fbpx

ชีวิตและการต่อสู้ของวัน กาเดร์ เจ๊ะมันในสายธารขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานี

“สำหรับพวกเราแล้ว การทำญิฮาดต่อต้านเจ้าอาณานิคมนอกศาสนาเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติสำหรับชาวมุสลิมทุกคน ไม่สามารถประนีประนอมได้ ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในการต่อสู้ที่กำลังดำเนินการโดยชาวมลายูอิสลามปาตานีในขณะนี้จะส่งผลต่อความรู้สึกของชาวมุสลิมโดยทั่วไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชาวมลายู”[1]

วันที่ 9 มีนาคม 2565 มีรายงานข่าวว่า วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมัน (Wan Abdul Kadir Che Man) หรือชื่อที่สื่อต่างๆ นิยมเรียกกันมากกว่าคือ วัน กาเดร์ เจ๊ะมัน หรือ ดร.วันกาเดร์ ได้เสียชีวิตแล้วที่ประเทศมาเลเซียในวัย 82 ปี ไม่มีรายละเอียดสาเหตุการเสียชีวิต แต่มีบางสื่ออ้างหน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ระบุว่า วัน กาเดร์เสียชีวิตเพราะหกล้มในห้องน้ำที่บ้านของบุตรสาว ในเมืองปุตราจายา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565

วัน กาเดร์ เป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญของขบวนการที่ต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานีจากรัฐไทย และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานองค์กรเบอร์ซาตู (Bersatu) องค์กรร่มของกลุ่มต่างๆ ของชาวมลายูปาตานีที่ต่อต้านรัฐไทย

ภูมิหลังของ วัน กาเดร์

วัน กาเดร์เกิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่ากำปงบาโง หรือบ้านเดิน ตำบลปะเสยาวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งตัวเขาเองไม่แน่ใจว่าตัวเองเกิดปี 2485 หรือ ปี 2489 กันแน่[2] ดังนั้นการนำเสนอของสื่อต่างๆ ว่าอายุของวัน กาเดร์ว่าเสียชีวิตขณะอายุ 82 ปี นั้นต้องคำนวณว่าเขาเกิดปี 2483 เขาได้รับการศึกษาเบื้องต้นในจังหวัดปัตตานีจนจบระดับชั้นมัธยมจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี หลังจากนั้นได้เดินทางไปยังต่างประเทศหลายประเทศ ทั้งซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers Univesity) เมื่อสำเร็จการศึกษาเขาได้กลับมาประเทศไทยและเข้าทำงานที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ก่อนจะได้ไปศึกษาระดับปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์มาเลเซีย (USM) ประเทศมาเลเซีย วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของเขาชื่อเรื่อง “Muslim Elites and Politics in Southern Thailand” แต่ว่าเขาไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์มาเลเซียเนื่องจากเขาสอบประกาศนียบัตรทางการศึกษาของมาเลเซียไม่ผ่าน[3] อย่างไรก็ตามเขาได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ประเทศออสเตรเลีย โดยได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “Muslim Separatism: the Moros in Sothern Philippines and the Malays in Southern Thailand” ซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญที่มักถูกอ้างถึงในงานที่ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

วัน กาเดร์ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เข้าสู่วงการวิชาการเป็นอาจารย์สอนหนังสือหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เขาได้สอนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (UKM) ประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้นเขาได้ย้ายไปทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไนดารุสลาม ประเทศบรูไน และได้กลับมาสอนหนังสือที่ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียอีกครั้ง หลังจากลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักที่ประเทศสวีเดนในช่วงต้นทศวรรษ 2540 เขาได้กลับมาที่มาเลเซียและได้สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย (IIUM) ประเทศมาเลเซีย จนได้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์

ขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานี[4]

วันกาเดร์เป็นที่รู้จักและจดจำในฐานะอดีตประธานองค์กรเบอร์ซาตู แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดองค์กรเบอร์ซาตู มีกลุ่มขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานีหลายกลุ่ม ช่วงทศวรรษ 2510 เป็นช่วงที่ขบวนการต่างๆ มีการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน จากการปกครองของรัฐไทยต่อพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกมองจากชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ว่าเป็นการปกครองที่ไม่เป็นธรรม มีการกดขี่ชาวมลายูในรูปแบบอาณานิคมทั้งทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ตลอดจนการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามและคุกคามประชาชนในพื้นที่ โดยที่ยังไม่ต้องกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของการถูกผนวกโดยรัฐสยามที่เป็นบาดแผลของชาวมลายูปาตานีจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช

กำเนิด GAMPAR

หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่หมู่บ้านดุซงญอปี 2491 มีชาวมลายูมุสลิมอพยพไปอยู่รัฐกลันตัน ฝั่งมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ชาวมลายูมุสลิมได้รวบรวมสมาชิกจำนวนหนึ่งจัดตั้ง “ขบวนการประชาชาติมลายูปัตตานี” หรือ GAMPAR (Gabungan Melayu Patani Raya) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน และมีเครือข่ายอยู่ในรัฐเคดาร์และสิงคโปร์ โดยมี เติงกู มะห์มูด มะห์ยิดดิน (Tengku Mahmood Mahyiddeen) บุตรชายคนสุดท้องของ เติงกู อับดุล กาเดร์ กามารุดดิน (Tengku Abdul Kadir Kamaruddeen) เป็นผู้นำ GAMPAR โดยวัตถุประสงค์ของ GAMPAR ต้องการให้ปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของมาลายา[5]

ต่อมาในปี 2502 ผู้นำและสมาชิกจากปัตตานี และ เติงกู อับดุล ยาลัล บิน เติงกู อับดุล มัตตาลิบ (Tengku Abdul Jalal bin Tengku Abdul Mattalib) ผู้นำ GAMPAR  ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นขบวนการใหม่ คือ ‘ขบวนการแนวหน้าแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยปาตานี’  หรือ BNPP (Barisan National Pembebasan Patani ) ต่อมาองค์กรนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น BIPP (Barisan Islam Pembebasan Patani)

กำเนิด BRN

ปี 2497 เกิดเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์คือการถึงแก่อสัญกรรมของตวนกู มะห์มูด มะไฮยิดดินและหะยีสุหลงถูกหายตัวไปทำให้การต่อสู้ของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวมลายูปาตานีอ่อนแอลง บรรดาสมาชิกขบวนการที่ต่อสู้อยู่ในป่าเกิดความลังเลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ จะมอบตัว หรือจะต่อสู้ต่อ ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐไทยและมาเลเซียดำเนินการปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ ทำให้ยิ่งมีชาวบ้านที่ถูกกดดันให้ต้องเข้าป่ามากยิ่งขึ้น จากการถูกกล่าวว่าหรือต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของผู้ที่เข้าป่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการต่อสู้ในแนวทางของการก่อการร้าย ทำการปล้นจี้ชิงทรัพย์มากกว่าจะเป็นการเรียกร้องเอกราช[6]

การได้รับเอกราชของมาเลเซียจากอังกฤษในวันที่ 31 สิงหาคม 2500 ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ชาวมลายูปาตานีกลับคืนมา บรรดาผู้นำชาวมลายูปาตานีทั้งที่อยู่ที่ฝั่งมาเลเซียและปัตตานีที่ก่อนหน้านี้อยู่เงียบๆ เริ่มเคลื่อนไหวมีการติดต่อระหว่างกันด้วยความหวังว่าจะสานต่อการต่อสู้ของ GAMPAR และหะยีสุหลง อย่างไรก็ตามการที่ไม่มีองค์กรทางการเมืองหลังจาก GAMPAR ทำให้ขบวนการอ่อนแอ

ผลจากการประชุมของบรรดาผู้นำในคราวหนึ่งเมื่อต้นปี 2506 ได้มีการจัดตั้ง ‘ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ’ หรือ BRN (Barisan Revolusi Nasional) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่มีอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมี ฮาจี โมฮัมเหม็ด อามิน (Haji Mohamed Amin) เป็นประธาน และตวนกู ยาลัลเป็นรองประธาน หลังการก่อตั้ง BRN มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในบริเวณรอยต่อไทยและมาเลเซีย ผู้นำ BRN ดำริว่าการต่อสู้กับรัฐไทยนั้นต้องใช้วิธีการ ‘ปฏิวัติ’ จึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายของการสร้างรัฐอิสระได้ โดยใช้ยุทธวิธีสามประสานได้แก่ วิธีทางการเมือง, เศรษฐกิจ และการทหาร

