fbpx
ทอดน่องในฟองเบียร์

ทอดน่องในฟองเบียร์

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

มิตรสหายนักดื่มที่รู้จักกันส่วนใหญ่มักเรียกเขาว่า ‘พ่อหมอ’ ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์นาม ‘ผีบอก’

ฟังจากชื่อชั้นแล้ว ถ้าไม่ตั้งสติดีๆ อาจเผลอไปขอเลขขอหวยเข้าให้ แต่พ่อหมอแห่งเบียร์ผีบอกไม่มีเลขเด็ด ไม่มีน้ำมนต์ ไม่มีเวทย์คาถาไสยศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความรู้พื้นฐานการผลิตเบียร์ ประวัติศาสตร์การหมัก และจิตใจเบิกบานกับการทอดน่องท่องเที่ยวและดื่มด่ำลึกเข้าไปในฟองนุ่ม

– 1 –

เบียร์ผีบอก บอกอะไร สั้นและกระชับที่สุด พ่อหมอว่าเบียร์คือการเดินทางหาประสบการณ์จากการดื่ม

ถ้าตั้งต้นแต่แรกว่าเบียร์เท่ากับบาป เราก็อาจไม่รู้จะพูดคุยอะไรกันต่อ แม้ในวันเวลาที่กฎหมายบ้านเมืองยังไม่อนุญาตให้คนตัวเล็กตัวน้อยทำเบียร์ขายเองได้ในประเทศ แม้หลายคนหลายค่ายจะใช้ทางเลือกจ้างโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านผลิตและนำเข้ามาขายโดยเสียภาษีอย่างถูกต้องก็ตาม แต่ ‘ผีบอก’ ยังยืนยันการคราฟท์ในทางเสรี

ยังไม่นับว่าบางวันบางเดือน จู่ๆ มีผู้หลักใหญ่มาบอกห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงขั้นบางร้านสะดวกซื้อต้องล่ามโซ่ใส่กุญแจตู้แช่ราวกับอาชญากร

“ทั้งเบียร์ ไวน์ เหล้า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะผลิต ดื่มด่ำ เมามายด้วยตัวเราเอง และเมื่อมันเป็นสินค้าขายได้ รัฐก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บภาษี และหาวิธีปกป้องคนจากความไม่ปลอดภัยที่เป็นผลมาจากความเมามาย” พ่อหมออธิบาย

แต่ผลจากแอลกอฮอล์ที่ทำให้ใครต้องร่ำไห้จากการสูญเสียในหลายๆ ครั้ง แอลกอฮอล์ควรถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายหรือไม่ พ่อหมอเองเห็นว่าคนต่างหาก ผู้มีอำนาจต่างหาก และกฎหมายที่หละหลวมทำให้ไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่างหาก ที่ทำให้น้ำสีอำพันยังเป็นผู้ร้ายวันยันค่ำ

พ่อหมอเองก็มีสำนักไว้สำหรับนักดื่ม ในฐานะผู้เปิดร้านคราฟท์เบียร์ เขาเห็นควรว่าสามารถร่วมมือกับรัฐในการส่งเสริมระบบความรับผิดชอบที่ดีได้ เช่น ร้านมีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ไว้ให้นักดื่มเทสเพื่อเตือนสติตัวเอง หรือถึงขั้นตัดสินใจไม่ขายให้กับนักดื่มที่มีอาการเมาจนควบคุมตัวเองไม่ได้

– 2 –

พ่อหมอเริ่มเข้าสู่โลกของการคราฟท์เบียร์ด้วยความเบสิคที่สุดคือ ชอบดื่ม เมื่อรู้ว่าเบียร์ทำเองได้ไม่ยาก ก็ทำให้เขารู้สึกคล้ายกับวัยรุ่นเห่อโลกใหม่ และตื่นเต้นกับความลี้ลับที่ค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมา

“อยากกินเบียร์ที่มีรสชาติไม่เหมือนในท้องตลาดเมืองไทย” เขาว่าลิ้นมันชวนให้เสาะหาสิ่งที่ต่างออกไป สิ่งที่ดีกว่า

