว่า ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า วัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคน้อยกว่าไม่ได้ด้อยกว่าเสมอไป หากมีระยะเวลาที่ให้ผลคุ้มครองที่นานกว่า


มีคนพูดถึงเรื่องการปล่อยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) จริงๆ แล้วแนวคิดนี้คืออะไร และคุณมองเรื่องนี้อย่างไร

จุฑามาศ: แนวคิดของภูมิคุ้มกันหมู่คือ ให้คนประมาณ 60% มีภูมิคุ้มกันเพื่อคุ้มครองคนอีก 40% ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เราเห็นบางประเทศลองใช้วิธีคล้ายๆ แบบนี้ คือปล่อยให้ทุกคนติดเชื้อเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกัน คิดว่าทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การควบคุม แต่อย่างที่เราเห็นกันแล้วว่ามันไม่ใช่ 

นอกจากการติดโรคเอง การฉีดวัคซีนก็สร้างภูมิคุ้มกันได้ แต่ประเด็นคือ ถ้าจะทำแบบนี้ คน 60% ต้องได้รับวัคซีนพร้อมๆ กัน แต่ในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถหาวัคซีนมาได้เพียงพอสำหรับคน 60% สมมติว่าเราได้ 3 ล้านโดสเพื่อฉีดให้ลอตแรก กว่าลอตที่สองจะมา ฤทธิ์ของลอตแรกก็อาจจะลดลงแล้ว ทำให้เราอาจไม่สามารถทำให้คน 60% มีภูมิคุ้มกันพร้อมๆ ด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ แต่ถ้าในอนาคต เรารู้ว่าวัคซีนให้ผลได้นานเท่าไร และเมื่อวัคซีนกำลังจะหมดระยะเวลาให้ผล เราก็ให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (booster dose) เพื่อทำให้ฤทธิ์ของวัคซีนคงอยู่ ถ้าเป็นแบบนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนก็อาจเป็นไปได้

วรรณฤดี: แนวคิดภูมิคุ้มกันหมู่มีมานานพอสมควร และช่วยให้มนุษยชาติรอดอะไรมาได้หลายครั้งแล้ว ซึ่งถ้ามองตามหลักทฤษฎีมันช่วยได้นะ ทุกคนที่เรียนระบาดวิทยาจะเรียนเรื่องนี้มาหมด ซึ่งมีความจำเป็นที่กลุ่มคนนี้ต้องได้รับการป้องกันในเวลาเดียวกัน ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารจัดการที่ดีด้วย


อีกแนวคิดหนึ่งที่มีคนพูดถึงคือเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต (vaccine passport) อยากชวนคุณอธิบายว่าแนวคิดนี้เป็นมาอย่างไร มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม

วรรณฤดี: ตอนนี้จะเห็นว่า หลายคนอยากให้เปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและอยากให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็มีความซับซ้อนในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการทำงานในประเทศ หลักการระหว่างประเทศ และผลกระทบที่คาดไม่ถึงทางด้านสังคมด้วย

ถ้าให้ขยายความ เราต้องเริ่มจากพิจารณาเรื่องนิยามของคำก่อน จริงๆ เรื่องนี้มีคำ 4 คำ คือ วัคซีน (vaccine) พาสปอร์ต (passport) ภูมิคุ้มกัน (immunity) และหนังสือรับรอง (certificate) เวลาเราพูดถึงเรื่องนี้ อาจจะเป็นได้ทั้ง vaccine passport/certificate หรือเป็น immunity passport/certificate ก็ได้

ถามว่าคำสำคัญอย่างไร ถ้าเราพูดถึงพาสปอร์ต มันคือเอกสารทางกฎหมาย (legal document) ที่คุณใช้แทนบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ได้ แต่หนังสือรับรองอาจจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ก็ได้ จะเห็นว่าระหว่าง ‘พาสปอร์ต’ กับ ‘หนังสือรับรอง’ ก็จะมีนัยทางกฎหมายร่วมอยู่ด้วย

