fbpx

เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ (จนกว่ามันจะไม่ใช่)

อุปสรรคใหญ่ของการแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในสังคมไทย คือประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ซึ่งผูกรั้งสังคมไทยไว้

เราจะเป็นประชาธิปไตยไปมากกว่าที่ลงประชามติไม่ได้ เป็นได้แค่นี้ล่ะ ถ้าอยากจะเป็นประชาธิปไตยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า ต้องจัดทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลสนใจจะจัดให้มีขึ้นได้ ล่าสุด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของคณะ Re-Solution ก็ถูกลงมติคว่ำไปอย่างสวยงาม แม้จะมีประชาชนเข้าชื่อกันกว่าหนึ่งแสนชื่อก็ไม่อาจคัดง้างกับ 16 ล้านเสียงเมื่อปี 2559 ได้

เราจึงอยู่กันไปแบบนี้ ยกย่องเชิดชูเสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ ไปพร้อมๆ กับถูกเสียงสวรรค์หลอกหลอนไม่ให้ก้าวหน้าไปไหนได้

Vox Populi, Vox Dei

คำขวัญข้างต้นเป็นภาษาละติน แปลตรงตัวคือ เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ ซึ่งถูกใช้เฟื่องฟูในการเมืองอังกฤษศตวรรษที่ 17-18 คำขวัญนี้สกัดหัวใจของประชาธิปไตยได้ครบถ้วนทีเดียว ไม่แพ้ข้อสรุปของประธานาธิบดีอับราฮัม ลิงคอล์นที่เกตตีสเบิร์กที่ว่า ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน สิ่งใดที่เสียงประชาชน (ส่วนใหญ่) ต้องการปรารถนา สิ่งนั้นคือบัญชาที่รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม

ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะมีรัฐบาลไว้ทำไม หากรัฐบาลมีไว้เพื่อไม่รับใช้ประชาชน

ตามเรื่องเล่าที่พวกเรานักกฎหมายรัฐธรรมนูญเรียนกันมา แต่เดิมนั้นประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยทางตรง พลเมืองเอเธนส์ออกเสียงในกิจการบ้านเมืองโดยตรง แม้ทุกวันนี้ชาวสวิสก็ยังใช้ประชาธิปไตยทางตรงอยู่ผ่านประชามติในเรื่องราวต่างๆ แต่ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ใช้ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราออกเสียงผ่านผู้แทนของเราในสภา

บ่อยครั้ง เรื่องเล่านี้ยังบอกเล่าถึง ‘ความเหนือกว่า’ ของประชาธิปไตยทางตรง ในยุคสมัยที่ผู้คนเหนื่อยล้า ผิดหวัง หมดศรัทธากับบรรดาผู้แทนในสภา ซึ่งล้มเหลวในการเป็นปากเสียงให้ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะตัวร้ายอย่างพรรคการเมืองและนายทุนของพรรคมาช่วงชิงผู้แทนไปจากประชาชน ไม่แปลกใจที่หลายคนสรุปว่า หากเราสามารถกลับไปใช้ประชาธิปไตยทางตรงได้ก็คงเป็นเรื่องดี

ในรัฐธรรมนูญไทย กระแสประชาธิปไตยทางตรงเริ่มขึ้นเมื่อปี 2540 เพื่อเป็นอีกช่องทางนอกเหนือจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน จะเห็นว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเองเปิดให้เลือก ส.ส.ร. มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ และสุดท้ายยังมีกลไกประชามติรอไว้อีกด้วย หากรัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในตัวกฎหมายเองก็มีพูดถึงสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ และประชามติ ถึงแม้ประชามติจะไม่เคยได้จัดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็กลายมาเป็นขั้นตอนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ศาลรัฐธรรมนูญเองได้วินิจฉัยไว้สองครั้งในปี 2555 และ 2564 ว่ารัฐธรรมนูญมาจากการทำประชามติ หากจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญก็ต้องจัดประชามติก่อนเช่นกัน

รวมๆ แล้วสังคมไทยตอบรับประชาธิปไตยทางตรงดียิ่ง แม้แต่รัฐบาลก็อ้างถึงประชามติบ่อยๆ เวลาใครทักเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แล้วเหตุใดประชาธิปไตยไทยถึงมาได้แค่นี้ เมื่อไหร่กันที่เสียงประชาชนจะเลิกเป็นเสียงสวรรค์

2016 ปีฝันร้ายของเสียงสวรรค์

ปี 2016 เป็นปีที่เปิดหูเปิดตาพอสมควรกับพลังของเสียงสวรรค์ทั่วโลกว่ามันนำไปสู่อะไรได้บ้าง

