ชื่อของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อห้าจังหวัด เป็นที่รู้จักกันดีในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานมูลนิธิ เพราะอีกด้านหนึ่งของที่ทำการมูลนิธิแห่งนี้ก็คือการเป็นกองบัญชาการใหญ่ของนักการเมืองผู้กว้างขวางรายนี้
หากดูภารกิจของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อห้าจังหวัด จะพบว่ามีภารกิจคือการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันออก รวมทั้งสิ้น 1,470,000 ไร่ โดยรวมพื้นที่ป่า 5 แห่งไว้ด้วยกัน คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และชลบุรี
หากเปิดเข้าไปในเว็บไซต์ของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จะพบตัวหนังสือขนาดใหญ่บนหน้าแรกพิมพ์ว่า
“รักษาพื้นที่ป่าผืนนี้ไม่ให้มีการบุกรุก”
“คืนความอุดมสมบูรณ์สู่ผืนป่าตะวันออก ให้คน ป่าและสัตว์ป่า พึ่งพาอาศัยกันได้อย่างยั่งยืน”
แต่แล้วเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพลเอก ประวิตร เป็นประธานฯ ได้พิจารณาเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี
อ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี พื้นที่ 7,503 ไร่ และท่วมป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง 7,097 ไร่
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประธานมูลนิธิป่ารอยต่อห้าจังหวัดกลับอนุมัติให้มีการทำลายป่านับหมื่นไร่ ซึ่งย้อนแย้งกับภารกิจของมูลนิธิแห่งนี้โดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนของการทำโครงการ เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบ EHIA แล้ว ขั้นตอนต่อไปทางกรมชลประทานจะดำเนินการเพื่อขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางส่วน
“บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี” นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าว
พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นส่วนใหญ่เป็นป่าที่ราบต่ำ โดยมีที่ราบสูงบ้างในบางพื้นที่ ในพื้นที่ที่เป็นป่าที่ราบต่ำนั้นมักเป็นที่อาศัยและหากินของสัตว์ขนาดใหญ่ ด้วยการมีสังคมพืชเป็นแบบป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดนี้ มีพืชอาหารช้างอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับสัตว์กินพืชส่วนใหญ่ด้วย
นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น กระทิง กวาง หมูป่า และเสือลายเมฆ ดังนั้นการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ จึงถือเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าซึ่งมีอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากอย่างสิ้นเชิง
ช้างเป็นสัตว์ที่อาศัยในป่าพื้นราบเป็นหลัก แต่เมื่อป่าถูกน้ำท่วม พื้นที่หากินของช้างก็ลดน้อยลง กดดันให้ช้างต้องออกมาหากินในพื้นที่เกษตรของชาวบ้านรอบๆ ป่า เพิ่มความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่มีมายาวนานในพื้นที่แห่งนี้ให้บานปลายยิ่งขึ้นไปอีก
ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีบทเรียนปัญหาระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นหลังการสร้างอ่างเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองประแกต อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ โดยพบว่าหลังจากอ่างเก็บน้ำเริ่มสามารถเก็บน้ำได้ ก็ปรากฏว่ายิ่งมีช้างป่าจำนวนมากหนีความแห้งแล้งในป่า เข้ามาหากิน และกินน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำ โดยมีเส้นทางหากินที่สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเป็นวงกว้าง
แน่นอนว่าในกรณีอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดนั้น ช้างป่าที่หากินในพื้นที่น้ำท่วม มีโอกาสสูงที่จะอพยพลงมาเดินวนหากินในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดเป็นอ่างเก็บน้ำ 1 ใน 4 แห่ง ตามโครงการในลำน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนด ซึ่งโครงการดังกล่าวถูกระบุว่า มีไว้เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC)
“มันหมดยุคแล้วที่จะมาทำลายป่ากันขนาดนี้ มันมีวิธีอื่นที่จะพัฒนา หลายคนบอกว่าการอนุรักษ์ต้องคู่กับการพัฒนา แต่ผมอยากจะบอกว่ายุคนี้ป่าเหลือน้อย แหล่งอาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เหลือน้อย เราพัฒนาได้ แต่ต้องพัฒนาข้างนอกที่ไม่มีผลกระทบกับป่า” ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อดีตคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อธิบายเหตุผลในการคัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดว่าเป็นสัญญาณการทำลายป่าอนุรักษ์ครั้งใหญ่ภายใต้ EEC
ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เสนอทางออกอย่างน่าสนใจ โดยเสนอปรับขนาดเขื่อนให้ลดลง ซึ่งจะช่วยให้ยังคงเก็บน้ำได้ และยังช่วยลดปัญหาช้างป่าออกมารบกวนพื้นที่เกษตรได้ด้วย
“เพียงแค่ลดระดับสันเขื่อนไม่ให้ท่วมป่านี้ ก็ได้อ่างเก็บน้ำที่เก็บน้ำได้มากพอสมควร เมื่อพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนจังหวัดจันทบุรีที่มีมากกว่า 6 เดือน ก็น่าจะพอบริหารจัดการเก็บน้ำได้มาก หมายความว่า เมื่อมีการกักน้ำไว้และปล่อยน้ำออกไป เดี๋ยวก็มีฝนตกที่นำน้ำมาเติมได้เรื่อยๆ หากสามารถบริหารจัดการน้ำให้ดี และอาจเสริมด้วยแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายไปทั่ว ช่วยเก็บน้ำฝนปริมาณมหาศาลไว้ใช้ให้ทั่วพื้นที่ ไม่ใช่เพียงเฉพาะเอาน้ำที่ตกมาลงเขื่อนต้นน้ำเท่านั้น” ศศินกล่าว
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า พลเอก ประวิตร สั่งขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ให้เป็นไปอย่างเร่งด่วนขึ้น
ภารกิจหลักของมูลนิธิป่ารอยต่อห้าจังหวัดคือการปกป้องผืนป่าตะวันออกให้พ้นจากการถูกทำลาย และแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างกับชาวบ้านรอบๆ ป่า แต่สิ่งที่ประธานมูลนิธิดำเนินอยู่ดูเหมือนจะสวนทางกัน
ขณะเดียวกัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ก็ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการดังกล่าว รวมถึงประชาชนก็ร่วมลงชื่อคัดค้านผ่าน Change.org แล้ว 12,000 กว่ารายชื่อ
ต้องจับตาดูว่า การเปิดศึกของนักอนุรักษ์กับรัฐบาลครั้งนี้ จะจบลงอย่างไร