สำหรับเขาแล้ว การรู้ว่าทำเบียร์เองได้นั้น รสชาติมาทีหลังด้วยซ้ำ เขาบอกว่าต่อให้รสชาติห่วยแตกยังไง ถ้ารู้ว่าทำเองได้ด้วยสองมือ เราจะทำให้มันดีขึ้นหรือให้มันมีรสชาติยังไงก็ได้ เพราะเรารู้ว่ามันกินได้ แน่นอนว่าไม่มีใครใส่ยาพิษให้ตัวเองกิน

แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าใครก็ทำเบียร์กินเองได้ ทำไมนักดื่มไทยไม่น้อยเพิ่งมาถามหาความเสรีในการคราฟท์เบียร์ดื่มกินเอง ขายเอง ในช่วงไม่เกิน 10 ปีมานี้

พ่อหมอมองว่า ถ้าไม่นับกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการดื่มการผลิต ต้องยอมรับว่าพื้นฐานสังคมไทยไม่ใช่วัฒนธรรมของเบียร์ สภาพภูมิอากาศเราไม่เหมาะสมในการผลิตสารตั้งต้นของเบียร์ คือข้าวบาร์เล่ย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตมอลต์เพื่อให้น้ำตาล ไทยไม่มีโรงคั่วมอลต์ ทุกวันนี้ยังต้องน้ำเข้า และที่สำคัญคือ ‘ฮ็อพ’ แม้ว่าวันนี้จะมีคนทำไร่ฮ็อพแล้วก็ตาม แต่เราก็ไม่มีวัฒนธรรมที่เอาฮ็อพมาทำยารักษาโรคเหมือนในยุโรป

พูดถึงฮ็อพ ราวกับพ่อหมอมีประตูโดเรม่อน พอจิบเบียร์คำแรกเข้าไป เขาก็ชวนก้าวข้ามเวลาไปสมัยที่เบียร์ยังไม่ได้ใช้ฮ็อพว่า เมื่อก่อนการทำเบียร์ของนักบวชนิกายคาทอลิคจะใช้สมุนไพรพื้นถิ่นทั่วไป ตอนนั้นเขายังไม่เรียกเบียร์ แต่เรียกกันว่ากรู๊ท (Gruit) ต่อมานักบวชนิกายโปรแตสแตนท์ก็ทำเบียร์ของตัวเองบ้าง และพยายามดึงลูกค้าให้มาสนใจ เขาก็โปรโมทว่าฮ็อพมีสรรพคุณเป็นยา ไม่มีพิษ ไม่ใช่กรู๊ทที่ไม่รู้ว่าใส่อะไรบ้าง

ตั้งแต่นั้นโลกก็รู้จักการใช้ฮ็อพหมักเบียร์ขึ้นมา เกิดเป็นเบียร์ประเภทที่เราเรียกกันว่าไวเซ่น (Weizen) คือการใช้ข้าวสาลีหมักกับฮ็อพ

พ่อหมอยังพาเดินคุยเล่นในยุโรปต่อว่า ถ้าเรามองยุโรปเป็นวงกลม แล้วขีดเส้นแนวนอนกลางวงกลม จะเห็นว่าประเทศทางใต้เป็นวัฒนธรรมของไวน์ เพราะภูมิศาสตร์เหมาะกับการปลูกองุ่น

ทางเหนือเป็นวัฒนธรรมของพวกเหล้ากลั่นและวอดก้า ส่วนพวกประเทศตอนกลางอย่างเยอรมนี เบลเยียม สภาพภูมิศาสตร์เหมาะกับการปลูกธัญพืชซึ่งเข้ากับการหมักเบียร์มากกว่า

“ที่ทางเหนือของญี่ปุ่นเขานิยมทำสาเกดื่มกัน แต่พอลงมาทางใต้อย่างเกาะโอกินาวะ เขาไม่นิยมทำสาเก เพราะอากาศมันอุ่น สาเกที่หมักมักเสียรสชาติ เขาจึงเปลี่ยนไปทำเหล้ากลั่นแทน” พ่อหมอพาข้ามยุโรปกลับมาเอเชีย

