fbpx
จักรวาล การเมือง และความเถื่อน ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

จักรวาล การเมือง และความเถื่อน ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ปรากฏชื่อในหน้าสื่อตั้งแต่เขายังเป็นวัยรุ่น เขาเขียนหนังสือหลายเล่ม เล่นดนตรีและแต่งเพลงให้เราฟังหลายเพลง ก่อนจะโลดแล่นไปทั่วโลก ทำรายการในชื่อ ‘เถื่อน Travel’ ท่องไปในพื้นที่ที่ “คนอื่นเขาไม่บ้าไปกัน” ปีนขึ้นไปเหนือสุดขอบโลก ย่ำไปในทะเลทราย และฝ่ากระสุนเข้าไปในพื้นที่สงคราม ความหลากหลายของโลกทำงานกับความคิดของเขาได้อย่างน่าสนใจ

ในวันที่ไม่ได้ไปไหน เขาอยู่บ้านในซอยเงียบสงบ เล่นกับหมา นอนอ่านหนังสือ และหาเวลาว่างให้เชลโลกับเปียโนที่บ้าน กับชีวิตที่ดูเหมือนจะสุขสบายไม่มีอะไรทุกข์ร้อน เขาบอกกับเราบ่อยครั้งว่าเขาโชคดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสนใจที่เขามีต่อโลกน้อยลง

ในห้วงเวลาที่การเมืองไทยกลับมาร้อนระอุ และหลายคนก็เห็นว่ากติกาที่เรามีอยู่อาจพาสังคมสู่ทางตัน เราชวนวรรณสิงห์มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องสังคมโลกและการเมืองไทย รัฐธรรมนูญที่เราควรมีเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เขากำลังสนใจจริงจัง เรานัดคุยกันช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และก่อนที่พรรคอนาคตใหม่จะถูกตัดสินยุบพรรคไม่กี่ชั่วโมง

โลกที่เขาเคยเห็นเป็นอย่างไร ประเทศไทยในสายตาเขาเป็นอย่างไร และอะไรคือเรื่องที่เขาคิดว่าสำคัญกับชีวิตและโลกทรงกลมใบนี้

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

คุณคิดว่าประเทศไทยเราจริงๆ ปัญหาเยอะอย่างที่เรารู้สึกกันไหม

ถ้าตอบในมุมส่วนตัว ผมอาจจะมีมุมมองที่ใช้กับคนส่วนใหญ่ไม่ได้ เพราะผมเห็นที่แย่มากๆ มาแล้วทั่วโลก ประเทศที่มีการคอร์รัปชัน เป็นเผด็จการ มีการควบคุมสื่อ ไปจนถึงประเทศที่มีสงครามและความรุนแรงถึงขั้นสูงสุด เพราะฉะนั้นในสเกลของโลก ผมไม่ได้มองว่าไทยแย่ขนาดนั้น ทั้งในเชิงการกลั่นแกล้งทางการเมืองก็ดี การคอร์รัปชัน การปิดบังสื่อก็ดี ซึ่งอันนี้ไม่ใช่การแก้ตัวแทนรัฐบาลไทย แน่นอนมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข มีเรื่องราวผิดพลาดมากมาย แต่ว่าในระดับโลก พวกเราไม่ได้อยู่ต่ำขนาดนั้นจริงๆ

ในประเทศสงครามที่ผมไป มีการแบ่งกลุ่มค่อนข้างชัดเจนโดยเส้นแบ่ง หนึ่ง แบ่งชาติพันธุ์ ผิวคนละสี หรือมาจากคนละขั้วของประเทศ อยู่กันในคนละวัฒนธรรม สอง แบ่งแยกกันในเชิงศาสนา แล้วในขั้วอำนาจที่มีการปกครองตรงนั้น ไม่ได้มีการรองรับสิทธิของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ก็เลยนำมาซึ่งความขัดแย้งและต้องใช้อาวุธในการต่อรองเพื่อสร้างพื้นที่ให้เท่าเทียมกัน ซึ่งในกระบวนการใช้อาวุธในการต่อรองก็ถูกพัฒนากลายเป็นสงคราม ต้นกำเนิดอาจจะหายไประหว่างทาง แต่เป็นการยิงกันเพราะอยู่คนละฝั่ง

ทีนี้เมืองไทย ในเชิงประชากร เราไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนขนาดนั้น ชาติพันธุ์เราก็หน้าตาคล้ายๆ กันหมด แน่นอนว่ามีเรื่องชนกลุ่มน้อย อันนี้มองข้ามไม่ได้ แต่เราไม่ได้แบ่งชัดเจนเท่าประเทศอื่นที่มีคนขาว คนดำ คนลาติน ในเชิงศาสนาก็ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์นับถือพุทธ เส้นแบ่งที่ชัดเจนที่สุดตอนนี้คือเรื่องความคิด

นั่นแปลว่าการแก้ปัญหาจริงๆ ไม่ได้ยากขนาดนั้นถ้าเทียบกับสเกลประเทศอื่นๆ เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนให้คนผิวดำกับคนผิวขาวหน้าตาเหมือนกันได้ แต่เรื่องของเส้นแบ่งทางความคิด ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ แต่ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการแบ่งแยกในประเทศอื่น แล้วการมองสเกลตรงนี้ ต้องมีคนเริ่มนำความเข้าใจเรื่องความคิดมาสู่กันและกัน ไม่ได้แปลว่าต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด แต่คือการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายทางความคิด ซึ่งเป็นความแตกต่างหลากหลายเรื่องพื้นฐานที่สุด

การก้าวข้ามความขัดแย้ง อาจจะไม่ได้ยากเท่าที่เราคิดก็ได้ เพราะเป็นเรื่องความคิด ดีดนิ้วเป๊าะ อาจจะแบบ แล้วจะทะเลาะกันมาทำไมนะก็ได้ ขณะที่โจทย์ที่ประเทศอื่นๆ เจอ ยากกว่านี้ โดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน คนที่พูดคนละภาษา คนละชาติพันธุ์โดนรวมมาอยู่ในเขตแดนเดียวกัน เป็นเรื่องยากมากที่เขาจะตกลงกันได้ เพราะว่าการแย่งอำนาจของแต่ละชาติพันธุ์ก็ชัดเจนว่าใครอยู่ฝั่งไหนตั้งแต่เกิดแล้ว

 

