กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
เมื่อวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ตายจากไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคำไว้อาลัยมายังพี่สาวทั้งสองของผู้วายชนม์ ความตอนหนึ่งว่า “พี่วาณีจากพวกเราไปแล้ว งานแสดงภาพถ่ายของข้าพเจ้าที่จัดเป็นประจำทุกปี มีแต่พี่ๆ สองท่าน (พี่สุดา และพี่ดุษฎี) ที่ยังมาตามเคย แทนที่จะมีสามท่าน ข้าพเจ้ายังมีความทรงจำที่ดีและถือได้ว่า พี่วาณีเป็นคนดีคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รู้จัก”
แม้วาณีจะเป็นลูกสาวคนเล็กของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นลูกสะใภ้ของ “ศรีบูรพา” นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับ “จูเลียต” นางชนิด สายประดิษฐ์ ซึ่งบุรุษทั้งสองคนนี้ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก แต่คุณวิเศษของวาณีไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด แต่อยู่ที่ผลของการที่วาณีก่อสร้างไว้ดีแล้วในช่วงชีวิตของเธอ

กำเนิดและการศึกษา
วาณีเป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัว เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ก่อนญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงไม่กี่เดือน เวลานั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม บิดาของเธอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีท่านผู้หญิงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นมารดา


ในชั้นต้น วาณีเรียนที่โรงเรียนดรุโณทยานของนายจำกัดและนางฉลบชลัยย์ พลางกูร มิตรรักของครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข” กับโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของมารดา
เมื่ออายุได้เพียง 6 ขวบ บิดาของเธอจำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังการรัฐประหาร 2490 ที่นายทหารนำรถถังมายิงที่ทำเนียบท่าช้างซึ่งทางราชการจัดให้รัฐบุรุษอาวุโสพำนัก วาณีจึงต้องเผชิญกับความผันผวนในชีวิต ครอบครัวของเธอบ้านแตกแต่สาแหรกยังไม่ขาด การกล่าวร้ายป้ายสีนายปรีดีดำเนินไปอย่างเข้มข้น แม้ในโรงเรียนดรุโณยานที่คุณครูฉลบแขวนรูป ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโสไว้ ก็ยังมีคนไปเขียนที่รูปนั้นว่าบิดาของวาณีเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เธอทำอะไรไม่ได้นอกจากร้องไห้ และประกาศว่าพ่อของเธอเป็นผู้บริสุทธิ์
ในปี 2495 หลังจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏสันติภาพ” จึงได้นำดุษฎีและวาณีเดินทางไปกรุงปารีส หลังจากนั้นไม่นาน จึงย้ายกันไปอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งนายปรีดีไปลี้ภัยอยู่ก่อนแล้ว

วาณีเรียนชั้นมัธยมที่ปักกิ่งและกวางโจว และสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ภาษาจีน) จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน


ต่อมาในปี 2513 เมื่อนายปรีดีย้ายไปพำนักที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เธอจึงติดตามบิดาไปด้วย และทำหน้าที่เป็นเลขาส่วนตัวให้คุณพ่อ คอยเขียนตามคำบอก พิมพ์ดีด และส่งไปรษณีย์ให้ ทั้งยังมีฝีมือทำอาหารทั้งไทย จีน และฝรั่งเศส เช่น เกี๊ยวปักกิ่ง ซุปเสฉวน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นคนขับรถพาบิดามารดาไปทำธุระ ไปท่องเที่ยวพักผ่อนในสถานที่ต่างๆ ด้วย