– 3 –

นักดื่มที่เข้าสู่โลกของความหลากหลายในการดื่ม อาจสงสัยว่าทำไมเบียร์ไทยในตลาดส่วนใหญ่ถึงมีประเภทเดียว นั่นคือเบียร์ลาเกอร์

จากการวิเคราะห์และสืบเสาะของพ่อหมอ เขาค้นพบว่าเบียร์ลาเกอร์ของผู้ผลิตเบียร์ไทยเจ้าใหญ่ๆ นั้น เขาใช้ข้าวหลายประเภท ไม่เน้นการใช้ฮ็อพ และใช้ยีสต์ประเภทที่เติบโตในอุณหภูมิเย็นราวๆ 10-15 องศาฯ ได้ดี

“เบียร์ประเภทนี้มีอายุยาว เสียยาก ดื่มง่าย และต้นทุนต่ำ รสชาติใกล้เคียงกับน้ำเปล่า มันเลยกลายเป็นเบียร์มหาชนได้ไม่ยาก” พ่อหมออธิบาย เว้นวรรคจิบเบียร์อีกหนึ่งคำ ก่อนจะพากลับไปยุโรปอีกรอบ

เขาบอกว่าเบียร์ลาเกอร์ที่คนไทยดื่มกันอยู่นั้น ต้นกำเนิดมาจากเบียร์ Pilsner ของเมือง Pilsen ประเทศเชค ลาเกอร์ทั่วโลกเริ่มต้นจากที่นี่ เนื่องจากเมือง Pilsen มีพันธุ์ข้าวที่มีสีอ่อน ยีสต์ที่ใช้มีคาแรคเตอร์ค่อนข้างคลีน ไม่เข้มข้น แอลกอฮอล์ไม่สูง ดื่มง่าย และมันก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมในเยอรมนี กระทั่งสงครามโลกครั่งที่ 2 คนยุโรปย้ายไปฝั่งอเมริกากันมาก มันก็ถูกเรียกว่าอเมริกันลาเกอร์

“เบียร์ลาเกอร์ค่อนข้างเอื้อต่อการทำในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผู้ผลิตสามารถทำหัวเชื้อเบียร์ที่เข้มข้นไว้ได้ แล้วค่อยเอาโซดามาผสมเจือจางทีหลัง รสชาติที่เพี้ยนไปไม่ค่อยระแคะระคายลิ้นของนักดื่ม ถ้าไม่ใช่คนที่ลิ้นเทพจริงๆ จะไม่รู้ว่ารสเพี้ยนเนื่องมาจากความเก่า เก็บในที่ร้อนเกินไป พอยิ่งเอามาเทใส่แก้วแล้วใส่น้ำแข็งยิ่งไม่มีทางรู้เลย” พ่อหมออธิบาย

นั่นคือลาเกอร์ที่นักดื่มคุ้นลิ้นมานานนม แต่ที่มาคึกคักกันในปัจจุบันนี้สำหรับวงการคราฟท์เบียร์ จนเกิดเป็นแรงกระเพื่อมให้ตลาดร้านเบียร์เริ่มขยับหาเบียร์ใหม่ๆ นำเข้ามาขายกัน คือ เบียร์เอล (Ale)

ยกเบียร์จิบอีกอึกใหญ่ พ่อหมอเริ่มพาเข้าสู่โลกของการผลิตเบียร์ เขาบอกว่า ลาเกอร์กับเอลนั้นแบ่งตามประเภทของยีสต์ อย่างที่บอกไปว่าลาเกอร์ใช้ยีสต์ที่ชอบอุณหภูมิเย็น แต่ยีสต์ที่ใช้หมักเอลจะทำงานได้ดีในอุณหภูมิราวๆ 18-25 องศาฯ