คุณพอจะมีเรื่องเล่าจากต่างประเทศไหม ที่คุณไปเห็นมาแล้วมองว่าสุดๆ จริงๆ  

ถ้าเอาเรื่องความขัดแย้งและความเป็นอยู่ ผมนึกถึงที่แรกเลยคือซีเรีย ผมมีโอกาสไปสัมผัสชีวิตผู้ลี้ภัยซีเรียมาหลายครั้ง ยังไม่ได้เข้าซีเรียนะ แต่คุยกับค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ มีทั้งคนซีเรียที่มาอยู่ไทย มีที่กระจายตัวอยู่ในตุรกี ผู้ลี้ภัยผ่านความขัดแย้ง ผ่านความรุนแรง ในครอบครัวมีคนตาย ผมฟังจากคนที่รอดแล้วสะเทือนใจมาก เขาบอกว่า ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม อยู่แค่มีลมหายใจไปเรื่อยๆ ไม่มีความหวังว่าจะจบเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ ทำงานก็ไม่ได้ กฎหมายไม่รองรับเพราะไม่ใช่ประชากรประเทศนั้น เราเป็นส่วนหนึ่งกับใครก็ไม่รู้ เพราะประเทศที่เราจากมาก็จะฆ่าเรา ประเทศที่เรามาอยู่ก็ไม่ได้ถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่ง

มีตอนหนึ่งที่ผมสะเทือนใจมากในการถ่ายทำที่ซีเรีย ถ้าคนได้ดูเถื่อนทราเวลคงจะนึกออก มีเด็กหนุ่มซีเรียคนหนึ่งมาร่ายกลอนให้ผมฟังเป็นภาษาอาราบิก คนแปลก่อนจะแปลให้ผมฟังก็ร้องไห้ เพราะเป็นคนซีเรียเหมือนกัน

เด็กหนุ่มคนนั้นบอกว่า หนุ่มสาวเอยอย่าโตขึ้นมาเลย จะโตมาทำไม โตไปก็มีแต่ผู้ก่อการร้าย มีแต่คนยิงกัน มีคนฆ่ากัน โตไปเดี๋ยวก็ตายแล้ว ซึ่งความสิ้นหวังในระดับนั้นโหดจริงๆ กับจิตใจมนุษย์ เพราะไม่รู้จะหวังอะไร แล้วเด็กอายุ 13-14 ปี ควรจะมีความหวัง มีความฝันกับอนาคตมากมาย ปรากฏว่าเขาต้องอยู่กับความรู้สึกอย่างนั้น แล้วไม่ใช่แค่เด็กคนนั้นคนเดียวด้วย

จริงๆ แล้ว เด็กที่โตมาจนอายุ 13-14 ปี อาจจะเรียกได้ว่าโชคดีแล้ว เพราะมีเด็กจำนวนมากตายตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ เด็กทารกโดนระเบิดเป็นว่าเล่นในซีเรีย ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบันก็ยังดำเนินต่อไป เพียงแค่พอเกิดขึ้นนานเกินไป โลกก็หันไปดูทางอื่น เช่น โคโรน่าไวรัส ไฟป่าออสเตรเลีย ทั้งที่ยังมีความทุกข์ทรมานของผู้คนในซีเรีย และอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกที่มีความขัดแย้งมากมาย ไม่หายไปไหน

ในขณะเดียวกันเราก็เห็นสังคมที่ตื่นรู้ สังคมที่โลกมองเป็นตัวอย่าง เช่น ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ หรืออย่างประเทศเล็กๆ ชื่อเอสโตเนีย เราเห็นว่าการเมืองในประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นแค่ระบบที่รัฐมาบริหารทรัพยากรของชาติ แต่คือการสร้างมาตรฐานทางสังคม ที่ให้ผู้คนมองแล้วเข้าใจว่าสิ่งที่ถูกต้องยอมรับได้คืออะไร อะไรที่รับไม่ได้ในสังคมนั้น ซึ่งการเมืองที่ดีที่สุดควรจะเซ็ตมาตรฐานที่ไม่ได้เจาะจงไว้แค่ในกฎหมาย แต่เจาะจงไว้ในจิตสำนึกของคน

พอเราศึกษาว่าประเทศเหล่านี้ไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร สังคมตื่นรู้ได้อย่างไร ก็ทำให้เรามีความหวังขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เพราะทุกประเทศก็เคยผ่านระยะเฮงซวยซังกะบ๊วยเหมือนบ้านเรามาทั้งนั้น สเปนไม่กี่สิบปีก่อนยังเป็นเผด็จการอยู่เลย หรือยุโรปย้อนกลับไป 70-80 ปีก่อนยังฆ่ากันยับ กระบวนการที่ความขัดแย้งล่มสลาย แล้วสร้างสิ่งใหม่ที่แข็งแรงขึ้นมา เป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาสังคม ถ้าเราไม่ได้มองแค่สังคมไทยแต่มองประวัติศาสตร์ของคนทั่วโลกเราจะเห็น

มนุษย์จำนวนมากในโลกเริ่มต้นจากการมองเห็นความแตกต่างของกันและกันในพื้นที่ใกล้ๆ จนกระทั่งมีอะไรที่ใหญ่กว่านั้นมาทัช ก็จะรวมตัวกัน แล้วก็สู้กับศัตรูที่ใหญ่กว่า พอสู้กันไปจนล่มสลายก็จะรวมตัวกันแล้วสู้กับศัตรูที่ใหญ่กว่าอีก ซึ่งปัจจุบันนี้เรามีความขัดแย้งในสังคมเยอะ แต่ถ้าเรามีศัตรูอื่นเข้ามาแทรกแซงที่ทำให้เราต้องรวมกัน เราก็อาจจะเลิกมองสิ่งเหล่านี้ก็ได้

ผมเห็นสังคมประเทศอื่น แต่ไม่ได้เห็นแค่สังคมมนุษย์อย่างเดียว เห็นธรรมชาติ เห็นสังคมของสัตว์ป่า เห็นระบบนิเวศ แล้วพอปรับเป็นมุมมองของจักรวาลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเห็นโลกอีกแบบ ไม่ได้อยากพูดให้ดูน่าหมั่นไส้นะ ผมไปข้ามทะเลทรายซาฮารา เขาก็พยายามอธิบายว่าแต่ก่อน อันนี้เขตของฝรั่งเศส อันนี้เขตของสเปน แต่พอเราเห็นทรายสุดลูกหูลูกตา รอบตัวมีแต่ทราย ร้อยกิโลเมตร พันกิโลเมตร เราก็รู้สึกว่าไร้สาระฉิบหายมาวาดเส้นอะไรกันตรงนี้ แล้วมึง มึงในที่นี้คือมนุษย์ มีสิทธิ์อะไรมาแบ่งทะเลทรายเป็นเส้นนู้นเส้นนี้ ซึ่งเป็นเส้นที่โคตรจะสมมติเลย ทำให้สโคปเรื่องสังคมมนุษย์เล็กลงเรื่อยๆ ในความคิดของผมนะ