ชีวิตรัก
เมื่อกลับไปเยี่ยมเมืองจีน วาณีได้พบรักกับสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรชายของ “ศรีบูรพา” นักเขียนนักหนังสือพิมพ์นามอุโฆษ กับ “จูเลียต” นักแปลฝีมือดี และแต่งงานกันในเวลาต่อมาที่ประเทศจีน ก่อนที่ทั้งคู่จะย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส โดยเช่าห้องชุดที่อาคาร 3 ชั้น ติดกับรั้วบ้านอองโตนี เพื่อจะได้คอยดูแลบิดามารดาเช่นที่เคยปฏิบัติมา
วาณีกับสุรพันธ์เป็นคู่ชีวิตที่มีทัศนคติตรงกัน รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม จิตใจโอบอ้อมอารี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แม้กระทั่งสัตว์ตัวเล็กๆ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จึงเป็นเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจกันและกัน ดังที่เธอเขียนไว้ว่า “เบื้องหลังของทั้งสองคนไม่ต่างกันมากนัก จึงคิดว่าการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นคู่ชีวิต คงจะทำให้เสริมพลังให้แก่กันและกัน ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อสังคม เท่าที่ความสามารถจะพอมี”



การทำงาน
แม้บิดาของเธอจะเป็นนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศหลายกระทรวง จนถึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็มิได้มั่งคั่งร่ำรวย และเงินที่ซื้อบ้านอองโตนี ก็มาจากการขายบ้านที่เป็นของมารดา ดังนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของวาณีในฝรั่งเศส จึงมิได้สะดวกสบายนัก
เริ่มแรก เธอรับจ้างเป็นครูพี่เลี้ยงช่วงเวลาอาหารกลางวันของโรงเรียนประถมประจำเมืองอองโตนี และรับจ้างทำงานรายชั่วโมงทำความสะอาดบ้านของครอบครัวชาวฝรั่งเศส บางครั้งก็รับจ้างทำอาหารส่งตามบ้านลูกค้า
ต่อมา จึงได้งานเป็นอาจารย์ประจำสถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออก (INALCO) สอนภาษาจีนที่นั่นเป็นเวลาหลายปี ดังมีลูกศิษย์คนหนึ่งเขียนถึงเธอว่า “นักศึกษาภาคค่ำ เรียกท่านว่า ‘อาจารย์ผู้มีจิตใจงามของเรา’”
หลังจากใช้ชีวิตในต่างแดนถึง 35 ปี ในปี 2531 วาณีย้ายกลับสู่มาตุภูมิ เพื่อดูแลมารดาที่เดินทางกลับมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยที่มิได้สนใจตำแหน่งอาจารย์ประจำ INALCO รวมถึงสิทธิที่จะได้เงินบำนาญจากฝรั่งเศส จนผู้ใกล้ชิดต้องกระตุ้นอยู่หลายครั้ง จึงยอมทำเรื่องขอเงินบำนาญตามสิทธิ (อนึ่ง ระบบบำนาญของฝรั่งเศส เป็นแบบขอเมื่อใด ได้เมื่อนั้น ไม่มีย้อนหลัง นับว่าวาณีขาดประโยชน์อันพึงได้ไปอยู่มาก แต่เธอก็มิได้สนใจเรื่องนี้เลย)
เมื่อกลับเมืองไทยแล้ว ไสว สุทธิพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ขอร้องให้มาสอนที่นี่ เธอจึงมาเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2532-2543

งานหนังสือ


วาณีเขียนหนังสือ 3 เรื่อง เล่มแรก วันวานในโลกกว้าง (2543) ที่เธอเขียนออกมาในรูปหนังสือเด็ก ที่มาจากเค้าโครงเรื่องจริง เธอบอกว่า “ไม่ใช่สารคดี หรืออัตชีวประวัติ เป็นเหมือนความเรียงที่สามารถจบได้ในแต่ละบท” กับชื่อตัวเอกของเรื่องอย่าง “ปลาย” เธออธิบายว่า “วาณีคือปลาย แต่ปลายไม่ใช่วาณี”
เธอเล่าถึงที่มาของหนังสือนี้ว่า “เรื่องต่างๆ เหล่านี้อยู่ในความทรงจำของดิฉันมาโดยตลอด หลายๆ ครั้งเป็นเหตุการณ์ที่เจ็บปวด อยากจะลืม แต่ลืมไม่ได้ ดิฉันเห็นด้วยกับนักวิชาการด้านสันติศึกษาท่านหนึ่งคือ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่บอกว่าเราควรเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า “จงให้อภัยและลืมเสีย” (forgive and forgot) มาเป็น “จำเอาไว้และให้อภัย” (remember and forgive) แต่ขอเพิ่มเติมว่า “ให้อภัยเฉพาะผู้ที่สำนึกผิดและสำนึกบาป” ”