ในปี 2016 โลกได้เห็นสหราชอาณาจักรทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit สหรัฐอเมริกาเลือกโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี และประชาชนตุรกีลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหารผู้นำอำนาจนิยมแอร์โดอาน

ส่วนในไทย ประชาชน 16 ล้านเสียงเห็นชอบคำถามที่หนึ่งและสองในประชามติรัฐธรรมนูญ​ 2559

ถ้าไม่นับกรณีของตุรกีซึ่งเป็นสถานการณ์ยากลำบากที่จะเลือกคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ตัวอย่างเสียงสวรรค์ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทยล้วนนำไปสู่หายนะภายในนามของประชาชนทั้งสิ้น

โดยธรรมชาติของการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับชาติ บ่อยครั้งปัญหาที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนถูกสรุปรวดให้เลือกเพียงเอาหรือไม่เอา รับหรือไม่รับ สั้นๆ เพียงเท่านั้น ทั้งที่นั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการที่สุด

นอกจากนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงนั้นมาเพื่อนำเสนอและปกป้องผลประโยชน์จากจุดยืนของตนเองและกลุ่มผลประโยชน์ของตน มากกว่าจะคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ

ไม่ต้องพูดถึงว่า ปัจจุบันนี้ปัญหาข่าวปลอม ข่าวหลอก ทฤษฎีสมคบคิด ทำให้การฝากอนาคตไว้ในกำมือของเสียงส่วนใหญ่ เป็นเรื่องอันตรายไม่น้อย

รวมกันทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่เสียงประชาชนกลายเป็นเสาค้ำยันระบอบเผด็จการพลเรือนเสียงข้างมากได้ ผู้นำอำนาจนิยมปัจจุบันนี้เลิกรัฐประหารกันแบบโจ่งแจ้งแล้ว แต่เล่นกับความรู้สึกฝูงชนเพื่อเถลิงอำนาจภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรยกเลิกประชาธิปไตยทางตรงหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเสียหมด เพียงแต่เราต้องเข้าใจจุดอ่อนของประชาธิปไตยทางตรง และชื่นชมข้อดีของประชาธิปไตยในระบบผู้แทนมากขึ้นด้วย

เสียงสวรรค์เมืองดัดจริต

ในบริบทแบบไทยๆ นอกจากข้อเสียโดยธรรมชาติของเสียงประชาชนโดยตรงแล้ว การชื่นชมมติมหาชนของคนจำนวนไม่น้อยในฟากรัฐบาลยังเป็นเรื่องดัดจริตอีกด้วย

การศึกษาการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2559 สรุปออกมาว่า กระบวนการทำประชามติของไทยนั้นอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ไม่เสรี ไม่เสรีขนาดลิงฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงประชามติยังเดือดร้อนถึงรัฐบาลทหารมาแล้ว ไม่ต้องพูดถึงบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยที่พยายามจะรณรงค์ข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามและคดีความ

ถ้าประชามติเป็นเสียงสวรรค์จริง ทำไมประชาชนจำนวนมากถึงแปลกใจ ตกใจ เมื่อทราบระหว่างการเลือกตั้ง 2562 ว่าระบบคิดคะแนนแปลกประหลาดและวุฒิสภาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ไม่ต้องพูดว่าก่อนจะมาถึงเสียงสวรรค์ ตอนรัฐประหารก็ไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับมหาชนเสียก่อน และหลังประชามติแล้ว ทำไมถึงยังแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อีกครั้งก่อนประกาศใช้โดยไม่ต้องทำประชามติอีกครั้ง

ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่า การอ้างเสียงสวรรค์จากประชามติเป็นเรื่องฝันเฟื่องฟุ้งไปทั้งเพ

เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงห้าหมื่นรายชื่อก็สามารถยื่นขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้แล้ว เหตุใดจึงตั้งข้อรังเกียจรายชื่อแสนกว่ารายชื่ออีกเล่า

สังคมไทยปี 2564 ดูแตกต่างจากปี 2559 ลิบลับ เสียงสวรรค์จากเมื่อหกปีก่อนจะผูกพันสังคมไทยไปอีกนานแค่ไหน

แน่นอนว่าต่อให้ไม่อ้างประชามติ รัฐบาลก็คงลงคะแนนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอยู่ดี เพียงแต่ถ้าเลิกอ้างเสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ค้ำยันระบอบรัฐธรรมนูญอำนาจนิยมนี้ได้ก็คงจะดีไม่น้อย ฟังแล้วเขินแทน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save