แล้วผมก็ได้ศึกษาเรื่อง climate change เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าทุกคนปฏิบัติกับ climate change เหมือนเป็นประเด็นทางจริยธรรม ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันเถอะ เป็นคนดี แต่ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านี้จะกลายเป็นประเด็นเรื่องการอยู่รอดของสังคมที่ไม่มีรัฐบาลไหนเพิกเฉยได้ แล้วขอบเขตของการทะเลาะเบาะแว้งกันในมนุษย์จะดูเล็กไปเลย เมื่อเราเจอภัยพิบัติที่ใหญ่โตขนาดนั้น

ถึงจุดนั้นเราอาจจะรวมกันติดมากกว่านี้ เพื่อสู้กับศัตรูที่ใหญ่กว่า ผมพูดได้ว่าตอนนี้โลกอยู่ในสภาวะโคม่าแล้ว เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อหนัก อาจจะยังไม่ได้แสดงอาการเยอะ แต่เชื้อนั้นเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดเรียบร้อยแล้วและกำลังจะแสดงอาการเร็วๆ นี้ ฉีดยาแทบตายเท่าไหร่ก็หยุดการแพร่กระจายเชื้อไม่ได้ อาจจะชะลอไม่ให้อาการแย่มากนัก แต่เราผ่านจุดที่จะเบรกได้แล้ว และปฏิกิริยาลูกโซ่ทั้งโลกกำลังเกิดขึ้น

 

เรื่องความหวังของคนหนุ่มสาว เรื่องการสู้ในเขตเล็กๆ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คุณเล่ามา ก็เชื่อมโยงกับเสถียรภาพของรัฐบาลด้วยว่าจัดการดีแค่ไหน ซึ่งถ้ามองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ก่อนที่จะโยงไปในระดับโลก คุณคิดว่ารัฐบาลควรจะเป็นอย่างไร หรือประเทศเราควรจะเป็นอย่างไรถึงจะจัดการกับปัญหาที่ว่ามาได้

ผมไม่ได้คิดว่าเรื่องในประเทศหรือในระดับท้องถิ่นไม่สำคัญ แต่คงจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนักถ้าจะพูดว่ามีเรื่องสำคัญกว่า แต่โอกาสที่จะได้สัมผัสเรื่องที่สำคัญกว่า เราต้องหลุดออกมาจากเรื่องที่สำคัญน้อยๆ ให้ได้ คือก่อนคนจะใส่ใจสิทธิเสรีภาพเรื่องการเมืองได้ ต้องมีสิทธิเสรีภาพเรื่องเศรษฐกิจก่อน พูดง่ายๆ คือต้องมีกินก่อน หรือคุณจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ คุณอาจต้องมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองก่อน

ในประเทศไทย ถ้าเทียบกับสเกลระดับโลกอาจจะเรียกว่าเป็นระดับท้องถิ่นก็ได้ เราควรจะทำอะไรกันก่อน ถ้าเราเทียบกับสเกลสิ่งแวดล้อม เราก็มีบทบาทมากพอสมควรในการสร้างปัญหานี้ขึ้นมา เฉลี่ยคนในโลกปล่อยคาร์บอนคนละ 4 ตันต่อปี ประเทศไทยอยู่ตรงค่าเฉลี่ยเป๊ะคือ 4 ตันกว่าๆ แต่ว่าสิ่งที่ประเทศไทยทำเยอะที่สุดคือ ติด 1 ใน 5 ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลเยอะที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็มีส่วนต้องรับผิดชอบเหมือนกัน

แต่ว่าก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น ต้องเกิดระบบการเมืองที่อนุญาตให้มีการพูดคุยเรื่องการแก้ปัญหา เท่ากับว่าเราต้องจบเรื่องการแย่งอำนาจ การกลั่นแกล้ง และการสาดโคลนใส่กันแล้ว ซึ่งเรายังผ่านไปไม่ได้เลย แล้วมันไม่ใช่เรื่องของการแตกแยกในเชิงการเมืองหรือผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่แตกแยกในเชิงสังคมด้วย เรามีสังคมที่ค่อนข้างแตกร้าวกันเรื่องความคิดมากๆ

แล้วการที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ ไม่ใช่แค่ระดับประเทศด้วยซ้ำแต่คือการร่วมมือของ 195 รัฐบาลทั่วโลกที่จะต้องเปลี่ยนแปลงดาวเคราะห์ดวงนี้ให้ได้ แต่เรายังติดอยู่ตรงที่ประเทศเราดีอย่างไร ผู้นำที่เรามีก็ไม่มีทีท่าว่าจะนำเรื่องนี้ได้ ไม่มีแม้กระทั่งความสนใจหรือความอยากที่จะทำ แต่ผู้นำที่มีทีท่าว่าจะสนใจเรื่องนี้ ก็มีคนที่ต่อต้านเขาเต็มที่เหมือนกัน เขาว่าเขาจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับคนบางกลุ่มในสังคม พอเส้นแบ่งชัดเจนอยู่ตรงนี้ แต่เรายังหาจุดที่คนไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน แต่อยู่ด้วยกันอย่างสงบ และตกลงเพื่อทำงานด้วยกันได้ยังไม่ได้ การประสานงานเพื่อแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าพวกเราเองก็เลยยังไม่เกิดขึ้น

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ปัญหาใหญ่สำหรับคุณคือเรื่อง climate change เป็นหลัก?

คนอื่นอาจจะมองเรื่องการเมือง แต่ตอนนี้ส่วนตัวผมมองเรื่อง climate change เป็นหลัก เพราะถ้าน้ำท่วมเมือง ก็ไม่ต้องมาพูดเรื่องระบบอะไรแล้ว อยู่กันไม่ได้แล้ว แต่ในระยะสั้นเราก็ต้องคุยกันเรื่องระบบต่างๆ เรื่องการศึกษา เรื่องความยุติธรรม ศาล รัฐสภา แต่ระยะยาว ซึ่งในที่นี้คืออีก 70-80 ปีข้างหน้า ถ้าคุณไม่ดูแลเรื่อง climate change เรื่องที่เหลืออื่นๆ จะไม่มีอะไรสำคัญอีกเลย

โลกของเราจะเหมือนซีนในหนังดิสโทเปียที่เราเห็นทั้งหลาย วันๆ วิ่งหาของกิน ฆ่ากัน แย่งเสื้อผ้ากัน เพราะทรัพยากรจะน้อยลงเรื่อยๆ ตอนนี้เรามี 7.7 พันล้านคน แต่ในปี 2100 เราจะมี 11,000 ล้านคนในโลกนี้ แล้วโจทย์แรกก็คือ ถ้าเรายังหาไม่ได้ว่าจะสร้างพลังงานในรูปแบบใหม่อย่างไร โลกใบนี้อย่างไรก็ล่มจม เพราะพลังงานฟอสซิลมาถึงจุดตันแล้ว

เรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างคาดไม่ถึงเหมือนกันนะ เช่น พอโลกมาถึงจุดที่หาพลังงานจากแหล่งอื่นๆ เช่น พลังงานไอน้ำได้ ก็ทำให้การเลิกทาสเป็นไปได้ เพราะเราไม่จำเป็นต้องบังคับให้มนุษย์มาทำงานการผลิตอีกแล้ว แล้วถ้าต่อไปในอนาคต เราสามารถเพาะเนื้อสัตว์ในห้องแล็บได้ ต่อไปเราไม่พูดถึงสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่พูดถึงสิทธิของสัตว์ได้

ตอนนี้เราพูดเหมือนการฆ่าสัตว์เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ถ้าใครเคยไปโรงฆ่าสัตว์ จะรู้สึกว่านี่คือที่สุดของความโหดเหี้ยมของสปีชีส์เรา ผมว่าอีกไม่นาน ถ้ามนุษย์มีโอกาสตื่นรู้ถึงจุดนั้น ถ้าโลกเรายังไม่ล่มสลายเสียก่อน มนุษย์ในอีกร้อยปีข้างหน้าอาจจะกลับมามองโรงฆ่าสัตว์เหมือนที่เรามองการค้าทาสในสมัยก่อน แล้วงงว่าทำกันไปได้อย่างไร แต่นั่นคือมนุษย์ที่มีโอกาสในการกินเนื้อที่เพาะในห้องแล็บแล้ว ไม่ต้องฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อ

เช่นเดียวกัน เราไม่ต้องใช้ทาสเพราะเรามีพลังงานฟอสซิล แต่ทุกอย่างที่เป็นทางแก้ปัญหา สักพักจะกลายเป็นปัญหาในตัวมันเอง เป็นวงจรอย่างนี้เรื่อยไป พลังงานฟอสซิลเคยตอบโจทย์จำนวนมาก พลาสติกมาแทนวัสดุจำนวนมาก แต่ตอนนี้กำลังถึงทางตัน ก็ต้องมีวิธีแก้ปัญหาใหม่มาหักล้างสิ่งเก่า นี่คือวงจรที่โคตรจะธรรมชาติของสังคมมนุษย์ เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ และมีสมการใหม่เข้ามาคือ ดาวเคราะห์ดวงนี้จะรองรับได้หรือเปล่า ซึ่งตัวแปรตัวนี้ มนุษย์ยุคก่อนๆ ไม่เคยต้องคิดถึงมัน

 

ถ้าเป็นอย่างนี้ ประเทศเราจะตกขบวนไหม ผู้นำที่เรามีอยู่จะพาเราผ่านไปได้ไหมในโลกที่ขยับเส้นไปไกลมากแล้ว หรือจะเป็นอย่างที่เขาว่า ‘ผนงรจตกม’

ผมเข้าใจความหงุดหงิดในตัวผู้นำ คือผมก็หงุดหงิดกับเขาหลายครั้งมาก ที่มาก็ไม่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อมาถึงตอนที่มีอำนาจแล้วก็ควรจะแสดงศักยภาพ เอาแค่ในปี 2020 ผ่านมา 2 เดือน มีโอกาสในการแสดงภาวะผู้นำหลายครั้งมาก เพราะบ้านเมืองเราเจอปัญหาเยอะมาก ก็ไม่เห็นทำได้ดีสักครั้ง แต่ว่าในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้โทษเขาหมด ในแง่ที่ว่าปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้ทุกคนระบายใส่เขาหมด ซึ่งการสืบทอดอำนาจของโครงสร้างทหารเป็นปัญหา การมี ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง แล้วเลือกไปในทางเดียวกันหมด 250 เสียงเป็นปัญหา อันนี้ยอมรับ แต่ผมไม่คิดว่าปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้เชื่อมโยงกลับไปถึงจุดนั้น

การแก้ไขปัญหาเรื่องรัฐบาลและการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ต้องแก้ไขกัน แล้วการพัฒนาสังคมไทยไม่จำเป็นต้องมองแค่ว่าทำอย่างไรประยุทธ์ถึงจะออกไป หรือการแสดงออกทางการเมืองที่มีคุณค่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่การด่ารัฐบาล บางคนตัดสินในจุดที่ว่าถ้าคนนี้เคยด่ารัฐบาล โอเค เธอเป็นพวกฉัน ถ้าไม่เคยด่าก็เป็นสลิ่ม จบ ซึ่งพอผมมาแจกแจงให้คุณฟังอย่างนี้คุณอาจจะ เออ ง่ายไปหรือเปล่า

การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งเท่านั้นในประเด็นสำคัญอื่นๆ แล้วถ้าเราโฟกัสปัญหาทุกอย่างไปที่ว่าเราต้องเอาประยุทธ์ออกจากตำแหน่งก่อนถึงจะแก้ไขกันได้ เราจะพลาดโอกาสในการทำอย่างอื่นไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาการเมือง แต่แน่นอน ถ้าเราปลดล็อกเรื่องการเมืองได้ ก็จะเปิดประตูคอขวดที่ยากจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอื่นๆ

ผมคิดเรื่องกฎหมายที่รับรอง LGBTQ+ กฎหมายที่รับรองเรื่องสิ่งแวดล้อม กฎหมายสิทธิมนุษยชนคนกลุ่มน้อย และอื่นๆ อีกมากมาย ประเด็นพวกนี้ควรจะอยู่ในการพูดคุยของสังคม ควรจะเป็นเรื่องที่สังคมมาคุยกันและหาข้อตกลงร่วมกันว่าทำอย่างไรดี ตอนนี้เราไม่เห็นว่ากลุ่มผู้นำของเราจะนำประเด็นเหล่านี้เข้ามา สิ่งเดียวที่เราได้ยินคือ ความมั่นคงของชาติ ซึ่งไอเดียของชาติ ผมมองว่าต่อไปจะเป็นสิ่งล้าสมัยในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ก็ไม่แน่ อาจจะเป็นการคาดคะเนที่ผิดก็ได้ อย่างชาติยุโรปเขาก็ขวาจัดกันมากในช่วงนี้ ไอเดียของชาติกลับชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อผู้ลี้ภัยเข้าไป

