fbpx

วนะ วรรลยางกูร และการ ‘แทงสวน’ ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ

ปีนี้เป็นปีที่ไม่ง่ายสำหรับ วนะ วรรลยางกูร ในแง่ที่ว่าพ่อของเขาเพิ่งจากไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

เอาเข้าจริง กล่าวกันให้ชัด สำหรับเขาและครอบครัวแล้ว ปีไหนๆ ก็ย่อมไม่ง่ายทั้งนั้นเมื่อพ่อ -วัฒน์ วรรลยางกูร- นักเขียนรางวัลศรีบูรพากลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองตั้งแต่ปี 2557 ภายหลังการรัฐประหาร ยังผลให้ต้องระหกระเหินไปใช้ชีวิตต่างประเทศ นับตั้งแต่ประเทศใกล้ๆ ที่วนะและสมาชิกครอบครัวยังพอเดินทางไปเยี่ยมเยือนได้ จนถึงปลายทางที่ฝรั่งเศสอันเป็นที่พำนักถาวรของวัฒน์

ใกล้เคียงกันกับผู้เป็นพ่อ วนะเดินรอยตามในฐานะศิลปิน เขาเพิ่งจัดแสดงผลงานภาพชุด Boundaries of Time เมื่อช่วงกลางปี ถักร้อยสังคมการเมืองไทยอันบิดเบี้ยวผิดรูปตลอดสองปีที่ผ่านมาผ่านสายตาของเจ้าตัวที่จับจ้องความอำมหิตของฝ่ายอำนาจและการตอบโต้ของประชาชนอย่างใกล้ชิด พร้อมกันกับที่กฎหมายมาตรา 112 ยังหายใจรดหลังคอทุกคนในประเทศไม่เว้นแต่ละวัน

วนะแบ่งงานของเขาออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกซึ่งปรากฎอยู่ในแกลลอรี Manycuts Artspace I Ari ซึ่งปรากฏให้เห็นตรงหน้า กับอีกส่วนที่ White Space Art Asia ประเทศสิงคโปร์ งานทั้งหมดวาดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เพียงแต่ระดับการ ‘แตะเพดาน’ ของมันนั้นอาจหนักเบาไม่เท่า และยังผลให้มีบางส่วนที่ไม่ได้จัดแสดงในบ้านเมืองที่ยังติดเพดานเสรีภาพอยู่

เราชวนเขามานั่งไล่เลาะ เรียบเรียงความบิดเบี้ยววิปริตของประเทศ ผ่านผลงานบนเฟรมผ้าใบและฝีแปรงหนักแน่นดุดันของเขาในบ่ายวันหนึ่งแสนครึ้มแดดครึ้มฝน

คุณเขียนงานภาพชุด Boundaries of Time ในช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมานี้เอง สองปีที่ว่ามันสำคัญสำหรับคุณยังไง

ในนิทรรศการนี้เราแบ่งออกเป็นสามเซ็ต คือ ประวัติศาสตร์การเมือง, ใบหน้าผู้ลี้ภัย และโควิด-19 ซึ่งถ้าเป็นปีอื่นคงไม่วาดเรื่องนี้ แต่ปีที่แล้วเรารู้สึกว่ามันกระทบเราและเกี่ยวพันกับการเมืองมากๆ เช่น มีการข้ออ้างเรื่องสาธารณสุขทั้งที่เป็นเรื่องความมั่นคงเพื่อจะไม่ช่วยผู้ลี้ภัยพม่า คือเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวกับการเมืองนะ แต่ในที่สุดแล้วมันแยกกันไม่ออกหรอก