พื้นฐานของการต่อสู้ของ BRN คือการต่อสู้ด้วยอาวุธ มีการฝึกอาวุธให้เยาวชนที่ Bukit Budor เมื่อฝึกเสร็จแล้วก็จะส่งเยาวชนเหล่านั้นกลับไปยังหมู่บ้าน ยกเว้นคนที่มีหมายเรียกของตำรวจก็จะอาศัยซ่อนตัวในป่า[7] นอกจากนั้น BRN ยังใช้วิธีทางการทูต สร้างความสัมพันธ์และขอความสนับสนุนจากประเทศที่ต่อต้านระบอบการปกครองแบบอาณานิคม

แนวคิดสังคมนิยมของ BRN ไม่ได้รับการยอมรับโดยกลุ่มมลายูมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา กลุ่มชนชั้นศักดินามลายูเดิมก็รู้สึกต่อต้าน BRN เนื่องจากหลักการของ BRN ต่อต้านระบบศักดินา ยิ่งไปกว่านั้นระบบศักดินายังคงดำรงอยู่ที่ปาตานี ชนชั้นศักดินาเดิมยังได้รับความเคารพอย่างสูงจากชาวมลายู แนวคิดต่อต้านทุนนิยมของ BRN ก็ไปขัดแย้งกับกลุ่มนายทุนที่มีอิทธิพลต่อการทำมาหากินของประชาชนชาวมลายูในพื้นที่

นอกจากรัฐไทยแล้ว BRN ยังไม่ได้รับการยอมรับ อย่างน้อยที่สุดก็จากสามกลุ่มดังที่ได้กล่าวไป กลุ่มที่ให้ยอมรับแนวคิดและอุดมการณ์ของ BRN คือกลุ่มเยาวชนที่ได้รับการศึกษาแบบ ‘ทางโลก’ และกลุ่มเยาวชนที่ได้รับการศึกษาแบบศาสนาแต่ค่อนข้างเปิดกว้างต่อโลกข้างนอก

กำเนิด PULO

ปี 2511 ชาวมลายูมุสลิมปาตานีได้จัดตั้ง ‘ขบวนการปลดแอกสาธารณรัฐปัตตานี’ หรือ PULO (Patani United Liberation Organization)  เอกสารของ PULO กล่าวว่าขบวนการ PULO ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2511 จากการประชุมของบรรดาผู้นำปาตานีที่ต้องการเรียกร้องสิทธิและปลดปล่อยปาตานีจากนโยบาย ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ที่รัฐไทยปราบปรามชาวมลายูมุสลิมอย่างป่าเถื่อนในนาม ‘การผสมกลมกลืน’[8]

จนถึงช่วงทศวรรษ 2510 มีกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างน้อยสามกลุ่ม ได้แก่ BRN BNPP และ PULO ซึ่งมีแนวคิดและอุดมการณ์ต่างกัน แต่ทุกกลุ่มมีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ การที่ปาตานีเป็นประเทศเอกราชและมีอธิปไตย แต่การมีหลายกลุ่มเช่นนี้ทำให้การทำงานของขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่มีเอกภาพ และเป็นโอกาสที่รัฐไทยจะใช้เพื่อทำให้โลกเห็นว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ได้มีความสำคัญและเข้มแข็งแต่อย่างใด ในช่วงทศวรรษ 2520 เกิดความขัดแย้งภายใน BRN เรื่องแนวทางในการต่อสู้ทำให้ BRN แตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ BRN-Coordinate, BRN-Ulama และ BRN-Congress[9]

วันกาเดร์และองค์กรเบอร์ซาตู (Bersatu)