“สิ่งมีชีวิตในกระบวนการหมักเบียร์ เรามองไม่เห็นในอากาศ แต่เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเบียร์ก็คือฉี่กับตด ฉี่คือเอทานอล หรือแอลกอฮอล์ในเบียร์ ส่วนตดก็คือฟอง ถ้าอยู่ในสภาวะปิดจะแทรกในน้ำเบียร์เป็นความซาบซ่า แต่พอเทใส่แก้วฟองจะค่อยๆ หายไปเพราะถูกอากาศ”

ช่วงเริ่มต้นของพ่อหมอในการร่ายคาถาเสก ‘เบียร์ผีบอก’ ขึ้นมาก่อนที่แวดวงคราฟท์เบียร์จะคึกคักแบบทุกวันนี้ เขาพบข้อจำกัดในการหาวัตถุดิบพอสมควร แต่เวลานี้ถ้าไม่นับว่าต้องถูกกดด้วยกฎหมายให้อยู่ใต้ดิน อะไรๆ ก็นับว่าหาได้ง่ายดาย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในการผลิตด้วย

พ่อหมอบอกว่า ตอนนี้มีคนนำเข้าหม้อต้มไฟฟ้ามาขายไม่น้อย มีตั้งแต่ใบละ 2 หมื่นไปจนถึงใบละ 6 หมื่น เพื่อให้คอเบียร์สามารถต้มเบียร์กินเองได้ในครัวเรือน

“แค่กดปุ่มแล้วคุณก็ไปนั่งเล่นเฟซบุ๊กหรือเล่นกับลูกสักพัก เดี๋ยวเครื่องมันจะเตือนให้กดปุ่มเปลี่ยนโหมดการผลิตเอง ในอินเทอร์เน็ตก็มีการแจกสูตรกันทั่วไป แทบจะเป็นวัฒนธรรมของคนทำเบียร์ไปเลยว่าอยากอวดสูตรกัน ใครใช้วัตถุดิบอะไร รสชาติเป็นแบบไหน”

โลกของเบียร์ไม่มีความลับ เขาเชื่อแบบนี้ เหมือนการทำกับข้าว เขาอธิบายว่าสมมติว่าคุณทำเบียร์เป็น อาจจะมีเพื่อนคนไทยของคุณมาบอกคุณเจ๋งสุดยอดไปเลย แต่ที่ต่างประเทศเขาจะบอกว่าเขาก็ทำเป็น

“เหมือนคุณทำผัดกะเพราเป็น มันไม่ได้น่าเซอร์ไพรส์เท่าไหร่ เพราะใครก็ทำเป็น แต่ที่บ้านเรามันมาตื่นเต้นกันก็เพราะเราไม่ได้ทำเบียร์ขายกันได้อย่างเสรี และภาพลักษณ์ของการต้มเบียร์กินเองก็ถูกมองว่าไม่ปลอดภัย”

พ่อหมอสะท้อนประเด็นนี้ว่าระบบอุตสาหกรรมอาหารแข็งแกร่งมาก จนทำให้คนรู้สึกว่าอาหารอะไรก็ตามที่ไม่ได้ผ่านระบบอุตสาหกรรมจะไม่ปลอดภัย เราถูกปลูกฝังมานานว่าของที่ผ่านการผลิตจากโรงงาน ย่อมสะอาดและดีกว่าของที่ผลิตจากครัวเรือน แต่ก็ต้องแลกกับการที่ความหลากหลายทางอาหารหายไป

– 4 –

ผ่านแก้วที่หนึ่งไปแก้วที่สอง สำหรับพ่อหมอ เบียร์ไม่ได้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่มีประวัติศาสตร์ประกอบอยู่ ความสนุกไม่ได้อยู่แค่การดื่มด่ำให้เมามาย