แต่ที่ผมมองว่าเรื่องชาติจะล้าสมัยอาจเชื่อมโยงกับเรื่อง climate change ก็ได้ ชาติหรือรัฐชาติ ในแง่หนึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในเขตแดนกายภาพนั้นๆ  เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ น้ำมันหรือป่าผืนนี้ใครเป็นเจ้าของ ก็ต้องมีการลากเส้นชัดเจนขึ้นมา แต่ถ้าไม่จบเรื่อง climate change การบริหารจัดการทรัพยากรจะทำแบบแบ่งแยกเขตแดนไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในทวีปหนึ่งจะมีผลข้ามทวีป ข้ามซีกโลกไป เช่น ป่าแอมะซอนไฟไหม้ มีผลกับคนทั้งโลก แต่ตอนนี้ได้รับการจัดการโดยรัฐบาลบราซิลที่เดียว

กลับมามองเรื่องผู้นำของเรา ผมก็จะตอบสรุปเลยว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ แต่อย่าลืมปัญหาอื่นด้วย และไม่ใช่แค่ปัญหาอย่างเดียว แต่พูดถึงโอกาสในการพัฒนาสังคมในด้านอื่นๆ เช่น การที่วัฒนธรรมของพวกเราก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ข้องเกี่ยวอะไรกับอำนาจรัฐ ประเทศไทยเรามีข้อจำกัดด้านสิทธิเสรีภาพในเชิงการเมือง อันนี้ชัดเจนกับทุกคน แต่เราแสดงออกในเชิงวัฒนธรรมได้ ถ้าเทียบกับเกาหลีเหนือที่ต้องมีลักษณะของชาติอันชัดเจน อะไรที่แตกต่างจากความเป็นเกาหลีเหนือจะแสดงออกไม่ได้เลย แต่ประเทศไทยจะมีฮิปฮอป เคป๊อป เจร็อก เต้นแอฟริกา ใครอยากทำอะไรก็ทำไป เป็นอีกด้านของสังคมที่สำคัญ มีคุณค่า พัฒนาต่อไปได้ เราก็ไม่ควรดูแคลนคุณค่าพวกนี้ แม้ว่าด้านอื่นๆ จะยังมีปัญหาก็ตาม

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

เราเห็นปัญหาแล้วว่าปัญหาของโลกใหญ่มาก แต่ถ้าพูดในเชิงของสังคมไทย ที่เป็นสังคมหนึ่งบนโลกซึ่งอาจจะต้องมีสัญญาประชาคม หรือรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนสัญญาประชาคมนี้ สังคมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ในมุมมองของคุณคิดว่าสัญญาประชาคมนี้ควรจะมีหน้าตาแบบไหน หรือพูดเรื่องอะไรเป็นสำคัญบ้าง

ผมขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมอาจจะไม่เก่งขนาดนั้นในเรื่องประเทศตัวเอง เพราะส่วนใหญ่งานเราไปประเทศอื่นแล้วมองในสเกลระดับโลก ก็อาจจะดูได้เหมือนคนทั่วไป

รัฐธรรมนูญที่จะทำให้สังคมไปได้ อย่างแรกเลยคือ ที่มา ต่อให้เนื้อหาจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ที่มายอมรับไม่ได้ก็ย่อมมีคนขัดข้องใจ แล้วรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีอยู่ตอนนี้ ย้อนกลับไปก็มาจาก คสช. ที่มาจากการยึดอำนาจและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ มีการทำประชามติก็จริง แต่อย่าลืมว่าก่อนมีการประชามติ ใครรณรงค์ต่อต้านประชามติ ให้โหวต no ปุ๊บก็จะโดนจับ โดนแบน โดนสลายการชุมนุมทันที เพราะฉะนั้นเรื่องที่มาก็มีปัญหาแล้ว

พอมาดูเนื้อหา มี 250 ส.ว. คิดอย่างไรก็ไม่เมกเซ้นส์ ต่อให้มองในมุมของเขาว่าเป็นการปราบโกงนักการเมืองก็ไม่เมกเซ้นส์อยู่ดี การเพิ่มจำนวนโหวตของ ส.ว. ไปป้องกันการคอร์รัปชันของ ส.ส. ในสภาอย่างไร อันนี้ผมไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น หนึ่ง คือที่มา สอง คือเนื้อหาที่ไม่สมเหตุสมผล

แล้วส่วนใหญ่คนรู้เรื่องแค่ ส.ส. กับ ส.ว. ในรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลในทางปฏิบัติว่าโหวตในสภามาอย่างไร แต่เรื่องรัฐธรรมนูญก็จะมีมาตราอื่นๆ เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่บอกว่า ประชากรไทยมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน ชายและหญิงเท่าเทียมกัน แต่เมื่อใช้คำว่าชายและหญิง กลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็จะถามว่า แล้วฉันล่ะ? ซึ่งไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เขาเขียนมาผิดนะ เพียงแค่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็ต้องการการรองรับที่มากกว่าเดิมด้วย ต่อไปอาจจะเป็น ‘ชายและหญิง คนหลากหลายทางเพศ’ อีกร้อยปีอาจจะเป็น ‘สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงทุกตัว’ มีสิทธิเท่าเทียมกัน โลกเราอาจจะพัฒนาไปถึงจุดนั้นก็ได้

รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่เรื่องใครจะเข้าไปอยู่ในสภาได้ แต่คือแนวคิดที่สังคมนั้นๆ เชิดชู  ซึ่งถ้าเราไปดูในรัฐธรรมนูญไทย เขียนไว้เลยว่าหน้าที่ของเราคือปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เป็นการชูว่าสิ่งนี้แหละคือสิ่งสำคัญของประเทศ แน่นอนว่าย่อมมีส่วนหนึ่งของสังคมเห็นด้วยกับสิ่งนี้ แต่ไม่เหลือที่ว่างให้อีกส่วนที่มองสังคมในอีกแบบหนึ่ง ถ้าเขาไม่มองอย่างนี้ เขาไม่ใช่คนไทยเหรอ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในความขัดแย้งปัจจุบันนี้

พอเรากำหนดชัดเจนว่าคนไทยคืออะไร มีหน้าที่อะไร แล้วเกิดคนไทยพันธุ์ใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก คนหลายล้านที่ไม่ได้มีมุมมองเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน ก็เลยนำมาซึ่งความขัดแย้งเพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเขาต้องเป็นอย่างนี้ แต่เขาไม่ได้เป็น จะให้ทำอย่างไร

แล้วถ้าอำนาจทางการเมืองใช้รัฐธรรมนูญอ้างอิงได้ว่าสิ่งที่คนเหล่านี้ทำขัดกับรัฐธรรมนูญ แล้วมีการกำหนดไว้ว่าคนไทยต้องเป็นอย่างนั้น ก็จะเกิดปัญหาในสังคมอีกเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้สะท้อนคนไทยทั้งหมด เพราะฉะนั้นผมว่ารัฐธรรมนูญที่จะช่วยให้คนไทยก้าวข้ามความคับแค้นขัดข้องใจในปัจจุบันนี้คือรัฐธรรมนูญที่สะท้อนสังคมไทยโดยรวมทั้งหมด