วัน กาเดร์ในฐานะนักต่อสู้ต่อต้านรัฐไทย ในปี 2515 เขาได้เป็นสมาชิกองค์กร BNPP ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น BIPP ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ขบวนการต่อสู้เพื่อปลกแอกปาตานีได้ปรึกษาหารือกันและคิดว่าควรจะมีการรวมตัวกันเพื่อให้กลุ่มต่างๆ มีความเข้มแข็งและมีทิศทางการต่อสู้ไปในทางเดียวกัน องค์กรเบอร์ซาตู (Bersatu – Berisan Bersatu Kemerdekaan Patani) หรือแนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานีจึงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2532 เป็นองค์กรร่ม (Umbrella Organization) จากการรวมกลุ่มขององค์กรที่ต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานี ได้แก่ BIPP GMP (Gerakan Mujahidin Patani) PULO และ BRN Kongres งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า องค์กรเบอร์ซาตูประกอบด้วยกลุ่ม BRN BIPP GUP (Gerakan Ulama Patani) BRN Kongres PULO GMP PULO 88 และ PULO ใหม่[10] โดยคณะกรรมการเบอร์ซาตูมีทั้งสิ้นสิบคน เป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ โดยมีดร.มะห์ดี ดาอุดหรือวัน กาเดร์เป็นผู้นำ[11]

คณะกรรมการเบอร์ซาตูได้ร่างรัฐธรรมนูญประเทศมลายูอิสลามปาตานี และออกแบบตราสัญลักษณ์และธงชาติของประเทศมลายูอิสลามปาตานี มีการประกาศใช้ธรรมนูญขององค์กรวันที่ 26 เมษายน 2534 ประกอบด้วย สภานโยบาย หรือสภาซูรอ (Majlis Syara), ฝ่ายบริหาร (Majlis Eksekutif) และ คณะทำงาน (Biro Biro) เป้าหมายสูงสุดคือเพื่อกอบกู้เอกราชและจัดตั้งประเทศสาธารณรัฐอิสลามมลายูปาตานี กองกำลังส่วนใหญ่เป็น BRN และ PULO โดยนำเอาหลักการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมตามหลักการอิสลามเพื่อต่อต้านผู้รุกรานด้วยการใช้อาวุธหรือการทำญิฮาดมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2538

ดังนั้นวัตถุประสงค์เริ่มแรกขององค์กรเบอร์ซาตูไม่น่าจะใช่เพื่อเจรจากับรัฐไทยด้วยแนวคิดไม่เอาการใช้ความรุนแรงดังที่หลายสื่อมักสรุปเมื่อกล่าวถึงองค์กรเบอร์ซาตู แต่ไม่ได้หมายความว่าองค์กรเบอร์ซาตูปฏิเสธการเจรจา มีการรายงานว่ากลุ่มเบอร์ซาตูเคยเจรจากับผู้แทนของรัฐไทยในปี 2538 แต่ไม่ประสบความสำเร็จไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะองค์กรเบอร์ซาตูจะก่อตั้งตั้งแต่ปี 2532 แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเท่าใดนักโดยเฉพาะจากคนที่ไม่รู้จักหรือไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังต้นปี 2547 ที่นำไปสู่ความรุนแรงระลอกล่าสุดที่ดำเนินจนถึงปัจจุบัน เขาได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าการแบ่งแยกดินแดนเป็นแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบันทำให้สมาชิกองค์กรเบอร์ซาตูเริ่มตั้งคำถามกับวัน กาเดร์[12] ต่อมาต้นเดือนกรกฎาคมปี 2548 วัน กาเดร์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำองค์กรเบอร์ซาตู โดยให้เหตุผลว่าเขามีอายุมากแล้ว และเขามีจุดยืนไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะต่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนทั่วไป[13]

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเรื่อง การต่อสู้ที่ปาตานีของ ‘วันกาเดร์’ ซึ่งข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์เจ้าตัวโดยกลุ่มนักวิชาการได้เปิดเผยว่าในปฏิบัติการที่เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ยุทธการใบไม้ร่วง’ คือการซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ วัน กาเดร์บอกว่าเขาไม่ได้เป็นคนออกคำสั่ง และแนวทางขององค์กรเบอร์ซาตูคือจะไม่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เดือดร้อน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐโดยทั่วไป แต่หากเจ้าที่รัฐที่เป็นอันตรายต่อกลุ่มก็ต้องจัดการ[14] หมายความว่าก็มีการใช้ความรุนแรงโดยปฏิบัติการขององค์การเบอร์ซาตูเช่นกันไม่ว่าจะมาจากคำสั่งของใคร เพราะองค์กรเบอร์ซาตูเป็นองค์กรร่มที่อาจจะไม่สามารถควบคุมแนวทางปฏิบัติการของแต่ละกลุ่มได้อย่างเบ็ดเสร็จ