เขายกตัวอย่างเบียร์ดำหรือ Stout ทำไมคนถึงเรียกว่า Stout เพราะประวัติศาสตร์ของมันบอกว่า จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชที่ 1 ของรัสเซีย สมัยศตวรรษที่ 16 ตระเวนไปทั่วยุโรป เป็นยุคที่จักรวรรดิออตโตมันกำลังเรืองอำนาจ จักรพรรดิปีเตอร์ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์อายุแค่ยี่สิบกว่า ก็เดินทางไปหาพันธมิตรทั่วยุโรปเพื่อต้องการคานอำนาจกับออตโตมัน พอจักรพรรดิปีเตอร์เสด็จเยือนอังกฤษ ช่วงนั้นอังกฤษมีเบียร์ตัวหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมมากคือ Stout จักรพรรดิ์ปีเตอร์ได้ลองชิมก็ถูกใจมาก

ตอนที่จักรพรรดิปีเตอร์เสด็จกลับรัสเซียก็ได้สั่งซื้อ Stout จากพ่อค้าอังกฤษไว้และให้ส่งตามไป ระหว่างทางลำเลียง เจออากาศหนาว เบียร์ก็กลายเป็นน้ำแข็ง พ่อค้าเบียร์รู้สึกเสียหน้าเลยทำเบียร์ขึ้นใหม่ เป็นแบบที่เจอความหนาวแล้วไม่กลายเป็นน้ำแข็ง มีรสชาติเข้ม แอลกอฮอล์สูงสะใจชาวรัสเซีย เลยเกิดเบียร์ชื่อใหม่ที่เรียกว่า Imperial Stout เป็นเบียร์ที่ทำส่งจักรพรรดิโดยเฉพาะ ผลคือทำให้คำว่า Imperial Stout กลายเป็นมาตรฐานไว้เรียกเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์สูง มีรสชาติหนักแน่น

“พอศึกษาเรื่องพวกนี้มันสนุก ทำเบียร์ไป ก็ค้นคว้าหารากของมันไปว่ามันเกิดจากอะไร”

พ่อหมอพาทอดน่องไปในประวัติศาสตร์ต่อว่า อย่างเบียร์ Oyster Stout เขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงใส่หอยนางรมในการหมักเบียร์ มารู้ว่าเขาใส่ไปเพราะต้องการให้เบียร์ไปทำปฏิกิริยากับเปลือกหอย เพราะสมัยก่อน Stout ที่เป็นสีดำเข้ม เกิดจากมอลต์ที่คั่วจนดำ มีความเป็นกรดสูง ทำให้เบียร์มีรสออกโทนเปรี้ยว วิธีการที่คนสมัยก่อนทำเพื่อควบคุมความเปรี้ยวคือเติมสารที่เป็นด่างลงไป คือแคลเซียมคาร์บอเนตหรือหินปูนที่มีในเปลือกหอย ไม่ใช่ว่าจู่ๆ คนจะอยากเอาหอยไปใส่ในเบียร์

หรืออย่างเบียร์ประเภท Tropical Stout ซึ่งทำในประเทศเขตร้อน เช่น ศรีลังกา พม่า หรือสิงคโปร์ พ่อหมอบอกว่าเบียร์พวกนี้เป็นเบียร์ดำที่มีแอลกอฮอล์สูง และอาจมีกลิ่นของกากน้ำตาล เขาก็สงสัยว่าคนในศรีลังกาหรือพม่าเขาดื่มเบียร์พวกนี้ด้วยหรือ เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีวัฒนธรรมการดื่มเบียร์

แต่เพราะประเทศเหล่านี้เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ สูตรทำเบียร์ก็ต้องตกค้างไว้เป็นธรรมดา มีคนอยากทำ Stout กิน แต่เขาก็ต้องปรับตัวไปตามยุคสมัยและหาวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้แทน เช่น พวกกากน้ำตาลเอามาผสมแทนมอลต์เพื่อลดต้นทุน พูดอีกแบบก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพลวัตของสังคม

“เราไม่ใช่แหล่งอารยธรรมเบียร์ก็จริง แต่มันไม่ผิดที่เราจะเรียนรู้เรื่องเบียร์ เราไม่ได้เป็นประเทศที่ทำสเต็กเก่งมาแต่แรกก็จริง ไม่ได้กินสเต็กเป็นอาหารหลัก แต่เราก็เรียนรู้ที่จะทำสเต็กที่ดีได้ ดูอย่างซูชิที่ทำขายตามตลาดนัด คนญี่ปุ่นมาเห็นนี่ตกใจนะ ขายราคาแค่ห้าบาทสิบบาท แต่มันคือซูชิแบบไทย วันหนึ่งเบียร์ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างนั้น” พ่อหมอว่า