อย่างเซ็ตโควิด-19 เราหยิบออกมาจากภาพข่าวจากบ้านที่ไทรโยค กาญจนบุรี ตอนนั้นมีข่าวรัฐไทยไล่คนพม่ากลับประเทศเขา ตอนอ่านเจอว่าข่าวนี้เกิดขึ้นที่บ้านเราก็ยิ่งรู้สึกรุนแรงกับมันมากขึ้น คือตั้งแต่เด็ก เราโตมากับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนซึ่งมีหลายเชื้อชาติมาก มีทั้งมอญ กะเหรี่ยง พม่า ไทย ทั้งหมดนี้ก็คละๆ กันโดยที่เราไม่เคยรู้สึกว่า ในพื้นที่อย่างอำเภอไทรโยคมีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติมากขนาดนั้น แล้วช่วงโควิดระบาดก็มีข่าวว่าคนพม่าเดินข้ามชายแดนมา ซึ่งก็ไม่เชิงว่าพวกเขาหนีโควิดหรือหนีพิษเศรษฐกิจอะไรหรอก แต่เป็นเรื่องการลี้ภัยการรัฐประหารที่บ้านเขาด้วย แต่รัฐไทยผลักดันเขากลับไป บอกว่าพวกเขาไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่สะอาด ต้องกลับไปประเทศ ทั้งที่เราก็รู้อยู่แล้วว่าคนเหล่านี้หนีภัยการเมืองมา เลยเกิดเป็นภาพชุดโควิด-19 ขึ้นมา โดยเราหยิบเอาภาพข่าวนั่นแหละมาวาดแล้วใช้แสงกับสีเร้าความรู้สึกขึ้นไปอีก

ที่ผ่านมางานคุณก็โดดเด่นเรื่องสีจัดจ้านกับฝีแปรงหนักๆ มาตลอดนะ

เราใช้สีในการแทนความหมายเยอะ พอทำเรื่องความรุนแรงทางการเมืองก็พบว่า รวมๆ แล้วมันมีความเป็นไฟ เป็นแรงระเบิดอยู่ ทีนี้เรื่องไฟกับแรงระเบิดมันก็อยู่ในเหตุการณ์ทางการเมืองอยู่แล้ว เช่น การปะทะกันระหว่างม็อบกับทหาร เราเลยให้สีทำงานในงานภาพ เป็นสีที่รุนแรง ใช้การปาดแรงๆ เหมือนการขว้างปาบางอย่าง 

เราไม่ได้เล่าเรื่องความสงบสุขหรือสุขนิยมน่ะ อันที่จริงเมื่อก่อนเราเพนต์งานเรียบๆ นะ แต่พอเราทำงานเรื่องการเมืองมากขึ้น อินกับเรื่องเนื้อหามากขึ้น ก็รู้สึกได้ว่าภาพของเราควรออกมาในทิศทางไหน เช่น เราวาดภาพผู้ลี้ภัยที่สูญหายไป วาดภาพ ไม้หนึ่ง ก.กุนที (กวีเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2557) เรารู้ว่าเราวาดด้วยความโกรธแค้น เราจะไม่วาดมันด้วยท่าทีเหมือนจริง ไม่วาดด้วยสีสันสวยงาม ไม่ใช้สีหวานๆ แต่เราต้องการให้คนที่ดูภาพรู้สึกถึงความรู้สึกที่เรามีต่อบุคคลในภาพ

เราวาดรูปพี่ไม้หนึ่งเมื่อสักสองปีที่ผ่านมานี้เอง เรื่องของเขาวนเวียนอยู่ในหัวตลอด ความที่รู้จักเขาส่วนตัวด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามันอุกอาจเกินกว่าที่เราจะปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆ แล้วช่วงนั้นเราเอา ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ หนังสือรวมบทกวีของพี่ไม้หนึ่งมาอ่าน อ่านซ้ำๆ อยู่หลายรอบแล้วก็รู้สึกว่าภาพของพี่ไม้หนึ่งที่เราวาดควรมีบทกวีของเขามาประกอบในภาพเพื่อแสดงถึงส่วนหนึ่งของชีวิตพี่ไม้หนึ่ง แม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ ก็ตาม มันมีทั้งเรื่องความผิดหวัง อกหักจากการเมือง หรือเรื่องชีวิตช่วงที่พี่ไม้หนึ่งไปขายข้าวหน้าเป็ด รวมถึงภาพการเมืองภาพใหญ่ด้วย สุดท้ายเลยตัดสินใจเขียนไปในภาพวาดด้วย เพราะระยะหลังเราจะไม่ค่อยเห็นคนเขียนตัวหนังสือลงไปในภาพวาดเท่าไหร่ มันจะต่างจากงานศิลปะยุคเดือนตุลาซึ่งมีบทกวีประกอบในภาพ