สังคมไทยแบบดั้งเดิม สังคมเกษตรกรรม สังคมเชิงจารีตยังมีอยู่แน่นอน และเราไม่ควรจะไปตัดสินว่าเขาเป็นอะไรที่ย่ำแย่ เขาคือรากเหง้าของพวกเราทุกคน และเราอยากยอมรับให้มีตรงนั้น เพียงแค่เพิ่มเข้าไปอีกส่วน ให้มีการยอมรับความเป็นไทยในรูปแบบใหม่ด้วย ซึ่งจะออกมาในรูปแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ไม่รู้ชัดนะ

อย่างของอเมริกา เขาก็ไม่ได้เป็นประเทศเพอร์เฟ็กต์ แต่เขาจะพูดตั้งแต่แรกเลยว่า freedom of religion หรือ freedom of speech อยู่ในรัฐธรรมนูญของเขา ซึ่งก็ชัดเจนว่าอะไรสำคัญในประเทศเขา ถ้าคนไทยรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเป็นก็คือความเป็นไทยอย่างหนึ่งที่ถูกยอมรับด้วยรัฐธรรมนูญ การมานั่งช่วยกันดูแลชาติให้เกรียงไกร อาจจะเป็นเรื่องที่เขาอยากทำมากกว่านี้ก็ได้ ตอนนี้มีคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกรวมเข้าไปในนิยามของคำว่าชาติซึ่งถูกกำหนดด้วยจารีต วัฒนธรรม และรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญควรจะเป็นไอเดียหลักของสังคม และควรเขียนด้วยความระมัดระวัง เพื่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย ถ้าเราเอาไอเดียตายตัวมาใส่ในรัฐธรรมนูญ สักพักก็ต้องฉีกแล้วก็เขียนกันใหม่ ตั้งแต่ผมยังเด็ก เปลี่ยนมาหลายฉบับมาก แต่บางประเทศใช้มาสองร้อยปีแล้วยังอยู่ได้เลย เพราะไอเดียในการเขียนของเขาไร้กาลเวลา เปิดให้มีที่ว่างรับสิ่งใหม่เข้ามาได้ เช่น freedom of speech ของอเมริกาก็เป็นไอเดียอมตะ

 

ถ้ามองตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบนโลกใบนี้ คุณมองว่าตัวเองเป็นใคร อยู่จุดไหน คุณค่าในการดำรงอยู่คืออะไร

ตลกอยู่นะที่ ณ วินาทีเดียวกัน เราทั้งมั่นหน้ามั่นโหนกว่าเราต้องทำเรื่องสำคัญอย่าง climate change หรือ เปลี่ยนแปลงสังคม แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าตัวเองเป็น nobody ไม่มีอะไรสำคัญเลย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่อยู่คู่กันได้อย่างน่าประหลาด

แรงขับของคนอาจต้องการหาความหมายอะไรบางอย่างให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน การมีลูก การสร้างครอบครัว การมีตำแหน่ง สุดท้ายเรามีแรงขับในการหาความหมายให้ชีวิตในเวลา 80 ปีว่าอยู่ไปเพื่ออะไร ผมก็เช่นเดียวกัน ที่มาจับเรื่องใหญ่ๆ พวกนี้เพราะอยากให้เวลาของเรามีความหมาย ซึ่งก็มาจากความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจำกัด เดี๋ยวก็ตาย ถ้าเราเป็นมนุษย์อมตะก็ไม่มีใครมานั่งคิดเรื่องคุณค่าของชีวิตหรอก เพราะอยู่ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ตายนี่

ขอบเขตของการรู้ตัวว่าเรากำลังทำเรื่องใหญ่ๆ พวกนี้ด้วยความกระจอกมากๆ ของเราคือ เราเป็นแค่สิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งที่อีกแค่ 50 ปีก็จะหายไปจากจักรวาลนี้แล้ว ก็เลยเจียมเนื้อเจียมตัวว่าสิ่งที่เราทำมาดูเหมือนใหญ่นะ แต่แรงจูงใจในการทำกระจอกมาก ก็คือกลัวตาย กลัวในเชิงว่าตายหายไปจากความรู้สึกของคนที่เหลือ หรือตายหายไปจากความทรงจำของผู้คน ก็เลยต้องทำอะไรให้คนอื่นจำไว้ เลยรู้สึกกระจอกไปพร้อมกัน แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกมั่นหน้ามั่นโหนกในการไปทำเรื่องใหญ่ๆ ได้ตลอดเวลา

ในแง่หนึ่งผมก็พอใจให้เป็นแบบนี้ เพราะเราเบรกตัวเองไปด้วย แล้วก็ผลักตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กัน แล้วยิ่งแต่ก่อนเราทำเรื่องสงครามเยอะ ตอนนี้มาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม สกิลของการเจียมเนื้อเจียมตัวมากกว่าเดิมอีก แต่ก่อนมองภาพสงครามเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก แต่พอเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คำว่าโลกมนุษย์เป็นคำที่มองเชิงความหมายแล้วผิดพลาดมาก เพราะโลกมีอย่างอื่นนอกจากมนุษย์เยอะมาก พื้นที่เมืองที่เราอาศัยอยู่ เป็นแค่บริเวณ 2% ของผิวโลก แต่อีก 98% มีอีกเยอะมาก เอาแค่เข้าไปในป่าแอมะซอนแล้วสังเกตสังคมมดบนต้นไม้ ซับซ้อนมาก ดูการเรียงแถว มีอะไรมากมายทั้งจากสเกลที่เล็กที่สุด ลงไปถึงระดับควอนตัม หรือสเกลที่ใหญ่ที่สุด ยังมีดาวอีกพันล้านดวงในกาแล็กซีของเรา เราก็เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนี้ ถึงไม่มีมนุษย์อยู่ สรรพสิ่งก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แค่นั้นเอง แล้วถ้าตายพร้อมกันหมด 7 พันล้านคน ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก็ตายไปสิ

พอเรามาดูสเกลขนาดนี้ ความต้องการมีความหมายในชีวิตของเราก็เป็นเรื่องกระจอกมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยไม่ได้นี่ ในเมื่อเราเป็นคนคนนี้ เราเป็นแค่มนุษย์หนึ่งตัว ก็ทำกันไป ฝุ่นธุลีก็ทำได้แค่คิดเรื่องของฝุ่น เพราะไม่มีสิ่งอื่นที่ดีกว่านี้ที่เราจะทำได้แล้ว ก็ตลกดีนะเป็นทั้งนิพพานและยึดติดไปในตัว ทำพร้อมๆ กันไปเหมือนขาหนึ่งวิ่ง อีกขาหนึ่งนิ่ง