ส่วนคำว่า ‘วัคซีน’ กับ ‘ภูมิคุ้มกัน’ วัคซีนจะเป็นตัวบอกว่าคุณได้ฉีดหรือไม่ฉีด ก็ง่ายเลย มีบันทึกไว้ว่าได้วัคซีนอะไร โดสไหน เมื่อไหร่ แต่ถ้าพูดถึงภูมิคุ้มกัน เราจะรู้ว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ก็ต่อเมื่อไปตรวจ คำถามคือ ถ้าคนต่างประเทศจะเข้ามาและบอกว่าเขามี immunity passport เขาไปตรวจที่ห้องทดลองมาแล้วพบว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกัน เราจะเชื่อเขาได้ไหม หรือห้องทดลองนั้นเชื่อถือได้ไหม ก็จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ไม่เหมือนกันอีก เพราะวัคซีนกับภูมิคุ้มกันก็เป็นคำที่มีนัยไม่เหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งที่คนอาจไม่ค่อยพูดถึงคือ ผลกระทบทางสังคม เพราะเหมือนกับเราบอกว่า ถ้าคุณไม่ฉีดวัคซีน คุณไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้ เขาบอกว่าเหมือนกับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน (violation of human rights) เพราะคุณจะมาบอกได้ยังไงว่าเราห้ามไปที่ไหน สมมติว่าเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีน เรากำลังจะบอกว่าเด็กไปดูบอลที่สนามกีฬาไม่ได้ ไปกินข้าวที่ร้านอาหารไม่ได้ หรือไปคอนเสิร์ตไม่ได้ หรือถ้าผู้หญิงที่กำลังจะมีลูกก็ฉีดไม่ได้ แบบนี้เหมือนกับเราบอกว่าเขาเป็นคนที่ทำบางอย่างไม่ได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่ใช่ จะเห็นว่านัยทางด้านสังคมมีมากกว่าที่เราคิด 

วัคซีนทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันคุณได้ 100% สมมติบอกว่าป้องกันได้ 70% หมายถึงจาก 100 คน คุณอาจจะเป็นหนึ่งในส่วนที่ฉีดแล้วไม่เวิร์กก็ได้ และเรายังไม่รู้ด้วยว่า วัคซีนจะออกฤทธิ์ได้นานแค่ไหน สมมติวัคซีนที่คุณฉีดเริ่มหมดฤทธิ์แล้ว แต่คุณไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไปเที่ยวปกติ ก็ติดเหมือนเดิม


ในฐานะคนทำงาน อยากสื่อสารอะไรกับสังคมในเรื่องโควิด-19 บ้าง

จุฑามาศ: อย่างที่อาจจะพูดไปบ้างแล้วว่า เราอยากเน้นในประเด็นเรื่องวัคซีนทางสังคม เพราะอย่างที่เล่าไปว่า เราเห็นว่าผลของวัคซีนแบบนี้ดีกว่าอีกแบบหนึ่ง ดูว่าวัคซีนแบบไหนจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้มากกว่ากัน โดยการใช้แบบจำลองโรคติดเชื้อ แต่ที่จริงแล้วผลดังกล่าวไม่ได้เป็นเพราะวัคซีนอย่างเดียว เพราะเราใส่เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมเข้าไปในแบบจำลองด้วย 40% และการล้างมือให้สะอาด (hand hygiene) เข้าไปอีก 30% และถ้าไม่มีสองอย่างนี้ การมีวัคซีนเข้ามาก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก

วรรณฤดี: เรื่องวัคซีนทางสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เราอยากให้ประชาชนรู้ว่า สิ่งที่เขาทำไปมีผลในการช่วยประเทศไทย แม้วันนี้เราจะยังเจอเคสใหม่ๆ อยู่ แต่ก็ยังมีสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยสังคม ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความร่วมมือของทุกคน ซึ่งอยากให้คนไทยช่วยกันทำต่อไป ความพยายามและความร่วมมือของคนไทยสามารถช่วยให้เรารับมือกับโควิด-19 ได้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save