นอกจากนี้เราก็วาดภาพกลุ่มผู้ลี้ภัยที่หายไป คือ สยาม ธีรวุฒิ และลุงสนามหลวง (ชูชีพ ชีวะสุทธิ์) ในทางสาธารณะแล้ว คนเหล่านี้ไม่ได้ถูกจดจำหน้าตาจากสาธารณะว่าหน้าตาของพวกเขาเป็นอย่างไร อาจรู้ อาจเคยได้ยินชื่อมาบ้างแค่นั้น เราเลยวาดขึ้นมาบนพื้นฐานความคิดว่า เมื่อมันถูกแสดงแล้ว ก็เหมือนเป็นการบันทึกเขาไว้อย่างน้อยก็ในนิทรรศการนี้ จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าเราจะทำได้ดีแค่ไหน จะทำให้คนสนใจสองภาพนี้ได้ไหม แต่ที่เราต้องการคือ เราอยากเน้นความสำคัญของคนที่หายไประหว่างทาง พวกเขาทำอะไรกันมาเยอะ ทุ่มเทชีวิตต่างๆ

อันที่จริงยังมีมิตรสหายยังบลัด (กฤษณะ ทัพไทย) ที่ทำวิทยุใต้ดินรายการเดียวกันอีกคนหนึ่งด้วย แต่เราหาภาพต้นฉบับของคุณยังบลัดยากมาก แกไม่ค่อยปรากฏตัวซึ่งก็เพื่อความปลอดภัยของตัวแกเองด้วย จนกระทั่งเขาหายไปเราก็ยังไม่มีภาพที่เป็นการบันทึกคุณยังบลัดอย่างเป็นทางการว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างจากลุงสนามหลวงหรือสยามหรอก

ดูเป็นเซ็ตภาพที่เล่าเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยในทางการเมืองมากเลย

อย่างพ่อเราเอง ถ้าพ่อไม่ได้เขียนหนังสือ หรือเขียนแล้วไม่ดัง มันก็จะอันตรายมากกว่าที่เป็นอยู่อีกนะ แต่ความโชคดีของพ่อคือ เขาพอจะมีชื่อเสียงในสายงานที่เขาทำอยู่บ้าง ทำให้สังคมสนใจเขา แต่คำถามคือแล้วคนอื่นๆ ล่ะจะทำอย่างไร ลุงสนามหลวงที่อาจจะดังในวิทยุใต้ดินก็จริง แต่ในทางสาธารณะนั้นรู้จักแกไม่มากนัก หรือคุณสยามนี่คนยังรู้จักไม่เยอะเลยแต่ก็ถูกทำให้หายไปแล้ว คือไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าเขาต้องคดีเจ้าสาวหมาป่าทำให้ต้องลี้ภัย หลายๆ คนที่ถูกทำให้หายไปแล้วหรือกำลังถูกทำให้หายไป เราว่าสังคมพูดถึงพวกเขาน้อยเกินไป ให้ความสำคัญกับพวกเขาน้อยเกินไป

ที่ว่าน้อยเกินไปนี่หมายถึงประวัติศาสตร์กระแสหลักของกลุ่มการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย?

เราไม่ได้โทษขบวนการนะ เพราะตัวละครมันเยอะมาก เอาง่ายๆ แค่หลังจากการปฏิวัติปี 2557 ที่ทำให้คนจำนวนมากต้องลี้ภัยก็มีตัวละครเกิดใหม่ขึ้นจำนวนมาก ถ้าคนเหล่านี้ลี้ภัยไปก็จะเจอชะตากรรมคล้ายๆ กัน คืออาจจะถูกทำให้หายไปโดยไม่มีคนสนใจ แล้วถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้แล้วใครจะพูด 

เราเคยอยู่ในสถานการณ์ในเวลานั้น ครอบครัวเราอยู่ตรงนั้นด้วย ได้สัมผัสด้วย แล้วสยามกับลุงสนามหลวงก็เหมือนครอบครัวเรา ไม่ต่างจากพ่อเรา แค่ว่าพ่อเรารอดจากสถานการณ์ตรงนั้นได้