แต่ก่อนเราจะมีปัญหากับการอยู่เฉยๆ เพราะรู้สึกว่าเสียเวลา ไม่ productive ตอนนี้การอยู่เฉยๆ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเพราะรู้สึกว่าการอยู่เฉยๆ ก็เป็นการทำอะไรแล้ว

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ถ้าคิดในระดับสเกลที่ตัวเองแบบเล็กมาก โลกยังมีอะไรอีกมากมาย แล้วการเมืองยังสำคัญอยู่แค่ไหนสำหรับคุณ 

ผมไม่ได้รู้สึกว่าสำคัญขนาดนั้นกับโลก แต่มันยังสำคัญมากๆ กับคนไทยอยู่ ผมเคารพและยอมรับความสำคัญที่การเมืองมีต่อคนอื่น แต่ตัวผมเอง ความสนใจมันโตออกจากจุดนั้นไปยังจุดที่กว้างกว่านั้น หนังสือที่ซื้อมาเมื่อหลายปีก่อนจะเป็นเรื่องการเมืองไทย การเมืองโลก ปัจจุบันนี้จะเป็นเรื่องนิเวศวิทยา อ่านเรื่องมหาสมุทร ปะการัง อ่านเรื่องคอสมอส การเกิดของจักรวาล

เราเห็นอกเห็นใจคนที่มีปัญหา เราเชียร์คนที่มีความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลง แต่หากถามว่าเราอยากอุทิศชีวิตของเราให้กับอะไร ก็ไม่ใช่เรื่องนี้ เพราะเรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญขนาดนั้นเมื่อเทียบกับหลายๆ เรื่อง แต่ก็นั่นแหละเราเคารพและยอมรับความสำคัญที่มันมีต่อคนอื่น

ผมร่วมงานกับคนที่อยู่คนละขั้วการเมืองบ่อยๆ หนึ่งในตัวแปรตรงกลางก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ตรงนี้ใครๆ ก็อยากคุย โอเค ไม่มีการงอแง

 

คุณคิดอย่างไรกับคนที่เห็นเรื่องการเมืองไทยตรงข้ามจากคุณ

เราทำอาชีพในฐานะคนที่พยายามเข้าใจคน แล้วเราก็ต้องพยายามเข้าใจแม้กระทั่งผู้ก่อการร้ายหรือคนที่โคตรจะแตกต่างจากเราเลย เช่น ชาวเอสกิโม เผ่ากินคน เพราะถ้าเราทำรายการแล้วไปนั่งวิจารณ์ว่าคนพวกนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย ชายเป็นใหญ่ปกครองกันในเผ่า ทำไมไม่มีสิทธิเสรีภาพ ถ้าเอามาตรฐานของความคิดเราไปวัดทุกอย่างที่เราเจอบนโลกใบนี้แล้วรายการจะสนุกอะไร หรือไปดูหนังเอวีก็วิจารณ์ว่าผิดจริยธรรมชาวพุทธ คงเป็นรายการที่ไม่น่าดู

เพียงแค่คนจำนวนมากยินดีเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้บ้านตัวเอง เพราะว่าเขาไม่มีความรู้สึกอยู่ในนั้น แล้วอคติก็น้อย ทำให้เปิดรับฟังสิ่งต่างๆ ได้ ทีนี้พอเราพูดถึงเรื่องการพยายามทำความเข้าใจคนใกล้ตัวมากขึ้นเลยยาก เหมือนบางเรื่องเราเล่าให้คนในครอบครัวฟังไม่ได้ แต่เล่าให้คนแปลกหน้าฟังได้ เพราะคนใกล้ตัวมีอคติและมีความคิดของตัวเองในนั้นเยอะ เรื่องการเมืองไทยก็เหมือนกัน

แต่ถ้าปัญหาความคับแค้นใจทั้งหลายไม่ได้รับการแก้ไขโดยรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีคนโดนจับ มีคนโดนกดขี่ มีคนตาย ไม่ได้รับการยอมรับทางประวัติศาสตร์ ขออภัยและชำระล้างทางประวัติศาสตร์ ความคับแค้นใจเหล่านี้ก็จะไม่หายไป และการจะหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาจุดร่วมก็เป็นเรื่องยาก

เพราะฉะนั้นการนำด้วยมุมมองของประชาชนเองก็สำคัญ การแก้ไขปมด้วยผู้มีอำนาจก็สำคัญเช่นเดียวกัน ต้องดำเนินไปควบคู่กัน แต่ว่าการจะรอให้ผู้มีอำนาจต้องมาแก้ปมก่อนเท่านั้นเราถึงจะหันหน้ายินดีไปคุยกับคนที่ต่างจากเรา ก็ไม่ได้เหมือนกัน ก็ต้องค่อยๆ ทำไปพร้อมกัน

 

แล้วถ้าคุณจะทำเรื่องเถื่อนที่เกิดในไทย เรื่องอะไรที่คิดจะทำในเถื่อนทราเวล

ผมไม่ใช้คำว่าเถื่อนแล้วกัน ผมใช้คำว่าอยากเข้าใจมากที่สุด จริงๆ ตอนตั้งชื่อรายการเถื่อนทราเวล ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าควรตั้งชื่อรายการแบบนี้ไหม เพราะเหมือนเราไปว่าที่ที่เราไปหรือเปล่า แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจใช้เพราะเข้าใจง่ายดี

จริงๆ ในไทยก็มีวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมเยอะ อย่างอันหนึ่งที่เริ่มแย่ขึ้นเรื่อยๆ ก็คืออากาศในภาคเหนือ ที่เป็นผลมาจากการเผาป่าที่รุนแรงขึ้นทุกปี จนแทบจะรุนแรงที่สุดในโลกอยู่แล้ว ผมว่านี่น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจ

อีกเรื่องที่อยากทำก็คือเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากเข้าใจรากเหง้าปัญหาและอะไรที่อยู่นอกเหนือจากมิติการเมือง ว่าในนั้นเขาอยู่กันอย่างไร แล้วผมก็มีแฟนคลับรายการที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดน ก็อยากเข้าไปฝังตัวอยู่กับกลุ่มคนจริงๆ ตั้งแต่กลุ่มทหาร กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ยันชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ทำความเข้าใจจริงๆ แต่ต้องใช้เวลาเยอะมาก ถ้าผมจะทำเรื่องในประเทศตัวเองผมต้องใช้เวลาเป็นเดือนในการพยายามทำความเข้าใจ ถึงจะนำเสนอออกมาได้ ถ้าเป็นประเทศอื่นเวลาเราน้อย เจออะไรก็รีบถ่าย