ส่วนอีก 2 เล่ม คือ คนดีศรีแผ่นดิน-ชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์ ฉบับการ์ตูน (2543) และ สุภาพบุรุษชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (2548) ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ วาณีเขียนเรื่องให้นักวาดสร้างสรรค์ออกมาเป็นการ์ตูน พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสที่ UNESCO ประกาศยกย่องให้นายปรีดีและนายกุหลาบเป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปีชาตกาล
นอกจากนี้ วาณียังเป็นบรรณาธิการของหนังสืออีกหลายเล่มที่เกี่ยวกับครอบครัว และการงานที่บิดาของเธอได้ทำไว้ เช่น แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (2535) 60 ปี วันสันติภาพไทย (2548) หวนอาลัย (2550) ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น: 95 ปี 4 เดือน 9 วัน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (2551) และ ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย (2554) เป็นต้น

ด้านงานแปล วาณีได้ถวายงานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แปลบทกวีภาษาฝรั่งเศสของพระองค์ท่านเป็นภาษาไทยและจีน ในหนังสือพระราชนิพนธ์ Réflexion ความคิดคำนึง และเขียนบทความเป็นภาคผนวกหนังสือพระราชนิพนธ์ ผีเสื้อ เป็นต้น
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงฟื้นความหลังถึงวาณีว่า “พี่วาณีมาช่วยจัดหนังสือภาษาจีนในห้องสมุดส่วนตัวของข้าพเจ้าเป็นเวลาหลายปี (พ.ศ. 2535-2539) ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจที่พี่วาณีเป็นคนสุขุมรอบคอบ มีความรู้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาเวียดนาม ถึงจะอยู่ต่างประเทศนาน ความรู้ภาษาไทย ลายมือภาษาไทย ก็ดีมาก”
นอกจากนี้ “พี่วาณีแนะนำให้แปลเรื่อง “เมฆเหินน้ำไหล” ของฟังฟัง เกี่ยวกับชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยยุคสี่ทันสมัยตอนต้น ทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมในยุคนั้นจากชีวิตตัวละครในเรื่อง และให้ข้อคิดว่าแต่ละบุคคลมีความสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพชีวิตได้ไม่เท่ากัน”

สืบสาน รักษา และต่อยอด
วาณียังมีบทบาทสำคัญในการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานของนายปรีดี พนมยงค์ และนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผ่านการเป็นกรรมการของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และกองทุนศรีบูรพา
ในส่วนมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เธอมักให้คำแนะนำเรื่องการกำหนดหัวข้อปาฐกถาประจำปี และหัวข้อเสวนาในวาระต่างๆ เช่น วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันสันติภาพไทย และยังเขียนบทความต่างๆ ลงในหนังสือที่ระลึก รวมถึงมีส่วนในการจัดทำนิทรรศการถาวรในห้องแห่งแรงบันดาลใจที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ด้วย
ในด้านกองทุนศรีบูรพา เธอดูแลบ้านศรีบูรพาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับศรีบูรพา และทำบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต จัดแสดงรูปนิทรรศการ เอกสารเก่า หนังสือของศรีบูรพา และอุปกรณ์การทำงาน เช่น เครื่องพิมพ์ดีด ฯลฯ รวมถึงการร่วมงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศรีบูรพา มีการมอบรางวัลศรีบูรพา เป็นอาทิ