งานเซ็ตนี้มีมวลความโกรธ-ความเครียดจากตอนนั้นมากแค่ไหน

เราเคยไม่พอใจว่า มึงไม่รู้เรื่องนี้ได้ยังไงวะ มึงคิดไม่ได้ได้ยังไงวะ ทั้งที่มันเป็นมนุษยธรรมเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์ที่เราจะให้คนอื่นได้ คนไทยชอบทำบุญตักบาตร ให้เงินขอทาน แต่พอเป็นคนทางการเมืองคุณกลับไม่ยืนบนฐานคิดแบบนี้ เราเลยมานั่งนึกว่าไอ้ความวิปริตของคนไทยมันคือความโง่แบบหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อทางประวัติศาสตร์ไปบิดเบือนความจริงจนหมด งานเซ็ตที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองของเรา ถึงแม้จะยังมีไม่เยอะเพราะยังทำได้ไม่กี่ครั้ง แต่เราก็ต้องทำไป เพราะอย่างน้อยงานมันก็ทำงานในทางการเมือง ไม่ได้ทำงานในทางศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้แสดงตัวออกมา เป็นการยืนยันว่าเราจะพูดเรื่องนี้

งานที่เราทำจึงเป็นเหมือนการแทงสวนประวัติศาสตร์กระแสหลัก เช่น งานบางชิ้นของเราพูดเรื่อง 6 ตุลา แต่เราจะไม่พูดเรื่องเหยื่อเลยนะ เราพูดเรื่องผู้กระทำ คือขอให้พวกมันตกนรก ซึ่งมันไม่ใช่ท่าทีของศิลปินคนดีน่ะ คนดีเขาไม่แช่งใครแต่เราไม่ใช่คนดีแบบนั้นไง นี่แม่งมีคนตายจากเหตุการณ์นี้เยอะแยะ มึงจะมาให้อภัยกันได้ยังไง ฆาตกรยังไม่เคยขอโทษเลย

เราคิดว่าเราโกรธได้ที่ผู้กระทำยังไม่ได้รับบทลงโทษอะไรเลยด้วยซ้ำ ทำไมเราจะโกรธไม่ได้ เราเรียกร้องความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม เราพูดถึงคนที่ตายโดยที่เขาพูดเองไม่ได้ เราจะพูดถึงความสูญเสียเหล่านี้ด้วยการบอกว่า “โอเคๆ เราให้อภัยนะ” ได้ยังไงกันล่ะ ในเมื่อคนตายเขาพูดไม่ได้ คุณมีสิทธิอะไรจะไปให้อภัยแทนล่ะ 

หรือกระทั่งการวาดภาพกษัตริย์อานันทมหิดล เรารู้สึกว่าเขาเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเสียชีวิตนะ เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นชนชั้นนำแล้วตายไม่เป็นอะไร คือเมื่อมีสิ่งที่ผิดปกติ มันก็ย่อมผิดปกติตั้งแต่ปุถุชนจนถึงชนชั้นนำ ชนชั้นกษัตริย์นั่นแหละ

ดังนั้นงานที่เราวาดจึงเป็นประวัติศาสตร์การแทงสวน เพราะเป็นเรื่องที่เราปล่อยปละละเลยมานานและทำให้คนไทยเป็นบ้า เมื่อเป็นบ้าก็ไล่คนออกนอกประเทศได้ ไล่ล่าคนเห็นต่างได้ ดูถูกเหยียดหยามมนุษย์ด้วยกันได้ เราคิดว่าหากเราไม่ยืนยันความบ้าพวกนี้ในช่วงเวลานี้ ในอนาคตคนที่เขาต้องการจะพูดเรื่องพวกนี้เขาจะยืนอยู่ได้อย่างไรหากไม่มีหลักอะไรให้เขามองได้เลยว่าคนในอดีตทำอะไรกันมาบ้าง 