– 5 –

ถ้าเบียร์ไม่ได้เท่ากับความเมามายและผู้ร้ายผู้ก่อกรรมทำเข็ญเพียงอย่างเดียว แล้วเบียร์ที่คนตัวเล็กตัวน้อยได้ดื่มด่ำกันอย่างชื่นใจนั้นกำลังบอกอะไร สำหรับพ่อหมอเขาคิดว่าคนดื่มคราฟท์เบียร์ ไม่ได้แค่ดื่มเบียร์ แต่คราฟท์เบียร์กำลังชวนให้นักดื่มออกมาหาประสบการณ์

“มันไม่ต่างจากการพาครอบครัวไปนอนโรงแรมดีๆ คืนละหลายพัน คุณไม่ได้ไปบ่อย แต่อยากให้ลูกคุณได้ไปเพลิดเพลิน ได้เล่นน้ำ มีอาหารเช้าดีๆ ให้ลูกกิน แล้วค่อยกลับบ้านธรรมดาของตัวเอง คราฟท์เบียร์ก็เหมือนกัน วันนี้คุณอยากกินเบียร์ดีๆ ราคาอาจสูงหน่อย แต่มันคือประสบการณ์ มันเป็นงานศิลปะ”

เขามองว่าคราฟท์เบียร์ท้าทายสังคมการดื่ม เพราะภาพของเบียร์คือน้ำสีทองมีฟองใสๆ ดื่มง่าย แต่นักดื่มคนไทยไม่รู้จักว่าโลกของเบียร์มันมีอะไรที่มากกว่ารสขม มีรสอื่นๆ มีสีอื่นๆ ด้วย

แต่ก็อีกนั่นแหละ พ่อหมอบอกว่า ทุกคนอาจเป็นนักดื่มในทุกวัน แต่ไม่จำเป็นต้องดื่มคราฟท์เบียร์ทุกวัน แค่ตระหนักว่าเราไม่ได้มีเบียร์ประเภทเดียว

“โลกนี้กว้างใหญ่ และคราฟท์เบียร์ก็เหมือนมาแง้มกะลาให้เรารู้ว่าโลกแม่งยิ่งใหญ่ ไม่ได้มีแค่ไทยอย่างเดียว”

เบียร์จิบสุดท้าย ฟองจางหาย แต่ความหอมของฮ็อพยังตราตรึง พ่อหมอบอกความในใจอย่างหนึ่งตั้งแต่ทำเบียร์มาว่า ยีสต์ไม่เคยโกหก ถ้าเราสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่ดี มีอาหารสมบูรณ์ ยีสต์จะทำหน้าที่ได้ดี เบียร์ออกมาก็ดี

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ใส่ใจและมักง่าย ยีสต์ก็จะทำเบียร์เลวๆ ออกมาให้เรา เพราะถึงที่สุดเราไม่สามารถสั่งยีสต์ได้ ยีสต์ซื่อตรงและจริงใจมาก ยีสต์บอกเราว่าอย่าหลอกตัวเอง

จิบคราฟท์เบียร์เพื่อความชื่นใจ แล้วถ้าอยากเข้าถึงอารมณ์สังคมไทยจะจิบเบียร์อะไรดี สำหรับพ่อหมอเขาอยากให้นักดื่มลอง Stout เพราะเป็นเบียร์ที่มีความแตกต่างของมอลต์ที่ใช้

“หลายคนมองว่า Stout กินยาก ไม่สนุก ไม่อร่อย แต่ปลายทางคือความสุขที่ได้ดื่มด่ำ สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความคิดที่หลากหลาย แต่คนไทยก็ต้องอยู่ด้วยกัน Stout สีมันไม่สวยและขม แต่มันก็คือรสชาติของสังคม”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save