แต่ตอนนี้เบรกไว้ก่อน พอเจอประเด็น climate change และประเด็นทางธรรมชาติแล้ว รู้สึกว่าน่าสนใจกว่าเยอะ พอยิ่งศึกษา มีประเด็นน่าสนใจในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งแบบปรัชญาด้วย เช่น ในตัวคุณกับผมมีอะตอมอายุเป็นพันล้านปี อะตอมเหล่านี้ตอนเกิดจักรวาล เรามีแค่ไฮโดรเจนและฮีเลียม ส่วนอะตอมอื่นๆ เกิดขึ้นจากดาวฤกษ์เกิดขึ้นแล้วหมดอายุขัย ระเบิด ควบแน่น จนเกิดอะตอมชนิดอื่นๆ ขึ้นมาเป็นออกซิเจน คาร์บอน ทุกคนเป็นละอองดาวทั้งหมด ความรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นรอบตัวก็ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าผมมาทำเรื่อง climate change ทำเรื่องธรรมชาติแล้วเจอมิติของการเรียนรู้ ซึ่งไม่เคยเจอมาก่อนหน้านี้ พอฟังเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกว่าโคตรเจ๋ง จนทำให้เรื่องของสังคมมนุษย์ที่เราคุยกันอยู่ดูไร้สาระขึ้นมาทันทีเลย

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

มาถึงตรงนี้ คุณอยากเห็นการเมืองแบบไหนที่จะนำไปสู่การจัดการเรื่อง climate change ได้ดี หรือนำไปสู่สังคมที่คุณอยากเห็น

ผมว่าเรื่อง climate change สุดท้ายจะเป็นเศรษฐกิจนำการเมือง อันนี้ไม่ได้พูดถึงในฝันนะครับ ถ้าในฝันเราก็จะบอกว่าต้องมีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของธรรมชาติ ห้ามตัดต้นไม้โดยไม่มีการขออนุญาต ฯลฯ แต่ในความเป็นจริง ผมว่า climate change จะส่งผลต่อธุรกิจในทุกด้าน ทั้งต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทรัพยากรที่น้อยลงเรื่อยๆ การต้องหาพลังงานแหล่งใหม่ ที่ดินบริเวณชายฝั่งจะค่อยๆ หายไป เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจำนวนมากจะหายไปในท้องทะเลไม่ช้านี้เพราะเราฝังไว้ริมทะเล และอีกมากมายที่เป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจและธุรกิจ

แล้วเดี๋ยว climate change จะเป็นปัญหาการเมือง เพราะจะเกิดผู้ลี้ภัยจากภูมิอากาศจำนวนมาก ทั้งในประเทศเอง กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงในการจมสูงมาก หรือฟิลิปปินส์ จาการ์ตาของอินโดนีเซียก็มีความเสี่ยงสูงเรื่องน้ำท่วมเหมือนกัน นี่ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาอื่น เรื่องพายุไซโคลน ความแล้ง เรื่องน้ำท่วม ที่เป็นผลมาจาก climate change เพราะฉะนั้นการเมืองที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้ มองกันตามความจริงที่สุดคือต้องรอให้ปัญหาเกิดในรูปแบบที่วิกฤตมาก แล้วเดี๋ยวจะเกิดนโยบายต่างๆ ตามมา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น

แต่การทำอะไรระยะยาว ยากมาก แม้กระทั่งระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมในเวอร์ชันที่ดีที่สุด ในประเทศที่ดีที่สุดก็ยาก เพราะคนจะสนใจเรื่องระยะสั้น ถ้าคุณลองหาเสียงเรื่อง climate change ไม่มีใครเลือกคุณแน่นอน แต่ถ้าคุณหาเสียงด้วยเรื่องการสร้างงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องการ แล้วยิ่งเรื่อง climate change ไม่ใช่แค่รัฐบาลเดียว แต่เป็นเรื่องการร่วมมือกันของทุกรัฐบาลทั่วโลก ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้นระบบใหม่ที่จะแก้ปัญหาไม่ใช่คำว่าบรรเทาอาการ แต่จะใช้คำว่าแก้ปัญหาเรื่องนี้เลย อาจจะเป็นบางสิ่งที่มนุษย์คิดไม่ถึงด้วยซ้ำ เราเข้าใจว่าฟอร์มที่ดีที่สุดของการเมืองคือประชาธิปไตยเสรีนิยม ซึ่งถ้าเทียบกับเผด็จการก็แน่นอนว่าดีกว่าอยู่แล้วใช่ไหม แต่กลายเป็นว่าเราอิงไปแล้วว่านี่คือวิวัฒนาการสูงสุดของสังคมมนุษย์เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ผมก็ไม่มองว่าระบบนี้จะแก้ไขปัญหาเรื่อง climate change ได้อยู่ดี ด้วยต้นเหตุที่บอกไปแล้วเบื้องต้น

ซึ่งโจทย์ก็คือเราต้องหาระบบการเมืองที่ หนึ่ง สร้างการร่วมมือระดับนานาชาติได้จริงๆ ลดคำว่าชาติลงและเพิ่มคำว่าโลกมากขึ้น สอง แพลนได้ในระยะ 50-60 ปี และสาม ไม่อิงกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในระยะสั้นของการขึ้นมาสู่อำนาจของรัฐบาล ซึ่งแม้กระทั่งประเทศที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ตอบโจทย์นี้เหมือนกัน

แต่เวลาเราบอกว่าความเข้าใจเรื่อง climate change เป็นแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะมันจะเป็นเรื่องสังคมและการเมืองในเร็วๆ นี้ และการที่มองว่า climate change เป็นเรื่องของรุ่นลูกรุ่นหลานก็เป็นเรื่องที่ผิด เพราะมาถึงแล้วเรียบร้อย ปีที่แล้วเกิดเหตุทั่วโลกอย่างย่อยยับมากๆ หรือไฟป่าออสเตรเลียที่เพิ่งเกิดนี่คือ climate change โดยตรง และจะเกิดขึ้นบ่อยและถี่ขึ้นเรื่อยๆ

ผมเห็นน้อง เกรต้า ธันเบิร์ก ออกมา ผมชื่นชมน้องเขาอย่างหนึ่งมาก เรื่องความรู้สึกหงุดหงิดอย่างจริงจังเวลาไม่ได้ผล เขารู้สึกว่าปัญหาเป็นเรื่องของเขาจริงๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความอายุน้อย ไม่ได้แปลว่าไร้เดียงสานะ แต่เขามีพลังที่จะแคร์โลกได้ขนาดนั้นอยู่ ซึ่งเราแบกโลกเอาไว้ขนาดนั้นไม่ได้ เพราะจะเหนื่อยเกินไปสำหรับคนอายุ 35 อย่างเรา แต่ก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในปัจจุบันนี้

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save