เราพูดผ่านงานอย่างตรงไปตรงมาว่าโกรธ เกลียด ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะศิลปะในไทยไม่ใช่ชั้นเชิงทางด้านฝีมือ แต่เป็นชั้นเชิงทางคำพูด การทำงานศิลปะของศิลปินในไทยใช้วาทศิลป์หลบเลี่ยงที่จะพูดความจริง เราเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ศิลปินไทยต้องการสื่อสารคืออะไรวะ คุณพูดอะไร คุณมักไปอ้างภาษาบาลี หรือทำงานพุทธศิลป์แล้วพูดเรื่องความดีงามมากมาย แต่นี่ไง คนหายไปทั้งคนนะ แต่คุณพูดอะไรถึงพวกเขาบ้าง

มันมีเรื่องราคาของการพูดความจริงด้วยหรือเปล่า ศิลปินบางคนก็อาจใช้ศิลปะเป็นพื้นที่บอกเล่าสิ่งที่ตัวเองอยากบอก โดยเป็นที่หลบซ่อนตัวเองจากอันตรายต่างๆ

เราว่าการที่เรานั่งวาดรูปก็เป็นการซ่อนตัวเองมากแล้วนะ รูปมันไม่มีเสียง มันเป็นภาพ เป็นประสบการณ์ร่วมกับผู้ดู เราไปปิดกั้นจินตนาการอื่นๆ ของผู้ดูไม่ได้ เราไม่ได้ไปตะโกนด่าใคร เราแค่นั่งวาดรูปในบ้าน รูปพวกนี้เกิดขึ้นในห้องเก็บของที่เราใช้ทำงาน ไม่ได้ไปตะโกนด่าพ่อล่อแม่ใคร ไม่ได้ต่อยใคร ไม่ได้โพสต์เฟซบุ๊กเสียบประจานใครด้วยซ้ำไป เราวาดของเราแล้วก็เอางานมาแสดง เราว่าอันนี้ก็เป็นการต่อต้านอย่างเบาที่สุดของมนุษย์แล้ว ส่วนเสียงที่คุณได้ยินจากภาพนั้นมันจะหยาบคายหรือไม่หยาบคาย ก็อยู่ที่คุณจินตนาการแล้ว 

ถึงบอกว่าประสบการณ์ร่วมของคุณกับภาพเป็นยังไง ทัศนคติคุณสร้างให้ภาพนี้เป็นเทวดาหรือปีศาจ หรือเป็นแค่เรื่องที่คุณไม่เข้าใจก็ได้ คนที่มาดูภาพจำนวนมากก็ไม่เข้าใจนะ หลายๆ คนไม่ได้เป็นคอการเมืองฮาร์ดคอร์น่ะ แต่เราพูดเรื่องพวกนี้เพราะเราคิดว่างานเราไม่ได้ทำงานในฐานะศิลปะอย่างเดียว แต่เราต้องการให้มันทำงานในฐานะผลิตผลทางการเมืองด้วย

ในบรรดาภาพวาดของคุณก็มีช่วงที่เล่าถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงสองปีที่ผ่านมาด้วย มองมันในแง่ไหน

ม็อบเมื่อปี 2563 มีความเซอร์ไพรส์เราเยอะนะ ตรงที่เขาพูดสิ่งสุดท้ายก่อนจะมาไล่เรียงประเด็นอื่นๆ คือพูดปลายทางเลย ไม่เริ่มด้วยการพูดประเด็นระหว่างทาง ซึ่งมันก็มีราคาที่ต้องจ่าย ฝ่ายอำนาจก็จัดการด้วยความบ้าๆ บอๆ โดยไม่ทำตามลำดับขั้นตอนอะไร คือเวลามีการประท้วง เราหวังว่าจะเห็นลำดับการปราบปรามเป็นขั้นเป็นตอนจากรัฐ แต่พอถ้อยคำของฝั่งม็อบเริ่มที่ระดับสิบไปแล้ว ความรุนแรงทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็เริ่มจากสิบเหมือนกัน เช่น เริ่มจากการใช้กระสุนยางหรือสารเคมีก่อนเลย ซึ่งมันทุเรศว่ะ แต่ยิ่งเราพูดความจริงมากเท่าไหร่ เขายิ่งปฏิบัติต่อเรารุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ถึงที่สุดเราไม่ต้องมานั่งนับขั้นตอนอะไรแล้ว เพราะต่างรู้ว่าเดี๋ยวยังไงมึงก็มายิงกูอยู่ดี 

เราเลยบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ลงในงานภาพ ’88 ปีหลัง 2475′ มีภาพกลุ่ม คฝ. (กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน) ภาพการประท้วง เรารู้สึกว่าการประท้วงในปี 2563 ทำลายอำนาจทางจารีตนิยมไปเยอะ เช่น ในภาพนี้จะเห็นว่ามีพิธีแรกนาขวัญอยู่ด้วย คือในปีนั้น พิธีแรกนาขวัญถูกหยิบไปเป็นมีมเยอะมาก คนแซวว่าพระโคกินอะไรบ้าง คนเอาพิธีมาล้อเล่นซึ่งจะเห็นว่า การแซว การล้อเล่นทั้งหมดนี้ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ ความศรัทธาหรือความเคารพอีกต่อไปแล้ว มันเป็นผลมาจากการที่ผู้ประท้วงพูดจากเรื่องที่สิบก่อนโดยไม่สนใจประเด็นระหว่างทาง 

การดันเพดานจนสุดแบบนี้ทำให้เราทำงานสนุกขึ้นไหมในแง่ศิลปิน

มันสนุกขึ้นตรงที่มีคนจำนวนมากขึ้นที่เริ่มบอกว่า “กูไม่เพนต์เรื่องนักการเมืองแล้ว กูเขียนเรื่องโครงสร้างสังคมเลยแล้วกัน” เราเลยคิดว่านาทีนี้มันไม่มีใครแรงไปกว่ากันแล้วล่ะ คุณก็ทำงานของคุณ เราก็ทำงานของเรา แต่เราเชื่ออย่างหนึ่งคือ การจะบันทึกประวัติศาสตร์นั้น จำนวนคนที่พูดต้องมากพอด้วย จำเป็นต้องมีศิลปินหรือคนทำงานในแง่อื่นๆ ที่บันทึกเรื่องพวกนี้อีก หมดยุคที่เราจะมีไม้หนึ่ง ก. กุนทีเพียงคนเดียว จะมีลุงสนามหลวงหรือสยามเพียงคนเดียว หรือแม้แต่กระทั่งพ่อผมเพียงคนเดียว มันหมดยุคแล้ว มันควรจะมาเป็นขบวนการต่อต้านประวัติศาสตร์ที่โกหกเราเสียที เรื่องแบบนี้เราเห็นในงานวิชาการมาแล้ว แต่ทำไมเราไม่ค่อยเห็นในแวดวงศิลปวัฒนธรรม

ด้านหนึ่งอาจเพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ต้องใช้การศึกษา ต้องอ่านหนังสือ เราไม่ได้บอกว่าเราฉลาดหรือเราโง่อะไร แต่เราอยู่กับข้อมูลแบบนี้ ยกตัวอย่างเช่นนักเขียนซีไรต์ที่ยังอยู่ฟากโน้นก็อยู่กับข้อมูลแบบเดียวกับเรา เขาแก่กว่าเราอีก แต่ทำไมเรามองมุมนี้แล้วเขามองไม่เห็น อันนี้เป็นเรื่องน่าแปลกใจ นอกจากความอยู่เป็นแล้วยังมีเหตุผลอะไรอีกไหม ก็น่าคิด

เราคิดว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักก็ทำให้คนพวกนี้ที่เหมือนจะเป็นคนฉลาดในแต่ละยุคแต่ละสมัยบิดเบี้ยวไปกันหมด มีช่วงหนึ่งที่เราคิดว่านักเขียนซีไรต์แม่งฉลาดว่ะ ศิลปินแห่งชาติคือคนที่ทำงานด้วยจิตวิญญาณบริสุทธิ์ แต่พอเจอเรื่องคนตายกลางเมืองกลับไม่มีใครพูดเหี้ยอะไรเลย 