สุขภาพ
วาณีเคยเป็นคนแข็งแรง เคยเป็นนักกีฬาทศกรีฑา เคยว่ายน้ำระยะไกลในแม่น้ำที่เมืองจีน แต่โรคาพยาธิก็เข้ามาเบียดเบียนชีวิตเธอ ต้องผ่าตัดใหญ่ถึง 12 ครั้ง เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นพาร์กินสันอยู่นับสิบปี จึงมีสุขภาพที่ไม่ดีเอาเสียเลยในช่วงท้ายของชีวิต
จนถึงที่สุดของชีวิต วาณีตายจากไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่ามกลางคนที่วาณีรักและคนที่รักวาณี

คติธรรม
11 พฤศจิกายน 2561 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต) ได้มอบคติธรรมให้มาลงหนังสืออนุสรณ์งานปลงศพ ดังนี้
ระลึกถึงบุคคล – ระลึกถึงความดีในระยะหลังๆ นี้ เมื่อนึกถึงวัดญาณเวศกวัน ภาพหนึ่งซึ่งมักปรากฏในใจ คือ วันหนึ่ง เมื่อไปสังฆกิจที่วัดนั้น ได้พบกับคุณวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ซึ่งมากับพี่และญาติใกล้ชิด ที่หน้าประตูเขตสงฆ์ ที่จะออกไปสู่อุโบสถ เวลานั้น คุณวาณีมีโรคาพาธมากหลายอยู่กับตัว แต่ก็มีน้ำใจไปเยี่ยมวัดเยี่ยมพระ นอกจากน้ำใจแล้ว ก็เห็นว่าเป็นความเข้มแข็งของท่านด้วย และนั่นเป็นวันที่ได้พบครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ได้ทราบข่าวว่าคุณวาณีเสียชีวิตแล้วในวันก่อนหน้านั้น คือในวันสิ้นเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ และก็นึกเห็นภาพคุณวาณีเมื่อพบที่หน้าประตูเขตสงฆ์ ที่จะออกไปสู่อุโบสถอย่างที่ได้เล่า แล้วก็ตั้งใจว่าถึงจะอยู่ไกล ก็จะไปเยี่ยมศพที่วัดเทพศิรินทร์ แต่ประจวบว่าเวลานั้นมีเหตุการณ์ใหญ่ใกล้ที่นั้น ซึ่งผู้อยู่ใกล้เกรงจะเป็นความจอแจและได้ขอให้ยับยั้ง เป็นธรรมดาว่า เมื่อนึกถึงคุณวาณี ก็นึกเห็นโยมท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เพราะในครั้งก่อนโน้น ตั้งแต่แรกที่จะได้พบ ก็คือลูกหลานติดตามไปที่วัดกับโยมท่านผู้หญิง ผู้เป็นประธานของครอบครัว แล้วก็ไปด้วยกันต่อๆ มา นึกถึงเมตตาของโยมท่านผู้หญิง พร้อมกับบรรยากาศแบบในครอบครัวที่มีความสุขอย่างเบาสบายปลอดโปร่งใจ ครั้นถึงวาระนี้ ก็ให้นึกว่า คุณวาณี พนมยงค์ มีความเข้มแข็ง และได้ดำรงตนเข้มแข็งมั่นคงในความดี ตามแบบอย่างของโยมท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อยังมีผู้เข้มแข็งมั่นคงดำรงตนอยู่ในความดีสืบทอดต่อกันไว้ ความดีก็จะยังดำรงมั่นคงปรากฏอยู่ได้ในสังคมสืบต่อไป คุณวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ได้จากไปตามกฎแห่งธรรมดาของชีวิต ในวาระที่ระลึกถึงความดีของท่านที่จากไป การอนุสรณ์ถึงท่าน ก็เป็นการฝากคติธรรมไว้แก่ผู้อยู่ข้างหลังด้วยว่า ตสฺมา อิธ ชีวิตเสเส กิจฺจกโร สิยา นโร น จ มชฺเช …ในชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ทุกคนควรทำกิจหน้าที่ และไม่พึงประมาท |

** สำหรับผู้ที่สนใจหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ สามารถขอรับได้ โดยทำตามเงื่อนไขดังนี้ https://www.facebook.com/pridibanomyonginstitute/photos/a.418735621508735/2456015074447436/?type=3&theater