หลังจากการประกาศยุติบทบาทในองค์กรเบอร์ซาตู วัน กาเดร์ ได้ออกมาพูดหลายครั้งต่อสื่อสาธารณะสนับสนุนการเจรจาระหว่างรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้ เขาฝันอยากเห็นสันติภาพที่ปาตานีและอยากให้ปาตานีเจริญรุ่งเรืองดังเช่นในยุคอดีต กาเดร์มีภูมิหลังการศึกษา ประสบการณ์ วิถีชีวิต และการทำงานที่ค่อนข้างแตกต่างจากผู้นำขบวนการคนอื่นๆ ทำให้แนวร่วมขบวนการบางส่วนรู้สึกไม่ไว้วางใจเขา ถึงขนาดมีข่าวลือว่าวัน กาเดร์ไม่สามารถบริหารองค์กรเบอร์ซาตูได้ เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้นำคนอื่นๆ เนื่องจากผู้นำกลุ่มต่างๆ ไม่ไว้ใจเขา ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความระแวงว่าเขาอาจจะมีสายสัมพันธ์กับองค์กรต่างชาติ  

วัน กาเดร์จากไปแล้ว แต่ขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานียังอยู่ และวัน กาเดร์ไม่ใช่ผู้นำคนเดียวของขบวนการ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยผ่านสื่อต่างๆ มากที่สุดผู้หนึ่ง แม้กระนั้นสังคมไทยก็ยังคงมีความรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือขบวนการที่เคลื่อนไหวต่อสู้ที่จังหวัดชายแดนใต้น้อยมาก ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับขบวนการแต่การทำความเข้าใจที่มาที่ไปน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดีกว่าการใช้การปราบปรามหากว่าจุดหมายปลายทางที่เราต้องการเห็นคือ ‘สันติภาพ’ ที่จังหวัดชายแดนใต้


[1] Majlis Permesyaratan Rakyat Melayu Patani (The Patani Malay Consultative Congress), Hidup Mati Bangsa Melayu Patani, Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani (Bersatu), 1997, p. xiii.

[2] ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, แพร ศิริศักดิ์ ดำเกิง, ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ และ ฮาฟิส สาและ, การต่อสู้ที่ปาตานีของ ‘วันกาเดร์’, ปัตตานี: โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ (deepbooks) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, 2558, หน้า 35.

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 86.

[4] เรียบเรียงจากงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “ทบทวนประวัติศาสตร์ปัต(ปา)ตานี: มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย” ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปี 2561.

[5] Majlis Permesyaratan Rakyat Melayu Patani (The Patani Malay Consultative Congress), Hidup Mati Bangsa Melayu Patani, pp. 20-21.

[6] Ramli Ahmad, “Pergerakan Pembebasan Patani,” Latihan Ilmiah unuk Ijazah Sarjana Muda Sastera (Sejrarah) 1975/76, Jabatan Sejarah, Universiti Malaya, Kuala Lumpur, 1975-76, pp. 81-83.

[7] Ibid., pp. 95-96.

[8] The Central Committee, the Department of Information of the PULO, Patani Case, King Abdulaziz University Press, 1981, p. 6.

[9] รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช,  ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี, ปัตตานี: โครงการจัดพิมพ์ดีพบุคส์ (deep book), 2556, หน้า 27.

[10] ซาการียา บิณยูซูฟ, “พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานีในความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2560, หน้า 88-90.

[11] ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, แพร ศิริศักดิ์ ดำเกิง, ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ และ ฮาฟิส สาและ, การต่อสู้ที่ปาตานีของ ‘วันกาเดร์’, หน้า 29.

[12] เพิ่งอ้าง, หน้า 112.

[13] “ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมัน: ประกาศลาออกจากประธานเบอร์ซาตู-สัมภาษณ์พิเศษ,” ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2005/08/5260

[14] ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, แพร ศิริศักดิ์ ดำเกิง, ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ และ ฮาฟิส สาและ, การต่อสู้ที่ปาตานีของ ‘วันกาเดร์’, หน้า 97-98.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save