อกหักไหมตอนนั้น

ไม่ถึงกับอกหักหรอก แต่สงสัยว่ามึงเป็นเหี้ยอะไรกันเนี่ย (หัวเราะ) แต่พอเห็นคนพวกนี้เป็นกลุ่มก้อนเยอะขนาดนี้แล้วเราก็ไม่แปลกใจ เพราะมันก็เป็นขบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นได้จากการโฆษณาชวนเชื่อ

เป็นเพราะแวดวงศิลปะในไทยมันเอียงขวาจัดด้วยหรือเปล่า

เราเห็นสังคมไทยแล้วรู้สึกว่าได้ยินแต่เสียงของฝั่งขวา การพยายามพูดเรื่องทางซ้ายมันเป็นเรื่องที่ต้องมานั่งคิดกับตัวเองว่าพูดไปแล้วจะโดนอะไรวะ ไม่ใช่ว่าเราต้องไปสนใจฝั่งทางขวาว่าทำไมมันมีจำนวนเยอะจังหรืออะไร แต่เราสนใจที่ว่า เสียงทางซ้ายที่ปกติก็น้อยอยู่แล้วนั้น เราจะพูดอย่างไรดีให้เอาตัวรอดกันไปได้ ให้มันคุยได้ หรือคนอื่นๆ ที่ถ้าเขาจะพูดในน้ำเสียงเดียวกันกับเรา เราจะทำความรู้จักกับเขาได้อย่างไร จะสร้างประชาคมกับเขาได้อย่างไร

ภาพจาก White Space Art Asia

มันก็มีงานศิลปะที่อาจพยายามพูดเรื่องทางซ้ายหรือการทลายเพดาน แต่อาจติดกรอบการเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยอันเนื่องมาจากความวิปริตของบ้านเมือง

ตอนนี้เราจัดนิทรรศการผลงานของเราสองที่ ที่แรกคืองานที่แสดงในไทยจัดแสดงภาพเซ็ตหนึ่ง อีกที่หนึ่งคืองานร่วมแสดงที่สิงคโปร์ จัดแสดงภาพอีกเซ็ตหนึ่ง เราคุยกับอาจารย์ เพื่อนที่เราสนิท และหลายคนก็บอกว่าภาพเซ็ตที่ว่ามันอาจจัดแสดงในไทยยาก 

พอดีกับที่คุณจารุวรรณ จันทป ซึ่งทำงานศิลปะในแง่การจัดโปรเจ็กต์ หาศิลปินมาทำงานในโปรเจ็กต์ของเขา และเป็นสื่อกลางให้เรากับแกลลอรีที่สิงคโปร์ได้เจอกัน เขาก็เสนอชื่อเราไปพร้อมคนอื่นๆ ด้วย แล้วทางแกลลอรีเขาสนใจงานเรา ซึ่งเป็นงานเซ็ตที่คนรอบๆ ตัวเราคิดว่าน่าจะจัดแสดงในไทยยาก โดยงานที่ว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับงานที่จัดแสดงที่ไทยนี่แหละ คือเรื่องผลพวงของการโฆษณาชวนเชื่อ ประวัติศาสตร์ที่มันหลอกหลอนคนจนคนยังหมกมุ่นอยู่กับวันชื่นคืนสุขของรัชกาลเก่า ก็เลยได้ไปจัดเป็นการแสดงงานร่วมที่สิงคโปร์

เครดิตหนึ่งคือผู้จัดแสดงแกลลอรีกล้าหาญ ความกล้าหาญของพวกเขามีส่วนมากนะครับ หลายคนอาจจะสนใจเฉพาะตัวศิลปิน แต่เราว่ามันต้องเป็นไปทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นสายธารไปจนถึงปลายสายธารคือคนดู ที่จะต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน 

คิดว่าอะไรทำให้มันจัดแสดงในไทยไม่ได้

เราวาดภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 มีแต่เครื่องทรง ไม่มีบุคคลในเครื่องทรงนั้นเลย สิ่งที่เรากำลังสื่อสารคือ คนไทยไม่มูฟออนจากความรักที่มีต่อกษัตริย์รัชกาลที่ 9 เสียที คำสอนต่างๆ ถูกผลิตซ้ำในวันที่ไม่ควรเกิดขึ้น ในวันที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ต่อให้เป็นวาทกรรม ก็ควรเป็นวาทกรรมชุดใหม่ไม่ใช่เอาของเก่ามาผลิตซ้ำ เราเลยรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ยังค้างคาเป็นระลอกสุดท้ายของรัชสมัยเก่า

คนต่างประเทศเขาก็มีความเห็นกับงานภาพเซ็ตนี้เหมือนกันนะ เขาชอบโดยที่ก็ไม่รู้ว่าบ้านเมืองเรามีกฎหมายมาตรา 112 เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เราเชื่อว่าแต่ละประเทศย่อมเข้าใจความเป็นเผด็จการต่างๆ คล้ายๆ กัน แต่คนต่างประเทศเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นมา เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลหรือกฎหมาย 112 ที่ค่อนข้างเฉพาะในไทย ซึ่งพวกเขาก็แชร์ภาพที่เราวาดพร้อมเขียนสเตตัสแบบจัดเต็มเลย ตอนเราเห็นก็รู้สึกว่า นี่คือความปกติของมนุษย์ กูนี่แหละที่ผิดปกติ (หัวเราะ) เราทำงานด้วยความกระมิดกระเมี้ยน เซ็นเซอร์ตัวเอง ตอนที่คิดหรือตอนที่วาดก็รู้สึกกลัว ทั้งที่เมื่องานมันอยู่ถูกที่ถูกเวลา คนที่ดูภาพก็ไม่ได้รู้สึกว่าภาพเหล่านี้มีน้ำเสียงหยาบคาย ด่าพ่อล่อแม่ใคร หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่าเราจะได้รับอันตรายจากการวาดภาพนี้ เขาก็เฉยๆ มีความเห็นในแง่ที่ว่าเป็นงานศิลปะที่พูดถึงประเทศหนึ่งซึ่งเฉพาะทางมาก 

กลายเป็นว่ากระทั่งความรู้สึกก็ยังถูกจำกัดไปด้วยเลยหรือเปล่า

มันถึงได้ทำงานยาก เราสัญชาตินี้ ทำงานเกี่ยวกับเรื่องประเทศนี้ ถ้าต่างชาติมองไทยเขาก็อาจจะวิจารณ์ได้เลยโดยไม่ต้องมีปมในใจให้ต้องมาระแวดระวัง มันก็เป็นผลกระทบของโฆษณาชวนเชื่อที่เราก็ได้รับผลเหมือนกัน เราก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง

แต่กรณีคุณเคยเห็นผลอันรุนแรงของ 112 ใกล้ตัวมากๆ ก็ไม่แปลกไหมที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง

(คิด) ก่อนหน้านี้เราอาจจะคิดว่า หลบๆ ดีกว่า เราก็กลัวนะ แต่อย่างที่พ่อเราโดน มันส่งผลกระทบนะ รวนไปทั้งชีวิตอยู่ช่วงหนึ่ง ทั้งชีวิตเราเอง ชีวิตคนในครอบครัวเรา ชีวิตคนอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับเราก็รวนตามไปหมด เพราะเราไม่ได้อยู่กับร่องกับรอยของมนุษย์ปกติ เราเจอภาวะที่พ่อต้องลี้ภัย ต้องหนี เราต้องหาเงินไปต่างประเทศบ่อยๆ แม้จะเป็นแค่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่มันก็เป็นเงินที่มากสำหรับเราแล้ว 

นี่เป็นเหตุให้คุณต้องย้ำถึงอันตรายของ 112 ในเนื้องานอยู่ตลอดด้วยหรือเปล่า

เราเคยไปชะโงกตรงหน้าเหวแล้วน่ะ อาจไม่เคยโดดเองจริงๆ แต่เราเคยเห็นแล้วว่ามันหน้าตาแบบไหน แล้วมันมีวิธีการของมันอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่พูดถึงมันเลย เราก็ต้องติดป้ายเตือนหรือแม้กระทั่งทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ไอ้เหวเหี้ยนี่แดกคนเข้าไปอีก 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save